Wednesday, February 25, 2009

ชีวิตแบบคนชั้นกลาง

ย้อนหลังไปสมัยที่ผมยังเป็นเด็กคือประมาณ 50 ปีมาแล้ว ผู้คนในสังคมไทยสำหรับผมดูเหมือนจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่านั้นคือ คน “ร่ำรวย” ซึ่งสัญลักษณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่พวกเขามี “ข้าทาสบริวารหรือคนดูแลรับใช้” นอกเหนือไปจากบ้านและทรัพย์สินเงินทองที่แสดงถึงความมั่งคั่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันหรือไม่ไกลจากกัน อีกกลุ่มหนึ่งก็คือ คน “ยากจน” ที่ต้องทำงานทุกอย่างเองหรือทำงานรับใช้ให้กับคนรวย นอกจากนั้น พวกเขามักจะอาศัยอยู่ในบ้านที่ทรุดโทรม ชีวิตประจำวันของพวกเขาวนเวียนอยู่กับการทำงานและไม่เคยท่องเที่ยวไปในที่ไกล ๆ ไม่ต้องพูดถึงการไปต่างประเทศ แน่นอน ผมอยู่ในกลุ่มหลัง

การใช้ชีวิตแบบ คนรวย – คนจน ในสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรผมเองไม่ได้สังเกตมากนักจนกระทั่งผมได้ไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาในราวปี 2529 หรือประมาณ กว่า 20 ปีมาแล้ว ผมเริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตที่เมืองไทยของผมเริ่มคล้ายกับการใช้ชีวิตสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่อเมริกา ประเด็นที่เหมือนกันและรู้สึกได้มากที่สุดก็คือ ข้อหนึ่ง ผมมีรถและขับเอง ข้อสอง ผมต้องไปจ่ายตลาดในซุปเปอร์มาร์เก็ตสมัยใหม่ทุกสัปดาห์แบบที่ผมทำอยู่ที่เมืองนอก การเข็นรถและรอจ่ายเงินที่ทางออกของซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้น ทีแรกผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญอะไรนักจนได้อ่านเจอข่าวที่นาย ซัลแมน รัชดี นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษที่เขียนเรื่อง Satanic Verses ที่ถูกผู้นำทางศาสนาอิสลามของอิหร่านตัดสินว่าหมิ่นศาสนาและสั่ง “ประหาร” ทำให้เขาต้องหลบซ่อนตัว เขาให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกว่าไม่ได้ลำบากอะไรมากนักยกเว้นแต่ว่าชีวิตประจำวันที่เขาต้องจ่ายตลาดในซุปเปอร์มาร์เก็ตของเขานั้นขาดหายไป

หลังกลับจากอเมริกา ผมเริ่มเห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าในสังคมไทยนั้น เรากำลังมีคนกลุ่มที่สามที่เรียกว่า “คนชั้นกลาง” คนกลุ่มนี้ที่รวมถึงตัวผมด้วยนั้น มีชีวิตที่ค่อนข้างเป็นอิสระและไม่ได้มองหรือสนใจคนรวยหรือคนชั้นสูงอย่างที่เคยเป็น ประการสำคัญก็คือ คนกลุ่มนี้มักมีการศึกษาที่ดีไม่แพ้คนชั้นสูง ในเรื่องของเงินทองหรือทรัพย์สินนั้น คนชั้นกลางเริ่มมีงานที่สามารถทำเงินได้มากจนสามารถใช้จ่ายซื้อทรัพย์สินหรือของใช้ที่จำเป็นแบบที่คนรวยเท่านั้นที่สามารถซื้อได้ในสมัยก่อน เพียงแต่ว่าบ้านหรือรถยนต์นั้นอาจจะไม่หรูหราเท่า พวกเขาเริ่มท่องเที่ยวไปในที่ไกล ๆ และต่างประเทศ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่มี “ข้าทาสบริวาร” หรือคนที่ทำงานให้มากมายอย่างคนรวย พวกเขามักทำทุกอย่างที่ทำได้เองและใช้บริการที่ทำยากจาก “มืออาชีพ” เช่น การทำผม การซ่อมแซมเครื่องใช้ในบ้าน และการทำอาหาร

คนชั้นกลางที่ผมเห็นและที่ผมเป็นสมาชิกอยู่นั้น สามารถใช้สินค้าและบริการทุกอย่างได้เท่ากับคนชั้นสูงและมีทรัพย์สินที่จำเป็นเช่นบ้าน รถยนต์ เครื่องเสียง และอื่น ๆ ที่ให้ความสุขกับชีวิต สิ่งที่แตกต่างก็คือ เขาใช้มันได้ในราคาที่ต่ำกว่ามากเนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมาก คุณภาพของสิ่งที่เขาใช้อาจจะต่ำกว่าบ้างแต่มันมักจะมีสมรรถภาพเกิน 90% เมื่อเทียบกับสิ่งที่คนชั้นสูงใช้ สิ่งที่แตกต่างจริง ๆ บางทีก็คือยี่ห้อหรือภาพพจน์เท่านั้น

การใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางนั้น ถ้าจะเขียนก็คงเป็นหนังสือทั้งเล่มได้ แต่ผมจะลองไล่รายการเด่น ๆ บางอย่างที่บ่งบอกว่าเป็นสัญลักษณ์หรือเป็นแนวทางที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่ทำกัน คนชั้นกลางนั้นอาจจะดูได้จากการใช้รถยนต์ ถ้าเป็นรถของตัวเองพวกเขามักจะใช้รถยี่ห้อประเภท โตโยต้าหรือฮอนด้า บ้านของพวกเขามักจะไม่อยู่ในหมู่บ้านที่หรูหราและเป็นบ้านขนาดเล็กที่มีห้องพอดีกับจำนวนสมาชิก เสื้อผ้าที่สวมใส่นั้นมักจะไม่ใช่จากยี่ห้อดังของต่างประเทศและถ้าจะเป็นก็มักเป็นสินค้าเลียนแบบ นาน ๆ ครั้งพวกเขาก็ซื้อสินค้ามียี่ห้อจริง ๆ แต่ในราคาลดแบบ “แกรนด์เซล” คนชั้นกลางจำนวนมากไม่ได้ท่องเที่ยวมากนัก คนที่ท่องเที่ยวบ่อยก็จะใช้บริการของโรงแรมระดับอย่างมากก็สามดาว ถ้าต้องบินก็จะใช้บริการที่นั่งแบบประหยัด งานอดิเรกของคนชั้นกลางที่ทำกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือการออกกำลัง เช่น การเต้นแอโรบิกและการตีกอล์ฟ ซึ่งถ้าจะทำ พวกเขาก็มักจะเลือกสโมสรหรือสนามที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

สัญลักษณ์ของการใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางบางอย่างที่น่าสนใจน่าจะรวมถึงสิ่งต่อไปนี้ เรื่องแรกที่ผมคิดว่าชัดเจนมากก็คือสิ่งที่ผมพูดไปแล้วนั่นคือ การเข็นรถจ่ายตลาดในซุปเปอร์มาร์เก็ตเป็นประจำ การขับรถและรับโทรศัพท์เองทั้งที่เป็นผู้บริหารชั้นสูงในองค์กรขนาดใหญ่อย่างที่วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำนั้น ผมคิดว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่าเขาใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลาง เช่นเดียวกัน คนที่กินอาหารจานด่วนอย่างเป็นเรื่องปกติและชอบที่จะกินอาหารตามร้านอาหารที่ไม่หรูหราแต่ราคาไม่แพงก็เป็นนิสัยของคนชั้นกลาง

ถ้าจะมองลึก ๆ จริง ๆ แล้ว หลักการสำคัญของคนชั้นกลางก็คือ การใช้ชีวิตที่ค่อนข้างจะ “เต็มที่” ในราคาที่ประหยัด พวกเขาชอบความสะดวกสบายแต่ชอบทำอะไรด้วยตนเองมากกว่าที่จะต้องพึ่งพิงคนอื่น พวกเขามักมีความคิดที่เป็นอิสระเสรีไม่ชอบความเป็นเจ้าขุนมูลนายที่จะต้องมีบริวารพินอบพิเทา

การใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางนั้น แน่นอน อย่างน้อยคุณจะต้องมีรายได้หรือความมั่งคั่งแบบคนชั้นกลาง การใช้ชีวิตแบบคนชั้นสูง อย่างน้อยคุณก็ต้องมีรายได้หรือความมั่งคั่งแบบคนชั้นสูง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การใช้ชีวิตนั้นเป็นเรื่องของความเคยชินหรือเป็นเรื่องของความพึงพอใจของเราเองด้วย ดังนั้น ในโลกปัจจุบันที่คนชั้นกลางมีโอกาสมากขึ้นในการทำมาหากิน ทำให้มีคนชั้นกลางจำนวนมากกลายเป็นคนร่ำรวยแบบคนชั้นสูง คนเหล่านี้ ถ้าเป็นอดีต พวกเขาก็มักจะปรับมาตรฐานการดำรงชีวิตให้เป็นแบบคนชั้นสูง แต่ในปัจจุบันผมเห็นว่า มีคนรวยยุคใหม่จำนวนมากไม่ได้ปรับวิถีชีวิตจากแบบคนชั้นกลางเป็นคนชั้นสูง พวกเขามีความสุขที่จะอยู่แบบคนชั้นกลางต่อไป ดังนั้น บางทีเราอาจจะพบคนบางคนในหมู่คนที่ใช้ชีวิตธรรมดามากทั้งที่เขามีความมั่งคั่งสูงมาก และคนทั่วไปก็ไม่รู้เนื่องจากไม่มีอะไรที่แสดงถึงความมั่งคั่งของเขา ในสหรัฐ มีการศึกษาและพบว่ามีคนแบบนี้จำนวนมาก ในเมืองไทยเอง ผมก็รู้จักคนแบบนี้หลายคน แต่คนกลุ่มหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นว่าเกือบทุกคนมักจะใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลางไม่ว่าเขาจะมีความมั่งคั่งแค่ไหนก็คือ Value Investor พันธุ์แท้ ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกาหรือในประเทศไทย บางทีนี่อาจจะเป็นการ “เลือกทางธรรมชาติ” นั่นก็คือ คุณไม่มีทางเป็น Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงมากได้ถ้าคุณไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนชั้นกลาง

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 23 ก.พ.2552