Thursday, November 26, 2009

เงินกับกล่อง...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการมี “เงิน” และ “กล่อง” พูดง่าย ๆ ก็คือ ข้อแรก ทุกคนอยากรวย เพราะความร่ำรวยทำให้เรามีอิสระเสรีมากขึ้นในการที่จะทำอะไรที่เรารักเรา อยากทำได้เต็มที่ ความรวยทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิต ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นหรืออยากได้เมื่อเราต้องการใช้ ความรวยทำให้เราไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากนักและทำให้สามารถอยู่ได้อย่างสะดวก สบาย แต่ทั้งหมดนี้สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เพียงพอ ต้องมีข้อสองนั่นคือ คนเราอยากได้ “กล่อง” ซึ่งก็คือเราอยากได้รับการ “ยอมรับ” จากคนอื่นว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลายตั้งแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ การเมือง การแสดง กีฬา การทำงาน และการทำธุรกิจ แต่ความสำเร็จที่เป็นที่ยอมรับและวัดได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “การมีเงินมาก”


ในโลกของทุนนิยมนั้น กล่องกับเงิน บ่อยครั้งก็มาด้วยกันหรือตามกันมา เช่น เป็นดาราที่มีชื่อเสียงเพราะมีรูปร่างหน้าตาและความสามารถสูง ก็จะมีผู้มาจ้างแสดงภาพยนต์และถ่ายแบบโฆษณาด้วยอัตราสูงลิ่วทำให้มีรายได้ มาก และถ้ารู้จักบริหารเงินก็จะมีเงินเหลือเก็บมากกลายเป็นเศรษฐี เรียกว่ามีทั้งกล่องและเงิน แต่ในบางกรณี คนที่ได้กล่องมาก็ไม่มีเงินเพราะกล่องนั้นไม่ทำเงินเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ วิจัยค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้มีชื่อเสียงแต่ไม่สามารถไปทำเงินได้ หรือนักมวยแชมป์โลกหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีรายได้มากแต่ใช้จ่ายเงิน ไม่เป็นทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บกลายเป็นคนมีกล่องแต่ไม่มีเงิน

คนที่มีเงินมากเข้าขั้นเศรษฐีนั้น จำนวนมากไม่มีกล่องเพราะคนไม่รู้จักและก็ไม่รู้ว่าเป็นคนมีเงินมาก แต่พวกเขาก็อยากได้กล่อง เป็นกล่องที่จะบอกว่าเขาประสบความสำเร็จในการหาเงิน วิธีที่จะทำให้คนเห็นและยอมรับก็คือ การโชว์ความร่ำรวยผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถซื้อมาใช้ ไล่ตั้งแต่เครื่องแต่งตัวเช่นเสื้อผ้า เครื่องเพชร นาฬิกา ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีกำลังซื้อได้ รถยนต์ที่มีราคาแพง ของสะสมเช่นรูปวาดหรือพระเครื่องที่มีราคาสูง และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบ้านที่ต้องใหญ่โตหรูหราเกินกว่าความจำเป็น ที่ต้องใช้สอย ถ้าจะพูดก็คือ พวกเขา “ซื้อกล่อง” ด้วยเงินที่มีอยู่จำนวนมาก

คนบางคนมีรายได้มากแต่ยังไม่มีเงินเหลือเก็บ เหตุผลก็คือ พวกเขาพยายามไปหากล่องก่อน นั่นก็คือ พอมีรายได้เข้ามาก็เอาเงินไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเลียนแบบเศรษฐี พวกเขาต้องการแสดงให้คนเห็นว่าเขาร่ำรวยมีเงินมาก บางคนมีความคิดว่าถ้าเขาทำตัวแบบเศรษฐี วันหนึ่งเขาก็จะรวยแบบเดียวกัน น่าเสียดายที่นั่นเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ผิด เพราะพวกเขาจะไม่ได้เป็นเศรษฐีตัวจริง เขาจะมีรายจ่ายมากมายที่จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บเพื่อที่จะไปลงทุนต่อและ ทำให้ร่ำรวยได้จริง ๆ กล่องที่พวกเขาได้จะเป็นกล่องที่ “กลวง” ในขณะที่เงินเก็บที่มีอยู่น้อยจะไม่ทำให้เขามีความสุขเท่ากับคนที่มีเงินแต่ ไม่มีกล่อง

จากข้อมูลที่พบในสหรัฐและผมคิดว่าในเมืองไทยก็ไม่น่าจะแตกต่างกันก็คือ มีคนที่ไม่ได้เป็นคนรวยจำนวนมาก “ซื้อกล่อง” หรือก็คือซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นการ “แสดงออกถึงความร่ำรวย” ว่าที่จริง ยกเว้นมหาเศรษฐีที่มักซื้อและใช้สินค้าที่แพงสุดกู่แล้ว คนที่รวยเป็นเศรษฐีเงินล้านตัวจริงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคของฟุ่มเฟือยอะไรมากนัก เสื้อผ้าที่ใช้ก็ไม่ใช่พวกที่มียี่ห้อหรู นาฬิกาก็มักจะเป็นพวกยี่ห้อไซโกหรือไทม์เม็กซ์ รถยนต์ก็นิยมพวกโตโยต้า บ้านที่อยู่ก็มักจะราคาปานกลางในทำเลของคนชั้นกลาง ดังนั้น เขาสรุปว่า คนส่วนใหญ่ที่แต่งตัวหรู ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์ มีบ้านใหญ่หรูหรา ส่วนใหญ่ไม่ใช่เศรษฐีตัวจริง ดังนั้น ถ้าคุณอยากเป็นเศรษฐีตัวจริง คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น

ถ้าเราต้องการเป็นเศรษฐีมีเงิน สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทำอย่างเศรษฐีตัวจริง ซึ่งเขาค้นพบว่า คนเหล่านี้มักเป็นคนที่ประหยัดอดออม เก็บเงินที่เหลือไปลงทุน คนเหล่านี้มีชีวิตที่ “พอเพียง” ใช้เงินน้อยกว่ามาตรฐานรายได้และความมั่งคั่งของตนเอง และนั่นทำให้เขารวย แต่ส่วนใหญ่แล้วกว่าจะรวยเป็นเศรษฐีมีเงิน 30-40 ล้านบาทขึ้นไป ก็มักจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และทั้ง ๆ ที่ร่ำรวยแล้ว พวกเขาก็มักจะยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ฟู่ฟ่า อย่างไรก็ตาม บางคน โดยเฉพาะที่ร่ำรวยมาก ๆ เป็นมหาเศรษฐีก็ “ซื้อกล่อง” เหมือนกัน แต่นี่เป็นการซื้อกล่องเมื่อเขามีเงินมากแล้วและไม่ได้กระทบอะไรกับความ มั่งคั่งของเขา

Value Investor นั้น จำนวนมากไม่มีทั้งเงินและกล่อง อาจจะเรียกว่าไม่มีฐานะอะไรเลยก็ได้ เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานประจำ พวกเขามุ่งทำเงินเป็นหลักโดยหวังว่าจะมีเงิน และด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียงประกอบกับการลงทุนอย่าง “เข้มข้น” หลายคนก็หวังจะรวยเป็นเศรษฐีในเวลาอันไม่ไกลนัก ในความเห็นของผม นี่คือหนทางของการเป็นคนมีเงินที่น่าจะดีที่สุดทางหนึ่ง ส่วน “กล่อง” นั้น ผมคิดว่าในฐานะของคนที่รู้ว่าการบริโภคของหรูหราราคาแพงนั้นไม่ใช่วิถีของ เศรษฐีตัวจริง ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าเป็นเครื่องแสดงออกถึง “ความสำเร็จ” จริง ดังนั้น เราก็ไม่ควรต้องใส่ใจ โดยเฉพาะในช่วงที่เรายังไม่รวย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในฐานะของ VI นั้น เราต้องมองหา “คุณค่า” ของกล่องเมื่อเทียบกับ “ต้นทุน” ในการซื้อมัน วิธีที่จะได้กล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ ก็คือ ต้องเป็นกล่องที่มาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับ ความสามารถนั้นอาจเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการลงทุนหรือเป็นเรื่องการลงทุนก็ได้ แต่มันต้องเป็นความสามารถจริงที่ไม่ได้ซื้อมา และนี่จะเป็นกล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 21 พฤศจิกายน 52

แรงจูงใจของเจ้าของ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อการลงทุนแบบ VI นั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารเกี่ยวกับหุ้นที่เรากำลังดู อยู่ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการแบ่งสรรกำไรระหว่างเจ้าของ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุน พูดง่าย ๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากกิจการและตัวหุ้น บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารบริษัทอยู่แล้ว แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เจ้าของหรือผู้บริหารเป็นคนที่คุมอำนาจในการตัดสินใจและ “คุมเกม” ที่จะทำให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับตนเองมากที่สุด ถ้าผลประโยชน์สูงที่สุดของเขาตรงกับผลประโยชน์ของนักลงทุน นั่นก็คือสิ่งที่ดี แต่ถ้าผลประโยชน์ของเขาคือผลเสียของนักลงทุนรายย่อย การเข้าไปเล่นหุ้นแบบนี้ก็ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้น ลองมาดูตัวอย่างที่ผมเคยพบมา

เรื่องแรก บริษัทเป็นกิจการขนาดเล็กที่มีผลการดำเนินงานดี มีทรัพย์สินมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัท มีเงินสดค่อนข้างมากขณะที่ไม่มีหนี้จากการกู้ยืม ปีแล้วปีเล่า บริษัทจ่ายปันผลค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทก็ไม่ได้ขยายงานอะไรนักและก็ไม่ใช่กิจการที่ต้องลงทุน มาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างก็อยากให้บริษัทจ่ายปันผลให้มากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าผู้ บริหารก็ไม่ใคร่สนใจจะทำ ตรงกันข้าม ผู้บริหารกลับเสนอให้บริษัทออก ESOP หรือออกหุ้นราคาต่ำเสนอให้กับผู้บริหารและพนักงาน ดูเหมือนว่าจะมีความพยายาม “โอน” ความมั่งคั่งจากผู้ถือหุ้นสู่ผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมลองวิเคราะห์ดูก็พบว่า บริษัทนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นคนที่ร่ำรวยมาก มีกิจการอื่นที่ใหญ่โตอยู่นอกตลาดหุ้น มีพนักงานมากมายที่เป็นคนเก่าแก่ที่เขาต้องดูแลและรักษาเอาไว้โดยการให้ผล ตอบแทนที่ดี สำหรับเจ้าของรายนี้ ความมั่งคั่งของเขาที่มีอยู่ในบริษัทจดทะเบียนที่กล่าวถึงนี้คิดเป็นสัดส่วน น้อยมาก ดังนั้น เขาจึงไม่ใคร่สนใจที่จะต้องได้รับผลประโยชน์มากมายจากบริษัท ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน คนเหล่านี้บางคนก็ยังทำงานในบริษัทส่วนตัวของเขาอยู่ ดังนั้น ผมจึงสงสัยว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะไม่ได้ต้องการเงินปันผลมากนัก แต่เขาอาจจะต้องการใช้บริษัทนี้เป็นแหล่งให้ผลประโยชน์แก่ลูกน้องของเขาผ่าน เงินเดือน เบี้ยประชุม หรือแม้แต่ ESOP มากกว่า



เรื่องที่สอง เช่นเดิม บริษัทเป็นกิจการที่ดีมาก มีกำไรสูงมาตลอด มีเงินสดเหลือล้น และการลงทุนเพิ่มก็ไม่ได้มีมากนัก แต่บริษัทก็จ่ายปันผลน้อยมาก สืบดูแล้วพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นเป็นสถาบันที่ “ไม่มีเจ้าของ” การบริหารงานและการตัดสินใจต่าง ๆ อยู่ในมือของผู้บริหาร ดังนั้น แรงจูงใจที่จะจ่ายปันผลมากดูเหมือนว่าจะไม่มี ต่อมามีการ Take Over หรือครอบงำกิจการโดยบุคคลซึ่งรวมถึงผู้บริหารด้วย หลังจากการเปลียนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นกิจการที่ “มีเจ้าของ” แล้ว บริษัทก็ประกาศจ่ายปันผลอย่าง “มโหฬาร” แรงจูงใจเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

กรณีที่สาม บริษัทนี้เป็นกิจการเก่าแก่ กิจการของบริษัทหรือที่จริงน่าจะเรียกว่ากลุ่มบริษัทนั้นหลายอย่างอาจจะ เรียกว่าอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีการขยายงานไปในอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองเช่นกันทั้งในและต่าง ประเทศ ถ้ามองจากทรัพย์สินและผลการดำเนินงานรวมถึงปันผลที่ค่อนข้าง “สม่ำเสมอในแง่ของเม็ดเงิน” ผมคิดว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” ตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็แทบไม่เคยได้รับ “รางวัล” อะไรเลยจากการที่บริษัทมีกำไรดีหรือดีมากในบางปี ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยกำลังถือหุ้นที่คล้าย ๆ กับหุ้นกู้ที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราที่พอสมควร ซึ่งจากการสังเกตของผมก็ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นที่มักจะถือมายาวนานก็พอใจ ในด้านของบริษัทเองนั้น บริษัทแทบไม่เคยให้ข่าวกับสื่อมวลชนเลย ดูเหมือนว่าบริษัทจะไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ว่าที่จริงบริษัทอาจจะไม่ต้องการให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะราคาที่สูงขึ้นอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังที่สูงขึ้นกับนักลงทุน ดังนั้น ผมสรุปว่า แรงจูงใจของเจ้าของในกรณีนี้ไม่ใช่อยู่ที่ปันผลที่มากขึ้น หรือราคาหุ้นที่สูงขึ้น แต่อาจจะเป็นอะไรที่ผมไม่รู้ นักลงทุนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

กรณีที่สี่ นี่เป็นกิจการของนักธุรกิจที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น “ขาใหญ่” ในตลาดบอกว่า “เขี้ยว” จัด นั่นก็คือ เข้าไปเล่นด้วยลำบาก เพราะจะถูก “กิน” ชื่อเสียงของเจ้าของดูเหมือนจะไม่ดีเลยในสายตาของนักเล่นหุ้นทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะวิธีและกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจที่มักถูก วิจารณ์จากสื่อว่าไม่เป็นธรรมกับคู่ค้าที่อ่อนแอกว่ามากทำให้ชื่อเสียงโดย ทั่วไปไม่ดีนัก แต่เหตุผลหลักน่าจะอยู่ที่ราคาหุ้นของบริษัทที่มักจะขึ้นไปได้ไม่เท่าไรแล้ว ก็ลงและในกระบวนการนั้นมักทำให้นักเล่นหุ้นขาดทุน อย่างไรก็ตาม กิจการในกลุ่มของเจ้าของรายนี้มักจ่ายปันผลค่อนข้างดีเมื่อมีกำไร นอกจากนั้น บริษัทในกลุ่มมักจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งในด้านของกิจการและผลการดำเนิน งานอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ดูเหมือนว่าผู้บริหารอยากจะให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นสะท้อนผลการดำเนินงานเต็ม ที่ ข้อสรุปของผมก็คือ อดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ ณ. ขณะนี้ ดูเหมือนแรงจูงใจของเจ้าของจะเน้นที่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเต็มที่ เขาคงคิดแล้วว่า นี่คือวิธีที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองได้สูงสุดแทนที่จะไป “กิน” ด้วยวิธีอื่น

กรณีสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นเยอะมาก นี่ก็คือกรณีที่เจ้าของกิจการบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพต่ำพยายามตักตวงผล ประโยชน์จากสถานะของการเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาด เจ้าของหุ้นเหล่านี้ มักจะ “ไซฟ่อน” หรือใช้เงินของบริษัทเพื่อตัวเองเป็นปกติอยู่แล้วผ่านกระบวนการหลาย ๆ อย่าง เช่นการซื้อทรัพย์สินเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่โอกาสอำนวย เช่นในช่วงที่ธุรกิจเป็น “ขาขึ้น” หรือตลาดหุ้นกำลังร้อนแรง เขาก็จะ “สร้างสถานการณ์ “ ซึ่งมักจะรวมถึงการสร้างตัวเลขผลงานให้ดูดี หรือประกาศการขยายงานหรือทำกิจการใหม่ที่น่าตื่นเต้นเพื่อกระตุ้นราคาหุ้น ให้ขึ้นไปสูงซึ่งเขาก็จะสามารถขายทำกำไร ในขณะที่นักเล่นหุ้นต้องขาดทุนเมื่อราคาหุ้นตกลงมาหลังจากเรื่องดี ๆ ที่ปล่อยออกมานั้นหมดไปและบริษัทกลับมาอยู่ในสถานะที่ “ไร้คุณภาพ” อีกครั้งหนึ่ง

และทั้งหมดนั้นก็คือตัวอย่างบางเรื่องของการวิเคราะห์แรงจูงใจของเจ้าของ และผู้บริหาร หน้าที่ของ VI ก็คือ ดูว่าพวกเขามีแรงจูงใจที่เอื้ออำนวยหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รายย่อยอย่างเราหรือไม่ ถ้าตรงกันก็เป็นผลบวก แต่ถ้าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของเรามากก็ต้องระวัง บางทีอาจต้องหลีกเลี่ยงเลย

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 14 พฤศจิกายน 52

ชีวิตชีวาของหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทุกครั้งที่ผมซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผมคิดเสมอว่าผมกำลังลงทุนในธุรกิจ ผมไม่ได้ซื้อกระดาษที่เรียกว่า “หุ้น” แผ่นเล็ก ๆ ที่มีราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ธุรกิจนั้นเป็น “ของจริง” ที่มี โรงงานหรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อนำมาขายต่อ และสุดท้ายก็คือ มีร้านหรือช่องทางที่จะขายให้กับ “ลูกค้า” ซึ่งบ่อยครั้งก็คือตัวผมเองและคนในครอบครัว ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนซื้อขายหุ้นนั้น ผมสามารถ “สัมผัส” กับมันได้ผ่านการได้เห็นร้าน และการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท

นอกจากผมเองที่สามารถ “สัมผัส” กับกิจการได้แล้ว ผมยังมักจะถามความเห็นของภรรยา และโดยเฉพาะลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยว่ากิจการที่ผมสนใจ นั้น เขามีความ “รู้สึก” อย่างไรด้วย เหตุผลก็คือ ถ้าผมคิดเอง ความรู้สึกของผมอาจจะผิดเนื่องจากอายุที่มากและอาจจะรู้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข มากจนทำให้มีความลำเอียงในความดีเด่นหรือความด้อยของกิจการ ในขณะที่ฐานะและความแข็งแกร่งทางด้านการตลาดนั้น เด็กวัยรุ่นกับผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นหุ้นน่าจะรู้ดีที่สุด และต่อไปนี้ก็คือบางประเด็นที่ผมมักใช้ทดสอบว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมาก น้อยแค่ไหนจากการ “สัมผัส” โดยที่ประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ผมจะมองที่หุ้นของกิจการที่มี “อนาคต” และ “มีชีวิตชีวา” มองจากสายตาของ “คนรุ่นใหม่” หรือคนที่สามารถ “ใช้สามัญสำนึกได้โดยไม่ลำเอียง”


ข้อแรกที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้นก็คือ ธุรกิจนั้น เรา “ภูมิใจ” ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ลูกเรารู้สึกภูมิใจที่จะไปคุยกับเพื่อนฝูงว่าเขาเป็นเจ้าของหรือไม่ ถ้าเขารู้สึกว่ากิจการที่เรากำลังพิจารณาซื้อนั้น เป็นกิจการที่ดูเชยหรือโบราณหรือไม่น่าสนใจ พูดไปเพื่อนฝูงก็ไม่รู้จัก แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นกิจการที่ “ไม่เท่” ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ตรงกันข้าม ถ้าเขารู้สึกว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่กำลังพูดถึงนั้นจะทำให้เขาดูดีมาก เป็นที่อิจฉาของเพื่อนฝูงและน่าจะทำให้เขาดูปอบปูลาร์มาก แบบนี้ก็แสดงว่าหุ้นที่เรากำลังพิจารณานั้นน่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตที่ดี อย่างน้อยก็ในแง่ของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ข้อสอง ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์หรือเป็น “แฟชั่น” หรือไม่ ถ้าคำตอบก็คือ นี่เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหรือกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็ต้องระวังว่าอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง ตรงกันข้าม สินค้าหรือบริการที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้หรือเริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เรื่อย ๆ หรือแสดงความสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ก็แสดงว่าสินค้าหรือบริการนั้นกำลังอยู่ในเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ อนาคตและการเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้น

ข้อสาม กิจการมีการเติบโตต่อเนื่องเห็นได้จากการ “เปิดร้านสาขาใหม่ ๆ” เพิ่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลที่ใกล้เคียงและในทำเลใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน ความคึกคักของร้านนั้นสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากร้านที่ “ดูใหม่” และทันสมัย มีสินค้าใหม่ ๆ มากมายที่ลูกค้า ซึ่งอาจจะรวมถึงครอบครัวเราด้วย อยากเข้าไปใช้บริการมากกว่าร้านอื่น ๆ ที่ขายสินค้าคล้ายคลึงกัน

ข้อสี่ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึก “โดน” มาก คือรู้สึกประทับใจและถ้าเลือกได้ก็จะใช้ของบริษัทนี้ นอกจากนั้นเพื่อน ๆ หรือคนอื่นก็พูดคล้าย ๆ กัน คำว่าประทับใจหรือพอใจนั้นต้องดูโดยรวมและเทียบกับราคาของสินค้าหรือบริการ นั้นด้วย กิจการที่ให้บริการที่ “โดน” นั้น จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการซึ่งจะส่งผลต่อผลการ ดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและยาว

ข้อห้า รู้สึกว่าบริษัทมี “ความมั่นคงมาก” ความรู้สึกนี้มักจะมาจากการที่บริษัท ก่อตั้งมานาน มีระบบการจ้างงานที่ดี ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการดี องค์กรจ้างคนที่มีคุณสมบัติสูงเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่จ้างคนที่มีระดับ การศึกษาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องไปดูข้อมูลเหล่านี้ เราเพียงแต่ใช้หรือฟังภรรยาและลูกพูดถึงบริษัทว่ารู้สึกอย่างไรก็พอ

ข้อหก พนักงานของบริษัท “ดูดี” เช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง แต่งตัวดีและหน้าตาดีกว่าบริษัทอื่นในระดับเดียวกัน บางทีผมก็พยายามมองดูว่าพนักงานของบริษัทนี้รู้สึกจะมีความภูมิใจในตัวเอง มากกว่าพนักงานของบริษัทคู่แข่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าดี

ข้อเจ็ด กิจการมีการ “เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” เช่นเดิมทีต้องรอนานและพนักงานไม่สนใจลูกค้า กลายเป็นเร็วขึ้นและต้อนรับลูกค้าอย่างดีและมีบริการใหม่ ๆ มาเสนอต่อลูกค้าตลอด ข้อนี้ถ้าเราเห็นหรือรู้สึกได้ตั้งแต่ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่งดงามได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น ครอบคลุมกว้างมากและรวมไปถึงกิจการทุกประเภทที่เราจะสามารถสัมผัสได้ ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนแล้ว ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เราควรจะต้องสังเกตและวิเคราะห์เสมอว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม ดีขึ้นหรือเลวลง มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือ ดีขึ้นมากละก็ ลองพิจารณาอย่างจริงจังที่จะซื้อหุ้นดู

ผมคงไม่สามารถที่จะพูดได้หมดว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้างที่จะเป็นสัญญาณบอก ให้รู้ว่าบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมองจาก “การสัมผัส” กับสินค้าหรือบริการนั้น แต่สิ่งที่จะเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ เราจะต้องเห็นถึงความ “มีชีวิตชีวา” ของตัวกิจการ ซึ่งสิ่งนี้มักจะอิงหรือเกี่ยวข้องกับคนที่มีอายุน้อยและเป็นคนรุ่นใหม่ และก็เช่นเคย การวิเคราะห์โดยการสัมผัสนั้น แม้ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ที่สำคัญมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด นักลงทุนยังคงต้องวิเคราะห์ในเรื่องของการเงินและอื่น ๆ รวมถึงราคาหุ้นตามมาตรฐานที่เข้มงวดแบบ VI ด้วย

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 7 พฤศจิกายน 52

สไตล์ของนักลงทุน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การลงทุนนั้นน่าจะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สัก 30% อีก 70% เป็นเรื่องของศิลปะ ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนมานานหรือคนที่มุ่งมั่นฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจึงมักจะมี “สไตล์” เป็นของตนเอง

สไตล์นั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเนื่องจากประสบการณ์ของนักลงทุน นั่นคือ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น พวกเขาก็จะพยายามเรียนรู้ว่าวิธีการหรือเท็คนิคแบบไหนที่เขาใช้แล้วมักจะทำ ให้เขาได้กำไร เท็คนิคแบบไหนหรือการซื้อขายหุ้นแบบไหนที่ทำแล้วมักจะขาดทุน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะถูก “บันทึก” เอาไว้ในสมองซึ่งจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็มักจะสรุปว่า มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่สร้างผลลัพธ์การลงทุนที่ดีที่สุด และหลังจากนั้น เขาก็จะใช้มันเป็นหลัก และนี่คือ “สไตล์การลงทุน” ของเขา


ในระดับของ “เซียน” ระดับโลกทุกคนนั้น แน่นอนว่าแต่ละคนจะต้องมีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ เบน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งเน้นการลงทุนแบบ Quantitative หรือเน้นดูตัวเลขข้อมูลทางการเงินเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจข้อมูลด้านคุณภาพซึ่งเขามองว่าวัดไม่ได้และอาจเป็นภาพลวงตา ที่สร้างขึ้นโดยผู้บริหารของบริษัท หุ้นที่เขาลงทุนนั้นจะเป็นหุ้นที่มีราคาถูกมากโดยเฉพาะที่วัดจากทรัพย์สิน ของบริษัท การลงทุนของ เบน เกรแฮม นั้น จะเน้นในด้านของความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยหุ้นที่ลงทุนจะต้องมี “Margin Of Safety” สูง และพอร์ตโฟลิโอของเขาจะมีการกระจายการถือหุ้นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการถือพันธบัตรในสัดส่วนที่สูง

วอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงและรวยที่สุดในโลกนั้น มีสไตล์ที่โดดเด่นอยู่ที่การถือหุ้นของกิจการที่ “ดีที่สุด” ในแง่ของธุรกิจ และเขาชอบที่จะถือมันในสัดส่วนที่มาก บ่อยครั้งเขาถือมันร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของคนเดียว เขาถือหุ้นน้อยตัวและไม่ค่อยขายหุ้นหรือกิจการเหล่านั้นออกไป สไตล์ของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น ถ้าจะว่าไป เขาไม่ได้ลงทุนใน “หุ้น” แต่เขาลงทุนใน “ธุรกิจ”

ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้บริหารกองทุนรวมที่มีสถิติการทำผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและมีชื่อเสียง ที่สุดคนหนึ่งของโลกนั้น มีสไตล์การลงทุนที่ ซื้อเกือบทุกอย่างที่วิเคราะห์แล้วพบว่าดี และ/หรือ ถูก โดยที่เขาจะมีวิธีการจัดหุ้นเป็นกลุ่ม ๆ ที่จะทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของกิจการและหาจังหวะในการเข้า ซื้อและขายหุ้น

Value Investor ในบ้านเรานั้น หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ในการซื้อขายหุ้นมาหลายปีจนถึงปัจจุบันก็เริ่ม มี “สไตล์” เป็นของตนเอง จากการสังเกตของผม Value Investor รุ่นบุกเบิกหลายคนซึ่งมักจะมีอายุมากหน่อยก็มักจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคา ถูก มีผลกำไรและการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอและอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ กิจการมักเป็นกิจการที่ไม่หวือหวาโตเร็วและไม่ใช่เป็นกิจการ “แห่งอนาคต” และนั่นก็คือสไตล์การลงทุนแบบ VI ในยุคแรก ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ายังมีคนใช้อยู่มากน้อยแค่ไหนแต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ ๆ จะไม่สนใจสไตล์การลงทุนในแนวนี้สักเท่าไรเพราะผลตอบแทนที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จะไม่ใคร่น่าประทับใจ

สไตล์การลงทุนของ VI ในช่วงเร็ว ๆ นี้มีมากมายหลากหลายมากจนยากที่จะบรรยายหรือเข้าใจได้หมด แต่สไตล์ที่สร้างผลตอบแทนหวือหวาดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก สาเหตุคงเป็นเพราะว่าช่วงหลายปีที่ผ่านนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน สูงมากทั้งขาขึ้นและขาลงซึ่งทำให้เกิดกำไร-ขาดทุนที่สูงมากในระยะเวลาอัน สั้น คนที่ทำกำไรได้สูงนั้น แน่นอน ต้อง “ซื้อ” สไตล์ที่เขาคิดว่าทำผลตอบแทนได้ดีมากซึ่งก็มีหลายแบบ

สไตล์หนึ่งที่นิยมกันในช่วงนี้ก็คือ การเล่นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่มี “กำไรดีและกำลังเติบโต” มองจากข้อมูลตัวเลขที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ หุ้นดังกล่าวอาจจะไม่ใคร่มีสภาพคล่องนักแต่เจ้าของหรือผู้บริหารมีความ ตั้งใจและเอาใจใส่กับราคาหุ้นและพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลดี ๆ ของบริษัท เช่นเดียวกัน กิจการก็มีความกระตือรือร้นที่จะขยายงานหรือหาธุรกิจใหม่ ๆ ทำเพื่อสร้างการเจริญเติบโตต่อไป นักลงทุนที่เล่นหุ้นสไตล์นี้นั้น เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็ต้องมีกระบวนการในการ “โฆษณา” หรือเผยแพร่เพื่อชักจูงนักลงทุนคนอื่นให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ “ดีเยี่ยม” และซื้อหุ้นตาม ในหลาย ๆ กรณี หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากและทำให้นักลงทุนชุดแรก ๆ ที่มองเห็นก่อนสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม หุ้นหลายตัวหลังจากขึ้นไปแล้ว กลับตกลงมาอย่างหนักจนทำให้คนที่ซื้อทีหลังขาดทุนจำนวนมากเช่นกัน

อีกสไตล์หนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็คือ การลงทุนใน “หุ้นวัฏจักร” ซึ่งก็คือการลงทุนในกิจการที่ขายสินค้าที่มีลักษณะแบบสินค้าโภคภัณฑ์ที่มี ราคาขึ้นลงเป็นรอบ ๆ เท็คนิคก็คือ พยายามมองหาหุ้นของกิจการที่กำลังจะเป็น “ขาขึ้น” แต่หุ้นที่สนใจนั้น มักเป็นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่นักวิเคราะห์ไม่สนใจติดตาม ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยได้ปรับตัวตามวัฏจักรอย่างรวดเร็วตามที่ควรเป็น เมื่อพบแล้วก็เข้าซื้อ แล้วก็รอและโปรโมตหุ้นให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนอื่น ๆ จนราคาดีดตัวขึ้นเมื่อผลการดำเนินงานที่โดดเด่นได้รับการประกาศออกมา พวกเขาก็มักจะขายเพื่อทำกำไรและมองหาหุ้นวัฏจักรตัวต่อไป

สไตล์สุดท้ายที่เริ่มมีคนยึดถือเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันก็คือการลงทุนใน หุ้น Super Stock ในแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ แม้ว่ากิจการในตลาดหุ้นไทยนั้นจะมีคุณสมบัติต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกามาก แต่แนวที่นักลงทุนใช้ก็คือ ลงทุนเฉพาะในหุ้นกลุ่มที่มีคุณภาพดีที่สุด ในราคาที่ถูกหรือยุติธรรม ซึ่งก็มักเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก ซื้อแล้วเก็บไว้ค่อนข้างนาน จนราคาปรับตัวขึ้นไปมากแล้วก็ขายและรอซื้อหุ้นตัวอื่นหรือตัวเดิมที่มี คุณภาพสูงและในราคาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการลงทุนบางสไตล์ของ VI ที่มีให้เห็นโดดเด่น สไตล์เหล่านั้นอาจจะได้รับความนิยมนานหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับผลงานการลงทุน ที่นักลงทุนที่ใช้ทำได้ ถ้าสไตล์นั้นสามารถทำผลงานดีเด่นยาวนาน สไตล์นั้นก็น่าจะคงทน แต่หากสไตล์นั้นทำผลงานดีได้เพียงชั่วคราว ในไม่ช้ามันก็จะหมดความนิยมลง ในทางตรงกันข้าม เท็คนิคหรือสไตล์ใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนคนหนึ่งจะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ ดังนั้น วิธีการที่ดีกว่าก็คือ หาสไตล์ที่ดีที่สุดในระยะยาวแล้วฝึกฝนจนชำนาญและใช้มันตลอดไป เฉกเช่นเดียวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือ ปีเตอร์ ลินช์ หรือ เบน เกรแฮม ที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและกลายเป็นตำนานของนักลงทุนของโลก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 31 ต.ค.2552