Wednesday, July 28, 2010

ทำเงินก้อนโต...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investor นั้นก็เหมือนกับคนในวงการอื่น ๆ ที่มีทั้งนักลงทุนประเภท Aggressive หรือพวกที่ “ก้าวร้าว” กล้าได้กล้าเสีย ทำงานหนัก หนุ่มแน่น ซึ่งในบางช่วงบางสถานการณ์ อย่างเช่นในช่วงนี้ สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในเวลาไม่นาน กับอีกกลุ่มหนึ่งหรือที่จริงควรเรียกว่าอีกปีกหนึ่งที่เป็น VI ประเภท Conservative หรือนักลงทุนแนวอนุรักษ์นิยมที่เน้นความปลอดภัยในการลงทุนเป็นหลัก ไม่ชอบอะไรที่หวือหวาและอันตราย คนในกลุ่มนี้ชอบลงทุนในกิจการที่มีความแน่นอนของผลประกอบการของบริษัทแม้ว่า กิจการจะโตช้าและหลายกิจการอาจจะใกล้ที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน เกือบทั้งหมดชอบหุ้นถูกแม้ว่ามันจะถูกมานาน พวกเขามักจะเป็นคนที่มีอายุมากกว่าพวกแรกและหลายคนมีเงินไม่มากและเหลือ เฟือที่จะกล้าเสี่ยง ผลตอบแทนการลงทุนของพวกเขาดูเหมือนว่าจะไปแบบเนิบ ๆ ไม่หรูหราและอาจจะไม่เลวร้ายไม่ว่าในสถานการณ์ไหน

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ ถ้าเราจะเป็น VI แบบ Aggressive นั้น หุ้นประเภทไหนที่เราจะเล่น หุ้นอะไรที่จะ “ทำเงินก้อนโต” ให้เราได้


หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นของกิจการที่มีผลประกอบการที่เป็นวัฎจักรรุนแรง นี่คือผู้ผลิตหรือให้บริการสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ เช่น ปิโตรเคมีต่าง ๆ การเดินเรือและการบิน ผลิตภัณฑ์การเกษตรโดยเฉพาะที่หาสินค้าทดแทนได้ยากเช่น ยางพาราและไก่ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไม่ได้เป็นโภคภัณฑ์แต่ก็มีวัฎจักรที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าคงทนที่คนสามารถเลื่อนการซื้อออกไปได้เช่น รถยนต์และบ้าน เป็นต้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฎจักรนี้ เราต้องรู้ว่าวัฎจักรกำลังเป็น “ขาขึ้น” ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนภาวะที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าการคาดการณ์ในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าทำได้ถูกต้อง บ่อยครั้งจะได้กำไรงดงาม บางทีหุ้นขึ้นไปหลายเท่าในเวลาไม่กี่เดือน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ทำให้ VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นวัฎจักรร่ำรวยไปหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการลงทุนนั้น อะไรที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว คนที่มา “ทำซ้ำ” อาจจะช้าเกินไป

หุ้นกลุ่มที่สองคือ หุ้นเล็กที่ไม่มีใครเหลียวแล บางคนเรียกว่า “หุ้นเงา” นี่คือหุ้นที่มีขนาดค่อนข้างจะเล็กคืออาจจะมี Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทไม่ถึงพันล้านบาท แต่เป็นกิจการที่มีผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นอย่างมากในระยะอาจจะสองสามปี ข้างหน้า และบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอยู่ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ หุ้นเหล่านี้ที่จะวิ่งพรวดได้นั้นมักจะต้องมี “สปอนเซอร์” หรือถ้าจะใช้ภาษาการแข่งม้าก็คือ จะต้องมี “จ็อคกี้” ที่จะ “กระตุ้น” ให้หุ้นวิ่งไปได้มาก ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมักจะต้องรวมถึงเจ้าของบริษัทที่จะต้องออกมา “เชียร์” หุ้นสม่ำเสมอ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นเงาแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากผลประกอบการแล้ว จะต้องดูว่าในที่สุดจะมีใครเป็น “คนนำ” ในการขับเคลื่อนหุ้น

หุ้นกลุ่มที่สามก็คือ หุ้น “นางฟ้าตกสวรรค์” นี่คือหุ้นที่เคยเป็น “นางฟ้า” ของนักลงทุน เป็นหุ้นที่เคยร้อนแรง ราคาปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้นและเหตุผลที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก นั้นเป็นเพราะบริษัทกำลังมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นและเติบโตมาก นักลงทุนคาดหวังบริษัทไว้สูงมากและให้ราคาหุ้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผลการดำเนินงานกลับไม่เป็นไปตามที่คาดด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา สร้างความผิดหวังและทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นทิ้งอย่าง “บ้าคลั่ง” เช่นเดียวกับในตอนที่เข้าซื้อหุ้น ผลก็คือ ราคาหุ้นตกต่ำมาติดดิน ประเด็นสำคัญในการซื้อหุ้นนางฟ้าตกสวรรค์ก็คือ เราจะต้องเห็นว่าบริษัทจะกลับมาเป็น “นางฟ้า” มีผลงานโดดเด่นได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิมและราคาหุ้นนั้นต่ำมาก เราไม่ต้องการซื้อหุ้นเพียงเพราะราคามันตกลงมามาก เราไม่ต้องการนางฟ้าที่ “ตกนรก” ไปแล้ว

กลุ่มที่สี่ หุ้นฟื้นจากภาวะล้มละลายหรือปัญหารุนแรงทางการเงินและธุรกิจ และจะต้องมีมูลค่าหุ้นต่ำมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินหรือขนาดของกิจการ การที่จะทำเงินก้อนโตจากหุ้นกลุ่มนี้นั้น จะต้องมั่นใจว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้และบริษัทมีคน สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกอบกู้บริษัท การเล่นหุ้นในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนถ้าคาดการณ์ได้ถูกต้องก็สูงมากเช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ห้า หุ้นบลูชิพที่มีราคาตกต่ำลงมากเนื่องจากปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นครั้ง เดียว หรือตกต่ำลงเพราะปัญหาของภาพรวมเศรษฐกิจการเงิน นี่คือหุ้นของกิจการที่ใหญ่โต มั่นคง เก่าแก่ ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องยาวนาน มีฐานะทางการตลาดที่มั่นคงมาช้านานและแทบไม่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาแข่ง ขัน หุ้นเหล่านี้มักจะโตช้า ๆ แต่จ่ายปันผลในอัตราที่น่าพอใจ ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่หุ้นตกลงมาอย่างแรงเช่น อาจจะ 30-40% จากราคาปกติ การลงทุนในหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนมากด้วยความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็มีไม่มากนัก

กลุ่มที่หก หุ้นซุปเปอร์สต็อก นี่คือการลงทุนในหุ้นที่มีคุณสมบัติ “สุดยอด” ในเกือบทุกด้านในขณะที่จุดอ่อนมีน้อย นั่นก็คือ เป็นกิจการที่เติบโตเร็วและจะเติบโตขึ้นไปอีกมากจากจุดที่เห็น การเติบโตนั้นเป็นการเติบโตที่หาคู่แข่งมาขัดขวางได้ยาก เส้นทางการเติบโตนั้นชัดเจนและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเช่นเดียวกับการตลาดที่มีความได้เปรียบอย่างยั่งยืน หรือมี Durable Competitive Advantage หุ้นซุปเปอร์สต็อกนี้ ถ้าเลือกถูกต้องแล้ว ก็สามารถทำเงินก้อนโตได้ยาวนาน แต่ผลตอบแทนจะดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นถ้าสามารถซื้อได้ในช่วงต้น ๆ ที่คนยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานะของบริษัทหรือซื้อในช่วงที่มันประสบปัญหา บางอย่างทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่าปกติ

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหุ้นบางกลุ่มที่สามารถทำเงินก้อนโตให้กับ VI ได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มที่กล่าวถึงนั้นก็มี “ดีกรี” การทำเงินมากน้อยต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งก็ยังแบ่งออกเป็นสองด้านคือ ความเสี่ยงที่การวิเคราะห์อาจจะผิดพลาดและความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะตกลงมามาก หรือน้อยถ้าเราวิเคราะห์ผิดหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป ดังนั้น คนที่รักหรือเลือกที่จะเป็น VI ที่ Aggressive จะต้องระมัดระวังและจะต้องประเมินศักยภาพหรือฝีมือของตนเองให้ดีว่าเราจะ เลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 24 กรกฎาคม 2553

หมึกพอลในตลาดหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การแข่งขันฟุตบอลโลกได้จบลงแล้วพร้อมกับชัยชนะและการเป็น “ฮีโร” ของนักเตะทีมสเปนและ “หมึกพอล” ปลาหมึกยักษ์ที่สามารถทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ถูกต้องติดต่อกัน 8 ครั้งตลอดการแข่งขัน

หลายคนคงคิดว่าปลาหมึกยักษ์ชื่อพอลดังกล่าวมี “ญาณ” พิเศษที่ทำให้มันสามารถทำนายผลได้ถูกต้องแต่ก็อาจจะยังงง ๆ อยู่ว่ามันทำได้อย่างไรเนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยว กับฟุตบอล สิ่งที่มันทำอยู่ก็คือการเลือกกินหอยในกล่องใบหนึ่งจากกล่องสองใบที่คนเอาไป วางไว้ให้มันเท่านั้น สำหรับคนที่ “มีเหตุผล” แล้ว พวกเขาคิดว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือ “ฟลุ๊ค”


แต่ถ้าสมมุติว่าแทนที่จะเป็นปลาหมึก ผู้ที่ทำนายการแข่งขันนั้นเป็นคนจริง ๆ ที่ชื่อว่า “พอล” และสามารถทำนายการแข่งขันฟุตบอลโลกถูกต้องถึง 8 ครั้งติดต่อกันแบบหมึกพอล อะไรจะเกิดขึ้น?

พอลคงเป็น “ฮีโร” จริง ๆ ในสายตาของคนทั้งโลกที่ “บ้าฟุตบอล” และต่างก็ “ทำนาย” กันอยู่ในใจว่าใครจะชนะในแต่ละแมทซ์การแข่งขัน พอลคงกลายเป็น “เซียน” ฟุตบอลระดับโลกที่นักพนันบอลต้องติดตามเพื่อที่จะ “แทง” บอลตามที่พอลทำนายไว้ เพราะคนคงจะเชื่อว่าพอลมีความสามารถพิเศษในการวิเคราะห์ว่าทีมไหนมีความ สามารถสูงกว่าทีมไหนหลังจากทายถูกมาถึง 8 ครั้งติดต่อกัน

แต่พอลเป็นเซียนบอลแน่หรือ? หรือพอลก็ “ฟลุ๊ค” แบบเดียวกับหมึกพอล และถ้าเป็นอย่างนั้น การทำนายบอลในอนาคตของพอลก็จะไม่แม่น และคนที่แทงบอลหรือเล่นพนันบอลตาม “เซียนพอล” ก็อาจจะ “เจ๊ง” ได้ อะไรเป็นตัวที่จะบอกว่าพอลนั้นเป็นเซียนตัวจริงหรือเป็นแค่คนที่ “ฟลุ๊ค” ทายบอลได้ถูกต้องแบบเดียวกับปลาหมึกพอล

เรามาดูว่าโอกาสที่คนไม่มีความรู้แต่ทายผลการแข่งขันได้ถูกต้องถึง 8 ครั้งติดต่อกันนั้นมีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นเรื่องของสถิติซึ่งผมคำนวณมาได้ว่าเท่ากับ 0.39% นั่นก็คือ ถ้ามีคน 1,000 คน ที่ไม่มีความรู้และความสามารถในการทำนายเลยมาทำนาย ก็จะมีประมาณ 3.9 หรือ 4 คน ที่สามารถทายถูกได้ 8 ครั้งติดต่อกัน หรือถ้าเอาปลาหมึกยักษ์มา 1,000 ตัวมาทำนายบอลโลก ก็จะมีประมาณ 4 ตัว ที่ทายบอลโลกถูกต้อง 8 ครั้งติดต่อกัน หมึกพอลก็อาจจะเป็นตัวหนึ่งในนั้น เขาก็อาจจะไม่ได้สถานะของการเป็น “ฮีโร” อย่างที่เป็นอยู่ และอาจจะถูกจับไปทำอาหารหลังจากเสร็จ “งานแสดง” ก็ได้

สำหรับคุณพอลที่เป็น “เซียนบอล” นั้น สถิติที่เป็น 4 ใน 1,000 คนที่ทำนายผลบอลได้ถูกต้อง 8 ครั้งติดต่อกันนั้น ถามว่า นี่เป็นเรื่อง “ฟลุ๊ค” หรือเป็นเรื่องของฝีมือ?

คำตอบของผมก็คือ อาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะโอกาส 4 ใน 1,000 นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ลองนึกถึงการถูกหวยเลข 3 ตัว ซึ่งมีโอกาสเพียง 1 ใน 1,000 นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยากอะไร ในขณะเดียวกัน จะบอกว่าพอลนั้นไม่ได้มีฝีมือแต่เป็นเรื่อง “ฟลุ๊ค” ก็เป็นเรื่องที่ “ดูแคลน” ฝีมือเขามากเกินไป เหนือสิ่งอื่นใด พอลมีการ “วิเคราะห์และให้เหตุผล” อย่างน่าเชื่อถือ มีหลักวิชาและสถิติประกอบเพียบ ไม่ได้วิเคราะห์มั่ว ๆ หรืออธิบายอะไรไม่ได้แบบหมึกพอล ดังนั้น สำหรับตัวพอลเองแล้ว ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ค” ในวงการนี้

สำหรับผม การที่จะบอกว่าพอลมีฝีมือ “สุดยอด” หรือพอลนั้นแค่ “ฟลุ๊ค” เป็นเรื่องที่ยังบอกไม่ได้ด้วยสถิติระดับนี้ บางที ถ้าพอลสามารถทำนายได้ถูกซัก 13 ครั้งติดต่อกันซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นโดยบังเอิญเพียง 1 ใน 10,000 ผมอาจจะสรุปได้อย่างมั่นใจว่าสิ่งที่พอลทำได้นั้นเกิดจากฝีมือล้วน ๆ และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหมึกพอลถึงไม่ทำนายต่อหลังจากที่เป็น “ฮีโร่” ไปแล้ว เพราะถ้าทำนายต่อ ผลอาจจะออกมาผิด และคนก็จะเลิกนับถือหมึกพอล เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องฟลุ๊ค

ผมพูดมายืดยาวเพื่อที่จะเข้าถึงเรื่องที่ผมต้องการพูดถึงจริง ๆ นั่นก็คือ เรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นเองก็มีเรื่องราวของการ “ทำนาย” หรือการเลือกซื้อหุ้นลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน พูดง่าย ๆ ในวงการหุ้นเองก็มีคนอย่าง “พอล” เต็มไปหมด คนที่เข้ามาในตลาดหุ้นไม่กี่ปีแต่ทำผลตอบแทนการลงทุนได้อย่าง “สุดยอด” ปีละเป็นหลายสิบหรือแม้แต่ร้อยเปอร็เซ็นต์โดยเฉลี่ย และเมื่อข่าวหรือข้อมูลนี้ออกไป พอลก็กลายเป็น “ฮีโร่” ในตลาดหุ้นหรือในวงการลงทุน พอลทำนายหุ้นหรือซื้อหุ้นตัวไหนหุ้นนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น คนเชื่อกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ฝีมือ” ของพอลล้วน ๆ สำหรับตัวพอลเองนั้น ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาทำสำเร็จได้เพราะ “ฟลุ๊ค” ทุกอย่างเกิดจากการวิเคราะห์พิจารณามาเป็นอย่างดี มีวิชาการและเท็คนิคการเลือกหุ้นเฉพาะตัว เป็นเรื่องของฝีมือ 100%

แต่ผมเองก็อยากจะเตือนว่า เป็นไปได้เช่นกันว่า การทำนายได้ถูกต้องและทำให้ได้ผลตอบแทนมโหฬารในอดีตที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องบังเอิญหรือ “ฟลุ๊ค” และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ในอนาคต “พอล” ก็อาจจะพลาดหรือไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การลงทุนของนักลงทุนทั้งที่มีการบันทึกและที่ไม่มีการพูดถึง นั้นมีมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การ “ประสบความสำเร็จ” ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตการลงทุนนั้นมีมากมายและเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ ในระยะยาวมากนั้น เป็นข้อยกเว้น และคนเหล่านี้เท่านั้นที่จะถูกจารึกไว้ว่าเป็น “เซียน” ที่แท้จริง ไม่ใช่ “หมึกพอลในตลาดหุ้น”

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 17 กรกฎาคม 2553

กำเนิด VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

พื้นฐานของชีวิตและการเริ่มต้นเป็น Value Investor หรือนักลงทุนของแต่ละคนนั้นบอกอะไรบางอย่างถึงแนวทางหรือกลยุทธการลงทุนของ เขา รวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่เขาจะไปถึงได้

วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น “เกิดมาเพื่อที่จะเป็นนักลงทุนเอกของโลก” เพราะเขารักการหาเงินและลงทุนตั้งแต่เด็ก เขาเกิดในช่วงเวลาและในประเทศที่เหมาะสม และได้พบและเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนจาก เบน เกรแฮม ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเอกของโลก กลยุทธและวิธีการของเขาก็คือ ลงทุนระยะยาวและโตไปกับเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุด ๆ ของอเมริกา จอร์จ โซรอส นั้น เป็นเด็กหนุ่มชาวยิวฮังการีที่ต้องหนีนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดของเขาก็คือ ต้องเร็วและเอาตัวรอดให้ได้ การลงทุนของเขานั้นดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับการต่อสู้หรือสงคราม นั่นคือ เข้า “โจมตี” อย่างรุนแรง รวดเร็ว “เผด็จศึก” เป็นครั้ง ๆ เขาทำกำไรจากหายนะเช่นเดียวกับความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ


ผมเองเริ่มต้นชีวิต VI จากการที่ต้องหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ “คุกคาม” ชีวิตการทำงานในฐานะลูกจ้างบริษัทของผม ในตอนเริ่มต้นชีวิตการลงทุนในครั้งนั้น ผมไม่ได้วางแผนหรือตระหนักว่าเส้นทางสายนี้จะนำผมไปสู่ความมั่งคั่งและชื่อ เสียงในฐานะ VI ชั้นนำ ผมเพียงแต่คิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในแนวทาง Value Investment นั้น คือทางออกที่จะทำให้ผมยังมีชีวิตในฐานะชนชั้นกลางแบบที่ผมเป็นอยู่ในขณะนั้น ได้แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการทำงานหรือรายได้ประจำลดลงมาก กลยุทธการลงทุนของผมจึงเน้นที่ “ความปลอดภัย” หรือการ “ปกป้องเงินต้น” เป็นหัวใจหลัก อะไรที่ทำให้การลงทุนมีโอกาสขาดทุน “อย่างถาวร” ผมจะหลีกเลี่ยง การลงทุนของผมแต่ละครั้งจะต้อง “ไม่ขาดทุน”

ถึงวันนี้ที่ Value Investment เป็นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ผมเห็นว่าการเริ่มต้นของคนเหล่านี้สามารถแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่มด้วยกันคือ

กลุ่มแรก คนทำงานกินเงินเดือน อายุประมาณ 30-45 ปี นี่คือกลุ่ม VI ที่เริ่มสนใจลงทุนเนื่องจากตระหนักว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องออมเงินเพื่อการ เกษียณหรือบางคนต้องการสร้างอนาคตและเห็นว่าการฝากเงินนั้นเป็น “การลงทุน” ที่แย่มาก คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีความมั่งคั่งไม่มาก เงินทุกบาททุกสตางค์ “หามาได้ยาก” การที่มันจะ “หายไป” หรือลดน้อยลงเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจรุนแรง ดังนั้น กลยุทธการลงทุนจึงมักจะ “อนุรักษ์นิยม” และไม่ลงทุนในหุ้นมากนัก หุ้นที่เลือกลงทุนต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและขนาดไม่เล็กเกินไป ระยะการลงทุนก็มักจะค่อนข้างยาวเนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามมากนัก เป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุนก็มักจะไม่สูง แต่พวกเขาก็ยังหวังได้ประมาณปีละ 15-20%

กลุ่มที่สองเป็น “เด็กจบใหม่” ที่พ่อแม่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากทางบ้านในการลงทุนแต่ก็ไม่ได้มีภาระต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ยังไม่แต่งงานเพราะอายุยังไม่ถึง 30 ปี พวกเขาเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานที่ค่อนข้างสูงที่จะ “รวย” เป็นเศรษฐีในเวลาอาจจะแค่ 10-15 ปี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขาได้อ่านประวัติของนักลงทุนเอกหรือนักลงทุนที่ ประสบความสำเร็จอื่น ๆ จนทำให้คิดว่าเขาก็น่าจะทำได้แบบเดียวกันหรือดีกว่า ว่าที่จริงหลาย ๆ คนก็สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่น่าประทับใจมากเช่นทำกำไรได้ 100% ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือน เป็นต้น

VI ในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะใช้กลยุทธการลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” และมักจะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีผลประกอบการไม่แน่นอนแต่มีช่วงเวลาที่โดด เด่นที่จะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นให้สูงขึ้นได้หลายเท่าในเวลาไม่นาน เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคนเหล่านี้ก็คือ ถ้าพลาดเขาก็สามารถหาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเม็ดเงินที่ยังน้อย พวกเขาก็ไม่สามารถเป็น “ผู้นำ” ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้น พวกเขาจึงมักจะเป็น “ผู้ตาม” ที่คอยรับอานิสงค์จาก VI “ขาใหญ่” ดังนั้น ผลตอบแทนของพวกเขาจึงอาจจะไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับคนที่มีพอร์ตใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร VI ในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่ค่อนข้างจะกระตือรือร้นและมุ่งมั่น พวกเขาใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมากและมีการเทรดหุ้นสูง

กลุ่มที่สาม นี่คือกลุ่มคนที่มักทำธุรกิจและมีเงินเหลือที่ถูกเก็บสะสมมานาน พวกเขาเป็นคนรวยหรือเป็นเศรษฐีที่อาจจะเริ่มมีเวลามากขึ้นเนื่องจากธุรกิจ อยู่ตัวแล้วหรือธุรกิจที่ทำอยู่เริ่ม “ตกดิน” เขาอาจจะเริ่มสนใจหาทางลงทุนเงินสดที่กองอยู่ในธนาคารที่แทบจะไม่ได้ ดอกเบี้ย เขาอาจจะพบว่าการลงทุนแบบ VI นั้น เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งแทนที่จะใช้เงินนั้นไปสร้างธุรกิจใหม่ คนกลุ่มนี้จึงมักเลือกลงทุนในกิจการที่มีขนาดกลาง ๆ มีความมั่นคงพอสมควรและมีพื้นฐานดี พวกเขาเข้าใจดีว่าธุรกิจไหนเป็น “ของจริงหรือของปลอม” การลงทุนของพวกเขามักจะเป็นการลงทุนระยะยาว หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้น เนื่องจากเม็ดเงินเริ่มต้นจำนวนมาก ทำให้พวกเขากลายเป็น VI “รายใหญ่” ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในเวลาอันสั้น และทำให้มีบทบาท “ชี้นำ” ในหลาย ๆ กรณี

กลุ่มที่สี่ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ กลุ่ม “ลูกเศรษฐี” นี่คือนักลงทุนหนุ่มสาวหน้าใหม่ที่ผมเห็นว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง จำนวนและมูลค่าพอร์ตการลงทุนในหุ้น ลูกเศรษฐีที่ว่านี้จริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่เศรษฐีใหญ่ที่ลูกจะสามารถหรือควรสืบทอดกิจการ พวกเขามีธุรกิจหรือมีทรัพย์สินและมีเงิน แต่งานของพวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ลูกเข้าไปช่วยทำ ลูก ๆ ของพวกเขาควรไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ มากกว่า แต่การไปทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนั้นเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยและได้เงิน น้อยมาก ดังนั้น หนทางที่ดีกว่าก็คือ การลงทุนที่จะให้เงินมาช่วยทำงาน และนี่ก็มาถึงการลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่ “ทำได้ง่ายที่สุด” และอาจจะ “เหนื่อยน้อยที่สุด” และนั่นนำไปสู่การเป็น VI

VI ที่เป็นลูกคนรวยนั้น ในช่วงเริ่มต้นพ่อแม่ก็อาจจะให้เงินไป “ลอง” เพียง 1-2 ล้านบาท แต่ครั้นได้ลองทำและได้ผลตอบแทนอย่าง “น่าทึ่ง” ในเวลาอันสั้น พวกเขาก็มักจะได้เงินลงทุนเพิ่มจากพ่อแม่ที่เห็นศักยภาพ หลายคนสามารถต่อยอดเงินไปสูงมากจนร่ำรวยเป็น “เศรษฐี” ด้วยตนเองในเวลาอันสั้น VI กลุ่มนี้โดยพฤติกรรมก็คือ มักจะมีความกล้าเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ เหตุผลก็คือ เสียก็ไม่เป็นไรเพราะอาจจะขอพ่อแม่ใหม่ได้หรือไม่ก็กลับไปทำงานกินเงิน เดือน พวกเขาจะลงทุนหุ้นเป็นตัว ๆ เหมือนนักเก็งกำไร หลายคนสามารถ “ไล่หุ้น” ที่มีขนาดเล็กและไม่ใคร่มีสภาพคล่องได้ทำให้กลายเป็น “ผู้นำ” ที่มีอิทธิพลต่อราคาหุ้นและทำให้สามารถลงทุนและได้ผลตอบแทนอย่างน่าทึ่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า นี่คือกลุ่ม “Golden Boy” ในตลาดหุ้นที่น่าจับตามอง เพราะพวกเขาอาจจะมีทั้งเงิน ความสามารถ และเวลาในการลงทุนอีกยาวไกล ถ้าไม่ “แพ้ภัยตนเอง” เสียก่อน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 กรกฎาคม 2553

โลกของศิลปิน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สำหรับผม นักลงทุนมืออาชีพหรือคนที่ลงทุนเป็นเรื่องเป็นเรื่องเป็นราวและใช้เวลากับ การลงทุนค่อนข้างมากนั้น เป็นเหมือน “ศิลปิน” เช่นเดียวกับคนที่เป็น ดารา นักร้อง นักกีฬา นักเขียน นักวาดภาพ และศิลปินอื่น ๆ ลองมาไล่ดูว่าเหมือนกันอย่างไร

ข้อแรกก็คือ นักลงทุนก็เหมือนกับดารา (ต่อไปนี้ผมจะใช้คำว่าดาราเป็นตัวแทนศิลปินอื่น ๆ ทั้งหมด) ในแง่ที่ว่า ทั้งคู่ต่างก็เป็นคนที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการ “เล่น” หรือ “แสดง” หรือ “ทำมาหากิน” หรือสร้างชื่อเสียงและอื่น ๆ ความสามารถนี้เกิดจากการศึกษาในด้านของ “เบสิค” หรือพื้นฐานของวิชาความรู้ แต่ความสามารถในการกระทำนั้นเกิดจากการฝึกฝนและพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล


ข้อสอง ในแวดวงของดารานั้น มักมีการแบ่ง Character หรือบทบาทหรือ “ตัวตน” เฉพาะของแต่ละคน เช่น ในกลุ่มนักแสดงนั้นก็จะมีคนที่เชี่ยวชาญหรือรับบทบาทซึ่งอาจจะเกิดจากการ “สร้างภาพ” เป็นนางเอกแนว “หวาน” บางคนก็ “ครองตำแหน่ง” สาว “เซ็กซี่” ในใจของคนดู บ้างก็ไปแนวบู๊ บางคนหรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือบางคู่ก็ยึดแนว “แฟมมิลี่แมน” หรือคนรักครอบครัว คนที่มีคุณสมบัติบางอย่างไม่ครบที่จะเป็นตัวเอกก็มักจะหันไปเป็น “เพื่อนที่แสนดี” ของตัวเอก และบางคนยึดอาชีพ “ตัวร้าย” หรือบางคนเป็นไม่ได้ทั้งตัวเอกหรือตัวรองก็อาจจะยึดบทบาทเป็น “ตัวตลก” ทั้งหมดนั้น ต่างก็มีงานแสดงและสามารถ “ทำเงิน” ได้… อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง

นักลงทุนนั้นก็เช่นกัน มีคุณสมบัติหรือยึดแนวการลงทุนหรือการเล่นหุ้นของตนหลากหลาย บางคนเน้นลงทุนเฉพาะในหุ้น “Super Stock” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติสุดยอด บางคนเน้นลงทุนหุ้น Blue Chip บ้างก็เล่นหุ้น “Cyclical” หรือหุ้นวัฏจักร บางคนชอบหุ้น “Turnaround” หรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัวจากปัญหาทางธุรกิจ ถ้าเป็นพวก “VI ขนานแท้” ก็อาจจะเน้นหุ้นถูกประเภท PE และ PB ต่ำ และนักเล่นหุ้นตามห้องค้าจำนวนมากที่ชอบเล่นหุ้น “เก็งกำไร” ทั้งหมดนั้นต่างก็มักจะ “ทำเงิน” ได้… อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง

ข้อสาม ถ้าพูดถึงเรื่องการทำเงิน อาชีพ “ดารา” และ นักลงทุน โดยรวมนั้น ก็คล้าย ๆ กับอาชีพอื่น ๆ นั่นก็คือ ไม่ใช่เป็นอาชีพที่ทำเงินดี โดยเฉพาะถ้าไปเปรียบเทียบกับอาชีพที่ต้องเรียนและฝึกฝนหนักอย่างแพทย์หรือ วิศวกร แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกเหมือนว่าอาชีพดาราเป็นอาชีพที่ทำเงินมากนั้นอาจจะ เป็นเพราะว่ามีดาราบางคนที่เป็น “ซุปเปอร์สตาร์” สามารถทำเงินได้มหาศาลจากการเป็นนางแบบหรือนายแบบโฆษณาซึ่งทำให้ได้เงินค่า จ้างปีละบางทีเป็นหลายสิบรวมกันหลายปีอาจจะเป็นร้อยหรือหลายร้อยล้านบาท แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้ตระหนักว่า ยังมีดาราจำนวนมากที่ไม่ได้โดดเด่นและยังต้องทำงานแบบ “ปากกัดตีนถีบ” หาเงินแทบไม่พอใช้ ซึ่งเมื่อนำมาเฉลี่ยกับดาราที่มีรายได้มากแล้วทำให้อาชีพดาราโดยรวมแล้วไม่ ได้เป็นอาชีพที่ทำเงินสูงแต่อย่างใด

อาชีพนักลงทุนก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราฟังหรือดูผลงานการทำกำไรเฉพาะนักลงทุนระดับ “เทพ” เราก็อาจจะมี “ภาพ” ในใจว่า การลงทุนนั้นเป็นอาชีพที่ทำเงินมหาศาล ผลตอบแทนต่อปีน่าจะได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์และคนสามารถรวยได้ง่าย ๆ จากการเป็นนักลงทุนหรือเล่นหุ้น การรวยเป็นสิบเป็นร้อยหรือแม้แต่เป็นพันล้านบาทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ว่าที่จริงก็มีคนทำได้มาไม่รู้จะกี่คนหลังจากที่ทำมาไม่นานนัก แต่นี่ก็เป็น “ภาพลวงตา” เพราะยังมีนักลงทุนและนักเล่นหุ้นอีกจำนวนมากที่เราไม่เห็นและไม่รู้จักที่ ทำผลตอบแทนการลงทุนได้น้อยมาก หลายครั้งก็ขาดทุนมหาศาล เมื่อเอาผลตอบแทนของคนเหล่านี้มาเฉลี่ยกับ “เทพ” ผลก็จะออกมาว่า อาชีพนักลงทุนโดยรวมนั้นไม่ได้หรูหราอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ข้อสี่ การเป็นนักลงทุนนั้น ก็เหมือนกับการเป็นดาราในแง่ที่ว่า มันไม่ได้มีความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่เข้ามาเล่น ความสามารถนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดและ อาจจะไม่ถึงครึ่งของปัจจัยความสำเร็จในระยะยาวหรือตลอดชีวิต การเป็นดารานั้น บางทีการเกิดมาด้วยหน้าตาที่ไม่สวยหรือหล่อพอก็แทบจะปิดประตูสำหรับการเป็น ซุปเปอร์สตาร์แล้ว การลงทุนก็เช่นกัน คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย โอกาสที่จะมีพอร์ตใหญ่เหมือนกับ “ลูกเศรษฐี” ที่เริ่มต้นก็มีเงินลงทุนนับเป็นล้านหรือหลาย ๆ ล้านบาทก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การเป็นนักลงทุนหรือเป็นดารานั้น ถ้าจะให้มีความสุขก็คือต้องทำตัวแบบ “ศิลปิน” นั่นก็คือ พอใจและภูมิใจกับผลงานและความสำเร็จของตนเองโดยไม่ต้องไปสนใจกับคนอื่นมาก นัก

ข้อห้าที่ผมจะพูดเป็นข้อสุดท้ายก็คือ อาชีพนักลงทุนก็คล้าย ๆ กับอาชีพดารานั่นคือ มีความไม่แน่นอนสูง ในวันหนึ่งคุณอาจจะเป็น “เซเล็บ” หรือเป็นคนที่สังคมชื่นชมเป็นคนที่ฟู่ฟ่าเป็นที่กล่าวขวัญและจับตามอง แต่ความผิดพลาดในการทำงานและการ “วางตำแหน่ง” ที่ผิดพลาดก็อาจจะทำให้คุณตกต่ำลงได้ง่าย ๆ ดังนั้น การตระหนักในความจริงข้อนี้จะช่วยให้คุณรอดพ้นจากสถานการณ์แบบนั้นได้ดี ขึ้น แม้แต่ จอร์จ โซรอส เองก็เคยพูดว่า “I am not invincible” นั่นก็คือ เขาตระหนักตลอดเวลาว่า ในเรื่องของการลงทุนนั้น ต่อให้แน่แค่ไหนก็แพ้หรือตายได้เหมือนกัน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 3 กรกฎาคม 2553

Value + Growth...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในโลกของการลงทุนนั้น มีแนวความคิดใหญ่ ๆ น่าจะประมาณ 3 แบบนั่นคือ Value Investment ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ที่เก่าที่สุดนำโดย เบน เกรแฮม Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วนำโดย ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ และ Passive Investment หรือการลงทุนที่ไม่ต้องเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนีหรือในตลาด ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ล่าสุดที่นำโดยนักวิชาการการเงินแต่คนที่มีชื่อเสียงน่าจะเป็นกองทุนอิง ดัชนี Vanguard ที่ก่อตั้งและบริหารโดย จอห์น โบเกิล ส่วนแนวทางอื่น ๆ นั้นมักเป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่แตกแขนงออกไป มีคนใช้และศึกษาน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็น “โรงเรียน”

แนวทางของ Value Investment นั้น มีหลักการที่เข้มข้นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตำราที่ต้องใช้ศาสตร์หลาย ๆ อย่างเฉพาะอย่างยิ่งทางการเงินในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหลัก ทรัพย์ ดังนั้น คนที่ศึกษาจำเป็นต้องมีความรู้หลายอย่างรวมถึงความสามารถในการคำนวณทางการ เงินถึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง หนังสือที่เป็น “ไบเบิล” ของ Value Investment เช่น Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม นั้น หนามากและอ่านยากเท่า ๆ กับความ “น่าเบื่อ” ซึ่งแม้แต่คนที่เรียนมาทางการเงินโดยตรงก็พบว่ากว่าจะอ่านจบก็เหนื่อยที เดียว


หัวใจของ Value Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกหรือราคาต่ำกว่า “พื้นฐาน”ของกิจการ โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมักเน้นไปที่ข้อมูลหรือตัวเลขทางการเงินเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน กำไรที่เป็นตัวเลขในอดีตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนความถูกของราคาหุ้นก็มักจะดูจากค่า PE และ PB ว่าจะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เวลาเลือกหุ้นโดยใช้มาตรฐานแบบนี้ หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value จึงเป็นหุ้นที่มีค่า PE และ PB ต่ำเป็นหลัก ซึ่งหุ้นประเภทนี้ส่วนมากมักเป็นหุ้นที่นักลงทุนไม่ค่อยสนใจจะลงทุนเนื่อง จากเหตุผลหลายอย่างแต่ที่สำคัญก็คือเป็นหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพต่ำ” และคำว่าคุณภาพต่ำก็มีความหมายกว้างมากเช่น เป็นกิจการที่ไม่โตหรือเป็นกิจการ “ตะวันตกดิน” ผู้บริหารมีปัญหาในด้านของบรรษัทภิบาล หรือ กำไรลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่แน่นอน เป็นต้น

หัวใจของ Growth Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่เติบโตเร็ว บริษัทมีคุณภาพดีหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ มีศักยภาพสูงในการที่จะเติบโตในอนาคตด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารที่มีความสามารถสูง มีตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในที่สุดจะทำ กำไรมหาศาล ดังนั้น การซื้อหุ้นไว้จะทำให้ได้กำไรงดงามเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตไป ตามที่คาด ส่วนเรื่องของราคาหุ้น แม้ว่าอาจจะดูว่ามีราคาแพงในวันนี้ โดยที่ค่า PE และ PB อาจจะสูงหรือสูงมากในวันนี้เนื่องจากกำไรของบริษัทยังอาจจะน้อยหรือไม่มี กำไรเลย แต่ในอนาคตเมื่อกำไรเพิ่มขึ้น ค่า PE ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหุ้นที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม Growth Investor นั้นสนใจค่า PE น้อยกว่าการเติบโตของรายได้และกำไร

ผมคงไม่พูดถึง Passive Investment เพราะเขาไม่เลือกหุ้นอยู่แล้ว พวกเขาคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นตลาดที่มี “ประสิทธิภาพ” ในการกำหนดราคาหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของหุ้นทุกตัว ดังนั้นไม่ต้องไปเลือก ซื้อเฉลี่ยไปทุกตัวและถือไว้ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมคือประมาณปีละเกือบ 10% ในระยะยาว

จุดอ่อนของความคิดแบบ Value Investment ก็คือ การเน้นไปที่ความถูกของหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้มักเลือกหุ้นที่มีคุณภาพต่ำ หุ้นเหล่านี้อาจจะให้ผลตอบแทนพอใช้ได้แต่ก็ไม่โดดเด่นนัก หุ้นถูกหรือถูกมากเหล่านั้นเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ยังคงถูกอยู่อย่างเดิม ดังนั้นนักลงทุนก็อาจจะไม่ได้อะไร เวลาของการรอคอยเพื่อที่จะให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนพื้นฐานบางครั้ง มันนานมากจนไม่คุ้มที่จะรอ เพราะว่าเงินนั้นมีต้นทุนและมีค่าเสียโอกาส

จุดอ่อนของ Growth Investment ก็คือ มันไม่ค่อยคำนึงถึงราคาหุ้นที่อาจจะแพงเกินไป มันอิงอยู่กับการคาดการณ์อนาคตของบริษัทว่าจะโตแบบก้าวกระโดด ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามคาด หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ศาสตร์ของการมองอนาคตนั้นไม่หนักแน่นมั่นคง โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีมหาศาลและหลายเรื่องไม่อาจคาดได้ ดังนั้น การซื้อหุ้นโดยไม่สนใจหรือสนใจน้อยในเรื่องของราคารวมถึงปัจจัยพื้นฐานทาง การเงินหรือตัวเลขอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ทางเลือกก็คือ จับแนวความคิดของ Value มารวมกับ Growth เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของการลงทุนทั้งสองแบบ ขณะเดียวกัน ได้จุดแข็งของแต่ละแนวทางมาใช้ในการลงทุน แนวทางของ Value+Growth Investment นั้น เราจะเน้นการวิเคราะห์ที่เป็น “แก่น” โดยใช้ Value Investemnt ที่มีการตรวจสอบบริษัทอย่างเข้มข้นเป็นหลัก หลังจากนั้น เราจะมองทางด้านของคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ โดยเฉพาะโอกาสในการเติบโตของบริษัท ในแบบของ Growth Investment ซึ่งจะต้องมองถึงศักยภาพด้วยไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขในอดีต เช่นเดียวกัน จะต้องมองไปถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและคู่แข่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อมและตลาดของสินค้าในอนาคต

การเลือกลงทุนแบบ Value + Growth นั้น เราจะไม่เลือกโดยยึดถือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นหลัก เราจะไม่เลือกเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดในด้านของ คุณสมบัติและการเติบโตของบริษัท แต่เราจะเลือกเพราะหุ้นนั้นเป็นกิจการที่ดีและแข็งแรงมีการเติบโตที่ดีพอใน ขณะเดียวกันหุ้นมีราคาถูกหรือมีราคาที่เหมาะสม นี่เป็นศาสตร์ที่เราจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้แนวทางนี้ เซียนหุ้นจำนวนมากใช้แนวทางนี้ ผมเองก็ใช้แนวทางนี้ แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยบอกว่าตนเอง “เปลี่ยนสี” บัฟเฟตต์บอกว่า Growth กับ Value นั้นเหมือนกับแฝดสยามที่มีตัวติดกันที่ “สะโพก” นั่นก็คือ Growth หรือการเจริญเติบโตนั้น ที่จริงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ Value มันแยกกันไม่ออก

ถ้าจะพูดไป เมื่อเป็น Value Investor ถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะรู้ว่า Value Investment นั้น แท้ที่จริงเป็น “กระบวนการในการคิด” ที่ต้องมีเหตุผลในด้านของการลงทุนรองรับ มันไม่มีเรื่องของ Growth เรื่องของ โมเมนตัม และเรื่องอื่น ๆ ร้อยแปดที่แยกออกมาต่างหาก ทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันคือ มัน “Make Sense” หรือไม่

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ28 พฤษภาคม 2553

Investment Diary...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนนั้น ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความทรงจำสั้นมาก เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาจะจำได้ติดตา เช่น วิกฤติที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักและเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตินั้น เมื่อเวลาผ่านไป บางทีก็ไม่นานนัก พวกเขาก็จะลืมเหตุการณ์เลวร้ายนั้นรวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์หรือสนใจน้อยมาก นั่นทำให้ประวัติศาสตร์การเงิน “ซ้ำรอย” ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อมันผ่านไปนานแล้ว

เพื่อที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ในอดีต เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ามันเกิดความผิดพลาดขึ้น ในเรื่องอื่น ๆ นั้น ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้น เหตุผลก็คือ มีจิตวิทยาบางอย่างที่อาจจะบดบังความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา


จิตวิทยาข้อแรกก็คือ “ดีเป็นเพราะฝีมือเรา แย่เป็นเพราะคนอื่นหรือเรื่องอื่น” หรือที่เรียกว่า Self-Attribution Bias นี่เป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป อย่างเช่นเวลาที่เราเล่นกีฬา ทีมที่ชนะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะฝีมือของทีม แต่เวลาแพ้ บางทีก็โทษกรรมการหรือโทษโชคชะตา ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือ ฝีมือสู้เขาไม่ได้หรือใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ผิดพลาด เช่นเดียวกัน เวลาที่เราลงทุนและได้กำไรดีนั้น เรามักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเรา แต่เวลาขาดทุน บางครั้งเราก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุอื่นหรือโชคร้ายหรือเหตุบังเอิญที่เราไม่ อาจคาดได้ การไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองนั้น ย่อมทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

จิตวิทยาข้อสองก็คือสิ่งที่ผมอยาก จะใช้สำนวนว่า “ผมว่าแล้ว” นี่คือสิ่งที่คนเราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกลับไปอธิบายเหตุผลที่ ทำให้มันเกิดขึ้นหรือที่เรียกในทางวิชาการว่า Hindsight Bias นี่เป็นความลำเอียงของจิตใจที่คิดว่าเรา “แน่” เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งที่เราไม่รู้และเราไม่ได้คิดคาดการณ์เอาไว้ก่อน เรามา “รู้” ก็ตอนที่เราเห็นแล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาความลำเอียงข้อนี้ก็คือ การจดบันทึกสิ่งที่เราคิดหรือคาดการณ์ไว้ก่อน เมื่อเกิดผลลัพธ์ขึ้น เราก็จะได้รู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิด ในกรณีของการลงทุนนั้น เราจะเรียกมันว่า Investment Diary นี่ก็คือไดอารี่ที่เราจะจดบันทึกเกี่ยวกับความคิดหรือการวิเคราะห์ของเราใน การลงทุนในหุ้นหรืออื่น ๆ การซื้อหุ้นแต่ละตัวเราจะบันทึกว่าอะไรคือเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น

เมื่อเราจดบันทึกเหตุผลของการลง ทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวไหนแล้ว เราก็รอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ภาพที่ออกมานั้น สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ และเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ก. เพราะเราเชื่อว่ากำไรของบริษัทนี้กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาศหน้าและจะ เติบโตต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นที่เห็นนั้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่กำลัง ดีขึ้นและราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เราก็จดบันทึกไว้ หลังจากนั้น เมื่อกำไรในไตรมาศถูกประกาศออกมาก็เป็นจริงดังคาดและดูแล้วอนาคตก็น่าจะยัง โตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปในระดับหนึ่งประมาณ 20% ซึ่งสอดคล้องกับกำไรที่ดีขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ขายหุ้นออกไปเพราะเราเชื่อว่ากำไรจะยังเติบโตดีมากอยู่และในอนาคต ราคาก็จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อีกมาก ในภาษาของนักลงทุน เรา “Right for the right reason” เราถูกต้อง นั่นอาจจะหมายความว่าเรามีฝีมือ

แบบที่สอง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้นกลับไม่ถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ข. เพราะเราคิดว่ากำไรในไตรมาศหน้าจะดีมาก เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งบริษัทได้ประกาศแจกวอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรง เราขายหุ้นทิ้งได้กำไรงดงาม อย่างไรก็ตาม งบรายไตรมาศที่ประกาศออกมาภายหลังพบว่ากำไรของบริษัทลดลงมาก แบบนี้เราเรียกว่า “Right for the wrong reason” เราซื้อหุ้นถูกตัวด้วยเหตุผลที่ผิด พูดง่าย ๆ เราประสบความสำเร็จเพราะโชคไม่ใช่ฝีมือ อย่าหลอกตัวเองว่าตนเองเก่ง

แบบที่สาม ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลในการลงทุนของเราผิด เช่น เราคิดว่าบริษัท ค. กำลังจะมีผลประกอบการที่ดี เราซื้อหุ้นลงทุน ผลประกอบการออกมาปรากฏว่าบริษัทขาดทุนอย่างหนัก ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก เราขายหุ้นทิ้ง ในกรณีนี้เรียกว่าเรา “Wrong for the wrong reason” เราลงทุนผิดเพราะเราวิเคราะห์ผิด เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้

แบบที่สี่ ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้นถูกต้องเป็นไปตามคาด เช่น เราซื้อหุ้น ง. เพราะคิดว่ากำไรของบริษัทในไตรมาศที่กำลังมาถึงนั้นจะเติบโตขึ้น เมื่องบไตรมาศถูกประกาศออกมาปรากฏว่ากำไรของบริษัทก็ปรับเพิ่มขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นเกิดภาวะวิกฤติอันเป็นผลมาจากต่างประเทศ ราคาหุ้น ง. ตกลงอย่างหนัก เราขาดทุนแต่เป็นเพราะว่าโชคไม่ดี ไม่ใช่เพราะเราคิดผิด เรา “Wrong for the right reason”

ด้วยการบันทึกเหตุผลของการตัดสิน ใจลงทุนลงใน Investment Diary และศึกษาผลลัพธ์ในสี่กรณีดังกล่าว เราก็จะได้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวและด้วยเหตุผลใด เรามีฝีมือหรือเราไม่เก่งเลย เราโชคดีหรือโชคร้าย สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติการลงทุนของเราได้อย่างถูกต้อง โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมยอมรับว่าไม่เคยจดบันทึกเหตุผลการลงทุนลงในไดอารี่ แต่ก็เชื่อว่าตนเองจำได้ว่าลงทุนในหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลใด ผมคิดว่าผมจำได้เพราะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว สำหรับ VI นั้น ผมคิดว่าการจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด จอร์จ โซรอส บอกว่าเขาบันทึกความคิดของเขาแบบ Real-Time นั่นคืออาจจะพูดลงในเทป เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนของเขาดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ15 พฤษภาคม 2553

ขอบเขตของความรอบรู้...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ข้อสังเกตของผมอย่างหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็คือ หลาย ๆ คนมีความเชี่ยวชาญในหุ้นบางกลุ่มหรือบางแบบเป็นพิเศษ บางคนก็เชี่ยวชาญในการเล่นหุ้นด้วยเทคนิคบางอย่าง ถ้าจะพูดแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ ก็คือ พวกเขามักลงทุนภายใต้ Circle Of Competence หรือ “ขอบเขตของความรอบรู้” ที่ตนมีอยู่หรือได้สร้างขึ้นมา

ลองมาดูว่าขอบเขตของความรอบรู้ (COC) ที่ผมพอจะนึกได้ว่ามีคนใช้และทำเงินให้ได้มากมายในตลาดหุ้นไทยมีอะไรบ้าง


COC แรกที่ผมจะพูดถึงก็คือ การปั่นหุ้น นี่คือวิธีทำเงินที่ได้ผลดีมากในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเป็นกระทิงที่ร้อนแรง ย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี โดยเฉพาะในช่วงที่กฏหมายกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีผลในการ ควบคุม คนที่รวยจากการปั่นหุ้นในยุคนั้น จำนวนไม่น้อยก็ “เจ๊ง” ไปจากภาวะวิกฤติ ความผิดพลาด และอาจจะเกิดจากการ “หักหลัง” และอื่น ๆ แต่ผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็ยังรวยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบัน ผมคิดว่านี่ก็ยังน่าจะเป็น COC ที่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพียงแต่การปั่นหุ้นในวันนี้อาจจะต้องมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนขึ้นและคนที่ทำ ได้อาจจะต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวเฉพาะ เช่น เป็นคนมีเงินมากพอสมควรและอาจจะต้องมีความกล้าได้กล้าเสียและกล้าเสี่ยงกับ การถูกจับหรือชื่อเสียงส่วนตัวด้วย

COC ที่สองนั้นน่าจะใกล้เคียงกับอันแรก นั่นก็คือ การเก็งกำไร นี่เป็นความเชี่ยวชาญในการ “เล่นหุ้น” ที่สามารถนำ COC ของการปั่นหุ้นมาใช้ได้มาก ยกเว้นแต่ว่าการซื้อขายหุ้นของตนเองนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าข่ายที่ เป็นความผิดตามกฏหมาย นอกจากนั้น หลาย ๆ คนยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ “ทางเทคนิค” ที่จะช่วยให้การเก็งกำไรประสบความสำเร็จ เท่าที่เห็น ผมคิดว่าคนที่จะสามารถสร้าง COC ของการเก็งกำไรได้นั้น มักจะต้องมีเงินพอสมควร ต้องใช้เวลากับการลงทุนมาก ต้องติดตามการซื้อขายหุ้นนาทีต่อนาทีในช่วงที่กำลังเก็งกำไร และที่สำคัญ จะต้องมีจิตใจกล้าได้กล้าเสียมากกว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไป ผมเชื่อว่านักเก็งกำไรหลายคนที่ประสบความสำเร็จในวันนี้อาจจะเคยเป็นนักปั่น หุ้นในอดีต ส่วนนักเก็งกำไรหน้าใหม่ ๆ นั้น ที่จะเชี่ยวชาญจริง ๆ น่าจะมีไม่มากนัก

COC ที่สามที่ผมคิดว่าน่าจะมีคนพัฒนาตนเองจนมีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จ ในการลงทุนที่น่าประทับใจก็คือ “การเก็งกำไรกับผลประกอบการ” นี่เป็นกลยุทธ์ในสไตล์ VI ที่ทำเงินได้เร็วและได้ผลตอบแทนที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ คนที่เชี่ยวชาญในการเก็งกำไรกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนนั้น แน่นอนต้องมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์กิจการของบริษัท เขาอาจจะต้องเจาะข้อมูลลึก ๆ จากผู้บริหารรวมถึงต้องวิเคราะห์ภาวะอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ที่สำคัญเขาจะต้องหาบริษัทที่จะมีผลกำไรเติบโตโดดเด่นมากผิดปกติไม่ใช่การ เติบโตธรรมดา ๆ ปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ ก็เช่นต้องเป็นกิจการที่ไม่มีหรือไม่ใคร่มีนักวิเคราะห์สนใจด้วยเหตุที่อาจ จะเป็นหุ้นเล็กเกินไปหรือเป็นกิจการที่ซบเซามานานซึ่งทำให้ราคาหุ้นค่อนข้าง เหงาและอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จอาจจะต้องมีความสามารถในการ “โปรโมต” หุ้นให้เป็นที่รับรู้และสนใจแก่นักลงทุนหลังจากที่ตนเองได้ซื้อหุ้นไว้แล้ว

COC ที่สี่ที่ผมจะพูดถึงก็คือ “การลงทุนระยะยาวในหุ้นของกิจการที่โดดเด่น” COC นี้คล้ายกับ COC ที่สามในแง่ที่ว่ามันเป็นสไตล์ของ VI สิ่งที่แตกต่างก็คือระยะเวลาของการลงทุนที่มักจะยาวกว่ามาก การเลือกกิจการที่ลงทุนก็จะเน้นที่กิจการที่มีความเข้มแข็งในเชิงโครงสร้าง สูงกว่า พูดง่าย ๆ เน้นไปที่ DCA หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนของบริษัทมากกว่าเรื่องของผลประกอบ การในระยะสั้นเพียงหนึ่งหรือสองปี

COC ที่ห้าก็คือ ความเชี่ยวชาญในแง่ของ อุตสาหกรรม นี่คือความรอบรู้ในการที่จะวิเคราะห์และเข้าใจธุรกิจที่จะลงทุน เช่น คนที่เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจค้าปลีกก็จะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยในการที่บริษัท จะทำกำไรได้ดี อะไรเป็นความเสี่ยง เขาจะสามารถคาดการณ์ถึง ยอดขาย กำไร การเติบโต และอื่น ๆ ของบริษัทได้ใกล้เคียงและสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้ บางคนเก่งทางด้านของกิจการที่เป็นโรงงานผู้ผลิต เขาก็จะรู้เรื่องกระบวนการต่าง ๆ ของโรงงานและนำไปสู่การคาดการณ์ผลประกอบการได้ดี บางคนอาจจะชำนาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับที่บางคนรู้เรื่องเกี่ยวกับปิโตรเคมีและพลังงาน

COC สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและมีคนที่เชี่ยวชาญสามารถทำเงินร่ำรวยได้ก็คือ การเล่นหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักร์ นี่เป็น COC ที่น่าสนใจเพราะว่ามันสามารถทำเงินได้เร็วและมากในเวลาอันสั้น นี่คือการสร้างความเชี่ยวชาญโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีความผันผวนตามภาวะ เศรษฐกิจ พวกเขาจะมองอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลงโดยเฉพาะจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและกำลังฟื้น ตัวขึ้น เข้าไปซื้อหุ้นในราคาต่ำและรอขายเมื่อผลประกอบการฟื้นตัว

ผมคงไม่สามารถจาระไนได้หมดว่าขอบเขตของความรอบรู้นั้นมีกี่วงและอะไรบ้าง เพราะว่ามันมีเยอะมากจนนับไม่ถ้วน เช่นบางคนอาจจะไปเจาะหา หุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมาก บางคนอาจจะสร้างความเชี่ยวชาญในการหาหุ้น Turn Around หรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัวจากสภาพที่ใกล้ล้มละลาย แต่สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ การสร้าง COC นั้นต้องใช้เวลาศึกษาติดตามมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสิ่ง ที่ศึกษาและความสามารถของนักลงทุน

นักลงทุนบางคนหรือจำนวนมากนั้น ผมเชื่อว่า ไม่มี COC ซักวงเลย ดังนั้น การที่จะลงทุนแล้วประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม VI หลายคนนั้น มี COC จำนวนมากและขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ เขาสามารถเล่นหรือลงทุนในหลายรูปแบบและหลายอุตสาหกรรมและประสบความสำเร็จจน ร่ำรวย ประเด็นก็มีอยู่บ้างเหมือนกันในแง่ที่ว่า COC บางอย่างมันซับซ้อนเกินไปจนเราไม่อาจจะเข้าใจมันได้ลึกพอ บางที การศึกษาหลากหลาย COC มากเกินไปก็ทำให้เรารู้จักมันไม่ดีพอแต่เราอาจจะคิดว่าเรารู้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่าการที่เรารับรู้ว่าเราไม่รู้จักมันดีพอ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมมักจะพยายามจำกัดวง COC ของผมไว้แล้วเลือกลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ผมรู้ เหนือสิ่งอื่นใด เรามีเงินเพียงนิดเดียว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในหุ้นจำนวนมากมายเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ8 พฤษภาคม 2553

หนึ่งวันของบัฟเฟตต์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ครั้งหนึ่งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ แฮททาเวย์ มีคนถามว่าวัน ๆ หนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำอะไรบ้าง บัฟเฟตต์ตอบว่า ส่วนใหญ่เขาอ่านหนังสือและพูดโทรศัพท์ เสร็จแล้วบัฟเฟตต์ก็หันไปถาม ชาร์ลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และรองประธานของเบิร์กไชร์ ว่าเขาทำอะไรในแต่ละวัน มังเกอร์ตอบว่า

“คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ประจำ การอยู่ในหน่วยของทหารที่ไม่มีอะไรทำ” มังเกอร์เล่าต่อว่า “นายพลคนหนึ่งได้เข้ามาพบกับกับตันกลอทซ์ซึ่งเป็นเจ้านายของเพื่อนผมและก็ ถามว่า ‘กับตันกลอทซ์ คุณทำอะไรบ้าง’ เจ้านายของเพื่อนผมตอบว่า ‘ไม่มีอะไรซักอย่างเลยครับ’ ท่านนายพลโกรธมากและหันมาถามเพื่อนผมว่า ‘แล้วแกล่ะทำอะไร’ เพื่อนผมตอบว่า ‘ผมก็ช่วยงานกับตันกลอทซ์’ และนั่นก็คือคำอธิบายสิ่งที่ผมทำอยู่ที่เบิร์กไชร์ได้ดีที่สุด”



ดูเหมือนว่าวอเร็นบัฟเฟตต์ในฐานะของการเป็นนักลงทุนแบบ VI นั้น ไม่ค่อยมีงานอะไรทำ เช่นเดียวกัน ชาร์ลี มังเกอร์ ซึ่งก็เป็นนักลงทุนระดับเซียนที่ช่วยบัฟเฟตต์ลงทุนก็ไม่ค่อยมีอะไรทำเหมือน กัน ลองมาดูว่าวัน ๆ หนึ่งบัฟเฟตต์ทำอะไรบ้าง

ปกติบัฟเฟตต์ตื่นประมาณ 6.45 น. แล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บางครั้งก็เข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตบ้างเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เขาไปถึงที่ทำงานประมาณ 9.00 น. หรือบางทีก็ 8.00 น. ขึ้นอยู่กับว่าจะมีอะไรต้องทำ เขาไม่มีตารางเวลาตายตัว บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่ต้องการให้ชีวิตตนเองถูกบังคับให้ทำอะไรโดยไม่มีทาง เลือก ในที่ทำงาน เวลาประมาณ 75-80% ของเขาหมดไปกับการอ่าน วัน ๆ หนึ่งเขาอ่านหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ รายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน รายงานรายไตรมาศ แมกกาซีน และอื่น ๆ สารพัด เวลาที่เหลือนั้นเขาใช้ไปกับการพูดคุยโทรศัพท์ สั่งซื้อขายหุ้นหรือเงินตราต่างประเทศ แต่พวกนี้ไม่ได้ใช้เวลามาก หลังจากนั้น เขาก็กลับบ้านซึ่งก็อาจจะประมาณห้าโมงครึ่งหรือหกโมงเย็นไม่ค่อยแน่นอน ในตอนค่ำเขาก็มักจะอ่านหนังสือต่อ หรือไม่บางวันก็เล่นบริดจ์ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งคู่เล่นรวมถึงบิลเกตและน้องสาวของเขาที่อยู่ต่างเมือง และนี่คือความบันเทิงหลักของบัฟเฟตต์

โฮวาร์ด ลูกของบัฟเฟตต์เล่าว่า บัฟเฟตต์นั้น แม้แต่เครื่องตัดหญ้าก็ใช้ไม่เป็น นอกจากนั้น เขาไม่เคยเห็นบัฟเฟตต์ล้างรถ หรือทำงานบ้านอะไรเลย ในตอนเด็กเขารู้สึกแย่แต่เมื่อโตขึ้นและรู้จักคุณค่าของเวลาแล้ว เขาถึงได้ตระหนักว่าทำไมบัฟเฟตต์จึงทำอย่างนั้น นั่นก็คือ เวลาสำหรับบัฟเฟตต์นั้นมีค่ามาก เขาไม่ยอมเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

บัฟเฟตต์บอกว่า การที่เป็นคนดังนั้นไม่ใช่เรื่องดี เพราะมันทำให้เขาได้รับจดหมายและคำถามมากมายเกี่ยวกับการลงทุน แต่ออฟฟิสของเขาซึ่งมีขนาดเล็กมากนั้นไม่สามารถจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้ ดังนั้น เขาจึงไม่ตอบหรือไม่จัดการกับจดหมายเหล่านั้น เพราะถ้าทำเขาก็คงไม่มีเวลาที่จะทำงานได้เลย

แม้ว่าบัฟเฟตต์จะเป็น CEO ของบริษัทใหญ่ระดับโลกอย่างเบิร์กไชร์ แต่เขามีชีวิตการทำงานแตกต่างกับ CEO คนอื่นมาก ครั้งหนึ่ง บิล เกรแฮม ลูกชายของ เค เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ซึ่งบัฟเฟตต์เข้าไปถือหุ้นและเป็นเพื่อนสนิท ต้องการแวะมาเยี่ยม บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลยทุกเวลา ผมไม่มีตารางนัด” ห้องทำงานของบัฟเฟตต์นั้นเงียบมาก ในห้องไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีจอดูหุ้น ไม่มีแม้แต่เครื่องคิดเลข บัฟเฟตต์เคยบอกว่า “ผมก็คือคอมพิวเตอร์” ในช่วงหนึ่ง บิล สก็อต ซึ่งเป็นเทรดเดอร์ซื้อขายหุ้นของเบิร์กไชร์โผล่หน้ามาแล้วก็ถามว่า “สิบล้านดอลลาร์ที่ 125.125 เอาไหม?” โทรศัพท์ในห้องไม่ค่อยดังบ่อยนัก บัฟเฟตต์มีเวลาเหลือมากมายเมื่อเทียบกับ CEO ของบริษัทอื่น ๆ ตารางเวลาในวันหนึ่ง ๆ ของเขานั้น ไม่มีกำหนดการที่เป็นแบบแผนและมีเวลาว่างมากมายสำหรับการดื่มโค๊ก เขามักจะนั่งอ่านหนังสือเป็นชั่วโมง ๆ และติดต่อกับโลกภายนอกด้วยโทรศัพท์ซึ่งเขารับสายเอง นอกจากนั้นเขายังมีโทรศัพท์สายตรงอีกสามสายกับบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขาย หุ้น

ชีวิตประจำวันของบัฟเฟตต์นั้นเรียบง่ายมากจนไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับ ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะที่เป็น CEO ของบริษัทใหญ่และมีชื่อเสียงมากอย่างเบิร์กไชร์ และในฐานะที่เป็นคนรวยและดังระดับต้น ๆ ของโลกธุรกิจ บัฟเฟตต์นั้นไม่สนใจออกงานที่จะได้หน้าตาหรืออยู่ในแวดวงคนชั้นสูง ครั้งหนึ่งถ้าจำไม่ผิด ทำเนียบขาวเคยเชิญบัฟเฟตต์ให้ไปรับประทานอาหารค่ำกับประธานาธิบดีคลินตันแต่ บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงดูว่าไม่รู้จะเสียเวลาบินไปทำไม เขาไม่มีอะไรจะคุยในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเขา ตรงกันข้าม บัฟเฟตต์ให้เวลาไปพูดกับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศค่อนข้างมากเช่นเดียวกับการต้อนรับนักศึกษาที่สนใจในเรื่องการลง ทุน เขาดูว่านี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และการพูดคุยกับคนอายุ 20-25 ปี นั้น “มันอาจช่วยเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาบางคนได้”

มองอย่างผิวเผิน บัฟเฟตต์อาจจะไม่ค่อยได้ทำงานอะไรหนักหนา แต่ความเป็นจริงคือ งานการลงทุนนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการบริหารธุรกิจ การลงทุนนั้นเป็นเรื่องของความคิดล้วน ๆ คุณภาพของการตัดสินใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด บางที ปีหนึ่งตัดสินใจครั้งเดียวคุณก็ประสบความสำเร็จมหาศาลได้แล้ว ในขณะที่การบริหารธุรกิจนั้น คุณต้องตัดสินใจอาจจะเป็นสิบ ๆ ครั้งต่อวัน แต่ผลการตัดสินใจส่วนใหญ่นั้นอาจจะไม่มีผลอะไรต่อความสำเร็จมากนัก ดังนั้น คุณมักจะต้องวุ่นวายทั้งวันไม่ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การลงทุนนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องทำงาน เพียงแต่งานนั้นก็คือการเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจขึ้นไปเรื่อย และวิธีการเพิ่มคุณภาพก็คือการอ่าน อ่าน และอ่าน หนังสือและข้อมูลสารพัดอย่างที่ บัฟเฟตต์และมังเกอร์ทำ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ1 พฤษภาคม 2553