Tuesday, March 30, 2010

ไพร่-อำมาตย์-เสรีชน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในขณะที่วาทกรรมเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ กำลังร้อนอยู่ในขณะนี้ ผมลองมาคิดดูถึงตัวเองในฐานะนักลงทุนอาชีพแบบ Value Investor ว่าเราน่าจะเป็นใคร ไพร่ หรือ อำมาตย์ หรือ อย่างอื่น

ก่อนที่จะพูดว่าเป็นไพร่หรืออำมาตย์ ผมคงต้องกำหนดนิยามเสียก่อนว่าไพร่และอำมาตย์ในความหมายของผมนั้น ไม่ได้เป็นคำนิยามตามพจนานุกรมที่อาจจะบอกว่าไพร่คือข้าทาสหรืออำมาตย์คือ ข้าราชการในสังคมไทยสมัยก่อน ไพร่ในความหมายของผมและดูเหมือนว่าจะเป็นความหมายของคนในสังคมจำนวนมากเห็น ได้จากการใช้คำ ๆ นี้ในภาพยนต์และละครหลังข่าวกันเป็นประจำก็คือ เป็น “ชาวบ้าน” ที่ไม่มี “ตระกูล” ยากจน เป็นคน “ชั้นต่ำ” ของสังคมที่ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ว่าที่จริงไพร่นั้นเป็นคนที่ “ถูกกดขี่” และเป็นคนที่เสียเปรียบทุกด้านในสังคม

ส่วนคำว่าอำมาตย์นั้น ว่าไปแล้ว เราก็แทบจะไม่ได้ใช้เลยในชีวิตประจำวันสมัยใหม่ แต่ถ้าตีความตามที่มีการใช้กันเป็นวาทกรรมในขณะนี้ ก็น่าจะหมายถึงคนที่เป็นคน “ชั้นสูง” ของสังคม เป็นคนที่มีสถานะทางตำแหน่งงานในราชการหรือองค์กรธุรกิจ เป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ เป็น “ผู้กดขี่” เป็น “นาย” และเป็นผู้ที่ได้เปรียบทุกอย่างในสังคม ซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นข้าราชการเลย

มาดูก่อนว่าเราเป็นคน “ชั้นสูง” หรือไม่? นี่เป็นเรื่องชัดเจนว่าเราไม่ใช่ เราไม่ได้เกิดในตระกูล “ผู้ดี” หรือตระกูล “นักธุรกิจร่ำรวย” ว่าที่จริงตระกูลอย่างตระกูลของผมนั้น เรานั้นมาจากชาวนายากจนที่อพยพหนีความอดอยากมาจากเมืองจีน ดังนั้น เรามี “คุณสมบัติไพร่” ข้อที่หนึ่ง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไพร่ เพราะยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ มาประกอบด้วย

ในเรื่องของการเป็นผู้ “กดขี่” นั้น สิ่งที่ใช้วัดนั้น ผมมองว่าการเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าในแง่ของการสั่งการให้ทำอะไรต่าง ๆ ได้น่าจะเป็นตัววัดที่พอใช้ได้ นั่นคือ ถ้าเรามีคนที่เป็นลูกน้องหรือบริวารเช่นคนรับใช้มากคนมากชั้น ก็หมายความว่าเราอาจจะมีคุณสมบัติแบบอำมาตย์มาก ตรงกันข้าม ถ้าเรากลายเป็นลูกน้อง มีคนที่อยู่เหนือและสามารถสั่งการเรามาก แต่เราไม่มีลูกน้องหรือคนที่อยู่ใต้เราเลย นั่นแปลว่าเรามีคุณสมบัติของไพร่โดยแท้ มองในมุมนี้ ในฐานะของนักลงทุน ผมไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเลย นอกจากนั้น ในชีวิตส่วนตัวผมก็ไม่เคยมีคนรับใช้ที่จะให้สั่งงานด้วย ดังนั้น ดูเหมือนว่าผมน่าจะอยู่ในข่ายไพร่ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่มี “นาย” ที่จะมาสั่งการอะไรผม ผมไม่มีคนที่ต้องไปพินอบพิเทาอะไรทั้งสิ้น ผมเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผมจึงไม่เข้าข่ายหรือไม่มีคุณสมบัติไพร่ในประเด็นนี้

เรื่องของการมีอภิสิทธิ์ในสังคมนั้น ที่จริงมาจากคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างรวมกัน รวมถึงอุปนิสัยส่วนตัวของเจ้าตัวด้วย ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ไพร่นั้น นอกจากจะไม่มีอภิสิทธิ์แล้ว ยังมักจะโดน “รอนสิทธิ์” ด้วย นั่นคือ เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะถูกจัดการด้วยกฏหมาย อย่างรุนแรงเกินกว่าปกติ ส่วนอำมาตย์นั้น คือคนที่สามารถอยู่ “เหนือกฏหมาย” เช่น อาจจะมีการละเว้นไม่ดำเนินการโดยผู้รักษากฏหมาย ถ้าจะลองนึกถึงตัวอย่างดูง่าย ๆ ในเรื่องของการถูกตำรวจจับเรื่องขับรถผิดกฏ ถ้าคุณสามารถที่จะหลุดพ้นมาได้โดยตำรวจไม่ทำอะไรนั่นก็คือ คุณมีคุณสมบัติอำมาตย์ แต่ถ้าคุณต้อง “จ่าย” ค่าปรับ นั่นก็คือ คุณเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มักจะถูกตำรวจตั้งด่านจับเป็นประจำ นั่นก็คือ คุณคงมีคุณสมบัติไพร่อยู่ไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะนำมาวัดเรื่องสถานะของคนก็คือ เรื่องของสถานะทางสังคม เวลาที่เราบอกว่าเป็นนักลงทุนนั้น คนทั่วไปก็มักเข้าใจว่าเราไม่ได้มีอาชีพการงานหรือตำแหน่งอะไรเลย การเป็นนักลงทุนอาชีพนั้นผมคิดว่าค่อนข้างมีปัญหาพอสมควรโดยเฉพาะเวลาต้องไป สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาจะไปขอบัตรเครดิตนั้น ผมพบว่าเราไม่สามารถจะกรอกแบบฟอร์มเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของ เราได้ เพราะเราไม่มีเงินเดือน ไม่มีหน้าที่การงาน ที่จะทำให้เราดูมีเครดิตดี หรือเวลาเราไปขอวีซ่าไปต่างประเทศ เขาก็มักจะต้องขอข้อมูลคล้ายคลึงกัน ในแง่นี้ นักลงทุนดูเหมือนว่าจะมีสถานะไม่สูง

เวลาที่เรา “เติบโต” มีอายุมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการลงทุน เปรียบเทียบไปแล้วก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าเพื่อนฝูงที่ทำราชการหรือคนที่ทำ งานบริษัทเอกชนหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่การยอมรับของคนในสังคมต่อนักลงทุนก็จะด้อยกว่ามาก ไม่มีใครจะเชิญนักลงทุนขึ้นไปกล่าวในงานแต่งงานหรืองานพิธี ไม่มีสถาบันการศึกษาไหนจะให้ตำแหน่งศิษย์เก่าดีเด่นกับนักลงทุนที่ไม่มี ตำแหน่งอะไรเลย และสำหรับนักลงทุนอาชีพหนุ่มนั้น เวลาที่จะไปขอผู้หญิงแต่งงานก็มักจะต้องเผชิญกับคำถามจากญาติฝ่ายเจ้าสาว ว่า “ทำงานอะไร” เหล่านี้ทำให้นักลงทุนนั้นมีความโน้มเอียงไปในทาง “ไพร่” มากกว่าที่จะเป็นอำมาตย์

สุดท้ายก็คือเรื่องของเงิน ความรวย ความจน นี่เป็นจุดที่อาจจะทำให้ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติของอำมาตย์ เพราะพวกเขาจำนวนไม่น้อยมีเงินหรือความมั่งคั่งในระดับสูง บางคนเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่มาก อย่างไรก็ตาม VI หลายคนที่ร่ำรวยก็ไม่ใคร่ได้ใช้เงินหรือแสดงออกถึงความร่ำรวย คราบของความเป็นอำมาตย์ก็ไม่เกิด อย่างไรก็ตามคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ VI จำนวนมากไม่สามารถจะถูกจัดให้เป็นไพร่ได้

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า ชีวิตของ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติโน้มเอียงไปในทางที่เป็นไพร่มากกว่าอำมาตย์ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติส่วนใหญ่กลับเป็นคุณสมบัติกลาง ๆ ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ดังนั้น ในความเห็นของผม VI นั้นน่าจะเป็นคนที่ผมเรียกว่า “เสรีชน” มากกว่าที่จะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ เสรีชน ในความหมายของผมก็คือ คนที่มีชีวิตอิสระไม่ขึ้นกับใคร ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ไม่ต้องการไปกดขี่หรืออยู่เหนือคนอื่น พวกเขาชอบความเป็นธรรมและความเสมอภาคกันในสังคม เขาคิดว่า นี่คือสิ่งที่จะทำให้ประเทศและเศรษฐกิจเติบโตไปได้ดีที่สุดในระยะยาวซึ่งจะ ส่งผลถึงการลงทุนของพวกเขาด้วย
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 27 มีนาคม 2553

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก “ธุรกิจ” เขาเป็นแค่ “นักลงทุน” มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่ม ๆ จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด “อาชีพ” การเป็น “นักลงทุน” ตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร

พูดถึง “เงินเริ่มต้น” ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม “ตำนาน” นั้น บอกว่าบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 100 เหรียญหรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี “รายได้อื่น” เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงต้น ๆ ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น “รายได้ส่วนน้อย” รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น “รายได้อื่น” ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นก็คือ เป็นรายได้จากการ “รับจ้างลงทุน” ซึ่งก็คือ ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญเมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ “บทที่หนึ่ง” ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์

บทเรียนของ “บทที่หนึ่ง” ก็คือ ในช่วงแรก ๆ ที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน ในเมืองไทยเองนั้น การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย ยิ่งกว่านั้น การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น “เซียนหุ้น” ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้ การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่า นั้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ดังนั้น ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำงานหาเงินมาเพิ่ม “พอร์ตเริ่มต้น” ให้มากพอจนกระทั่ง “เงินจากการลงทุน” จะมากกว่าเงินจากการทำงานมาก ๆ และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม “บทที่สอง”

บทที่สองของบัฟเฟตต์ก็คือ การลงทุนเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี ในช่วง 10 ปีนับจากปี 1969 ถึง 1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึง สองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ “เอาตัวรอด” ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์

ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของบัฟเฟตต์คือช่วงปี 1979-1989 นั้นเป็นช่วง “ฟื้นตัว” ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 1989

ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 นั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า นั้น ส่วนหนึ่งก็คือ ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตซึ่ง บัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน ดังนั้น ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วย ความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา

ช่วงสิบปีสุดท้ายคือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้นเป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็คจึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6% นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูงแต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามากจนการทำผลตอบแทนที่สูง มากนั้น ทำได้ยากขึ้นมาก

ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24% ต่อปี เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19% ต่อปีนั้น เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของบัฟ เฟตต์

การ “เดินทาง” ของบัฟเฟตต์นั้น เป็นเส้นทางที่ “ขีดเขียน” ขึ้นด้วยฝีมือและ แน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก “ขีดเขียน” ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น เพิ่ง “เริ่มเดินทาง” หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาก ๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 20 มีนาคม 2553

ใข่ในตะกร้า...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กฏของการลงทุนข้อที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ “การกระจายความเสี่ยง” หรือที่เรียกว่า Diversify ในภาษาอังกฤษ การกระจายความเสี่ยงนั้นจะเป็นการป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ความผันผวนหรือความผิดพลาดในการลงทุนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในแวดวงการเงินมีคำเปรียบเปรยเรื่องการกระจายความเสี่ยงว่าเหมือนกับการ “ใส่ใข่ไว้ในตะกร้าหลายใบ” นั่นก็คือ หากตะกร้าใบใดใบหนึ่งตกลงพื้นทำให้ใข่แตกหมด ใข่ในตะกร้าใบอื่น ๆ ก็ยังอยู่ แต่ถ้าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว และตะกร้าใบนั้นตกลงพื้น ความเสียหายก็มหาศาล ดังนั้น เขาจึงบอกว่า “อย่าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว” ความหมายก็คือ เงินทั้งหมดที่มีอยู่นั้น อย่าลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว ให้กระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินต่าง ๆ ทุกอย่างให้มากที่สุด เวลาทรัพย์สินอย่างหนึ่งเสียหาย ทรัพย์สินอื่นก็ยังอยู่และมักให้ผลตอบแทนชดเชยกับความเสียหายนั้นได้ ถ้าทำแบบนี้ โดยรวมแล้ว เราจะไม่เสี่ยงหรือเสียงน้อยมาก และผลตอบแทนที่ได้จะ “ดีพอใช้”

วิธีการในการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงนั้นมีหลักการใหญ่ ๆ อยู่ 4 ข้อ ซึ่งถ้าเราทำตามแล้ว รับประกันได้ว่า ความเสี่ยงของเราจะน้อยลง ลงทุนแล้วนอนตาหลับและได้ผลตอบแทนน่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อย่าหวังรวยจากการลงทุนด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมาก ๆ

ข้อแรก กระจายการถือหลักทรัพย์ในหลาย ๆ กลุ่มหรือที่เรียกว่าหลาย Asset Class โดยกลุ่มหลักทรัพย์ที่สำคัญประกอบด้วยกลุ่มตราสารหนี้ซึ่งรวมถึงเงินฝากใน สถาบันการเงินที่กำหนดผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน กับกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนไม่แน่นอนแต่โดยเฉลี่ยแล้วให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม แรก ซึ่งตัวใหญ่ก็คือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกระจายการถือหลักทรัพย์เป็นสองกลุ่มใหญ่นั้นช่วยให้เราไม่เสี่ยงเกินไป เพราะในบางช่วงหุ้นอาจจะตก แต่ถ้าเรามีพันธบัตรอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ 60% ส่วนนี้เราจะไม่เสียหาย เพราะเวลาหุ้นตก ราคาพันธบัตรมักจะไม่ลดลง ที่จริงมันมักจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้น เราไม่เสียหายมาก ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่หุ้นขึ้น เราก็ได้กำไรจากการที่หุ้นขึ้นซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมของเราดีกว่าการถือ พันธบัตรหรือเงินฝากเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง กระจายความเสี่ยงโดย “การลงทุนในหลายช่วงเวลา” นี่คือการลดความเสี่ยงในเรื่องของเวลาเข้าลงทุน เหตุผลก็คือ ถ้าเรามีเงินก้อนโตก้อนหนึ่งแล้วเราเข้าซื้อหลักทรัพย์เช่นหุ้นในเวลาใดเวลา หนึ่งด้วยเงินทั้งหมด ถ้าช่วงนั้นราคาหุ้นต่ำ หลังจากนั้นหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมาก ผลตอบแทนของเราก็ดีมาก แต่ถ้าตรงกันข้าม เราเข้าลงทุนในช่วงที่หุ้นราคาสูงติดดอย หลังจากลงทุนแล้วหุ้นตกลงมามาก ผลตอบแทนของเราก็จะแย่มาก นี่คือความเสี่ยงของการเน้นการลงทุนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง วิธีการลดความเสี่ยงก็คือ ค่อย ๆ กระจายการลงทุนเป็นช่วง ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าเวลานั้นหุ้นจะสูงหรือต่ำ ยิ่งทยอยลงทุนเป็นช่วงเวลายาวนานก็ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าไป “เก็ง” ว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่ดีเพราะเรามักจะเก็งไม่ถูก หลักการกระจายการลงทุนข้อนี้เหมาะสมกับคนกินเงินเดือนประจำที่มีเงินเข้าลง ทุนเรื่อย ๆ ตามเวลาเงินเดือนออก ซึ่งเขาควรนำมาลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาวะตลาดหุ้น

ข้อสาม กระจายการลงทุนในหลาย ๆ ตลาด นี่คือการลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดหนึ่งตลาดใดจะแย่ผิดปกติ เช่น ถ้าคิดว่าตลาดหุ้นของประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงจากอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศก็เป็นทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงได้ เพราะหุ้นของประเทศอื่นนั้นมักจะมีความเสี่ยงไม่เหมือนเมืองไทยซึ่งจะช่วยชด เชยผลตอบแทนได้ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากประเทศไทย เช่นเดียวกัน บางครั้งหุ้นในตลาดไทยก็อาจให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยรวมแล้ว การลงทุนในหลายประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนได้

ข้อสุดท้ายของการกระจายความเสี่ยงก็คือ “การปรับพอร์ต” หรือ Rebalance นั่นก็คือ เมื่อกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหลักทรัพย์แต่ละกลุ่มในอัตราที่เหมาะสม กับตนเองดีแล้ว เช่น มีหุ้นคิดเป็น 60% ในตอนต้นปี แต่พอถึงปลายปี หุ้นอาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากในขณะที่ตราสารหนี้ยังมีราคาเท่าเดิม กลายเป็นว่า หุ้นมีน้ำหนักมากขึ้นเป็น 80% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำก็คือ ลดปริมาณหุ้นลงให้กลับมาเป็น 60% เหมือนเดิม นั่นก็คือ ให้ขายหุ้นบางส่วนแล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ ตรงกันข้าม ถ้าถึงสิ้นปีหุ้นมีราคาลดลงมาก หุ้นเหลือเพียง 40% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำก็คือ ให้เอาเงินที่เป็นตราสารหนี้หรือเงินฝากไปซื้อหุ้นเพิ่ม ซึ่งจะทำให้หุ้นกลับขึ้นมาเป็น 60% เหมือนเดิมโดยไม่ต้องกลัวว่า “หุ้นกำลังตก” ถ้าเราทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าเวลาหุ้นขึ้นเรามักจะขาย และเวลาที่หุ้นตก เรามักจะซื้อหุ้นเพิ่ม โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ความเสี่ยงจะลดลง

โดยสรุปสุดท้ายก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการ Diversify และ Rebalance นั้น เป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่ เน้นความปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถในการลงทุนไม่มาก มันเหมาะกับคนชั้นกลางที่กินเงินเดือนและต้องการสร้างหลักประกันในการที่จะ สามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข Model หรือรูปแบบหนึ่งก็คือ การที่คนกินเงินเดือนกันเงินรายได้ประมาณ 10% มาลงทุนทุกเดือน โดยการลงทุนอาจจะกระจายซื้อหน่วยลงทุนหุ้นที่อิงดัชนีเช่น TDEX จำนวน 40% อีก 20% อาจจะซื้อหน่วยลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ รวมเป็นหุ้น 60% เงินอีก 30% ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทระดับบลูชิพหรือรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ที่เหลือประมาณ 10% อาจจะเก็บเป็นเงินฝากในธนาคาร ทั้งหมดนั้น ต้องทำการปรับพอร์ตหรือ Rebalance ทุกปี ปีละครั้ง โดยที่ทั้งหมดนั้นต้องทำโดยอัตโนมัติ ไม่ใช้ความรู้สึกหรือพยายามเก็งภาวะตลาด และนี่คือ Model ที่น่าจะพาให้ผู้ลงมือทำไปถึงเป้าหมายอย่างไม่เครียดและมีความสุขตลอดระยะ เวลาอันยาวนานของการลงทุนได้
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 13 มีนาคม 2553

มหัศจรรย์ของหุ้น VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การลงทุนแบบ Value Investment ในเมืองไทยนั้นน่าจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังหลังจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยและหลังจากการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “ตีแตก” ของผมในราวปี 2542 นั่นเป็นปีเริ่มต้นที่ “เข้าตำรา” โหร นั่นคือ ดวง “ตกฟาก” ของ VI เหมาะสม เป็น “ดวง” ที่ดีมาก เพราะหลังจากการตกต่ำอย่างหนักของตลาดหุ้นในช่วงนั้นทำให้ตลาดเต็มไปด้วย หุ้นที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ผมยังจำได้ว่ามีหุ้นของกิจการที่มั่นคงแข็งแกร่ง เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ที่ยังมียอดขายดีมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มีกำไรและปันผลที่สูงมาก ฐานะการเงินแข็งแกร่งไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงิน แต่ราคาของมันคิดเป็นค่า PE แค่ 5 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า และจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นถึง 10% ต่อปี ดังนั้น การลงทุนซื้อหุ้นแบบนี้ซึ่งก็คือหุ้นแบบ VI จึงเป็นการลงทุน “ในฝัน” และเมื่อเวลาผ่านไป มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ดีและได้ผลตอบแทนที่งดงามมาก

ว่าไปแล้ว ดวงตกฟากของ VI ในเมืองไทยก็เหมือนกับดวงตกฟากของ VI ต้นตำรับในอเมริกาที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี 1929 และหลังการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม ในปี 1934 ซึ่งทำให้การลงทุนแบบ VI แพร่หลายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

หลังจากการเริ่มต้นแนวทางการลงทุนแบบ VI ในช่วงจังหวะเวลาที่ดีเยี่ยมนั้นแล้ว การลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลงทุนแบบ VI เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้แพร่หลายออกไปนั้นน่าจะอยู่ที่ผลงานความ สำเร็จของการลงทุนของนักลงทุนแบบ VI จำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างผลตอบแทนงดงาม ผลตอบแทนของ VI หลายคนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า “มหัศจรรย์” และทำให้พวกเขากลายเป็น “เศรษฐี” ได้ในเวลาอันสั้น แต่ในกรณีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่พูดถึงนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ “กล่าวอ้าง” หรือเป็นการ “คาดการณ์” กันเองโดยคนอื่น เพราะผลงานการลงทุนแบบ VI นั้น ทำโดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อพิสูจน์จริง ๆ ว่าการลงทุนแบบ VI เป็นการลงทุนที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าการลงทุนแบบอื่น

เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าการลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยนั้นเป็นการลงทุนที่ “เหนือกว่า” อย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่จากการกล่าวอ้าง ผมได้ทำการศึกษาเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยสองครั้งและได้ตีพิมพ์ผลงานลงในหนังสือวารสารทางวิชาการของคณะ บริหารธุรกิจของนิด้าฉบับล่าสุดคือเดือน พฤศจิกายน 2552 และต่อไปนี้คือสาระสำคัญของการศึกษาทั้งสองครั้งที่ใช้วิธีการศึกษาแบบเดียว กันและผมถือโอกาสสรุปรวมการศึกษาทั้งสองครั้งไว้ในที่นี้

วิธีการคัดเลือกว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Value หรือเป็นหุ้นคุณค่าก็คือ การหาหุ้นที่มีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า และค่าผลตอบแทนปันผลหรือ Dividend Yield ไม่ต่ำกว่า 3% โดยที่หุ้นตัวไหนเข้าเกณฑ์ดังกล่าวในตอนสิ้นปีที่แล้ว เราก็ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเพื่อลงทุนในปีต่อมา เราจะถือหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี พอถึงสิ้นปีเราก็มาดูอีกทีหนึ่งว่าหุ้นยังเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้ายังเข้าเกณฑ์เราก็ยังถือต่อไปเพราะมันยังเป็นหุ้น Value อยู่ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์แล้วเราก็ขายทิ้งแล้วเอาเงินไปลงในหุ้นอื่นที่เข้าเกณฑ์แทน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกปี แล้วมาดูว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์

การศึกษานี้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นปี 2543 จนถึงสิ้นปี 2551 คิดเป็นเวลา 9 ปี ผลของการศึกษาสรุปได้เป็นดังนี้

1 จำนวนหุ้น Value ที่เข้าเกณฑ์และถูกเลือกลงทุนในปี 2543 มี 47 บริษัท และถือว่ามีจำนวนน้อยที่สุดในช่วง 9 ปีที่ศึกษา สาเหตุคงเป็นเพราะในปีนั้นบริษัทจำนวนมากคงยังขาดทุนกันอยู่ทำให้หาหุ้นที่ มีค่า PE ต่ำได้ยาก หลังจากนั้นแล้ว จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value ในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บริษัท

2 พอร์ตของหุ้น Value ที่มีหุ้นประมาณ 70 ตัว ในแต่ละปีในช่วงเก้าปีนั้น กำไรทุกปียกเว้นปี 2551 ที่ขาดทุนประมาณ 2% ปีที่กำไรสูงสุดคือปี 2549 ที่กำไร 73.56% โดยที่กำไรเฉลี่ยแบบทบต้นเท่ากับประมาณ 34% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์คิดจากดัชนีตลาดนั้น ในช่วง 9 ปี มีขาดทุน 4 ปี และขาดทุนหนักที่สุดในปี 2551 ที่ประมาณ 43% ปีที่ดีที่สุดคือปี 2546 ซึ่งดัชนีตลาดขึ้นไปถึง 118% และเป็นปีเดียวที่ผลตอบแทนของตลาดดีกว่าผลตอบแทนของหุ้น VI โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนทบต้นของตลาดในช่วง 9 ปีนั้น ให้ผลตอบแทนประมาณ 4.8% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าพอร์ต VI ถึงปีละประมาณ 29%

3 ถ้าสมมุติว่าเราลงทุนเริ่มต้นในปี 2543 จำนวน 1 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2551 พอร์ต VI จะโตขึ้นเป็นประมาณ 13.6 ล้านบาท ขณะที่ถ้าลงทุนตามดัชนีตลาดหุ้น พอร์ตจะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 1.5 ล้านบาทในเวลา 9 ปี

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ การลงทุนในหุ้น VI ในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 9 ปีที่ผ่านมานั้น

ให้ผลตอบแทนที่ “มหัศจรรย์” จริง ๆ และนี่เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมาก ดูแค่ตัวเลขว่าเป็นหุ้นถูกเข้าข่ายหุ้นแบบ VI ในแนวของ เบน เกรแฮม ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม นั่นคืออดีตที่ผ่านมาแล้ว และมันอาจจะเป็นโอกาสทองที่ไม่เกิดขึ้นอีก ในวันที่ VI เพิ่งเริ่มต้นในตลาดหุ้นไทยใหม่ ๆ คนอาจจะยังรู้จักการลงทุนแบบนี้น้อย แต่ในวันนี้ คนที่เป็น VI มีมากขึ้นและนี่อาจจะทำให้การลงทุนแนว เบน เกรแฮม ยากขึ้น และผลตอบแทนอาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การลงทุนแบบ VI น่าจะยังเป็นวิธีการที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น เพราะสถิติของผลตอบแทนแบบ VI จากการศึกษาในตลาดอเมริกาที่พัฒนามากแล้วก็ยังแสดงให้เห็นว่า VI เป็นการลงทุนที่เหนือกว่า แม้ว่าความเหนือกว่าจะไม่มากอย่างที่เห็นจากการศึกษาในครั้งนี้
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 6 มีนาคม 2553

ปลากับน้ำ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงทางการ เมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลาย ๆ คนมองว่าถ้าแก้ไม่ตก เราอาจจะกลายเป็น Failed State หรือ “รัฐที่ล้มเหลว” นั่นคือ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ประชาชนแตกแยกและต่อสู้ทำร้ายกันเองและไม่มีใครสามารถปกครองหรือรักษาความ สงบเรียบร้อยกันได้ และถ้าเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจก็จะพังทลาย มองมาที่หุ้นและตลาดหุ้น นักวิเคราะห์และคอมเม้นเตเตอร์จำนวนมากต่างก็พูดถึงเหตุการและสถานการณ์ทาง การเมืองที่ “รุนแรง” ที่เกิดขึ้นว่าจะทำให้ตลาดหุ้น “ตกอย่างหนัก” และแนะนำว่าควร “ลดพอร์ตลงทุน” หลีกเลี่ยงการถือหุ้นจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะ “ชัดเจนกว่านี้” แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่เคยชัดเจนและไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกัน ประเทศก็ไม่ได้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจก็ไม่ได้พังทลาย และเช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตกอย่างหนัก ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ดำเนินไปตามครรลองของมัน ยกเว้นแต่เรื่องของการเมืองที่ก็ยัง “ล้าหลัง” อยู่เหมือนเดิม

เรื่องของการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่าคนจะเชื่อกันว่ามันมีผลกระทบที่รุนแรง เราถูกสอนหรือถูกทำให้ฝังใจกันมานานว่า การเมืองคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดทุกอย่างในประเทศ ถ้าการเมืองมีปัญหาหรือมี “วิกฤติ” เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ และแน่นอน ตลาดหุ้นก็จะต้องตกอย่างรุนแรง ดังนั้น พอเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น คนก็มีแนวโน้มจะขายหุ้นทิ้ง ทำให้หุ้นตก แต่ถ้าปัญหาการเมืองนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือการดำเนินการ ของบริษัทจดทะเบียนโดยตรง เมื่อเวลาผ่านไปนักลงทุนก็เริ่มเห็นและกลับเข้ามาซื้อหุ้นใหม่ หุ้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น ผลก็คือ ในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน หุ้นนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากการเมืองหากการเมืองนั้นไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับ เศรษฐกิจหรือธุรกิจ หุ้นจะถูกกระทบก็ต่อเมื่อการเมืองนั้นมีผลโดยตรงต่อ “สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ” นั่นก็คือ การเมืองทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ยาก พูดให้ชัดเจนก็คือ การเมืองทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปในแบบ “ทุนนิยมเสรี” ซึ่งเป็นระบบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด

ตัวอย่างที่มีการยกขึ้นมาอ้างเสมอก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ “จรวดคิวบา” ที่โซเวียตเตรียมส่งหัวรบนิวเคลียร์ไป “จ่อคอหอย” อเมริกาในคิวบา และประธานาธิบดีเคนเนดี้ยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนตัวออกไปซึ่งทำให้เกิดวิกฤติ การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่ง เนื่องจากถ้ารัสเซียไม่ยอมก็อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ ในครั้งนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์คก็ตกลงมาบ้างแต่หลังจากนั้นก็ทะยานขึ้น ผลกระทบมีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้สั่งตรึงราคาเหล็กในประเทศ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดเสรีอย่างแรง ตลาดหุ้นก็ “ตกวินาศ”

ในเมืองไทยเอง ดูจากสถิติที่ผ่านมาก็จะพบว่า เรามีเหตุการณ์หรือวิกฤติทางการเมือง “รุนแรง” นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การประท้วงใหญ่โต ไปจนถึงวิกฤติในรัฐสภาหรือรัฐบาล ไปจนถึงการรัฐประหาร ทุกครั้งตลาดหุ้นก็จะตกลงมาบ้าง แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้น ผลกระทบในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน มีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่แบงค์ชาติประกาศกฏการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศซึ่งเป็น การ “ขัดขวาง” การไหลเข้าออกอย่างเสรีของเม็ดเงินจากต่างประเทศในปี 2549 ตลาดหุ้นไทยตกลงไปถึง 108 จุด และน่าจะเป็นการตกลงมาครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นภายในเวลาวันเดียว และถ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏในคืนวันนั้น ตลาดหุ้นของไทยคงจะตกต่ำไปอีกนาน นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นนั้น ตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบโดยตรงกับสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจและ เศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ อะไรที่ทำให้ระบบทุนนิยมเสรีเสื่อมลง ตลาดหุ้นก็จะแย่ อะไรที่ดูเหมือนจะรุนแรงทางการเมือง แต่ระบบทุนนิยมเสรีไม่ได้มีความเสี่ยงว่าจะถูกกระทบ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นก็จะน้อย

เหมาเจ๋อต๋งเคยกล่าวไว้ว่า ทหารเหมือนปลา ประชาชนเหมือนน้ำ ทหารกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอยู่ได้ก็ต้องอาศัยประชาชน ทั้งในด้านของเสบียงอาหารและข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น ถ้าประชาชนสนับสนุนก็เหมือนกับน้ำที่จะสนับสนุนการอยู่รอดของปลาซึ่งก็คือ ทหารที่ยังต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ในยุคนั้น ผมเองก็คิดว่าคติพจน์นี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยได้เหมือนกัน นั่นก็คือ ตลาดหุ้นนั้นเหมือนปลา ระบบทุนนิยมเสรีนั้นเหมือนน้ำ ตราบใดที่ระบบนี้ยังอยู่อย่างมั่นคง ตลาดหุ้นก็จะยังไปได้ ถ้าระบบนี้ถูกทำให้เสื่อมไปโดยการเมือง ก็เหมือนน้ำที่อาจจะถูกทำให้เน่าเสียหรือเป็นพิษที่จะทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ตลาดหุ้นก็ไปไม่รอด

ด้วยเหตุดังกล่าว เวลามีเรื่องของการเมืองเกิดขึ้น ผมจึงต้องคอยวิเคราะห์ว่ามันจะทำให้ “น้ำเน่าหรือกลายเป็นพิษ” หรือไม่ ซึ่งก็คือ ผมจะดูว่ามันอาจจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศ “ปิด” หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ผมก็ไม่ห่วง แต่ถ้าใช่ ผมก็ต้องระวัง โชคดีที่เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดก็ยังยึดนโยบายตลาดเสรีอยู่ และความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกปิดก็น่าจะยังต่ำ ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ยังน่าจะอยู่ได้แม้ว่าบางครั้ง “ออกซิเจนในน้ำจะลดลงบ้าง” แต่ “ปลาก็ยังไม่ตาย” ผมก็ได้แต่หวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป “น้ำ” หรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่ว่า “ปลา” ของเราจะ “เติบโต” ได้เร็วขึ้น นั่นก็คือ การลงทุนของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นและความเสี่ยงในการลงทุนจะน้อยลง

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2553