ในขณะที่วาทกรรมเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ กำลังร้อนอยู่ในขณะนี้ ผมลองมาคิดดูถึงตัวเองในฐานะนักลงทุนอาชีพแบบ Value Investor ว่าเราน่าจะเป็นใคร ไพร่ หรือ อำมาตย์ หรือ อย่างอื่น
ก่อนที่จะพูดว่าเป็นไพร่หรืออำมาตย์ ผมคงต้องกำหนดนิยามเสียก่อนว่าไพร่และอำมาตย์ในความหมายของผมนั้น ไม่ได้เป็นคำนิยามตามพจนานุกรมที่อาจจะบอกว่าไพร่คือข้าทาสหรืออำมาตย์คือ ข้าราชการในสังคมไทยสมัยก่อน ไพร่ในความหมายของผมและดูเหมือนว่าจะเป็นความหมายของคนในสังคมจำนวนมากเห็น ได้จากการใช้คำ ๆ นี้ในภาพยนต์และละครหลังข่าวกันเป็นประจำก็คือ เป็น “ชาวบ้าน” ที่ไม่มี “ตระกูล” ยากจน เป็นคน “ชั้นต่ำ” ของสังคมที่ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ว่าที่จริงไพร่นั้นเป็นคนที่ “ถูกกดขี่” และเป็นคนที่เสียเปรียบทุกด้านในสังคม
ส่วนคำว่าอำมาตย์นั้น ว่าไปแล้ว เราก็แทบจะไม่ได้ใช้เลยในชีวิตประจำวันสมัยใหม่ แต่ถ้าตีความตามที่มีการใช้กันเป็นวาทกรรมในขณะนี้ ก็น่าจะหมายถึงคนที่เป็นคน “ชั้นสูง” ของสังคม เป็นคนที่มีสถานะทางตำแหน่งงานในราชการหรือองค์กรธุรกิจ เป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ เป็น “ผู้กดขี่” เป็น “นาย” และเป็นผู้ที่ได้เปรียบทุกอย่างในสังคม ซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นข้าราชการเลย
มาดูก่อนว่าเราเป็นคน “ชั้นสูง” หรือไม่? นี่เป็นเรื่องชัดเจนว่าเราไม่ใช่ เราไม่ได้เกิดในตระกูล “ผู้ดี” หรือตระกูล “นักธุรกิจร่ำรวย” ว่าที่จริงตระกูลอย่างตระกูลของผมนั้น เรานั้นมาจากชาวนายากจนที่อพยพหนีความอดอยากมาจากเมืองจีน ดังนั้น เรามี “คุณสมบัติไพร่” ข้อที่หนึ่ง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไพร่ เพราะยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ มาประกอบด้วย
ในเรื่องของการเป็นผู้ “กดขี่” นั้น สิ่งที่ใช้วัดนั้น ผมมองว่าการเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าในแง่ของการสั่งการให้ทำอะไรต่าง ๆ ได้น่าจะเป็นตัววัดที่พอใช้ได้ นั่นคือ ถ้าเรามีคนที่เป็นลูกน้องหรือบริวารเช่นคนรับใช้มากคนมากชั้น ก็หมายความว่าเราอาจจะมีคุณสมบัติแบบอำมาตย์มาก ตรงกันข้าม ถ้าเรากลายเป็นลูกน้อง มีคนที่อยู่เหนือและสามารถสั่งการเรามาก แต่เราไม่มีลูกน้องหรือคนที่อยู่ใต้เราเลย นั่นแปลว่าเรามีคุณสมบัติของไพร่โดยแท้ มองในมุมนี้ ในฐานะของนักลงทุน ผมไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเลย นอกจากนั้น ในชีวิตส่วนตัวผมก็ไม่เคยมีคนรับใช้ที่จะให้สั่งงานด้วย ดังนั้น ดูเหมือนว่าผมน่าจะอยู่ในข่ายไพร่ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่มี “นาย” ที่จะมาสั่งการอะไรผม ผมไม่มีคนที่ต้องไปพินอบพิเทาอะไรทั้งสิ้น ผมเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผมจึงไม่เข้าข่ายหรือไม่มีคุณสมบัติไพร่ในประเด็นนี้
เรื่องของการมีอภิสิทธิ์ในสังคมนั้น ที่จริงมาจากคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างรวมกัน รวมถึงอุปนิสัยส่วนตัวของเจ้าตัวด้วย ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ไพร่นั้น นอกจากจะไม่มีอภิสิทธิ์แล้ว ยังมักจะโดน “รอนสิทธิ์” ด้วย นั่นคือ เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะถูกจัดการด้วยกฏหมาย อย่างรุนแรงเกินกว่าปกติ ส่วนอำมาตย์นั้น คือคนที่สามารถอยู่ “เหนือกฏหมาย” เช่น อาจจะมีการละเว้นไม่ดำเนินการโดยผู้รักษากฏหมาย ถ้าจะลองนึกถึงตัวอย่างดูง่าย ๆ ในเรื่องของการถูกตำรวจจับเรื่องขับรถผิดกฏ ถ้าคุณสามารถที่จะหลุดพ้นมาได้โดยตำรวจไม่ทำอะไรนั่นก็คือ คุณมีคุณสมบัติอำมาตย์ แต่ถ้าคุณต้อง “จ่าย” ค่าปรับ นั่นก็คือ คุณเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มักจะถูกตำรวจตั้งด่านจับเป็นประจำ นั่นก็คือ คุณคงมีคุณสมบัติไพร่อยู่ไม่น้อย
อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะนำมาวัดเรื่องสถานะของคนก็คือ เรื่องของสถานะทางสังคม เวลาที่เราบอกว่าเป็นนักลงทุนนั้น คนทั่วไปก็มักเข้าใจว่าเราไม่ได้มีอาชีพการงานหรือตำแหน่งอะไรเลย การเป็นนักลงทุนอาชีพนั้นผมคิดว่าค่อนข้างมีปัญหาพอสมควรโดยเฉพาะเวลาต้องไป สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาจะไปขอบัตรเครดิตนั้น ผมพบว่าเราไม่สามารถจะกรอกแบบฟอร์มเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของ เราได้ เพราะเราไม่มีเงินเดือน ไม่มีหน้าที่การงาน ที่จะทำให้เราดูมีเครดิตดี หรือเวลาเราไปขอวีซ่าไปต่างประเทศ เขาก็มักจะต้องขอข้อมูลคล้ายคลึงกัน ในแง่นี้ นักลงทุนดูเหมือนว่าจะมีสถานะไม่สูง
เวลาที่เรา “เติบโต” มีอายุมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการลงทุน เปรียบเทียบไปแล้วก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าเพื่อนฝูงที่ทำราชการหรือคนที่ทำ งานบริษัทเอกชนหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่การยอมรับของคนในสังคมต่อนักลงทุนก็จะด้อยกว่ามาก ไม่มีใครจะเชิญนักลงทุนขึ้นไปกล่าวในงานแต่งงานหรืองานพิธี ไม่มีสถาบันการศึกษาไหนจะให้ตำแหน่งศิษย์เก่าดีเด่นกับนักลงทุนที่ไม่มี ตำแหน่งอะไรเลย และสำหรับนักลงทุนอาชีพหนุ่มนั้น เวลาที่จะไปขอผู้หญิงแต่งงานก็มักจะต้องเผชิญกับคำถามจากญาติฝ่ายเจ้าสาว ว่า “ทำงานอะไร” เหล่านี้ทำให้นักลงทุนนั้นมีความโน้มเอียงไปในทาง “ไพร่” มากกว่าที่จะเป็นอำมาตย์
สุดท้ายก็คือเรื่องของเงิน ความรวย ความจน นี่เป็นจุดที่อาจจะทำให้ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติของอำมาตย์ เพราะพวกเขาจำนวนไม่น้อยมีเงินหรือความมั่งคั่งในระดับสูง บางคนเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่มาก อย่างไรก็ตาม VI หลายคนที่ร่ำรวยก็ไม่ใคร่ได้ใช้เงินหรือแสดงออกถึงความร่ำรวย คราบของความเป็นอำมาตย์ก็ไม่เกิด อย่างไรก็ตามคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ VI จำนวนมากไม่สามารถจะถูกจัดให้เป็นไพร่ได้
โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า ชีวิตของ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติโน้มเอียงไปในทางที่เป็นไพร่มากกว่าอำมาตย์ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติส่วนใหญ่กลับเป็นคุณสมบัติกลาง ๆ ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ดังนั้น ในความเห็นของผม VI นั้นน่าจะเป็นคนที่ผมเรียกว่า “เสรีชน” มากกว่าที่จะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ เสรีชน ในความหมายของผมก็คือ คนที่มีชีวิตอิสระไม่ขึ้นกับใคร ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ไม่ต้องการไปกดขี่หรืออยู่เหนือคนอื่น พวกเขาชอบความเป็นธรรมและความเสมอภาคกันในสังคม เขาคิดว่า นี่คือสิ่งที่จะทำให้ประเทศและเศรษฐกิจเติบโตไปได้ดีที่สุดในระยะยาวซึ่งจะ ส่งผลถึงการลงทุนของพวกเขาด้วย
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 27 มีนาคม 2553
No comments:
Post a Comment