Tuesday, August 16, 2011

Apple VS Exxon

สัปดาห์ก่อนมีข่าว เล็กๆ เกี่ยวกับหุ้นที่น่าสนใจและน่าจะเรียกได้ว่าเป็นหุ้น "สุดยอดแห่งทศวรรษ" ของโลก นั่นก็คือ หุ้นของบริษัท Apple Inc. ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยี่ ห้อแม็ค ไอโฟน ไอแพด และอื่นๆ ที่ครองใจผู้ใช้ทั้งโลก สินค้าหลายชนิดของบริษัทนั้นเป็นที่นิยมขนาดที่คนต้อง "เข้าคิวซื้อ" และคนที่ได้ครอบครองสินค้าในมือนั้นมีความรู้สึกภาคภูมิใจและอยากจะอวดกับเพื่อนฝูง มันเป็นสินค้าที่ทำให้คนดูทันสมัยและ "มีระดับ" ในสังคม ข่าวที่ว่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แต่เป็นข่าวที่ว่าหุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐนั้นมีราคาปรับตัวขึ้นจนทำให้มันมีมูลค่าสูงที่สุด และเอาชนะหุ้นของบริษัท Exxon Mobil หรือที่คนไทยรู้จักกัน ก็คือ เอสโซ่ บริษัทน้ำมันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสหรัฐและในโลกมาช้านาน

ลองมาดูกันว่าบริษัทแอ๊ปเปิ้ลมีผลประกอบการดีอย่างไร และทำไมหุ้นจึงเติบโตมาได้ขนาดนี้เทียบกับบริษัทเอสโซ่ที่ทำธุรกิจน้ำมันและ พลังงานที่ก็น่าจะโดดเด่นสุดยอดเหมือนกัน เพราะเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจที่โลกกำลังมีความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดในชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

พูดถึงมูลค่าหุ้นในตลาดของแอ๊ปเปิ้ลและเอ็กซอนนั้น ขณะนี้ ก็อยู่ที่ประมาณ 350 พันล้านดอลลาร์เท่าๆ กันหรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ ประมาณ 10 ล้าน ล้านบาท หรือพอๆ กับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยทั้งปี และใหญ่กว่ามูลค่ารวมของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ที่ประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท พูดอีกทางหนึ่ง ก็คือ หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตัวเดียวนั้นก็ใหญ่กว่าหุ้นไทยทั้งตลาดแล้ว

ดูทางด้านทรัพย์สินว่าบริษัทมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ปรากฏว่าแอ๊ปเปิ้ลมีทรัพย์สินเพียง ประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็คือ ประมาณ 3 ล้านล้านบาท แต่เนื่องจากทรัพย์สินประมาณ 8 แสนล้านบาทนั้นเป็นเงินสดที่บริษัทเก็บไว้ไม่ได้จ่ายปันผลออกมานาน ดังนั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว ทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงานของบริษัทนั้นน่าจะมีเพียงประมาณ 2.2 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วนของเอ็กซอนนั้น มีทรัพย์สินถึงประมาณ 300 พันล้านดอลลาร์ หรือใหญ่เป็น 3 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทย ก็คือ 9 ล้าน ล้านบาท เอ็กซอนมีเงินสดอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาทแต่มีหนี้อยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ในขณะที่แอ๊ปเปิ้ลนั้นไม่มีหนี้เลย ดังนั้น ถ้าจะพูดอย่างคร่าว ๆ ก็คือ เอ็กซอนนั้นใช้ทรัพย์สินเพื่อดำเนินงานประมาณ 4 เท่า ของแอ๊ปเปิ้ล

มองทางด้านรายได้ แอ๊ปเปิ้ลมียอดขายต่อปีประมาณ 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับ 3 ล้านล้านบาท ในขณะที่เอ็กซอนมียอดขายสูงกว่ามาก คือ ประมาณ 400 พันล้านหรือคิดเป็น 4 เท่าของแอ๊ปเปิ้ล หรือคิดเป็นเงินไทยถึง 12 ล้านล้านบาท มากกว่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติของไทย พูดง่ายๆ บริษัทเอ็กซอนบริษัทเดียวขายน้ำมันทั้งปีมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งที่คนไทยทั้งประเทศผลิตในเวลาเดียวกัน

ถ้ามองจากทรัพย์สินและยอดขายก็จะเห็นว่าบริษัทเอ็กซอนนั้นมีทรัพย์สินมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าและมีรายได้หรือยอดขายต่อปีมากกว่าแอ๊ปเปิ้ล 4 เท่าเหมือนกัน ดังนั้น เราอาจจะพูดได้ว่าถ้าเปรียบเทียบโดยขนาดของบริษัทแล้ว แอ๊ปเปิ้ลนั้นเล็กกว่าเอ็กซอนถึง 3 เท่าหรือ แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีขนาดเพียง 1 ใน 4 ของเอ็กซอนเท่านั้น แต่มูลค่าตลาดของหุ้นของทั้งสองบริษัทกลับใหญ่เท่าๆ กัน อะไรทำให้มันเป็นอย่างนั้น หุ้นของแอ๊ปเปิ้ลมีราคา "เวอร์" เกินความเป็นจริงหรือเปล่า

ผลการดำเนินงานหรือกำไรของแอ๊ปเปิ้ลในปีที่ผ่านมาเท่ากับ 23.6 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ในขณะที่ของเอ็กซอนเท่ากับ 37.9 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท คิดแล้วมากกว่าประมาณ 60% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของแอ๊ปเปิ้ลดูเหมือนจะสูงกว่าของเอ็กซอนมาก เพราะอัตราส่วนกำไรต่อยอดขายของแอ๊ปเปิ้ลเท่ากับประมาณ 24% ในขณะที่ของเอ็กซอน เท่ากับประมาณ 10% เท่านั้น พูดง่ายๆ การขายสินค้าไฮเทคที่สุดทันสมัยของแอ๊ปเปิ้ลแต่ละเครื่องนั้น กำไรดีกว่าการขายน้ำมันทุกบาร์เรลที่เหมือนๆ กันทุกบริษัท

กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นกำไรที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับนั้นของแอ๊ปเปิ้ลสูงมากถึง 42% และถ้าหากไม่นับเงินสดที่แอ๊ปเปิ้ลมีมากเกินความจำเป็นแล้ว กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของแอ๊ปเปิ้ลจริงๆ อาจจะสูงถึง 50-60% ทีเดียว ในขณะที่ของเอ็กซอนนั้นอยู่ที่ 25% ซึ่งถ้าจะพูดไปก็สูงมากอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงสามารถพูดได้ว่ากิจการของเอ็กซอนนั้นทำกำไรได้ดีมากและของแอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ "ดีสุดยอด" ในแง่ของการทำกำไร

ในด้านของการเติบโตของกำไรนั้น การเพิ่มขึ้นของกำไรไตรมาสนี้เมื่อเปรียบเทียบกับของปีที่แล้วก็พบว่าแอ๊ปเปิ้ลโตขึ้นถึง 125% ในขณะที่เอ็กซอนโตขึ้นถึง 41% เช่นกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าหุ้นสองตัวนี้ต่างก็เป็น "ดารา" ทั้งคู่ เพียงแต่แอ๊ปเปิ้ลนั้นเป็น "ซูเปอร์สตาร์" ที่มาแรงจริงๆ

มาดูทางด้านของความถูกความแพงของหุ้นกันบ้าง แอ๊ปเปิ้ลนั้นมีค่า PE เท่ากับ 14.8 เท่า และค่า PB เท่ากับ 4.9 เท่า หรือถ้าเราหักเงินสดที่มากเกินออกไปซึ่งจะทำให้มูลค่าทางบัญชีหรือค่า B ลดลง ค่า PB ก็น่าจะอยู่ในหลักประมาณ 8 เท่า ในส่วนของเอ็กซอนนั้น ค่า PE เท่ากับ 9.5 เท่า ในขณะที่ค่า PB เท่ากับ 2.2 เท่า ดูไปแล้วราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทก็ไม่แพงเลยเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐและแม้แต่หุ้นไทย ว่าที่จริงอาจจะเข้าข่ายเป็นหุ้น Value หรือหุ้นเน้นคุณค่าด้วยซ้ำ เหนือสิ่งอื่นใด แอ๊ปเปิ้ลนั้นน่าจะ เป็น "ราชัน" ของหุ้นไฮเทค

ส่วนเอ็กซอนนั้นก็น่าจะเป็นราชันของหุ้นพลังงาน ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมต่างก็กำลังร้อนแรงและเติบโตกันทั้งคู่ แต่เหตุที่หุ้นมีราคาถูกนั้นอาจจะเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้นของอเมริกาตกต่ำก็เป็นได้ และนี่ก็อาจจะเป็นช่วง เวลา "ซื้อ" สำหรับคนที่ชอบหุ้นประเภทซูเปอร์สต็อก

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือเรื่องของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่ผ่านมาในระยะยาว ผมมองย้อนหลังไปประมาณ 8 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นแอ๊ปเปิ้ลยังไม่ได้ไปไหนนิ่งๆ มานานนับสิบปีและเป็นช่วงที่ สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอ คนปัจจุบันเริ่มกลับเข้ามาบริหารบริษัทใหม่หลังจากที่ถูกไล่ออกไปหลายปี ในขณะนั้นหุ้น แอ๊ปเปิ้ลมีราคาประมาณ 7 ดอลลาร์ ในเวลาเดียวกัน หุ้นเอ็กซอนมีราคาประมาณ 34 ดอลลาร์ นั่นคือ ช่วงกลางปี 2003 พอถึงกลางปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นไปถึง 187 ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นไปเป็น 95 ดอลลาร์ ในเวลา 5 ปี แอ๊ปเปิ้ลขึ้นไป 25.7 เท่าและหุ้นเอ็กซอนขึ้นไปเพียง 1.79 เท่า ในช่วงวิกฤติปลายปี 2008 หุ้นแอ๊ปเปิ้ลตกลงมาเหลือ 80 ดอลลาร์ต้นๆ หรือลดลงถึง 56% ส่วนหุ้นเอ็กซอนตกลงมาเหลือประมาณ 62 ดอลลาร์ หรือลดลง 35% แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันหุ้นแอ๊ปเปิ้ลก็ปรับตัวขึ้นมาเป็นประมาณ 374 ดอลลาร์หรือขึ้นมา 3.5 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาเป็น 72 ดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นเพียง 16% และยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติ โดยสรุปแล้วในช่วงประมาณ 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลขึ้นมาประมาณ 52 เท่า ในขณะที่เอ็กซอนขึ้นมาประมาณ 1.1 เท่า

ข้อสรุปรวบยอดของผม ก็คือ ในช่วงเวลา 8 ปี หุ้นแอ๊ปเปิ้ลซึ่งเคยเป็นหุ้นที่ค่อนข้างเล็กมีมูลค่าตลาดประมาณ 2 แสนล้านบาท ได้เติบโตมหาศาลกลายเป็นหุ้น 10 ล้าน ล้านบาท เท่ากับหุ้นเอ็กซอนซึ่งเป็นหุ้นยักษ์ใหญ่ระดับต้นของโลก หุ้นเอ็กซอนเองนั้นเมื่อ 8 ปีก่อนก็น่าจะเป็นหุ้นระดับต้นของโลกที่มีมูลค่าถึง เกือบ 5 ล้านล้านบาท คนที่ลงทุนในหุ้นเอ็กซอนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ผลตอบแทนที่ไม่เลวเฉลี่ยประมาณปีละ 10% แต่ถ้าใครลงทุนและถือหุ้นแอ๊ปเปิ้ลผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤติเศรษฐกิจมาถึงวันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นเศรษฐีโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย

และนี่ก็คือ ความแตกต่างระหว่างหุ้นบลูชิพอย่างเอ็กซอน กับหุ้นซูเปอร์สต็อกอย่างหุ้นแอ๊ปเปิ้ล

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 16 สิงหาคม 2554

เปลี่ยน VS ไม่เปลี่ยน

ในการลงทุนของ "เซียน" หรือนักลงทุนที่ "มุ่งมั่น" ดูเหมือนว่า จะมีความคิดเกี่ยวกับอนาคตของกิจการ 2 แนวทาง กลุ่มของเซียนที่กล้าได้ กล้าเสีย อายุน้อยกว่า กระตือรือร้นกว่า และมีสปิริตของ "นักเก็งกำไร" มากกว่า จะชอบการลงทุนในบริษัทที่กำลังมีการ"เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ พวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง จะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นเป็นโอกาสที่เขาจะทำกำไรได้มหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว

นักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอายุมากกว่า อนุรักษนิยมกว่า เป็นพวกที่เน้นความปลอดภัยสูง และมีสปิริตของ"นักลงทุน" มากกว่าการเทรดหุ้น พวกเขาชอบการลงทุนในบริษัทที่มีความแน่นอนของผลประกอบการ และชอบกิจการที่ "ไม่เปลี่ยนแปลง" ในพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ

พวกเขาเชื่อว่ากิจการที่มีความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายๆ จะทำให้เขาประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้แม่นยำ ดังนั้นการซื้อหุ้นลงทุน จึงผิดพลาดน้อยกว่ากิจการที่มี หรือเปลี่ยนแปลงสูง คนกลุ่มนี้คิดว่า ผลตอบแทนที่จะได้จากหุ้นมากๆ อยู่ที่การเติบโตของกิจการในอนาคตจากผลิตภัณฑ์เดิมๆ ของบริษัท

พูดง่ายๆ พวกเขาเชื่อว่าราคาหุ้นจะขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการเติบโตของยอดขายและกำไรของบริษัท ดังนั้นวิธีทำเงิน ก็คือ ซื้อหุ้นที่มีลักษณะดังกล่าวแล้วถือยาว โดยไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นคอยติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท การเปลี่ยนแปลงพื้นฐานที่สำคัญของกิจการ จำแนกเป็นหลายๆ กลุ่ม

กลุ่มแรก พบได้มากที่สุด จะเป็น เรื่องของบริษัทขนาดเล็ก โดยเฉพาะบริษัทที่เคยมีปัญหาในการดำเนินงานและกำลัง "ฟื้นฟู" กิจการ โดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารกลุ่มใหม่ การที่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้การเปลี่ยนแปลงแบบ "พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ" ทำได้ง่าย

วิธีการ ก็คือ เพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่แล้ว ประกาศเปลี่ยนธุรกิจ จากธุรกิจเดิมเป็นธุรกิจที่ "มีโอกาส" ทำกำไรได้รวดเร็ว เพราะผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เคยทำธุรกิจนั้นอยู่ หรืออาจจะเป็นธุรกิจที่กำลัง "ร้อนแรง" และการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่าย หรือถ้าเป็นบริษัทด้านบริการ อาจหันไปจับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบันเทิง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสื่อสารแบบไร้สายและอินเทอร์เน็ต ต่างๆ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลง "พื้นฐาน" ของกิจการ เพราะการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง ถ้าว่ากันตามทฤษฎีแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ จริงอยู่ ในระยะยาวอาจมีกำไร และทำให้บริษัทที่เคยมีปัญหาฟื้นตัวได้ แต่หากกำไรที่ทำได้ เป็น"กำไรปกติ" ที่เหมาะสมกับ "เงินลงทุน" ที่ใส่เข้าไป ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอาจเท่ากับ 10% ต่อปีในระยะยาว

ถ้าเป็นแบบนี้ มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท และราคาหุ้นไม่น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะยาว ความหมาย คือ ใส่เงินใหม่เข้าไปเท่าไร ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเท่านั้นในระยะยาว

ในระยะสั้นราคาหุ้นย่อมขึ้นอยู่กับ "ความเชื่อ" ของนักเล่นหุ้น ถ้า"สปอนเซอร์" หรือคนที่เข้ามาเปลี่ยนกิจการ โน้มน้าวให้คนเชื่อว่า บริษัททำกิจการใหม่มีกำไรได้รวดเร็ว และสูงเหมือนกับกิจการอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน คนก็จะเข้ามาซื้อหุ้น และทำให้ราคาขึ้นรวดเร็ว และคนที่เข้าไปเปลี่ยนกิจการ ก็ขายหุ้นทำกำไรได้มากและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ

กลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของกิจการที่เป็นบริษัทใหญ่ขึ้นมา และไม่มีปัญหาการดำเนินงาน น่าจะเป็นกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงในวิธี หรือกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการ เทคโอเวอร์กิจการ ที่เป็นคู่แข่ง และหรือเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมของตน และในกระบวนการนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบ เพราะขนาดหรือทำให้เกิดความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในสายตาของลูกค้า ส่งผลให้ผลประกอบการดีขึ้นชัดเจน เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่จ่ายไป ลักษณะนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมั่นคง และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นรับกับ "พื้นฐานใหม่" คนที่เข้าไปซื้อหุ้นไว้ก่อนในราคาต่ำได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ

เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นอาจขึ้นไปทันที เพราะนักเล่นหุ้นเชื่อว่าสิ่งที่บริษัททำจะเป็นจริง ในระยะยาวแล้ว ผลประกอบการที่ประกาศออกมา จะเป็นตัวกำหนดพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ดีขึ้นหรือเลวลง และราคาหุ้นจะสะท้อนพื้นฐานนั้น

คนที่ "หากิน" กับการเปลี่ยนแปลงของกิจการ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานระยะยาวจริงๆ พวกเขามองหาการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และมีผลดีต่อผลการดำเนินงานบริษัท เช่น บริษัทหรือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ ถ้าราคาสินค้าหรือบริการกำลังปรับตัวขึ้น และเขาคิดว่าด้วยความไม่สมดุลของการผลิต และการบริโภคที่เกิดขึ้น จะทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นไปอีกมาก แบบนี้ การซื้อหุ้นไว้ก่อนก็จะทำให้ได้กำไรมหาศาล คนที่คาดการณ์ได้จริงๆ ก็หาได้ยาก โอกาสผิดพลาดมักจะมีสูง

การเล่นหุ้นที่กำลังมีการ "เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ" จึงเป็นเรื่องน่าเร้าใจ บ่อยครั้งไม่จำเป็นต้องคาดถูก หรือผิดด้วยซ้ำ เพียงแต่คาดถูกต้องว่า "คนอื่นเชื่ออย่างไร" เพราะราคาหุ้นในระยะสั้น อยู่ที่ความเชื่อไม่ใช่ความจริง ผลตอบแทนของการคาดการณ์ถูกต้องนั้นสูงมาก เช่นเดียวกัน ผลตอบแทนจากการคาดผิดก็เลวร้ายได้ไม่แพ้กัน

คนเล่นเกมนี้ ต้องเข้าใจว่า มีบางคนได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างน้อย "สปอนเซอร์" ก็รู้ดีกว่าคนนอก ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีพลังการซื้อ และการชี้นำสูงได้เปรียบรายย่อยที่เป็นฝ่ายรับข้อมูลมากกว่า

กลับมาในกลุ่มคนที่หากินกับการ "ไม่เปลี่ยนแปลง" นี่คือ ยุทธศาสตร์การลงทุนที่ "น่าเบื่อ" เพราะตัวธุรกิจที่บริษัททำอยู่ มักเป็นธุรกิจที่ไม่ใคร่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือเป็นธุรกิจ "รูทีน" ทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมานาน ส่วนใหญ่อาจนับสิบๆ ปี

หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าข่ายเป็นกิจการที่ "แข็งแกร่ง" หรือ "ยิ่งใหญ่" ทั้งด้านการตลาดและการเงิน เมื่อเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน ผลประกอบการ มักจะคาดการณ์ได้ แต่เติบโตขึ้นหลายสิบหรือร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ในระยะเวลาสั้นๆ ตัวหุ้นเองก็มักจะไม่ปรับตัวขึ้นหรือลงหวือหวา

ดังนั้นถ้าคนชอบมีชีวิตการลงทุนมั่นคง และไม่ต้องการความกังวลใจกับการลงทุน นี่ก็เป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ และในระยะยาว ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอาจไม่แพ้การลงทุน ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพพอๆ กัน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 9 สิงหาคม 2554

สุลต่านในฮาเร็ม

ลองจินตนาการดูว่า จะมีความสุขแค่ไหนถ้าเราเป็นสุลต่านที่มีความมั่งคั่งและอำนาจเด็ดขาดที่ สามารถสั่งการเรื่องใดก็ได้ในอาณาจักรของตนเอง ทุกเช้าเวลาสิบโมงตรง หญิงงาม 500 คน แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามจะถูกบัญชาให้เดินเรียงแถวเข้าเสนอตัว ให้สุลต่านคัดเลือก เพื่อให้เป็นนางบำเรอหรือเป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขแล้วแต่ที่สุลต่านจะ ต้องการ

สาวงามแต่ละคนต่างก็อวดโฉมและเสนอตัวด้วยมารยาต่างๆ เพื่อหวังจะได้รับเลือกให้เป็นคู่ของสุลต่าน การได้รับเลือกเป็นความฝันสูงสุดของทุกคน สุลต่านเองก็มีประวัติและข้อมูลเฉพาะตัวเกี่ยวกับหญิงสาว เช่น อายุ ความสูง ส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย รวมถึงอุปนิสัยและความสามารถต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนสาวงามที่มากมาย ดูเหมือนว่าการเลือกสาวดูเหมือนจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อย คำถาม ก็คือ จะเลือกไว้สักกี่คน และจะเลือกคนไหน ที่จะทำให้เกิดความสุขสูงสุด

ถ้าเป็นสุลต่านที่กำลังมีความกำหนัดสูงและไม่ทันได้คิดถึงอนาคตที่ตามมา พระองค์ก็จะรีบที่จะเลือกสาวตั้งแต่คนต้นๆ สาวที่พระองค์คิดว่ามีความงดงามหรือมีจริตกิริยาน่ารักน่าใคร่ก็จะถูกเลือก ไว้อย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าและก่อนที่จะถึงสาวคนสุดท้าย พระองค์ก็จะได้ “นางบำเรอ” จำนวนมากมาเป็นคู่ ชีวิตหลังจากนั้น ดูเหมือนว่าจะสับสนวุ่นวาย สุลต่านไม่รู้แม้แต่ชื่อของหญิงทุกคนที่มาสัมพันธ์กับตนเองไม่ต้องพูดถึง ความ “โรแมนติก” ที่จะได้รับจากการที่ได้กอดกับผู้หญิงที่รู้และเข้าอกเข้าใจ

ไม่เป็นการดีกว่าหรือที่สุลต่านจะเลือกหญิงงามแค่สัก 7 คน อืม..สัก 6 คนก็น่าจะพอ เพราะการ “ได้พัก” สักหนึ่งวันในแต่ละสัปดาห์น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าการ “มีความสุข” ทุกวันโดยไม่ได้พักเลย ดังนั้น สิ่งที่สุลต่านควรทำ ก็คือ การกำหนดตั้งแต่ต้นว่าตนต้องการผู้หญิงที่จะมาเป็นคู่ที่จะเข้าใจกันและกัน เป็นอย่างดี และมีความผูกพันที่ลึกซึ้งยาวนานพอสมควร ไม่ใช่ความสัมพันธ์อันฉาบฉวย จำนวนเพียง 6 คน ไม่ใช่สาวงามเป็นสิบๆ หรือเป็นร้อยคน

การเลือกสาวงามเพียง 6 คนจากจำนวน 500 คนนั้น ถ้าจะให้สาวงามเดินแถวเรียงเข้ามาเพื่อให้พิจารณาคงเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสน เข็ญ สาวงามแต่ละคนก็มี “จุดเด่น” และจุดด้อยกันคนละอย่างทำให้ตัดสินใจได้ยาก เหนือสิ่งอื่นใด สาวงามแต่ละคนต่างก็พยายาม “พรีเซ้นท์” ตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อหวังให้ได้รับการคัดเลือก นี่อาจจะทำให้สุลต่าน “หลง” ไปกับสาวงามบางคนที่อาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติที่ดีเท่าที่ควร ถ้าเช่นนั้นสุลต่านจะทำอย่างไรดี

วิธีที่จะคัดสาวงามที่จะทำให้ได้คนที่สวยและดีที่สุด ก็คือ การตั้ง “เกณฑ์” เพื่อจะตัดสาวงามที่มีคุณสมบัติบางประการไม่ถึงขั้นจะเป็นเลิศออก ตัวอย่างเกณฑ์ข้อหนึ่ง ก็คือ สาวที่มีความสูงไม่ถึง 170 เซนติเมตรก็ไม่ต้องเดินเข้ามาโชว์ตัว เกณฑ์ข้ออื่น ๆ อาจจะเป็นเรื่องของส่วนโค้งส่วนเว้าหรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของสุลต่าน ยิ่งต้องการคนน้อยเท่าไรเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งหมด เกณฑ์ก็จะต้องเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น บางทีแค่ว่าตาเล็กใหญ่ไม่เท่ากันก็ต้องถูกคัดออกแล้ว ด้วยวิธีการแบบนี้ สุลต่านก็จะเหลือสาวงามจำนวนไม่มากที่จะพิจารณาคัดเลือก และนางงามเหล่านี้ต่างก็จะต้องสวยสดงดงามระดับนางงามอยู่แล้ว มิฉะนั้น ก็จะไม่สามารถผ่านเกณฑ์ที่เข้มงวดมาได้ ถึงขั้นนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากที่สุลต่านจะได้สาวในฝันมาบำเรอตนเอง

ในชีวิตจริงเราคงไม่สามารถเลือกสาวดังกล่าว ในชีวิตจริงนั้น บางคนก็สามารถเลือกคู่ได้มากกว่าคนอื่น คนที่มีทรัพย์สมบัติหรือรูปสมบัติที่ดีมากๆ ก็มักมีแนวโน้มที่จะเลือกคนอื่นประเภท “หล่อเลือกได้” “รวยเลือกได้” หรือสมัยนี้ก็อาจจะ “สวยเลือกได้” แต่สำหรับผมเองแล้ว ดูเหมือนว่าชีวิตนี้มักจะออกในแนว “ถูกเขาเลือก” ตลอดมา หลาย ๆ ครั้งผมคิดว่าผมอยู่ในสถานะที่ “เสียเปรียบ” ไม่ว่าในการทำงานหรือการใช้ชีวิต บ่อยครั้งผม “เสนอตัว” เพื่อที่จะให้เขาเลือก เช่น เสนอตัวให้เขาเลือกเป็นพนักงาน หรือเสนอตัวเพื่อให้เขาเลือกให้เราและบริษัทเราทำงานให้เขา แต่ก็มักไม่ได้รับการคัดเลือก ประเด็น ก็คือ คุณสมบัติของเราไม่ดีพอ หน้าตารูปร่างเราไม่เด่นพอ เราไม่ได้มาจากสถาบันการศึกษาที่ดีเยี่ยมระดับโลก อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผมรู้สึกว่าโลกนี้มันไม่ยุติธรรมแต่เราก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องของ “โชคชะตา” เราไม่ได้เกิดมาเป็น “สุลต่าน”

แต่ครั้นแล้วผมก็พบว่า ยังมีสถานที่แห่งหนึ่ง ที่ผมสามารถทำลายความ “ด้อย” ทุกอย่างที่ผมมี ในสถานที่แห่งนั้น ผมจะเป็น “สุลต่าน” ที่ผมจะเป็นฝ่ายที่เลือกได้ตามอำเภอใจ ที่นั่น ก็คือ “ตลาดหุ้น” ทุก 10 โมงเช้า จะมีหุ้นกว่า 500 ตัวเสนอตัวออกมาให้ผมเลือกว่าจะลงทุนซื้อหุ้นตัวไหนโดยที่ผมไม่ต้องแม้แต่จะ ขอร้องให้ออกมาโชว์ตัว หุ้นกว่า 500 ตัวนี้ ผมไม่มีความจำเป็นและไม่อยากที่จะมีไว้ครอบครองเกินกว่า 10-20 ตัว ว่าที่จริงหุ้นที่มีนัยสำคัญที่จะเป็น “คู่แท้” ที่ผมอยากมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนยาวนานนั้น ผมคิดว่ามีสัก 6 ตัว ก็เพียงพอและมีความสุขแล้ว การเกี่ยวข้องกับหุ้นจำนวนมากก็คงเหมือนกับการเกี่ยวข้องกับหญิงสาวของ สุลต่าน มันไม่มีความโรแมนติกเสียเลย

วิธีการคัดเลือกหุ้นของผมก็เหมือนกับการคัดตัวหญิงสาวของสุลต่าน ผมตั้งเกณฑ์เข้มข้นว่าหุ้นประเภทไหนบ้างที่ผมไม่สนใจและจะคัดออกจากการ พิจารณา สุลต่านกำหนดว่านางงามของตนนั้นต้องสูงอย่างน้อย 170 เซนติเมตร หุ้นของผมอาจจะต้องเป็นหุ้นที่ “โต” หรือโตเร็ว หุ้นที่กิจการไม่โตหรือจะเล็กลงในอนาคตผมจะตัดออก อะไรทำนองนี้ ถ้าจะว่าไป เกณฑ์ของผมคงจะเข้มงวดมาก ผมคิดว่ามีหุ้นหลายร้อยตัวในตลาดที่ผมแทบไม่พิจารณาเลย ผมทำได้ เพราะผมคิดว่า ในตลาดหลักทรัพย์นั้น ผมเป็น “สุลต่าน” ไม่ว่าหุ้นจะ “สวย” แค่ไหน ก็ไม่มีสิทธิที่จะมาเลือกผม ผมจะเป็นคนเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อมัน เหนือสิ่งอื่นใด ผมต้องการหุ้นแค่ 5- 6 เท่านั้นที่จะทำให้ผมประสบความสำเร็จในการลงทุน

ประเด็นที่สำคัญสำหรับผม ก็คือ ผมจะต้องตระหนักตลอดเวลาว่า ผมจะไม่ถูกหุ้น “เลือก” ความหมาย ก็คือ หุ้นนั้นก็คงเหมือนหญิง 500 คนที่เสนอตัวให้สุลต่านเลือก พวกหล่อนต้องแต่งตัวดีและยั่วเย้าเพื่อให้สุลต่านหลงเพื่อจะได้รับการ เลือก หุ้นจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์นั้น เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับหญิงของสุลต่านที่พยายามยั่วให้คนมาซื้อ นั่นคือ ในทุกๆ วันจะมีหุ้นบางตัวมีราคาและปริมาณการซื้อขายที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างหวือหวา และนั่น “ยั่ว” ให้นักเล่นหุ้นสนใจเข้าไปร่วมซื้อขายอย่างไม่ได้พินิจพิจารณาเป็นอย่างดี พวกเขาเข้าไปซื้อเพราะหวังกำไรอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ว่าที่จริงเขา “ถูกเลือก” ให้เข้าไป “เล่น” ในสถานการณ์แบบนี้ โอกาสที่จะได้ “หุ้นงาม” นั้นมีน้อย แต่โอกาสที่จะเสียจะมีมากกว่า น่าเสียดายที่คนเล่นหุ้นรายย่อยในตลาดนั้น ส่วนใหญ่แล้ว มัก “ถูกเลือก” มากกว่าเป็น “ผู้เลือก”

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 สิงหาคม 2554

ลงทุนแบบผู้หญิง

ความแตกต่างในการลง ทุนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง มีการพูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ ในสังคมไทยดูเหมือนจะมีการยอมรับพอสมควรว่า ผู้ชายเป็นนักลงทุนที่ดีกว่า โดยมีเหตุผลหลายๆ อย่างเช่น ผู้ชายตัดสินใจได้ "เด็ดขาด" กว่า ไม่ "ลังเล" แบบผู้หญิง ผู้ชายกล้าได้กล้าเสียกว่า ผู้ชายมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่า ผู้ชายฟังคนอื่นน้อยกว่า และผู้ชายเก่งกว่าในด้านตัวเลข ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น ด้วยความคิดนี้ ประกอบกับการที่คนมองเห็น แต่ "เซียนหุ้น" ที่เป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ "การลงทุนแบบผู้หญิง" เป็นวิธีการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการลงทุนที่พึงหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากขาดทุน หรือไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน ทั้งหมดที่พูดถึงนี้ เป็นความคิดของคนไทยที่โลกของการลงทุนยังถูกครอบงำโดยบุรุษเพศ

ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องจิตวิทยาของผู้หญิงกับการลงทุนมากมาย พบว่า สิ่งที่คนไทยจำนวนมากอาจจะคิดนั้นไม่เป็นจริง การลงทุนแบบ "ผู้หญิง" เขาพบว่าเป็นวิธีการลงทุนที่เหนือกว่าการลงทุนแบบ "ผู้ชาย" และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ชาย "แพ้" มีสาเหตุสำคัญหลายๆ อย่าง เรื่องหนึ่ง ก็คือ ผู้ชายมีความมั่นใจในตนเองสูงเกินไป และสำคัญตนเองผิดว่า ตนเองมีความเก่งเหนือกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย ทำให้ผมนึกถึงการศึกษาที่ให้คนจัดเกรดตนเองว่า ขับรถได้ดีแค่ไหน ซึ่งผู้ชายส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ตนเองขับรถได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งทางทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะความเป็นจริง ก็คือ ต้องมีคนครึ่งหนึ่งที่ขับรถดีกว่าค่าเฉลี่ย และอีกครึ่งหนึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย มาลองดูกันว่าการศึกษาเรื่องการลงทุนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายเป็นอย่างไร

การศึกษาในตลาดสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงซื้อขายหุ้นบ่อยน้อยกว่าผู้ชาย แปลว่าผู้หญิงถือหุ้นยาวกว่าผู้ชาย นี่คงเป็นเรื่องการตัดสินใจที่ผู้ชายมักจะทำเร็วและเด็ดขาดกว่า แต่การซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อย ทำให้เกิดค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูง การ "ขาดทุน" จากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายก็จะ "กินกำไร" ที่ควรจะได้ไปไม่น้อย ยิ่งในตลาดอเมริกาที่ต้องเสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นด้วย ยิ่งทำให้ผลตอบแทนของผู้ชายลดลงเมื่อเทียบกับผู้หญิง

คุณสมบัติข้อต่อมาของผู้หญิง ก็คือ มักกลัวความเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย คนที่ลงทุนแบบผู้หญิงมักต้องการ Margin of Safety หรือส่วนต่างเผื่อความปลอดภัยสูงกว่า นี่ก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้การลงทุนแบบผู้หญิงเหนือกว่าการลงทุนแบบที่ "กล้าได้กล้าเสีย" แบบผู้ชาย จริงอยู่ การลงทุนแบบที่กล้าเสี่ยงมากๆ เช่น การลงทุนในหุ้นที่ผันผวนมาก หรือการใช้มาร์จินซื้อหุ้นเหล่านี้ อาจทำให้นักลงทุนแบบผู้ชาย "รวยไปเลย" แต่หลายคนที่ผิดพลาดก็ "จนไปเลย" มองในแง่ค่าเฉลี่ยระยะยาวแล้ว การลงทุนที่เน้นความปลอดภัยสูงน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

ผู้หญิงนั้นจะมองโลกในแง่ที่ดีน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงมองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากกว่า เวลาที่ตลาดสดใสมาก ผู้หญิงก็จะไม่ "ฝันเฟื่อง" มากเท่าผู้ชาย เช่นเดียวกัน เวลาที่ตลาดเลวร้าย ผู้หญิงก็มักจะไม่ "หดหู่" เท่าผู้ชาย มองในแง่นี้ ผู้หญิงก็จะไม่เป็น "เหยื่ออารมณ์" ของ "นายตลาด" เท่าผู้ชาย พูดง่ายๆ ผู้หญิงจะไม่ซื้อขายตามภาวะตลาดมากเท่าผู้ชาย ซึ่งมักทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มน้อยกว่าผู้ชาย ที่จะซื้อตอนตลาดแพงและขายตอนตลาดถูก

ผู้หญิงมีความละเอียดลออมากกว่าผู้ชายในเรื่องของการศึกษาหาข้อมูลเพื่อ การลงทุน การ "คิดแล้ว คิดอีก" "อ่านแล้ว อ่านอีก" จนมั่นใจว่าไม่พลาดแน่ เป็นวิธีการลงทุนระยะยาวที่ดีกว่าการรีบตัดสินใจซื้อขายโดยที่ยังไม่ได้ ศึกษาอย่างรอบคอบ ดังนั้น นิสัยผู้หญิงแบบนี้ จึงเป็นนิสัยการลงทุนที่น่าจะประสบความสำเร็จสูงกว่านิสัยแบบผู้ชายที่มัก เอาเร็วเข้าว่า

ผู้ชายมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่าผู้หญิง มักเชื่อว่าตนเอง "รู้" หรือมีความรู้เรื่องต่างๆ มากกว่าที่เป็นจริง ขณะที่ผู้หญิง มักยอมรับว่าพวกเธอรู้เรื่องอะไรบ้าง และเรื่องอะไรที่ไม่รู้ มองในแง่นี้ ผู้ชายอาจจะมีแนวโน้มลงทุนในสิ่งที่ตนเองไม่รู้มากกว่าผู้หญิง การลงทุนในสิ่งที่ตนเองคิดว่ารู้ดีแต่จริงๆ แล้วตนเองไม่รู้ ย่อมมีอันตรายสูง การลงทุนแบบผู้หญิงในแง่นี้ น่าจะมีความปลอดภัยสูงกว่า และย่อมหมายความว่า ผลตอบแทนในระยะยาวต้องดีกว่า

ผู้หญิงเรียนรู้จากความผิดพลาดมากกว่าผู้ชาย พูดง่ายๆ ผู้หญิง "เจ็บแล้วจำ" มากกว่าผู้ชาย นี่ก็เป็นคุณสมบัติที่ดีในการลงทุน เพราะการลงทุน บ่อยครั้งมากที่เรามักจะทำผิด "ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า" อาจเนื่องจาก "ความโลภ" ที่อยากจะได้กำไรสูง ทำให้ลืมบทเรียนความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็คิดว่าครั้งนี้ "ไม่เหมือนเดิม"

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ ผู้หญิงมักจะเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อน หรืออยู่ใต้อิทธิพลของเพื่อน น้อยกว่าผู้ชาย พูดง่ายๆ ผู้ชายเวลาตัดสินใจอะไร ถ้ามีเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานจับตาดูอยู่ เขาจะมี "แรงกดดัน" มากกว่าผู้หญิงที่ต้องทำตามแนวทางของกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ถ้าเขารู้ว่าผลตอบแทนการลงทุนของเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานกำลังโดดเด่นมาก เพราะพวกเขากำลังเล่น หรือลงทุนหุ้นบางกลุ่มในภาวะตลาดที่กำลังร้อนแรง ก็ยากที่ผู้ชายจะอยู่ "นิ่งเฉย" ไม่ยอมเปลี่ยนแนวทางการลงทุนของตนเอง และยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่า มองในแง่นี้ การลงทุนแบบผู้หญิงน่าจะมีหลักการที่มั่นคง และเป็นสิ่งที่ตนเองมีความชำนาญมากกว่า ผู้หญิงน่าจะตัดสินใจที่อิสระมากกว่าผู้ชาย

ผลการลงทุนของผู้หญิงโดยทั่วไปในอเมริกา เพราะซื้อขายหุ้นน้อยกว่า นั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผลตอบแทนดีกว่าผู้ชาย แต่ด้านของมืออาชีพที่บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ที่ต้องอาศัยฝีมือและอารมณ์ขั้นสูงสุด ก็พบว่า ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ที่เป็นผู้หญิง สามารถสร้างผลงานเฉลี่ยที่ดีกว่าผู้ชาย รวมถึงผลตอบแทนสม่ำเสมอกว่าผู้บริหารชาย ที่สำคัญ ในยามที่ตลาดเลวร้ายมาก ผลตอบแทนของผู้บริหารหญิง จะเลวร้ายน้อยกว่าของผู้บริหารชายมาก

หลายคนยังอาจจะสงสัยว่า ทำไมนักลงทุนเอกของโลก ที่สร้างผลตอบแทนระยะยาวได้สูงมากอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปีเตอร์ ลินช์ และอีกหลายๆ คนจึงมีแต่ผู้ชาย แล้วจะบอกได้อย่างไรว่าการลงทุน "แบบผู้หญิง" มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ประเด็นนี้ คำตอบน่าจะมีได้สองทาง ทางแรก คือ การลงทุนแบบผู้ชาย มีความผันผวนสูงมาก คนที่ทำได้ดีก็ดีมากๆ แต่คนที่ทำได้แย่ ผลงานก็ "ตกเหว" ไปเลย โดยค่าเฉลี่ยต่ำกว่าการลงทุนของผู้หญิง

คำอธิบายอีกทางหนึ่ง ก็คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หรือเซียนหุ้นที่ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เป็นผู้ชาย แท้ที่จริงแล้ว เขาใช้แนวทางการลงทุนแบบ "ผู้หญิง" ส่วนการที่ยังไม่มีผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็น "เซียนระดับโลก" อาจจะเป็นเรื่องของ "เวลา" ก็ได้

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้หญิงเพิ่งจะก้าวเข้ามาในโลกของการลงทุนไม่นานนัก ในอนาคต อาจจะได้เห็นเซียนที่เป็นผู้หญิงก็ได้ นี่รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ผมคิดว่า ในที่สุดต้องมี "เซียนหุ้นหญิง" เหมือนกัน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 26 กรกฎาคม 2554