Tuesday, October 27, 2009

ทำน้อยได้มาก...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

หนทางสู่ความสำเร็จ ความร่ำรวย และความสุข โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือดิ้นรนมากเกินไปนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การรู้จักเลือกทำอะไรที่มีคุณค่ามากซึ่งทำแล้วจะได้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำน้อยได้มาก” และหนทางที่ทำให้เราเหนื่อยยากและทำแล้วก็ไม่ได้มรรคผลเท่าที่ควรก็คือการ ทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลน้อยกว่าแรงงานที่ใส่ลงไป เราทำมันโดยที่ไม่ได้คิดไตร่ตรอง ทำมันตามที่คนอื่นบังคับให้เราทำ ทำเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน หรือทำเพราะความเคยชิน เป็นต้น

หลักของการ “ทำน้อยได้มาก” นั้น มาจากหลักการ 80/20 ซึ่งค้นพบโดย Vilfredo Pareto นักเศรษศาสตร์ชาวอิตาลี หลักการนี้พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สาเหตุและผล สิ่งที่ใส่เข้าไปกับสิ่งที่ได้ออกมา และงานที่ทำกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยที่ความไม่เท่าเทียมนั้นโดยคร่าว ๆ ก็คือ ประมาณ 80 ต่อ 20 ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาคนที่ดื่มเหล้าหนักที่สุด 20% ของคนดื่มเหล้าทั้งหมดมานับรวมกันดูก็จะพบว่าพวกเขาดื่มเหล้าคิดเป็นประมาณ 80% ของการบริโภคเหล้าทั้งหมด หรือเอาปัญหาทางการผลิตที่สำคัญเพียง 20% มาแก้ไขปรับปรุงก็จะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น 80% หรือมากกว่า ว่าที่จริงกฏ 80/20 นั้น เริ่มจากการพบสิ่งที่ไม่สมดุลของรายได้และความมั่งคั่งของประชากร โดยที่พาเรโตพบว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมากคือ คนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% มีรายได้รวมกันถึงประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นั่นคือเรื่องที่เป็นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นอยู่หรือเป็นมากขึ้นด้วยซ้ำ

หลักการ 80/20 หรือหลักของความไม่สมดุลนี้ เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจ และแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าความไม่สมดุลในแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่ 80/20 พอดี อาจจะเป็น 75/25 หรือ 70/30 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าเราค้นพบ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มาก เช่นนักการตลาดทำโปรแกรมโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นผู้ บริโภคหนักที่สุด 20% แรก ซึ่งเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 80% พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบริษัทประกันภัย GEICO หรือ Government Employee Insurance Company ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ขายประกันโดยเฉพาะประกันรถยนต์ให้กับพนักงานของรัฐโดยไม่ผ่านนายหน้า นี่ก็เป็นวิธีคิดแบบ 80/20 เหมือนกัน เพราะพนักงานของรัฐนั้น โดยสถิติพบว่าเป็นนักขับรถที่ดีเยี่ยมประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น มาก ดังนั้น GEICO จึงสามารถขายประกันให้ในราคาเบี้ยประกันที่ต่ำ นอกจากนั้น ยังสามารถลดต้นทุนด้านการขายซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยไม่ผ่านนายหน้าด้วย

ในฐานะของ VI นั้น ผมคิดว่าเราน่าจะต้องเป็นคนที่คำนึงถึงเรื่องหลัก 80/20 มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะความสามารถของเราหรือสิ่งที่เราค้นหาตลอดเวลาก็คือ เราต้องการหาการลงทุนที่เราใช้เงินน้อยแต่ในที่สุดมันจะให้ผลตอบแทนที่ มากกว่าปกติ เราไม่ต้องการอะไรที่เป็นแบบ 50/50 หรือลงทุน 10 บาทแล้วในที่สุดก็ได้ผลตอบแทนประมาณ 1 บาทต่อปีหรือ 10% หรือลงไปแล้วขาดทุน นั่นคือปรัชญาสำคัญของ VI แต่ VI นั้นไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของการลงทุนทางการเงินเท่านั้น VI ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งชีวิต ดังนั้น เวลาเราพูดถึงหลัก 80/20 VI ก็จะมองหาว่ามีอะไรในชีวิตที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากหลักการนี้ได้

ผมคงไม่สามารถบอกได้ทุกเรื่องว่าเรื่องไหนมีช่องที่เราจะสามารถนำหลักการ 80/20 มาใช้สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องคิดเอง แต่อยากจะลองยกตัวอย่างเพื่อให้นำไปคิดต่อเช่น ในการเรียนหนังสือนั้น มีคนบอกว่าวิธีที่จะทำให้สามารถ “ทำน้อยได้มาก” ก็คือ เวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบนั้น ให้อ่านคำนำกับบทสรุปหลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญก่อน ส่วนเนื้อหาก็ให้เน้นอ่านเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนรายละเอียดหรือเรื่องที่ไม่ได้เน้นไว้ในบทสรุปก็ให้อ่านผ่าน ๆ ไปหรือไม่ต้องอ่าน เหตุผลก็เพราะว่า ข้อสอบนั้น 80% หรือมากกว่านั้น จะออกเฉพาะในเรื่องที่สำคัญที่อยู่ในบทสรุป

ในเรื่องของการทำงานนั้น ว่ากันว่า คนที่มีคุณค่ามากในบริษัทเพียง 20% เท่านั้นที่ทำกำไรให้กับบริษัท ส่วนคนส่วนใหญ่นั้นสร้างคุณค่าน้อยและอาจจะไม่คุ้มค่าด้วยซ้ำ งานจำนวนมากในบริษัทนั้นไม่ก่อให้เกิดคุณค่าจริง ๆ ดังนั้นบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธี Outsource หรือจ้างคนอื่นทำงานทั่ว ๆ ไป ตัวเองทำเฉพาะงานสำคัญที่ตนเองมีความสามารถจริง ๆ เช่นเดียวกัน ในแง่ของส่วนบุคคล เราก็ควรต้องเน้นทำเฉพาะงานที่เป็นความเชี่ยวชาญของเราจริง ๆ และลดงานที่ไม่ถนัดลงถ้าเราจะสามารถ “ทำน้อยได้มาก” และประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยยากเกินไป

ในเรื่องของการลงทุนนั้น ความชัดเจนประการแรกก็คือ หุ้นนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรา “ทำน้อยได้มาก” เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินอื่นมาก สมมุติว่าเรามีเงิน 1 ล้านบาทและอายุ 30 ปี ถ้าเราลงทุนในหุ้นไปเรื่อย ๆ โดยซื้อกองทุนรวมหุ้นที่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเกษียณที่ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 17.4 ล้านโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นประมาณปีละ 10% แต่ถ้าเราฝากไว้ในธนาคารแบบฝากประจำเราน่าจะมีเงินเพียง 2.4 ล้านบาทเพราะเงินฝากน่าจะให้ผลตอบแทนเพียง 3 % ต่อปี และถ้าเราลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาล เงินที่เราจะมีในวันเกษียณก็อาจจะเป็นเพียง 4.3 ล้านบาทเพราะพันธบัตรน่าจะให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 5% ความแตกต่างของเม็ดเงินระหว่างหุ้นกับเงินฝากหรือพันธบัตรก็ประมาณ 80 ต่อ 20

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหลักการและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการจุด ประกายให้เห็นถึงความสำคัญของกฏ “ทำน้อยได้มาก” VI ที่จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงจริง ๆ นั้นจะต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริง ๆ นั่นคือ หาอะไรที่ทำหรือลงทุนแค่ 20% แล้วให้ผล 80% ซึ่งด้วยวิธีนี้เขาสามารถทำงาน 40% ของพลกำลังแล้วได้ผลตอบแทน 160% เปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่งที่ทำงาน 120% แล้วได้ผลตอบแทน 120% แล้ว ผมคิดว่าคนแรกนั้นน่าจะมีความสุขและร่ำรวยกว่ามาก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 25 ต.ค.2552

บทเรียนหลังวิกฤติ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถึงขณะนี้เราน่าจะพอพูดได้แล้วว่าวิกฤติเศรษฐกิจของปี 2551 ได้สิ้นสุดลงแล้วแม้ว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะตกกลับลงไปอีกครั้งหนึ่งก็ ยังคงมีอยู่ แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงไปต่ำกว่าเดิม อย่างมากเศรษฐกิจก็อาจจะนิ่งและหงอยเหงาไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงอยากจะทบทวนดูว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาด หุ้นที่เลวร้ายมากครั้งนี้

ข้อแรกก็คือ ความจริงที่ยังไม่เสื่อมคลายที่ว่า ในวิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอ และครั้งนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น ว่าที่จริง ในวิกฤติครั้งนี้มีโอกาสมากมายในการทำกำไรจากตลาดหุ้น เพราะฐานะและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากยังดีอยู่เป็นปกติใน ขณะที่ราคาหุ้นลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง ดังนั้น คนที่กล้าและมั่นใจในพื้นฐานของกิจการและเข้าไปช้อนซื้อหุ้นไว้จึงได้กำไร มหาศาลภายในระยะเวลาอันสั้น

ข้อสอง บริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเข้าข่ายเป็น Super Stock นั้น มักจะสามารถทนทานต่อภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจได้ ผลการดำเนินงานมักจะไม่ลดลง บางบริษัทยังเติบโตได้ ในเวลาเดียวกัน ฐานะทางการตลาดกลับแข็งแกร่งขึ้น เช่นเดียวกับฐานะทางการเงินของบริษัทที่ยังมั่นคงเช่นเดิม และด้วยเหตุนั้น ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงน้อย บางตัวหุ้นกลับมีราคาสูงขึ้นในขณะที่หุ้นโดยทั่วไปตกลงมาอย่างหนัก บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า ถ้ามีหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบด่วนนั้นมีน้อย

ข้อสาม วิกฤติเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายและรุนแรงแต่มันอยู่ไม่นาน วิกฤติครั้งนี้พูดกันว่ารุนแรงที่สุดนับจากปี 1929 หรือเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเพียง 4 ไตรมาศ ซึ่งสำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่าง VI จำนวนมากแล้ว 4 ไตรมาศหรือ หนึ่งปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับการลงทุน “ตลอดชีวิต” ที่มักยาวเป็นหลายสิบปี ดังนั้น บทเรียนของวิกฤติก็คือ “เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป” อย่ากังวลกับมันมากเกินไป

ข้อสี่ คนส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หุ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า ดัชนีหุ้นขึ้นถึงยอดดอยหรือตกถึงพื้นแล้ว พวกเขาจะรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น คำว่า “ยังไม่ต้องรีบซื้อหุ้นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรว่าเศรษฐกิจจะฟื้น” จึงเป็นคำที่ไม่มีความหมายอะไร เช่นเดียวกับ คำว่า “เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัว W ดังนั้น ให้ขายเดือนมิถุนายนแล้วรอไปซื้ออีกครั้งในช่วงปลายปี” กลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ ถ้าพบหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ มี Margin Of Safety สูง และธุรกิจจะต้องฟื้นกลับมาเป็นปกติค่อนข้างแน่หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไป ก็เข้าไปซื้อหุ้นเก็บไว้ แล้วรอจนราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงจนเป็นที่น่าพอใจแล้วค่อยขายจะดีกว่า

ข้อห้า หลังจากที่หุ้นตกลงไปมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นอย่างแรงภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ว่าการปรับตัวขึ้นจะไม่ถึงระดับเดิมก่อนที่มันจะตกลงมา ในช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว ความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับลงมาอย่างแรงอีกครั้งหนึ่งนั้นจะมีสูง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าดัชนีระดับไหนจะเป็นจุดปรับตัว และเมื่อปรับตัวลงมาจะปรับลงมาเท่าไร เพราะนั่นมักจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น จงเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับกับการปรับตัวแรงหลังจากที่หุ้นขึ้นไปมากหลัง วิกฤติ

ข้อหก ในยามที่เกิดวิกฤติขึ้น นักลงทุนที่ “เจ็บหนัก” ที่สุด ก็คือคนที่ลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จินโดยเฉพาะอย่างยิ่งลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เพราะในยามที่เกิดวิกฤติ ราคาหุ้นจะลดลงมาเร็วมากจนทำให้หลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับหนี้มาร์จิ นทำให้ถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นในตลาดซึ่งทำให้ราคาหุ้นลดลงไปอีก กระบวนการนี้ทำให้เราต้องขายหุ้นในเวลาที่เลวร้ายและมักได้ราคาต่ำที่สุด ตรงกันข้าม หลังจากที่ดัชนีตกลงไปต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติ การลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน โดยเฉพาะที่เป็นการซื้อหุ้นคุณภาพดีในราคาที่ต่ำมากนั้นจะมีอันตรายน้อย โอกาสที่จะถูกบังคับขายมีน้อยในขณะที่หุ้นมักให้ปันผลที่คุ้มค่ากับดอกเบี้ย ของหนี้มาร์จิน เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในยามที่ดัชนีหุ้นเลวร้ายมาก ๆ นั้น มักให้ผลที่คุ้มค่าเมื่อเวลาผ่านไป

สุดท้ายสำหรับบทเรียนหลังวิกฤติก็คือ วิกฤตินั้นเกิดขึ้นบ่อยพอสมควร การเกิดขึ้นแต่ละครั้งมักกระทบกับพอร์ตโฟลิโอรุนแรงและทำลายผลตอบแทนระยะยาว ของ VI ที่มักจะถือหุ้นตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ดังนั้น เราควรที่จะต้องทบทวนดูอยู่เสมอว่าหุ้นที่ประกอบเป็นพอร์ตของเรานั้น มีความแข็งแกร่งสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติได้มากน้อยแค่ไหน ความเห็นของผมก็คือ พอร์ตหุ้นที่ดีนั้น จะต้องรักษามูลค่าของมันได้ค่อนข้างมาก นั่นคือ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น มูลค่าของมันไม่ควรจะตกลงไปเกิน 30% ในเกือบจะทุกสถานการณ์ และถ้าเรามีพอร์ตแบบนี้แล้ว ในระยะยาวเราจะปลอดภัยและพอร์ตจะเติบโตไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผลตอบแทนเฉลี่ยจะดีกว่าตลาดและอยู่ในระดับที่น่าพอใจในขณะที่ความเสี่ยงจะ น้อย และถ้าเราทำไปถึงจุดหนึ่งและผ่านภาวะวิกฤติมาหลายครั้งเราจะไม่รู้สึกวิตก กับภาวะวิกฤติเลย ว่าที่จริง บางครั้งเราอาจจะรู้สึกด้วยว่า วิกฤตินั้นบางทีก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำกำไรด้วยซ้ำ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 17 ต.ค.2552

Wednesday, October 14, 2009

ชีวิตหลังเกษียณ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เดือนนี้สำหรับหลาย ๆ คนที่มีอายุครบ 60 ปีคงจะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเขา “เกษียณอายุ” นั่นคือ เขาไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานประจำที่เขาทำมาหลายสิบปี เขาไม่ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด เขาไม่ต้องเข้าประชุมถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าอีกต่อไป ความเครียดในการทำงานดูเหมือนจะหายไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาคงเริ่มคิดถึงชีวิตสังคมในที่ทำงาน ต่อไปนี้เขาจะคุยกับใคร เขาจะได้ฟังหรือเล่าเรื่องซุบซิบนินทาให้ใครฟัง เขาจะมีงานสังสรรเหมือนเดิมที่ไหน และสำหรับหลายคนที่เคยเป็นผู้บริหาร เขาจะสั่งหรือใช้ใครพิมพ์งานหรือติดต่อส่งข่าวต่าง ๆ ในเมื่อเลขาที่เขาเคยมีหายไป ใครจะขับรถไปรับตัวเองหรือลูกเมียหรือวิ่งงานสารพัดในเมื่อคนขับรถก็จะหายไป ด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ “น่าใจหาย” สำหรับหลาย ๆ คน แต่สำหรับคนจำนวนมากนั้น เรื่องที่จะต้องคิดและน่าห่วงมากยิ่งกว่าก็คือ เขาจะจัดการกับเรื่องการเงินหลังจากนี้อย่างไรในเมื่อเงินรายได้ประจำเดือน นั้นจะไม่มีอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี้และถึงวัยเกษียณแล้วคงต้องมีเงินเก็บสะสม ไว้บ้าง หลาย ๆ คนมีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้น ผมคงพูดโดยอิงกับคนสองกลุ่มนี้เท่านั้น ส่วนคนที่แทบไม่มีเงินเก็บสะสมเลยหรือมีน้อยมากนั้น ผมคิดว่าทางเดียวที่ทำได้ก็คือ หางานทำต่อไปไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ ส่วนคนที่เกษียณแล้วจริง ๆ ต่อไปนี้คือความคิดและคำแนะนำของผมซึ่งเป็นคนที่สมัครใจ “เกษียณ” ก่อนกำหนดตั้งแต่อายุ 50 ปีเศษ ๆ และใช้ชีวิต “อิสระ” มาได้ 5-6 ปีแล้ว

ก่อนอื่นผมคงต้องบอกว่า การเกษียณนั้นไม่ควรจะเป็นการเลิกทำงานทุกอย่าง สำหรับผม การเกษียณคือการเลิกจากการทำงานที่เราทำเพื่อเงินเป็นหลัก หลัง “เกษียณ” เราควรจะทำงานต่อไป แต่งานที่ทำนั้นควรเป็นงานที่เราชอบและมีประโยชน์ต่อตัวเราและ/หรือสังคมโดย ส่วนรวม งานนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วเป็นงานอดิเรกหรืองานเสริมแต่เมื่อเรา เกษียณจากงานประจำเราจึงหันมาทำงานนั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว งานนั้นอาจจะเป็นงานใหม่ที่เราเพิ่งเริ่มทำและมันเป็นงานที่เราเคยคิดอยากทำ แต่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสที่จะทำในขณะที่เรายังทำงานประจำอยู่ อย่าไปห่วงว่าเราจะทำไม่ได้หรือยากลำบากเกินไปเพราะถ้าทำแล้วเราไม่ชอบหรือ ไม่ประสบความสำเร็จเราก็เลิกทำได้เสมอ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ อายุ 60 ปีที่เราเกษียณนั้น ไม่ได้แก่เกินไปที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ เพราะสำหรับคนทั่วไปผมคิดว่าอายุที่จะเสียชีวิตนั้นน่าจะถึง 80 ปี ซึ่งทำให้มีเวลาอีกตั้ง 20 ปีที่จะทำสิ่งที่เราต้องการทำ ดังนั้น การเกษียณนั้นไม่ใช่เวลาสิ้นสุดแต่เป็นเวลาที่เพิ่งเริ่มต้นสำหรับสิ่งใหม่ ที่ท้าทายของชีวิต

การทำงานในช่วงเวลาหลังเกษียณนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าการทำงานแล้วได้เงินด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเงินนั้น อย่างน้อยมันเป็นเครื่องวัดว่างานที่เราทำ “มีค่า” ในสายตาของคนในสังคม การทำงานแล้วได้เงินนั้นมันจะทำให้งานไม่น่าเบื่อหรือไม่มีจุดหมาย ว่าที่จริง หลายคนอาจจะทำงานได้เงินมากกว่าในช่วงที่ยังทำงานปกติก็เป็นไปได้ เพราะหลังจากการเกษียณแล้ว เขาก็เป็นอิสระในการเลือกทำเฉพาะงานที่มีค่ามากและไม่ทำงาน “ขยะ” เช่นงานประชุมบางอย่างที่เสียเวลามากและไม่ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อย่าทำงาน “เพื่อเงิน” เพราะนั่นจะกลายเป็นว่าเรากลับเข้าไปอยู่ในวังวนของการทำงานที่ผูกมัดชีวิต ของเราจนไม่มีความสุข พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ งานหลังเกษียณนั้น ไม่ควรเป็นงานที่หนักเท่ากับงานประจำเดิม แต่ควรเป็นงานที่มีค่าและมีประโยชน์ทำแล้วมีความสุข ส่วนเงินนั้นเป็นผลพลอยได้ที่พึงปราถนา ยิ่งมากก็ยิ่งดี แต่เราไม่ไล่หามัน

หลังเกษียณเป็นเวลาที่ร่างกายเรามักจะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่งก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแร็ง ดังนั้น การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่จำเป็นและว่าที่จริงทำให้เรามีความสุขไม่น้อยกว่า สิ่งอื่น ๆ ผมเอง หลังจาก “เกษียณ” ตัวเองก็เริ่มหัดเล่นกอล์ฟ เพราะกอล์ฟนั้นช่วยให้เราได้เดินค่อนข้างมากในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ คุณไม่จำเป็นต้องเล่นกอล์ฟเพื่อเป็นการออกกำลังกายแต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้อง ใช้พลังงานสูงหรือหักโหมเกินไป ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การออกกำลังกายสม่ำเสมอที่เหมาะสมกับร่างกายเป็นสิ่งที่คนหลังวัยเกษียณควร ทำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากการออกกำลังหรือกีฬาแล้ว การทำงานอดิเรกหรือการทำงานเพื่อสังคมเช่นการเป็นอาสาสมัครในเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจทำสำหรับคนหลังเกษียณ การสอนหนังสือหรือเผยแพร่ประสบการณ์ให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ รู้สึกล้าหลังหรือกลายเป็นคนแก่ที่ไร้ความหมาย ดังนั้น ลองมองหาดูว่าอะไรที่เราพอทำได้แล้วไม่รู้สึกหนักแต่เพลิดเพลินและได้สังคม กับคนต่างวัยกันด้วย

สุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือเรื่องของเงินทอง การเกษียณนั้นแปลว่าเงินที่จะได้จากน้ำพักน้ำแรงจะค่อนข้างน้อยลงหรือหมดไป แต่เรายังต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตอยู่ คนที่มีเงินมากเหลือเฟืออาจจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่คนที่มีเงินพอสมควรแต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถใช้ได้ตลอด ชีวิตอย่างสะดวกสบายจะต้องรู้จักการบริหารเงิน การบริหารเงินของคนเกษียณนั้นไม่ใช่ไม่ยอมเสี่ยงเลยและทำแค่ฝากเงินไว้กับ ธนาคาร เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 1-2% ต่อปีในขณะที่ยังมีเงินเฟ้ออยู่นั้นจะทำให้ค่าของเงินลดลงในอนาคตซึ่งทำให้ ความมั่งคั่งลดลงและอาจทำให้เรามีปัญหาทางการเงินได้

สูตรการบริหารเงินสำหรับคนเกษียณนั้นผมคิดว่าคล้าย ๆ กับคนทั่วไปเพียงแต่การลงทุนอาจจะลงในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า นั่นก็คือ ควรแบ่งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ใหญ่ ๆ สามอย่างคือ หุ้น พันธบัตร และเงินสดในธนาคาร โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นให้เอา 80 ตั้งลบด้วยอายุตัวเองเช่น 60 ปี ก็จะได้ว่าเราควรลงทุนในหุ้น 20% ส่วนการลงทุนในเงินฝากธนาคารทั้งฝากประจำและออมทรัพย์รวมกันไม่เกิน 20% ที่เหลือ 60% ให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มั่นคง โดยที่การลงทุนในหุ้นและพันธบัตรนั้น ถ้าเรายังไม่รู้วิธีหรือเทคนิคที่ถูกต้องก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมซึ่ง บริหารโดยมืออาชีพได้ การลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอของสินทรัพย์หลายกลุ่มแบบนี้จะทำให้เราได้ผลตอบแทน สูงขึ้นโดยน่าจะได้ถึงปีละ 5% โดยเฉลี่ยและความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อย่างสบาย

ทั้งหมดนั้นก็เป็น “ชีวิตหลังเกษียณ” แนวทางหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วหัวใจของมันก็คือ การเกษียณนั้น ไม่ใช่ Last Stop หรือ “รถเมล์ป้ายสุดท้าย” ก่อนตาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่อิสระและมีความหมายเต็มเปี่ยม เป็นปีทองของชีวิต

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 ต.ค.2552

Sunday, October 4, 2009

ทฤษฎี VI (3).........ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม

ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”

ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน

ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือน เดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น

ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” 2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง 3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น 4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุน ผิดพลาดได้

ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่ สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรม และเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไร หรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI

VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคา หุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่าง ที่ควรเป็นต่างหาก

ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้น ปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้า หลายปีเช่นกัน

สุดท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ หุ้นตัวหนึ่งบางช่วงอาจจะเป็นหุ้นปั่นแต่บางช่วงอาจเป็นหุ้นที่คุ้มค่า สำหรับการลงทุนของ VI ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดบ่อยครั้งก็ไม่เข้าข่ายที่ VI จะซื้อลงทุนเพราะมันอาจจะมีราคาสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 4 ต.ค.2552

ทฤษฎี VI(2)......ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย

หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการ ดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมี อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสีย ลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า

การซื้อหุ้นของ VI นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการขายหุ้น สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อย กว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้

เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจาก ข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา 2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว 3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคา หุ้นจะขึ้นไปมาก 4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ 5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ เศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 29 ก.ย.2552