Friday, April 20, 2012

Super Cheap

การเติบโตของ ธุรกิจการค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจ ระดับชาติ หลายอย่างดูเหมือนว่าจะเป็น แนวโน้มใหญ่ ที่ในที่สุดแล้วก็จะกระจายไปทั่วประเทศ
และยึดกุมธุรกิจเกือบทั้งหมด ในระหว่างที่กำลังขยายตัวไปตามท้องถิ่นต่างๆ

เราจะพบว่ามีธุรกิจที่เจ้าของเป็นคนท้องถิ่นยัง ต่อสู้ กับธุรกิจจาก ส่วนกลาง ได้ บางบริษัทจะขยายตัวไปในจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง ถ้ามองจากภายนอก ดูเหมือนร้านของบริษัทท้องถิ่นบางแห่งจะขายดีเท่ากับ หรือดีกว่ากิจการ ระดับชาติ ที่มาเปิดสาขาอยู่ใกล้ๆ กัน นี่อาจจะทำให้คนที่สังเกตการณ์คิดไปไกลว่า กิจการท้องถิ่นดังกล่าว อาจกลายเป็นคู่แข่ง หรือภัยคุกคามกิจการระดับชาติที่กำลังขยายตัวด้วยซ้ำ แต่นี่เป็นความจริงหรือเป็น ภาพลวง กันแน่ ลองมาดูภาพ ธุรกิจท้องถิ่น ที่สามารถ ต่อกร กับธุรกิจระดับชาติโดยเฉพาะที่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ดู

ประเด็นแรกที่ผมจะพูดถึงคือ ร้านค้าปลีกท้องถิ่นที่โดดเด่นแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ระดับชาติได้ เกือบทั้งหมดเน้นลูกค้าที่มีรายได้ค่อนไปทางต่ำหรือต่ำสุด ทางการตลาด เน้นลูกค้าระดับ C ลงไป ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของเครือข่ายระดับชาติ และสินค้าที่ขาย จะเน้นราคาถูกเป็นหลัก การตั้งราคาสินค้าก็จะต่ำกว่าสินค้าแบบเดียวกัน ที่มีขายอยู่ในร้านที่เป็นโมเดิร์นเทรดระดับชาติ สิ่งที่แตกต่างดูเหมือนอยู่ที่คุณภาพของบริการ ที่น้อยและด้อยกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ การตกแต่งร้านก็ไม่หรูหรา บางร้านไม่ติดเครื่องปรับอากาศ ภาพของร้านคือ เป็นร้านที่ขายสินค้าราคาถูก แต่เป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือคล้ายๆ กับร้าน Modern Trade ไม่เหมือนกับร้านค้า แบบดั้งเดิม ที่ทำกันในครอบครัวและมีขนาดเล็ก

บริษัทท้องถิ่นที่ โดดเด่น มีหลากหลายสินค้า ที่เห็นค่อนข้างมากรวมถึง ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ในพื้นที่ ร้านเหล่านี้อาจมีชื่อ ทันสมัย และเน้นภาพความมีราคาถูก เช่น อาจตั้งชื่อร้านว่า Home Cheap ร้านที่มีค่อนข้างมากอีกกลุ่มหนึ่งคือ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งแน่นอนมีการขายเงินผ่อน ซึ่งอาจตั้งชื่อเป็น Electronic Cheap ร้านสะดวกซื้อที่อาจมีชื่อว่า Con Cheap หรือแม้แต่ร้าน เมกะสโตร์ ขายสินค้าหลากหลายสารพัดอย่าง และมีขนาดใหญ่โตที่อาจตั้งชื่อว่า Super Cheap ร้านต่างๆ เหล่านี้ บางแห่งอาจเริ่มมีสาขาที่กระจายออกไปในพื้นที่อื่นของจังหวัดและในจังหวัด ใกล้เคียง นั่นทำให้มีภาพและชื่อเสียงดีขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งและเป็นเสมือนหนึ่งประกาศ ว่า บริษัทสามารถแข่งขันและอาจเอาชนะร้านที่มาจากส่วนกลางระดับชาติได้

ประเด็นที่ต้องคิดคือ บริษัทท้องถิ่นที่ดูเหมือนจะ ประสบความสำเร็จ ในการขายสินค้าราคาถูกเป็นหลัก ที่ผมอยากเรียกเป็นคำรวมๆ ว่าบริษัท Super Cheap หรือ SC เหล่านั้น ประสบความสำเร็จจริงหรือ? และถ้าจริง บริษัทจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนแข่งขันกับบริษัทระดับชาติในวงที่กว้างขึ้น และในที่สุดตนเองก็จะกลายเป็นบริษัทระดับชาติได้หรือไม่?

คำตอบขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างแต่คำว่า ขายดี อาจไม่ใช่คำตอบ เหตุผลคือ การขายดีอาจจะเป็นเพราะ ร้านนั้นขายสินค้าราคาถูกกว่าปกติ และสินค้าสำหรับลูกค้าที่มีรายได้ต่ำ ลูกค้ามักจะตัดสินใจซื้อโดยเน้นที่ราคาเป็นหลัก ดังนั้นร้าน SC จึงดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ประเด็นยังมีว่า ลูกค้ามักจะซื้อสินค้าต่อรายการค่อนข้างต่ำ การที่เราเห็นคนเข้าร้านมาก ไม่ได้หมายความว่า รายได้ในการขายจะมากเท่าๆ กับร้านที่ขายสินค้าให้คนที่มีรายได้มากกว่าและราคาที่สูงกว่า นี่เป็นการขายที่อาจเกิด ภาพลวง ขึ้นได้

เรื่องที่สำคัญคือ บริษัท SC ขายสินค้าราคาต่ำกว่า แต่ต้นทุนการซื้อสินค้า กลับแพงกว่าบริษัทระดับชาติ เพราะปริมาณการสั่งซื้อจาก Supplier ที่น้อยกว่ามาก มาร์จินหรือกำไรขั้นต้นของ SC จึงน่าจะต่ำมาก อาจมีข้อโต้แย้งว่า ต้นทุนค่าการขายและโสหุ้ยต่างๆ ของ SC ต่ำกว่าบริษัทที่มีเครือข่ายระดับชาติ ดังนั้น SC อาจยังมีกำไรได้ แต่นี่เป็นเรื่องที่เราคาดเดามากกว่าข้อเท็จจริง แต่ข้อโต้แย้งก็มีต่อไปว่า ถ้า SC ไม่มีกำไร บริษัทจะอยู่ได้อย่างไรมาค่อนข้างนาน ที่สำคัญยังขยายตัวด้วย บางแห่งเริ่มขยายตัวน่าประทับใจ นี่ไม่ใช่สัญญาณของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและทำกำไรหรือ?

คำตอบของผมคือ อาจไม่ใช่! เหตุผลคือ ธุรกิจค้าปลีก ผู้ขายจะขายเป็นเงินสด ขณะที่การซื้อสินค้าจาก Supplier เป็นเงินเชื่อ ซึ่งบางทีกว่าจะจ่ายก็หลายเดือน แม้บริษัทจะค้าขายไม่มีกำไรหรือขาดทุนบ้าง กระแสเงินสดก็ไม่ขาด บริษัทขายสินค้าไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน ว่าที่จริงบางกรณี บริษัทขยายงานไปได้เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่บริษัทไม่มีกำไรเลย เหตุผลเช่นเดิมนั่นคือ ยิ่งขายสินค้ามาก เงินสดที่ได้จากการขายก็มากขึ้น ขณะที่เงินที่ต้องจ่ายให้กับ Supplier กลับถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ การขยายตัวของธุรกิจ จึงอาจจะไม่ใช่เครื่องหมายการทำกำไรก็ได้

ข้อถกเถียงต่อมาคือ เจ้าของธุรกิจ SC คงไม่ทำธุรกิจ หรือตัดสินใจขยายงานโดยที่รู้ว่ากิจการไม่ทำกำไร นี่เป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผล นี่ก็มาถึงจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ SC คือ การจัดการ โดยเฉพาะการบริหารสินค้าคงคลัง ปัญหาคือ เจ้าของ หรือผู้บริหาร SC อาจไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ของธุรกิจตนเอง เพราะระบบข้อมูล และบัญชีอาจไม่ได้มาตรฐาน เขาอาจไม่ได้ตรวจนับสินค้าคงคลังอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ เขาอาจประมาณการสินค้าสูญหาย หรือล้าสมัยต่ำเกินไป ทำให้ตัวเลขกำไรสูงเกินไป นี่เป็นตัวอย่างที่อาจเกิดขึ้น เพราะการบริหารงานที่อาจมีอีกมากมาย

ถ้าสมมติว่าทุกอย่างถูกต้อง บริษัท SC ประสบความสำเร็จจริง ธุรกิจมียอดขายที่ดี มีกำไรจริง มีการบริหารงานและระบบข้อมูลและบัญชีที่เชื่อถือได้ และขยายงานครอบคลุมในระดับจังหวัด และอาจจะในจังหวัดใกล้เคียงได้สำเร็จ แต่นี่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บริษัทจะแข่งขันกับบริษัทระดับชาติได้แน่นอน ประเด็นคือ การบริหารงานบริษัทที่มีขนาดของธุรกิจขนาดหนึ่ง อาจไม่เหมือนกับการบริหารบริษัทที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปมาก ระบบการบริหารอาจเปลี่ยนแปลงไปมาก การดูแลกิจการโดยบุคคลที่เป็น เจ้าของ อาจทำได้ไม่ทั่วถึง และนี่อาจเป็นข้อจำกัดของบริษัท SC

แน่นอน ต้องมีบริษัท SC ที่ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทระดับชาติได้บ้าง ว่าที่จริงตัวอย่างก็มีอยู่ บริษัท SC จำนวนมาก น่าจะเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่สามารถเติบโตขึ้นมาท้าทายบริษัทที่มีเครือข่ายระดับชาติได้ SC จำนวนมาก ล้มหายตายจาก ไป SC ที่เหลืออยู่จำเป็นต้อง หาจุดยืน ของตนเองให้ได้ เพื่ออยู่รอดในระยะยาว แต่นักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทค้าปลีกระดับชาติ ความคิดที่ว่า SC จะเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวของบริษัท น่าจะเป็นสิ่งที่ยังห่างไกลไปมาก

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 17 เมษายน 2555

ฟองสบู่ทะเลใต้

ในช่วงที่หุ้น ปรับตัวขึ้นเป็น "กระทิง" นั้น หลายคนก็กลัวว่าภาวะตลาดหุ้นจะกลายเป็น “ฟองสบู่” นั่นก็คือ หุ้นมีราคาแพง “เกินพื้นฐาน” ไปมาก ราคาหุ้นขึ้นไปเพราะผลจากแรง “เก็งกำไร” และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ในไม่ช้าราคาหุ้นก็จะปรับตัวลงมาอย่างแรง เหมือนกับฟองสบู่ที่แตก ผมคงไม่บอกว่าภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยเป็นฟองสบู่หรือไม่ แต่อยากจะเล่า “ประวัติ” หรือที่มาของภาวะฟองสบู่ที่สำคัญของโลกเหตุการณ์หนึ่งนั่นก็คือ “South Sea Bubble” หรืออาจจะแปลเป็นไทยว่า “ฟองสบู่ทะเลใต้”

ฟองสบู่ทะเลใต้นั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 1720 หรือประมาณ 300 ปีมาแล้วในอังกฤษ นี่คือเหตุการณ์ที่ราคาหุ้นของบริษัท South Sea ของอังกฤษถูก “ปั่น” ขึ้นไปสูงมาก ปริมาณการซื้อขายสูงมาก ขนาดหรือมูลค่าหุ้นในตลาดใหญ่มาก และคนที่เข้าไปซื้อขายหุ้นมีจำนวนมหาศาลทั้งที่เป็นชาวบ้านและคนชั้นสูงที่ มีชื่อเสียงของประเทศ ความคึกคักของการซื้อขายหุ้น South Sea มีส่วนทำให้ตลาดหุ้นในอังกฤษและทั่วโลกปรับตัวขึ้นและกลายเป็นฟองสบู่ไป ด้วย และแน่นอน เมื่อ “ฟองสบู่แตก” ความเสียหายก็มหาศาลเช่นเดียวกัน มาดูกันว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร

บริษัท South Sea Company ที่ต่อไปนี้ผมจะใช้ชื่อย่อว่า SSC ก่อตั้งขึ้นในปี 1711 โดยผู้ก่อตั้งนั้นมีหลายคน ซึ่งรวมถึง รมว.คลังของอังกฤษในช่วงนั้นด้วย บริษัทถูกตั้งขึ้นเพื่อที่จะช่วยหาเงินมาอุดหนุนหรือหาเงินมาแก้ปัญหา หนี้สินของรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาก อันเป็นผลจากการที่อังกฤษทำสงครามกับสเปน โดยหลักการก็คือ บริษัทจะซื้อพันธบัตรและหนี้สินระยะสั้นของรัฐบาลมาแปลงเป็นระยะยาวรวมถึง การลดดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายด้วย ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ตอบแทนโดยการอนุมัติให้บริษัทผูกขาดการค้าขายกับอาณานิคมในอเมริกา ใต้ที่อยู่ที่ “ทะเลใต้” ของสเปน

ดีลแรกที่เกิดขึ้นในปี 1713 ก็คือ รัฐบาลและบริษัทได้ชักชวนให้นักลงทุนที่ถือหนี้ระยะสั้นของรัฐบาล 10 ล้านปอนด์ให้แปลงหนี้เป็นหุ้นออกใหม่ของ SSC โดยที่รัฐบาลจะตอบแทนบริษัทโดยการออกพันธบัตรที่ไม่มีกำหนดอายุใช้เงินต้น คืน 10 ล้านปอนด์เช่นกัน โดยรัฐบาลจะจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยให้บริษัททุกปีๆ ประมาณ 5.8% นี่ทำให้ SSC มีรายได้และกำไรแน่นอนปีละ 580,000 ปอนด์ ที่จะทำให้หุ้นของบริษัทเป็นที่น่าสนใจ ในขณะที่รัฐบาลเองก็หวังว่าจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาใต้มาใช้จ่าย เป็นค่าดอกเบี้ยได้ สรุปแล้วดีลนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงหลังจากนั้นก็คือ บริษัทได้สิทธิที่จะนำเรือไปค้าขายได้เพียงปีละหนึ่งลำ และนำทาสไปขายให้กับอาณานิคมได้ ซึ่งไม่คุ้มค่าเลยสำหรับบริษัท

ในปี 1717 บริษัทได้รับแปลงหนี้ของรัฐบาลเพิ่มอีก 2 ล้านปอนด์ เงินจำนวนนี้คิดเป็นประมาณ 3% ของงบประมาณแผ่นดินของอังกฤษในปีนั้น และก็เช่นเคย บริษัทมีรายได้และกำไรที่แน่นอนเพิ่มขึ้นในขณะที่รัฐบาลก็สามารถลดดอกเบี้ย จ่ายลง

ในปี 1719 บริษัทได้เสนอดีลซึ่งน่าจะเป็น “ดีลแห่งศตวรรษ” นั่นก็คือ บริษัทจะซื้อหนี้จำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ทั้งหมดของรัฐบาลอังกฤษหรือ 31 ล้านปอนด์ โดยการออกหุ้นใหม่ของบริษัทมาแลก และบริษัทสัญญาว่าจะลดดอกเบี้ยของพันธบัตรให้เหลือ 5% ต่อปี จนถึงปี 1727 และ 4% ต่อปีหลังจากนั้น เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้รัฐบาล ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตร และที่สำคัญทำให้หุ้นของ SSC มีปริมาณมหาศาลซื้อง่ายขายคล่อง สรุปแล้วก็คือ ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ประเด็นสำคัญก็คือ ราคาแปลงสภาพของหุ้นซึ่งถึงแม้ว่าบริษัทจะเป็นคนกำหนดแต่ก็ต้องคำนึงว่ามัน จะต้องเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาหุ้นของ SSC ในขณะนั้นด้วย ดังนั้น สิ่งที่บริษัทและอาจจะรวมถึงผู้นำของรัฐบาลทำก็คือ การพยายาม “ปั่น” ราคาหุ้น เพื่อที่จะให้คนถือพันธบัตรและหนี้ของรัฐบาลนำตราสารเหล่านั้นมาแลกเป็นหุ้น SSC ในราคาที่สูงและคาดว่าจะสูงต่อไป

บริษัทเริ่ม “ปั่น” ราคาหุ้นโดยการปล่อยข่าวลือที่ “ดีสุดๆ” เกี่ยวกับศักยภาพของมูลค่าการค้าขายกับ “โลกใหม่” ซึ่งก่อให้เกิดการ “เก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง” ในหุ้นของบริษัท ราคาหุ้น SSC พุ่งขึ้นจาก 128 ปอนด์ต่อหุ้นเมื่อบริษัทเสนอโครงการซื้อหนี้ของรัฐบาลในเดือนมกราคมปี 1720 เป็น 175 ปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 330 ปอนด์ในเดือนมีนาคม และหลังจากที่โครงการได้รับการอนุมัติ หุ้น SSC ก็วิ่งขึ้นเป็น 550 ปอนด์เมื่อสิ้นพฤษภาคม สิ่งที่อาจทำให้หุ้นซื้อขายที่ PE สูงมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ วงเงินกู้ 70 ล้านปอนด์เพื่อขยายงานที่บริษัทจะได้รับโดยการสนับสนุนสำคัญจากรัฐสภาและพระ มหากษัตริย์

นอกจากนั้น บริษัทได้ขายหุ้นให้กับนักการเมืองในราคาตลาด แต่แทนที่จะจ่ายเป็นเงินสด พวกเขากลับรับหุ้นไว้เฉยๆ โดยมีสิทธิที่จะขายหุ้นคืนให้กับบริษัทเมื่อเขาต้องการ และจะรับเฉพาะ “กำไร” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อราคาหุ้นขึ้นไป วิธีนี้ได้ใจผู้นำในรัฐบาล “กิ๊ก” ของพระราชา และอื่นๆ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้ช่วยกัน “ดัน” ราคาหุ้น ในอีกด้านหนึ่ง การเปิดเผยชื่อคนดังเป็นผู้ถือหุ้นก็ช่วยให้ชื่อเสียงบริษัทดีขึ้นและช่วย ดึงดูดนักลงทุนอื่นๆ มาซื้อหุ้นบริษัท
ในช่วงที่ผู้คนกำลังบ้าคลั่ง เกี่ยวกับหุ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 1720 พระราชบัญญัติ “ฟองสบู่” หรือ “Bubble Act” ที่บังคับว่าบริษัทใหม่ ๆ จะก่อตั้งได้จะต้องตราเป็น พ.ร.บ. ก็ถูกตราออกใช้ นี่ยิ่งทำให้บริษัทได้ประโยชน์มากขึ้นและส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเป็น 890 ปอนด์ในช่วงต้นมิถุนายน นี่ทำให้นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้น อย่างไรก็ตาม กรรมการบริษัท ต่างก็ออกมาทยอยเก็บเพื่อพยุงราคาซึ่งทำให้ราคาหุ้นยืนอยู่ได้ที่ราว 750 ปอนด์

การที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาจาก 100 กลายเป็นเกือบ 1,000 ปอนด์ ในช่วงเวลาไม่ถึงปี ได้ทำให้คนทุกหมู่เหล่าตั้งแต่ขุนนางจนถึงชาวนาคลั่งไคล้การลงทุนไม่เฉพาะใน หุ้น SSC แต่ในตลาดหุ้นโดยทั่วไปด้วย นอกจากหุ้นของบริษัทเดิม ๆ ที่มีอยู่ หุ้นออกใหม่หรือ IPO ก็มีจำนวนมาก บางบริษัทแทบจะไม่มีธุรกิจอะไรเลยแต่โฆษณาว่า “ทำธุรกิจที่มีความได้เปรียบมหาศาล”

ราคาหุ้น SSC ขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 1,000 ปอนด์ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 1720 แต่แรงขายมหาศาลทำให้ราคาตกกลับลงมาที่ 100 ปอนด์ก่อนสิ้นปีซึ่งก่อให้เกิดการล้มละลายไปทั่วสำหรับคนที่กู้เงินมาเล่น หุ้น การบังคับขายได้ทำให้หุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องที่หดหายไปดูเหมือนว่าจะกระจายไปทั่วทำให้ “ฟองสบู่” ที่เกิดทั้งในอัมสเตอร์ดัมและปารีส “แตก” ไปด้วย ความล้มเหลวของบริษัทส่งผลต่อไปถึงภาคธนาคารที่ต้องรับภาระหนี้เสียจากการ ปล่อยกู้ซื้อหุ้น การสอบสวนของทางการในปี 1721 พบว่ามีการฉ้อฉลมากมายทั้งในระดับกรรมการบริษัทและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หลายคนต้องติดคุก วิกฤติครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของพระเจ้าจอร์จที่ หนึ่งและพรรควิกที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น และทั้งหมดนั้นก็คือเรื่องย่อ ๆ ของฟองสบู่ที่เกิดจากความบ้าคลั่งของนักลงทุนที่แม้แต่เซอร์ไอแซคนิวตัน นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ยังต้องขาดทุนอย่างหนักพร้อม ๆ กับคำกล่าวอมตะที่ว่า “ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนที่ของดวงดาว แต่ไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน”

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 10 เมษายน 2555

ไม่มีคำว่าสาย

เรื่องการลงทุนในหุ้น นักวิชาการจำนวนมากมักบอกว่า เป็นเรื่อง "เสี่ยง" กว่าการลงทุนในพันธบัตร เงินฝากธนาคาร หุ้นกู้
เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด เงินต้นยัง "อยู่ครบ" พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน และหุ้นยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดิน หรือทองคำในสายตาของคนทั่วไป ในแง่ที่ว่าทั้งสองอย่าง "จับต้องได้และไม่สึกหรอ" และรักษาคุณค่าได้เสมอ ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ "เพิ่มขึ้น" แม้ช่วงหลังราคาทองคำอาจ "ปรับตัวลงบ้าง" ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว "ไม่เสี่ยง" ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน หุ้นบางตัว ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้นๆ จนแทบจะหมดค่า และหุ้นสำหรับบางคนเหมือนกับ "กระดาษ" ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น แต่บางครั้งตกลงมาได้มากมาย แทบจะไม่มีค่าเหมือน "กระดาษ" ดังนั้น หุ้นจึงเป็นอะไรที่ "เสี่ยงมาก"

นี่เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในบางมิติ คือ โดยอิงอยู่กับการลงทุน "ระยะสั้น" และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น "รายตัว" แต่ถ้ามองการลงทุนเป็น "ระยะยาว" และลงทุนในทรัพย์สิน หรือหุ้นเป็นแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง เหตุผลสำคัญ คือ ในระยะยาว มิติสำคัญ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่ง คือ "อัตราเงินเฟ้อ" เพราะจะทำให้เงินมีค่าลดลง แม้เม็ดเงินยังอยู่ครบ ตัวอย่างเช่น อีก 20 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3% แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2% เมื่อครบ 20 ปี เงินลงทุนโตขึ้นจาก 100 บาท เป็น 149 บาท แต่วันนั้นสินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท เป็น 181 บาท ทำให้เรา "ขาดทุน" 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลง 18% และนี่คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ แต่ไม่เติบโต หรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว

มิติการลงทุนแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" ช่วยให้การลงทุน "ผันผวน" น้อยลงมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมองได้ไม่ชัด แต่การลงทุนในหุ้น ถ้าเราลงทุนหุ้นเพียงตัวเดียว ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะหุ้นตัวนั้นอาจประสบปัญหารุนแรงได้ กิจการอาจจะเจ๊งไป และทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์ แต่ถ้าถือหุ้นหลายๆ ตัว โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก ราคาหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป บางตัวดี บางตัวอาจไม่ค่อยดี แต่โดยรวมราคาหุ้นจะเปลี่ยนไม่มาก ในระยะสั้น แม้เราถือหุ้นในพอร์ตหลายๆ ตัว หรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก มูลค่าหุ้นอาจลดลงได้เพราะปัจจัยร้อยแปด แต่ระยะยาว มูลค่าหุ้นโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย และถ้าเราถือหุ้นได้ถึง 20 ปี โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงน้อยมาก ตรงกันข้าม โอกาสหุ้นจะขึ้นไปสูงมีมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10% ต่อปี เงิน 100 บาทกลายเป็น 673 บาทในเวลา 20 ปี เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ 149 บาทแล้ว ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้น ดีกว่ามากถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือลงทุนระยะยาว

ข้อสรุปขั้นนี้ คือ ถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี การลงทุนในหุ้น โดยลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอ หรือถือกองทุนรวม จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยที่มีความเสี่ยง "ต่ำที่สุด" และนี่ทำให้เราควรถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น มากเท่าไรขึ้นอยู่กับความมั่งคั่ง และความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของแต่ละคน แต่ใจผมคิดว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 50% ของทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ และคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดีจะมีหุ้นเกิน 90% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

ประเด็นสำคัญต่อมา คือ คนมักจะคิดว่าตนเองแก่แล้วหรือมีอายุมากแล้ว การลงทุนหุ้นอาจเป็นเรื่อง "สายเกินไป" แล้ว เขาไม่มีเวลา 10 หรือ 20 ปี ที่จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่ "ไม่เสี่ยง" เขาขอฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรดีกว่า นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ "ผิดพลาด" เรามาดูกันว่าเพราะอะไร

เรื่องที่ทำให้คนคิดผิดน่าจะอยู่ที่ประเด็น "อายุเกษียณ" หรือเวลาเลิกทำงานที่กำหนดไว้ที่ 60 ปี นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแก่แล้วตั้งแต่อายุใกล้เกษียณที่ 50 ปีขึ้นไป ความเป็นจริง คือ อายุของคนกำลังยืนขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสุขภาพดีขึ้น และผมคิดว่า คนรุ่นนี้จำนวนมากจะมีอายุถึง 80 ปีขึ้นไปก่อนตาย ความสามารถลงทุนในหุ้น น่าจะทำได้จนถึงอายุ 80 ปี และนี่ทำให้ผมคิดว่า การวางแผนเกี่ยวกับการลงทุน ควรกำหนดว่า เราจะลงทุนจนถึงอายุ 80 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เกษียณในวันนี้หรือแม้คนที่กำลังเกษียณ จึงมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ซึ่งทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

คำแนะนำของผมสำหรับคนที่คิดว่าตนเอง"แก่" เกิน ที่จะเริ่มลงทุน คือ การลงทุน โดยเฉพาะแนว Value Investment ไม่ได้ยาก หรือใช้พลังอะไรมากมายนัก แต่ใช้ความสุขุมรอบคอบและใจเย็นยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง ซึ่งคนมีอายุไม่ได้เสียเปรียบคนหนุ่มสาวเลย คนแก่ทำได้ แต่จริงๆ แล้ว บางทีคุณอาจไม่ได้แก่อย่างที่คุณคิด และถ้าสามารถลงทุนได้อีกถึง 20 ปี คุณก็เริ่ม "อาชีพใหม่" ได้ แม้คุณจะอายุ 60 ปีแล้ว และถ้าคุณทำได้ดี โอกาสที่คุณจะเป็น "เซียน" และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมหาศาลก็ยังมีอยู่

พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่า เธอน่าจะเป็น "ไอดอล" ของนักลงทุน "คนแก่" ทั่วโลก เพราะเธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปี โดยเธอเป็นเพียงเสมียน และมีเงินเดือนน้อยมากไม่ต้องพูดถึงความรู้ในการเลือกหุ้น เธอเริ่มจากเงิน 5,000 ดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อหุ้นที่เป็น "ซูเปอร์สต็อก" ที่ผลิตและขายสินค้าที่เธอรู้จักดี เช่น โคคา-โคลา บริษัทยา เช่น เชอริงพลาวก์ เธอซื้อแล้วก็เก็บ ติดตามดูกิจการของบริษัทไปเรื่อยๆ เมื่อได้เงินปันผลมา ก็ลงทุนเพิ่มในหุ้นทบต้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายในวันที่เธอตาย ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเธอบริจาคให้กับโรงพยาบาลหมด เพราะเธอไม่เคยแต่งงานและไม่มีญาติพี่น้อง สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับนั้น ก็คือ เวลาในการลงทุนอีก 51 ปี เพราะเธอตายตอนอายุ 101 ปี และผลตอบแทนที่เธอทำได้คือเฉลี่ยปีละประมาณ 17-18% ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีมากๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ Value Investor มีโอกาสทำได้

คนมักจะถามว่า แก่แล้วจะหาเงินมากๆ ไปทำอะไรได้ แล้ว "ไม่มีโอกาสใช้" หรือคนที่มีเงินเก็บ "พอดีๆ" อาจกลัวว่าจะขาดทุนจากหุ้น แล้วเงินจะไม่เหลือพอใช้จนตาย คำตอบของผม คือ เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อาจคำนวณว่าเราจะตายเมื่ออายุ 80 ปี แต่เราอาจจะอยู่จนถึง 100 ปีก็ได้ และเมื่อถึงเวลา เรายังจะมีเงินพอใช้หรือไม่ การไม่ลงทุนในหุ้น จึงอาจเป็นเรื่องเสี่ยงพอๆ หรือมากกว่าการลงทุนในหุ้นก็ได้ ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ มีโอกาสสูงที่คุณควรลงทุนในหุ้นแม้ว่าคุณจะอายุมากแล้ว ไม่มีคำว่าสายเกินไป

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 3 เมษายน 2555

Megatrend โลก

แนวโน้มใหญ่ หรือ Megatrend ของโลก จะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวที่ต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปและน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี และต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผมเห็น

Megatrend แรกที่ดำเนินมายาวนาน น่าจะหลายสิบปี และจะดำเนินต่อไปอีกนานมาก ก็คือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 2 ด้าน นั่นก็คือ เทคโนโลยีด้าน IT และการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ กับเทคโนโลยีด้านชีวภาพ หรือ Biotech นี่คือเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ารวดเร็ว จนเราตามแทบไม่ทัน

ด้านของ IT เราส่วนใหญ่อาจจะได้ยินได้เห็น และได้ใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย แต่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ อาจจะมีคนไม่มากที่ได้สัมผัสกับมันโดยตรง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบก็อาจจะมีมากพอๆ กับเรื่องของ IT เพราะหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับยาและการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนทำให้การรักษาโรคที่ร้ายแรงในอดีต สามารถทำได้ดีขึ้นมากในปัจจุบันและต่อไปในอนาคตอันใกล้

Megatrend ที่สอง ก็คือ เรื่องของ Wealth หรือความมั่งคั่งของคนในโลก นี่เป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องยาวนาน ในอดีตนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญกว่า แต่ในปัจจุบันความมั่งคั่งมักเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ ที่มีประชากรมากหรือมีทรัพยากรมาก ความมั่งคั่งที่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับเงินซึ่งรวมถึงระบบธนาคารและการบริหารเงินและกองทุน รวมเติบโตต่อเนื่องระยะยาว และแน่นอน ส่งผลต่อราคาหุ้นโดยเฉพาะในประเทศที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Megatrend ที่สาม คือ เรื่องของโครงสร้างอายุของประชากรในโลกที่เริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว อายุเฉลี่ยของประชากรโลกน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลงในขณะที่คนก็มีอายุยืนขึ้น โดยที่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น ผลกระทบ ก็คือ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและคนสูงอายุน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Megatrend ที่สี่ คือ เรื่องที่ผมอยากเรียกว่าเป็น “การเพิ่มขึ้นของอิทธิพลของเอเชีย” นี่คือ แนวโน้มใหญ่ที่ประเทศในเอเชียมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อ เทียบกับส่วนอื่นของโลก ประกอบกับการที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้เอเชียมีบทบาทและความสำคัญสูงขึ้นอย่างมากในทุกด้าน ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ผลต่อประเทศไทย ก็คือ เราจะมีการค้าและการลงทุนมากขึ้นเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่จะมีมากขึ้น เนื่องจากไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่อยู่ในศูนย์กลางของเอเชีย

Megatrend ที่ห้า ก็คือ เรื่อง "ภาวะโลกร้อน" นี่คือ แนวโน้มที่เพิ่งเกิดมาไม่นาน หรือน่าจะพูดว่าเราเพิ่งตระหนักมาไม่นานนัก แต่ผลกระทบอาจจะรุนแรงขนาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของโลกได้ ในระยะยาว ในระยะสั้น ผลกระทบอาจจะเป็นเรื่องของท้องถิ่นบางแห่ง ที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ซึ่งรวมถึงภาวะแห้งแล้ง พายุ หรือน้ำท่วม ที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติ และนี่ทำให้เกิดความเสี่ยงโดยเฉพาะในด้านของทรัพย์สินและการดำเนินธุรกิจ เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ชัดเจนว่าจะเกิดที่จุดไหนและเมื่อใด

Megatrend สุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ เรื่อง Globalization หรือโลกาภิวัตน์ ซึ่งบางคนใช้คำว่า "โลกแบน" ความหมาย ก็คือ พรมแดนทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศและวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น จะมีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ คนในแต่ละประเทศจะมีความคิด ค่านิยม และความเป็นอยู่คล้ายๆ กันขึ้นอยู่กับฐานะและความมั่งคั่งมากกว่าเรื่องของวัฒนธรรมประจำชาติ นอกจากนั้น แต่ละประเทศจะไม่สามารถทำอะไรตามใจตนเองได้ทั้งหมดแต่จะต้องทำในสิ่งที่เป็น ที่ยอมรับของสังคมโลกด้วย เช่นเดียวกัน การแข่งขันทางธุรกิจก็จะต้องเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ และต้องรวมไปถึงธุรกิจจากต่างประเทศทั่วโลก ผลกระทบ ก็คือ บริษัทที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงจะสามารถขยายตัวได้มากขึ้นมาก ในขณะที่บริษัทระดับรองหรืออ่อนแอจะอยู่ได้ยากขึ้น

สรุปก็คือ ผมคิดว่าอุตสาหกรรมที่เป็น Megatrend และจะโตเร็วและโตไปอีกนาน ก็คือ อุตสาหกรรมไฮเทคที่เกี่ยวกับ IT และการสื่อสารในระบบเคลื่อนที่ และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแพทย์และการ ให้บริการทางการแพทย์ ในอุตสาหกรรมอื่นนั้น ผมคิดว่าธุรกิจการเงินและการบริหารเงิน และการลงทุนในหุ้น น่าจะมีอนาคตสดใส เช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของประเทศในทวีปเอเชียที่ประชากรมี ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ซึ่งการบริโภคนี้รวมถึงการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามประเทศที่จะเติบโต ขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบจากการเปิดเสรีประเทศมากขึ้น จากผลของโลกาภิวัตน์ จะทำให้กิจการที่เป็นผู้นำที่โดดเด่น โดดเด่นขึ้น ในขณะที่บริษัทระดับรองลำบากขึ้น และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนนั้น จะทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจสูงขึ้น จากภัยธรรมชาติในระยะสั้น
ผลกระทบของ Megatrend โลกนั้น แน่นอน รวมถึงประเทศไทย เพราะเราอยู่ในกระแสของโลกาภิวัตน์ด้วย ดังนั้น เราต้องนำ Trend ต่าง ๆ เหล่านั้นเข้ามาพิจารณา ในเรื่องของการลงทุน สิ่งที่สำคัญ ก็คือ เราต้องการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในกระแสและหลีกเลี่ยงหุ้นที่สวนกระแส แต่การลงทุนกับหุ้นที่อยู่ใน Megatrend นั้นยังไม่เพียงพอ เหตุผล ก็คือ กิจการที่อยู่ในกระแสนั้น บ่อยครั้งมีมากยิ่งกว่ากิจการที่ไม่อยู่ในกระแส การแข่งขันกันจึงรุนแรงและอาจทำให้บริษัทขาดทุนหรือล้มหายตายจากได้ง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ กิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IT ที่เราเห็น “คนตาย” มากกว่า “คนอยู่” หุ้นหรือกิจการที่เราต้องการจริงๆ ก็คือ เราต้องการบริษัทที่เป็น “ผู้ชนะ” ในอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrend และในราคาที่สมเหตุผล

ประเด็นสำคัญที่ตามมา ก็คือ อะไร คือ “ราคาที่สมเหตุผล” นี่เป็นเรื่องยากหรืออาจจะยากยิ่งกว่าการกำหนดว่าบริษัทอยู่ใน Megatrend และเป็น “ผู้ชนะ” หรือไม่? เหตุผล ก็คือ หุ้นที่อิงกับกระแสแนวโน้มใหญ่นั้น มักจะเติบโตไปได้ต่อเนื่องยาวนานตราบที่เขายังมีความสามารถสูงอยู่ อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ บริษัทที่ “กำลังชนะ” นั้น Profit Margin หรือกำไรต่อยอดขายมักจะมาทีหลัง ในขณะที่ช่วงแรกๆ ของการเติบโต ผลกำไรจะไม่สูงมาก เนื่องจากบริษัทจะเน้นไปที่การเพิ่มยอดขายมากกว่าที่จะทำกำไร ดังนั้น ในช่วงที่บริษัทยังโตเร็ว ผลกำไรอาจจะไม่สูงมาก นี่ทำให้ค่า PE อาจจะดูสูงและทำให้ราคาหุ้นดูไม่สมเหตุผลโดยเฉพาะในสายตาของ Value Investor ที่เน้นหุ้นถูกเป็นหลัก วิธีที่ดีกว่า ก็คือ การดู “ศักยภาพ” ว่า บริษัทน่าจะสามารถเติบโตมียอดขายถึงระดับไหนและมันน่าจะมีกำไรเท่าไรเมื่อ ถึงจุดนั้น โดยกำไรนั้นจะต้องคำนวณจาก Profit Margin ที่เหมาะสม ซึ่งนั่นจะทำให้เราสามารถคำนวณหากำไรและราคาหุ้นที่เหมาะสมในอนาคตได้ จากนั้นจึงมาดูว่าราคาในปัจจุบันนั้นเหมาะสมหรือไม่

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 27 มีนาคม 2555

ธุรกิจทำง่าย

กลยุทธ์ "ยอดนิยม" ของบริษัทในตลาดหุ้น คือ ถ้ากิจการของบริษัทดี หรืออยู่ในช่วง "ขาขึ้น" บริษัทก็ไปเทคโอเวอร์กิจการที่ทำเหมือนกัน แต่อาจทำไม่ได้ดีเท่าเข้ามาเพิ่มเติม การทำแบบนี้ อาจทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นไปอีก หรืออย่างน้อยทำให้คน "เชื่อ" ว่ากิจการของบริษัทจะดีขึ้นไปอีก ผลคือ ราคาหุ้นจะ "วิ่งระเบิด" ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว บริษัทอาจไม่ดีขึ้นเลย เมื่อคำนึงถึงเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการซื้อกิจการ ที่อาจสูงไม่คุ้มค่ากับกำไรที่ได้เพิ่มขึ้น เหตุผลคือ คนที่ขายกิจการ เขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร คงไม่ยอมขายถูกๆ ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อซื้อกิจการแล้ว คนซื้อสามารถ "เพิ่มมูลค่า" กิจการได้มากน้อยแค่ไหน อย่าไปคิดว่าบริษัทชำนาญในการบริหารกิจการประเภทนั้นอยู่แล้ว และการเทคโอเวอร์กิจการแบบเดียวกันต้องมี Synergy หรือลดต้นทุนลงได้มาก เราต้องวิเคราะห์ถึงแหล่งของการประหยัดที่ว่านั้นได้จริงๆ ไม่ใช่เชื่อแต่คำพูดของผู้บริหารโดยไม่ตั้งคำถาม การเทคโอเวอร์สำหรับผมแล้ว มันเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย และอะไรที่ทำได้ง่าย ผมมักจะ "ไม่ให้ราคา" มากนัก

ถ้ากิจการบริษัทไม่ดี หรืออยู่ช่วง "ขาลง" หรือบางที "เจ๊ง" อยู่ บริษัทต้องการ "Turnaround" หรือฟื้นฟูกิจการให้กลับมามีกำไร บริษัทก็ไปซื้อกิจการ หรือไปสร้างธุรกิจใหม่ที่กำลังมีอนาคต "สดใส" เป็นธุรกิจ "Sun Rise" หรือธุรกิจที่กำลังเติบโต ทุกคนกล่าวขวัญถึงตัวอย่าง เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะที่ขายโดยได้เงินชดเชยจากหน่วยงานของรัฐ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่กำลัง "ร้อนแรง" หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ "มีกำไร" อยู่แล้ว เจ้าของอาจ "โอนเข้ามา" ในบริษัท ผลคือ ราคาหุ้นก็จะ "วิ่งระเบิด" ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง กำไรที่จะเกิดขึ้น อาจไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้ลงทุน ตัวธุรกิจใหม่ ยังไม่รู้ว่าจะเติบโตต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน การ Turnaround หรือฟื้นตัว อาจไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจเดิมเลย หุ้นแบบนี้จึงไม่น่าเป็นหุ้น Turnaround แต่เป็นเรื่องการทำ "ธุรกิจใหม่" ซึ่งบริษัทไม่เคยมีประสบการณ์ หุ้นจึงไม่น่ามี Value หรือมูลค่ามากนัก แค่เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย และอะไรที่ทำได้ง่าย ผมมัก "ไม่ให้ราคา" มากนัก

การที่ผมไม่ให้ราคาธุรกิจที่ทำได้ง่าย เพราะธุรกิจเหล่านั้น จะไม่สามารถทำกำไรสูงๆ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์สูงได้ในระยะยาว พูดง่ายๆ กำไรที่ได้มา ต้องอาศัยการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และสินทรัพย์ที่สูง ก็ต้องอาศัยเงินทุนของเจ้าของมาก และเงินทุนนี้มี "ต้นทุน" ซึ่งคิดไปแล้วอาจจะพอๆ กับกำไรที่ได้รับ ส่วนสาเหตุที่ธุรกิจที่ทำได้ง่ายไม่สามารถทำกำไรสูงได้ เพราะถ้าธุรกิจนั้นทำเงินมากๆ บางช่วงเวลา จะมีคนอื่นเข้ามาทำแข่ง เมื่อมีคนมาแข่งมาก ราคาสินค้าก็จะลดลง สุดท้ายกำไรของธุรกิจก็ลดลง และเมื่อกำไรธุรกิจลดลง ราคาหุ้นก็จะลดลง

ที่ผมพูดว่าธุรกิจที่ทำได้ง่าย ไม่ได้หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่บริษัทขาย ทำได้ง่าย ธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในแง่ของคนที่มาทำ พวกเขาต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรที่ชำนาญการ แต่ธุรกิจเหล่านี้ถ้าคนจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับเจ้าเดิมอาจไม่ใช่ เรื่องยาก ทางหนึ่งคือ จ้างพนักงานเก่งๆ ที่ทำงานเหล่านั้นอยู่แล้ว ออกมาทำแข่งกับบริษัทที่มีอยู่เดิม ประเด็นคือ บริษัทใหม่ สามารถแข่งขันกับเจ้าเดิมได้โดยที่ไม่ได้มีข้อเสียเปรียบมากนัก นี่คือความหมายของธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย" ในสายตาของผม

ตัวอย่างธุรกิจที่ทำได้ง่ายเช่น เหมืองถ่านหิน นี่ไม่ยากนัก ถ้าเรามีเงิน และต้องจ้างคนที่เชี่ยวชาญไปหาซื้อเหมืองหรือสัมปทานที่อินโดนีเซีย ขุด แล้วก็ส่งมาขายที่ไทย เช่นเดียวกัน เราอาจทำธุรกิจขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม วิธีก็คือ ต้องไป "ประมูล" เสนอราคาขายพลังงานไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ถ้าข้อเสนอดี ก็ได้ธุรกิจ และทำธุรกิจนี้ได้ดีเท่าๆ กับคู่แข่ง หรือผู้ให้บริการรายอื่น ธุรกิจอื่นๆ ที่ผมคิดว่าทำได้ไม่ยาก รวมถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย เหตุผลคือ อสังหาริมทรัพย์ มีปัจจัยสำคัญคือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งถ้ามีที่ดิน หรือซื้อที่ดินแล้ว ปัจจัยอื่นมักจะเป็นรอง และถ้าไม่มีก็สามารถจ้างหรือหามาได้ และนั่นเป็นที่มาว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่จำนวนมาก ทำโครงการและประสบความสำเร็จได้ ที่น่าสนใจก็เช่น โครงการคอมมูนิตี้มอลล์หลายๆ แห่งที่เปิดขึ้นมาช่วงเร็วๆ นี้

กิจการบางอย่างเป็นกิจการ "โลว์เทค" ดูเหมือนจะทำได้ง่าย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ดูเหมือนว่าใครๆ ก็ทำได้ พนักงานขอให้คิดเลขเป็นก็ทำได้แล้ว ระบบต่างๆ ดูไม่ยาก และหาซื้อได้ในตลาด แต่ข้อเท็จจริงคือ สมัยนี้ การทำร้านสะดวกซื้อที่จะ "ทำกำไรได้" เป็นเรื่องยาก เพราะขณะนี้มีผู้ให้บริการรายใหญ่มากที่เขาได้สร้างกิจการมา จนได้เปรียบด้านต้นทุนและคุณภาพบริการ รวมถึงด้านการตลาด ซึ่งทำให้รายที่เข้ามาใหม่ต้องเริ่มจากขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ พูดง่ายๆ เป็นธุรกิจที่ทำยาก ถ้าจะทำให้ได้กำไร และนี่คือคำจำกัดความของ "ธุรกิจที่ทำยาก" ของผม

ธุรกิจจะทำได้ง่ายหรือยาก นอกจากเรื่องธรรมชาติของอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ ตัวโครงสร้างและวงจรชีวิตของอุตสาหกรรม ว่าขณะนั้นเป็นอย่างไร บางธุรกิจที่วงจรชีวิตเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีผู้นำหรือรายใหญ่ที่แท้จริง การทำธุรกิจอาจง่าย ผู้เริ่มเข้ามาทำก่อนอาจทำได้ง่าย แต่เมื่ออุตสาหกรรมเติบโตขึ้น มีการแข่งขันรุนแรงและในที่สุดก็มี "ผู้ชนะ" ที่แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้มากพอ และเหนือกว่าคู่แข่งลำดับต่อๆ ไปมาก การทำธุรกิจสำหรับรายใหม่จะยากขึ้น และยากขึ้นเรื่อยๆ หน้าที่ของ VI คือ คอยวิเคราะห์ธุรกิจที่กำลังดูอยู่นั้น ทำได้ง่ายหรือยากในขณะนั้น ถ้าธุรกิจทำได้ง่ายคนมาใหม่ เราก็อย่าให้คุณค่ามาก แม้ขณะที่เราดู บริษัทอาจทำกำไรได้ดีหรือคาดว่าจะทำกำไรได้ดีก็ตาม

บางครั้งอาจจะพบว่า กิจการที่เราดูอยู่ทำกำไรได้ดีมาก แล้วบริษัทก็ประกาศขยายงานรวดเร็ว นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างตื่นเต้น และประมาณการการเติบโตกำไรในอนาคตสูงมาก อาจเป็น 2 เท่าตัว นอกจากกำไรที่โตก้าวกระโดด พวกเขาอาจตีความเป็นบริษัทที่ "โตเร็วมาก" พวกเขาก็จะให้ค่า PE สูงขึ้นมากเช่นที่เคยซื้อขายที่ 10 เท่า ก็กลายเป็น 20 เท่า ทำให้มูลค่าของหุ้นโตขึ้น 4 เท่าตัว แต่สิ่งที่ไม่ได้ดูก็คือ นี่อาจจะเป็นธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย" กำไรที่เห็น หรือคาดอาจไม่ยั่งยืน เมื่อเวลาผ่านไป กำไรอาจถอยกลับลงมา หรือไปไม่ถึงตามที่คาด ราคาหุ้นอาจตกลงมา และคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่สูงลิ่วก็จะเจ็บตัวอย่างหนัก และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย"

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 20 มีนาคม 2555