เรื่องการลงทุนในหุ้น นักวิชาการจำนวนมากมักบอกว่า เป็นเรื่อง "เสี่ยง" กว่าการลงทุนในพันธบัตร เงินฝากธนาคาร หุ้นกู้
เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด เงินต้นยัง "อยู่ครบ" พร้อมกับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแน่นอน และหุ้นยังถูกมองว่ามีความเสี่ยงกว่าที่ดิน หรือทองคำในสายตาของคนทั่วไป ในแง่ที่ว่าทั้งสองอย่าง "จับต้องได้และไม่สึกหรอ" และรักษาคุณค่าได้เสมอ ราคาทองคำและที่ดินมีแต่จะ "เพิ่มขึ้น" แม้ช่วงหลังราคาทองคำอาจ "ปรับตัวลงบ้าง" ในระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว "ไม่เสี่ยง" ผิดกับหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวัน หุ้นบางตัว ราคาตกลงไปมากในเวลาสั้นๆ จนแทบจะหมดค่า และหุ้นสำหรับบางคนเหมือนกับ "กระดาษ" ที่ราคาขึ้นลงได้รวดเร็ว บางครั้งขึ้นไปหลายเท่าได้ในเวลาอันสั้น แต่บางครั้งตกลงมาได้มากมาย แทบจะไม่มีค่าเหมือน "กระดาษ" ดังนั้น หุ้นจึงเป็นอะไรที่ "เสี่ยงมาก"
นี่เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงในบางมิติ คือ โดยอิงอยู่กับการลงทุน "ระยะสั้น" และเป็นการมองทรัพย์สินหรือหุ้นเป็น "รายตัว" แต่ถ้ามองการลงทุนเป็น "ระยะยาว" และลงทุนในทรัพย์สิน หรือหุ้นเป็นแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" หรือกระจายการลงทุนโดยการถือทรัพย์สินหรือหุ้นเป็นกลุ่ม ความเสี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง เหตุผลสำคัญ คือ ในระยะยาว มิติสำคัญ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกตัวหนึ่ง คือ "อัตราเงินเฟ้อ" เพราะจะทำให้เงินมีค่าลดลง แม้เม็ดเงินยังอยู่ครบ ตัวอย่างเช่น อีก 20 ปีข้างหน้าเงินเฟ้อเท่ากับปีละ 3% แต่เงินลงทุนของเราได้ผลตอบแทนปีละ 2% เมื่อครบ 20 ปี เงินลงทุนโตขึ้นจาก 100 บาท เป็น 149 บาท แต่วันนั้นสินค้าจะขึ้นราคาจาก 100 บาท เป็น 181 บาท ทำให้เรา "ขาดทุน" 32 บาท หรือซื้อของได้น้อยลง 18% และนี่คือความเสี่ยงของการถือทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงที่ แต่ไม่เติบโต หรือเติบโตช้ากว่าเงินเฟ้อในระยะยาว
มิติการลงทุนแบบ "พอร์ตโฟลิโอ" ช่วยให้การลงทุน "ผันผวน" น้อยลงมากทั้งระยะสั้นและระยะยาว การลงทุนในทรัพย์สินอย่างอื่น อาจมองได้ไม่ชัด แต่การลงทุนในหุ้น ถ้าเราลงทุนหุ้นเพียงตัวเดียว ความเสี่ยงจะสูงมาก เพราะหุ้นตัวนั้นอาจประสบปัญหารุนแรงได้ กิจการอาจจะเจ๊งไป และทำให้ราคาหุ้นกลายเป็นศูนย์ แต่ถ้าถือหุ้นหลายๆ ตัว โอกาสที่ทุกกิจการจะล้มละลายมีน้อยมาก ราคาหุ้นก็จะคละเคล้ากันไป บางตัวดี บางตัวอาจไม่ค่อยดี แต่โดยรวมราคาหุ้นจะเปลี่ยนไม่มาก ในระยะสั้น แม้เราถือหุ้นในพอร์ตหลายๆ ตัว หรือถือกองทุนรวมที่มีหุ้นจำนวนมาก มูลค่าหุ้นอาจลดลงได้เพราะปัจจัยร้อยแปด แต่ระยะยาว มูลค่าหุ้นโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย และถ้าเราถือหุ้นได้ถึง 20 ปี โอกาสที่มูลค่าหุ้นจะลดลงน้อยมาก ตรงกันข้าม โอกาสหุ้นจะขึ้นไปสูงมีมาก โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 10% ต่อปี เงิน 100 บาทกลายเป็น 673 บาทในเวลา 20 ปี เทียบกับการฝากเงินที่เราจะได้ 149 บาทแล้ว ต้องบอกว่าการลงทุนในหุ้น ดีกว่ามากถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี หรือลงทุนระยะยาว
ข้อสรุปขั้นนี้ คือ ถ้ามีเวลาลงทุนถึง 20 ปี การลงทุนในหุ้น โดยลงทุนแบบเป็นพอร์ตโฟลิโอ หรือถือกองทุนรวม จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดโดยที่มีความเสี่ยง "ต่ำที่สุด" และนี่ทำให้เราควรถือหุ้นเป็นสัดส่วนที่มาก เมื่อเทียบกับทรัพย์สินอย่างอื่น มากเท่าไรขึ้นอยู่กับความมั่งคั่ง และความรู้เกี่ยวกับการลงทุนของแต่ละคน แต่ใจผมคิดว่าอย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 50% ของทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ และคนที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนเป็นอย่างดีจะมีหุ้นเกิน 90% ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
ประเด็นสำคัญต่อมา คือ คนมักจะคิดว่าตนเองแก่แล้วหรือมีอายุมากแล้ว การลงทุนหุ้นอาจเป็นเรื่อง "สายเกินไป" แล้ว เขาไม่มีเวลา 10 หรือ 20 ปี ที่จะทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่ "ไม่เสี่ยง" เขาขอฝากเงินหรือซื้อพันธบัตรดีกว่า นี่อาจจะเป็นเรื่องที่ "ผิดพลาด" เรามาดูกันว่าเพราะอะไร
เรื่องที่ทำให้คนคิดผิดน่าจะอยู่ที่ประเด็น "อายุเกษียณ" หรือเวลาเลิกทำงานที่กำหนดไว้ที่ 60 ปี นี่ทำให้เรารู้สึกว่าเราแก่แล้วตั้งแต่อายุใกล้เกษียณที่ 50 ปีขึ้นไป ความเป็นจริง คือ อายุของคนกำลังยืนขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับสุขภาพดีขึ้น และผมคิดว่า คนรุ่นนี้จำนวนมากจะมีอายุถึง 80 ปีขึ้นไปก่อนตาย ความสามารถลงทุนในหุ้น น่าจะทำได้จนถึงอายุ 80 ปี และนี่ทำให้ผมคิดว่า การวางแผนเกี่ยวกับการลงทุน ควรกำหนดว่า เราจะลงทุนจนถึงอายุ 80 ปี ถ้าเป็นเช่นนั้น คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เกษียณในวันนี้หรือแม้คนที่กำลังเกษียณ จึงมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ซึ่งทำให้การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด
คำแนะนำของผมสำหรับคนที่คิดว่าตนเอง"แก่" เกิน ที่จะเริ่มลงทุน คือ การลงทุน โดยเฉพาะแนว Value Investment ไม่ได้ยาก หรือใช้พลังอะไรมากมายนัก แต่ใช้ความสุขุมรอบคอบและใจเย็นยึดมั่นศรัทธาในสิ่งที่เราเห็นว่าถูกต้อง ซึ่งคนมีอายุไม่ได้เสียเปรียบคนหนุ่มสาวเลย คนแก่ทำได้ แต่จริงๆ แล้ว บางทีคุณอาจไม่ได้แก่อย่างที่คุณคิด และถ้าสามารถลงทุนได้อีกถึง 20 ปี คุณก็เริ่ม "อาชีพใหม่" ได้ แม้คุณจะอายุ 60 ปีแล้ว และถ้าคุณทำได้ดี โอกาสที่คุณจะเป็น "เซียน" และมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมหาศาลก็ยังมีอยู่
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนถึงนานมาแล้วว่า เธอน่าจะเป็น "ไอดอล" ของนักลงทุน "คนแก่" ทั่วโลก เพราะเธอเริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปี โดยเธอเป็นเพียงเสมียน และมีเงินเดือนน้อยมากไม่ต้องพูดถึงความรู้ในการเลือกหุ้น เธอเริ่มจากเงิน 5,000 ดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อหุ้นที่เป็น "ซูเปอร์สต็อก" ที่ผลิตและขายสินค้าที่เธอรู้จักดี เช่น โคคา-โคลา บริษัทยา เช่น เชอริงพลาวก์ เธอซื้อแล้วก็เก็บ ติดตามดูกิจการของบริษัทไปเรื่อยๆ เมื่อได้เงินปันผลมา ก็ลงทุนเพิ่มในหุ้นทบต้นไปเรื่อยๆ สุดท้ายในวันที่เธอตาย ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเธอบริจาคให้กับโรงพยาบาลหมด เพราะเธอไม่เคยแต่งงานและไม่มีญาติพี่น้อง สิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จระดับนั้น ก็คือ เวลาในการลงทุนอีก 51 ปี เพราะเธอตายตอนอายุ 101 ปี และผลตอบแทนที่เธอทำได้คือเฉลี่ยปีละประมาณ 17-18% ซึ่งก็เป็นผลตอบแทนที่ดีมากๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ Value Investor มีโอกาสทำได้
คนมักจะถามว่า แก่แล้วจะหาเงินมากๆ ไปทำอะไรได้ แล้ว "ไม่มีโอกาสใช้" หรือคนที่มีเงินเก็บ "พอดีๆ" อาจกลัวว่าจะขาดทุนจากหุ้น แล้วเงินจะไม่เหลือพอใช้จนตาย คำตอบของผม คือ เราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร อาจคำนวณว่าเราจะตายเมื่ออายุ 80 ปี แต่เราอาจจะอยู่จนถึง 100 ปีก็ได้ และเมื่อถึงเวลา เรายังจะมีเงินพอใช้หรือไม่ การไม่ลงทุนในหุ้น จึงอาจเป็นเรื่องเสี่ยงพอๆ หรือมากกว่าการลงทุนในหุ้นก็ได้ ข้อสรุปสุดท้ายของผม คือ มีโอกาสสูงที่คุณควรลงทุนในหุ้นแม้ว่าคุณจะอายุมากแล้ว ไม่มีคำว่าสายเกินไป
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 3 เมษายน 2555
No comments:
Post a Comment