Sunday, December 13, 2009

กองทุนรวมหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อสัปดาห์ก่อนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงข่าวเกี่ยวกับกองทุนหุ้นโดย สาระสำคัญอยู่ที่ว่าคนไทยไม่ใคร่นิยมลงทุนในกองทุนหุ้นเท่าใดนัก จากตัวเลขจำนวนกองทุนหุ้นทั้งหมด 105 กอง นั้นพบว่า กองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1000 ล้านบาทนั้นมีเพียง 12 กองทุนและเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็เพียงพันล้านต้น ๆ ในขณะที่กองทุนหุ้นที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนั้นมีจำนวน 16 กองทุน และกองทุนหุ้นส่วนใหญ่หรือจำนวน 62 กองทุนนั้นมีพอร์ตขนาด 100-500 ล้านบาท นอกจากความไม่สนใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแล้ว เนื้อข่าวยังบอกด้วยว่าคนที่ซื้อหน่วยลงทุนหุ้นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความ สำคัญกับฝีมือในการลงทุนของผู้จัดการกองทุนแต่เน้นที่ความสะดวกในการซื้อขาย และค่าธรรมเนียมในการบริหารที่ถูกมากกว่า

ผมเองเห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้นและนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุนที่ มีขนาดใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่กลายเป็นกองทุนหุ้นที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน ในเครือธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขากว้างขวางและเป็นกองทุนที่อิงดัชนี นั่นคือเป็นกองทุนที่ไม่ต้องคัดเลือกหุ้น แต่ซื้อตามสัดส่วนของหุ้นที่อยู่ในดัชนีเช่น กองทุนที่อิงกับหุ้นใน SET 50 เป็นต้น นอกจากนั้นผมยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนหลายประการ ดังต่อไปนี้

ข้อแรกที่ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนไม่สามารถทำผลงานได้โดดเด่นนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่โครงสร้างการทำงานของผู้จัดการกองทุน โดยความเข้าใจของผมก็คือ เวลาจะลงทุนในหุ้นนั้นเขาจะจัดการกันในรูปแบบของ “คณะกรรมการการลงทุน” นั่นก็คือ จะต้องมีคนนำเสนอหุ้นที่น่าสนใจให้กับคณะกรรมการการลงทุนเพื่อพิจารณา อนุมัติ หลังจากนั้นแล้วก็จะมีคนไปทำการซื้อขายตามมติที่ได้รับ ผลงานที่ออกมาของกองทุนแต่ละกองนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ฝีมือของผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานรวม ๆ ของการจัดการของคณะกรรมการการลงทุนของบริษัท ซึ่งก็อาจจะดูแลการลงทุนในกองทุนหุ้นหลาย ๆ กองด้วย เห็นได้จากรายชื่อหุ้นที่เหมือน ๆ กันในกองทุนหุ้นเกือบทุกกองที่บริษัทบริหาร

ประเด็นก็คือ การลงทุนในหุ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของศิลปะค่อนข้างมาก การใช้ “คณะกรรมการ” มาทำงาน “ศิลป์” นั้น โอกาสที่จะทำได้ดีโดดเด่นนั้นยากมาก เปรียบเหมือนกับการวาดภาพศิลปะ ถ้าเราเอาคณะกรรมการมาเป็นคนกำหนดแล้วให้ศิลปินมาวาดภาพตามที่ต้องการ แบบนี้โอกาสที่เราจะได้ภาพที่เป็นมาสเตอร์พีชก็คงไม่มี อย่างมากก็จะได้ภาพกลาง ๆ ที่อาจจะไม่แย่มากแต่ก็จะไม่มีทางโดดเด่น ว่าไปแล้ว ในตลาดหุ้นไทย เรายังไม่เคยมี “ผู้จัดการการลงทุนจริง ๆ” ที่เป็นคนเลือกหุ้นลงทุนที่มีชื่อเสียงเลย ผู้จัดการบริษัทจัดการการลงทุนหรือ “หัวหน้าผู้จัดการการลงทุน” ที่เปิดตัวต่อสาธารณชนนั้น เกือบทั้งหมดดูเหมือนว่าจะเป็น “หนึ่งในคณะกรรมการการลงทุน” ที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับการวิเคราะห์หุ้นจริง ๆ พูดง่าย ๆ บ้านเราไม่มี ปีเตอร์ ลินช์ หรือ บิล มิลเลอร์ เมืองไทย และเราก็ไม่เคยมีกองทุนที่โดดเด่นที่คนต้องเอาเงินมาลงทุนอย่างกองทุน ไฟเดลลิตี้

แน่นอนว่าในบางช่วงบางตอน กองทุนบางกองของบางบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นกองเล็ก ๆ อาจจะมีผลงานการลงทุนโดดเด่นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและกองทุนอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลงานการลงทุนก็มักจะกลับมาสู่สภาวะปกติหรือแย่ลงทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหลัง จากเห็นผลงานที่ดีเยี่ยมต้องขาดทุนหรือผิดหวัง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในทางวิชาการเราเรียกว่าผลงานที่โดดเด่นนั้นเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ไม่ได้เกี่ยวกับฝีมืออะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นเรื่องของฝีมือแล้ว กองทุนควรจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีเหนือกว่าตลาดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่ายังไม่มีกองทุนไหนทำได้

ระบบการจ่ายผลตอบแทนเองก็ไม่เอื้อให้เกิด “มืออาชีพ” ที่โดดเด่นในการบริหารการลงทุน เพราะคนที่มีฝีมือดีจริง ๆ และบริหารจนกองทุนได้กำไรมาก ๆ แต่ตนเองก็คงไม่ได้ผลตอบแทนมากมายอะไรนักอย่างมากก็อาจได้โบนัสเพิ่มอีกสัก เดือนสองเดือน ดังนั้น ถ้าเขาเก่งจริง เขาก็น่าจะออกไปบริหารเงินของตนเองจะดีกว่า นอกจากนั้น ระบบการบริหารแบบบริษัทจัดการการลงทุนนั้น ผมคิดว่าจะสร้างนักลงทุนฝีมือเยี่ยมได้ยาก ทั้งนี้เพราะทุกอย่างดูเหมือนมีกฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถตัดสินใจ ได้อย่างเป็นอิสระจริง ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เรื่องของหุ้นที่ลงทุนได้นั้น ข้อห้ามอาจจะรวมถึง สภาพคล่องของหุ้น บริษัทจะต้องมีกำไร ขนาดของบริษัทที่ต้องไม่เล็ก เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผู้บริหารกองทุนจะทำอะไรที่ “เสี่ยง” ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็น “ความเสี่ยงที่ไตร่ตรองดีแล้ว” ว่าที่จริงเขาก็ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม เพราะถ้าเสี่ยงแล้วสำเร็จก็ได้แต่คำชม แต่ถ้าพลาดอาจจะตกงานหรือโดนสอบสวน

ผลจากความล้มเหลวในการสร้างนักบริหารการลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นไทยนั้น ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดจากตัวเลขจำนวนเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทจัดการการ ลงทุน กองทุนหุ้นที่มีการจัดการหรือเลือกหุ้นนั้นมีขนาดเล็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ กองที่ใหญ่ที่สุดนั้นส่วนใหญ่ก็มีเม็ดเงินในพอร์ตเพียงระดับพันล้านบาทต้น ๆ เทียบกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่หลายรายในตลาดแล้วดูเหมือนว่ากองทุนจะไม่ ใหญ่กว่าเลย ในขณะที่ตลาดหุ้นอย่างในอเมริกานั้น แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือว่าเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด แต่ถ้าเทียบกับกองทุนแล้วก็เล็กนิดเดียว ดังนั้น อิทธิพลและอำนาจการซื้อขายหุ้นของกองทุนมีมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนบุคคล ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนั้น อิทธิพลของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้นน่าจะเหนือกว่ากองทุนรวมมาก

สุดท้ายก็คือคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากลงทุนในกองทุนรวมหุ้น คำแนะนำก็คือ ข้อแรก พยายามใช้ประโยชน์จากการที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะการลงทุน ซื้อ LTF และ RMF เพราะนี่จะช่วยให้เรามีแต้มต่อในการลงทุนแม้ว่าฝีมือในการบริหารกองทุนจะไม่ ดีนักเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ข้อสอง ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ควรลงทุนในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีซึ่งไม่ต้องอาศัยฝีมือผู้บริหาร และควรเลือกผู้จัดการที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด ข้อสาม อย่าพยายามตามหากองทุนที่กำลัง “ร้อน” ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นประเภทไหน เพราะจับเข้าไปก็คงถูก “ลวก” มากกว่า

และสุดท้าย ถ้าเรามีความรู้บ้างและมีเงินลงทุนระดับหนึ่งเช่นหนึ่งล้านบาทขึ้นไป เราสามารถสร้างพอร์ตลงทุนส่วนตัวที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนคล้าย ๆ กับกองทุนรวมหรือตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารปีละ ประมาณ 2% ได้ไม่ยาก เหตุผลก็คือ เราสามารถกระจายการถือหุ้นได้ค่อนข้างกว้างขวางเป็นสิบ ๆ ตัวโดยที่เม็ดเงินลงทุนและต้นทุนในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างจะ ต่ำ ดังนั้น เราสามารถเลียนแบบกองทุนรวมได้ไม่ยาก ไม่เหมือนการลงทุนในอเมริกาที่คุณไม่สามารถซื้อหุ้นได้มากตัวถ้าพอร์ตคุณ เล็ก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

สูตรเศรษฐี...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย หรือการเป็นเศรษฐีสำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อนนั้น สำหรับคนจำนวนมากดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก บางคนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออมก็มักได้รับคำแนะนำที่ทำได้ยาก เช่น บอกว่าให้กันเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ 10-20% เก็บไว้ก่อน ไม่ใช่ใช้ก่อนเหลือแล้วค่อยเก็บ ปัญหาก็คือ รายได้นั้นไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้วแม้ว่าจะไม่ได้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดไม่ค่อยได้ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งผมเองเห็นด้วย วิธีการที่จะทำให้เรามั่งคั่งนั้นถ้าจะให้ปฏิบัติได้จริงต้องไม่ทำให้เรา รู้สึกลำบากหรือรู้สึกว่าความสุขหายไปมากและเป็นเวลานาน เหนือสิ่งอื่นใด ความอยากรวยนั้นก็เพื่อที่จะทำให้มีความสุข ดังนั้น การเสียสละความสุขเพราะต้องลดค่าใช้จ่ายเป็นเวลานานนั้นจึงไม่มีเหตุผล

ต่อไปนี้เป็นแนวทางหรือจะเรียกให้เท่ก็คือเป็นสูตรที่จะช่วยให้เรามีความ มั่งคั่ง ร่ำรวย หรือแม้แต่เป็นเศรษฐีโดยเราไม่จำเป็นต้องรู้สึก “อดอยาก” และเป็นสูตรที่เหมาะมากโดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหลังจากที่ จบการศึกษาใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม คนที่มีอายุมากขึ้นแล้วก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เท่าที่จะทำได้

ข้อแรกก็คือ ถ้าคิดว่าเรายังไม่รวย อย่าซื้อรถ การซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้นั้น เท่ากับเรากำลังสร้างรายจ่ายที่ลดได้ยากมาก และทุกเดือน เราจะมีรายจ่ายเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นเป็นค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าซ่อม และอื่น ๆ บางทีรายจ่ายนั้นอาจจะไม่เป็นตัวเงินจริงเนื่องจากเราซื้อรถด้วยเงินสด เราไม่เสียค่าผ่อนรถ แต่จริง ๆ แล้วเราก็มี “ค่าเสื่อม” ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ต่างกับค่าผ่อนรถนัก หลายคนอาจจะเถียงว่าเขาสามารถประหยัดค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า หรือค่าแท๊กซี่ ลง แต่ถ้าคิดคำนวณค่าใช้จ่ายทุกด้านของการมีรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการใช้รถสาธารณะนั้นประหยัดกว่ามากและจะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บและ ลงทุนได้มากกว่า

ข้อสอง อย่าซื้อบ้านถ้าไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็ซื้อบ้านที่เล็กที่สุดที่จะเพียงพออยู่สำหรับตนเองและคู่ ครอง และลูกที่มีอยู่หรือที่วางแผนที่จะมีในอนาคต ทำเลของบ้านควรอยู่ในที่ที่การเดินทางไปทำงานและ/หรือไปเรียนสะดวกและไม่ ต้องต่อรถหลาย ๆ ต่อซึ่งจะทำให้ “ค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและเดินทาง” ต่ำที่สุด คำว่าค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยนั้น บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีเพราะเขาไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่จริง ๆ แล้วการมีบ้านที่ใหญ่จะทำให้ค่าบ้านสูงซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านแต่ละ เดือนมากขึ้นไม่นับรายจ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาจากการมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น นี่เป็นความคิดที่อาจจะแย้งกับอีกหลายคนที่บอกว่าควรซื้อบ้านใหญ่ที่สุดที่ สามารถผ่อนได้ เพราะบ้านนั้นเป็นเหมือน “การลงทุน” และการอยู่บ้านใหญ่นั้น “มีความสุข” มากกว่า แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า บ้านอยู่อาศัยนั้นราคามักจะไม่ค่อยขึ้น เช่นเดียวกัน บ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น ถ้าจะเพิ่มความสุขได้ก็น่าจะน้อยและไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ข้อสาม มีลูกให้น้อย อย่าเกินสองคนก็ดี เพราะลูกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเลี้ยงดูและให้การศึกษา คำสมัยก่อนก็คือ มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี แต่สมัยนี้ผมคิดว่ายาวกว่านั้น คนในสมัยก่อนมีลูกเพราะคิดว่าเป็น “การลงทุน” นั่นคือ หลังจากที่ลูกโต เขาก็กลับมาเลี้ยงเรา ดังนั้นเขาจึงมีลูกมากแต่ในปัจจุบันความคิดนี้ก็ใกล้หรือกำลังหมดไป เราไม่หวังให้ลูกมาเลี้ยงเราแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากรวย อย่ามีลูกมาก

ข้อสี่ รายจ่ายค่าสมาชิกทั้งหลาย เช่น สมาชิกสถานออกกำลังกาย สมาชิกเคเบิลทีวีราคาแพง สมาชิกที่สามารถพักตามเครือข่ายโรงแรมตากอากาศหลายแห่ง เหล่านี้เป็นความบันเทิงหรือการดูแลสุขภาพที่เราสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ ถูกกว่ามาก เช่น แทนที่จะเข้าฟิตเนส เราสามารถไปสวนสาธารณะที่มีการเต้นแอโรบิคที่สนุกสนานทุกวันโดยที่ไม่ต้อง เสียเงิน เคเบิลทีวีราคาถูกเดี๋ยวนี้บางแห่งมีรายการดีมากเกือบเท่าแบบที่มีราคาแพง แต่เสียค่าใช้จ่ายแค่เดือนละ 200 บาทก็มี พูดถึงเรื่องการพักผ่อนต่างจังหวัดแล้วก็ทำให้ผมมีข้อแนะนำอีกว่า “อย่าซื้อคอนโดหรือบ้านพักในสถานที่ท่องเที่ยว” เพราะนี่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากเทียบกับการที่เราไปเช่าโรงแรมอยู่ คนอาจคิดว่านี่เป็น “การลงทุน” แต่จริง ๆ แล้วราคาก็มักจะไม่ค่อยขึ้นหรือถึงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย ในระหว่างนั้นเราก็ต้องผ่อนส่งรายเดือนหรือต้องเสีย “ค่าเสื่อม” ไปเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใด การพักโรงแรมนั้นเราไม่ต้องดูแลทำความสะอาดและเราจะไปพักสถานที่ไหนก็ได้ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากกว่า

ข้อห้า ถ้าอยากรวย นอกจากปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้ว จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเก็บออมเงินให้มากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้อง ประหยัดเกินความจำเป็นจนทำให้เรารู้สึกไม่สบาย สิ่งนี้ทำไม่ยากถ้าเรารู้จักซื้อของแบบเน้น “คุณค่า” นั่นคือ ใช้เงินน้อยแต่สามารถตอบสนองความต้องการเกิน 90% ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือ การซื้อของไม่มียี่ห้อที่มีคุณภาพดีหรือซื้อของมียี่ห้อในช่วงที่มีการลด ราคามาก ๆ เป็นต้น

สุดท้าย ก็คือ ถ้าคุณต้องการแค่ว่าคุณจะสามารถอยู่อย่างสบายมีเงินพอสมควร แต่ไม่ต้องการความผันผวนของความมั่งคั่ง คุณจะต้องบริหารเงินโดยการจัดสรรทรัพย์สินให้อยู่ในหลักทรัพย์หลาย ๆ อย่างรวมถึงพันธบัตรและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะบริหารเองหรือมอบให้ “มืออาชีพ” ซึ่งก็คือบริษัทจัดการการลงทุนทำ แต่ถ้าคุณอยากรวยหรือเป็นเศรษฐีละก็ คุณควรลงทุนเงินที่เหลือเก็บไว้ในหุ้นเพียงอย่างเดียว การลงทุนในหุ้นในระยะยาวมาก ๆ นั้น ความเสี่ยงจะไม่สูงและผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีเวลาในการเก็บเงินและลงทุนยาวเป็น 20-30 ปี ผมแนะนำว่าให้ลงทุนเงินทุกบาททุกสตางค์ในหุ้น ไม่ว่าจะลงเองหรือใช้มืออาชีพลงให้ นอกจากนั้น ในการลงทุน ถ้าได้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วย เช่น การลงทุนใน LTF หรือ RMF ก็ควรใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่

และเช่นเคย สิ่งที่แนะนำมาทั้งหมดนั้น ไม่รับประกันว่าคุณต้องรวยแน่นอน แต่ผมคิดว่ามันเพิ่มโอกาสการเป็นเศรษฐีให้คนที่ปฏิบัติขึ้นมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าไม่ได้เป็นเศรษฐีคุณก็คงไม่จนและความสุขเพิ่มขึ้นแน่นอน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 5 ธันวาคม 2552

ปราสาททราย...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ก่อนนักลงทุนต้องตกอกตกใจกับข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เวียตนามประกาศลดค่าเงินด่องลงมาประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐซึ่งก็อ่อนค่าลงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับค่าเงิน อื่น ๆ ของโลก เวียตนามลดค่าเงินลงเนื่องจากกำลังมีปัญหาเงินสำรองต่างประเทศขาดแคลนและ ภาวะการเงินของประเทศน่าจะเข้าใกล้วิกฤต นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อดูว่าเศรษฐกิจเวียตนามในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเติบโตที่น่าประทับใจเป็น “ดารา” ประเทศหนึ่งในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจติดลบเพราะผลจากวิกฤติของอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเล็กมาก ปัญหาของเวียตนามจึงไม่ได้ส่งผลอะไรกับประเทศอื่นนักและผมเชื่อว่าเวียตนาม ก็จะผ่านภาวะยุ่งยากนี้ไปได้ไม่ยากนัก เผลอ ๆ จะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกเมื่อสินค้าของเวียตนามมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้ มากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรจากประเทศไทย

เรื่องที่สองนั้นน่ากลัวกว่ามาก เพราะเป็นเรื่องที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของรัฐดูไบคือ ดูไบเวิลด์ ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้หลายหมื่นล้านเหรียญที่อาจจะต้องเป็นหนี้สูญของสถาบันการเงินที่ให้ดู ไบเวิลด์กู้นั้น เป็นหนี้ของสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ของโลกที่กระจายอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผลกระทบกับสถาบันการเงินคงต้องมีไม่น้อยหลังจากที่เคยประสบมาแล้วจากวิกฤติ ซับไพร์มของอเมริกา แต่นี่ยังไม่จบ ที่จริงมันอาจจะเพิ่งเริ่ม เพราะผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบขาดสภาพ คล่องและล้มละลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับดูไบเวิลด์นั่นคือ เป็นเรื่องของ “ฟองสบู่” อสังหาริมทรัพย์ที่ “เฟื่องฟู” มาหลาย ๆ ปีตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและทำให้ดูไบร่ำรวยและเริ่มหันมา “สร้างเมือง” อย่างที่ไม่เคยมีใครจินตนาการได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

ผมเคยไปดูไบเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยแรงจูงใจลึก ๆ ก็เพื่อที่จะได้ไปเห็นกับตาว่าเมืองนี้ “มหัศจรรย์” อย่างไร สิ่งที่ได้พบก็คือ มันเต็มไปด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่และแพงที่สุดของโลกจำนวนมากกำลังถูกสร้างขึ้น กลางทะเลทราย โดยที่ผู้ปกครองหวังว่าจะทำให้ดูไบเป็นเมืองพักผ่อนและท่องเที่ยวของนักท่อง เที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะที่มาจากประเทศอาหรับที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน ดังนั้น อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ “วิสชั่น” นี้ เช่น ในท่ามกลางทะเลทรายที่ดูไบจะมีลานหิมะสำหรับเล่นสกี จะมีสนามกอล์ฟที่ออกแบบโดยคนระดับ “ไทเกอร์วูด” นอกจากนั้น เพื่อให้ดูหรูหราสุด ๆ ดูไบยังถมทะเลเพื่อสร้างหมู่บ้านที่ทุกบ้านเป็นเกาะเล็ก ๆ เรียงกันในทะเลมองจากอากาศจะเป็นรูปต้นปาล์ม ทั้ง ๆ ที่พื้นดินที่เป็นทะเลทรายก็ยังมีอีกมาก ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมตึกที่สูงที่สุดในโลกที่กำลังใกล้เสร็จโดยที่ผมเองก็ ไม่รู้ว่าตึกนี้จะใช้ทำอะไรและทำไมต้องสร้างให้สูงอย่างนั้น แต่ทั้งหมดที่ผมรู้ก็คือ ทุกตึกหรือทุกสิ่งก่อสร้างที่กำลังทำอยู่นับพัน ๆ แห่งนั้น จะต้องทำให้หรูหราและยิ่งใหญ่ที่สุด

ประชากรของดูไบนั้นมีน้อยนิดน่าจะไม่เกิน 2-3 ล้านคน แต่คนนอกที่เข้าไปหากินและทำงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริม ทรัพย์นั้นกลับมีมากกว่า เศรษฐกิจของดูไบเองนั้น ยกเว้นน้ำมันแล้วก็ไม่มีอะไรที่มีนัยสำคัญ การท่องเที่ยวนั้น ถ้าดูไปก็ยังมีไม่มากแม้ว่านั่นจะคือเป้าหมายหลักของผู้ปกครองที่อยากเห็น อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการที่กำลังสร้างเมืองนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก คนดูไบเองรู้สึกว่าผู้ปกครองของตนนั้นมี “วิสชั่น” และความสามารถระดับ “เทพ” ที่สามารถทำให้ดูไบที่ไม่ค่อยมีอะไร กลายเป็นเมืองที่คนทั้งโลกรู้จักและกล่าวขวัญถึง อนาคตของดูไบนั้นดูสดใสมากจนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้วที่ความคิดนี้น่าจะ เริ่มเปลี่ยนไป ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายดูไบจะเป็นอย่างไร แต่ ณ. นาทีนี้ คนจำนวนไม่น้อยคงจะเริ่มเชื่อสิ่งที่ก่อนหน้านี้มีคนเคยเตือนเอาไว้ว่า ดูไบกำลังทำสิ่งที่อยู่ในจินตนาการที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำให้เมืองนี้เกิดขึ้นได้ก็คือเงินที่ได้จากน้ำมันบวกกับ “จินตนาการสุดขอบฟ้า” ของผู้ปกครอง ในที่สุดแล้วมันก็คือ “ปราสาททราย” ที่จะล่มสลายลง

ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกานั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าก็จะหมดไป เพราะความต้องการในด้านของที่อยู่อาศัยในอเมริกาคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และดูดซับบ้านที่เกินความจำเป็นไปได้หมด แต่ปัญหาในดูไบนั้น ผมคิดว่าน่าจะเลวร้ายกว่ามาก ผมยังนึกไม่ออกว่าใครจะมารับตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจำนวนมหาศาลไปสร้างต่อ แม้แต่ตึกที่สร้างเสร็จและมีคนอยู่แล้วก็อาจจะมีปัญหาถ้าคนเริ่มเปลี่ยนมุม มองต่อดูไบไป ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้นและนี่ น่าจะก่อปัญหาในด้านของ NPL ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก จริงอยู่ ดูไบนั้นเล็กกว่าอเมริกามาก แต่นี่อาจจะเป็น “อาฟเตอร์ช็อค” ที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวชะลอออกไป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากอาจจะหยุดหรือถดถอยลง

วิกฤติการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของดูไบนั้น เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ย้ำให้เห็นถึงอันตรายและความล้มเหลวที่มักจะตามมาจาก ความ “เพ้อฝัน” บวกกับ “ความมั่งคั่ง” ที่ไม่ได้มาจากฝีมือและการทำงานหนัก นอกจากนั้น มันช่วยเตือนเราด้วยว่า อะไรที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้วิเคราะห์จากเหตุผลแบบชาว VI ในที่สุดแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้จริง ๆ แม้ว่าในระยะสั้นมันดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี กลับมาในเรื่องของหุ้น ผมคิดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงโดยเฉพาะกับตลาดหุ้นไทย เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างดูไบกับไทยนั้นมีน้อยมาก ผลกระทบกับไทยจริง ๆ นั้นน่าจะเป็นทางอ้อมผ่านทางด้านตลาดหุ้นทั่วโลก และถ้าดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงตามภาวะดัชนีหุ้นโลก ผมก็คิดว่ามันจะเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการซื้อหุ้นเช่นเดียวกับเมื่อคราว เกิดวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 27 พฤศจิกายน 52