Monday, April 27, 2009

ท่องเที่ยวเดินทาง

ในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก ประกอบกับภาวะการเมืองในประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรง อุตสาหกรรมที่ถูกกระทบรุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็น การท่องเที่ยว มาดูกันว่าหุ้นกลุ่มไหนและตัวไหนโดน “แจ็คพ้อต” และเราควรที่จะ “หนี” หรือ “สู้”

หุ้นกลุ่มที่ถูกกระทบอย่างชัดเจนนั้น แน่นอนก็คือ กลุ่มโรงแรม หุ้นตัวที่ถูกกระทบไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ หุ้นการบินไทย THAI) และหุ้นท่าอากาศยานไทย AOT) ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้นทั้งหมดนั้นตกต่ำลงมามหาศาล ราคาหุ้นส่วนใหญ่ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัท ว่าที่จริงจำนวนมากมีราคาหุ้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าทางบัญชี และถ้าจะพูดต่อไปอีกก็อาจจะบอกได้ว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัทเหล่านั้นก็ค่อนข้างต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่แล้ว เนื่องจากทรัพย์สินที่บริษัทซื้อมา เช่นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก็มักเป็นราคาเดิมที่ซื้อมานานในราคาที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ข้อสรุปก็คือ ราคาหุ้นของกิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังกล่าวมีราคาที่ต่ำสุด ๆ และนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุนหรือไม่?




ผมคงตอบคำถามนั้นไม่ได้ แต่อยากจะอธิบายถึงคุณลักษณะหรือธรรมชาติของกิจการดังกล่าวว่าพฤติกรรมของการดำเนินงานจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกก็คือ มันเป็นกิจการที่จะต้องลงทุนในตอนเริ่มแรกสูงมาก การสร้างโรงแรมแต่ละแห่งต้องใช้เงินเป็นพันล้านบาท การซื้อเครื่องบินแต่ละเครื่องนั้นเฉลี่ยลำละหลายพันล้าน การสร้างสนามบินนั้นต้องใช้เงินหลายหมื่นหรือเป็นแสนล้านบาท ดังนั้น ทุกปี บริษัทก็จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่เป็นค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินจำนวนมากไม่ว่าจะมีการใช้ทรัพย์สินนั้นมากหรือน้อยแค่ไหน นี่เป็นต้นทุนคงที่หรือตายตัว

ข้อสองก็คือ ต้นทุนในการให้บริการกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการนั้นมักจะไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าพลังงาน และก็เงินเดือนของพนักงาน ดังนั้น มาร์จินหรือส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายที่บริษัทต้องควักกระเป๋าสำหรับลูกค้าแต่ละรายจะค่อนข้างสูง อย่างในกรณีของโรงแรมนั้น หลายแห่งกำไรครึ่งต่อครึ่งสำหรับลูกค้าแต่ละราย หรืออย่างในกรณีของสนามบินนั้น รายได้ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้เดินทางนั้นมีต้นทุนในการให้บริการต่อหัวน้อยมาก ส่วนสำคัญก็อาจจะเป็นค่าพนักงานเก็บเงิน และนี่ก็นำมาสู่ข้อสรุปในข้อที่สาม

ข้อสามที่เป็นข้อสรุปก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางดังกล่าวนั้น กำไรขาดทุนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าและรายได้ที่ได้รับมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ มาก เหตุผลก็คือ บริษัทเหล่านั้น มีต้นทุนคงที่สูงมากในขณะที่ต้นทุนที่แปรผันตามจำนวนลูกค้าต่ำมาก ลองนึกดูว่า ต้นทุนของโรงแรมนั้นจำนวนมากอยู่ที่ค่าเสื่อมราคาและพนักงานประจำที่บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนมากมาย ดังนั้นไม่ว่าจะมีลูกค้าเข้าพักมากหรือน้อยต้นทุนก็ไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าลูกค้าเข้าพักน้อยรายได้น้อยพวกเขาจะขาดทุน เมื่อลูกค้าเข้าพักถึงจุดหนึ่งเช่นอาจจะเป็น 50% ก็จะเท่าทุน แต่ถ้าลูกค้าเข้าพักมากกว่านั้นกำไรก็จะดีขึ้นและดีขึ้นมากเมื่อลูกค้าเข้าพักถึง 70% ของห้องทั้งหมด

เช่นเดียวกัน เครื่องบินที่บินขึ้นฟ้านั้น ไม่ว่าจะมีผู้โดยสารกี่คน ต้นทุนก็แทบไม่ต่างกัน แต่ถ้ามีผู้โดยสารเพียง 50% ของที่นั่ง รายได้ก็แค่ 50% บริษัทอาจเท่าทุน แต่ถ้าผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 50 คนเป็น 60% ส่วนที่เพิ่มนั้นจะกลายเป็นกำไรทั้งหมด ในกรณีของสนามบินก็ยิ่งเห็นผลกระทบแบบนี้มากขึ้นไปอีก สรุปแล้วก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางนั้น จะดูว่าธุรกิจดีหรือไม่ต้องดูเรื่องของปริมาณลูกค้าและรายได้ว่าบริษัททำได้ดีแค่ไหน และถ้าจะให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ ดูเรื่องเปอร์เซ็นต์ของการใช้ห้องหรือใช้ที่นั่ง ถ้าอัตราส่วนการใช้สูง ผลการดำเนินงานของบริษัทก็จะดีและดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อยเป็นทวีคูณ

ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ในสภาวะที่นักท่องเที่ยวหดตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ ทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องเกิดการขาดทุนหรือกำไรลดลงมากเพราะต้นทุนส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถลดได้ นั่นทำให้ราคาหุ้นลดลงมาก แต่ถ้าเรามองดูแล้วว่านักท่องเที่ยวที่หายไปนั้น ในที่สุดก็จะกลับมาเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นและการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อนั้น กิจการที่เกี่ยวข้องก็จะดีขึ้นแบบทวีคูณ และแน่นอน ราคาหุ้นก็น่าจะกลับเหมือนเดิมก่อนที่มันจะตกลงไป ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบนี้ก็คือ การที่เราพนันว่า ในที่สุดทุกอย่างก็จะคลี่คลายและนักท่องเที่ยวจะกลับมา

เช่นเคย ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ แต่จากความรู้สึกของผม การท่องเที่ยวเดินทางนั้น มันเป็นเหมือนสิ่งที่ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการที่อยากจะเดินทางแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ผมมักจะได้ยินคนพูดว่า ถ้ามีเงินเขาอยากจะเดินทางรอบโลกเพื่อที่จะไปเที่ยวเห็นสิ่งใหม่ ๆ ตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวของโลกนั้นเติบโตต่อเนื่องมาตลอด ตัวเลขของเมืองไทยเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็โตขึ้นโดยเฉลี่ย ประมาณปีละ 6- 7% โดยที่มีการสะดุดน้อยมากแม้ว่าเราจะผ่านภาวะที่ “เลวร้าย” มามากมายไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ ไข้หวัดนก สึนามิ การปฏิวัติ และอื่น ๆ อีกมาก คนมักจะคิดว่าครั้งนี้ “ไม่เหมือนเดิม” แต่ผมเองคิดว่า ครั้งนี้ก็คงจะเหมือนเดิม ไม่เชื่อก็มาพนันกันไหม?

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 27 เม.ย.2552




Tuesday, April 21, 2009

แนวรบด้านตะวันออก

การลงทุนนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการทำสงคราม เพียงแต่เป็นสงครามทางการเงินที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อและชีวิต สิ่งที่จะเสียก็คือเงินถ้าเรา “แพ้สงคราม” ตรงกันข้าม เราจะได้เงินถ้าเรา “ชนะสงคราม” เราในฐานะของนักลงทุน ถ้าจะเปรียบก็คือ “แม่ทัพ” สิ่งที่เราต้องทำก็คือ “การวางยุทธศาสตร์สงคราม” นั่นก็คือ การตัดสินใจในการ “วางกำลัง” ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวและจัดเป็นพอร์ตโฟลิโอซึ่งก็จะคล้าย ๆ กับการจัดกองทัพเป็นหลาย ๆ กองที่จะทำให้สามารถชนะสงครามได้



ผมคงไม่พูดถึงการจัด “กองทัพหุ้น” เพื่อเอาชนะสงครามในวันนี้ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ลงทุนในวันนี้ต่างก็กำลังอยู่ในภาวะที่กำลังจะ “แพ้สงคราม” คือขาดทุนกันมากมาย ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกับการที่ข้าศึกกำลังรุกรบเข้ามาด้วยพลังการยิงมหาศาล เรากำลังจะพ่ายแพ้ ประเทศกำลังใกล้จะถูกยึดครอง ทหารล้มตายกันมาก เรามีทางเลือกสองทางคือ หนึ่ง ถอยเพื่อตั้งหลักใหม่ หรือ สอง สู้ต่อเพื่อรอให้สถานการณ์เปลี่ยนแล้วกลับมารบชนะในที่สุด พูดง่าย ๆ ในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและหุ้นที่เราถืออยู่ตกลงมามากมายแบบนี้ เราควรล้างพอร์ตและเก็บเงินที่ยังพอเหลืออยู่ไว้เพื่อกลับมาลงทุนต่อในภายหลัง หรือ ยังคงถือหุ้นเกือบทั้งหมดไว้ในพอร์ตเพื่อหวังว่าราคาหุ้นจะตีกลับมาเมื่อสถานการณ์ตลาดหุ้นฟื้นตัว

ผมอยากจะยกบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อให้ข้อคิดกับการที่เราจะสู้หรือจะถอยในการลงทุนเมื่อเราประสบกับการสูญเสียอย่างหนัก มันเป็นศึกสองครั้งที่นักประวัติศาสตร์สงครามต้องจารึกว่าเป็นการตัดสินใจที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีของสงคราม นั่นคือ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังจะแพ้ กลายเป็นผู้ชนะสงครามในท้ายที่สุด

ศึกแรกก็คือการถอยของกองทัพเคลื่อนที่เร็วของอังกฤษที่ส่งไปช่วยป้องกันฝรั่งเศษที่ชายหาดเมืองดังเคิร์ก หรือที่เรียกว่า “ปฎิบัติการไดนาโม” นี่คือยุทธการที่เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเยอรมันได้ใช้ “ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ” รุกรบจนสามารถยึดฝรั่งเศษได้อย่างรวดเร็วและตัดขาดกองกำลังของฝ่ายพันธมิตรออกเป็นส่วน ๆ กองทัพเคลื่อนที่เร็วของอังกฤษตัดสินใจหนีจากการปิดล้อมและอพยพกำลังพลทั้งหมดออกทางชายหาดดังเคิร์ก ภายในเวลาเพียงประมาณ 10 วัน กองกำลังทหารกว่าสามแสนนายก็สามารถข้ามช่องแคบอังกฤษกลับสู่ประเทศได้โดยทิ้งสัมภาระและอาวุธยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดรวมทั้งเครื่องบินและเรือที่ถูกทำลายเกือบสองร้อยลำ

ยุทธการไดนาโมนั้น แน่นอน เกิดการสูญเสียมหาศาล อย่างไรก็ตาม การถอยหนีอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นว่ากำลังพ่ายแพ้ก็ทำให้อังกฤษสามารถรักษาชีวิตทหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการรบดีที่สุดเอาไว้ได้ กำลังทหารจำนวนกว่าห้าแสนนายที่หนีกลับอังกฤษได้ในยุทธการไดนาโมนั้น ในช่วงต่อมาของสงคราม ได้กลายเป็นกองกำลังหลักและเป็นนายทหารที่คุมกำลังทหารรุ่นใหม่ ๆ เข้าสู้รบกับฝ่ายอักษะอย่างสามารถอาจหาญและเป็นฝ่ายชนะสงครามในที่สุด

ในการลงทุนนั้น ถ้าเราวิเคราะห์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากและโอกาสที่จะฟื้นตัวยังยาวไกลหรือมองไม่เห็น ทันทีที่เห็นสัญญาณ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ รีบหนี รักษาเงินที่ยังเหลืออยู่ค่อนข้างมากเอาไว้ อย่าปล่อยให้การลงทุน “สลายไปต่อหน้า”

ศึกที่สองคือปฏิบัติการ Barbarossa ของเยอรมันที่รุกรบเข้าไปเพื่อยึดครองรัสเซียหลังจากยึดครองฝรั่งเศษและยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว และนี่คือสิ่งที่คนชอบเรียกกัน
ว่า “แนวรบด้านตะวันออก” นี่คือการศึก “แห่งศตวรรษ” ที่มีการสู้รบที่รุนแรงและโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายอักษะสามารถรุกไปประชิดเมืองหลวงคือมอสโกและเมืองหลักอีกสองเมืองคือ เลนินกราดทางเหนือ และสตาลินกราดทางใต้ได้อย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าทหารเยอรมันสามารถมองเห็นยอดปราสาทในเมืองแล้ว ความพ่ายแพ้ของรัสเซียดูเหมือนจะ “ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้”

แต่รัสเซียไม่ถอย สตาลินสั่งให้ทหารสู้ตาย ไม่ใช่แค่นั้น เขาประกาศว่า ถ้าทหารคนไหนยอมแพ้เขาจะกลายเป็นคนทรยศต่อประเทศ ลูกของเขาจะถูกลดปันส่วนอาหาร และพ่อแม่จะถูกส่งไปเข้าค่ายกักกันในไซบีเรีย และถ้าตัวเชลยสงครามหนีรอดกลับมาได้เขาก็จะถูกจับเข้าค่ายทำงานหนักหรือถูกยิงทิ้งทันที ดังนั้น การรบในแนวรบด้านตะวันออกโดยเฉพาะการรบในเมืองสตาลินกราดจึงดุเดือดและรุนแรงมากที่สุดและกลายเป็น “การศึกแห่งศตวรรษ”

และแล้ว ก่อนที่เมืองหลวงและเมืองหลักของรัสเซียจะแตกเพียงไม่กี่วัน หิมะก็ตกลงมาอย่างหนัก อาวุธหนักโดยเฉพาะรถถังและทหารเยอรมันต้องหยุดลง กองทัพเยอรมันที่ไม่ได้เตรียมสำหรับอุณหภูมิที่ติดลบหลายสิบองศาของรัสเซียต้องต่อสู้กับความหนาวเหน็บอย่างทรมาน ในเวลาเดียวกัน รัสเซียมีเวลาเตรียมตัวและเสริมกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปรับมือกับกองทัพเยอรมันอย่างเต็มกำลัง กองทัพทั้งสองฝ่ายยันกันเป็นเวลานานเป็นปี ๆ โดยที่รัสเซียแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ และฝ่ายอักษะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการรบกับรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตรที่รุกเข้ามาทางด้านตะวันตก จนในที่สุดรัสเซียก็กลายเป็นฝ่ายรุกและเข้ายึดกรุงเบอร์ลินในที่สุด

การรบในแนวรบด้านตะวันออกสอนบทเรียนในการลงทุนให้เราว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่เราเห็นแล้วว่าสถานการณ์ในที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราจะต้องยืนหยัดลงทุนต่อไป การถอนตัวจากตลาดจะเป็นหายนะที่แท้จริง เฉกเช่นกับการที่สตาลินรู้ว่าฤดูหนาวที่โหดร้ายกำลังมาและการยันกำลังของเยอรมันไม่ให้เข้าเมืองที่จะสามารถหลบหนาวในอาคารได้จะทำให้ทหารเยอรมันต้องติดกับหิมะในพื้นที่โล่ง และนั่นจะทำให้สถานการณ์การรบเปลี่ยนแปลงไป รัสเซียจะต้องเป็นฝ่ายชนะในท้ายที่สุด

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะแนะนำให้นักลงทุนยืนหยัดลงทุนในหุ้นเต็มที่ในสภาวการณ์เศรษฐกิจวิกฤติในขณะนี้ แม้ผมเองจะเชื่อว่า การรบรอบนี้เป็น “แนวรบด้านตะวันออก” ที่ผมจะยืนหยัดต่อสู้และหวังว่าจะชนะเมื่อเวลาผ่านไปอีกสองสามปี การลงทุนนั้น ทุกคนจะต้องเป็น “แม่ทัพ” เอง ไม่มีใครทำแทนได้ ตัดสินใจถูกก็ชนะ ตัดสินใจผิดก็พ่ายแพ้ ไม่ตัดสินใจก็คือการตัดสินใจ ขอให้สนุกกับการทำสงครามที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อครับ

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 20 เม.ย. 2552



Monday, April 6, 2009

เข็มทิศลงทุน

เข็มทิศช่วยให้นักเดินเรือในสมัยโบราณไม่หลงทางท่ามกลางทะเลที่เวิ้งว้าง การมีเข็มทิศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและหมายถึงความเป็นความตาย เดินทางผิด ผู้เดินทางอาจหลงทางหรือในบางครั้งอาจต้องตายกลางทะเล เดินทางถูก เป้าหมายก็อยู่แค่เอื้อม ในการลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้น เราจำเป็นต้องมี “เข็มทิศ” ที่จะช่วยชี้นำให้เรา “เดินทาง” สู่เป้าหมาย นั่นก็คือ สู่ความมั่งคั่ง มีอิสรภาพทางการเงิน “เข็มทิศลงทุน” ที่เราควรจะต้องใช้ในการนำเราไปสู่เป้าหมายมีหลายข้อดังต่อไปนี้



ข้อ 1 ซื้อหุ้นให้ทำเหมือนกับว่าเรากำลังลงทุนทำธุรกิจหรือเข้าหุ้นทำธุรกิจกับเพื่อน นี่เป็น “เข็มทิศ” ที่สำคัญที่สุด หุ้นไม่ใช่กระดาษแผ่นเล็ก ๆ ที่ราคาขึ้น ๆ ลง ๆ เบื้องหลังของหุ้นนั้นมีโรงงาน มีสำนักงาน มีร้านค้า มีพนักงาน มียี่ห้อ มีระบบการบริหาร มีลูกค้า และมีสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างกำไร และจ่ายปันผลให้เราซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น ถ้าเรายึดแนวทางนี้อย่างมั่นคง การลงทุนของเราก็จะ “ไม่หลง” โอกาสผิดพลาดมีน้อย

ข้อ 2 ถ้าบริษัททำผลงานได้ดี หุ้นก็จะดีตามเสมอ แม้ว่าราคาหุ้นอาจจะไม่ตามผลการดำเนินงานในทันทีทันใด แต่ในที่สุดแล้วมันก็จะต้องปรับตัวตามผลงานของบริษัท ดังนั้น เมื่อซื้อหุ้นแล้ว สิ่งที่จะบอกว่าเราซื้อถูกต้องก็คือ ผลงานของบริษัทดีขึ้นเรื่อย ๆ และเราได้รับปันผลมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอน ราคาหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นตามกันไป

ข้อ 3 หาหุ้นของกิจการที่เข้าใจได้ง่ายและเราสามารถคาดการณ์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า อย่าซื้อหุ้นที่เราไม่รู้จักว่าบริษัทผลิตและขายสินค้าอะไรและความสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับอะไร ด้วยเข็มทิศอันนี้ เราจึงไม่ควรซื้อหุ้นของกิจการจำนวนมากในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเรามักจะไม่รู้จักธุรกิจจำนวนมากที่อาจจะสลับซับซ้อนเกินไปและเกินความสามารถของเราที่จะเข้าใจได้

ข้อ 4 การลงทุนที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำซึ่งในระยะยาวจะทำให้เรารวยได้ก็คือ การซื้อหุ้นของบริษัทที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม การซื้อหุ้นของกิจการที่เลวในราคาถูกไม่ทำให้เรารวย เช่นเดียวกัน การซื้อหุ้นของกิจการที่ดีในราคาแพงก็ไม่ทำให้เราได้ผลตอบแทนที่ดี

ข้อ 5 กระจายความเสี่ยงโดยการถือหุ้นจำนวนพอสมควร ประมาณ 5 - 10 ตัว แต่อย่ากระจายมากเกินไปเพราะมันจะทำให้ผลตอบแทนลดลงจนไม่สามารถจะทำผลงานที่ดีได้ เกณฑ์คร่าว ๆ ก็คือ อย่าซื้อหุ้นถ้าเราไม่พร้อมที่จะถือมันถึง 5% ของพอร์ต ในอีกด้านหนึ่ง อย่าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินกว่า 50% ของพอร์ต

ข้อ 6 ถือพอร์ตของหุ้นตลอดเวลาแม้ในยามวิกฤติ เหตุก็เพราะว่าในยามนั้นราคาหุ้นมักจะตกต่ำลงมากมาก่อนแล้ว จงจำไว้ว่าดัชนีหุ้นนั้นเป็นดัชนี “ชี้นำ” ไม่ใช่ดัชนี “ตาม” ของภาวะเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่า เราจะเอาภาวการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบันมาเป็นเครื่องชี้ว่าเราควรจะถือหุ้นหรือไม่ไม่ได้ แน่นอน ถ้าเรารู้ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรในอีกหนึ่งปีข้างหน้า เราก็สามารถนำมาใช้ในการลงทุนได้ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำพอ ดังนั้น อย่าสนใจเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ถือพอร์ตของหุ้นที่จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร

ข้อ 7 อย่าซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นโดยอิงจากภาวะตลาดหรือราคาของหุ้นรายวันหรือรายเดือน พิจารณาปรับพอร์ตจากข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของกิจการ ปัจจัยภายนอกที่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉลี่ยแล้ว ระยะเวลาการถือหุ้นแต่ละตัวไม่ควรจะต่ำกว่า 2- 3 ปี

ข้อ 8 ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่จำเป็นต้องดีขึ้นทุกปี ในบางปีผลการดำเนินงานอาจจะถดถอยลงได้เนื่องจากปัจจัยภายนอกบางอย่างอย่างเช่นภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ความแข็งแกร่งของบริษัทควรจะต้องรักษาไว้ได้ แต่ถ้าความแข็งแกร่งของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นในยามที่ผลการดำเนินงานลดลง สถานการณ์แบบนี้เราควรจะยินดีและถือว่าเป็นความ “ก้าวหน้า” ไม่ใช่ความถดถอยของบริษัท เหตุผลก็เพราะว่า หลังจากความถดถอยของกำไรแล้ว กิจการจะเติบโตและทำกำไรดีขึ้นเป็นทวีคูณในอนาคต เนื่องจากคู่แข่งอาจจะล้มหายหรืออ่อนเปลี้ยลง ในขณะที่กิจการของบริษัทจะเติบโตและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ข้อ 9 ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัททั้งจาก “ในสนาม” คือเรื่องของผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด และจากสื่อสารมวลชนต่าง ๆ โดยเฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์ธุรกิจ อย่าตื่นเต้นกับประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีความสำคัญ “ในเชิงยุทธศาสตร์” นั่นก็คือ มันไม่ได้เป็นข้อมูลที่จะเปลี่ยนสาระสำคัญของความสามารถของกิจการ “ข่าวดี” และ “ข่าวร้าย” ที่ปรากฏในสื่อนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ “เกิด” แล้วก็ “ดับ” ไป โดยที่ไม่ได้มีผลในระยะยาวกับบริษัทเลย แต่บางครั้งมันทำให้ราคาหุ้นขึ้นลง “ชั่วคราว” และมันอาจเป็นโอกาสที่เราจะฉกฉวยประโยชน์ได้

ข้อ 10 เป้าหมายสูงสุดจริง ๆ ของการลงทุนก็คือ ปันผลของพอร์ตหุ้นของเรา ความสำเร็จของการลงทุนอย่างจริงจังก็คือ การที่เราเห็นปันผลของเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปีแล้วปีเล่า เพราะถ้ามันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดเราก็จะพบว่า ปันผลที่เราได้รับแต่ละปีนั้น เพียงพอที่จะเลี้ยงชีวิตเราได้โดยไม่ต้องหารายได้จากแหล่งอื่น และนั่นก็คือ ความเป็นอิสระทางการเงินที่จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตได้ตามที่เราต้องการ ดังนั้น นักลงทุนที่มุ่งมั่นทุกคนควรจะต้องจดบันทึกเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี ทุกปีที่เรารวบรวมรายรับจากปันผลเสร็จ ลองตรวจดูว่ามันเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าหรือไม่ ถ้ามันยังเพิ่มขึ้นก็อย่าได้กังวลแม้ว่ามูลค่าพอร์ตลงทุนจะลดลง เพราะ ปันผลนั้นเป็น “ของแท้” แต่ราคาหุ้นเป็นของ “ชั่วคราว” ถ้าปันผลยังดีอยู่ ในที่สุดราคาหุ้นก็จะตามมา

ทั้งหมดนั้นก็คือ “เข็มทิศลงทุน” ซึ่งถ้าเราเดินตามอย่างมั่นคง มันจะพาเราไปที่ “ทิศเหนือ” สู่ความมั่งคั่งและความสำเร็จ

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 7 เม.ย 2552