Monday, March 30, 2009

Idea Dinner

นักลงทุนแบบ Value Investor โดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุน “มืออาชีพ” นั่นก็คือ เป็นนักลงทุนเต็มตัวไม่ได้ทำงานประจำอย่างอื่น มักจะต้องมีกลุ่ม “เพื่อนร่วมอุดมการณ์” ที่เป็นนักลงทุนแบบเดียวกัน กลุ่มเพื่อนเหล่านี้ส่วนมากจะมีไม่เกิน 10 คนต่อกลุ่ม การเกิดขึ้นและการเข้ามาอยู่ร่วมกลุ่มนั้นมักจะเกิดจากเหตุหรือสถานการณ์แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มเกิดจากการที่พวกเขาลงทุนในหุ้นตัวเดียวกันแล้วไปพบเจอกันในงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น งาน Opportunity Day หรือ Company Visit เป็นต้น บางกลุ่มก็เกิดขึ้นจากงานพบปะสังสรรค์อย่างเช่นงานที่จัดโดยชมรมของเว็บไซ้ต์การลงทุนเป็นต้น กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ นอกจากกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่มแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดหรือแทบจะจัดเป็นประจำก็คือ การกินเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดระหว่างกันที่เรียกกันว่า Idea Dinner




ในงานเลี้ยงซึ่งทุกคนต้องจ่ายค่าอาหารร่วมกันแบบ Idea Dinner นั้น มักจะไม่เป็นทางการ ไม่มีประธานในที่ประชุม ไม่มีวาระการประชุมหรือการพูดคุย การพูดคุยจะเป็นประเด็นที่หลากหลายมาก แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การสนทนาเกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนซึ่งแทบทุกครั้งจะมีการพูดถึงตัวหุ้นที่น่าสนใจและไอเดียเกี่ยวกับหุ้นตัวใหม่ ๆ นอกจากนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะขาดไม่ได้ก็คือ สถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ตั้งแต่เรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเป็นเรื่องร้อนแรงที่กล่าวขวัญถึงกันในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร หัวใจสำคัญของการพูดคุยก็คือ ทุกคนมักจะพูดกันอย่าง “เปิดอก” หรือบางที ถ้าเป็นเรื่องของหุ้นก็อาจจะเรียกว่า พูดแบบ “เปิดพอร์ต” เพราะมักจะถือว่าคนที่เข้ามาร่วมงานเลี้ยงเป็นคนที่สนิทสนมหรือไม่ก็เป็นคนที่มีความรู้ดีและมีวิจารณญาณในการรับฟัง ดังนั้น ผู้พูดสามารถพูดได้เต็มที่ รวมถึงการ “โฆษณาหุ้น” อย่างไม่ต้องอ้อมค้อม

Idea Dinner เป็นแหล่งที่ทำให้สมาชิกได้รับข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะข้อมูลที่ได้รับมาจากคนที่มีแนวความคิดในการลงทุนแบบเดียวกัน ถ้าเป็นนักเก็งกำไร พวกเขาก็อาจจะได้ข้อมูลว่าวงการหรือเซียนคนไหนกำลังเล่นอะไรกันอยู่ หุ้นตัวไหนกำลังมีกราฟสวยและน่าจะใกล้ถึงเวลาวิ่ง ถ้าเป็น Value Investor พวกเขาก็มักจะพูดถึงพื้นฐานของกิจการโดยเฉพาะในระยะยาวของบริษัท นอกจากนั้นพวกเขาก็อาจจะได้ข้อมูลถึงข่าวดีหรือข่าวร้ายที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นด้วย ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้มักจะหาไม่ได้จากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในกลุ่มสมาชิกนั้น มักจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือรู้เรื่องหรือรู้จักอุตสาหกรรมบางอย่างดีเป็นพิเศษเนื่องจากเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงการที่ทำงานหรือประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น

การร่วมใน Idea Dinner นั้น ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ได้เร็วและถูกต้องมากกว่ากิจกรรมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง และเราอาจจะหาไม่ได้จากการศึกษาในหนังสือหรือเอกสาร เหตุก็เพราะในการพูดคุยกันในกลุ่มเล็ก ๆ และเป็นกลุ่มคนที่รู้จริงและสามารถพูดได้แบบ “Off Record” หรือพูดโดยไม่มีการจดบันทึก จะทำให้พวกเขาสามารถพูด “ความจริง” ที่ไม่สามารถเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถพูดได้ว่าบริษัทไหนมีผู้บริหารที่ไม่น่าไว้วางใจได้โดยไม่กลัวถูกฟ้องร้อง

สำหรับนักลงทุน “มือใหม่” นั้น การเข้าร่วมฟังการวิเคราะห์ถกเถียงของผู้เชี่ยวชาญจะสอนให้พวกเขารู้เรื่องการลงทุนและอื่น ๆ ที่เขาอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนและไม่เคยคำนึงถึง มันเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางมากขึ้น และการเรียนรู้แบบนี้พวกเขาอาจจะไม่รู้ตัวเลยซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ดีเพราะมันเป็นลักษณะของการ “ซึมซับ” ที่จะอยู่คงถาวรและไม่ผิดเพี้ยนเมื่อเวลาผ่านไป

ในวงของ Idea Dinner นั้น นอกจากข้อมูลข่าวสารและความรู้แล้ว ผมคิดว่ามันยังเป็นกิจกรรมที่สร้างมิตรภาพ เป็นการสร้างกลุ่มเพื่อนที่เป็นสังคมสำคัญโดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานประจำอย่างอื่นแล้ว ผมเองยอมรับว่า ในวันที่ผมลาออกจากงานประจำ สิ่งหนึ่งที่ผมกลัวไม่ใช่เรื่องของการขาดรายได้หรือสวัสดิการหรือความสะดวกสบายจากที่ทำงาน แต่มันคือ “สังคม” ที่อาจจะขาดหายไป ผมคิดว่าเมื่อลาออกจากงานแล้ว ในแต่ละวันเราจะคุยกับใคร เราจะรู้เรื่องราว “ซุบซิบนินทา” จากไหน สุดท้ายผมก็พบว่า เพื่อนในแวดวงนักลงทุนและการพบปะกันใน Idea Dinner เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มาเสริมให้ชีวิต “สังคม” ของผมไม่ได้ขาดหายไปหลังจากการลาออกจากงานประจำ

ผมเองมีเพื่อนที่มีการจัด Idea Dinner หลายวงทั้งแบบคนไทยและ “ฝรั่ง” และผมก็คิดว่า Value Investor หลายคนก็มีเพื่อนฝูงหลายกลุ่มเหมือนกัน การจัดแต่ละครั้งก็มักจะนัดกันหลังจากงบการเงินของบริษัทออกมาในแต่ละไตรมาศ ผมคิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์มากและ Value Investor ที่มุ่งมั่นทุกคนควรจะมีกลุ่มเพื่อนที่นัดจัด Idea Dinner อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การหากลุ่มที่เหมาะสมถูกใจก็อาจจะไม่ง่ายนัก ผมแนะนำว่า วิธีการหนึ่งในการที่จะหาเพื่อนและเข้ากลุ่มซึ่งในที่สุดนำไปสู่ Idea Dinner ก็คือ การเข้าไปในเวบไซ้ต์และ/หรือการเข้าไปร่วมงานที่มีการจัดขึ้นสำหรับนักลงทุนที่มีแนวความคิดแบบเดียวกันจะเป็นจุดเริ่มที่ดี

ขอต้อนรับสู่การเป็นสมาชิก Idea Dinner และมีความสุขกับโลกของการลงทุน

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 30 มี.ค.2552


Thursday, March 26, 2009

บัญญัติ 10 ประการของการเล่นหุ้นแบบ VI

พูดถึงเรื่องของการซื้อขายหุ้นแล้ว ผมคิดว่ามีเทคนิคหรือมีกฎต่าง ๆ มากมายที่มีการคิดค้นและนำเสนอ วิธีการหรือกลยุทธ์ที่ใช้ในแต่ละเรื่องนั้นมีหลากหลายแนวทางขึ้นอยู่กับว่าคนที่เสนอเป็นนักลงทุนแนวไหน กลยุทธ์เหล่านั้นบ่อยครั้งขัดกันเอง เช่น ถ้าเป็นนักเก็งกำไร พวกเขาอาจจะบอกว่าการเล่นหุ้นต้องเล่น “ตามกระแส” แต่ถ้าเป็นแบบ Value Investor บางพวกเขาจะให้ซื้อขาย “สวนกระแส” วันนี้ผมขอนำเสนอหลักสำคัญบางประการของการซื้อขายหุ้นที่ผมเชื่อและใช้ เรียกให้เท่ว่า บัญญัติ 10 ประการของการเล่นหุ้น




ข้อ 1 ศึกษาข้อมูลหุ้นให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น อย่าซื้อหุ้นโดยใช้อารมณ์ อย่าโลภ อย่ารีบด่วนตัดสินใจซื้อหุ้นโดยเฉพาะในกรณีที่หุ้นกำลังวิ่ง อย่าลืมว่ามีหุ้นที่กำลัง “วิ่ง” ทุกวัน ถ้าเราซื้อ เราก็จะเป็นนักเล่นหุ้นรายวันที่มีโอกาสถูกผิด 50-50 ถ้าเราทำแบบนี้ในระยะยาวเราจะขาดทุนเสมอ

ข้อ 2 อย่าสนใจข่าวลือหรือ “หุ้นเด็ด” ที่เราได้ยินมาไม่ว่าจะมาจากเซียน คนในหรือ Insider ของบริษัท หรือจากคนแปลกหน้าในงานเลี้ยง เชื่อเถอะว่าถ้าเราได้ยินก็คงมีคนอีกไม่น้อยที่ได้ยิน ข่าวหรือข้อมูลแบบนี้ไม่มีความหมายอะไรนอกจากจะทำให้เราเสียเงิน

ข้อ 3 ให้ความสำคัญกับตัวกิจการหรือตัวหุ้นมากกว่าสภาพตลาดหรือเศรษฐกิจโดยทั่วไป เพราะถึงแม้ว่าสภาพทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ดีแต่ตัวบริษัทก็อาจจะดีได้ นอกจากนั้น ถึงกิจการอาจจะไม่ดีนักแต่ราคาหุ้นก็อาจจะต่ำกว่าพื้นฐานมาก ดังนั้น อย่าให้ภาพของตลาดหรือเศรษฐกิจมาหันเหการตัดสินใจซื้อหุ้นของเรา

ข้อ 4 หุ้นนั้นมักจะดูแย่กว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดตกต่ำถึงพื้นในช่วงตลาดหมี และดูดีกว่าที่คิดในช่วงที่ตลาดวิ่งถึงจุดสูงสุดในช่วงตลาดกระทิง มีความกล้าหาญที่จะซื้อเมื่อทุกอย่างดูเลวร้าย และขายเมื่อทุกอย่างดูดีจนไม่น่าเชื่อ

ข้อ 5 จำไว้ว่า มันเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถซื้อหุ้นที่พื้นพอดีและขายหุ้นได้ที่จุดสูงสุด ในยามที่ตลาดเลวร้ายมาก ๆ นั้น หุ้นอาจจะตกต่ำลงไปเกินกว่ามูลค่าพื้นฐานจริงได้มาก เช่นเดียวกัน ในยามที่ทุกคนกำลังมองโลกในแง่ดีมาก ๆ หุ้นอาจจะขึ้นไปเกินพื้นฐานได้มากเหมือนกัน ดังนั้น อย่าคาดหวังว่าเมื่อซื้อหุ้นแล้วราคาจะต้องขึ้นทันที หรือขายหุ้นแล้วก็หวังว่ามันจะลงถึงแม้ว่าเราจะเชื่อมั่นกับการวิเคราะห์หามูลค่าของเรา

ข้อ 6 ถ้ามั่นใจว่าบริษัทที่เราลงทุนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีอนาคตในการเติบโตที่ดีมาก อย่าขายเพียงเพราะว่าราคาหุ้นอาจจะดูเหมือนว่าสูงเกินไปหรือหุ้นวิ่งขึ้นมาเร็วเกินไปชั่วคราว เพราะถ้าเราพลาด เราอาจจะไม่สามารถซื้อมันกลับมาและทำให้เราพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมในอนาคต

ข้อ 7 อย่า “หลงรักหุ้น” จน “ตาบอด” เพราะมันจะทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์กิจการได้อย่างเป็นกลางไม่มีความลำเอียง หุ้นนั้นรักได้แต่อย่าหลง เราจะต้องตรวจสอบและประเมินดูฐานะและความคุ้มค่าอยู่ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาเราก็อาจจะต้องมีความ “โหดร้าย” พอที่จะ “ตัดรัก” หรือขายทิ้งได้ถ้าพิจารณาดูแล้วว่ามัน “หมดเสน่ห์” แล้ว

ข้อ 8 อย่าสนใจว่าหุ้นเคยอยู่ที่จุดไหนมาก่อน จงสนใจว่าหุ้นจะไปที่ไหน กิจการอาจจะเคยกำไร 100 ล้านบาท ราคาหุ้นอาจจะเคยอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น แต่ขณะนี้กำไรเหลือเพียงหลัก 10-20 ล้านบาท ราคาหุ้นตกลงมาเหลือเพียง 2 บาทต่อหุ้น อย่าไปคิดว่ากิจการและหุ้นจะต้องกลับไปที่เดิมหรือใกล้ ๆ กับที่เดิม อย่าลืมว่าของเดิมอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติก็ได้ ตัวเลขใหม่คือของจริง ดังนั้น ลืมตัวเลขเก่าแล้วมองไปข้างหน้า หุ้นราคา 2 บาทอาจจะยังแพงเกินไปก็ได้

ข้อ 9 เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูง หุ้นคุณภาพต่ำนั้นบางครั้งอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีและเร็วมาก แต่ความสำเร็จในระยะยาวนั้นมีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดกับพอร์ตของหุ้นที่เน้นการลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงเป็นหลัก Value Investor จำนวนมากหลีกเลี่ยงหุ้นดีประเภทซุปเปอร์สต็อกและชอบเล่นหุ้นคุณภาพต่ำที่มีโอกาสทำกำไรหวือหวารวดเร็ว การทำแบบนี้ถ้าทำเป็นครั้งคราวก็คงไม่เสียหายอะไรนัก แต่ถ้าเริ่มต้นก็ทำแล้วจนในที่สุดติดเป็นนิสัย โอกาสที่เขาจะประสบความสำเร็จในระยะยาวก็จะยาก พอร์ตที่ประกอบไปด้วยหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพต่ำนั้นยากที่จะทำให้เรารวย ตรงกันข้าม พอร์ตของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น สามารถทำให้เรารวยได้และด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก

ข้อ 10 ใช้เวลากับการลงทุน ตรวจสอบกิจการและหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป เราต้องปรับการลงทุนเพื่อให้สะท้อนกับการเปลี่ยนแปลง ตัดหุ้นที่อ่อนแอลงออก ซื้อหุ้นที่ดีกว่าเข้ามา แต่นี่ไม่ใช่การเทรดหรือซื้อขายหุ้นรายวัน รายเดือน หรือแม้แต่รายปี มันขึ้นกับสถานการณ์และตัวหุ้น โดยเฉลี่ยแล้วถ้าเราซื้อหุ้นแล้วถือไม่ถึงปี วิธีการลงทุนของเราคงไม่ใช่การเน้นหุ้นคุณภาพในการลงทุนเป็นหลัก

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกฎในการซื้อขายหุ้นลงทุนที่ผมคิดว่าดีและสอดคล้องกันเป็นชุด แน่นอน มีกฎอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วนและอาจจะตรงกันข้ามกับที่ผมพูดถึง นักลงทุนคงต้องเลือกเองว่าจะเชื่อแนวความคิดหรือวิธีไหน แต่ขอบอกว่านี่คือวิธีการที่นักลงทุนเอกของโลก อาทิ วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้อยู่และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 23 มี.ค.2552


Monday, March 16, 2009

หนทางสู่ความสำเร็จในการลงทุน

นักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้นผมคิดว่าเขาน่าจะมีวิธีการและ/หรือคุณสมบัติที่สำคัญอย่างน้อย 3-4 อย่างดังที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้

ข้อแรก คือ เขาจะต้องมี ความรอบรู้ ความฉลาดหลักแหลม ความสามารถในการวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของธุรกิจต่าง ๆ หลายอย่าง คนที่เก่งมาก ๆ ในด้านนี้มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นคนอัจฉริยะในด้านของการลงทุน หลาย ๆ คนมักจะเป็นคนที่มี IQ ค่อนข้างสูง



ข้อสอง เขาจะต้องทำงาน เป็นคนขยันไม่เกียจคร้าน โดยเฉพาะที่เป็นงานเกี่ยวกับการลงทุน การหมั่นค้นคว้าหาโอกาสในการลงทุน ต้องเป็นคนที่อ่านหนังสือมาก คนที่ทำงานมาก ๆ เป็น Workaholic หรือคนบ้างาน ก็จะมีโอกาสได้รู้จักและเข้าใจบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและข้อมูลสำคัญสำหรับการลงทุนที่จะประสบความสำเร็จ คนที่สามารถทำงานหนัก ๆ ได้มากนั้น นอกจากจะต้องเป็นคนหนุ่มสาวและมีสุขภาพดีแล้ว เขามักจะต้องมี Passion หรือความหลงใหลในการลงทุนที่รุนแรงด้วย

ข้อสาม เขาจะต้องมี EQ หรือความสามารถทางอารมณ์ที่จะควบคุมตนเองไม่ให้ผันผวนไปตามภาวะของตลาดและราคาหุ้น มีความสามารถที่จะคิดได้อย่างเป็นอิสระด้วยตนเอง และสามารถปฏิบัติตามแผนและนโยบายที่ได้วางไว้อย่างมั่นคง

ข้อสี่ เขาจะต้องมีความเข้าใจหรือมี Sense หรือ ความรู้สึกหรือไหวพริบเกี่ยวกับภาวะของผู้คนและนักลงทุนในตลาด Sense นี้เป็นเรื่องยากที่จะสอนกัน แต่การลงทุนมานานผ่านร้อนผ่านหนาวมามากก็ช่วยให้เรามี Sense ดีขึ้นได้

คุณสมบัติทั้งสี่ข้อนี้ ผมคิดว่านักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาวต้องมี อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่คน ๆ หนึ่งจะมีคุณสมบัติดีเด่นในทุกข้อ โดยปกติแล้ว นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมักจะมีคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใดหรือสักสองข้อที่เด่น และมีคุณสมบัติในข้อที่เหลือพอใช้ แบบนี้เขาก็จะประสบความสำเร็จได้ ว่าที่จริง “เซียน” หรือคนที่ประสบความสำเร็จมากนั้น มักจะมีคุณสมบัติยอดเยี่ยมมาก ๆ จริง ๆ เพียงบางข้อเท่านั้น และนั่นยังเป็นการแบ่งแยกด้วยว่าเขาเป็น “เซียน” ประเภทไหน

คนที่อาศัยความรอบรู้หรือ IQ ทางการลงทุนเป็นหลักมักจะเป็น “เซียน” ระดับอัจฉริยะที่มักจะประสบความสำเร็จสูงและมีชื่อเสียงยาวนาน ตัวอย่างก็แน่นอน ประเภท วอเร็น บัฟเฟตต์ บิล มิลเลอร์ จอห์น เทมเปิลตัน คนเหล่านี้จะมีความคิดและความเข้าใจลึกซึ้งมากในด้านของการลงทุนและของกิจการ พวกเขาจะสามารถมองเหตุการณ์ไปข้างหน้าได้ไกลกว่าและถูกต้องกว่า และลงทุนซื้อหุ้นจำนวนมากเพื่อรอเก็บเกี่ยวผลในระยะยาวซึ่งผลการลงทุนนั้นมักจะประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง นักลงทุนทั่วไปมักจะชื่นชมและยกย่องพวกเขา “หลังจาก” เห็นผลแล้ว แต่ในขณะที่พวกเขากำลังซื้อหุ้นนั้น เรามักจะแปลกใจและคิดว่าพวกเขากำลังคิดผิด เราไม่อยากซื้อหุ้นตามพวกเขาเพราะเรามองว่าหุ้นที่พวกเขากำลังซื้อนั้นดูไม่น่าจะดีและเราไม่เข้าใจว่าเขาซื้อทำไม

คนที่อาศัยความขยันทำงานหนักเป็นหนทางสู่ความสำเร็จนั้น คือคนที่อาจจะเข้าสำนักงานตั้งแต่เช้าตรู่และกลับบ้านเมื่อตะวันลับฟ้าไปแล้ว พวกเขาต้องอ่านบทวิเคราะห์เป็นสิบ ๆ เล่มในแต่ละสัปดาห์และต้องเข้าประชุมฟังการบรรยายของบริษัทจดทะเบียนเกือบจะทุกวัน เวลาที่ว่างจากการอ่านพวกเขาก็มักจะต้องพูดโทรศัพท์เพื่อหาข้อมูลที่จะนำไปสู่ชัยชนะในการลงทุน หลังเลิกงานพวกเขายังต้องหอบแฟ้มกลับไปทำที่บ้าน วันหยุดก็มักจะไม่เป็นวันหยุดอย่างที่ควรเป็น แน่นอน ผมกำลังพูดถึงคนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ที่ทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมที่ต้องติดตามบริษัทเป็นร้อย ๆ แห่งหรืออย่างในสหรัฐนั้นเป็นพัน ๆ แห่ง คนเหล่านี้ส่วนใหญ่กลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะพวกเขาต่างก็ขยันและทำงานหนักพอ ๆ กัน คนที่ประสบความสำเร็จสูงมากในกลุ่มนี้ก็คือ ปีเตอร์ ลินช์ ที่สุดท้ายต้องลาเวทีไปก่อนเกษียณเนื่องจากรับกับการทำงานแบบนั้นไม่ไหว

คนที่อาศัย EQ เป็นหลักในการประสบความสำเร็จนั้น คือคนที่มีศรัทธายึดมั่นในหลักการและนโยบายการลงทุนที่ตนเองเห็นว่าดีและเหมาะกับตนเองแล้ว นโยบายและกลยุทธ์เหล่านั้นอาจจะไม่ใช่หนทางที่ทำให้เขารวยเร็วที่สุดแต่อาจจะปลอดภัยและให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เขาเชื่อมั่นว่าถ้าเขายึดหลักการที่กำหนดไว้ดีแล้วนั้น ในระยะยาวเขาก็จะบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จได้ ตัวอย่างเช่น เขาอาจจะกำหนดว่าเขาจะลงทุนแบบสะสมเงินที่หาได้จากการทำงานไปเรื่อย ๆ ทุกเดือน โดยแบ่งเงินลงทุนไปในหุ้นและพันธบัตรเท่า ๆ กัน โดยที่หุ้นลงทุนอาจจะเป็นหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในแต่ละอุตสาหกรรมหลัก ๆ ห้าบริษัทเป็นต้น และการลงทุนนี้จะเป็นการลงทุนตลอดเวลาไม่ว่าภาวะตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร

ตัวอย่างของคนที่ใช้ EQ เป็นหลักและประสบความสำเร็จสูงมากก็คือ “คนธรรมดา” ที่ชื่อว่า แอนน์ ไชเบอร์ ซึ่งผมเคยเขียนมานานแล้ว เธอเป็นสาวโสดที่ไม่เคยแต่งงาน อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เป็นคนกินเงินเดือนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติ เริ่มลงทุนเมื่ออายุ 50 ปีไปแล้ว เธอยึดมั่นลงทุนในบริษัทที่เธอเห็นว่าเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่น โค๊ก ถือยาว ติดตามผลการดำเนินงาน รับปันผล ลงทุนเพิ่ม วันที่เธอเสียชีวิต พอร์ตของเธอเกือบ พันล้านบาท เธอทำได้เพราะอายุวันตายประมาณ 100 ปี

คนที่ใช้ Sense ในการลงทุนเป็นหลักแล้วประสบความสำเร็จนั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่ก็คือคนที่เราเรียกว่า “ขาใหญ่ ” ในตลาดหุ้น แน่นอน ขาใหญ่ในตลาดหุ้นไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จทุกคน หลายคนก็ขาดทุนหรืออยู่ไม่นาน คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ผมคิดว่าพวกเขาต้องมีคุณสมบัติข้ออื่น ๆ ดังที่กล่าวข้างต้นด้วย แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จก็คือ ความสามารถในด้านของจิตวิทยาการอ่านใจนักเล่นหุ้นในตลาดได้ดีกว่าคนอื่น นอกจากการอ่านเกมออกแล้วพวกเขายังน่าจะมีความสามารถในการจูงใจให้คนอื่นเล่นตามด้วย และนี่อาจจะเป็นศาสตร์ที่คนอื่นไม่สามารถทำได้และทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จสูงมากในการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย

ทั้งหมดนั้นก็คือหนทางสู่ความสำเร็จในการลงทุน 4 แบบ นักลงทุนแต่ละคนต้องเลือกว่าวิธีไหนที่เราชอบและมีศักยภาพที่สามารถทำได้ การค้นหาตัวตนก่อนที่จะเลือกเดินทางนั้นสำคัญมาก เลือกถูกก็สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว เลือกผิดเราอาจจะพบกับความผิดหวังหรือหายนะ สำหรับคน “กลาง ๆ” ผมแนะนำว่าแนวทางของการใช้ EQ เป็นหลักในการลงทุนเป็นวิถีทางที่น่าสนใจ และย้ำอีกครั้ง ไม่ว่าจะเลือกแนวไหน เราจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจทุกทางด้วยมิฉะนั้นก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์ 15 มีค.2552

Saturday, March 14, 2009

วิเคราะห์หุ้นแบบVI

นักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่บริหารกองทุนรวมที่ต้องลงทุนซื้อหุ้นจำนวนมากต่างก็อาศัยบทวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์หุ้นมืออาชีพ แต่ผมเองแทบไม่ดูบทวิเคราะห์เหล่านั้นเลย เหตุผลก็เพราะวิธีการลงทุนของผมนั้น เป็นการลงทุน “ซื้อธุรกิจ” ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว อย่างน้อยก็ 3- 5 ปี ขึ้นไป ซึ่งไม่มีบทวิเคราะห์ไหนทำ บทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์นั้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด มองไปที่ผลประกอบการอย่างมากก็ 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น พวกเขาก็มักจะดูว่าบริษัทจะมีกำไรเท่าไรอิงจากผลประกอบการในปีปัจจุบัน โดยนำเอาภาวะของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมาเป็นตัวประกอบ ส่วนผมเองนั้น ผมจะสนใจในด้านของ “โครงสร้าง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ถาวรกว่าและไม่ค่อยจะขึ้นกับภาวะแวดล้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ซึ่งโดยนัยนี้ ผมจึงไม่ค่อยสนใจภาวะเศรษฐกิจที่มีขึ้นมีลง แต่ผมจะสนใจโครงสร้างของอุตสาหกรรมว่า ในธุรกิจนั้นมีการแข่งขันกันอย่างไร สนใจว่าบริษัทมีจุดเด่นหรือจุดอ่อนอย่างไร ใครคือ “ผู้ชนะ” หรือจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน

การวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวนั้น แน่นอน จะต้องดูรายละเอียดของแต่ละบริษัท อย่างไรก็ตาม มี “โครงสร้าง” และข้อมูลของธุรกิจบางอย่างที่เป็นตัวบอกว่าเรากำลังเจอธุรกิจที่ดีหรือไม่ดีได้ ข้อมูลเหล่านี้เราสามารถนำมาให้คะแนนเพื่อที่จะสรุปว่าบริษัทที่เราดูอยู่เป็นอย่างไร ลองมาดูรายการที่สำคัญ ๆ


ข้อมูลตัวแรกก็คือ กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE นี่คือข้อมูลที่ดูง่ายและมีประสิทธิภาพสูง บริษัทที่มี ROE สูงคือบริษัทที่ดี ยิ่งสูงก็ยิ่งดี แต่ต้องดูว่าเป็นการสูงอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปกติ ไม่ใช่สูงแค่ปีสองปีหรือในยามที่อุตสาหกรรมกำลังเป็นขาขึ้น หลักเกณฑ์ง่าย ๆ ในการให้คะแนนก็คือ ถ้าบริษัทมี ROE ตั้งแต่ 15% ขึ้นไป เราก็ให้คะแนน บวกหนึ่ง ถ้า ROE ตั้งแต่ 10-15 ให้คะแนนเท่ากับศูนย์ ถ้า ROE ต่ำกว่า 10% ลงมาให้คะแนนติดลบหนึ่ง คะแนนที่ได้นี้จะเก็บไว้รวมกับคะแนนของข้อมูลตัวต่อไปเพื่อหาคะแนนรวมของบริษัท

ข้อมูลตัวที่สองก็คือ กระแสเงินสดของกิจการ ถ้ากิจการขายสินค้าแล้วได้เป็นเงินสดในขณะที่เวลาซื้อสินค้าจ่ายเป็นเงินเชื่อ กระแสเงินสดของกิจการก็จะดี ความจำเป็นต้องระดมเงินมาใช้จากภายนอกเช่นการกู้เงินหรือออกหุ้นก็จะน้อยและจะเป็นผลดีต่อบริษัท เกณฑ์แบบง่าย ๆ ก็คือ ถ้าบริษัทมีเจ้าหนี้การค้ามากกว่าลูกหนี้การค้ามากเช่นในกรณีของผู้ค้าปลีกหรือบริษัทที่ขายให้กับผู้บริโภคโดยตรงซึ่งทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดี ให้คะแนน บวกหนึ่ง ถ้าเจ้าหนี้และลูกหนี้พอ ๆ กันเช่นในกรณีของโรงงานผู้ผลิตจำนวนมาก แบบนี้ให้คะแนนศูนย์ ในกรณีของบริษัทที่มีลูกหนี้การค้ามากแต่มีเจ้าหนี้การค้าน้อย นั่นคือคนที่ขายสินค้าเป็นเงินเชื่อแต่ต้องจ่ายค่าสินค้าหรือวัตถุดิบในการผลิตเป็นเงินสด เช่น ผู้ค้าส่งที่นำสินค้ามาจากต่างประเทศ แบบนี้ก็ให้คะแนน ลบหนึ่ง

ข้อมูลตัวที่สามซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างสำคัญก็คือ ความสามารถในการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทสามารถปรับราคาได้ค่อนข้างจะเร็วหรือทันที ความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะขาดทุนจากสต็อกสินค้าก็ไม่มีและจะทำให้สามารถรักษาระดับของกำไรได้ค่อนข้างแน่นอน บริษัทที่มีลักษณะของธุรกิจแบบนี้มักจะมีอำนาจทางการตลาดสูง เราให้คะแนน บวกหนึ่ง บริษัทที่สามารถปรับราคาได้แต่ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นภายใน 3 เดือน แบบนี้ให้คะแนนศูนย์ นี่คือบริษัททั่ว ๆ ไปที่มักไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ซื้อได้ทันทีเพราะมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง บริษัทที่ไม่มีอำนาจทางการตลาดเลยและเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่บริษัทไม่สามารถกำหนดราคาได้เลย เช่น ราคาน้ำมัน ถ่านหิน เหล็ก และผลิตผลทางการเกษตรต่าง ๆ แบบนี้เราให้คะแนน ติดลบหนึ่ง

บริษัทที่เป็น Dominant Firm คือมีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมาก มักจะมีความได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของต้นทุน ดังนั้น เราให้คะแนน บวกหนึ่ง บริษัทตั้งแต่อันดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ Dominant Firm จนถึงอันดับประมาณ 3 ของอุตสาหกรรม ให้คะแนนศูนย์ บริษัทที่มีอันดับหลังจากนั้นให้คะแนน ติดลบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิสูจน์หรือเชื่อได้ว่าขนาดของกิจการไม่ได้มีผลต่อต้นทุนหรือความได้เปรียบอย่างอื่นในการแข่งขัน เราก็ให้คะแนนศูนย์กับทุกบริษัท

ข้อมูลตัวที่ห้า คือข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัท กิจการบางแห่งเป็นกิจการที่ขยายงานได้โดย “ไม่ต้องลงทุน” นี่คือกิจการที่ใช้หรือต้องลงทุนใน อาคาร อุปกรณ์ เครื่องจักร และเงินทุนหมุนเวียนของตนเองน้อย และภายในเวลาเพียง 2-3 ปี ก็ได้เงินคืนมาหมด เช่น กิจการค้าปลีกที่อาศัยการเช่าสถานที่เปิดร้านค้าเป็นหลัก กิจการแบบนี้เป็นกิจการที่ดีเพราะจะสามารถขยายงานไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกู้หรือเพิ่มทุน ทำให้สามารถจ่ายปันผลได้สูง แบบนี้ให้คะแนน บวกหนึ่ง กิจการที่เวลาขยายงานต้องลงทุนสูงพอสมควรอย่างเช่นโรงงานที่ผลิตสินค้าธรรมดา ๆ ที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากนักเช่นผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือผลิตไฟฟ้าหรือน้ำประปา แบบนี้ให้คะแนน ศูนย์ กิจการที่เป็นโรงงานที่ซับซ้อนและเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเร็วทำให้ต้องอัพเกรดโดยการลงทุนอุปกรณ์ใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ แบบนี้ให้คะแนน ลบหนึ่ง

ข้อมูลตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงที่เป็นข้อมูลสำคัญก็คือ การเจริญเติบโต กิจการที่โตเร็ว นั่นคือ ในระยะยาวโตเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP ตั้งแต่ 3 เท่าขึ้นไป นั่นคือยอดขายโตประมาณปีละ 15% ให้คะแนน บวกหนึ่ง ยอดขายโตตั้งแต่ 5-15% ต่อปีโดยเฉลี่ยให้คะแนน ศูนย์ ยอดขายโตต่ำกว่า 5% ต่อปีในระยะยาวให้คะแนน ลบหนึ่ง การเติบโตของยอดขายที่ว่านี้ต้องเป็นการเติบโตแบบทบต้นและระยะยาวตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก

รวมคะแนนทั้งหมดของบริษัทที่เราวิเคราะห์ก็จะได้คะแนนที่อาจจะเป็นบวก ลบ หรือเป็น ศูนย์ บริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้ บวก 6 คะแนน ต่ำสุดก็จะได้ ลบ 6 คะแนน ซึ่งคงหาได้ยากพอควร เอาตัวเลขที่ได้บวกด้วย 10 ก็จะได้ค่า PE สูงสุดที่เราจะซื้อหุ้นตัวนั้น นั่นแปลว่า บริษัทที่ดีที่สุดได้คะแนนสูงสุดเราจะซื้อต่อเมื่อ PE ไม่เกิน 16 เท่า บริษัทธรรมดา ๆ ที่คะแนนไม่บวกหรือลบเราก็จะซื้อต่อเมื่อ PE ไม่เกิน 10 เท่า และบริษัทที่แย่มากที่สุดนั้น เราไม่ควรซื้อที่ PE เกิน 4 เท่า และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีวิเคราะห์และซื้อหุ้นแบบ VI เวอร์ชั่นหนึ่ง ที่หยาบ ๆ และคิดในใจได้

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์ 9 มีค.2552

Friday, March 6, 2009

Perfect Storm-Perfect Stock

ข่าวร้ายในตลาดสำหรับคนเล่นหุ้นแล้ว มันคือเวลาของการขายหุ้น ยิ่งร้ายเท่าไรก็ต้องรีบขายเร็วเท่านั้น ผลของการขายทำให้ราคาหุ้นที่เจอกับข่าวร้ายตกลงมาอย่างหนัก หลาย ๆ ครั้งหนักเกินความเป็นจริง และนั่นคือโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะเข้ามาเก็บหุ้น ประเด็นสำคัญก็คือ คุณจะต้องมั่นใจจริง ๆ ว่า ข่าวร้ายนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว มันไม่ได้ทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปและไม่ช้าก็เร็วบริษัทก็จะสามารถกลับมาทำกำไรได้อย่างที่มันเคยเป็น และด้วยราคาหุ้นที่ตกลงมามาก การลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะไม่เกิน 3-5 ปีข้างหน้า
ข่าวร้ายในตลาดที่ส่งผลต่อหุ้นอย่างแรงอาจจะแบ่งได้เป็น 3 แบบด้วยกันคือ หนึ่ง ข่าวร้ายจากภาพรวมของเศรษฐกิจหรือตลาด ข่าวนี้ทำให้ตลาดเกิด Panic หรือตกใจ เกิดการขายหุ้นทั่วทั้งตลาด สิ่งนี้มักจะเกิดขึ้นจากภาวะการเงินหรือเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลอย่างแรง เช่น เกิดภาวะเงินตึงตัว เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูง หรือการที่เศรษฐกิจตกต่ำอย่างแรงอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ข่าวร้ายประเภทนี้มักทำให้หุ้นเกือบทั้งหมดตกลงแม้ว่าหุ้นบางตัวหรือบางกลุ่มอาจจะไม่ได้รับผลกระทบจริงหรือถูกกระทบน้อย หน้าที่ของ Value Investor ก็คือ มองหาหุ้นที่ถูกกระทบน้อยแต่ราคาหุ้นตกลงมามากพอ ๆ กับดัชนีตลาดที่ประมาณ 50% นับตั้งแต่เกิดวิกฤติ




ข่าวร้ายแบบที่สองก็คือ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ความตกต่ำหรือถดถอยของอุตสาหกรรมทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นในกลุ่มทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งหรืออ่อนแอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทที่แข็งแกร่งจะฟื้นตัวกลับมายิ่งใหญ่เหมือนเดิมในขณะที่บริษัทที่อ่อนแอจะล้มหายตายจากหรือลดระดับของการดำเนินงานลง กระบวนการนี้อาจจะใช้เวลาบ้างขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม หน้าที่ของเราก็คือต้องวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมจะใช้เวลาเท่าไรที่จะฟื้นตัว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ต้องหาว่าบริษัทไหนจะถูกกระทบน้อยและกลับมายิ่งใหญ่และทำกำไรได้มากแค่ไหนเมื่ออุตสาหกรรมฟื้นตัว
ข่าวร้ายแบบสุดท้ายก็คือ ข่าวร้ายที่เกิดขึ้นกับตัวบริษัทเอง นี่คือข่าวร้ายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวบริษัทเองที่อาจจะทำอะไรบางอย่างผิดพลาดอย่างร้ายแรง หรือถูกกระทบโดยความโชคร้าย แต่ความผิดพลาดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวและเป็นเรื่องชั่วคราวที่บริษัทน่าจะแก้ไขได้ เมื่อเกิดเรื่องขึ้น นักลงทุนมักจะเทขายหุ้นกันอย่างหนักทำให้ราคาหุ้นตกลงมามาก อย่างที่ “ไม่เคยปรากฏ” มาก่อน หน้าที่ของ VI ก็คือ พิจารณาว่าเหตุการณ์นั้นไม่ได้กระทบกับธุรกิจหลักของบริษัทที่ยังสามารถทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อเหตุการณ์ชั่วคราวนั้นผ่านพ้นไปหรือบริษัทได้แก้ไขไปแล้ว และราคาหุ้นที่ตกลงมานั้นจะทำให้การลงทุนของเราให้ผลตอบแทนสูงในช่วงเวลา 3-5 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ อย่างน้อยถ้าเราซื้อหุ้นแล้วถือไว้ 5 ปี ราคาหุ้นน่าจะปรับขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวจากราคาที่เราซื้อ
หุ้นที่เราจะซื้อนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด เราต้องมั่นใจว่ามันจะต้อง “ฝ่าวิกฤติ” ไปได้ไม่ว่าจะด้วยอะไร เช่น เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีมีเงินสดมากและมีหนี้น้อย เป็นกิจการที่จำเป็นและมีผู้ให้บริการที่จำกัด เป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งสนับสนุนอย่างหุ้นรัฐวิสาหกิจบางแห่ง หรือแม้แต่เป็นกิจการที่ “ใหญ่เกินไปที่จะล้ม” นี่จะเป็นเครื่องค้ำประกันว่าเหตุร้ายแรงที่อาจจะดำเนินไปหลายปีนั้นไม่ทำให้บริษัทต้องล้มละลายไปก่อนที่สถานการณ์จะฟื้นตัว
บางที สำหรับบางบริษัท ข่าวร้ายนั้นเกิดเป็นชุดอย่างต่อเนื่องพร้อมกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่อย่างในปัจจุบันนั้น โอกาสที่บริษัทจะเจอ “2 เด้ง” คือภาวะตลาดแพนิคและภาวะอุตสาหกรรมตกต่ำเกิดขึ้นพร้อมกันมีสูง บางครั้งซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก บางบริษัทอาจจะเจอกับข่าวร้ายทั้งด้านของภาวะตลาดหุ้น ภาวะอุตสาหกรรม และบริษัทเองก็เจอกับข่าวร้ายเฉพาะตัวเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ถ้าจะพูดให้เห็นภาพก็คือ บริษัทประสบกับ “Perfect Storm ” ความร้ายแรงประดังกันเข้ามาอย่างที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญขนาดนั้น
หุ้นที่ประสบกับข่าวร้ายมาก ๆ หลายเรื่องหรือทุกเรื่องอย่างหุ้น Perfect Storm นั้น ราคาหุ้นจะตกลงไปมากจนแทบจะไม่เหลือค่าเมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจ หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อาจจะไม่น่าสนใจโดยเฉพาะถ้าเราไม่มั่นใจว่ามันจะไปรอดหรือไม่ หรือรอดได้แต่ก็ไม่กลับมาเป็นอย่างเดิม หรือรอดและกลับมาทำกำไรได้แต่ก็ต้องมีการเพิ่มทุนมหาศาลซึ่งทำลายมูลค่าหรือความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นเดิมไปหมด ถ้าเป็นแบบนั้น การลงทุนในหุ้น Perfect Storm ก็จะเป็นความเสี่ยงมหาศาล
ตรงกันข้าม ถ้าเราเจอหุ้น Perfect Storm และราคาหุ้นสะท้อนข่าวนั้นแล้วโดยที่ราคาตกลงไปต่ำกว่าที่เคยเป็นในภาวะปกติมาก ในขณะเดียวกัน พื้นฐานของกิจการของบริษัทไม่เปลี่ยนและเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางการตลาดมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นว่าบริษัทจะไม่ล้มละลายและไม่ต้องเพิ่มทุนมหาศาล และสุดท้าย เราเชื่อว่าข่าวร้ายทุกอย่างจะต้องหมดไปเมื่อเวลาผ่านไป 3-5 ปี และเมื่อนั้นกิจการของบริษัทก็จะกลับมาเหมือนเดิมก่อนที่ข่าวร้ายจะเกิดขึ้น ในสถานการณ์แบบนี้ การลงทุนในหุ้น Perfect Storm ก็อาจจะเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติและหุ้นนั้นกลายเป็น “Perfect Stock” หรือเป็นโอกาสทองของการลงทุนในหุ้นตัวนั้น
แน่นอน การลงทุนในหุ้นที่มีข่าวร้ายมาก ๆ ย่อมมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะในระยะสั้นเพียงปีหรือสองปี คนที่สามารถลงทุนในหุ้นแบบนี้จะต้องมีจิตใจที่มั่นคงมาก นั่นคือ จะต้องทนดูหุ้นที่อาจจะตกลงไปต่ออีกมากได้ หรือต้องสามารถถือหุ้นที่อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเวลานานพร้อม ๆ กับผลการดำเนินงานที่อาจจะไม่น่าประทับใจของบริษัท และถ้าทนไม่ได้ขายหุ้นทิ้งก่อนที่หุ้นจะฟื้น การขาดทุนก็จะกลายเป็นเรื่อง “ฝันร้าย” ที่จะต้องจดจำไปอีกนาน แต่ถ้าคิดถูกต้องและมีจิตใจที่เข้มแข็งพอ นี่คือ Perfect Stock ที่เราจะไม่ลืมเลย

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์ 2 มีค.2552