Monday, October 24, 2011

Blitzkrieg


น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ทำให้ผมนึกไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เปรียบเทียบประเทศไทยก็คล้ายๆ กับฝรั่งเศสหรืออังกฤษ

ขึ้นอยู่กับว่าผลของน้ำ ท่วมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ส่วนน้ำนั้นก็คือเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นมหาสงครามระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและพันธมิตรอื่นๆ กับเยอรมนี ส่วนน้ำท่วมใหญ่นั้นเป็น “มหาสงคราม” ระหว่างประเทศไทยกับมวลน้ำมหาศาลที่กำลังบุกเข้าโจมตีกรุงเทพฯ

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มจริงๆ ในเดือนกันยายน ปี 1939 เมื่อฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับ เยอรมนี แต่ในความเป็นจริงการรบระหว่างสองค่ายยังไม่เกิดขึ้น คนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ยังคงฉลองคริสต์มาสกันตามปกติ แต่ในทางตรงกันข้าม  เยอรมนีนั้นกำลังเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกซ้อมทหารอย่างขะมักเขม้นเพื่อ เตรียมบุกยึดประเทศศัตรู  ถ้าเปรียบไปก็คงเหมือนช่วงประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ที่น้ำเริ่มท่วมในชนบท ของไทยหลายแห่งแต่ก็ไม่ใคร่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นการท่วมที่ใหญ่โตอะไร นัก ในเวลาเดียวกัน  น้ำฝนก็เริ่มตกลงมาและสะสมพลังน้ำไว้มหาศาลโดยที่ไม่มีใครตระหนัก  และเขื่อนต่างๆ ยังกักเก็บน้ำตามปกติ มหาสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะเริ่มแล้ว..  เช่นเดียวกับ “มหาสงครามน้ำ” ในประเทศไทย

ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 1940 เยอรมนีก็เริ่มสงครามเปิดศึก Blitzkrieg หรือการรุกแบบ “สายฟ้าแลบ” เข้ายึดเดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม ประเทศยุโรปที่อยู่ทางใต้หลายประเทศ และยึดฝรั่งเศสได้ในวันที่ 22 มิถุนายน 1940 ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน จากนั้นก็เตรียมบุกอังกฤษซึ่งมี “ป้อมปราการ” ที่เป็นช่องแคบอังกฤษขวางอยู่

Blitzkrieg นั้น เป็นกลยุทธ์การรบที่เยอรมนีใช้หน่วยรถถังแพนเซอร์ที่เคลื่อนที่เร็วและทรง พลานุภาพพร้อมๆ กับกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลบุกเข้าโจมตีแนวป้องกันต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามจุดแล้วจุดเล่า ทุกแห่งนั้นไม่สามารถป้องกันได้และ “แตก” อย่างรวดเร็ว ในกรณีของฝรั่งเศส “แนวป้องกันมายิโนต์” ซึ่งสร้างอย่างยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากและคิดว่า “ไม่มีใครสามารถผ่านไปได้” ก็ถูก “อ้อม” และผ่านไปในที่สุด ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกองทัพเยอรมนีได้

ประมาณ เดือนสิงหาคม 2554 น้ำก็เริ่ม “บุก” จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือของไทยตั้งแต่เชียงใหม่ และต่อมาที่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี ทุกเมืองต่างก็สร้าง “เขื่อน” ป้องกันและ “ต่อสู้” กับน้ำในทุกรูปแบบแต่ก็ล้มเหลว เช่นเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเทียบได้ กับโรงงานผลิตอาวุธที่จำเป็นในสงคราม ต่างก็ “แตก” อย่างง่ายดายทุกที่ที่น้ำผ่าน มวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามานั้นก็คงเหมือนรถถังแพนเซอร์และกองกำลังของเยอรมนี ที่มีประสิทธิภาพสูงจนไม่มีใครสามารถทานได้ ในเวลาเพียง 2-3 เดือนน้ำก็มาจ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้สร้าง “ป้อมปราการ” เป็นแนวป้องกันที่แข็งแกร่งและหวังว่าจะ “ไม่มีมวลน้ำที่จะผ่านไปได้”

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมเองก็ยังไม่ทราบว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตชั้นในจะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จ กรุงเทพฯ ก็คงจะเปรียบเหมือนฝรั่งเศสที่ถูกยึด แต่ถ้ากรุงเทพฯ รอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไปได้ก็คงจะเหมือนกับอังกฤษ ที่รอดพ้นจากการยึดครองเพราะมีช่องแคบขวางอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้อังกฤษรอด อยู่ที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศที่มีประสิทธิภาพในการที่จะยับยั้งฝ่าย เยอรมนีไม่ให้รุกข้ามช่องแคบมาได้  เหนือสิ่งอื่นใดกำลังใจที่เข้มแข็งและความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ของชาวอังกฤษ เป็นปัจจัยชี้ขาดทำให้อังกฤษเอาชนะฝ่ายเยอรมนีได้สำเร็จ

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้น ถ้ามองกันในภาพใหญ่จริงๆ แล้วก็คือ  เยอรมนีมีทรัพยากรหรือกำลังไม่พอที่จะทำสงครามยืดเยื้อยาวนานได้ เช่นเดียวกัน น้ำนั้นก็มีพลังเพียงเท่าที่มันยังอยู่ในที่สูงและอยู่บนพื้นดิน ซึ่งในไม่ช้าน้ำทั้งหมดก็จะต้องไหลลงทะเลเป็นส่วนใหญ่และก็จะหมดพลังไปในที่ สุด เรารู้ว่าในที่สุดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยก็ต้องจบลงไป แต่ในขณะนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ในแง่ของผู้คนทั่วไป ผมดูแล้วผลกระทบก็น่าจะคล้ายกัน ในสงครามมีผู้อพยพและศูนย์ผู้ลี้ภัย น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็คล้ายกัน ในสงครามผู้คนต่างก็ต้องกักตุนอาหาร เช่นเดียวกัน น้ำท่วมครั้งนี้สินค้าจำนวนมากถูกกวาดจากชั้นวางของในห้าง ซึ่งรวมถึงน้ำ อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง เราเห็นความแตกตื่นของผู้คนที่หนีการสู้รบและหนีน้ำไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเสียหายของทรัพย์สินที่มากมายมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและของใช้ภาย ในบ้านที่จะหายไปกับสงครามและสายน้ำ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

ในมหาสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แน่นอน ถือเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ แต่วิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นทั้งในอเมริกาและอังกฤษในช่วงของสงครามมีราคาขึ้นลงหวือหวาช่วงที่ ฝรั่งเศสและอังกฤษเพลี่ยงพล้ำ ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างแรง แต่ในยามที่เยอรมนีปราชัย ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของบางบริษัท เช่นผู้ผลิตอาวุธและยุทธปัจจัยในอเมริกาต่างก็ได้ประโยชน์และวิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกิจการหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ถูกกระทบเพราะคนคง ลดการใช้ลงไปมาก

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางบริษัทได้ประโยชน์แม้ว่าส่วนใหญ่จะเสียหาย อย่างไรก็ตามกรณีของน้ำท่วมนี้ เรารู้ผลลัพธ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าในไม่ช้าน้ำก็จะลดลงหรือแพ้ไปตามธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาจึงมีเพียงว่าบริษัทจะได้รับความเสียหายแค่ ไหนและความเสียหายนั้นจะต่อเนื่องต่อไปอีกนานเท่าไร ภาพโดยรวมแล้วผมคิดว่าบริษัทที่น่าจะเสียหายมากที่สุดก็คือบริษัทที่ตั้ง อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือมีทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรง โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมหนักและบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินและโครงการจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นที่ถูกกระทบ รุนแรงและการผลิตหรือการดำเนินงานต้อง “สะดุด” หยุดลงชั่วคราว ส่วนบริษัทที่ได้ประโยชน์หรือเสียหายน้อยก็คือบริษัทที่อาจจะมียอดขายลดลง บ้างในช่วงนี้แต่จะกลับมาขายดีขึ้นเมื่อน้ำลด เช่น บริษัทขายวัสดุก่อสร้างหรือบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็นทั้งหลาย แต่โอกาสจริงๆ คือ เราจะต้องพิจารณาว่าราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณานั้นตกลงมาแค่ ไหนเมื่อเทียบกับผลกระทบที่บริษัทได้รับ
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 25 ตุลาคม 2554

ทุนเสน่หา


คนจะรวยได้ต้องมี ทุน ยิ่งมีทุนมากโอกาสมั่งคั่งก็มาก เพราะทุนคือทรัพยากรที่สร้างหรือทำเงินให้เรา คนไม่มีทุนหรือมีทุนน้อย โอกาสรวยแทบเป็นศูนย์

ดูเหมือนคนไม่มีทุน โอกาสรวยมากที่สุด ก็คือ การถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง ซึ่งก็คือโอกาสหนึ่งในหลายๆ ล้าน และถึงจะรวยก็คงรวยไม่มากไม่ถึงร้อยล้าน

ผมพูดแบบนี้อาจทำให้หลายคน มีข้อโต้แย้งอย่างแรง เพราะเศรษฐีหรือเจ้าสัวหลายคนในเมืองไทย ว่ากันว่าไม่มีทุนเลย หลายๆ คนแทบจะมีแต่ "เสื่อผืนหมอนใบ" ตอนเริ่มต้นสร้างตัว ดังนั้นจะบอกได้อย่างไรว่าคนไม่มีทุนไม่มีวันรวย?

ที่จริงนักลงทุนหลายคนในตลาดหุ้นที่มั่งคั่งร่ำรวยในวันนี้ เริ่มจากทุนน้อยมาก แต่ผมยืนยันว่า ทุนเป็นปัจจัยสำคัญ แทบจะประการเดียวที่ทำให้คนมั่งคั่ง หรือร่ำรวย เพราะทุนในความหมายของผมครอบคลุมทุนหลายแบบ อะไรที่ทำเงินได้ก็เป็นทุนทั้งสิ้น

ทุนแบบแรก คือ ทุนทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Capital เป็นทุนที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ เงินทอง ที่ดินอาคาร หุ้น ทอง เครื่องเพชร และสิ่งของต่างๆ ที่เราจับต้องได้ มีมูลค่าและ/หรือราคาในตลาด คนที่มีทุนประเภทนี้มาก เช่น คนที่ได้รับมรดก หรือได้รับเป็นของขวัญจากพ่อแม่ทั้งให้เปล่า หรือให้ยืม จะมีโอกาสที่เขาสร้างเงิน หรือความมั่งคั่ง ซึ่งก็จะกลับมาเป็นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก คนที่ใช้ทุนไม่เป็น เช่น นำทุนไปลงทุนต่อแล้วขาดทุนจนหมดตัว ดังนั้นการใช้ทุนให้เป็น หรือใช้อย่างฉลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งไม่น้อยไปกว่าการ มีทุนเหมือนกัน

ทุนแบบที่สองคือ "ทุนมนุษย์" หรือ Human Capital นี่ก็ คือความรู้ ความสามารถและทักษะของเรา ซึ่งผมคิดว่า IQ มีส่วนสำคัญกำหนดว่าเราจะมีทุนแบบนี้มากน้อยแค่ไหน ทุนมนุษย์ เป็นทุนที่สร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง นั่นก็คือ ถ้าเราตั้งใจเรียนหมั่นศึกษาหาความรู้ เราก็สามารถเพิ่มพูนทุนนี้ได้ ทุนมนุษย์ ในอดีตอาจจะสร้างเงินไม่ได้มากมายนักเทียบกับทุนทางเศรษฐกิจ และมักจะมีคำกล่าวเสมอว่า "การรับจ้างกินเงินเดือนไม่มีวันรวย" แต่ในโลกที่เจริญขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ขึ้น และมีการแบ่งแยกระหว่างเจ้าของกิจการกับผู้บริหารมากขึ้น การใช้ทุนมนุษย์ หรือความสามารถ ก็ทำเงินให้ได้มหาศาลไม่แพ้คนที่มีทุนทางเศรษฐกิจ

ทุนแบบที่สามคือ "ทุนทางสังคม" หรือ Social Capital คือการใช้ Connection หรือความสัมพันธ์ทำเงิน คนที่มีทุนแบบนี้มาก คือคนที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นๆ หรือเป็นคนที่มีภาพพจน์ดี โดยเฉพาะกับคนที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองได้ ก็สามารถใช้ความสัมพันธ์นั้นทำเงิน หรือทำให้ตนเองมั่งคั่ง ได้มากกว่าคนที่มีทุนแบบนี้น้อยกว่า แน่นอนว่าคนบางคน มีทุนแบบนี้มาก แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางการเงิน ก็จะไม่ร่ำรวย หรือมั่งคั่งเพิ่ม และนี่ก็เหมือนกับทุนอย่างอื่น ที่คนบางคนอาจมี แต่ทิ้งไว้เฉยๆ หรือบริหารทุนแบบผิดพลาด ประโยชน์ก็ไม่เกิดขึ้น

ทุนตัวสุดท้าย คือสิ่งที่ผมอยากเรียกว่า "ทุนเสน่หา" หรือ Erotic Capital ถ้าจะพูดแบบเท่ๆ คือทุนพวก "สวย มีเสน่ห์ และเซ็กซี่" นี่เป็นทุนที่มีบทบาท หรือสร้างเงินและความมั่งคั่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมยุคข่าวสารข้อมูล ทุนเสน่หาในอดีตมักถูก "กีดกัน" ไม่ให้สามารถสร้างความมั่งคั่งหรือร่ำรวยได้ ด้วยเหตุผลทางสังคมและการปกครอง ในอดีตสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก แม้แต่นักร้องหรือดาราระดับซูเปอร์สตาร์ยังต้อง "ปากกัดตีนถีบ" คนที่เรียนจบปริญญาตรีไม่มีใครยอมเป็นดารา เพราะถูกมองว่าเป็นคน "เต้นกินรำกิน" ลูกหลาน "ไฮโซ" ในสังคมไม่ยอมให้ลูกเป็นดารา หรือไปแต่งงานกับดารา แต่เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม ทุกคนอยากเป็นดาราหรือแฟนดารา ดาราระดับซุปตาร์ ทำเงินมหาศาลและหลายคนร่ำรวยกว่าคนที่เป็นลูกหลานไฮโซ

แน่นอน ทุนเสน่หา ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงบันเทิง คนที่เกิดมาสวยหรือหล่อ ร่างกายสูงและรักษาน้ำหนักไม่ให้อ้วน เป็นคนยิ้มมีเสน่ห์ประทับใจ บางคนดู "เซ็กซี่" สำหรับเพศตรงข้าม คนแบบนี้ถือว่ามีทุนเสน่หาสูง และถ้ารู้จักใช้มันให้เป็นประโยชน์ เช่น ไปทำงานในแวดวงที่ให้คุณค่ากับ Erotic Capital มาก เช่นงานที่เกี่ยวข้องกับคนบันเทิงหรืองานบริการ พวกเขาจะทำเงินได้มาก และแม้แต่งานอื่นทั่วๆ ไป ความ "เสน่หา" ก็ช่วยเพิ่มความสำเร็จ หรือเพิ่มเงินให้พวกเขาได้

การศึกษาในต่างประเทศพบว่า คนหน้าตาดีประเภทหล่อหรือสวย ได้เงินเดือนโดยเฉลี่ยสูงกว่าคนหน้าตาขี้เหร่ 15-20% ในอาชีพทั่วๆ ไป ยิ่งหนักกว่านั้นคือ คนสูงจะทำเงินมากกว่าคนเตี้ย 20-25% ตรงกันข้ามคนอ้วนได้เงินเดือนต่ำกว่าคนน้ำหนักปกติ 10-15% และที่น่าแปลกคือ ผลกระทบถ้าเป็นผู้ชายส่วนใหญ่จะสูงกว่าผู้หญิง

ทุนเสน่หา ในอดีตดูเหมือนว่าจะขึ้นอยู่กับ "ดวง" เสียมาก นั่นคือเกิดมาสวยหล่อและสูง แต่ปัจจุบันนี้เราเพิ่มทุนตัวนี้ได้พอสมควร เช่น การทำศัลยกรรม การลดน้ำหนัก การเข้ายิม การทำสีผิวให้ขาว และการแต่งหน้าและแต่งตัวให้ดูดี การลงทุนเพิ่มทุนเสน่หาให้กับตัวเอง จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่อาจเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า    คนจำนวนมาก อาจไม่ตระหนักว่าการมีหน้าตาดี หุ่นสูงใหญ่ แต่งตัวดี จะไปเกี่ยวอะไรกับการทำงานอาชีพ เช่น ผู้บริหารที่ต้องใช้ประวัติการศึกษา ทักษะ และความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาตัดสินใจอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงคือ คนที่มีทุนเสน่หาสูง มักได้รับการโปรโมตดีกว่าคนที่มีคุณสมบัติอื่นเท่าๆ กัน พวกเขามักได้เงินสูงกว่า ถูกเลือกให้เข้าทำงานมากกว่าคนที่หน้าตาและหุ่นไม่ให้ ทั้งๆ ที่งานเหล่านั้นไม่ได้เกี่ยวกับรูปร่างและหน้าตา

ทุนทั้งสี่แบบนั้น มีการเพิ่มและลดได้ ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวที่จะทำ เช่น คนที่มีทุนเป็นเงินก็มักจะไปเพิ่มทุนมนุษย์ ทุนสังคม และทุนเสน่หา ซึ่งอาจกลับไปทำให้เขาเก่ง  มีสายสัมพันธ์และดูดี ซึ่งจะทำให้เขาทำเงินเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเงินที่ลงไป ตัวทุนเองก็เปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ เช่น ตัวทุนเสน่หา เมื่อเวลาผ่านไป ทุนนั้นจะลดลงตามธรรมชาติ ดังนั้นคนที่มีทุนตัวนี้ แต่ไม่ได้ใช้ในเวลาที่เหมาะสมอาจจะเสียโอกาสไป 

ทั้งหมดนั้น เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของทุน ซึ่งทุกคนมีแต่หลายคนอาจรู้ไม่ครบว่าตนเองมี เจ้าสัวที่รวยได้แม้เริ่มจากเสื่อผืนหมอนใบ หรือนักลงทุนที่รวยโดยเริ่มจากเงินทุนเพียงเล็กน้อย แท้จริงแล้วพวกเขาคงมีทุนมนุษย์ที่มากล้นแต่คนมองไม่เห็น แต่ถ้าเราเข้าใจทุนจริงๆ แล้ว จะไม่สงสัยเลยว่าความมั่งคั่งส่วนใหญ่มาจากทุนทั้งสิ้น 

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 ตุลาคม 2554

จะซื้อหรือขายหุ้น


ในช่วงที่ตลาดหุ้น ตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาสั้นๆ คนที่ไม่ได้ถือหุ้นอยู่ หรือถือไว้น้อยมาก ก็มักจะถามว่า “ซื้อหุ้นได้หรือยัง?”
คนกลุ่มนี้มักจะเป็นนัก เล่นหุ้นสมัครเล่น  และเป็นคนมีเงินที่พร้อมเข้าไปเสี่ยงเก็งกำไรจากตลาดหุ้นเป็นครั้งคราว  กลยุทธ์ของเขา ก็คือ  ช้อนซื้อหุ้นในช่วงที่มันตกต่ำเพราะตลาดเกิด  “แพนิค”  นั่นคือ  นักลงทุนตกใจจากภาวะน่ากลัวทางเศรษฐกิจและเทขายหุ้นอย่างหนัก  ทำให้ดัชนีปรับตัวลงแรง  ความเชื่อของพวกเขา ก็คือ  เมื่อหุ้นตกลงมาแรง   มันก็มักจะ  “กระเด้ง”  กลับขึ้นไปอย่างแรงเช่นกัน  ดังนั้น  เขาอยากรู้ว่าดัชนีที่ตกต่ำลงมามากในระยะเวลาอันสั้นนั้น  ถึง  “พื้น” หรือยัง  ถ้าผมตอบว่า  “หุ้นมันก็ลงมามากน่าสนใจแล้ว-ถ้าถือไปสัก 2-3 ปี”  เขาก็จะเข้าไป “ช้อน” ซื้อหุ้นทันที

เกณฑ์ที่ผมใช้ในการให้คำแนะนำที่  “จำเป็น”  ต้องทำนี้ ก็คือ  ผมจะดูว่าดัชนีหุ้นได้ตกลงมามากน้อยแค่ไหน-จากต้นปี   ผมเองไม่เคยจำดัชนีสูงสุดในระหว่างปีได้และก็ไม่สนใจดูด้วยเพราะผมชอบมอง ระยะยาวมากกว่า  ถ้าผมพบว่าหุ้นได้ตกลงมามากพอสมควรนับจากต้นปี  ผมก็คิดว่าความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนก็น่าจะน้อยลง  อย่างไรก็ตาม  นี่จะต้องประกอบกับการดูย้อนหลังไปอย่างน้อย 2-3 ปีด้วยว่า  ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน  ถ้าหุ้นติดลบมาต่อเนื่องกัน  ผมก็จะรู้สึกว่าความเสี่ยงในการเข้าไปซื้อหุ้นก็น่าจะลดลงไปอีก  แต่ถ้า 2-3 ปีนั้น  หุ้นได้ขึ้นมามากอย่างที่เป็นอยู่  ผมก็จะระวังมากขึ้น  ลึกๆ  แล้ว ผมคิดว่าถ้าสิ้นปีนี้  ดัชนีต่ำกว่าสิ้นปีที่แล้วบ้าง  ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ  ดังนั้น  การที่ดัชนีหุ้นในช่วงนี้ต่ำกว่าเมื่อตอนต้นปีประมาณ 10%  มันก็ไม่น่าจะบอกได้ว่าหุ้นในขณะนี้มีราคาต่ำมากมายอะไรนัก แม้ว่ามันจะตกลงมากว่า 20% แล้วถ้านับจากกลางปี  เหนือสิ่งอื่นใด  สถิติหุ้นไทยนั้น  ในเวลา 10 ปี  หุ้นจะขึ้นประมาณ 6 ปี  และหุ้นจะตกประมาณ 4 ปี

นอกจากเรื่องของผลตอบแทนที่ผ่านมาทั้งปีปัจจุบันและปีย้อนหลัง 2-3 ปีแล้ว   ผมยังดูด้วยว่าดัชนีที่ตกลงมามากนั้น  ทำให้ค่า PE  ค่า PB  และผลตอบแทนจากปันผลจะเป็นเท่าไร  ถ้าค่า PE และค่าอื่นๆ  นั้น ชี้ว่าหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยไม่แพง  ผมก็จะถือว่าความน่าสนใจในการซื้อหุ้นน่าจะอยู่ในระดับกลางๆ

ขณะเดียวกัน เรื่องของค่าความถูกความแพงของตลาดที่วัดด้วย PE และค่าอื่นๆ  แล้ว  ผมยังต้องดูสภาวะทางเศรษฐกิจการเงินของโลกและประเทศไทยด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ในช่วง 1-2 ปีที่จะมาถึง  ถ้าสภาวะไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงที่จะเลวร้ายลงมากโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย   ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นก็จะสูงขึ้น   แต่ถ้าผมมั่นใจว่าอย่างไรเสียเศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังดีอยู่พอสมควรแม้ว่า เศรษฐกิจต่างประเทศอาจจะไม่ดีนัก  แบบนี้  การที่หุ้นตกเพราะคนกลัวภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจจะเป็นโอกาสของการเข้าไปช้อนซื้อหุ้นได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยมีหุ้นอยู่ในมือและก็ มักจะไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นหรือทุ่มเทกับการลงทุนมากนัก  แต่สำหรับคนที่ถือหุ้นอยู่มากและเอาจริงเอาจังกับการลงทุนคำถามก็มักจะกลับ กันว่าการที่หุ้นตกหนักมากนั้น  เขาควรขายหุ้นหรือเปล่า เพื่อลดการสูญเสีย  เขาควรรักษาเงินสดเอาไว้เพื่อรอกลับมาซื้อหุ้นที่จะตกต่ำและถูกลงไปอีกหรือ ไม่  พวกเขาคิดว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายในต่างประเทศอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทย ถดถอยลง   และนั่นจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและทำให้หุ้นตกลง  ดังนั้น  แม้ว่าค่า PE ตลาดในปัจจุบันอาจจะไม่สูง  หุ้นราคาไม่แพง  แต่ในอนาคตค่า PE  ก็จะสูงขึ้นเพราะค่า E หรือกำไรจะลดลง  ถ้าเป็นแบบนี้หุ้นก็จะตกลงไปอีก  ดังนั้น  ทางออกที่ดีกว่า ก็คือ  ขายหุ้นทิ้ง  อย่างน้อยก็บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงลง  และเมื่อหุ้นตกต่ำถึง “พื้น” แล้วค่อยคิดซื้อหุ้นคืนภายหลัง

ประเด็น ก็คือ  เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าหุ้นที่ได้ปรับตัวลงมาอย่างหนัก แล้ว  จะตกลงต่อไป  ประสบการณ์ในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์  “วิกฤติ”  และทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น  ก็จะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะ “กระเด้ง”  ขึ้นมารุนแรงเป็นช่วงๆ  และก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเลยหรือจะตกลงไปใหม่อีก  ที่ยิ่งยากไปกว่านั้น ก็คือ  หุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีพฤติกรรมการขึ้นลงแตกต่างจากภาวะตลาดโดยรวม ด้วย  นั่นคือ  หุ้นตัวที่ถืออยู่อาจจะแย่หรือดีกว่าตลาด  ทำให้การวิเคราะห์ภาวะตลาดได้ถูกต้องนั้น  ไม่มีประโยชน์  เช่น  ดัชนีตลาดอาจจะลงต่อ  แต่หุ้นที่เราถืออยู่บางตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปแล้ว  ดังนั้น  ถ้าเราขายหุ้นไปโดยหวังว่าหุ้นจะลงแล้วเราเข้าไปซื้อกลับมาก็จะเป็นการ ตัดสินใจที่ผิดพลาด

สุดท้าย  สำหรับคนที่มีหุ้นจำนวนหนึ่งและก็มีเงินสดที่พร้อมจะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มเติม ได้  สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ  เขาอาจจะอยากถามว่า  เขาควรขายหุ้นที่มีอยู่หรือซื้อหุ้นเพิ่มดี  คำถามของเขาก็คงมาจากความคิดว่าหุ้นในขณะนั้น  ถูกหรือแพง  และคำตอบ ก็คือ  เขาไม่มั่นใจ  แต่ละวันที่ผ่านไปเขาอาจจะพยายามประเมินด้วยความกระสับกระส่ายเมื่อเห็นราคา หุ้นที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว  วันหนึ่งเขาอาจจะนึกอยากขาย  แต่อีกวันหนึ่งก็คิดว่าเขาควรจะซื้อเพิ่ม  เขาอยากฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็นของคนที่เขานับถือว่ามีความสามารถและ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และลงทุนในตลาดหุ้นแต่ความเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่ สอดคล้องกัน   สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจขายเพื่อ “ลดความเครียด” โดยการขายหุ้นทิ้ง

ความเห็นของผมสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้อหรือ ขายหุ้นดี  ก็คือ  เราควรอยู่เฉยๆ   เพราะการที่เราคิดไม่ออกระหว่างการซื้อหรือขาย   นั่นอาจจะแปลว่า  ราคาหุ้นอาจจะ “ก้ำกึ่ง”  มากระหว่าง  “ถูกหรือแพง”   นั่นแปลว่า หุ้นคงไม่มี  Margin of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยในกรณีที่เราจะซื้อ  ดังนั้น  การซื้อคงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง   เช่นเดียวกัน  การขายในช่วงที่ตลาดกำลังแพนิคนั้น  ตามประสบการณ์ของผม  มักเป็นการขายที่แย่หรือได้ราคาที่ต่ำที่สุด  เพราะถึงแม้ว่าตลาดยังมีแนวโน้มที่จะลงอยู่  แต่ในระยะสั้นๆ  บ่อยครั้งหุ้นมักกระเด้งกลับขึ้นมาให้เราได้ขายในราคาที่ดีกว่าวันที่หุ้นตก รุนแรงแบบคนตื่นตูม  มันจึงไม่ใช่เวลาที่ควรขาย 

สรุปแล้ว  ถ้าเรายังคิดไม่ออกว่าเราควรขายหรือซื้อหุ้น  เราก็ควรจะอยู่เฉยๆ   ในตลาดหุ้นนั้น  ไม่มีใครบังคับให้เราต้องตัดสินใจ  ยกเว้นในกรณีที่เราใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นและหุ้นของเราถูกบังคับขายเพราะ ราคาตกลงมามาก    ซึ่งในกรณีนั้น  มันก็มักจะเป็นหายนะ  และนี่ก็เป็นอีกคำแนะนำหนึ่งของผมว่า  ในยามที่หุ้นมีความผันผวนและอาจจะมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น  อย่าใช้มาร์จิน  และถ้าเรามีเงินกู้มาร์จินอยู่  จงลดมาร์จินให้หมด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 11 ตุลาคม 2554

คนแจวเรือ

ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษ และก็เช่นเคย ผมมีข้อสังเกตจาก สิ่งที่พบเห็น
เรื่องแรก คือ ผมเพิ่งตระหนักว่า พนักงานบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟอาหารตามภัตตาคารโดยเฉพาะในอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ 30-40 ปี ที่เป็นผู้หญิงมีน้อยมาก ทำให้ผมแปลกใจ เพราะบ้านเรา หรือแถบเอเชีย มักจะเห็นผู้หญิงมากกว่า ทำให้ผมคิดว่า งานในอิตาลี หรือหลายๆ ประเทศในยุโรปคงจะหายาก งานเสิร์ฟจึงเป็นงานที่มีรายได้ดี จึงมีคนแย่งกันทำ และผู้ชายเข้ามาทำกันมาก และไม่ใช่เป็นงานชั่วคราวเพื่อรองานอื่น แต่เป็นอาชีพที่ "พ่อบ้าน" ทำกันเป็นงานประจำ ผมนึกต่อไปถึงญี่ปุ่น ผมเคยเห็นผู้ชายอายุมากทำงานเป็นคนนั่งเฝ้าสถานที่อาบน้ำร้อนของผู้หญิง

อุทาหรณ์เรื่องนี้ คือ แรงงานที่สำคัญถูกใช้ไปทำงานที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่ามากนักทางเศรษฐกิจ อาจบ่งบอกว่า ในระยะยาว ประเทศ อาจจะไปไม่ได้ไกลมากนัก จากจุดที่เป็นอยู่ ผมเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงอิตาลีหรือยุโรป ทำงานอะไรเป็นหลัก หรืออยู่มากในภาคไหนของเศรษฐกิจ

เรื่องที่สอง ก็คือ คนแจวเรือกอนโดลา ที่เมืองเวนิส เรือกอนโดลา เป็นเรือโบราณที่นักท่องเที่ยวใช้นั่งชมเมือง เป็นเรือที่ใช้คนพาย แต่สิ่งที่ผมทึ่ง ก็คือ ค่าจ้างของคนพายเรือ ในเวลาครึ่งชั่วโมงของการให้บริการ คนพายเรือคิดค่าบริการตกเป็นเงินไทย 4,000-5,000 บาท คร่าวๆ ถ้าทำ วันละ 4-5 เที่ยว โดยเฉลี่ยได้เงินวันละ 20,000 บาท เดือนหนึ่งถ้าทำสัก 20 วัน ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 แสนบาท ถ้าเป็นคนไทยรายได้ขนาดนี้ คงต้องเป็นคนระดับซีอีโอของบริษัท ผมเชื่อว่าอาชีพนี้คงมีการสงวนไว้เฉพาะแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้

ความเชื่อของผมเรื่องนี้ คือ รายได้ของคนแจวเรือกอนโดลา ซึ่งผมดูแล้ว ไม่ได้มีทักษะพิเศษอะไร แต่ได้ผลตอบแทนสูงมาก เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานหนักเท่าๆ กันในเมืองไทย หรือประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ แสดงว่า คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ คงได้เงินเดือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับงานที่ทำ แต่ถ้าถามว่า ทำไมนักท่องเที่ยวยอมจ่าย คำตอบ คือ เมืองเวนิส เป็นเมืองสุดยอดที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งของโลก ผมหรือคนจำนวนมากจึงยอมจ่าย เพื่อโอกาสอันพิเศษสุดนี้ ถ้าเปรียบไป คนเอเชียหรือคนเมืองอื่นที่มาเที่ยวเวนิส หรืออีกหลายๆ เมืองในอิตาลี หรือในยุโรปยอมทำงานหนักและงานที่ใช้ความสามารถสูง เพื่อจะผลิตสินค้ามาให้คนเวนิสใช้เต็มที่ โดยที่คนเวนิสอาจตอบแทนด้วยการให้คนเหล่านั้นมาพักและนั่งเรือกอนโดลาที่พาย โดยคนเวนิสปีละครั้ง ดูไปแล้วไม่ใคร่ยุติธรรม แต่ผมก็ไม่รู้ว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าไร

เรื่องที่สาม ที่น่าแปลกใจ คือ ห้าง สินค้าแบรนด์เนมหรูหลุยส์วิตตอง ในกรุงลอนดอน พบว่า ลูกค้าต้องเข้าคิวรอเข้าชมสินค้า เพราะเขาจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าชมและซื้อสินค้า แต่สิ่งที่น่าทึ่ง คือ 80-90% ของคนที่อยู่ในร้านและรอคิวอยู่ เป็นคนหน้าตาแบบ เอเชีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว สินค้าของหลุยส์วิตตอง เราทราบดีว่าราคาสูงกว่าต้นทุนมาก เรียกว่าทำกำไรให้กับเจ้าของมหาศาล และผมเชื่อว่า ผลิตในแถบเอเชียด้วยต้นทุนต่ำมาก และขายให้คนเอเชียในราคาสูงมาก เปรียบไปแล้วเหมือนกับว่า คนเอเชียต้องทำงานหนัก เพื่อผลิตสินค้าให้คนยุโรปใช้ แล้วกลับไปขอแบ่งสินค้าบางส่วนกลับมา พร้อมกับความยินดีที่ได้สินค้ามีชื่อเอามาอวดเพื่อนที่บ้าน

พูดถึงสินค้าแบรนด์เนม ในระหว่างที่อยู่อังกฤษ ผมได้ข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตและขายสินค้าแบรนด์ดังอย่างปราด้า ซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อมิวมิว กำลังขายสินค้าดีระเบิดในเอเชีย หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคนเอเชีย เห่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมดังๆ แบบเดียวกับคนอังกฤษเข้าห้างไพร์มมาร์ค ซึ่งเป็นห้างขายสินค้าแฟชั่นราคาถูกคุณภาพดีกลางกรุงลอนดอน ผมฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่า บางทีโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป คนอังกฤษและคนยุโรปกำลังหันมาซื้อสินค้าราคาถูกคุณภาพใช้ได้ ส่วนคนเอเชีย ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากให้กับคนยุโรปเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ "หน้าตา"  ผมก็ไม่รู้ว่าแนวทางธุรกิจแบบนี้ จะไปได้นานแค่ไหน ถ้าให้เดาจากคิวของลูกค้าร้านหลุยส์วิตตอง ผมคิดว่าคงไม่เร็วนักที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้

จากเหตุการณ์ 3 เรื่องนี้ ผมเองสรุปว่า ยุโรปวันนี้ น่าจะเป็นยุโรปที่กำลัง "ตกดิน" มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ยังสูงมากวันนี้ ดูเหมือนกำลังหยุดนิ่งและค่อยๆ ลดต่ำลง คนทำงานน้อยลง คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำงาน นั่นคือ ตกงาน และไม่ได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูงนัก จำนวนมากทำงานบริการพื้นๆ ที่คนเอเชียทำได้ดีไม่แพ้กัน

สิ่งที่ทำให้ยุโรปยังดำรงความโดดเด่น คือ ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนานและยิ่งใหญ่ มีโบราณสถานที่ทำให้คนมาท่องเที่ยว และยอมจ่ายเงินแพงมาก และยัง "ผูกขาด" เรื่อง "การเป็นผู้มีรสนิยมสูง" ผ่านสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก สองสิ่งนี้ มีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงของยุโรปไว้ การที่ยุโรปจะก้าวหน้าหรือโตต่อไป ดูแล้วน่ายากเหลือเกิน พื้นฐานสำคัญจริงๆ ของการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงได้จริงๆ ในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ ก็คือ คุณต้องทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสูง

พูดมาเสียยาว ถ้าจะถามว่านี่จะมีอะไรเกี่ยวกับการลงทุนหรือเปล่า? คำตอบของผม คือ คงเกี่ยวบ้างในแง่วิเคราะห์สถานการณ์ยุโรป ที่กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงช่วงนี้ ในความคิดของผม คนยุโรป น่าจะใช้ชีวิตที่สูงกว่าความสามารถของตนมานานโดย ผ่านการกู้หนี้ หรือ "ยืมอนาคตมาใช้" แต่อนาคตที่ว่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีอยู่จริง ยุโรปจึงต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลง

นี่คือ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น อาจผ่านสิ่งที่เรียกว่า "วิกฤติเศรษฐกิจ" ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมกำลังทำนายว่ากรีซจะ "ไปไม่รอด" หรืออิตาลีจะต้องประสบภาวะวิกฤติเร็วๆ นี้ บางทียุโรปอาจลดมาตรฐานการดำรงชีวิตลงอย่างช้าๆ เทียบกับคนเอเชียได้ โดยไม่ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่า ยุโรป กำลังตกดิน และจะไม่กลับมายิ่งใหญ่อีกในชั่วอายุของเรา

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 4 ตุลาคม 2554