Monday, October 24, 2011

Blitzkrieg


น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ทำให้ผมนึกไปถึงสงครามโลกครั้งที่สอง เปรียบเทียบประเทศไทยก็คล้ายๆ กับฝรั่งเศสหรืออังกฤษ

ขึ้นอยู่กับว่าผลของน้ำ ท่วมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ส่วนน้ำนั้นก็คือเยอรมนี สงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นมหาสงครามระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษและพันธมิตรอื่นๆ กับเยอรมนี ส่วนน้ำท่วมใหญ่นั้นเป็น “มหาสงคราม” ระหว่างประเทศไทยกับมวลน้ำมหาศาลที่กำลังบุกเข้าโจมตีกรุงเทพฯ

สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มจริงๆ ในเดือนกันยายน ปี 1939 เมื่อฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสต้องประกาศสงครามกับ เยอรมนี แต่ในความเป็นจริงการรบระหว่างสองค่ายยังไม่เกิดขึ้น คนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไป ยังคงฉลองคริสต์มาสกันตามปกติ แต่ในทางตรงกันข้าม  เยอรมนีนั้นกำลังเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์และฝึกซ้อมทหารอย่างขะมักเขม้นเพื่อ เตรียมบุกยึดประเทศศัตรู  ถ้าเปรียบไปก็คงเหมือนช่วงประมาณเดือนมิถุนายนปีนี้ที่น้ำเริ่มท่วมในชนบท ของไทยหลายแห่งแต่ก็ไม่ใคร่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นการท่วมที่ใหญ่โตอะไร นัก ในเวลาเดียวกัน  น้ำฝนก็เริ่มตกลงมาและสะสมพลังน้ำไว้มหาศาลโดยที่ไม่มีใครตระหนัก  และเขื่อนต่างๆ ยังกักเก็บน้ำตามปกติ มหาสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะเริ่มแล้ว..  เช่นเดียวกับ “มหาสงครามน้ำ” ในประเทศไทย

ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 1940 เยอรมนีก็เริ่มสงครามเปิดศึก Blitzkrieg หรือการรุกแบบ “สายฟ้าแลบ” เข้ายึดเดนมาร์ก นอร์เวย์ เบลเยียม ประเทศยุโรปที่อยู่ทางใต้หลายประเทศ และยึดฝรั่งเศสได้ในวันที่ 22 มิถุนายน 1940 ใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน จากนั้นก็เตรียมบุกอังกฤษซึ่งมี “ป้อมปราการ” ที่เป็นช่องแคบอังกฤษขวางอยู่

Blitzkrieg นั้น เป็นกลยุทธ์การรบที่เยอรมนีใช้หน่วยรถถังแพนเซอร์ที่เคลื่อนที่เร็วและทรง พลานุภาพพร้อมๆ กับกองกำลังทหารจำนวนมหาศาลบุกเข้าโจมตีแนวป้องกันต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามจุดแล้วจุดเล่า ทุกแห่งนั้นไม่สามารถป้องกันได้และ “แตก” อย่างรวดเร็ว ในกรณีของฝรั่งเศส “แนวป้องกันมายิโนต์” ซึ่งสร้างอย่างยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมากและคิดว่า “ไม่มีใครสามารถผ่านไปได้” ก็ถูก “อ้อม” และผ่านไปในที่สุด ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรสามารถต้านทานกองทัพเยอรมนีได้

ประมาณ เดือนสิงหาคม 2554 น้ำก็เริ่ม “บุก” จังหวัดต่างๆ ทางภาคเหนือของไทยตั้งแต่เชียงใหม่ และต่อมาที่นครสวรรค์ อยุธยา ปทุมธานี ทุกเมืองต่างก็สร้าง “เขื่อน” ป้องกันและ “ต่อสู้” กับน้ำในทุกรูปแบบแต่ก็ล้มเหลว เช่นเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเปรียบเสมือนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเทียบได้ กับโรงงานผลิตอาวุธที่จำเป็นในสงคราม ต่างก็ “แตก” อย่างง่ายดายทุกที่ที่น้ำผ่าน มวลน้ำมหาศาลที่ไหลบ่ามานั้นก็คงเหมือนรถถังแพนเซอร์และกองกำลังของเยอรมนี ที่มีประสิทธิภาพสูงจนไม่มีใครสามารถทานได้ ในเวลาเพียง 2-3 เดือนน้ำก็มาจ่ออยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้สร้าง “ป้อมปราการ” เป็นแนวป้องกันที่แข็งแกร่งและหวังว่าจะ “ไม่มีมวลน้ำที่จะผ่านไปได้”

ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมเองก็ยังไม่ทราบว่ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเขตชั้นในจะรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จ กรุงเทพฯ ก็คงจะเปรียบเหมือนฝรั่งเศสที่ถูกยึด แต่ถ้ากรุงเทพฯ รอดพ้นจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ไปได้ก็คงจะเหมือนกับอังกฤษ ที่รอดพ้นจากการยึดครองเพราะมีช่องแคบขวางอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้อังกฤษรอด อยู่ที่กองทัพเรือและกองทัพอากาศที่มีประสิทธิภาพในการที่จะยับยั้งฝ่าย เยอรมนีไม่ให้รุกข้ามช่องแคบมาได้  เหนือสิ่งอื่นใดกำลังใจที่เข้มแข็งและความสามัคคีอันยิ่งใหญ่ของชาวอังกฤษ เป็นปัจจัยชี้ขาดทำให้อังกฤษเอาชนะฝ่ายเยอรมนีได้สำเร็จ

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีนั้น ถ้ามองกันในภาพใหญ่จริงๆ แล้วก็คือ  เยอรมนีมีทรัพยากรหรือกำลังไม่พอที่จะทำสงครามยืดเยื้อยาวนานได้ เช่นเดียวกัน น้ำนั้นก็มีพลังเพียงเท่าที่มันยังอยู่ในที่สูงและอยู่บนพื้นดิน ซึ่งในไม่ช้าน้ำทั้งหมดก็จะต้องไหลลงทะเลเป็นส่วนใหญ่และก็จะหมดพลังไปในที่ สุด เรารู้ว่าในที่สุดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยก็ต้องจบลงไป แต่ในขณะนี้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

ในแง่ของผู้คนทั่วไป ผมดูแล้วผลกระทบก็น่าจะคล้ายกัน ในสงครามมีผู้อพยพและศูนย์ผู้ลี้ภัย น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็คล้ายกัน ในสงครามผู้คนต่างก็ต้องกักตุนอาหาร เช่นเดียวกัน น้ำท่วมครั้งนี้สินค้าจำนวนมากถูกกวาดจากชั้นวางของในห้าง ซึ่งรวมถึงน้ำ อาหารแห้งและอาหารกระป๋อง เราเห็นความแตกตื่นของผู้คนที่หนีการสู้รบและหนีน้ำไม่ต่างกัน แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเสียหายของทรัพย์สินที่มากมายมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและของใช้ภาย ในบ้านที่จะหายไปกับสงครามและสายน้ำ แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

ในมหาสงครามโลกครั้งที่สองนั้น แน่นอน ถือเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ แต่วิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอโดยเฉพาะในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นทั้งในอเมริกาและอังกฤษในช่วงของสงครามมีราคาขึ้นลงหวือหวาช่วงที่ ฝรั่งเศสและอังกฤษเพลี่ยงพล้ำ ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างแรง แต่ในยามที่เยอรมนีปราชัย ตลาดหุ้นก็วิ่งขึ้น เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของบางบริษัท เช่นผู้ผลิตอาวุธและยุทธปัจจัยในอเมริกาต่างก็ได้ประโยชน์และวิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกิจการหลายอย่างโดยเฉพาะที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยก็ถูกกระทบเพราะคนคง ลดการใช้ลงไปมาก

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เช่นกัน บางบริษัทได้ประโยชน์แม้ว่าส่วนใหญ่จะเสียหาย อย่างไรก็ตามกรณีของน้ำท่วมนี้ เรารู้ผลลัพธ์ชัดเจนอยู่แล้วว่าในไม่ช้าน้ำก็จะลดลงหรือแพ้ไปตามธรรมชาติ ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาจึงมีเพียงว่าบริษัทจะได้รับความเสียหายแค่ ไหนและความเสียหายนั้นจะต่อเนื่องต่อไปอีกนานเท่าไร ภาพโดยรวมแล้วผมคิดว่าบริษัทที่น่าจะเสียหายมากที่สุดก็คือบริษัทที่ตั้ง อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมหรือมีทรัพย์สินอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมรุนแรง โดยเฉพาะบริษัทที่มีโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมหนักและบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีที่ดินและโครงการจมอยู่ใต้น้ำ ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบรองลงมาก็คือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอื่นที่ถูกกระทบ รุนแรงและการผลิตหรือการดำเนินงานต้อง “สะดุด” หยุดลงชั่วคราว ส่วนบริษัทที่ได้ประโยชน์หรือเสียหายน้อยก็คือบริษัทที่อาจจะมียอดขายลดลง บ้างในช่วงนี้แต่จะกลับมาขายดีขึ้นเมื่อน้ำลด เช่น บริษัทขายวัสดุก่อสร้างหรือบริษัทที่ขายสินค้าจำเป็นทั้งหลาย แต่โอกาสจริงๆ คือ เราจะต้องพิจารณาว่าราคาหุ้นของแต่ละบริษัทที่เรากำลังพิจารณานั้นตกลงมาแค่ ไหนเมื่อเทียบกับผลกระทบที่บริษัทได้รับ
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 25 ตุลาคม 2554

No comments:

Post a Comment