Wednesday, November 16, 2011

NPA

ความคิดต่อไปนี้ เกิดขึ้นเมื่อผมต้องย้ายข้าวของภายในบ้านจากที่ต่ำไปสู่ที่สูง เพราะนั่นทำให้ผมพบว่ามีสิ่งของมากมายที่ผมแทบจะไม่เคยได้ใช้ หรือใช้เพียง 2-3 ครั้ง แล้วก็ถูกเก็บเอาไว้จนผมลืมไปแล้วว่ามีอยู่ เครื่องใช้หลายอย่างนั้น ผมซื้อมาเพราะคิดว่ามันน่าใช้ มีประโยชน์ แต่หลังจากนั้นผมก็พบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ เช่น เครื่องออกกำลังกาย เครื่องมือทำความสะอาดบ้านแบบหรูหรา เป็นต้น สิ่งของบางอย่างนั้น ผมได้รับมาจากคนอื่นเป็นของขวัญ  หรือเป็นของรางวัล  ของเหล่านั้น  ผมไม่ต้องการใช้ในขณะนั้น  จึงเก็บไว้  แล้วก็ลืมว่ามันมีตัวตนอยู่  สิ่งของทั้งหมดนั้น  ผมเรียกมันว่า NPA หรือ  non-performing asset  หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์” ทั้งๆ ที่มันอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนอื่น

ลองสำรวจตัวเองแล้ว  ผมก็คิดว่าตนเองไม่ใช่คนที่ซื้อหรือเก็บของอะไรมากมายนัก  ดังนั้น  คนอื่นจำนวนมากก็น่าจะมี NPA อยู่มากโขเหมือนกันโดยเฉพาะคนที่มีบ้านใหญ่โตเก็บของได้มาก  และเมื่อยิ่งคิดไปอีกก็พบว่า  ในความเป็นจริง  ผมหรือคนจำนวนมากนั้น  ไม่ได้มี NPA เฉพาะที่เป็นของใช้ต่างๆ  ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในบ้านเท่านั้น   แต่ยังมี NPA ที่เป็นทรัพย์สินรายการใหญ่ๆ  อีกไม่น้อย  และ NPA  เหล่านั้น  น่าจะมีส่วนทำให้ความมั่งคั่งของเขาถดถอยลงเนื่องจากมัน  “ดูด”  เงินของเราให้  “จม”  ไปกับมันโดยไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้กลับมา

NPA ที่เคยเป็นรายการทรัพย์สินใหญ่ของผมตัวหนึ่งก็คือ  ที่ดินแถวบางบัวทองที่ผมซื้อมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 15 ปีก่อนในช่วงวิกฤติปี 2540 ที่แปลงนั้นมีราคากว่า 5 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในขณะนั้นของผมและผมต้องก่อหนี้ถึงกว่า 3 ล้านบาทเพื่อที่จะซื้อมาและพบว่าผมไม่สามารถใช้มันได้เลยเนื่องจากอาณา บริเวณนั้นถูกน้ำท่วมตั้งแต่วันแรกที่ซื้อและท่วมต่อมาอีกเกือบทุกปี การที่จะขายทิ้งแทบเป็นไปไม่ได้ยกเว้นว่าจะขายถูกมากแบบครึ่งราคาซึ่งผมไม่ ยอมทำ  ผมปล่อยให้มันเป็น NPA มาเป็นสิบๆ ปีและนั่นคือความผิดพลาด เพราะถ้าผมขายทิ้งตั้งแต่แรกๆ แม้ในราคาเพียงครึ่งเดียวและนำเงินมาลงทุนในทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้  ป่านนี้มันคงกลายเป็นเงินก้อนโตไปแล้ว

คนที่ซื้อคอนโดมิเนียมไว้ โดยเฉพาะที่อยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวในต่างจังหวัด  แต่ไม่ค่อยได้ไปพัก   เช่นปีหนึ่งอาจจะใช้เพียง  4-5 วัน ในกรณีอย่างนี้เขาอาจจะไม่ตระหนักว่า  มันได้กลายเป็น NPA เรียบร้อยแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ต้องเสียไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนหรือประโยชน์ที่ได้ รับนั้น  มันไม่สัมพันธ์กันเลย ตัวอย่างเช่น ถ้าคอนโดมีราคา 2 ล้านบาทและเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% เราก็จะได้เงินปีละ 2 แสนบาท เทียบกับการใช้คอนโดของเราประมาณ  4-5 วันต่อปี เท่ากับว่าเราเสียค่าที่พักคืนละ 4-5 หมื่นบาท ดังนั้นต้องถือว่าคอนโดที่เราซื้อมากลายเป็น NPA ไปแล้ว
       
หุ้นหลายตัวที่เราถือมานานหลายปี แต่เมื่อมองย้อนหลังกลับไป พบว่ามันให้ผลตอบแทนน้อยมาก ทั้งจากปันผลที่น้อยนิดและราคาหุ้นที่ไม่ไปไหนมานาน  เหตุผลที่เราไม่ขายทิ้งก็อาจจะเป็นเพราะว่าราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนมาก เราขายไม่ลง หรือเราอาจจะมองว่าหุ้นตัวนั้นมีราคาถูกเป็นหุ้น VALUE และหวังว่าในที่สุดมันก็จะปรับตัวขึ้นมาเอง ดังนั้นเราจึงไม่ขาย ในกรณีแบบนี้ เราอาจจะกำลังถือหุ้นที่เป็น NPA หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็คือเป็น NPS  หรือ non-performing stock  ซึ่งยิ่งถือนานก็ยิ่ง “ขาดทุน”  เพราะถ้าเราขายหุ้นไปแล้วเอาเงินมาลงทุนในหุ้นอื่นที่ดีกว่า เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านไป

สุดท้ายที่ผมเห็นว่าคนจำนวนมากไม่ตระหนักก็คือ การที่เราฝากเงินไว้ในธนาคารจำนวนมากกว่าความจำเป็นเพราะเราไม่รู้เรื่องการ ลงทุนดีพอจริงอยู่ การฝากเงินนั้นแม้ว่าจะปลอดภัยแต่มันก็ให้ผลตอบแทนน้อยมาก ช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละไม่เกิน 2-3%  ต่ำยิ่งกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นในความคิดของผม เงินฝากธนาคารในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็น  NPA โดยที่คนจำนวนมากไม่รู้ตัว

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั่นก็คือ เราต่างก็มีทรัพย์สินที่เป็น NPAจำนวนมาก ดังนั้น วิธีที่จะสร้างความมั่งคั่งที่น่าจะมีประสิทธิภาพที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การตระหนักถึง NPA ที่อาจจะอยู่ในพอร์ตของเราอย่างไม่รู้ตัว การไม่สร้างหรือซื้อทรัพย์สินที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น NPA สูง และการแก้ไขทรัพย์สินที่เป็น NPA โดยวิธีการต่างๆ ซึ่งแน่นอน รวมถึงการขาย NPA นั้นทิ้งแม้ว่าจะได้ราคาน้อยกว่าที่เราคาดหรือคำนวณไว้มากถ้าทำได้แบบนี้   หนทางสู่ความมั่งคั่งคงจะราบเรียบขึ้นเยอะโดยที่เราอาจจะไม่ต้องใช้ความ พยายามมากเกินไป
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 1 พฤศจิกายน 2554

No comments:

Post a Comment