Sunday, July 7, 2013

แรงปรารถนา

ช่วงนี้หรือที่จริงเกิดขึ้นเป็นระยะเรื่อยมา มีข่าวพระสงฆ์มีชื่อเสียงโด่งดัง เข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม “ฆราวาส” เช่น การท่องเที่ยวและใช้สิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือย หรือเกี่ยวพันกับผู้หญิงในแบบที่ไม่เหมาะสม หรือที่ดีขึ้นมาคือ ละเพศบรรพชิตก่อนจะอยู่กินกับผู้หญิง ที่ได้เข้ามาใกล้ชิดช่วงยังเป็นพระอยู่

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆและคงจะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เหตุผลเพราะความรักและกามารมณ์ รวมถึงการท่องเที่ยวและการใช้ของหรูนั้น เป็นเรื่อง “ความต้องการรุนแรง” ของมนุษย์ ที่แม้แต่พระ “ขัดขืน” ยาก เพราะอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่ใน “สมอง” ที่อาจจะคิดและฝืนมันได้ แต่มันเกิดขึ้นใน “ยีน” คนเราที่ต้องการ ซึ่งบ่อยครั้งสมอง “เอาไม่อยู่”

Mission หรือ “ภารกิจ” หลักของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตเป็นสัตว์อย่างอื่นนั่นคือ หนึ่ง ต้องเอาตัวรอด ต้องกินสิ่งมีชีวิตอื่น และหลีกเลี่ยงการถูกกินหรืออันตรายอื่น และสองต้องสืบพันธุ์ขยายเผ่าพันธุ์หรือยีนของตนให้มากที่สุด ส่วนเรื่องวิธีการที่จะทำให้ได้อย่างนั้น น่าจะต้องถือเป็น “ภารกิจรอง”

ยกตัวอย่างเช่น มีคนเคยสงสัยว่าทำไมอดีตประธานาธิบดีคลินตันจึง “เสี่ยง” การสูญเสียตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพียงเพื่อจะได้ “มีเซ็กซ์”กับเด็กฝึกงานคนหนึ่ง คำตอบของนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งผมลืมชื่อแล้วคือ นี่เป็นข้อสงสัยของคนที่ไม่เข้าใจเรื่องของชีววิทยาที่แท้จริง

สำหรับนักวิชาการท่านนี้แล้ว การที่คน “ดิ้นรน” เพื่อจะเป็นประธานาธิบดีนั้น จริงๆไม่ใช่จุดสุดท้ายหรือเป้าหมายสุดท้ายของเขา สิ่งที่เขาต้องการจริงๆคือโอกาสมีเซ็กซ์เพื่อจะสืบทอดเผ่าพันธุ์หรือยีนต่างหาก พูดง่ายๆการเป็นประธานาธิบดีนั้น เป็นหนทางสู่การมีอำนาจ การมีอำนาจเป็นหนทางสู่การอยู่รอด และการสืบพันธุ์ซึ่งเป็นภารกิจหลัก ดังนั้นการมีเซ็กซ์ของคลินตัน จะเรียกว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้ในทางชีววิทยา

ผมเกริ่นมายาวเพื่อบอกว่า เราจะต้องเข้าใจเรื่อง“ความต้องการที่แรงกล้า”ของคน เพื่อจะได้รู้ว่าสินค้าอะไรจะขายดี บริษัทไหนมีโอกาสทำกำไรมากและเติบโตได้ดี หรือเป็น“ซูเปอร์สต็อก” ประเด็นหลักคือ อะไรก็ตามที่สนองตอบต่อการเอาตัวรอด และการสืบพันธุ์ของคน หรือถ้าจะให้ถูกต้องกว่าคือ “ยีน” ที่ดีขึ้น สิ่งนั้นจะเป็นที่ต้องการมากขึ้น

แต่เคล็ดลับดูว่าอะไรคือ “ความต้องการที่แรงกล้า” ของคนนั้น จะต้องมอง “ย้อนหลัง” กลับไปยังอดีตที่โลกยังไม่เจริญ และมนุษย์ผู้ชายยังมีหน้าที่ล่าสัตว์และมนุษย์ผู้หญิงอยู่ถ้ำเลี้ยงลูก และเก็บของป่าเพื่อประทังชีวิตที่ยากลำบากมาก

พฤติกรรมข้างต้นนั้น ดำรงอยู่มานานนับเป็นหมื่นหรือแสนปีซึ่งทำให้มัน “ติดอยู่ในยีน” ซึ่งยังดำรงอยู่ในร่างกายของมนุษย์จนทุกวันนี้ ส่งผลให้เรามีความสามารถและความต้องการอย่างที่เราเป็นในสังคมปัจจุบัน นั่นคือ หนึ่ง ทำให้คนเราโดยเฉพาะผู้ชายชอบมีเซ็กซ์และมีบ่อยๆ มากกว่าผู้หญิงที่ต้องมั่นใจว่าถ้ามีเซ็กซ์และมีลูก ลูกจะต้องมีโอกาสรอด เพราะผู้ชายที่เป็นพ่อมีความสามารถ (สมัยก่อนก็คือการล่าสัตว์ สมัยนี้อาจเป็นการแสดง การเล่นกีฬา การบริหารหรือการลงทุน) มีปัญญาหาเลี้ยงครอบครัวได้

สรุปคือ ผู้ชายชอบผู้หญิงสวย (เพราะผู้หญิงสวยคือคนที่มีสุขภาพดีมีหุ่นดีซึ่งจะมีลูกง่าย) ส่วนผู้หญิงชอบผู้ชายความสามารถสูง รวยและเป็นผู้นำ (รวมถึงถ้าตัวสูงก็จะดีเพราะคนตัวโตมักล่าสัตว์ได้ดี) ประเด็นนี้ทำให้สินค้าเกี่ยวกับความสวยงาม เช่น เสื้อผ้าสตรี กระเป๋า เครื่องประดับและเครื่องสำอาง สถานเสริมสวยทั้งหลาย รวมถึงการศัลยกรรมความงามนั้น เป็นธุรกิจที่ดี เพราะมันเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงในการสืบต่อเผ่าพันธุ์ จึงเป็นความปรารถนาที่แรงกล้าที่ผู้หญิงยินดีจ่าย

ธุรกิจในส่วนของผู้ชายที่น่าจะเป็นความต้องการแรงกล้าอาจจะเป็นเรื่องของรถสปอร์ตหรู มอเตอร์ไซค์หรู ซึ่งเกี่ยวกับความเร็ว การแข่งขันกีฬา และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเซ็กซ์ทั้งหลาย เพราะผู้ชายเป็น “นักล่า” ดังนั้นมักชอบอะไรที่เป็นความเร็วและการต่อสู้ ซึ่งคือการแข่งขันต่างๆ เช่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในปัจจุบัน

สอง เรื่องการ “เอาตัวรอด” มีสินค้ามากมายที่คนยินดีจ่าย อาหารและการกินนั้น แน่นอน เป็นธุรกิจที่ดีเพราะเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต คนชอบกินอาหารมีโปรตีนสูง เช่นเดียวกับแคลอรีสูง อาหารอุดมไปด้วยไขมันหรือหวานคืออาหาร “อร่อย” ในยีนของคน

การเอาตัวรอดของคนสมัยก่อน ยังรวมถึงการพยายาม “ลดการใช้พลังงาน” ให้ต่ำลง เพราะอาหารยุคดึกดำบรรพ์ไม่ได้หาได้ง่าย ดังนั้น นี่น่าจะทำให้คนเรา “ชอบสบาย” ไม่ชอบทำงานหนัก ชอบที่จะ “ล่า” สัตว์โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด ดังนั้น สินค้าของจำเป็นในชีวิตที่ตอบโจทย์เรื่องราคาถูก สามารถจับจ่ายในที่เดียว หรือร้านให้ความสะดวกสบายซื้อหาจึงเป็นธุรกิจที่ดี

สาม เรื่องความตายเป็นสิ่งที่คนพยายามหลีกเลี่ยงมากที่สุด ดังนั้น อะไรสามารถลดความเสี่ยงหรือยืดอายุให้ยาวขึ้นย่อมเป็นธุรกิจที่ดี ธุรกิจยา โรงพยาบาล อาหารเพื่อสุขภาพ และอื่นๆต่างเป็นธุรกิจที่คนยอมจ่ายแพง ถ้ามีเงินพอ

สี่ เรื่องบางอย่างที่คนอาจจะไม่คิดว่าเกี่ยวพันกับความต้องการแรงกล้าเช่นกัน คือ เรื่องการเดินทางท่องเที่ยวไปในที่ไกล ๆ เหตุผลที่คนชอบเดินทางเป็นเพราะช่วยเพิ่มโอกาสที่คนจะเอาตัวรอดและมีคู่ได้ดีขึ้น

ลองคิดดูว่าถ้ามนุษย์ไม่เดินทางออกไปไกล ๆ เขาก็คงไม่สามารถขยายเผ่าพันธุ์ไปได้มาก เนื่องจากอาหารจะจำกัด การอยู่แต่ในบริเวณหรือหมู่บ้านแคบ ๆ พวกเขาอาจต้องแต่งงานกันเอง ซึ่งทำให้ยีนไม่หลากหลาย และไม่สามารถต้านทานโรคร้ายบางอย่างได้ ผลในที่สุดเผ่าพันธุ์อาจหมดไป ดังนั้น คนจึงชอบเดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ และนี่ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องนั้นเติบโตไปเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงธุรกิจการบิน โรงแรม และอื่น ๆ

ธุรกิจสุดท้ายที่จะพูดถึงคือ ธุรกิจของหรูหราฟุ่มเฟือย นี่คือ สินค้าที่คนปรารถนาอย่างแรงกล้า ผมคิดว่าของหรูมีราคาแพงนั้น คนต้องการเพราะว่าเป็นเครื่องบ่งบอกถึง “ความมั่งคั่ง” หรือความสำเร็จของคนใช้ที่มีปัญญาซื้อของเหล่านั้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เพศตรงข้ามเข้ามาหาได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงมักเป็นธุรกิจที่ดี

ก่อนที่จะจบ ผมจำเป็นจะต้องเตือนด้วยว่า เวลาดูว่าเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ดีนั้น เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ต้องดูว่าบริษัทไหนสามารถสนองตอบต่อความปรารถนาแรงกล้านั้นได้แบบโดดเด่นมากและเหนือกว่าคู่แข่ง เนื่องจากความได้เปรียบเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ บริษัทอาจไม่มีค่าอะไรมากนัก แต่ถ้าใช่ บริษัทนั้นจะมีคุณค่ามาก

และสุดท้ายคือ การวิเคราะห์บทความนี้ หวังว่าไม่ทำให้นักการศาสนา นักสิทธิมนุษยชนหรือคนที่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเข้าใจผิดว่าผมเป็นคนไม่มีศีลธรรมหรือเหยียดผิวหรือเพศ เพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงทางธรรมชาติ เป็นเรื่องประวัติหรือวิวัฒนาการของมนุษย์ ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556

สื่อสายฟ้าแลบกับการลงทุน

ตั้งแต่มีระบบอินเทอร์เน็ตทรงประสิทธิภาพผ่านระบบโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์แบบพกพา.ผมเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในโลก ในทางสังคมเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้วคนประทับใจ จะเกิดการส่งต่อด้วยวิธีการต่างๆผ่านระบบสื่อที่เป็นธุรกิจและสื่อสังคมทันที ราวกับสายฟ้าแลบ ผลคือกลายเป็นTalk of the town หรือเรื่องคนพูดถึงและวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอดๆ


บางเรื่องทำให้คนดังในชั่วข้ามคืน อย่างกรณีของนักร้องเกาหลีเต้นแบบกังนัมสไตล์จนคนทั่วโลกคลั่งไคล้ ในทางตรงกันข้ามอาจทำให้ธุรกิจหรือคนเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้เช่นกัน


ในทางการเมืองเหตุการณ์อาหรับสปริง และการชุมนุมอีกหลายอย่างเช่น Occupy Wall Street ที่คนประท้วงความโลภและความเลวร้าย ของระบบตลาดทุนสหรัฐ เป็นผลจากระบบของสื่อสังคมแบบสายฟ้าแลบทำให้คนออกมารวมตัวกันต่อต้านสิ่งที่พวกเขาคิดเหมือนกันและคิดรุนแรงกับเรื่องดังกล่าว


โดยคนเหล่านี้อาจมีจิตวิทยาหรือความเชื่อของตนที่มีมานาน หรืออาจเป็นคนที่ได้รับข้อมูลที่ถูกส่งมาจากคนมีความคิดและความเชื่อนั้นต่อเนื่อง ทำให้เขาคล้อยตามเข้าร่วมชุมนุมด้วย ผลคือม็อบเกิดเร็วและแรงกว่าเคยเป็นมาในอดีตที่คนไม่สามารถส่งต่อหรือติดต่อความคิดและการนัดหมายกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในทางเศรษฐกิจและการเงิน ผลกระทบจากข้อมูลสายฟ้าแลบ ส่งผลให้ระบบการเงินที่เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจจริง เกิดการปั่นป่วนรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มติการประชุมของธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐ ถูกส่งต่อทันทีไปทั่วโลก คนมีอำนาจตัดสินใจทางเศรษฐกิจการลงทุนแทบทุกประเทศต่างReact หรือตอบสนอง โดยปรับกลยุทธ์ด้านอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน และนโยบายจัดงบประมาณของประเทศ ผลคือบางครั้งตลาดเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


เร็วๆนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนรุนแรงขึ้นเห็นได้ชัด โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยบางวันดัชนีตกลงกว่า 40 จุดหรือประมาณ 3% ในช่วงเช้า แต่พอถึงตอนบ่ายดัชนีกลับปรับขึ้นประมาณเท่าเดิมได้ เช่นเดียวกันบางวันดัชนีเริ่มจากบวกมากมาย แต่แล้วกลับเป็นลบมากมายในเวลาอันสั้น ความผันผวนกว่า 5% ภายในวันเดียว


สำหรับคนที่ซื้อขายระยะสั้นๆ การขาดทุนหรือกำไรต่อวันสูงลิ่วแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน เหตุผลไม่ใช่เรื่องมาจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว สื่อสายฟ้าแลบ ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นในไทยเพียง 2-3 ปีนี้มีผลต่อนักลงทุนมหาศาล


นักลงทุนเกือบทุกคนในสังคมของคนมีเงินรุ่นใหม่ปัจจุบัน ต่างพกโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตติดตัวตลอดเวลา สายตาพวกเขาถ้าไม่ได้ทำงานหรือดูอย่างอื่นอยู่จะอ่านข้อมูลข่าวสารที่มีคนส่งเข้ามาเป็นระยะ เช่นเดียวกับบางครั้งเขาเป็นคนส่งข้อมูลที่คิดหรือได้รับมาอีกต่อหนึ่งออกไปสู่คนอื่นอีกมากมายได้ด้วยการกดแป้นพิมพ์เพียงครั้งเดียว ผลคือทุกคนซื้อขายหุ้นกันตามข่าวสารนั้น และทำให้หุ้นผันผวนรวดเร็วตามข่าว


คนเป็นVI ควรจะต้องเข้าใจว่าปรากฏการณ์ของ สื่อสายฟ้าแลบ และข่าวหรือข้อมูลต่างๆที่ถูกส่งออกไป อาจมีทั้งเรื่องจริงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือเป็นเรื่องไม่จริงไม่ถูกต้องที่คนเข้าใจผิด หรือเป็นเรื่องที่ไม่จริงไม่ถูกต้องและคนที่ส่งออกไปรู้แต่ต้องการให้มีผลต่อราคาหุ้นที่ตนถืออยู่หรือต้องการซื้อหรือขาย


ความสามารถแยกแยะหรือรับรู้ข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของการลงทุน ในภาวะปัจจุบันผมคิดว่าการหาข้อมูลนั้นง่ายมาก เราแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย โดยเฉพาะหลังจากกำเนิดกูเกิ้ล แต่การจะเลือกรับเฉพาะข้อมูลถูกต้องเป็นเรื่องยากมาก บางทีอาจยากกว่าสมัยก่อนที่การผลิตข้อมูลและส่งออกไปมีราคาแพงมาก เนื่องจากสื่อที่เป็นมหาชนนั้นมีจำกัด


ดังนั้นข้อมูลไม่มีคุณภาพหรือไม่ถูกต้องจึงไม่สามารถผลิตส่งออกมาได้ง่าย แต่ปัจจุบันทุกคนสามารถส่งข้อมูลให้คนเป็นร้อยเป็นพันได้ และไม่มีใครมากรองหรือกีดกันข้อมูลเลย ดังนั้นข้อมูลท่วมท้นในตลาดหุ้น และการลงทุนปัจจุบันอาจถูกต้องมีคุณค่าใช้เวลาอ่านเพียง 1 ใน 10 หรือน้อยกว่านั้น และถ้าอ่านไปเรื่อยโดยไม่แยกแยะก็ไม่ได้อะไร ที่ยิ่งแย่คืออาจรับในสิ่งที่ผิดหรือถูกล้างสมอง ให้เชื่อในสิ่งที่ผิด ซึ่งจะทำให้แนวทางการลงทุนของเราไม่ประสบความสำเร็จ


ถ้าจะลองมาดูว่าแต่ละวันเรารับอะไรมาบ้าง และมีปฏิกิริยาอย่างไรก็จะช่วยให้สามารถปรับปรุงตัวเองให้เป็น VI ที่ดีขึ้นได้


สิ่งแรกคือข่าวต่างๆที่มักเป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความเห็นประกอบ ส่วนมากเป็นเรื่องตัวเลข เช่น ดัชนีหุ้น ตัวเลขกลุ่มผู้ซื้อขายหุ้นแต่ละกลุ่ม สิ่งต่างๆเหล่านี้มักไม่เป็นปัญหา แต่เหตุผลต่างๆที่มักอธิบายประกอบนั้น ต้องระวังว่าอาจไม่จริงแต่เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์ อาจจะฟังแบบผ่านๆ เนื่องจากอาจไม่มีประโยชน์อะไรนัก เพราะความเห็นหรือแม้แต่ความจริงที่ผ่านไปแล้ว มักไม่มีผลอะไรกับราคาหุ้นในอนาคต


ข้อมูลต่อมาที่มีมากมายไม่แพ้กันทุกวันคือ การเชียร์หุ้นทั้งซื้อหรือขายของนักวิเคราะห์และนักลงทุน ที่อาจจะเป็นเพื่อนกับเราหรือที่เราได้รับผ่านเพื่อน ว่าที่จริง เดี๋ยวนี้จะเป็นใครไม่มีความหมายอะไร เพราะผ่านมาถึงเราได้ตลอด ประเด็นคือการแนะนำหุ้น แทบจะทุกรายการนั้น ผู้แนะนำนั้นต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น


บางทีอาจขัดแย้งกับคนที่เขาอยากให้ได้รับข่าวสาร เช่น แนะนำให้ซื้อในราคาสูงเพื่อเขาจะได้ขาย หรือถึงบางคนไม่ต้องการขาย แต่เขาอยากให้หุ้นแนะนำขึ้นอยู่ดีถ้าซื้อครบแล้ว บางคนเช่นนักวิเคราะห์นั้น พวกเขาอาจไม่ได้มีหุ้น หรือต้องการทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นโดยตรง แต่พวกเขาต้องการให้คนซื้อขายหุ้นบ่อยขึ้น เพื่อบริษัทเขาจะได้ค่าคอมมิสชั่นหรือได้ธุรกิจอื่นเพิ่ม ผลประโยชน์ของเขาคือเงินเดือนโบนัสและชื่อเสียง ในการที่แนะนำถูกต้องในระยะสั้น


ข้อมูลมีมากอีกอย่างคือข่าวลือ นี่เป็นข่าวหรือข้อมูลที่ ขายได้ ในแง่ทำให้คนเข้ามาอ่านหรือมารับ เนื่องจากคนชอบฟังเรื่องปิดลับ หรือยังไม่ปรากฏต่อสื่อที่เป็นทางการ แต่เป็นเรื่องน่าสนใจมีผลกระทบต่อราคาหุ้น ตัวอย่างมีมากมายรวมถึงเรื่องเช่นการเทคโอเวอร์ การแจกหุ้นเพิ่มทุนหรือวอร์แรนท์ และเรื่องอื่นๆอีกสารพัด เช่น หุ้นตัวนั้นหรือตัวนี้มี เซียน กำลังเก็บหรือขาย นี่เป็นเรื่องของข้อมูลที่ฟังได้แต่จริงๆแล้วคิดว่ามีประโยชน์น้อยมาก ข้อแรกคือมันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่จริงโดยเฉพาะ ถ้าไม่มีสัญญาณอย่างอื่นประกอบ ข้อสองถ้าจริงแต่ตอนที่มาถึงเราคนอีกจำนวนมากอยู่ในระบบสื่อสายฟ้าแลบรู้กันหมดแล้ว ซึ่งทำให้ไม่มีประโยชน์ในแง่การลงทุน


ทั้งหมดคือเสี้ยวเดียวของปรากฏการณ์ใหม่ของโลก และประเทศไทยที่เราจะต้องเรียนรู้และรับกับมัน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ไม่จำเป็นจะต้องทำตามคนส่วนใหญ่ ผมเองพยายามจะไม่เปิดรับข้อมูลมากเกินไป ต้องกรองเอาเฉพาะข้อมูลเป็นประโยชน์ ต้องเป็นคนเลือกและแสวงหาข้อมูลที่จะรับ มิฉะนั้นอาจกลายเป็น เหยื่อของคนที่มีเป้าหมาย ที่จะทำให้เชื่อในข้อมูลของเขา

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 25 มิถุนายน 2556 

เลือดนองตลาด

ช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะมีการปรับตัวลงมาแรงจนน่าตกใจ.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาจากประมาณ 1640 กว่าจุดเหลือ 1465 จุดในวันที่ 14 มิ.ย. 2556 ซึ่งเป็นการตกลงมาเกือบ 200 จุดหรือลดลงประมาณ 10% ในบางช่วงนั้น บางวันหุ้นตกลงมาถึง 5% และยังตกติดต่อกันอีกหลายเปอร์เซ็นต์ในวันต่อมา แม้ว่าจะมีการ “รีบาวด์” เป็นระยะ ๆ บางทีในวันเดียวกัน

เหตุผลที่หุ้นตกลงมานั้น นักวิเคราะห์ต่างก็บอกว่าเป็นเรื่องของการที่สหรัฐมีภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ดังนั้นมาตรการคิวอี (QE) ซึ่งคอยอัดฉีดเงินเข้าระบบการเงินทุกเดือน อาจจะต้องลดลงซึ่งจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินที่เคยไหลมาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียต้องถูกถอนกลับ ผลคือนักลงทุนเทขายหุ้น และทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนักทั่วเอเชีย

ตัวเลขการขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นของไทยก็ฟ้องว่ามีการขายหุ้นจริงคิดเป็นหลายหมื่นล้านบาทตั้งแต่ต้นปี วันที่หุ้นตกอย่างหนักบางวันก็เห็นว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมากถึง 5-6 พันล้านบาท ปรากฏการณ์หุ้นตกครั้งนี้ ผมมีความคิดและข้อสังเกตหลาย ๆ อย่างที่อยากจะพูด

เรื่องแรกคือ การตกของหุ้นรอบนี้ดูเหมือนว่าจะรุนแรงนั้น ว่าที่จริงดัชนีหุ้นก็ยังสูงกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1392 จุด ดังนั้น สำหรับคนที่ “มองยาว” อย่างผมซึ่งมักจะดูดัชนีเป็นปีๆ แล้ว ผมไม่ได้คิดว่าหุ้นตกอะไรเลย เพราะเมื่อผ่านมาประมาณเกือบครึ่งปีของปีนี้หุ้นก็ยังขึ้นมาประมาณ 5% เมื่อรวมกับปันผลประมาณเกือบ 3% ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมยังสูงถึง 8% และถ้าเราคาดว่าหุ้นก็จะมีผลประกอบการแบบเดิมในครึ่งปีที่เหลือ เราก็คูณด้วย 2 ก็จะได้ว่าหุ้นปีนี้อาจจะให้ผลตอบแทนถึง 16% ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ดีเลิศ

ดังนั้น เราจะเสียอกเสียใจไปทำไมถ้าเราเป็นนักลงทุนระยะยาว? คนที่จะกลุ้มใจและอาจจะเสียหายหนักน่าจะเป็นคนที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ก่อนหุ้นจะตก หรือไม่ก็เป็นคนที่ทุ่มเงินเข้ามาลงทุนมากในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม คนที่มีหุ้นเต็มพอร์ตมาตลอดและถือหุ้นระยะยาวเองก็คงรู้สึกเศร้าอยู่เหมือนกันที่เห็นเงินในพอร์ต “หาย” หรือลดลงไปมากในช่วงเวลาสั้น ๆ คำแนะนำหรือคำปลอบประโลมใจของผมก็คือ นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นถ้าเราอยู่ในตลาดหุ้นมานาน วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองถึงกับบอกว่า ถ้าคุณไม่สามารถมองเห็นพอร์ตหรือราคาหุ้นลดลงไปถึง 50% ได้ คุณก็ไม่ควรอยู่ในเกมของการลงทุน

เรื่องที่สองก็คือ การตกของหุ้นในรอบนี้เป็นสิ่งที่ผมเคยคาดไว้หรือไม่? คำตอบก็คือ ผมเองคิดไว้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่หุ้นอาจจะไม่ดี ว่าที่จริงผมเองคิดว่ามีโอกาสที่ผลตอบแทนของปีนี้จะ “ติดลบ” ด้วยซ้ำ เหตุผลของผมก็คือ ตลาดหุ้นไทยย้อนหลังไปถึงปี 2552 หรือ 4 ปีที่ผ่านมานั้นให้ผลตอบแทนที่ “สุดยอด” นั่นคือ ปี 2552 หุ้นขึ้นมา 63% ปี 2553 หุ้นขึ้นอีก 41% ส่วนปี 2554 นั้น หุ้นนิ่งเท่ากับปี 53 หรืออาจจะเรียกว่า “หยุดพัก” หลังจากนั้นในปี 55 หุ้นก็เริ่มวิ่งใหม่ ขึ้นมาอีก 36%

จากดัชนีสิ้นปี 2551 ที่ประมาณ 450 จุดขึ้นมาเป็น 1392 เมื่อสิ้นปี 2555 หรือขึ้นมาสูงเป็นกว่า 3 เท่าในเวลา 4 ปี ซึ่งเป็นสถิติที่ตลาดไทยไม่เคยเจอ และถ้าปี 2556 ตลาดหุ้นขึ้นมามากอีก มันก็เป็นอะไรที่ “สุดโต่ง” เมื่อเทียบกับสถิติ “ระยะยาว” ของตลาดหุ้นไทยที่ผลตอบแทนประจำปีที่เป็นบวกต่อปีที่ผลตอบแทนเป็นลบนั้น เป็นแค่ 60:40 และผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีเป็นแค่ประมาณ 10%

ดังนั้น ความหวังของผมในตอนสิ้นปี 2555 ก็คือ ดัชนีตลาดในปี 2556 จะไม่เป็นลบ แต่การณ์กลับเป็นว่า เพียง 3-4 เดือนของปี 2556 ตลาดก็ขึ้นไปแล้วเกือบ 20% ซึ่งทำให้ผมคิดว่า การ “ปรับตัว” น่าจะเกิดขึ้นได้เสมอ ก็ได้แต่หวังว่าผลตอบแทนเมื่อสิ้นปีนี้จะไม่เป็นลบ

เรื่องต่อมาก็คือ ผมได้ทำอะไรเมื่อหุ้นตกลงมาแรง? คำตอบก็คือ ผมไม่ได้ทำอะไรเลย ว่าที่จริงในทุกครั้งที่หุ้นตกแรงไม่ว่าจะในปีไหนหรือตกจากสาเหตุอะไร ผมไม่เคยที่จะขายหุ้น ผมคิดว่าในยามที่คนกำลัง “ขวัญผวา” และเทขายหุ้นเหมือนฟ้าจะถล่มนั้น หุ้นย่อมจะต้องตกเกินความเป็นจริง

ดังนั้น ถ้าเราขายหุ้นในวันนั้น เราก็จะขายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ผมคิดว่าถ้าเราคิดว่าพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนจริง ๆ เราก็รอขายในอีก 2- 3 วันที่คนหายตื่นตระหนกจะดีกว่า ถ้าจะว่าไป ในทุกครั้งที่เกิด “แพนิค” หลังจากนั้นก็จะต้องมีการ “รีบาวด์” ให้เราขายได้เสมอ แต่ในกรณีที่พื้นฐานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมก็ไม่ทำอะไร บางทีถ้าหุ้นตัวที่เราสนใจตกลงมามากจนคุ้มค่า ผมก็จะเข้าไปซื้อเท่าที่จะหาเงินมาได้

เรื่องที่สี่ก็คือ ในระดับดัชนีขณะนี้ มองไปข้างหน้าเราสามารถลงทุนระยะยาวโดยการเข้ามาซื้อหุ้นได้หรือไม่? นี่เป็นคำถามที่ตอบยาก ประเด็นก็คือ ในภาวะที่หุ้นร้อนแรงมาก (แม้ว่าจะปรับตัวลงมาบ้าง) ผมเองคิดว่าหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ นั้นหาได้ค่อนข้างยากหรือไม่ก็เป็นหุ้นที่อาจจะถูกแต่ก็มีความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะสูงสำหรับผม

ดังนั้น ถ้ายังไม่มีหุ้นอยู่เลยหรือมีหุ้นจำนวนน้อยและมีเงินสดเหลือมาก ผมก็คงจะ “รอ” หรือไม่ก็เลือกหุ้นบางตัวที่มีความปลอดภัยสูงและก็คงไม่เข้าไปลงทุนมากมายอะไรนัก ผมคิดว่ายังน่าจะมีเวลาที่หุ้นจะตกต่ำลงมากกว่านี้ หรือไม่เราก็อาจจะพบหุ้นบางตัวที่โดดเด่นขึ้นมาจนมีคุณค่าและเป็นหุ้นที่มี Margin of Safety สูงพอที่เราจะลงทุนได้อย่างสบายใจ จำไว้ว่าเราไม่มีแรงกดดันอะไรที่จะต้องตัดสินใจ ในสิ่งที่เราไม่แน่ใจ อย่าลืมว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เองนั้น บ่อยครั้ง นั่งทับเงินสดเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์เป็นปีๆ

คำถามสุดท้ายก็คือ ถ้าเรามีหุ้นอยู่เต็มพอร์ต เราควรทยอยขายออกไปไหมเพื่อ “ลดความเสี่ยง” เหนือสิ่งอื่นใด เราได้กำไรมามากแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ควรไหมที่เราจะ “ล็อก” กำไรหรือเม็ดเงินไว้ รอดูให้ทุกอย่าง “คลี่คลาย” แล้วค่อยกลับมาลงทุนใหม่? สำหรับคำถามนี้ผมเองยอมรับว่าตอบไม่ได้เหมือนกัน

จริงอยู่ ผมเองก็คิดว่าหุ้นในเวลานี้ไม่ถูกหรือบางทีอาจจะแพงด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราขายไปแล้วถือเงินสดหรือลงทุนในตราสารหนี้ก็ตาม ผลตอบแทนที่ได้ก็จะต่ำมากอาจจะเพียง 2-3% ในขณะที่การลงทุนในหุ้นนั้นอาจจะไม่ดี แต่พอร์ตเราก็ยังอาจจะพอไปได้ให้ผลตอบแทนอาจจะ 4-5% แม้ว่าดัชนีตลาดอาจจะติดลบ ในกรณีแบบนี้ การถือหุ้นไว้ก็ยังดีกว่า และเมื่อตลาดเริ่มฟื้นตัว พอร์ตของเราก็อาจจะเดินหน้าต่อไป

ดังนั้น ดู ๆ แล้ว การที่จะขายหุ้นเพื่อถือเงินสดนั้น อาจจะไม่ให้ประโยชน์อะไรและอาจจะทำให้พลาดอย่างแรงกรณีที่หุ้นไม่ได้ปรับลดดังคาด และถ้าหากว่าหุ้นกลับขึ้นไปโดยที่เราไม่กล้ากลับเข้าไปในตลาดเร็วพอ ความเสียหายก็จะเพิ่มทวีคูณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงมักจะ “อดทน” ถือหุ้นไว้แม้ในใจจะหวั่นว่าหุ้นอาจจะปรับตัวลงหนักได้ตลอดเวลา

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 18 มิถุนายน 2556 

โรงเรียนสอนเปียโน

ภรรยาผมเป็นครูสอนเปียโนยึดอาชีพนี้มาตลอดตั้งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ นับถึงวันนี้ประมาณ 30 ปีแล้ว.ดังนั้นผมจึงรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนการสอนเปียโนอยู่บ้าง แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีเลย ไม่ว่าจะเป็นเปียโนหรือดนตรีอย่างอื่น

เหตุผลที่ผมไม่สามารถหรือมีความรู้เกี่ยวกับดนตรีเลย ส่วนหนึ่งก็คือช่วงวัยเด็กฐานะทางบ้านผมจนมาก ทำให้เราไม่สามารถจะซื้อเครื่องดนตรีไม่ว่าชนิดไหนมาเล่นได้ ดนตรีในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” และเปียโนนั้นเป็น “ราชา” ของดนตรีที่หรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุด เพราะเครื่องเปียโนมีราคาแพงมาก นอกจากนั้น การเล่นเปียโนให้เป็นและเก่งนั้นต้องอาศัยการเรียนและการฝึกฝนอย่างหนักและนานมาก แถมค่าเรียนแพงกว่าการเรียนดนตรีอย่างอื่น

ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาและเป็นช่วงลูกผมยังเล็กอยู่ จำได้ว่าเป็นช่วงการเรียนเปียโนเริ่มนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะลูกของคนยุค “เบบี้บูม” ที่เป็นคน “เจน Y” เริ่มเกิด พ่อแม่ของเด็กยุคนี้เริ่มจะมีฐานะดีขึ้นเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย พวกเขามีลูกน้อยอยาก “สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ” หรือทำให้ลูกมีความสามารถมีความ “สุนทรี” กับ “ศิลปะ” และพวกเขาเชื่อว่าดนตรีนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของเด็ก

ดังนั้น การให้ลูกเรียนเปียโนจึงเป็นสิ่งที่คนทำกันมาก บ้านไหนคนมีรายได้ค่อนข้างสูงที่ลูกสาวไม่เรียนเปียโนนั้น บางทีอาจถูกมองว่าเชยหรือไม่ค่อยทันสมัยไปเลย และนั่นคือยุค “บูม” ของการเรียนการสอนเปียโน โรงเรียนสอนดนตรีมีเปียโนเป็นคลาสใหญ่สุดเกิดขึ้นมาก ครูเปียโนมีงานสอนเต็มเวลาไม่ต้องง้อโรงเรียนหรือนักเรียนเลย

เวลาผ่านไปจนถึงช่วงเร็วๆ นี้ สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก วัฒนธรรม “ป็อบ” เข้ามาแทนที่วัฒนธรรม “รุ่นเก่า” คน “รุ่นใหม่” ต้องการ “ย่นระยะเวลาแห่งความสำเร็จ” ในชีวิตให้เหลือสั้นที่สุด ดังนั้นอะไรที่ทำได้เร็วใช้เวลาน้อยจึงเข้ามาแทนที่สิ่งที่ต้องใช้เวลามาก คนรุ่นใหม่ไม่สามารถรอหรือต้องทุ่มเทความพยายามมากเกินไปในการจะ “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ดังนั้น การเรียนเปียโนจึงค่อยๆจางหายไปในแวดวงคนรุ่นใหม่ และนี่อาจจะรวมไปถึงกิจกรรมทางศิลปะที่ต้องใช้เวลามากในการฝึกฝนเช่น การเต้นบัลเล่ต์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ

ในทำนองเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่เขาไปเรียนอะไรกัน? ผมเองไม่ทราบรายละเอียดมากนักแต่สิ่งหนึ่งที่ภรรยาผมบอกคือ พวกเขาไปเรียนการร้องเพลงสมัยใหม่ แบบที่ผู้เข้าแข่งขันประกวดแนว AF หรือ อะแคเดมี อะวอร์ด ทำกัน บางคนไปเรียนการแสดง เผื่อมีโอกาสเข้าไปแข่งขันหรือเข้าวงการบันเทิงในอนาคต ดนตรีเองอาจเน้นไปในเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับดนตรีสมัยใหม่ ที่สามารถโชว์ได้เช่นกีตาร์หรือกลอง เป็นต้น ส่วนเปียโนดูเหมือนว่านักเรียนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และโรงเรียนอาจจะไม่ทำกำไรอย่างเคย และอาจจะต้องลดขนาดลงเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในห้างมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี มองไปแล้วนี่คืออุตสาหกรรมกำลังค่อยๆตกต่ำลงอย่างไม่หวนกลับ

ผมถามต่อว่าแล้วใครหรือกิจการอะไรจะมาแทนที่โรงเรียน คำตอบคือน่าจะเป็น “ร้านเสริมความงาม” ซึ่งเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้คนไปเสริมเติมแต่งร่างกายให้สวยงามมากขึ้น ถ้าอยู่ในแวดวงบันเทิงแล้วแทบจะทุกคนต้องทำ คนธรรมดาเดี๋ยวนี้ก็ทำกันมากเพราะรู้สึกว่าทำแล้ว “เห็นผลทันที” คนไม่รู้สึกว่าการทำศัลยกรรมหรือเติมสารต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายเป็นความเสี่ยงอะไรมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงาม ที่จะได้รับแถมราคาก็สมเหตุผล สถานเสริมความงามนั้นสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่แพงๆได้ ในขณะที่โรงเรียนสอบเปียโนนั้นรับไม่ไหว เหตุผลหลักคือ ธุรกิจเสริมความงามกำลังเป็นธุรกิจเติบโตมีคนเข้าเต็มร้าน ขณะที่โรงเรียนสอนเปียโนเป็นธุรกิจกำลังตกต่ำนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ

ผมนึกต่อไปถึงเรื่องของโรงเรียนสอนหนังสือสายสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา แล้วทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม “โรงเรียนติว” จึงเจริญรุ่งเรืองและอยู่ได้มายาวนานมากแถมทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ เหตุผลคือ พวกเขาสอนเร็ว มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ดีขึ้น ทำคะแนนได้สูงขึ้นและสามารถสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ตรงกับความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอะไรเร็วและได้ผลทันที เขาไม่ต้องการอะไรที่อาจหนักแน่น และอาจจะมีประโยชน์มากกว่าหรือดีกว่าในอนาคต ที่ยังมองไม่เห็น

การประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยของ “ไอดอล” ที่พวกเขาเห็นจากสื่อสมัยใหม่ที่เปิดกว้างนั้น ทำให้พวกเขาต่างต้องการจะเดินทาง “สายตรง” พวกเขาคิดว่าการ “สร้างฐาน” ที่หนักแน่นนั้นอาจจะเสียเวลาเกินไป

ที่เขียนมาซะยืดยาวนั้น หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน คำตอบของผมคือ ผมกำลังจะอธิบายว่านี่คือการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่กำลังค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มันกำลังตกต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และในที่สุดธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ในลักษณะแบบนี้โอกาสที่กิจการจะฟื้นตัวกลับมาอาจจะยากไม่เหมือนอุตสาหกรรม ที่เป็นวัฏจักรที่ในที่สุดธุรกิจจะกลับมาดีได้อีก

ถ้าลองมาดูธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ จะพบว่ามีธุรกิจหลายอย่างประสบกับปัญหายอดขายไม่เพิ่ม และกำไรตกลงมาอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่เคยเป็นกิจการที่รายได้เติบโตโดดเด่น รวมถึงกำไรโตต่อเนื่องเป็นหุ้นที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนแบบ VI แต่ขณะนี้ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่า ธุรกิจนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะที่จะตกต่ำลงยาวนานจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ไม่อิงอยู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงอย่างอื่นเลย ที่กำลังถูกแย่งชิงจากผู้ขายสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตรวมถึงจากผู้ผลิตและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มาเปิดร้านแข่ง

อีกธุรกิจหนึ่งคือ ธุรกิจร้านขายหนังสือที่เป็นเล่ม มีหน้าร้านขนาดใหญ่ ที่กำลังถูกแย่งลูกค้าโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและขายถูกกว่า ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยเล่มลงไปเรื่อยๆ หรือธุรกิจผลิตและขายถ่านหิน ที่กำลังถูกคุกคามจากก๊าซธรรมชาติและแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่สะอาดและบางทีราคาถูกกว่าทำให้ปริมาณใช้ถ่านหินไม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาที่อาจจะไม่ปรับตามราคาพลังงานอย่างอื่นเท่ากับที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธุรกิจนี้ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน

เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ธุรกิจไหนที่เราสงสัยจะกลายเป็นธุรกิจตะวันตกดินแน่นอนในช่วงต้นๆของยอดขายและกำไรตกต่ำลง ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ชัดเจนต่อเมื่อเวลามันผ่านไปยาวนาน และยอดขายกำไรมันลดลงไปมาก จนกิจการแทบจะไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งถ้าถึงวันนั้น ราคาหุ้นอาจจะตกไปมากจนทำให้การลงทุนกลายเป็นหายนะ หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนคือ เราต้อง“รู้สึกตัว”ให้เร็วที่สุดว่า เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรม? มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือที่ทำให้ยอดขายและผลประกอบการออกมาไม่เป็นไปตามคาด? การได้ “สัมผัส” กับธุรกิจโดยตรงจะช่วยเราได้มาก

Appreciate Thailand

คนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนร่ำรวยมีเงินทองระดับเศรษฐี หรือชนชั้นกลางระดับสูงมีรายได้มาก และกำลังสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ.มักชอบวิจารณ์หรือบางทีก่นด่าว่าประเทศไทยนั้นมีเรื่อง“แย่ๆ”มากมาย ที่กำหนดหรือสร้างขึ้นโดย “รัฐ”

นักการเมืองเองเอาแต่กอบโกย หาผลประโยชน์เข้าตัวเอง หรือไม่ก็ใช้เงินที่ได้จากภาษีที่มาจากคนที่ทำงานมีรายได้สูง เอาไปแจกจ่ายให้กับฐานเสียงของตนเอง ซึ่งเป็นประชาชนมีรายได้ต่ำ โดยไม่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ แต่ส่วนที่ “ดีๆ” ของประเทศไทยนั้น ดูเหมือนว่าจะมาจาก “คนไทย” และ “ขนบธรรมเนียม” ต่างๆ ของคนไทยที่ทำให้ประเทศนี้ “น่าอยู่” มากกว่าที่อื่นใดในโลก

หลังจากผมกลายเป็นนักลงทุนเต็มตัว และกลายเป็นคนที่มีเงินมากอยู่เหมือนกัน เงินเหล่านี้ล้วนเกิดหรือถูกสร้างขึ้นในประเทศไทยโดยคนไทย โดยเฉพาะคนมีเงินน้อย และภายใต้กฎเกณฑ์คนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มีเงินน้อยเช่นกัน ผมเริ่มจะรู้สึกว่าสิ่งที่เคยคิดว่า “แย่ๆ” อาจจะไม่จริง

ตรงกันข้าม ผมคิดว่า“โชคดี” ที่เกิดทำงานหากินในไทย รู้สึกแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Appreciate ประเทศไทย” คือรู้สึกขอบคุณประเทศไทย รู้สึกพึงพอใจที่ได้เป็นคนไทยลงทุนในไทย รู้สึกเห็นคุณค่าของประเทศไทย และคิดว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่คิดอย่างนั้น เพราะมีเพื่อนหรือรู้ว่าชาวต่างชาติจำนวนมาก ที่เป็นคน “มีสตางค์” ไม่ได้ “โชคดี”อย่างเรา พวกเขาถูก“ลิดรอน”ความมั่งคั่งด้วยภาษี และการกระทำหรือนโยบายหลายอย่าง ทำให้ความมั่งคั่งที่มาจากหยาดเหงื่อและแรงงานลดลง จนบางที “ไม่รู้จะทำอย่างไร”

ตัวอย่างเช่นชาวอเมริกัน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนและทำงานที่ไหนในโลก พวกเขาจะต้องถูกรัฐเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลี่ยงไม่ได้ เพื่อนนักลงทุนชาวอเมริกันของผมที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยคนหนึ่ง บอกว่าแต่ละปีเขาต้องเสียภาษีนับสิบล้านบาท ให้รัฐบาลอเมริกันจากผลตอบแทนที่เขาได้ จากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำงานหรือมีรายได้ในอเมริกาเลย

ว่าที่จริงเขาแทบไม่ได้กลับอเมริกาเลย บางทีเป็นปีๆ สำหรับเขาเวลานี้แล้ว เมืองไทยคือบ้าน เขามีความสุขในการใช้ชีวิตลงทุนในตลาดหุ้นไทย และคงอยู่ไปเรื่อยๆ ตลอดไป ผมถามเขาว่าสรรพากรอเมริกาจะรู้ได้อย่างไรว่า เรากำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย เขาตอบว่า ถ้าเขาโกงภาษีและถูกจับได้ต้องติดคุก ดังนั้นเขาไม่เสี่ยงแน่นอน

ผมถามต่อว่าทำไมไม่แปลงสัญชาติอย่างที่ดาราหรือคนดังมีรายได้มาก อย่าง จิม โรเจอร์ นักลงทุนทำกรณีแปลงสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์ เขาบอกว่าเขาทำ แต่การ “ยกเลิก” สัญชาติอเมริกันนั้น จะต้องจ่ายภาษีทั้งหมดที่กำไรจากหุ้น แม้ว่าคุณจะไม่ได้ขายมัน ซึ่งนั่นจะเป็นเงินมหาศาล อาจเป็นร้อยๆ ล้านบาท เห็นหรือยังว่าการเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลของคนอเมริกันมันยากเข็ญแค่ไหน? โชคดีที่ผมไม่ใช่คนอเมริกัน!

ถ้าคุณเป็นคนญี่ปุ่นและมีทรัพย์สินมาก เวลาคุณตาย รัฐจะเก็บภาษีจากทรัพย์มรดกของคุณอย่างหนัก ดังนั้น ความมั่งคั่งที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงตลอดชีวิตจะถูกรัฐเอาคืนไปเหลือถึงลูกหลานน้อยไปมาก เช่นเดียวกัน การมีทรัพย์สินมีมูลค่าตลาดสูง รวมถึงบ้านที่ใช้อยู่อาศัย ทุกปีจะถูกเก็บภาษีทรัพย์สินที่หนักหนาสาหัส นี่คือสิ่งที่เป็นในประเทศเจริญแล้วแทบจะทั่วโลก

ดังนั้น แม้บางครั้งคุณจะไม่ได้ทำอะไรกับทรัพย์สินมีค่า ที่เป็นที่ดินสิ่งปลูกสร้าง คุณจะถูกเก็บภาษี ซึ่งยิ่งนานไปความมั่งคั่งของคุณจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน เป็นรายจ่ายหรือต้นทุนความมั่งคั่งที่ในประเทศไทยยังไม่มี สำหรับคนที่ร่ำรวยโดยเฉพาะมีที่ดินมาก เขาควรจะต้อง Appreciate ประเทศไทย

ผมยังมีเพื่อนชาวต่างชาติ ที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ เขาเล่าว่าหุ้นราคาถูกมาก PE ของบริษัทชั้นนำดีๆ มีค่าไม่เกิน 10 เท่า เศรษฐกิจกำลังเติบโต เขาทำกำไรจากหุ้นได้ไม่เลวนัก แต่ปัญหาคือเรื่องเงินเฟ้อและค่าเงินรวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังค่อนข้างยุ่งยาก ผลคือบางทีขาดทุน อย่างไรก็ตาม เขายัง “เข้า-ออก” ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นระยะแบบนักเก็งกำไร

แต่ถ้ามองในฐานะของคนเวียดนามเอง ผมคิดว่าการเป็นคนมีเงิน รวมถึงการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น คงจะไม่สะดวกสบายหรือให้ผลตอบแทนที่ดีนัก เมื่อคำนึงถึงว่าดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังสูงลิ่ว ทำลายค่าเงินตลอดเวลา ค่าเงินด่องเองไม่มีเสถียรภาพลดค่าลงเรื่อยๆ ทำให้กำลังซื้อสินค้าจากต่างประเทศ หรือการไปเที่ยวต่างประเทศของคนเวียดนามที่ “มีสตางค์” ลดต่ำลง

นอกจากนั้น ถ้าเข้าใจไม่ผิด การเป็นคนรวยในสังคมเวียดนาม ยังเป็นสถานะที่ “ถูกเพ่งเล็ง” จากทางการหรือสังคมอยู่ ทำให้ชีวิตคนรวยอาจไม่สดใสเท่ากับคนรวยของไทย ที่มักเป็นที่นิยมชมชอบของคนในสังคม ดังนั้นคนมีฐานะดีควรจะ Appreciate ประเทศไทย

ผู้บริหารชาวต่างชาติถูกส่งมาจากบริษัทแม่ ที่มาทำงานในกิจการของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ที่เรียกว่า Ex-Pat โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่สุขมากที่ได้มาทำงานในไทย เพราะชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ของพวกเขา จะดีและสูงขึ้นมาก มีรถหรูพร้อมคนขับ มีแม่บ้านรับใช้ มีบ้านหรู มีสิ่งอื่นๆ อย่างกับ “ราชา” ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่มีในประเทศของตนเอง ดังนั้นเวลาผู้บริหารชาวญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกให้มาทำงานในไทย พวกเขาจะดีใจมาก แต่วันที่ถูกเรียกตัวกลับนั้น บางคนบอกว่าแทบจะร้องไห้ การมีเงินคุณสามารถซื้ออะไรหลายๆ อย่างในไทย ที่มีราคาถูกมากเทียบกับประเทศเจริญแล้วอีกหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น แทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะจ้างแม่บ้านอยู่ดูแลรับใช้ในญี่ปุ่น แม้คุณมีเงินค่อนข้างมาก ดังนั้น เราควร Appreciate ประเทศไทย

ถ้าจะให้หรือจัดอันดับกันแล้ว ผมคิดว่าไทยนั้น น่าจะเป็นเมืองที่เป็น “เพื่อน” กับคนที่ร่ำรวย หรือฐานะดีมีความมั่งคั่งสูงมากที่สุดแห่งหนึ่ง มองจากด้านของระบบภาษี กฎเกณฑ์ และสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงขนบประเพณีวัฒนธรรม ถ้าจะมีประเทศไหนโดดเด่นกว่าไทยชัดเจน คิดว่าน่าจะเป็นสิงคโปร์ ที่แก้ไขปรับปรุงระบบภาษีและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ประเทศเป็นแหล่งดึงดูดคนมีเงินทั่วโลกเข้ามา เพื่อเพิ่มพลเมืองและสร้างประเทศให้ก้าวหน้ามั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จุดอ่อนของไทยและสิงคโปร์ ในแง่การใช้ชีวิต น่าจะอยู่ที่ภูมิอากาศค่อนข้างร้อนตลอดปี ซึ่งคิดว่ามีส่วนทำให้เกิดความหงุดหงิดได้ง่าย และทำให้กิจกรรมหลายอย่างนอกอาคารไม่รื่นรมย์

ในฐานะคนไทยเป็นนักลงทุน ผมคิดว่าแม้ว่าเรามีปัญหาความขัดแย้งมากมายในสังคม การเมืองและความคิดเรื่องกำหนดกฎเกณฑ์ทางด้านกฎหมายและเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย จนหลายคนอาจรู้สึกว่าไทยนั้น มี “ความเสี่ยงของประเทศ” ค่อนข้างสูง แต่ผมยังคิดว่านับจนถึงวันนี้ ไทยยังไม่เคยหลุดเข้าไปอยู่ใน “แดนสนธยา” ที่นักลงทุนหรือคนสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง ซึ่งส่งเสริมให้ประเทศก้าวหน้าในแนวทางทุนนิยม ไม่สามารถเติบโตอย่างมั่นคงได้

ผมได้แต่หวังว่าประเทศไทยจะยังรักษาสถานะแบบนี้ต่อไปได้อีกยาวนาน และตราบใดที่ยังเป็นแบบนั้น ผมเองอยากจะบอกความรู้สึกของผมว่า ผม Appreciate ประเทศไทยอันเป็นที่รัก ที่ทำให้ผมมีวันที่ดีๆ เช่นในวันนี้ในฐานะของนักลงทุน

หาผู้ชนะ

ถ้าจะถามผมว่าหลักการเลือกหุ้นที่สั้นที่สุดของผมคืออะไร คำตอบมีแค่ 3 คำ “หาผู้ชนะ” ความหมายคือ การที่จะเลือกหุ้นลงทุน.สิ่งที่ผมพิจารณามากที่สุดคือ อยากได้บริษัทที่จะเป็นผู้ชนะในการขายผลิตภัณฑ์เหนือคู่แข่งทั้งหมด ยิ่งชนะมากยิ่งดี พูดง่ายๆ คนเลือกผลิตภัณฑ์ของเรามากกว่าคู่แข่งมาก หรือคนเลือกที่จะเข้าร้านของเรามากกว่าร้านคู่แข่งมาก ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการของเราด้วยความเต็มใจ เนื่องจากสินค้าของเราดีกว่าและมีคุณค่ามากกว่าสำหรับเงินแต่ละบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

ผมต้องการลงทุนในบริษัทที่กำลังชนะ บริษัทที่ชนะแล้วและจะชนะต่อไปอีกนาน พูดแบบวิชาการหน่อยคือ ผมชอบบริษัทที่มีการตลาดดีเยี่ยมและเหนือกว่าคู่แข่งมาก ผมชอบบริษัทที่คู่แข่งไม่มีทาง “ตามติด” บริษัทของเรา ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รวมถึงเหตุผลที่ว่า “มันไม่คุ้มที่จะทำ” เนื่องจากยอดขายอาจจะไม่สูงพอ ซึ่งทำให้บริษัทเราจะ “ทิ้งห่าง” เขาเพิ่มขึ้นไปอีก

แน่นอนว่าผมคงไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องของการขายหรือการตลาด ผมยังอยากเห็นการผลิตหรือให้บริการที่ดีเยี่ยมของบริษัทที่อยากลงทุน ถ้าเป็นการผลิตหรือเป็นสินค้า ผมอยากจะดูว่ามาตรฐานของสินค้าดีแค่ไหนหรืออร่อยแค่ไหนหรือสะอาดพอไหม หีบห่อสวยงามและแข็งแรงพอหรือเปล่า ถ้าเป็นธุรกิจบริการโดยเฉพาะที่ผมสามารถใช้บริการได้ ผมอยากจะเห็นบริการรวดเร็วถูกต้อง พนักงานมีสีหน้ายิ้มแย้มเต็มใจให้บริการ คิดว่าถ้าการตลาดดีเยี่ยม แต่การผลิตหรือให้บริการไม่ดี ในอนาคตความนิยมของลูกค้าจะค่อยๆตกลง และคู่แข่งจะเข้ามาแทนที่บริษัทได้

เรื่องของการเงินเองนั้น ผมอยากจะเห็นบริษัทมีฐานะทางการเงินดี มีหนี้กู้ยืมน้อยๆหรือไม่มีเลย ถ้าบริษัทมีเงินสดมากก็ยิ่งดีขึ้นไปอีก บริษัทที่มีฐานะทางการเงินดี ผมคิดว่าจะสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็สามารถฉวยโอกาสซื้อหรือขยายกิจการ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท

กระบวนการหาผู้ชนะนั้น เราจะต้องเริ่มต้นด้วยการดูว่าอะไรเป็นปัจจัยแข่งขันหรือการต่อสู้ของบริษัทกับคู่แข่ง ซึ่งทำให้เราต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าใครคือคู่แข่งของบริษัทจริง ๆ เพราะบ่อยครั้งเราอาจจะคิดผิดหรือมองไม่ครบก็ได้ ตัวอย่างเช่น ร้านเครือข่ายสะดวกซื้อสมัยใหม่นั้น คู่แข่งนอกจากจะเป็นเครือข่ายร้านสะดวกซื้อด้วยกันแล้ว ยังรวมถึงร้านโชห่วยที่มีอยู่นับแสน ๆ รายทั่วประเทศ นอกจากนั้นยังมีคู่แข่งแบบอ้อมๆ ที่เป็นร้านแบบ “มินิมาร์ท” ที่อาจจะขายอาหารสดด้วย เมื่อพบคู่แข่งชัดเจนแล้ว สิ่งที่จะต้องมองคือ อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ชนะในการต่อสู้แข่งขัน ?

โดยทั่วไปแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ชัยชนะนั้น คือตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้มากกว่า หรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมากกว่า แต่ในภาวะปัจจุบันการผลิตก้าวหน้าขึ้นมาก การมีสินค้าที่เด่นกว่าคู่แข่งจริงๆทำได้ยาก ปัจจัยสำคัญกว่าอาจเป็นเรื่องของการสร้างภาพพจน์ ให้คนรู้สึกว่าอยากใช้หรือบริโภคสินค้าผ่านโฆษณา อาจมีความสำคัญมากกว่า นอกจากเรื่องของภาพพจน์แล้ว การจัดจำหน่ายเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน สินค้าที่มีช่องทางขายมากกว่า หรือมีพื้นที่ในชั้นวางของของห้างร้านมากกว่า จะได้เปรียบและเป็นปัจจัยการแข่งขันที่สำคัญ ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออก และลงความเห็นว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และใครจะเป็นผู้แพ้

ด้านของบริษัทหรือธุรกิจการบริการเองนั้น ปัจจัยการแข่งขันอาจจะแตกต่างออกไปจากธุรกิจของสินค้า โดยหลักการคือ บริษัทสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด จะได้เปรียบและมีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงกว่า ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นธุรกิจขายความสะดวกในการซื้อสินค้าเล็กๆน้อยๆ ซึ่งมักจะรวมถึงอาหารหรือน้ำดื่ม บริษัทที่สามารถให้บริการได้ครบถ้วนและอยู่ใกล้กับลูกค้ามากที่สุดจะได้เปรียบในการแข่งขัน หรือกรณีของการขายสินค้าราคาถูก บริษัทหรือร้านที่สามารถเสนอสินค้าที่มีราคาถูก และอยู่ไม่ไกลเกินไปก็จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะ เป็นต้น

ธุรกิจแต่ละอย่าง อาจมีปัจจัยการแข่งขันไม่เหมือนกัน หน้าที่ของเราคือ กำหนดให้ได้ว่าปัจจัยนั้นคืออะไร เสร็จแล้วดูว่าบริษัทที่กำลังแข่งขันกันนั้นใครมีทรัพยากรมากที่สุดและเขาได้ใช้ทรัพยากรนั้นในการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน กฎการแข่งขันคือ ใครมีทรัพยากรมากกว่า และทุ่มเข้าไปในจุดที่เป็น “สนามรบ” อย่างถูกต้องมีโอกาสที่จะชนะสูงกว่า เราเองต้องคอยสังเกตประสิทธิผลของปัจจัยต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้ ถ้าเราเป็นคนใช้บริการอยู่ด้วยเป็นประจำ เราอาจจะมีข้อมูลนี้ ถ้ารู้สึกพอใจมากกับสินค้าหรือบริการ และเห็นถึงการตอบรับของลูกค้ารายอื่นๆจำนวนมาก แบบนี้อาจเป็นตัวบอกว่าในที่สุดบริษัทนี้น่าจะเป็นผู้ชนะ ว่าที่จริงถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ จนชำนาญ ถึงวันหนึ่งเราจะสามารถบอกได้จาก “ความรู้สึก” ว่า บริษัทไหนหรือสินค้าไหนจะเป็นผู้ชนะ

ผมเองตั้งแต่กลายเป็นนักลงทุนแบบ VI ที่เน้นลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้ชนะและเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่แนวซูเปอร์สต็อกนั้น ผมได้สร้างนิสัยส่วนตัวสำคัญสุดอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรในสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและหุ้น ผมมักจะต้องวิเคราะห์ถึงการแข่งขันหรือ “สงคราม” ผมจะดูว่าในแต่ละเรื่องใครกำลัง “แข่งขัน” หรือ “รบ” กับใคร ปัจจัยอะไรเป็นตัวที่จะชี้ขาดว่าใครจะชนะ และที่สำคัญ ทรัพยากรของใครมีมากกว่าและเขาใช้มันถูกต้องหรือไม่ เสร็จแล้วผม “ลงความเห็น” ว่าใครน่าจะชนะ ทั้งหมดนี้ ผมต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในแต่ละเรื่องด้วยว่า ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในที่อื่น โดยเฉพาะในต่างประเทศมันเป็นอย่างไร เพราะประวัติศาสตร์นั้นมีพลังสูงมาก มันบอกว่าแนวโน้มในอนาคตของบ้านเราจะเป็นอย่างไร

นิสัยการ “หาผู้ชนะ” ของผมนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมรู้สึกสนุกกับการทำนายว่า ใครจะชนะ? ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องธุรกิจหรือหุ้น ผมดูทุกอย่างตั้งแต่การเมืองว่าพรรคไหนหรือกลุ่มไหนจะชนะ เรื่องของสถานศึกษาว่าโรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหน จะโดดเด่นขึ้นและแห่งไหนจะตกต่ำลง บางทีมองถึงเรื่องของประเทศต่างๆในโลกว่า ประเทศไหนจะรุ่งเรืองประเทศไหนจะค่อยๆดับลง ไล่ไปจนถึงว่าดาราคนไหนของไทยจะดังมากกว่าคนอื่นและดังในด้านไหนเช่น เป็นต้น

ดาราที่โดดเด่นในด้านของการเป็น ดาราเซ็กซี่หรือเป็นแบบไทย ๆ หรือเป็นแบบน่ารักแบบวัยรุ่นต่างๆเหล่านี้ ถ้าจะถามว่ามีประโยชน์อะไรกับการลงทุน โดยเฉพาะในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับหุ้นโดยตรง คำตอบผมคือ หลายๆเรื่องคงไม่เกี่ยว แต่อดไม่ได้ที่จะคิดเพราะมันเป็นนิสัยติดตัวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายๆเรื่องอาจจะเกี่ยวข้องในระดับภาพใหญ่ของการลงทุน เช่น ความก้าวหน้าของไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต? นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคิดเพราะมันกระทบกับบริษัทที่เราลงทุนในระยะยาว เช่นเดียวกับเรื่องของการเมืองการปกครองที่สำคัญต่อความเจริญก้าวหน้าและความมั่นคงของประเทศ และบริษัทที่เราลงทุนเช่นเดียวกัน

เขียนจนเกือบถึงบรรทัดสุดท้ายแล้ว ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ ชาร์ลี มังเกอร์ หุ้นส่วนสำคัญของบัฟเฟตต์ที่พูดว่า ความรู้ในการลงทุนนั้นมาจากหลากหลายวิชา เราต้องเอามาสอดประสานกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่จะนำไปสู่การลงทุนที่ดี ผมเองคิดว่า นี่คงเป็นสิ่งที่ชาร์ลีแนะนำ

บทเรียนจากกรุงปราก

ช่วงสงกรานต์ ผมได้ไปท่องเที่ยว สาธารณรัฐเช็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงปราก ที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ และเช่นเคย นอกจากความบันเทิงหย่อนใจแล้ว ผมมักวิเคราะห์ ถึงประวัติศาสตร์ ความเป็นไป สถานะปัจจุบัน และคิดไปถึงอนาคตว่าประเทศหรือดินแดนที่กำลังเดินอยู่นั้น จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่มันคงไม่มีความหมายมากนัก หากผมจะไม่โยงมาว่าข้อมูลที่ได้จากการศึกษาเมืองปรากนั้นมันมีความหมายอะไรกับเมืองไทย ลองมาดูกัน

ข้อแรกที่เห็นคือ กรุงปรากนั้นดูเหมือนจะยังเป็นเมือง โบราณ เพราะอาคารบ้านเรือนและร้านค้าต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นตึกเก่าที่อาจจะสร้างมาแล้วหลายร้อยปี หรือบางแห่งอาจจะเป็นพันปี ตึกเหล่านี้สวยงามเต็มไปด้วยศิลปะ แต่ที่สำคัญยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าทุกอย่างภายในอาคาร มีการปรับปรุงใส่เครื่องมืออุปกรณ์ของโลกสมัยใหม่ ที่ทำให้มันทันสมัยมีประสิทธิภาพในการอยู่อาศัยและทำงานในโลกสมัยใหม่

ข้อนี้ถ้าจะพูดไปมีความละม้ายคล้ายกับเมืองหลวงของหลายประเทศในยุโรป ที่มีการอนุรักษ์อาคารและของเก่าๆ ไว้ ซึ่งผลพลอยได้ที่สำคัญคือ ทำให้เมืองสวยและน่าท่องเที่ยว ความแตกต่างของกรุงปรากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในยุโรป คือปรากนั้นแทบไม่มีตึกสูงเลย และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยก็ไม่แออัด นี่ทำให้ปรากเป็นเมือง สบาย ๆ ที่ดูผ่อนคลาย

เมืองอาจจะไม่มีอะไรที่ ยิ่งใหญ่ ระดับโลก แต่มีทุกอย่างครบ ไล่ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของโบฮีเมียน ไปจนถึงการแสดงละครเวทีและโอเปร่าชั้นนำและพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมาย สถานที่ชอปปิงของที่ระลึกสวยงามน่าสนใจ ทำให้การท่องเที่ยวน่าจะเป็นรายได้หลักอย่างหนึ่งของเช็ก

สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งอย่างหนึ่ง เมื่อเดินตามสถานที่ท่องเที่ยวของปราก คือ ร้านนวดแบบไทยซึ่งเสนอการนวดทุกประเภท เช่น นวดแผนโบราณ นวดน้ำมันหรือนวดฝ่าเท้า โดยพนักงานที่ผมดูแล้วน่าจะเป็นคนไทย ที่เดินทางไปจากเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่ ราคาค่านวดนั้นถ้าใช้มาตรฐานของฝรั่งแล้วถือว่าไม่แพง ราคาเริ่มต้นอาจจะ 300-400 บาทไทย ไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก เพียงแต่เวลาอาจจะสั้นกว่า

สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งนั้นไม่ใช่ว่าเจอร้านนวดไทย แต่ทึ่งเพราะมันมีค่อนข้างมากเห็นทั่วไปหมด คิดว่าร้านนวดนั้นน่าจะเป็นเป็นธุรกิจที่ดีมากในเมืองท่องเที่ยวแถบประเทศยุโรปที่มีอากาศหนาวเย็น ที่คนเดินเที่ยวกันมากจะรู้สึกเมื่อยอยากพักนวด การที่มีร้านนวดแบบไทยที่นักท่องเที่ยว ทั่วโลก เห็นและคุ้นเคยนั้น ผมคิดว่าเป็น ทรัพย์สิน ที่ประเทศไทยควรใช้ให้เป็นประโยชน์

ผมมองไปว่าธุรกิจการนวดนั้นเราน่าจะทำให้มันเป็น ธุรกิจใหญ่ ที่ไทยสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในประเทศและสามารถส่งออกได้ทั่วโลกตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ผมเองยัง ฝัน ว่าน่าจะมีบริษัทที่มุ่งมั่นทำร้านนวดไทยให้เติบโตสามารถนำเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ผมจะซื้อหุ้นลงทุนได้ด้วย

ข้อสังเกตเรื่องที่สองทำให้ผมรู้สึกทึ่ง คือ ได้มีโอกาสใช้บริการคนขับรถของสถานทูตไทยในกรุงปราก เขาเป็นคนหนุ่มอายุน่าจะสัก 30 เศษๆ หน้าตาดีการศึกษาน่าจะดีด้วย ผมไม่รู้ว่ารายได้เขาเป็นอย่างไร แต่คงเดือนละหลายหมื่นบาทตามอัตราค่าแรงของคนขับรถในประเทศที่ เจริญแล้ว อย่าง เช็ก

ผมทึ่งเพราะเขาสามารถพูดได้หลายภาษาซึ่งแน่นอนรวมถึงภาษาอังกฤษที่พูดได้คล่องแคล่ว สามารถอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวหรืองานอื่น ๆ ที่ นาย จะใช้ เช่น จองตั๋วดูคอนเสิร์ต แนะนำและพาไปแหล่งท่องเที่ยวหรือร้านอาหารที่น่าสนใจได้ ว่าที่จริงเขาคงทำได้อีกหลาย ๆ อย่างรวมถึงการ รับแขก

การแต่งตัวของเขานั้นดูดีเท่าๆ กับหรือดีกว่าเราที่เป็นแขกซะอีก เมื่อได้คุยกันเขาบอกว่าเขาชอบเมืองไทยมากและมาพักผ่อนที่ประเทศไทยทุกปี ปีละครั้งโดยการเก็บเงินจากรายได้พิเศษเช่นค่าโอทีจากการขับรถ เป็นต้น และนี่คือสิ่งที่ผม ทึ่ง ที่ว่าพนักงานขับรถของสถานทูตไทยในเช็กนั้น สามารถเที่ยวเมืองไทยได้ทุกปี แต่พนักงานขับรถสถานทูตเช็กในไทยนั้น ผมเชื่อว่าไม่สามารถไปเที่ยวเช็กได้ อย่าว่าแต่ทุกปีเลย

ประเด็นคือ ถ้าเราเชื่อว่างานอย่างเดียวกันน่าจะมีคุณค่าเท่ากันหรือใกล้เคียงกันไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน พนักงานขับรถไทยน่าจะสามารถไปเที่ยวต่างประเทศไกล ๆ ได้ซักปีละครั้งตามพนักงานขับรถเช็ก แต่นี่ไม่ใช่ ดังนั้น อาจแปลว่า คนขับรถเช็กมีหรือได้รับคุณค่าสูงเกินไป หรือถ้าจะพูดแบบนักลงทุน เรียกว่า Over Valued หรือไม่คนขับรถไทยได้รับคุณค่าหรือเงินรายได้น้อยเกินไป หรือถ้าพูดแบบหุ้นก็คือ Under Valued

แต่อาจมีคนเถียงว่า คุณภาพ ของคนขับรถเช็กนั้น สูงกว่าคนขับรถไทยมาก เนื่องจากเหตุผลข้างต้นที่บอกว่าคนขับรถเช็กนั้นสามารถทำอะไรต่างๆ ได้เหนือกว่าคนขับรถไทยมาก ดังนั้น ราคา ของคนขับรถเช็กนั้นสมเหตุผลแล้วเช่นเดียวกับคนขับรถไทยที่ทำงานอย่างอื่นไม่ค่อยได้นอกจากขับรถ

ในความรู้สึกของผมที่ต้องวิ่งหาคนขับรถที่บ้านในเมืองไทยอยู่เรื่อย ๆ เพราะคนขับรถมักจะไม่อยู่นาน เพราะเขาอยากไปขับแท็กซี่หรือหางานอื่นทำ แต่ในเวลาเดียวกัน คนขับรถที่เช็กนั้น เมื่อได้งานแล้วมักจะต้อง เกาะไว้ให้แน่น เพราะงานแบบนี้อาจจะหายากโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำลงเรื่อย ๆ

มองโดยเปรียบเทียบแล้ว คนขับรถเช็กน่าจะ Over Value กว่าคนขับรถไทย และถ้าเป็นหุ้น เราคงต้อง Switch หรือขายหุ้นคนขับรถเช็ก และมาซื้อหุ้นคนขับรถไทย เพราะในที่สุดแล้ว ทุกอย่างต้องวิ่งไปสู่ พื้นฐาน ความหมายคือ ในอนาคต คนขับรถเช็กอาจมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลง อาจจะ 2 ปีครั้ง ขณะที่คนขับรถไทยอาจไปเที่ยวเช็กได้ 3 ปีต่อครั้ง

ที่ยกเรื่องคนขับรถมาพูดนั้น เพื่อจะนำไปสู่ภาพใหญ่ที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร ก็น่าจะมีความสัมพันธ์คล้าย ๆ กันนั่นคือคนเช็กอาจจะบริโภคได้น้อยลงเมื่อเทียบกับคนไทย ถ้ามองจากตัวเลขคือเศรษฐกิจเช็กจะโตช้ากว่าเศรษฐกิจไทยไปเรื่อยๆ ในระยะเวลาหนึ่ง หรือไม่ค่าเงินเช็กอาจปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเงินบาท ทำให้คนเช็กมาเที่ยวเมืองไทยได้น้อยลง

ขณะที่คนไทยไปเที่ยวเช็กได้มากขึ้น และสุดท้ายคือ ประเทศไทยอาจกลายเป็น ประเทศพัฒนาแล้ว ใกล้เคียงกับเช็กโดยที่รายได้หลักของไทยอาจมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลายรวมถึงการท่องเที่ยว และมีชื่อเสียงด้านการเป็นประเทศให้บริการ นวด ที่โดดเด่นคล้ายๆ อิตาลีที่มีเรื่องแฟชั่น หรือฝรั่งเศสมีไวน์เป็นสินค้าโดดเด่น ขณะที่เช็กเองยังคงโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น นาโนเทคโนโลยีหรือการแพทย์บางด้าน เป็นต้น

สุดท้ายที่ผมไม่ใคร่ได้เห็นในกรุงปราก คือ เรื่องข่าวและความเคลื่อนไหวของธุรกิจและตลาดหุ้น ตามร้านหนังสือซึ่งผมมักจะต้องแวะเยี่ยมเยือนทุกเมืองที่ไป หนังสือเกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นดูเหมือนจะมีน้อย ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพฯที่มีหนังสือหุ้นออกใหม่หรือแม้แต่เก่าได้รับความนิยมสูง

หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียอย่างสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ที่ผมไป มักพบว่าชั้นที่เกี่ยวกับธุรกิจและหุ้นจะมีหนังสือดังอยู่พอสมควร และนี่ทำให้ผมสรุปว่า เมืองไทยยังเป็นประเทศที่กำลังเติบโตคึกคักและน่าจะโตต่อไปพอสมควร และนี่ก็เอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยเฉพาะของชาว VI ทั้งหลาย

หุ้นที่(จะ)ใหญ่ที่สุดในตลาด

งานอดิเรกอย่างหนึ่งของผมคือ ดูว่าบริษัทไหนในตลาดหุ้นของแต่ละประเทศมี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุดและหลายๆ ครั้งดูบริษัทที่ใหญ่รองๆ ลงมา และผมชอบที่จะดูว่าในอดีต บริษัทไหนเคยเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดหรือใหญ่มากๆ และเดี๋ยวนี้พวกเขายังใหญ่อยู่ไหม เพราะข้อมูลนี้จะช่วยบอกถึง “วิวัฒนาการ” ทางเศรษฐกิจ และบริษัทจดทะเบียนหรือหุ้นว่าจะไปทางไหน

ถ้าจะพูดให้ตรงประเด็นคือ ในอนาคตบริษัทไหนจะมีโอกาสเติบโต จนกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุด หรือใหญ่มากในตลาดหลักทรัพย์ และถ้าเรารู้ เราก็สามารถลงทุนซื้อและถือหุ้นตัวนั้นในระยะยาวได้ ลองเริ่มต้นจากตลาดสหรัฐ ซึ่งมีข้อมูลยาวนานและหาได้ง่ายดู

ปัจจุบันหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาดสหรัฐ คือหุ้นของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และหุ้นของบริษัทแอกซอนส์โมบิล ที่ผลิตน้ำมัน สลับกันเป็นหมายเลขหนึ่ง แอกซอนส์โมบิล จริงๆ แล้วเคยเป็นหมายเลขหนึ่งมานานแล้วหลายสิบปี และคงจะเป็นบริษัทหมายเลขหนึ่งในหลายๆ ครั้งที่ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นไปสูงหรือมีวิกฤติน้ำมันที่ทำให้บริษัทมีกำไรสูงมาก และทำให้มูลค่าหุ้นสูงลิ่ว ประเด็นคือ พลังงานเป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องบริโภค และมีการใช้จ่ายค่อนข้างมากมาตลอด น่าจะตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนเริ่มมีการใช้รถยนต์

ดังนั้น ยอดขายของบริษัทน้ำมัน จึงมีมูลค่าสูงมากตลอดมา บริษัทที่จะผลิตน้ำมัน ก็ต้องมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทน้ำมัน มีขนาดสูงลิ่วมาตลอด ผลคือ บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอย่างเอ็กซอนส์ จึงติดอันดับหนึ่งมาบ่อยครั้ง และผมเชื่อว่ามากกว่าทุกบริษัท

เมื่อโลกเปลี่ยนไป คนอเมริกันร่ำรวยขึ้นมาก พวกเขาเริ่มใช้จ่ายกับสินค้าไฮเทคมากขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์เคลื่อนที่ได้อย่างไอโฟนและไอแพด หุ้นของแอปเปิลที่เป็นหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรม จึงกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกันและโลกได้ในช่วงเร็วๆ นี้ แม้ว่าเมื่อประมาณซักสิบกว่าปีที่ผ่านมา ยังเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ บริษัทหนึ่งในตลาดหุ้น

ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ของหุ้นหมายเลขหนึ่งย้อนหลังไปไกลๆ จะพบว่าหุ้นที่เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นอเมริกานั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัยของเศรษฐกิจ เมื่อสมัยที่คนอเมริกันเริ่ม "ขับรถยนต์" กันทั้งประเทศ หุ้นของเจนเนอรัลมอเตอร์ หรือ GM ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของอเมริกา น่าจะเคยเป็นบริษัทใหญ่ที่สุด แต่หลังจาก "ยุคทอง" ของรถยนต์ผ่านไป เพราะการแข่งขันจากรถยนต์ต่างประเทศ หุ้น GM ก็ไม่เคยกลับมายิ่งใหญ่อีกเลย

ยุคที่คนอเมริกันหันมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกในบ้านกันทุกบ้าน หุ้นเจนเนอรัลอีเล็กทริก หรือ GE น่าที่จะเคยเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในตลาด การใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น อิ่มตัวไปนานแล้ว GE ก็ตกอันดับไปนาน แต่ปัจจุบันยังใหญ่มาก แต่นี่เป็นเพราะ GE ได้หันไปทำกิจการอย่างอื่น ที่ยังทำรายได้มาก และมีคนจ่ายเงินซื้อบริการมากพอสมควร เช่น ทำเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และการทำธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่ โอกาสกลับมาเป็นที่หนึ่งน่าจะหมดไปแล้ว

เมื่อเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ แน่นอน IBM ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่ง น่าจะเคยเป็นบริษัทใหญ่ที่สุด เพราะแทบทุกธุรกิจต้องใช้คอมพิวเตอร์ แต่ต่อมาเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทุกคนต้องใช้ และการใช้ต้องอาศัยซอฟต์แวร์ หุ้นของไมโครซอฟต์ ซึ่งเป็นหมายเลขหนึ่งที่โดดเด่นครอบงำธุรกิจนี้ จึงเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่มากที่สุดในตลาด และในโลกทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่ปี บริษัทยังทำงานกันใน "โรงรถ"

ย้อนหลังไป 15-20 ปีที่ผ่านมา วอลมาร์ทซึ่งเอาชนะคู่แข่งที่เหนือกว่าในด้านของการค้าปลีกสมัยใหม่และเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ โดยอาศัยกลยุทธ์การ "ขายถูกทุกวัน" จนสร้างเครือข่ายที่มียอดขายมโหฬารสูงสุดในโลก และมากกว่าบริษัทน้ำมันที่มียอดขายสูงมากตลอดมา ก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด แม้ปัจจุบันตกอันดับแล้ว แต่มูลค่าตลาดของวอลมาร์ท น่าจะยังสูงต่อไป เพราะมูลค่าธุรกิจของโมเดิร์นเทรดยังสูงต่อไป ตราบที่เศรษฐกิจยังขยายตัว เพราะทุกคนต้องกินต้องใช้ทุกวัน และรูปแบบธุรกิจอื่นยังทดแทนไม่ได้

สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ถ้ามองย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ พบว่า เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่ และมีมูลค่าตลาดสูงมาก และเป็นอันดับหนึ่งมาเป็นครั้งเป็นคราว แม้ระยะหลังโอกาสจะเป็นอันดับหนึ่งอีกคงน้อยลง เหตุผลชัดเจนว่า คนมีเงินและต้องฝากธนาคาร รวมถึงต้องมาใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความเจริญทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น สถาบันการเงินเป็นกิจการที่อันดับหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า จะรักษาอันดับของตนเองไว้ได้ โดยเฉพาะเวลาที่เกิดวิกฤติขึ้น เราจะเห็นว่าช่วงเวลาหนึ่ง ซิตี้แบงก์ อาจเป็น "ราชันย์" ต่อมาเราอาจจะเห็นแบงก์ออฟอเมริกาที่ยิ่งใหญ่

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ผมลองนึกดูคร่าวๆ แล้วคิดว่าช่วงแรกๆ ของการเปิดตลาดหลักทรัพย์ กิจการที่น่าจะมีมูลค่าตลาดสูงสุด จะเป็นแบงก์อันดับหนึ่งของประเทศ ซึ่งคือธนาคารกรุงเทพในยุคนั้น หุ้นแบงก์ยังน่าจะเคยใหญ่ที่สุดในตลาดมาเป็นครั้งเป็นคราวจนมาถึงยุคหลังที่ประเทศเจริญขึ้น และคนหันมาบริโภคสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะพลังงานมากขึ้น ทำให้หุ้นแบงก์ตกอันดับไป และอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาใหญ่สุดอีก กลุ่มแบงก์น่าจะเป็นกิจการที่ใหญ่มากไปอีกนานเหมือนอย่างในตลาดหุ้นสหรัฐ

เมื่อประเทศเข้าสู่โหมดการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการสร้างสาธารณูปโภค และสร้างที่อยู่อาศัยมากมาย หุ้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ย่อมมีโอกาสกลายเป็นหุ้นอันดับหนึ่ง หุ้นของปูนใหญ่ซึ่งมีขนาดใหญ่ครอบงำอุตสาหกรรม จึงน่าจะเคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าอันดับหนึ่งของประเทศในช่วงหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจไทยก้าวสู่ระดับที่ใกล้จะเป็นเศรษฐกิจที่ "พัฒนาแล้ว" การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างน่าจะลดลงเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายอื่น โอกาสที่ธุรกิจกลุ่มก่อสร้างจะกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในตลาดอีกน่าจะยาก

ธุรกิจพลังงานของไทย เริ่มกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งมาหลายปีแล้ว โดยบริษัทปตท. ซึ่งครอบงำธุรกิจนี้สามารถรักษามูลค่าหุ้นเป็นอันดับหนึ่งอย่างที่ไม่มีใครแซงได้มานานหลายปี พลังของ "เศรษฐกิจใหม่" กำลังเข้ามาแทนที่ หุ้นที่อาจจะมีโอกาสกลายเป็นหุ้นใหญ่ที่สุดในประเทศ ในเวลาไม่นานคือธุรกิจสื่อสารที่เป็นโมไบล์หรือมือถือ และแน่นอนหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม คือหุ้นของ ADVANC ที่มีมูลค่าหุ้นใกล้เข้ามาทุกที

มองไกลออกไปในอนาคต การหาหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ หรือหุ้นที่จะมีขนาดใหญ่มากๆ คือ "รางวัลอันสูงสุด" สำหรับนักลงทุนระยะยาว ถ้าเรารู้หรือคาดการณ์ถูก การลงทุนถือหุ้นไว้จะให้ผลตอบแทนที่ดีมาก โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ซื้อแล้วถือเก็บไว้ รอเวลาให้มันเติบโตไปเรื่อยๆ