ภรรยาผมเป็นครูสอนเปียโนยึดอาชีพนี้มาตลอดตั้งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ นับถึงวันนี้ประมาณ 30 ปีแล้ว.ดังนั้นผมจึงรู้อะไรเกี่ยวกับการเรียนการสอนเปียโนอยู่บ้าง แม้ว่าโดยส่วนตัวจะไม่มีความสามารถทางด้านดนตรีเลย ไม่ว่าจะเป็นเปียโนหรือดนตรีอย่างอื่น
เหตุผลที่ผมไม่สามารถหรือมีความรู้เกี่ยวกับดนตรีเลย ส่วนหนึ่งก็คือช่วงวัยเด็กฐานะทางบ้านผมจนมาก ทำให้เราไม่สามารถจะซื้อเครื่องดนตรีไม่ว่าชนิดไหนมาเล่นได้ ดนตรีในสมัยนั้นยังถือว่าเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” และเปียโนนั้นเป็น “ราชา” ของดนตรีที่หรูหราและฟุ่มเฟือยที่สุด เพราะเครื่องเปียโนมีราคาแพงมาก นอกจากนั้น การเล่นเปียโนให้เป็นและเก่งนั้นต้องอาศัยการเรียนและการฝึกฝนอย่างหนักและนานมาก แถมค่าเรียนแพงกว่าการเรียนดนตรีอย่างอื่น
ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาและเป็นช่วงลูกผมยังเล็กอยู่ จำได้ว่าเป็นช่วงการเรียนเปียโนเริ่มนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะลูกของคนยุค “เบบี้บูม” ที่เป็นคน “เจน Y” เริ่มเกิด พ่อแม่ของเด็กยุคนี้เริ่มจะมีฐานะดีขึ้นเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทย พวกเขามีลูกน้อยอยาก “สร้างลูกให้เป็นอัจฉริยะ” หรือทำให้ลูกมีความสามารถมีความ “สุนทรี” กับ “ศิลปะ” และพวกเขาเชื่อว่าดนตรีนั้นมีอิทธิพลอย่างสูงต่อพัฒนาการของเด็ก
ดังนั้น การให้ลูกเรียนเปียโนจึงเป็นสิ่งที่คนทำกันมาก บ้านไหนคนมีรายได้ค่อนข้างสูงที่ลูกสาวไม่เรียนเปียโนนั้น บางทีอาจถูกมองว่าเชยหรือไม่ค่อยทันสมัยไปเลย และนั่นคือยุค “บูม” ของการเรียนการสอนเปียโน โรงเรียนสอนดนตรีมีเปียโนเป็นคลาสใหญ่สุดเกิดขึ้นมาก ครูเปียโนมีงานสอนเต็มเวลาไม่ต้องง้อโรงเรียนหรือนักเรียนเลย
เวลาผ่านไปจนถึงช่วงเร็วๆ นี้ สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก วัฒนธรรม “ป็อบ” เข้ามาแทนที่วัฒนธรรม “รุ่นเก่า” คน “รุ่นใหม่” ต้องการ “ย่นระยะเวลาแห่งความสำเร็จ” ในชีวิตให้เหลือสั้นที่สุด ดังนั้นอะไรที่ทำได้เร็วใช้เวลาน้อยจึงเข้ามาแทนที่สิ่งที่ต้องใช้เวลามาก คนรุ่นใหม่ไม่สามารถรอหรือต้องทุ่มเทความพยายามมากเกินไปในการจะ “ประสบความสำเร็จในชีวิต” ดังนั้น การเรียนเปียโนจึงค่อยๆจางหายไปในแวดวงคนรุ่นใหม่ และนี่อาจจะรวมไปถึงกิจกรรมทางศิลปะที่ต้องใช้เวลามากในการฝึกฝนเช่น การเต้นบัลเล่ต์ หรือกิจกรรมอื่น ๆ
ในทำนองเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่เขาไปเรียนอะไรกัน? ผมเองไม่ทราบรายละเอียดมากนักแต่สิ่งหนึ่งที่ภรรยาผมบอกคือ พวกเขาไปเรียนการร้องเพลงสมัยใหม่ แบบที่ผู้เข้าแข่งขันประกวดแนว AF หรือ อะแคเดมี อะวอร์ด ทำกัน บางคนไปเรียนการแสดง เผื่อมีโอกาสเข้าไปแข่งขันหรือเข้าวงการบันเทิงในอนาคต ดนตรีเองอาจเน้นไปในเครื่องดนตรีที่สอดคล้องกับดนตรีสมัยใหม่ ที่สามารถโชว์ได้เช่นกีตาร์หรือกลอง เป็นต้น ส่วนเปียโนดูเหมือนว่านักเรียนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และโรงเรียนอาจจะไม่ทำกำไรอย่างเคย และอาจจะต้องลดขนาดลงเนื่องจากค่าเช่าพื้นที่ในห้างมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี มองไปแล้วนี่คืออุตสาหกรรมกำลังค่อยๆตกต่ำลงอย่างไม่หวนกลับ
ผมถามต่อว่าแล้วใครหรือกิจการอะไรจะมาแทนที่โรงเรียน คำตอบคือน่าจะเป็น “ร้านเสริมความงาม” ซึ่งเห็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเดี๋ยวนี้คนไปเสริมเติมแต่งร่างกายให้สวยงามมากขึ้น ถ้าอยู่ในแวดวงบันเทิงแล้วแทบจะทุกคนต้องทำ คนธรรมดาเดี๋ยวนี้ก็ทำกันมากเพราะรู้สึกว่าทำแล้ว “เห็นผลทันที” คนไม่รู้สึกว่าการทำศัลยกรรมหรือเติมสารต่าง ๆ เข้าไปในร่างกายเป็นความเสี่ยงอะไรมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับความสวยงาม ที่จะได้รับแถมราคาก็สมเหตุผล สถานเสริมความงามนั้นสามารถที่จะจ่ายค่าเช่าที่แพงๆได้ ในขณะที่โรงเรียนสอบเปียโนนั้นรับไม่ไหว เหตุผลหลักคือ ธุรกิจเสริมความงามกำลังเป็นธุรกิจเติบโตมีคนเข้าเต็มร้าน ขณะที่โรงเรียนสอนเปียโนเป็นธุรกิจกำลังตกต่ำนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ
ผมนึกต่อไปถึงเรื่องของโรงเรียนสอนหนังสือสายสามัญตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษา แล้วทำให้ผมเข้าใจว่าทำไม “โรงเรียนติว” จึงเจริญรุ่งเรืองและอยู่ได้มายาวนานมากแถมทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ เหตุผลคือ พวกเขาสอนเร็ว มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อให้สามารถทำข้อสอบได้ดีขึ้น ทำคะแนนได้สูงขึ้นและสามารถสอบเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ตรงกับความคิดของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการอะไรเร็วและได้ผลทันที เขาไม่ต้องการอะไรที่อาจหนักแน่น และอาจจะมีประโยชน์มากกว่าหรือดีกว่าในอนาคต ที่ยังมองไม่เห็น
การประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยของ “ไอดอล” ที่พวกเขาเห็นจากสื่อสมัยใหม่ที่เปิดกว้างนั้น ทำให้พวกเขาต่างต้องการจะเดินทาง “สายตรง” พวกเขาคิดว่าการ “สร้างฐาน” ที่หนักแน่นนั้นอาจจะเสียเวลาเกินไป
ที่เขียนมาซะยืดยาวนั้น หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่ามันเกี่ยวอะไรกับการลงทุน คำตอบของผมคือ ผมกำลังจะอธิบายว่านี่คือการวิเคราะห์หุ้นหรือกิจการที่กำลังค่อย ๆ ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มันกำลังตกต่ำลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย และในที่สุดธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ในลักษณะแบบนี้โอกาสที่กิจการจะฟื้นตัวกลับมาอาจจะยากไม่เหมือนอุตสาหกรรม ที่เป็นวัฏจักรที่ในที่สุดธุรกิจจะกลับมาดีได้อีก
ถ้าลองมาดูธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ จะพบว่ามีธุรกิจหลายอย่างประสบกับปัญหายอดขายไม่เพิ่ม และกำไรตกลงมาอย่างน่าใจหาย ทั้งๆ ที่เคยเป็นกิจการที่รายได้เติบโตโดดเด่น รวมถึงกำไรโตต่อเนื่องเป็นหุ้นที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนแบบ VI แต่ขณะนี้ต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่า ธุรกิจนั้นกำลังตกอยู่ในสภาวะที่จะตกต่ำลงยาวนานจนยากที่จะฟื้นตัวกลับมาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจขายเครื่องและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ไม่อิงอยู่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงอย่างอื่นเลย ที่กำลังถูกแย่งชิงจากผู้ขายสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตรวมถึงจากผู้ผลิตและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่มาเปิดร้านแข่ง
อีกธุรกิจหนึ่งคือ ธุรกิจร้านขายหนังสือที่เป็นเล่ม มีหน้าร้านขนาดใหญ่ ที่กำลังถูกแย่งลูกค้าโดยสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและขายถูกกว่า ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยเล่มลงไปเรื่อยๆ หรือธุรกิจผลิตและขายถ่านหิน ที่กำลังถูกคุกคามจากก๊าซธรรมชาติและแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่สะอาดและบางทีราคาถูกกว่าทำให้ปริมาณใช้ถ่านหินไม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาที่อาจจะไม่ปรับตามราคาพลังงานอย่างอื่นเท่ากับที่เคยเป็นมา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ธุรกิจนี้ตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน
เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ธุรกิจไหนที่เราสงสัยจะกลายเป็นธุรกิจตะวันตกดินแน่นอนในช่วงต้นๆของยอดขายและกำไรตกต่ำลง ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ชัดเจนต่อเมื่อเวลามันผ่านไปยาวนาน และยอดขายกำไรมันลดลงไปมาก จนกิจการแทบจะไปไม่ไหวแล้ว ซึ่งถ้าถึงวันนั้น ราคาหุ้นอาจจะตกไปมากจนทำให้การลงทุนกลายเป็นหายนะ หน้าที่ของเราในฐานะนักลงทุนคือ เราต้อง“รู้สึกตัว”ให้เร็วที่สุดว่า เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรม? มีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือที่ทำให้ยอดขายและผลประกอบการออกมาไม่เป็นไปตามคาด? การได้ “สัมผัส” กับธุรกิจโดยตรงจะช่วยเราได้มาก
No comments:
Post a Comment