Wednesday, July 28, 2010

ทำเงินก้อนโต...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investor นั้นก็เหมือนกับคนในวงการอื่น ๆ ที่มีทั้งนักลงทุนประเภท Aggressive หรือพวกที่ “ก้าวร้าว” กล้าได้กล้าเสีย ทำงานหนัก หนุ่มแน่น ซึ่งในบางช่วงบางสถานการณ์ อย่างเช่นในช่วงนี้ สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ หลายคนกลายเป็นเศรษฐีในเวลาไม่นาน กับอีกกลุ่มหนึ่งหรือที่จริงควรเรียกว่าอีกปีกหนึ่งที่เป็น VI ประเภท Conservative หรือนักลงทุนแนวอนุรักษ์นิยมที่เน้นความปลอดภัยในการลงทุนเป็นหลัก ไม่ชอบอะไรที่หวือหวาและอันตราย คนในกลุ่มนี้ชอบลงทุนในกิจการที่มีความแน่นอนของผลประกอบการของบริษัทแม้ว่า กิจการจะโตช้าและหลายกิจการอาจจะใกล้ที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมตะวันตกดิน เกือบทั้งหมดชอบหุ้นถูกแม้ว่ามันจะถูกมานาน พวกเขามักจะเป็นคนที่มีอายุมากกว่าพวกแรกและหลายคนมีเงินไม่มากและเหลือ เฟือที่จะกล้าเสี่ยง ผลตอบแทนการลงทุนของพวกเขาดูเหมือนว่าจะไปแบบเนิบ ๆ ไม่หรูหราและอาจจะไม่เลวร้ายไม่ว่าในสถานการณ์ไหน

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปก็คือ ถ้าเราจะเป็น VI แบบ Aggressive นั้น หุ้นประเภทไหนที่เราจะเล่น หุ้นอะไรที่จะ “ทำเงินก้อนโต” ให้เราได้


หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นของกิจการที่มีผลประกอบการที่เป็นวัฎจักรรุนแรง นี่คือผู้ผลิตหรือให้บริการสินค้าที่เป็นโภคภัณฑ์ เช่น ปิโตรเคมีต่าง ๆ การเดินเรือและการบิน ผลิตภัณฑ์การเกษตรโดยเฉพาะที่หาสินค้าทดแทนได้ยากเช่น ยางพาราและไก่ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไม่ได้เป็นโภคภัณฑ์แต่ก็มีวัฎจักรที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าคงทนที่คนสามารถเลื่อนการซื้อออกไปได้เช่น รถยนต์และบ้าน เป็นต้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฎจักรนี้ เราต้องรู้ว่าวัฎจักรกำลังเป็น “ขาขึ้น” ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนภาวะที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าการคาดการณ์ในเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย แต่ถ้าทำได้ถูกต้อง บ่อยครั้งจะได้กำไรงดงาม บางทีหุ้นขึ้นไปหลายเท่าในเวลาไม่กี่เดือน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ทำให้ VI ที่เน้นการลงทุนในหุ้นวัฎจักรร่ำรวยไปหลายคน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการลงทุนนั้น อะไรที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว คนที่มา “ทำซ้ำ” อาจจะช้าเกินไป

หุ้นกลุ่มที่สองคือ หุ้นเล็กที่ไม่มีใครเหลียวแล บางคนเรียกว่า “หุ้นเงา” นี่คือหุ้นที่มีขนาดค่อนข้างจะเล็กคืออาจจะมี Market Cap. หรือมูลค่าหุ้นทั้งบริษัทไม่ถึงพันล้านบาท แต่เป็นกิจการที่มีผลประกอบการที่กำลังดีขึ้นอย่างมากในระยะอาจจะสองสามปี ข้างหน้า และบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่ทำอยู่ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ หุ้นเหล่านี้ที่จะวิ่งพรวดได้นั้นมักจะต้องมี “สปอนเซอร์” หรือถ้าจะใช้ภาษาการแข่งม้าก็คือ จะต้องมี “จ็อคกี้” ที่จะ “กระตุ้น” ให้หุ้นวิ่งไปได้มาก ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นมักจะต้องรวมถึงเจ้าของบริษัทที่จะต้องออกมา “เชียร์” หุ้นสม่ำเสมอ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นเงาแบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงนอกจากผลประกอบการแล้ว จะต้องดูว่าในที่สุดจะมีใครเป็น “คนนำ” ในการขับเคลื่อนหุ้น

หุ้นกลุ่มที่สามก็คือ หุ้น “นางฟ้าตกสวรรค์” นี่คือหุ้นที่เคยเป็น “นางฟ้า” ของนักลงทุน เป็นหุ้นที่เคยร้อนแรง ราคาปรับตัวขึ้นไปหลายเท่าในเวลาอันสั้นและเหตุผลที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงมาก นั้นเป็นเพราะบริษัทกำลังมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นและเติบโตมาก นักลงทุนคาดหวังบริษัทไว้สูงมากและให้ราคาหุ้นสูงอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ผลการดำเนินงานกลับไม่เป็นไปตามที่คาดด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา สร้างความผิดหวังและทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นทิ้งอย่าง “บ้าคลั่ง” เช่นเดียวกับในตอนที่เข้าซื้อหุ้น ผลก็คือ ราคาหุ้นตกต่ำมาติดดิน ประเด็นสำคัญในการซื้อหุ้นนางฟ้าตกสวรรค์ก็คือ เราจะต้องเห็นว่าบริษัทจะกลับมาเป็น “นางฟ้า” มีผลงานโดดเด่นได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงกับของเดิมและราคาหุ้นนั้นต่ำมาก เราไม่ต้องการซื้อหุ้นเพียงเพราะราคามันตกลงมามาก เราไม่ต้องการนางฟ้าที่ “ตกนรก” ไปแล้ว

กลุ่มที่สี่ หุ้นฟื้นจากภาวะล้มละลายหรือปัญหารุนแรงทางการเงินและธุรกิจ และจะต้องมีมูลค่าหุ้นต่ำมากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินหรือขนาดของกิจการ การที่จะทำเงินก้อนโตจากหุ้นกลุ่มนี้นั้น จะต้องมั่นใจว่าเจ้าหนี้พร้อมที่จะยอมรับการปรับโครงสร้างหนี้และบริษัทมีคน สนใจที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมเพื่อกอบกู้บริษัท การเล่นหุ้นในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนถ้าคาดการณ์ได้ถูกต้องก็สูงมากเช่นเดียวกัน

กลุ่มที่ห้า หุ้นบลูชิพที่มีราคาตกต่ำลงมากเนื่องจากปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นครั้ง เดียว หรือตกต่ำลงเพราะปัญหาของภาพรวมเศรษฐกิจการเงิน นี่คือหุ้นของกิจการที่ใหญ่โต มั่นคง เก่าแก่ ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องยาวนาน มีฐานะทางการตลาดที่มั่นคงมาช้านานและแทบไม่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาแข่ง ขัน หุ้นเหล่านี้มักจะโตช้า ๆ แต่จ่ายปันผลในอัตราที่น่าพอใจ ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ที่หุ้นตกลงมาอย่างแรงเช่น อาจจะ 30-40% จากราคาปกติ การลงทุนในหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนมากด้วยความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์แบบนี้ก็มีไม่มากนัก

กลุ่มที่หก หุ้นซุปเปอร์สต็อก นี่คือการลงทุนในหุ้นที่มีคุณสมบัติ “สุดยอด” ในเกือบทุกด้านในขณะที่จุดอ่อนมีน้อย นั่นก็คือ เป็นกิจการที่เติบโตเร็วและจะเติบโตขึ้นไปอีกมากจากจุดที่เห็น การเติบโตนั้นเป็นการเติบโตที่หาคู่แข่งมาขัดขวางได้ยาก เส้นทางการเติบโตนั้นชัดเจนและได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำได้ ฐานะทางการเงินแข็งแกร่งเช่นเดียวกับการตลาดที่มีความได้เปรียบอย่างยั่งยืน หรือมี Durable Competitive Advantage หุ้นซุปเปอร์สต็อกนี้ ถ้าเลือกถูกต้องแล้ว ก็สามารถทำเงินก้อนโตได้ยาวนาน แต่ผลตอบแทนจะดีและปลอดภัยยิ่งขึ้นถ้าสามารถซื้อได้ในช่วงต้น ๆ ที่คนยังไม่ได้ตระหนักถึงสถานะของบริษัทหรือซื้อในช่วงที่มันประสบปัญหา บางอย่างทำให้ราคาหุ้นต่ำกว่าปกติ

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหุ้นบางกลุ่มที่สามารถทำเงินก้อนโตให้กับ VI ได้ อย่างไรก็ตาม แต่ละกลุ่มที่กล่าวถึงนั้นก็มี “ดีกรี” การทำเงินมากน้อยต่างกันอยู่บ้าง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งก็ยังแบ่งออกเป็นสองด้านคือ ความเสี่ยงที่การวิเคราะห์อาจจะผิดพลาดและความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะตกลงมามาก หรือน้อยถ้าเราวิเคราะห์ผิดหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป ดังนั้น คนที่รักหรือเลือกที่จะเป็น VI ที่ Aggressive จะต้องระมัดระวังและจะต้องประเมินศักยภาพหรือฝีมือของตนเองให้ดีว่าเราจะ เลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 24 กรกฎาคม 2553

หมึกพอลในตลาดหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การแข่งขันฟุตบอลโลกได้จบลงแล้วพร้อมกับชัยชนะและการเป็น “ฮีโร” ของนักเตะทีมสเปนและ “หมึกพอล” ปลาหมึกยักษ์ที่สามารถทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ถูกต้องติดต่อกัน 8 ครั้งตลอดการแข่งขัน

หลายคนคงคิดว่าปลาหมึกยักษ์ชื่อพอลดังกล่าวมี “ญาณ” พิเศษที่ทำให้มันสามารถทำนายผลได้ถูกต้องแต่ก็อาจจะยังงง ๆ อยู่ว่ามันทำได้อย่างไรเนื่องจากมันเป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยว กับฟุตบอล สิ่งที่มันทำอยู่ก็คือการเลือกกินหอยในกล่องใบหนึ่งจากกล่องสองใบที่คนเอาไป วางไว้ให้มันเท่านั้น สำหรับคนที่ “มีเหตุผล” แล้ว พวกเขาคิดว่านี่เป็นเรื่องบังเอิญ หรือ “ฟลุ๊ค”


แต่ถ้าสมมุติว่าแทนที่จะเป็นปลาหมึก ผู้ที่ทำนายการแข่งขันนั้นเป็นคนจริง ๆ ที่ชื่อว่า “พอล” และสามารถทำนายการแข่งขันฟุตบอลโลกถูกต้องถึง 8 ครั้งติดต่อกันแบบหมึกพอล อะไรจะเกิดขึ้น?

พอลคงเป็น “ฮีโร” จริง ๆ ในสายตาของคนทั้งโลกที่ “บ้าฟุตบอล” และต่างก็ “ทำนาย” กันอยู่ในใจว่าใครจะชนะในแต่ละแมทซ์การแข่งขัน พอลคงกลายเป็น “เซียน” ฟุตบอลระดับโลกที่นักพนันบอลต้องติดตามเพื่อที่จะ “แทง” บอลตามที่พอลทำนายไว้ เพราะคนคงจะเชื่อว่าพอลมีความสามารถพิเศษในการวิเคราะห์ว่าทีมไหนมีความ สามารถสูงกว่าทีมไหนหลังจากทายถูกมาถึง 8 ครั้งติดต่อกัน

แต่พอลเป็นเซียนบอลแน่หรือ? หรือพอลก็ “ฟลุ๊ค” แบบเดียวกับหมึกพอล และถ้าเป็นอย่างนั้น การทำนายบอลในอนาคตของพอลก็จะไม่แม่น และคนที่แทงบอลหรือเล่นพนันบอลตาม “เซียนพอล” ก็อาจจะ “เจ๊ง” ได้ อะไรเป็นตัวที่จะบอกว่าพอลนั้นเป็นเซียนตัวจริงหรือเป็นแค่คนที่ “ฟลุ๊ค” ทายบอลได้ถูกต้องแบบเดียวกับปลาหมึกพอล

เรามาดูว่าโอกาสที่คนไม่มีความรู้แต่ทายผลการแข่งขันได้ถูกต้องถึง 8 ครั้งติดต่อกันนั้นมีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นเรื่องของสถิติซึ่งผมคำนวณมาได้ว่าเท่ากับ 0.39% นั่นก็คือ ถ้ามีคน 1,000 คน ที่ไม่มีความรู้และความสามารถในการทำนายเลยมาทำนาย ก็จะมีประมาณ 3.9 หรือ 4 คน ที่สามารถทายถูกได้ 8 ครั้งติดต่อกัน หรือถ้าเอาปลาหมึกยักษ์มา 1,000 ตัวมาทำนายบอลโลก ก็จะมีประมาณ 4 ตัว ที่ทายบอลโลกถูกต้อง 8 ครั้งติดต่อกัน หมึกพอลก็อาจจะเป็นตัวหนึ่งในนั้น เขาก็อาจจะไม่ได้สถานะของการเป็น “ฮีโร” อย่างที่เป็นอยู่ และอาจจะถูกจับไปทำอาหารหลังจากเสร็จ “งานแสดง” ก็ได้

สำหรับคุณพอลที่เป็น “เซียนบอล” นั้น สถิติที่เป็น 4 ใน 1,000 คนที่ทำนายผลบอลได้ถูกต้อง 8 ครั้งติดต่อกันนั้น ถามว่า นี่เป็นเรื่อง “ฟลุ๊ค” หรือเป็นเรื่องของฝีมือ?

คำตอบของผมก็คือ อาจเป็นได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะโอกาส 4 ใน 1,000 นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ลองนึกถึงการถูกหวยเลข 3 ตัว ซึ่งมีโอกาสเพียง 1 ใน 1,000 นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ยากอะไร ในขณะเดียวกัน จะบอกว่าพอลนั้นไม่ได้มีฝีมือแต่เป็นเรื่อง “ฟลุ๊ค” ก็เป็นเรื่องที่ “ดูแคลน” ฝีมือเขามากเกินไป เหนือสิ่งอื่นใด พอลมีการ “วิเคราะห์และให้เหตุผล” อย่างน่าเชื่อถือ มีหลักวิชาและสถิติประกอบเพียบ ไม่ได้วิเคราะห์มั่ว ๆ หรืออธิบายอะไรไม่ได้แบบหมึกพอล ดังนั้น สำหรับตัวพอลเองแล้ว ไม่มีคำว่า “ฟลุ๊ค” ในวงการนี้

สำหรับผม การที่จะบอกว่าพอลมีฝีมือ “สุดยอด” หรือพอลนั้นแค่ “ฟลุ๊ค” เป็นเรื่องที่ยังบอกไม่ได้ด้วยสถิติระดับนี้ บางที ถ้าพอลสามารถทำนายได้ถูกซัก 13 ครั้งติดต่อกันซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นโดยบังเอิญเพียง 1 ใน 10,000 ผมอาจจะสรุปได้อย่างมั่นใจว่าสิ่งที่พอลทำได้นั้นเกิดจากฝีมือล้วน ๆ และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมหมึกพอลถึงไม่ทำนายต่อหลังจากที่เป็น “ฮีโร่” ไปแล้ว เพราะถ้าทำนายต่อ ผลอาจจะออกมาผิด และคนก็จะเลิกนับถือหมึกพอล เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องฟลุ๊ค

ผมพูดมายืดยาวเพื่อที่จะเข้าถึงเรื่องที่ผมต้องการพูดถึงจริง ๆ นั่นก็คือ เรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้น เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นเองก็มีเรื่องราวของการ “ทำนาย” หรือการเลือกซื้อหุ้นลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน พูดง่าย ๆ ในวงการหุ้นเองก็มีคนอย่าง “พอล” เต็มไปหมด คนที่เข้ามาในตลาดหุ้นไม่กี่ปีแต่ทำผลตอบแทนการลงทุนได้อย่าง “สุดยอด” ปีละเป็นหลายสิบหรือแม้แต่ร้อยเปอร็เซ็นต์โดยเฉลี่ย และเมื่อข่าวหรือข้อมูลนี้ออกไป พอลก็กลายเป็น “ฮีโร่” ในตลาดหุ้นหรือในวงการลงทุน พอลทำนายหุ้นหรือซื้อหุ้นตัวไหนหุ้นนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น คนเชื่อกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ฝีมือ” ของพอลล้วน ๆ สำหรับตัวพอลเองนั้น ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาทำสำเร็จได้เพราะ “ฟลุ๊ค” ทุกอย่างเกิดจากการวิเคราะห์พิจารณามาเป็นอย่างดี มีวิชาการและเท็คนิคการเลือกหุ้นเฉพาะตัว เป็นเรื่องของฝีมือ 100%

แต่ผมเองก็อยากจะเตือนว่า เป็นไปได้เช่นกันว่า การทำนายได้ถูกต้องและทำให้ได้ผลตอบแทนมโหฬารในอดีตที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องบังเอิญหรือ “ฟลุ๊ค” และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ในอนาคต “พอล” ก็อาจจะพลาดหรือไม่สามารถประสบความสำเร็จอย่างที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์การลงทุนของนักลงทุนทั้งที่มีการบันทึกและที่ไม่มีการพูดถึง นั้นมีมากมายที่แสดงให้เห็นว่า การ “ประสบความสำเร็จ” ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตการลงทุนนั้นมีมากมายและเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ ในระยะยาวมากนั้น เป็นข้อยกเว้น และคนเหล่านี้เท่านั้นที่จะถูกจารึกไว้ว่าเป็น “เซียน” ที่แท้จริง ไม่ใช่ “หมึกพอลในตลาดหุ้น”

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 17 กรกฎาคม 2553

กำเนิด VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

พื้นฐานของชีวิตและการเริ่มต้นเป็น Value Investor หรือนักลงทุนของแต่ละคนนั้นบอกอะไรบางอย่างถึงแนวทางหรือกลยุทธการลงทุนของ เขา รวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่เขาจะไปถึงได้

วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น “เกิดมาเพื่อที่จะเป็นนักลงทุนเอกของโลก” เพราะเขารักการหาเงินและลงทุนตั้งแต่เด็ก เขาเกิดในช่วงเวลาและในประเทศที่เหมาะสม และได้พบและเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนจาก เบน เกรแฮม ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเอกของโลก กลยุทธและวิธีการของเขาก็คือ ลงทุนระยะยาวและโตไปกับเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุด ๆ ของอเมริกา จอร์จ โซรอส นั้น เป็นเด็กหนุ่มชาวยิวฮังการีที่ต้องหนีนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดของเขาก็คือ ต้องเร็วและเอาตัวรอดให้ได้ การลงทุนของเขานั้นดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับการต่อสู้หรือสงคราม นั่นคือ เข้า “โจมตี” อย่างรุนแรง รวดเร็ว “เผด็จศึก” เป็นครั้ง ๆ เขาทำกำไรจากหายนะเช่นเดียวกับความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ


ผมเองเริ่มต้นชีวิต VI จากการที่ต้องหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ “คุกคาม” ชีวิตการทำงานในฐานะลูกจ้างบริษัทของผม ในตอนเริ่มต้นชีวิตการลงทุนในครั้งนั้น ผมไม่ได้วางแผนหรือตระหนักว่าเส้นทางสายนี้จะนำผมไปสู่ความมั่งคั่งและชื่อ เสียงในฐานะ VI ชั้นนำ ผมเพียงแต่คิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในแนวทาง Value Investment นั้น คือทางออกที่จะทำให้ผมยังมีชีวิตในฐานะชนชั้นกลางแบบที่ผมเป็นอยู่ในขณะนั้น ได้แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการทำงานหรือรายได้ประจำลดลงมาก กลยุทธการลงทุนของผมจึงเน้นที่ “ความปลอดภัย” หรือการ “ปกป้องเงินต้น” เป็นหัวใจหลัก อะไรที่ทำให้การลงทุนมีโอกาสขาดทุน “อย่างถาวร” ผมจะหลีกเลี่ยง การลงทุนของผมแต่ละครั้งจะต้อง “ไม่ขาดทุน”

ถึงวันนี้ที่ Value Investment เป็นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ผมเห็นว่าการเริ่มต้นของคนเหล่านี้สามารถแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่มด้วยกันคือ

กลุ่มแรก คนทำงานกินเงินเดือน อายุประมาณ 30-45 ปี นี่คือกลุ่ม VI ที่เริ่มสนใจลงทุนเนื่องจากตระหนักว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องออมเงินเพื่อการ เกษียณหรือบางคนต้องการสร้างอนาคตและเห็นว่าการฝากเงินนั้นเป็น “การลงทุน” ที่แย่มาก คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีความมั่งคั่งไม่มาก เงินทุกบาททุกสตางค์ “หามาได้ยาก” การที่มันจะ “หายไป” หรือลดน้อยลงเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจรุนแรง ดังนั้น กลยุทธการลงทุนจึงมักจะ “อนุรักษ์นิยม” และไม่ลงทุนในหุ้นมากนัก หุ้นที่เลือกลงทุนต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและขนาดไม่เล็กเกินไป ระยะการลงทุนก็มักจะค่อนข้างยาวเนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามมากนัก เป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุนก็มักจะไม่สูง แต่พวกเขาก็ยังหวังได้ประมาณปีละ 15-20%

กลุ่มที่สองเป็น “เด็กจบใหม่” ที่พ่อแม่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากทางบ้านในการลงทุนแต่ก็ไม่ได้มีภาระต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ยังไม่แต่งงานเพราะอายุยังไม่ถึง 30 ปี พวกเขาเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานที่ค่อนข้างสูงที่จะ “รวย” เป็นเศรษฐีในเวลาอาจจะแค่ 10-15 ปี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขาได้อ่านประวัติของนักลงทุนเอกหรือนักลงทุนที่ ประสบความสำเร็จอื่น ๆ จนทำให้คิดว่าเขาก็น่าจะทำได้แบบเดียวกันหรือดีกว่า ว่าที่จริงหลาย ๆ คนก็สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่น่าประทับใจมากเช่นทำกำไรได้ 100% ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือน เป็นต้น

VI ในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะใช้กลยุทธการลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” และมักจะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีผลประกอบการไม่แน่นอนแต่มีช่วงเวลาที่โดด เด่นที่จะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นให้สูงขึ้นได้หลายเท่าในเวลาไม่นาน เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคนเหล่านี้ก็คือ ถ้าพลาดเขาก็สามารถหาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเม็ดเงินที่ยังน้อย พวกเขาก็ไม่สามารถเป็น “ผู้นำ” ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้น พวกเขาจึงมักจะเป็น “ผู้ตาม” ที่คอยรับอานิสงค์จาก VI “ขาใหญ่” ดังนั้น ผลตอบแทนของพวกเขาจึงอาจจะไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับคนที่มีพอร์ตใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร VI ในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่ค่อนข้างจะกระตือรือร้นและมุ่งมั่น พวกเขาใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมากและมีการเทรดหุ้นสูง

กลุ่มที่สาม นี่คือกลุ่มคนที่มักทำธุรกิจและมีเงินเหลือที่ถูกเก็บสะสมมานาน พวกเขาเป็นคนรวยหรือเป็นเศรษฐีที่อาจจะเริ่มมีเวลามากขึ้นเนื่องจากธุรกิจ อยู่ตัวแล้วหรือธุรกิจที่ทำอยู่เริ่ม “ตกดิน” เขาอาจจะเริ่มสนใจหาทางลงทุนเงินสดที่กองอยู่ในธนาคารที่แทบจะไม่ได้ ดอกเบี้ย เขาอาจจะพบว่าการลงทุนแบบ VI นั้น เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งแทนที่จะใช้เงินนั้นไปสร้างธุรกิจใหม่ คนกลุ่มนี้จึงมักเลือกลงทุนในกิจการที่มีขนาดกลาง ๆ มีความมั่นคงพอสมควรและมีพื้นฐานดี พวกเขาเข้าใจดีว่าธุรกิจไหนเป็น “ของจริงหรือของปลอม” การลงทุนของพวกเขามักจะเป็นการลงทุนระยะยาว หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้น เนื่องจากเม็ดเงินเริ่มต้นจำนวนมาก ทำให้พวกเขากลายเป็น VI “รายใหญ่” ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในเวลาอันสั้น และทำให้มีบทบาท “ชี้นำ” ในหลาย ๆ กรณี

กลุ่มที่สี่ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ กลุ่ม “ลูกเศรษฐี” นี่คือนักลงทุนหนุ่มสาวหน้าใหม่ที่ผมเห็นว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง จำนวนและมูลค่าพอร์ตการลงทุนในหุ้น ลูกเศรษฐีที่ว่านี้จริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่เศรษฐีใหญ่ที่ลูกจะสามารถหรือควรสืบทอดกิจการ พวกเขามีธุรกิจหรือมีทรัพย์สินและมีเงิน แต่งานของพวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ลูกเข้าไปช่วยทำ ลูก ๆ ของพวกเขาควรไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ มากกว่า แต่การไปทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนั้นเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยและได้เงิน น้อยมาก ดังนั้น หนทางที่ดีกว่าก็คือ การลงทุนที่จะให้เงินมาช่วยทำงาน และนี่ก็มาถึงการลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่ “ทำได้ง่ายที่สุด” และอาจจะ “เหนื่อยน้อยที่สุด” และนั่นนำไปสู่การเป็น VI

VI ที่เป็นลูกคนรวยนั้น ในช่วงเริ่มต้นพ่อแม่ก็อาจจะให้เงินไป “ลอง” เพียง 1-2 ล้านบาท แต่ครั้นได้ลองทำและได้ผลตอบแทนอย่าง “น่าทึ่ง” ในเวลาอันสั้น พวกเขาก็มักจะได้เงินลงทุนเพิ่มจากพ่อแม่ที่เห็นศักยภาพ หลายคนสามารถต่อยอดเงินไปสูงมากจนร่ำรวยเป็น “เศรษฐี” ด้วยตนเองในเวลาอันสั้น VI กลุ่มนี้โดยพฤติกรรมก็คือ มักจะมีความกล้าเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ เหตุผลก็คือ เสียก็ไม่เป็นไรเพราะอาจจะขอพ่อแม่ใหม่ได้หรือไม่ก็กลับไปทำงานกินเงิน เดือน พวกเขาจะลงทุนหุ้นเป็นตัว ๆ เหมือนนักเก็งกำไร หลายคนสามารถ “ไล่หุ้น” ที่มีขนาดเล็กและไม่ใคร่มีสภาพคล่องได้ทำให้กลายเป็น “ผู้นำ” ที่มีอิทธิพลต่อราคาหุ้นและทำให้สามารถลงทุนและได้ผลตอบแทนอย่างน่าทึ่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า นี่คือกลุ่ม “Golden Boy” ในตลาดหุ้นที่น่าจับตามอง เพราะพวกเขาอาจจะมีทั้งเงิน ความสามารถ และเวลาในการลงทุนอีกยาวไกล ถ้าไม่ “แพ้ภัยตนเอง” เสียก่อน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 กรกฎาคม 2553

โลกของศิลปิน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สำหรับผม นักลงทุนมืออาชีพหรือคนที่ลงทุนเป็นเรื่องเป็นเรื่องเป็นราวและใช้เวลากับ การลงทุนค่อนข้างมากนั้น เป็นเหมือน “ศิลปิน” เช่นเดียวกับคนที่เป็น ดารา นักร้อง นักกีฬา นักเขียน นักวาดภาพ และศิลปินอื่น ๆ ลองมาไล่ดูว่าเหมือนกันอย่างไร

ข้อแรกก็คือ นักลงทุนก็เหมือนกับดารา (ต่อไปนี้ผมจะใช้คำว่าดาราเป็นตัวแทนศิลปินอื่น ๆ ทั้งหมด) ในแง่ที่ว่า ทั้งคู่ต่างก็เป็นคนที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการ “เล่น” หรือ “แสดง” หรือ “ทำมาหากิน” หรือสร้างชื่อเสียงและอื่น ๆ ความสามารถนี้เกิดจากการศึกษาในด้านของ “เบสิค” หรือพื้นฐานของวิชาความรู้ แต่ความสามารถในการกระทำนั้นเกิดจากการฝึกฝนและพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล


ข้อสอง ในแวดวงของดารานั้น มักมีการแบ่ง Character หรือบทบาทหรือ “ตัวตน” เฉพาะของแต่ละคน เช่น ในกลุ่มนักแสดงนั้นก็จะมีคนที่เชี่ยวชาญหรือรับบทบาทซึ่งอาจจะเกิดจากการ “สร้างภาพ” เป็นนางเอกแนว “หวาน” บางคนก็ “ครองตำแหน่ง” สาว “เซ็กซี่” ในใจของคนดู บ้างก็ไปแนวบู๊ บางคนหรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือบางคู่ก็ยึดแนว “แฟมมิลี่แมน” หรือคนรักครอบครัว คนที่มีคุณสมบัติบางอย่างไม่ครบที่จะเป็นตัวเอกก็มักจะหันไปเป็น “เพื่อนที่แสนดี” ของตัวเอก และบางคนยึดอาชีพ “ตัวร้าย” หรือบางคนเป็นไม่ได้ทั้งตัวเอกหรือตัวรองก็อาจจะยึดบทบาทเป็น “ตัวตลก” ทั้งหมดนั้น ต่างก็มีงานแสดงและสามารถ “ทำเงิน” ได้… อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง

นักลงทุนนั้นก็เช่นกัน มีคุณสมบัติหรือยึดแนวการลงทุนหรือการเล่นหุ้นของตนหลากหลาย บางคนเน้นลงทุนเฉพาะในหุ้น “Super Stock” หรือหุ้นที่มีคุณสมบัติสุดยอด บางคนเน้นลงทุนหุ้น Blue Chip บ้างก็เล่นหุ้น “Cyclical” หรือหุ้นวัฏจักร บางคนชอบหุ้น “Turnaround” หรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัวจากปัญหาทางธุรกิจ ถ้าเป็นพวก “VI ขนานแท้” ก็อาจจะเน้นหุ้นถูกประเภท PE และ PB ต่ำ และนักเล่นหุ้นตามห้องค้าจำนวนมากที่ชอบเล่นหุ้น “เก็งกำไร” ทั้งหมดนั้นต่างก็มักจะ “ทำเงิน” ได้… อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง

ข้อสาม ถ้าพูดถึงเรื่องการทำเงิน อาชีพ “ดารา” และ นักลงทุน โดยรวมนั้น ก็คล้าย ๆ กับอาชีพอื่น ๆ นั่นก็คือ ไม่ใช่เป็นอาชีพที่ทำเงินดี โดยเฉพาะถ้าไปเปรียบเทียบกับอาชีพที่ต้องเรียนและฝึกฝนหนักอย่างแพทย์หรือ วิศวกร แต่สิ่งที่ทำให้คนรู้สึกเหมือนว่าอาชีพดาราเป็นอาชีพที่ทำเงินมากนั้นอาจจะ เป็นเพราะว่ามีดาราบางคนที่เป็น “ซุปเปอร์สตาร์” สามารถทำเงินได้มหาศาลจากการเป็นนางแบบหรือนายแบบโฆษณาซึ่งทำให้ได้เงินค่า จ้างปีละบางทีเป็นหลายสิบรวมกันหลายปีอาจจะเป็นร้อยหรือหลายร้อยล้านบาท แต่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้ตระหนักว่า ยังมีดาราจำนวนมากที่ไม่ได้โดดเด่นและยังต้องทำงานแบบ “ปากกัดตีนถีบ” หาเงินแทบไม่พอใช้ ซึ่งเมื่อนำมาเฉลี่ยกับดาราที่มีรายได้มากแล้วทำให้อาชีพดาราโดยรวมแล้วไม่ ได้เป็นอาชีพที่ทำเงินสูงแต่อย่างใด

อาชีพนักลงทุนก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราฟังหรือดูผลงานการทำกำไรเฉพาะนักลงทุนระดับ “เทพ” เราก็อาจจะมี “ภาพ” ในใจว่า การลงทุนนั้นเป็นอาชีพที่ทำเงินมหาศาล ผลตอบแทนต่อปีน่าจะได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์และคนสามารถรวยได้ง่าย ๆ จากการเป็นนักลงทุนหรือเล่นหุ้น การรวยเป็นสิบเป็นร้อยหรือแม้แต่เป็นพันล้านบาทเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ว่าที่จริงก็มีคนทำได้มาไม่รู้จะกี่คนหลังจากที่ทำมาไม่นานนัก แต่นี่ก็เป็น “ภาพลวงตา” เพราะยังมีนักลงทุนและนักเล่นหุ้นอีกจำนวนมากที่เราไม่เห็นและไม่รู้จักที่ ทำผลตอบแทนการลงทุนได้น้อยมาก หลายครั้งก็ขาดทุนมหาศาล เมื่อเอาผลตอบแทนของคนเหล่านี้มาเฉลี่ยกับ “เทพ” ผลก็จะออกมาว่า อาชีพนักลงทุนโดยรวมนั้นไม่ได้หรูหราอย่างที่หลายคนเข้าใจ

ข้อสี่ การเป็นนักลงทุนนั้น ก็เหมือนกับการเป็นดาราในแง่ที่ว่า มันไม่ได้มีความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคนที่เข้ามาเล่น ความสามารถนั้นก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดและ อาจจะไม่ถึงครึ่งของปัจจัยความสำเร็จในระยะยาวหรือตลอดชีวิต การเป็นดารานั้น บางทีการเกิดมาด้วยหน้าตาที่ไม่สวยหรือหล่อพอก็แทบจะปิดประตูสำหรับการเป็น ซุปเปอร์สตาร์แล้ว การลงทุนก็เช่นกัน คนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย โอกาสที่จะมีพอร์ตใหญ่เหมือนกับ “ลูกเศรษฐี” ที่เริ่มต้นก็มีเงินลงทุนนับเป็นล้านหรือหลาย ๆ ล้านบาทก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การเป็นนักลงทุนหรือเป็นดารานั้น ถ้าจะให้มีความสุขก็คือต้องทำตัวแบบ “ศิลปิน” นั่นก็คือ พอใจและภูมิใจกับผลงานและความสำเร็จของตนเองโดยไม่ต้องไปสนใจกับคนอื่นมาก นัก

ข้อห้าที่ผมจะพูดเป็นข้อสุดท้ายก็คือ อาชีพนักลงทุนก็คล้าย ๆ กับอาชีพดารานั่นคือ มีความไม่แน่นอนสูง ในวันหนึ่งคุณอาจจะเป็น “เซเล็บ” หรือเป็นคนที่สังคมชื่นชมเป็นคนที่ฟู่ฟ่าเป็นที่กล่าวขวัญและจับตามอง แต่ความผิดพลาดในการทำงานและการ “วางตำแหน่ง” ที่ผิดพลาดก็อาจจะทำให้คุณตกต่ำลงได้ง่าย ๆ ดังนั้น การตระหนักในความจริงข้อนี้จะช่วยให้คุณรอดพ้นจากสถานการณ์แบบนั้นได้ดี ขึ้น แม้แต่ จอร์จ โซรอส เองก็เคยพูดว่า “I am not invincible” นั่นก็คือ เขาตระหนักตลอดเวลาว่า ในเรื่องของการลงทุนนั้น ต่อให้แน่แค่ไหนก็แพ้หรือตายได้เหมือนกัน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 3 กรกฎาคม 2553

Value + Growth...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในโลกของการลงทุนนั้น มีแนวความคิดใหญ่ ๆ น่าจะประมาณ 3 แบบนั่นคือ Value Investment ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ที่เก่าที่สุดนำโดย เบน เกรแฮม Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วนำโดย ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ และ Passive Investment หรือการลงทุนที่ไม่ต้องเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนีหรือในตลาด ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ล่าสุดที่นำโดยนักวิชาการการเงินแต่คนที่มีชื่อเสียงน่าจะเป็นกองทุนอิง ดัชนี Vanguard ที่ก่อตั้งและบริหารโดย จอห์น โบเกิล ส่วนแนวทางอื่น ๆ นั้นมักเป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่แตกแขนงออกไป มีคนใช้และศึกษาน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็น “โรงเรียน”

แนวทางของ Value Investment นั้น มีหลักการที่เข้มข้นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตำราที่ต้องใช้ศาสตร์หลาย ๆ อย่างเฉพาะอย่างยิ่งทางการเงินในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหลัก ทรัพย์ ดังนั้น คนที่ศึกษาจำเป็นต้องมีความรู้หลายอย่างรวมถึงความสามารถในการคำนวณทางการ เงินถึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง หนังสือที่เป็น “ไบเบิล” ของ Value Investment เช่น Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม นั้น หนามากและอ่านยากเท่า ๆ กับความ “น่าเบื่อ” ซึ่งแม้แต่คนที่เรียนมาทางการเงินโดยตรงก็พบว่ากว่าจะอ่านจบก็เหนื่อยที เดียว


หัวใจของ Value Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกหรือราคาต่ำกว่า “พื้นฐาน”ของกิจการ โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมักเน้นไปที่ข้อมูลหรือตัวเลขทางการเงินเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน กำไรที่เป็นตัวเลขในอดีตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนความถูกของราคาหุ้นก็มักจะดูจากค่า PE และ PB ว่าจะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เวลาเลือกหุ้นโดยใช้มาตรฐานแบบนี้ หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value จึงเป็นหุ้นที่มีค่า PE และ PB ต่ำเป็นหลัก ซึ่งหุ้นประเภทนี้ส่วนมากมักเป็นหุ้นที่นักลงทุนไม่ค่อยสนใจจะลงทุนเนื่อง จากเหตุผลหลายอย่างแต่ที่สำคัญก็คือเป็นหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพต่ำ” และคำว่าคุณภาพต่ำก็มีความหมายกว้างมากเช่น เป็นกิจการที่ไม่โตหรือเป็นกิจการ “ตะวันตกดิน” ผู้บริหารมีปัญหาในด้านของบรรษัทภิบาล หรือ กำไรลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่แน่นอน เป็นต้น

หัวใจของ Growth Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่เติบโตเร็ว บริษัทมีคุณภาพดีหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ มีศักยภาพสูงในการที่จะเติบโตในอนาคตด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารที่มีความสามารถสูง มีตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในที่สุดจะทำ กำไรมหาศาล ดังนั้น การซื้อหุ้นไว้จะทำให้ได้กำไรงดงามเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตไป ตามที่คาด ส่วนเรื่องของราคาหุ้น แม้ว่าอาจจะดูว่ามีราคาแพงในวันนี้ โดยที่ค่า PE และ PB อาจจะสูงหรือสูงมากในวันนี้เนื่องจากกำไรของบริษัทยังอาจจะน้อยหรือไม่มี กำไรเลย แต่ในอนาคตเมื่อกำไรเพิ่มขึ้น ค่า PE ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหุ้นที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม Growth Investor นั้นสนใจค่า PE น้อยกว่าการเติบโตของรายได้และกำไร

ผมคงไม่พูดถึง Passive Investment เพราะเขาไม่เลือกหุ้นอยู่แล้ว พวกเขาคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นตลาดที่มี “ประสิทธิภาพ” ในการกำหนดราคาหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของหุ้นทุกตัว ดังนั้นไม่ต้องไปเลือก ซื้อเฉลี่ยไปทุกตัวและถือไว้ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมคือประมาณปีละเกือบ 10% ในระยะยาว

จุดอ่อนของความคิดแบบ Value Investment ก็คือ การเน้นไปที่ความถูกของหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้มักเลือกหุ้นที่มีคุณภาพต่ำ หุ้นเหล่านี้อาจจะให้ผลตอบแทนพอใช้ได้แต่ก็ไม่โดดเด่นนัก หุ้นถูกหรือถูกมากเหล่านั้นเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ยังคงถูกอยู่อย่างเดิม ดังนั้นนักลงทุนก็อาจจะไม่ได้อะไร เวลาของการรอคอยเพื่อที่จะให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนพื้นฐานบางครั้ง มันนานมากจนไม่คุ้มที่จะรอ เพราะว่าเงินนั้นมีต้นทุนและมีค่าเสียโอกาส

จุดอ่อนของ Growth Investment ก็คือ มันไม่ค่อยคำนึงถึงราคาหุ้นที่อาจจะแพงเกินไป มันอิงอยู่กับการคาดการณ์อนาคตของบริษัทว่าจะโตแบบก้าวกระโดด ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามคาด หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ศาสตร์ของการมองอนาคตนั้นไม่หนักแน่นมั่นคง โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีมหาศาลและหลายเรื่องไม่อาจคาดได้ ดังนั้น การซื้อหุ้นโดยไม่สนใจหรือสนใจน้อยในเรื่องของราคารวมถึงปัจจัยพื้นฐานทาง การเงินหรือตัวเลขอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ทางเลือกก็คือ จับแนวความคิดของ Value มารวมกับ Growth เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของการลงทุนทั้งสองแบบ ขณะเดียวกัน ได้จุดแข็งของแต่ละแนวทางมาใช้ในการลงทุน แนวทางของ Value+Growth Investment นั้น เราจะเน้นการวิเคราะห์ที่เป็น “แก่น” โดยใช้ Value Investemnt ที่มีการตรวจสอบบริษัทอย่างเข้มข้นเป็นหลัก หลังจากนั้น เราจะมองทางด้านของคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ โดยเฉพาะโอกาสในการเติบโตของบริษัท ในแบบของ Growth Investment ซึ่งจะต้องมองถึงศักยภาพด้วยไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขในอดีต เช่นเดียวกัน จะต้องมองไปถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและคู่แข่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อมและตลาดของสินค้าในอนาคต

การเลือกลงทุนแบบ Value + Growth นั้น เราจะไม่เลือกโดยยึดถือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นหลัก เราจะไม่เลือกเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดในด้านของ คุณสมบัติและการเติบโตของบริษัท แต่เราจะเลือกเพราะหุ้นนั้นเป็นกิจการที่ดีและแข็งแรงมีการเติบโตที่ดีพอใน ขณะเดียวกันหุ้นมีราคาถูกหรือมีราคาที่เหมาะสม นี่เป็นศาสตร์ที่เราจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้แนวทางนี้ เซียนหุ้นจำนวนมากใช้แนวทางนี้ ผมเองก็ใช้แนวทางนี้ แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยบอกว่าตนเอง “เปลี่ยนสี” บัฟเฟตต์บอกว่า Growth กับ Value นั้นเหมือนกับแฝดสยามที่มีตัวติดกันที่ “สะโพก” นั่นก็คือ Growth หรือการเจริญเติบโตนั้น ที่จริงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ Value มันแยกกันไม่ออก

ถ้าจะพูดไป เมื่อเป็น Value Investor ถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะรู้ว่า Value Investment นั้น แท้ที่จริงเป็น “กระบวนการในการคิด” ที่ต้องมีเหตุผลในด้านของการลงทุนรองรับ มันไม่มีเรื่องของ Growth เรื่องของ โมเมนตัม และเรื่องอื่น ๆ ร้อยแปดที่แยกออกมาต่างหาก ทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันคือ มัน “Make Sense” หรือไม่

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ28 พฤษภาคม 2553

Investment Diary...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนนั้น ว่ากันว่าเป็นคนที่มีความทรงจำสั้นมาก เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเขาจะจำได้ติดตา เช่น วิกฤติที่ทำให้ตลาดหุ้นตกต่ำอย่างหนักและเหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤตินั้น เมื่อเวลาผ่านไป บางทีก็ไม่นานนัก พวกเขาก็จะลืมเหตุการณ์เลวร้ายนั้นรวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พวกเขาซื้อขายหุ้นโดยไม่สนใจประวัติศาสตร์หรือสนใจน้อยมาก นั่นทำให้ประวัติศาสตร์การเงิน “ซ้ำรอย” ครั้งแล้วครั้งเล่า เราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะเมื่อมันผ่านไปนานแล้ว

เพื่อที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด ในอดีต เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่ามันเกิดความผิดพลาดขึ้น ในเรื่องอื่น ๆ นั้น ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เรามักจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ในเรื่องของการลงทุนนั้น บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามันมีความผิดพลาดขึ้น เหตุผลก็คือ มีจิตวิทยาบางอย่างที่อาจจะบดบังความเข้าใจที่ถูกต้องของเรา


จิตวิทยาข้อแรกก็คือ “ดีเป็นเพราะฝีมือเรา แย่เป็นเพราะคนอื่นหรือเรื่องอื่น” หรือที่เรียกว่า Self-Attribution Bias นี่เป็นจิตวิทยาของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป อย่างเช่นเวลาที่เราเล่นกีฬา ทีมที่ชนะส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเป็นเพราะฝีมือของทีม แต่เวลาแพ้ บางทีก็โทษกรรมการหรือโทษโชคชะตา ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือ ฝีมือสู้เขาไม่ได้หรือใช้กลยุทธ์ในการแข่งขันที่ผิดพลาด เช่นเดียวกัน เวลาที่เราลงทุนและได้กำไรดีนั้น เรามักจะคิดว่าเป็นฝีมือของเรา แต่เวลาขาดทุน บางครั้งเราก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุอื่นหรือโชคร้ายหรือเหตุบังเอิญที่เราไม่ อาจคาดได้ การไม่ยอมรับความผิดพลาดของตนเองนั้น ย่อมทำให้เราไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้

จิตวิทยาข้อสองก็คือสิ่งที่ผมอยาก จะใช้สำนวนว่า “ผมว่าแล้ว” นี่คือสิ่งที่คนเราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะกลับไปอธิบายเหตุผลที่ ทำให้มันเกิดขึ้นหรือที่เรียกในทางวิชาการว่า Hindsight Bias นี่เป็นความลำเอียงของจิตใจที่คิดว่าเรา “แน่” เรารู้ว่าอะไรเป็นอะไรทั้งที่เราไม่รู้และเราไม่ได้คิดคาดการณ์เอาไว้ก่อน เรามา “รู้” ก็ตอนที่เราเห็นแล้วว่าอะไรมันเกิดขึ้น วิธีที่จะแก้ปัญหาความลำเอียงข้อนี้ก็คือ การจดบันทึกสิ่งที่เราคิดหรือคาดการณ์ไว้ก่อน เมื่อเกิดผลลัพธ์ขึ้น เราก็จะได้รู้ว่าเราคิดถูกหรือคิดผิด ในกรณีของการลงทุนนั้น เราจะเรียกมันว่า Investment Diary นี่ก็คือไดอารี่ที่เราจะจดบันทึกเกี่ยวกับความคิดหรือการวิเคราะห์ของเราใน การลงทุนในหุ้นหรืออื่น ๆ การซื้อหุ้นแต่ละตัวเราจะบันทึกว่าอะไรคือเหตุผลที่เราซื้อหุ้นตัวนั้น

เมื่อเราจดบันทึกเหตุผลของการลง ทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ตัวไหนแล้ว เราก็รอผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ภาพที่ออกมานั้น สามารถที่จะแบ่งออกได้เป็นสี่แบบด้วยกันดังต่อไปนี้

แบบที่หนึ่ง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ และเหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ก. เพราะเราเชื่อว่ากำไรของบริษัทนี้กำลังเติบโตก้าวกระโดดในไตรมาศหน้าและจะ เติบโตต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยที่ราคาหุ้นที่เห็นนั้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับพื้นฐานที่กำลัง ดีขึ้นและราคายังต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก เราก็จดบันทึกไว้ หลังจากนั้น เมื่อกำไรในไตรมาศถูกประกาศออกมาก็เป็นจริงดังคาดและดูแล้วอนาคตก็น่าจะยัง โตต่อเนื่อง ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปในระดับหนึ่งประมาณ 20% ซึ่งสอดคล้องกับกำไรที่ดีขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ เราอาจจะสรุปได้ว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องแล้ว อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ขายหุ้นออกไปเพราะเราเชื่อว่ากำไรจะยังเติบโตดีมากอยู่และในอนาคต ราคาก็จะยังปรับตัวขึ้นไปได้อีกมาก ในภาษาของนักลงทุน เรา “Right for the right reason” เราถูกต้อง นั่นอาจจะหมายความว่าเรามีฝีมือ

แบบที่สอง ในกรณีที่เราได้กำไร การลงทุนประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจนั้นกลับไม่ถูกต้อง เช่น เราลงทุนในหุ้น ข. เพราะเราคิดว่ากำไรในไตรมาศหน้าจะดีมาก เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งบริษัทได้ประกาศแจกวอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรง เราขายหุ้นทิ้งได้กำไรงดงาม อย่างไรก็ตาม งบรายไตรมาศที่ประกาศออกมาภายหลังพบว่ากำไรของบริษัทลดลงมาก แบบนี้เราเรียกว่า “Right for the wrong reason” เราซื้อหุ้นถูกตัวด้วยเหตุผลที่ผิด พูดง่าย ๆ เราประสบความสำเร็จเพราะโชคไม่ใช่ฝีมือ อย่าหลอกตัวเองว่าตนเองเก่ง

แบบที่สาม ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ เหตุผลในการลงทุนของเราผิด เช่น เราคิดว่าบริษัท ค. กำลังจะมีผลประกอบการที่ดี เราซื้อหุ้นลงทุน ผลประกอบการออกมาปรากฏว่าบริษัทขาดทุนอย่างหนัก ราคาหุ้นตกต่ำลงมามาก เราขายหุ้นทิ้ง ในกรณีนี้เรียกว่าเรา “Wrong for the wrong reason” เราลงทุนผิดเพราะเราวิเคราะห์ผิด เราจำเป็นต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดนี้

แบบที่สี่ ในกรณีที่เราขาดทุน การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ แต่เหตุผลที่เราใช้ในการตัดสินใจลงทุนนั้นถูกต้องเป็นไปตามคาด เช่น เราซื้อหุ้น ง. เพราะคิดว่ากำไรของบริษัทในไตรมาศที่กำลังมาถึงนั้นจะเติบโตขึ้น เมื่องบไตรมาศถูกประกาศออกมาปรากฏว่ากำไรของบริษัทก็ปรับเพิ่มขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน ตลาดหุ้นเกิดภาวะวิกฤติอันเป็นผลมาจากต่างประเทศ ราคาหุ้น ง. ตกลงอย่างหนัก เราขาดทุนแต่เป็นเพราะว่าโชคไม่ดี ไม่ใช่เพราะเราคิดผิด เรา “Wrong for the right reason”

ด้วยการบันทึกเหตุผลของการตัดสิน ใจลงทุนลงใน Investment Diary และศึกษาผลลัพธ์ในสี่กรณีดังกล่าว เราก็จะได้รู้ว่าเราประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวและด้วยเหตุผลใด เรามีฝีมือหรือเราไม่เก่งเลย เราโชคดีหรือโชคร้าย สิ่งนี้จะทำให้เราสามารถเรียนรู้จากประวัติการลงทุนของเราได้อย่างถูกต้อง โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมยอมรับว่าไม่เคยจดบันทึกเหตุผลการลงทุนลงในไดอารี่ แต่ก็เชื่อว่าตนเองจำได้ว่าลงทุนในหุ้นแต่ละตัวด้วยเหตุผลใด ผมคิดว่าผมจำได้เพราะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว สำหรับ VI นั้น ผมคิดว่าการจดบันทึกเป็นสิ่งที่ดี เหนือสิ่งอื่นใด จอร์จ โซรอส บอกว่าเขาบันทึกความคิดของเขาแบบ Real-Time นั่นคืออาจจะพูดลงในเทป เขาบอกว่ามันทำให้การลงทุนของเขาดีขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ15 พฤษภาคม 2553

ขอบเขตของความรอบรู้...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ข้อสังเกตของผมอย่างหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จก็คือ หลาย ๆ คนมีความเชี่ยวชาญในหุ้นบางกลุ่มหรือบางแบบเป็นพิเศษ บางคนก็เชี่ยวชาญในการเล่นหุ้นด้วยเทคนิคบางอย่าง ถ้าจะพูดแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ ก็คือ พวกเขามักลงทุนภายใต้ Circle Of Competence หรือ “ขอบเขตของความรอบรู้” ที่ตนมีอยู่หรือได้สร้างขึ้นมา

ลองมาดูว่าขอบเขตของความรอบรู้ (COC) ที่ผมพอจะนึกได้ว่ามีคนใช้และทำเงินให้ได้มากมายในตลาดหุ้นไทยมีอะไรบ้าง


COC แรกที่ผมจะพูดถึงก็คือ การปั่นหุ้น นี่คือวิธีทำเงินที่ได้ผลดีมากในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเป็นกระทิงที่ร้อนแรง ย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี โดยเฉพาะในช่วงที่กฏหมายกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ยังไม่มีผลในการ ควบคุม คนที่รวยจากการปั่นหุ้นในยุคนั้น จำนวนไม่น้อยก็ “เจ๊ง” ไปจากภาวะวิกฤติ ความผิดพลาด และอาจจะเกิดจากการ “หักหลัง” และอื่น ๆ แต่ผมคิดว่าหลาย ๆ คนก็ยังรวยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบัน ผมคิดว่านี่ก็ยังน่าจะเป็น COC ที่สามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพียงแต่การปั่นหุ้นในวันนี้อาจจะต้องมีกรรมวิธีที่ซับซ้อนขึ้นและคนที่ทำ ได้อาจจะต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวเฉพาะ เช่น เป็นคนมีเงินมากพอสมควรและอาจจะต้องมีความกล้าได้กล้าเสียและกล้าเสี่ยงกับ การถูกจับหรือชื่อเสียงส่วนตัวด้วย

COC ที่สองนั้นน่าจะใกล้เคียงกับอันแรก นั่นก็คือ การเก็งกำไร นี่เป็นความเชี่ยวชาญในการ “เล่นหุ้น” ที่สามารถนำ COC ของการปั่นหุ้นมาใช้ได้มาก ยกเว้นแต่ว่าการซื้อขายหุ้นของตนเองนั้นจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าข่ายที่ เป็นความผิดตามกฏหมาย นอกจากนั้น หลาย ๆ คนยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ “ทางเทคนิค” ที่จะช่วยให้การเก็งกำไรประสบความสำเร็จ เท่าที่เห็น ผมคิดว่าคนที่จะสามารถสร้าง COC ของการเก็งกำไรได้นั้น มักจะต้องมีเงินพอสมควร ต้องใช้เวลากับการลงทุนมาก ต้องติดตามการซื้อขายหุ้นนาทีต่อนาทีในช่วงที่กำลังเก็งกำไร และที่สำคัญ จะต้องมีจิตใจกล้าได้กล้าเสียมากกว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไป ผมเชื่อว่านักเก็งกำไรหลายคนที่ประสบความสำเร็จในวันนี้อาจจะเคยเป็นนักปั่น หุ้นในอดีต ส่วนนักเก็งกำไรหน้าใหม่ ๆ นั้น ที่จะเชี่ยวชาญจริง ๆ น่าจะมีไม่มากนัก

COC ที่สามที่ผมคิดว่าน่าจะมีคนพัฒนาตนเองจนมีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จ ในการลงทุนที่น่าประทับใจก็คือ “การเก็งกำไรกับผลประกอบการ” นี่เป็นกลยุทธ์ในสไตล์ VI ที่ทำเงินได้เร็วและได้ผลตอบแทนที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ คนที่เชี่ยวชาญในการเก็งกำไรกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนนั้น แน่นอนต้องมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์กิจการของบริษัท เขาอาจจะต้องเจาะข้อมูลลึก ๆ จากผู้บริหารรวมถึงต้องวิเคราะห์ภาวะอุตสาหกรรมและอื่น ๆ ที่สำคัญเขาจะต้องหาบริษัทที่จะมีผลกำไรเติบโตโดดเด่นมากผิดปกติไม่ใช่การ เติบโตธรรมดา ๆ ปัจจัยที่สำคัญอื่น ๆ ก็เช่นต้องเป็นกิจการที่ไม่มีหรือไม่ใคร่มีนักวิเคราะห์สนใจด้วยเหตุที่อาจ จะเป็นหุ้นเล็กเกินไปหรือเป็นกิจการที่ซบเซามานานซึ่งทำให้ราคาหุ้นค่อนข้าง เหงาและอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนั้น คนที่จะประสบความสำเร็จอาจจะต้องมีความสามารถในการ “โปรโมต” หุ้นให้เป็นที่รับรู้และสนใจแก่นักลงทุนหลังจากที่ตนเองได้ซื้อหุ้นไว้แล้ว

COC ที่สี่ที่ผมจะพูดถึงก็คือ “การลงทุนระยะยาวในหุ้นของกิจการที่โดดเด่น” COC นี้คล้ายกับ COC ที่สามในแง่ที่ว่ามันเป็นสไตล์ของ VI สิ่งที่แตกต่างก็คือระยะเวลาของการลงทุนที่มักจะยาวกว่ามาก การเลือกกิจการที่ลงทุนก็จะเน้นที่กิจการที่มีความเข้มแข็งในเชิงโครงสร้าง สูงกว่า พูดง่าย ๆ เน้นไปที่ DCA หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนของบริษัทมากกว่าเรื่องของผลประกอบ การในระยะสั้นเพียงหนึ่งหรือสองปี

COC ที่ห้าก็คือ ความเชี่ยวชาญในแง่ของ อุตสาหกรรม นี่คือความรอบรู้ในการที่จะวิเคราะห์และเข้าใจธุรกิจที่จะลงทุน เช่น คนที่เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจค้าปลีกก็จะรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยในการที่บริษัท จะทำกำไรได้ดี อะไรเป็นความเสี่ยง เขาจะสามารถคาดการณ์ถึง ยอดขาย กำไร การเติบโต และอื่น ๆ ของบริษัทได้ใกล้เคียงและสามารถนำมาใช้ในการตัดสินใจลงทุนได้ บางคนเก่งทางด้านของกิจการที่เป็นโรงงานผู้ผลิต เขาก็จะรู้เรื่องกระบวนการต่าง ๆ ของโรงงานและนำไปสู่การคาดการณ์ผลประกอบการได้ดี บางคนอาจจะชำนาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับที่บางคนรู้เรื่องเกี่ยวกับปิโตรเคมีและพลังงาน

COC สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงและมีคนที่เชี่ยวชาญสามารถทำเงินร่ำรวยได้ก็คือ การเล่นหุ้นของกิจการที่เป็นวัฏจักร์ นี่เป็น COC ที่น่าสนใจเพราะว่ามันสามารถทำเงินได้เร็วและมากในเวลาอันสั้น นี่คือการสร้างความเชี่ยวชาญโดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีความผันผวนตามภาวะ เศรษฐกิจ พวกเขาจะมองอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลงโดยเฉพาะจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและกำลังฟื้น ตัวขึ้น เข้าไปซื้อหุ้นในราคาต่ำและรอขายเมื่อผลประกอบการฟื้นตัว

ผมคงไม่สามารถจาระไนได้หมดว่าขอบเขตของความรอบรู้นั้นมีกี่วงและอะไรบ้าง เพราะว่ามันมีเยอะมากจนนับไม่ถ้วน เช่นบางคนอาจจะไปเจาะหา หุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมาก บางคนอาจจะสร้างความเชี่ยวชาญในการหาหุ้น Turn Around หรือหุ้นที่กำลังฟื้นตัวจากสภาพที่ใกล้ล้มละลาย แต่สิ่งที่จะบอกได้ก็คือ การสร้าง COC นั้นต้องใช้เวลาศึกษาติดตามมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสิ่ง ที่ศึกษาและความสามารถของนักลงทุน

นักลงทุนบางคนหรือจำนวนมากนั้น ผมเชื่อว่า ไม่มี COC ซักวงเลย ดังนั้น การที่จะลงทุนแล้วประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม VI หลายคนนั้น มี COC จำนวนมากและขยายวงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ เขาสามารถเล่นหรือลงทุนในหลายรูปแบบและหลายอุตสาหกรรมและประสบความสำเร็จจน ร่ำรวย ประเด็นก็มีอยู่บ้างเหมือนกันในแง่ที่ว่า COC บางอย่างมันซับซ้อนเกินไปจนเราไม่อาจจะเข้าใจมันได้ลึกพอ บางที การศึกษาหลากหลาย COC มากเกินไปก็ทำให้เรารู้จักมันไม่ดีพอแต่เราอาจจะคิดว่าเรารู้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่อันตรายยิ่งกว่าการที่เรารับรู้ว่าเราไม่รู้จักมันดีพอ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมมักจะพยายามจำกัดวง COC ของผมไว้แล้วเลือกลงทุนเฉพาะในสิ่งที่ผมรู้ เหนือสิ่งอื่นใด เรามีเงินเพียงนิดเดียว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในหุ้นจำนวนมากมายเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ8 พฤษภาคม 2553

หนึ่งวันของบัฟเฟตต์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ครั้งหนึ่งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ แฮททาเวย์ มีคนถามว่าวัน ๆ หนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำอะไรบ้าง บัฟเฟตต์ตอบว่า ส่วนใหญ่เขาอ่านหนังสือและพูดโทรศัพท์ เสร็จแล้วบัฟเฟตต์ก็หันไปถาม ชาร์ลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และรองประธานของเบิร์กไชร์ ว่าเขาทำอะไรในแต่ละวัน มังเกอร์ตอบว่า

“คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ประจำ การอยู่ในหน่วยของทหารที่ไม่มีอะไรทำ” มังเกอร์เล่าต่อว่า “นายพลคนหนึ่งได้เข้ามาพบกับกับตันกลอทซ์ซึ่งเป็นเจ้านายของเพื่อนผมและก็ ถามว่า ‘กับตันกลอทซ์ คุณทำอะไรบ้าง’ เจ้านายของเพื่อนผมตอบว่า ‘ไม่มีอะไรซักอย่างเลยครับ’ ท่านนายพลโกรธมากและหันมาถามเพื่อนผมว่า ‘แล้วแกล่ะทำอะไร’ เพื่อนผมตอบว่า ‘ผมก็ช่วยงานกับตันกลอทซ์’ และนั่นก็คือคำอธิบายสิ่งที่ผมทำอยู่ที่เบิร์กไชร์ได้ดีที่สุด”



ดูเหมือนว่าวอเร็นบัฟเฟตต์ในฐานะของการเป็นนักลงทุนแบบ VI นั้น ไม่ค่อยมีงานอะไรทำ เช่นเดียวกัน ชาร์ลี มังเกอร์ ซึ่งก็เป็นนักลงทุนระดับเซียนที่ช่วยบัฟเฟตต์ลงทุนก็ไม่ค่อยมีอะไรทำเหมือน กัน ลองมาดูว่าวัน ๆ หนึ่งบัฟเฟตต์ทำอะไรบ้าง

ปกติบัฟเฟตต์ตื่นประมาณ 6.45 น. แล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บางครั้งก็เข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตบ้างเพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เขาไปถึงที่ทำงานประมาณ 9.00 น. หรือบางทีก็ 8.00 น. ขึ้นอยู่กับว่าจะมีอะไรต้องทำ เขาไม่มีตารางเวลาตายตัว บัฟเฟตต์บอกว่าเขาไม่ต้องการให้ชีวิตตนเองถูกบังคับให้ทำอะไรโดยไม่มีทาง เลือก ในที่ทำงาน เวลาประมาณ 75-80% ของเขาหมดไปกับการอ่าน วัน ๆ หนึ่งเขาอ่านหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ รายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียน รายงานรายไตรมาศ แมกกาซีน และอื่น ๆ สารพัด เวลาที่เหลือนั้นเขาใช้ไปกับการพูดคุยโทรศัพท์ สั่งซื้อขายหุ้นหรือเงินตราต่างประเทศ แต่พวกนี้ไม่ได้ใช้เวลามาก หลังจากนั้น เขาก็กลับบ้านซึ่งก็อาจจะประมาณห้าโมงครึ่งหรือหกโมงเย็นไม่ค่อยแน่นอน ในตอนค่ำเขาก็มักจะอ่านหนังสือต่อ หรือไม่บางวันก็เล่นบริดจ์ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งคู่เล่นรวมถึงบิลเกตและน้องสาวของเขาที่อยู่ต่างเมือง และนี่คือความบันเทิงหลักของบัฟเฟตต์

โฮวาร์ด ลูกของบัฟเฟตต์เล่าว่า บัฟเฟตต์นั้น แม้แต่เครื่องตัดหญ้าก็ใช้ไม่เป็น นอกจากนั้น เขาไม่เคยเห็นบัฟเฟตต์ล้างรถ หรือทำงานบ้านอะไรเลย ในตอนเด็กเขารู้สึกแย่แต่เมื่อโตขึ้นและรู้จักคุณค่าของเวลาแล้ว เขาถึงได้ตระหนักว่าทำไมบัฟเฟตต์จึงทำอย่างนั้น นั่นก็คือ เวลาสำหรับบัฟเฟตต์นั้นมีค่ามาก เขาไม่ยอมเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

บัฟเฟตต์บอกว่า การที่เป็นคนดังนั้นไม่ใช่เรื่องดี เพราะมันทำให้เขาได้รับจดหมายและคำถามมากมายเกี่ยวกับการลงทุน แต่ออฟฟิสของเขาซึ่งมีขนาดเล็กมากนั้นไม่สามารถจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้ ดังนั้น เขาจึงไม่ตอบหรือไม่จัดการกับจดหมายเหล่านั้น เพราะถ้าทำเขาก็คงไม่มีเวลาที่จะทำงานได้เลย

แม้ว่าบัฟเฟตต์จะเป็น CEO ของบริษัทใหญ่ระดับโลกอย่างเบิร์กไชร์ แต่เขามีชีวิตการทำงานแตกต่างกับ CEO คนอื่นมาก ครั้งหนึ่ง บิล เกรแฮม ลูกชายของ เค เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ซึ่งบัฟเฟตต์เข้าไปถือหุ้นและเป็นเพื่อนสนิท ต้องการแวะมาเยี่ยม บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลยทุกเวลา ผมไม่มีตารางนัด” ห้องทำงานของบัฟเฟตต์นั้นเงียบมาก ในห้องไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีจอดูหุ้น ไม่มีแม้แต่เครื่องคิดเลข บัฟเฟตต์เคยบอกว่า “ผมก็คือคอมพิวเตอร์” ในช่วงหนึ่ง บิล สก็อต ซึ่งเป็นเทรดเดอร์ซื้อขายหุ้นของเบิร์กไชร์โผล่หน้ามาแล้วก็ถามว่า “สิบล้านดอลลาร์ที่ 125.125 เอาไหม?” โทรศัพท์ในห้องไม่ค่อยดังบ่อยนัก บัฟเฟตต์มีเวลาเหลือมากมายเมื่อเทียบกับ CEO ของบริษัทอื่น ๆ ตารางเวลาในวันหนึ่ง ๆ ของเขานั้น ไม่มีกำหนดการที่เป็นแบบแผนและมีเวลาว่างมากมายสำหรับการดื่มโค๊ก เขามักจะนั่งอ่านหนังสือเป็นชั่วโมง ๆ และติดต่อกับโลกภายนอกด้วยโทรศัพท์ซึ่งเขารับสายเอง นอกจากนั้นเขายังมีโทรศัพท์สายตรงอีกสามสายกับบริษัทหลักทรัพย์ในการซื้อขาย หุ้น

ชีวิตประจำวันของบัฟเฟตต์นั้นเรียบง่ายมากจนไม่น่าเชื่อเมื่อเทียบกับ ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะที่เป็น CEO ของบริษัทใหญ่และมีชื่อเสียงมากอย่างเบิร์กไชร์ และในฐานะที่เป็นคนรวยและดังระดับต้น ๆ ของโลกธุรกิจ บัฟเฟตต์นั้นไม่สนใจออกงานที่จะได้หน้าตาหรืออยู่ในแวดวงคนชั้นสูง ครั้งหนึ่งถ้าจำไม่ผิด ทำเนียบขาวเคยเชิญบัฟเฟตต์ให้ไปรับประทานอาหารค่ำกับประธานาธิบดีคลินตันแต่ บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงดูว่าไม่รู้จะเสียเวลาบินไปทำไม เขาไม่มีอะไรจะคุยในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเขา ตรงกันข้าม บัฟเฟตต์ให้เวลาไปพูดกับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศค่อนข้างมากเช่นเดียวกับการต้อนรับนักศึกษาที่สนใจในเรื่องการลง ทุน เขาดูว่านี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และการพูดคุยกับคนอายุ 20-25 ปี นั้น “มันอาจช่วยเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาบางคนได้”

มองอย่างผิวเผิน บัฟเฟตต์อาจจะไม่ค่อยได้ทำงานอะไรหนักหนา แต่ความเป็นจริงคือ งานการลงทุนนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการบริหารธุรกิจ การลงทุนนั้นเป็นเรื่องของความคิดล้วน ๆ คุณภาพของการตัดสินใจเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด บางที ปีหนึ่งตัดสินใจครั้งเดียวคุณก็ประสบความสำเร็จมหาศาลได้แล้ว ในขณะที่การบริหารธุรกิจนั้น คุณต้องตัดสินใจอาจจะเป็นสิบ ๆ ครั้งต่อวัน แต่ผลการตัดสินใจส่วนใหญ่นั้นอาจจะไม่มีผลอะไรต่อความสำเร็จมากนัก ดังนั้น คุณมักจะต้องวุ่นวายทั้งวันไม่ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การลงทุนนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องทำงาน เพียงแต่งานนั้นก็คือการเพิ่มคุณภาพของการตัดสินใจขึ้นไปเรื่อย และวิธีการเพิ่มคุณภาพก็คือการอ่าน อ่าน และอ่าน หนังสือและข้อมูลสารพัดอย่างที่ บัฟเฟตต์และมังเกอร์ทำ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ1 พฤษภาคม 2553

Monday, May 3, 2010

เล่นที่ผ่านหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความร่ำรวยมหาศาลที่ได้มาอย่างสุจริตนั้น ในอดีตมักจะมาจากการทำธุรกิจและการซื้อที่ดิน มีคำพูดที่ว่า คนจีนนั้นร่ำรวยจากการทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในเมือง ส่วน “แขก” นั้น จับจองที่ดินผืนใหญ่ชานเมืองเลี้ยงวัวและก็ร่ำรวยมหาศาลจากราคาที่ดินที่ เพิ่มขึ้น มาถึงยุคปัจจุบัน การทำธุรกิจก็ยังเป็นหนทางที่ทำให้ร่ำรวยได้มหาศาล แต่ก็ยากขึ้นมากสำหรับคนที่ไม่ได้มีต้นทุนเดิมที่ใหญ่พอ พูดง่าย ๆ สำหรับคนไทยที่ไม่ได้มีพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวย การเริ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตมหาศาลก็ยากมาก เพราะในเมืองไทยเราไม่มีอุตสาหกรรม “ไซเบอร์” ที่มีศักยภาพพอที่จะทำให้คนตัวเล็ก ๆ สร้างธุรกิจจนร่ำรวยได้ง่ายเหมือนอย่างในอเมริกาหรือจีน ส่วนเรื่องที่ดินนั้น สำหรับคนที่มีเงินมาก การเล่นที่ก็ยังเป็นหนทางสร้างความมั่งคั่งที่น่าจะโดดเด่นไม่แพ้การทำ ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากมากที่คนมีเงินน้อยจะเข้าไปเล่นที่ได้ การจับจองที่ดินถูก ๆ เพื่อ “เลี้ยงวัว” ไม่มีอีกแล้ว


โชคดีที่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น คน “ตัวเล็กตัวน้อย” นั่นก็คือนักลงทุนที่มีเงินเพียงน้อยนิดสามารถ “ซื้อธุรกิจ” ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเจ้าของหุ้นบางส่วนของธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดีหรือเป็นธุรกิจที่ ดีที่สุดของประเทศได้ ผลก็คือ นักลงทุนบางคนสามารถที่จะสร้างความมั่งคั่งและร่ำรวยมหาศาลได้ทั้งที่ไม่ได้ มีต้นทุนเงินมากมายในตอนเริ่มแรก และเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่านี้อีก ผมเชื่อว่าจะมีคนร่ำรวยจากการ “ทำธุรกิจ” ผ่านตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังเชื่อด้วยว่า ในที่สุด คนที่รวยโดยการทำธุรกิจผ่านตลาดหุ้นจะเป็นเรื่อง “ปกติ” เช่นเดียวกับคนที่รวยจากการทำธุรกิจด้วยตนเอง

คนที่รวยจากการเล่นที่นั้น อาจจะดูว่าอย่างไรเสียก็คงเป็นเรื่องของคนที่มีเงินมากเท่านั้น ว่าที่จริงในปัจจุบันน่าจะยากขึ้นไปอีกสำหรับคนที่มีเงินน้อยเพราะราคา ที่ดินสูงขึ้นมาก ข้อนี้ ถ้ามองอย่างผิวเผินก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะพบว่าอาจจะไม่จริง เพราะตลาดหุ้นนั้น มี “กลไก” ในการที่เราจะสามารถลงทุนหรือ “เล่น” ที่ดิน ผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ มันอาจจะไม่ใช่การลงทุนในที่ดินโดยตรง แต่มันก็ส่งผลคล้ายกัน นั่นก็คือ ถ้าราคาที่ดินที่ถือโดยบริษัทจดทะเบียนที่เราลงทุนนั้นปรับตัวขึ้นไป ราคาหุ้นที่เราถืออยู่ก็จะปรับตัวขึ้นไปด้วยแม้ว่าจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ผลก็คือ เราสามารถลงทุนใน “ที่ดิน” และ/หรือสิ่งปลูกสร้างได้ด้วยเงินเพียงน้อยนิด เหนือสิ่งอื่นใด เวลาที่เราลงทุนในหุ้น เราก็มักจะได้รับปันผลทุกปีในขณะที่การลงทุนซื้อที่ดินโดยตรงนั้น เราจะได้ผลตอบแทนก็ต่อเมื่อเราขายที่ดินนั้นแล้ว

การ “เล่นที่ผ่านหุ้น” นั้น ที่จะได้ผลใกล้เคียงกับการเล่นที่จริง ๆ ก็คือ การซื้อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพราะกองทุนจะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการพัฒนาและมีรายได้แล้ว ผู้ถือหน่วยลงทุนก็คือ “เจ้าของ” บางส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่ ดังนั้น ด้วยเงินลงทุนเพียงน้อยนิด เราก็เป็นเจ้าของที่และสิ่งปลูกสร้างที่ดีมากได้ เหนือสิ่งอื่นใด รายได้ที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นวิวัฒนาการที่ยังค่อนข้างใหม่ ดังนั้น การลงทุนก็คงต้องศึกษาและทำอย่างระมัดระวัง

การเล่นที่ผ่านหุ้นอีกแบบหนึ่งก็คือ มองหาหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากโดยเฉพาะ ที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับ มูลค่าหุ้นของบริษัท การซื้อหุ้นเหล่านั้นเท่ากับว่าเราเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบาง ส่วนนอกเหนือจากธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทที่อาจจะทำกำไรได้ดีอยู่แล้ว ถ้าเราคำนวณหรือพิจารณาดูแล้วว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นในไม่ช้าก็ จะ “แปลง” เป็นเงินสดและกำไรออกมาด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งและมันมีมูลค่ามากกว่าค่า หุ้นที่เราจะจ่ายในวันนี้มาก การซื้อหุ้นเหล่านั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี และนี่ก็คือแนวทางลงทุนในสไตล์ของ Assets Play เพียงแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทอาจจะ ไม่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินเพื่อที่จะสร้างเงินสดหรือกำไรโดยตรง

โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมไม่ใคร่สนใจหุ้น Assets Play หรือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมรู้สึกว่าราคาที่ดินโดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองที่เจริญที่สุดของประเทศ นั้น มีราคาเพิ่มขึ้นไปเร็วและสูงมาก ประเด็นก็คือ ผมแทบจะไม่มีการลงทุนในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เลย ว่าที่จริงแม้แต่บ้านอยู่อาศัยของตนเองก็ยังไม่มี ผมรู้สึกว่าผม “ตกรถ” ที่ดินรอบนี้อย่างแรง ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยผมเคยคิดว่าจะซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านย่านกลาง เมืองแต่ก็ไม่ได้ทำ เวลานี้ราคาที่ดินขึ้นไปแล้วอย่างแรงมาก ผมจะทำอย่างไร? ทางหนึ่งก็คือ ตามไปซื้อที่ราคาแพงซึ่งผมไม่รู้ว่าจะคุ้มไหม แต่อีกทางหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะยังไม่สายเกินไปก็คือ ไปซื้อที่ดิน “ผ่านหุ้น” ของบริษัทที่มีที่ดินที่ดีที่สุดของเมืองไทยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับตัว ขึ้น ผมพบว่าหุ้นหลายตัวเข้าข่ายนั้น ผมเลือกหุ้นตัวที่ดีที่สุดแล้วก็ซื้อเก็บไว้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงขึ้นมากนั้นจะ แปลงออกมาเป็นเงินสดและผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นด้วย ผมรู้สึกว่าผมยังไม่ “ตกรถ” ที่ดินในรอบนี้

การลงทุนซื้อที่ดิน “ผ่านหุ้น” นั้น เราจะต้องมองให้ออกว่าที่ดินที่บริษัทถืออยู่นั้นเป็นที่ดินอะไร บางบริษัทอาจจะเป็นที่ดินการเกษตรที่มีแต่ราคาแต่อาจจะแปลงเป็นเงินสดได้ยาก มาก แบบนี้ก็ต้องคิดว่าเราอยากได้ไหม ที่ดินของบางบริษัทอาจเป็นที่ดินในต่างจังหวัดที่ราคาไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและ ไม่มีราคาตลาดที่จะอ้างอิงได้ชัดเจน แบบนี้เราก็ต้องเผื่อ Margin Of Safety ในการคำนวณมากหน่อย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจมากนั้นก็คือที่ดินย่านใจกลางของธุรกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า มันมักมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็วและเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างกระแสเงินสด ได้ดีโดยที่กิจการไม่จำเป็นต้องขายออกไป ซึ่งนี่ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่ว่า ที่ดินอาจจะมากแต่มันก็อยู่ของมันโดยไม่ได้สร้างรายได้และกำไรออกมาและถ้า บริษัทจะขายก็ไม่มีคนซื้อ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 24 เมษายน 2553

กฏของสงคราม...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักวิเคราะห์หุ้นแบบ Value นั้น แตกต่างจากนักวิเคราะห์หุ้น “มืออาชีพ” ทั่วไปในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ Value Investor ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิเคราะห์ “กิจการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดของบริษัท และด้านการตลาดที่ว่าก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว การแข่งขัน หรือถ้าจะพูดให้โก้เก๋ก็คือ “สงคราม” การตลาดระหว่างบริษัทกับคู่ต่อสู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งและบริษัทไหนจะร่วง ในเรื่องนี้ อัล รีส และแจ๊ค เทร้าท์ กูรูการตลาดระดับเซียนได้เขียนไว้นานแล้วในหนังสือเรื่อง Marketing Warfare พวกเขาอธิบายว่าสงครามการตลาดนั้น ไม่ได้แตกต่างจากสงครามจริงมากนักในด้านของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้ กฏของสงคราม ซึ่งคิดค้นโดย คาร์ล วอน คลอสวิตซ์ “บิดาแห่งการสงคราม” สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตลาดได้อย่างเยี่ยมยอด และต่อไปนี้ก็คือกฏที่สำคัญที่สุดบางข้อที่นักลงทุนควรรู้



กฏข้อแรกก็คือ ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ในสงครามทุกครั้ง กองทัพที่มีไพร่พลมากกว่าย่อมเป็นผู้ชนะ อย่าไปพูดถึงเรื่องของคุณภาพของคน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เยอรมันพ่ายแพ้แก่สัมพันธมิตรที่มีกำลังพลและทรัพยากรต่าง ๆ มากกว่ามาก โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกัน ในสงครามการตลาดนั้น บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีงบโฆษณามหาศาล มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า รบอย่างไร บริษัทใหญ่ก็ชนะทุกที ดังนั้น เป็นการยากที่บริษัทเล็กจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ แน่นอน ในบางช่วงบางตอน เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้น ๆ แต่จะให้ได้ชัยชนะขนาดเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก

เรื่องของคุณภาพของคนหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เราหลงผิดได้ เราอาจจะคิดว่าฝ่ายหนึ่งมีคนที่เหนือกว่า หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นกว่า ดังนั้น ฝ่ายนั้นก็น่าจะเป็นฝ่ายที่ชนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามักจะเน้นว่า “ปริมาณไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ” แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง ในสงครามโลกหรือสงครามอื่น ๆ นั้น จากการวิจัยพบว่า แทบไม่มีศึกครั้งไหนที่ฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่าสามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลัง พลมากกว่ามากได้ เปรียบไปก็เหมือนกับรถเก๋งปะทะกับรถสิบล้อ โอกาสที่รถสิบล้อจะยับนั้นยากมาก เช่นเดียวกัน ในเรื่องการตลาด ต่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นจะ “ดีเลิศ” กว่าของคู่แข่งแค่ไหน แต่มันเป็นรายเล็ก มีทรัพยากรน้อย สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผู้บริโภคเองก็อาจจะคิดว่า “ถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้ว” ดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ “ดีเลิศ” นั้น

กฏข้อสอง ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ ในการสงครามนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับมักจะยึดชัยภูมิที่อยู่สูงหรือมีสนามเพาะเป็นแนวป้องกันข้า ศึก ดังนั้น เวลารบกันก็จะได้เปรียบมาก เพราะเวลาศัตรูบุกเข้ามา โอกาสที่จะถูกยิงนั้นสูงกว่าเนื่องจากไม่มีที่กำบัง กฏของสงครามคือ ถ้าจะชนะได้ ฝ่ายรุกจะต้องมีกำลังพลเป็นสามเท่าของฝ่ายรับ สงครามนับครั้งไม่ถ้วนก็แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ในสงครามการตลาดเองนั้น ผู้นำที่ยึด “ชัยภูมิ” การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้ว ก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายาม “โจมตี” อย่างไร ก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะคู่แข่งจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นสามเท่า ดังนั้น ในหลาย ๆ กรณี ผมเคยถูกถามว่าถ้าคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่มากจากต่างประเทศเข้ามาแข่งกับ บริษัทของเราที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นในประเทศไทยเราจะทำอย่างไร คำตอบของผมก็คือ เขาก็ “ตาย” สถานเดียว เพราะในต่างประเทศเขาอาจจะใหญ่และยึดชัยภูมิที่ดีไว้แล้วไม่มีใครทำอะไรเขา ได้ แต่ในเมืองไทย เขาเป็นฝ่ายรุกและเป็นรายเล็ก ดังนั้น เสียเปรียบทุกอย่าง

กฏข้อที่สาม ศึกษา “ชัยภูมิ” ของข้าศึกแล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา จากนั้นเราก็สามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม ชัยภูมิของการสงครามนั้นก็จะเป็นภูเขา แม่น้ำ หรือภูมิประเทศทางกายภาพอื่น ๆ แต่ชัยภูมิทางการตลาดนั้น ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเค้าน์เตอร์ขายสินค้า แต่อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง ภูเขาของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า ภูเขาของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ “จอง” หรือยึดชัยภูมิสำคัญในสมองของผู้บริโภคไว้แล้ว ยากที่คู่แข่งจะเข้าตีได้ง่าย ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน “ชัยภูมิ” ใด ประเด็นสำคัญก็คือ เราอยากได้บริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ เช่น “เป็นภูผาที่สูงชันและล้อมรอบด้วยน้ำ” เราไม่อยากได้บริษัทที่อยู่ใน “หุบเขาที่เปิดโล่งและล้อมด้วยป่าทึบ”

พูดถึงสงครามและการตลาดแล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนกัน เช่นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองหรือการชุมนุมเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะนี้ ผมมองดูแล้ว หลักหรือกฏของสงครามที่กล่าวถึงก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันและผมคิด ว่าต่างฝ่ายต่างก็รู้ถึงกฏของกำลัง กฏของความได้เปรียบในแง่ของการตั้งรับและเรื่องของ “ชัยภูมิ” เป็นอย่างดี และน่าจะมีการนำมาใช้ซึ่งทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผมยกขึ้นมาพูดถึงนั้น ไม่ได้ต้องการที่จะวิจารณ์อะไร เพียงแต่ต้องการที่จะย้ำให้เห็นว่า กฏของสงครามนี้ เป็นกฏที่น่าจะถูกต้องและประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 17 เมษายน 2553

อยู่กับหุ้น 100%...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ปี 2539 ผมได้ลงทุนเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในหุ้น ในช่วงแรก ๆ นั้น แน่นอน ผมต้องเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเป็นสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนั้นถ้าคิดคำนวณก็อาจจะประมาณเท่ากับ 10% ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เงินอีก 90% ผมลงในหุ้นทั้งหมด เหตุผลที่ผมลงทุนในหุ้นนั้น เป็นเพราะผมเห็นว่าหุ้นที่ผมลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่มั่นคง มีกำไรที่สม่ำเสมอ มีปันผลที่ค่อนข้างแน่นอนประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผมลงเพราะผมเห็นว่าหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ผมจะทำได้ ผมไม่คิดว่าผมรับความเสี่ยงมากเกินไป เพราะผมถือหุ้นต่าง ๆ เกือบสิบบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งมีปัญหา บริษัทอื่นก็ยังดีอยู่และทำผลตอบแทนชดเชยได้

ผ่านมาประมาณ 14 ปี ผมก็ยังคงถือเงินสดเป็นสภาพคล่องประมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหุ้นของผมเติบโตขึ้นมาก เงินสภาพคล่องที่เคยเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนี้จึงเป็นเพียง 1% ของเงินทั้งหมด การถือหุ้น “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ของผม “ตลอดเวลา” เป็นเวลา 14 ปีนั้น ได้ผ่านเหตุการณ์ “เลวร้าย” ต่าง ๆ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การถล่มทลายของตึกเวิร์ลเทรดจากการก่อการร้าย การประกาศควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นการพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น ไม่ได้อิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและก็จะจบลงไปในระยะเวลาไม่นาน

การถือหุ้น 100% นั้น นักวิชาการต่างก็พูดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอายุมาก ที่จะไม่สามารถรับได้หากเกิดการขาดทุนและตนเองไม่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชย ได้ การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเหมาะก็เฉพาะคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวที่รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าอายุกำลังใกล้เกษียณ เหตุผลของการถือหุ้น 100% นั้นมีมากมาย

ข้อแรก หุ้นนั้น ในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าจะดีที่สุดในบรรดาการลงทุนในตราสารการ เงิน จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบว่าหุ้นให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 8-10% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5% เท่านั้น และคำว่าระยะยาวนั้น น่าจะมีความหมายว่าประมาณ 10-20 ปี ดังนั้น สำหรับผมซึ่งอายุยังไม่ถึง 60 ปี และคิดว่าตนเองน่าจะอยู่ได้ถึง 80 ปีซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ผมจึงเห็นว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ข้อสอง ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป จนผมมีอายุ 70 ปี ถ้าผมยังมีความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาอยู่ ผมเองก็จะยังคงลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เหตุผลก็คือ เงินของผมที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น มันมีอยู่มากเกินพอที่ผมไม่สามารถใช้ได้หมดอยู่แล้ว เงินส่วนใหญ่นั้นคงจะส่งผ่านต่อไปที่ลูก ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูจริง ๆ ก็คืออายุของลูกไม่ใช่อายุของผม และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามที่มีอายุมากขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อย นิดแต่อย่างใด

ข้อสาม ถ้าไม่มองในด้านของอายุหรือระยะเวลาในการลงทุน แต่ดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็จะพบว่ามันต่ำมากจนไม่คุ้ม กับอัตราเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีนั้น ยิ่งเราเก็บไว้นานเราก็ยิ่ง “ขาดทุน” ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในหุ้นด้วยการเลือกหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม เราก็อาจจะสามารถทำเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาอาจจะไม่เกิน 5-6 ปี หรือถ้าพลาด ราคาหุ้นไม่เพิ่มเลยในช่วงเวลาหลายปีแต่ปันผลที่ได้ในแต่ละปีที่ประมาณ 3-4% ก็ยังคุ้มค่ากว่าการฝากเงินอยู่ดี ดังนั้น การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่มีข้อดีและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนที่เป็น Value Investor ผู้มุ่งมั่น

เหตุผลข้อสุดท้ายของการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่ว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เรา “รวย” ได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเวลาลงทุนที่ยาวนานเช่นคนหนุ่มสาวทั้งหลาย ว่าที่จริง คนที่อายุยังไม่ครบ 30 ปี และมีเงินเดือนหรือรายได้ในระดับคนชั้นกลางที่ไม่มีภาระมากเกินไป และมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเต็มเปี่ยมนั้น น่าจะสามารถรวยในระดับร้อยล้านบาทก่อนที่จะตายได้ไม่ยาก หลักการใหญ่ก็คือ เขาจะต้องลงทุนถือหุ้นชั้นนำไม่น้อยกว่า 5-6 ตัวและไม่ควรเกิน 10 ตัว ด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น หลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะดูเหมือนมันจะ “ง่ายเกินไป” ความเสี่ยงดูเหมือนจะ “น้อยเกินไป” ถ้ามันดีอย่างนั้นทำไมคนจึงไม่ทำกันหมด เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ในเวลาอันน้อยนิด ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า พอร์ตหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นก็เปิดเผย เขาถือหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวมาก พอร์ตหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อย แล้วเขาก็รวย คำถามก็คือ ทำไมคนจึงไม่ถือหุ้นเหล่านั้นตามบัฟเฟตต์?

เรื่องของการรวยจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ว่าที่จริงผมได้พบ Value Investor ผู้มุ่งมั่นหลายคนทีเดียวที่ทำได้สำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยเวลาที่สั้น มากอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นค้นพบ “ขุมทอง” ในตลาดหุ้นและขุดมันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามีขุมทองจริง ประเด็นก็คือ เขายังไม่ได้ลองเข้ามาสำรวจ ยังไม่ได้ลงมือจับจอบเสียมและ “ขุด” พื้นดินจริง ๆ ความหมายของผมก็คือ ถ้าคุณหวังจะรวยจากตลาดหุ้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ลงทุนซื้อหุ้นในวิธีที่ถูกต้อง ไม่มีทางอื่น เริ่มเดี๋ยวนี้

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 3 เมษายน 2553

Tuesday, March 30, 2010

ไพร่-อำมาตย์-เสรีชน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในขณะที่วาทกรรมเรื่อง ไพร่-อำมาตย์ กำลังร้อนอยู่ในขณะนี้ ผมลองมาคิดดูถึงตัวเองในฐานะนักลงทุนอาชีพแบบ Value Investor ว่าเราน่าจะเป็นใคร ไพร่ หรือ อำมาตย์ หรือ อย่างอื่น

ก่อนที่จะพูดว่าเป็นไพร่หรืออำมาตย์ ผมคงต้องกำหนดนิยามเสียก่อนว่าไพร่และอำมาตย์ในความหมายของผมนั้น ไม่ได้เป็นคำนิยามตามพจนานุกรมที่อาจจะบอกว่าไพร่คือข้าทาสหรืออำมาตย์คือ ข้าราชการในสังคมไทยสมัยก่อน ไพร่ในความหมายของผมและดูเหมือนว่าจะเป็นความหมายของคนในสังคมจำนวนมากเห็น ได้จากการใช้คำ ๆ นี้ในภาพยนต์และละครหลังข่าวกันเป็นประจำก็คือ เป็น “ชาวบ้าน” ที่ไม่มี “ตระกูล” ยากจน เป็นคน “ชั้นต่ำ” ของสังคมที่ไม่มีอภิสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น ว่าที่จริงไพร่นั้นเป็นคนที่ “ถูกกดขี่” และเป็นคนที่เสียเปรียบทุกด้านในสังคม

ส่วนคำว่าอำมาตย์นั้น ว่าไปแล้ว เราก็แทบจะไม่ได้ใช้เลยในชีวิตประจำวันสมัยใหม่ แต่ถ้าตีความตามที่มีการใช้กันเป็นวาทกรรมในขณะนี้ ก็น่าจะหมายถึงคนที่เป็นคน “ชั้นสูง” ของสังคม เป็นคนที่มีสถานะทางตำแหน่งงานในราชการหรือองค์กรธุรกิจ เป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ เป็น “ผู้กดขี่” เป็น “นาย” และเป็นผู้ที่ได้เปรียบทุกอย่างในสังคม ซึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นข้าราชการเลย

มาดูก่อนว่าเราเป็นคน “ชั้นสูง” หรือไม่? นี่เป็นเรื่องชัดเจนว่าเราไม่ใช่ เราไม่ได้เกิดในตระกูล “ผู้ดี” หรือตระกูล “นักธุรกิจร่ำรวย” ว่าที่จริงตระกูลอย่างตระกูลของผมนั้น เรานั้นมาจากชาวนายากจนที่อพยพหนีความอดอยากมาจากเมืองจีน ดังนั้น เรามี “คุณสมบัติไพร่” ข้อที่หนึ่ง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไพร่ เพราะยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ มาประกอบด้วย

ในเรื่องของการเป็นผู้ “กดขี่” นั้น สิ่งที่ใช้วัดนั้น ผมมองว่าการเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าในแง่ของการสั่งการให้ทำอะไรต่าง ๆ ได้น่าจะเป็นตัววัดที่พอใช้ได้ นั่นคือ ถ้าเรามีคนที่เป็นลูกน้องหรือบริวารเช่นคนรับใช้มากคนมากชั้น ก็หมายความว่าเราอาจจะมีคุณสมบัติแบบอำมาตย์มาก ตรงกันข้าม ถ้าเรากลายเป็นลูกน้อง มีคนที่อยู่เหนือและสามารถสั่งการเรามาก แต่เราไม่มีลูกน้องหรือคนที่อยู่ใต้เราเลย นั่นแปลว่าเรามีคุณสมบัติของไพร่โดยแท้ มองในมุมนี้ ในฐานะของนักลงทุน ผมไม่มีผู้ใต้บังคับบัญชาเลย นอกจากนั้น ในชีวิตส่วนตัวผมก็ไม่เคยมีคนรับใช้ที่จะให้สั่งงานด้วย ดังนั้น ดูเหมือนว่าผมน่าจะอยู่ในข่ายไพร่ อย่างไรก็ตาม ผมก็ไม่มี “นาย” ที่จะมาสั่งการอะไรผม ผมไม่มีคนที่ต้องไปพินอบพิเทาอะไรทั้งสิ้น ผมเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ผมจึงไม่เข้าข่ายหรือไม่มีคุณสมบัติไพร่ในประเด็นนี้

เรื่องของการมีอภิสิทธิ์ในสังคมนั้น ที่จริงมาจากคุณสมบัติหลาย ๆ อย่างรวมกัน รวมถึงอุปนิสัยส่วนตัวของเจ้าตัวด้วย ในเรื่องนี้ ผมคิดว่าถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ไพร่นั้น นอกจากจะไม่มีอภิสิทธิ์แล้ว ยังมักจะโดน “รอนสิทธิ์” ด้วย นั่นคือ เมื่อมีปัญหาอะไรก็จะถูกจัดการด้วยกฏหมาย อย่างรุนแรงเกินกว่าปกติ ส่วนอำมาตย์นั้น คือคนที่สามารถอยู่ “เหนือกฏหมาย” เช่น อาจจะมีการละเว้นไม่ดำเนินการโดยผู้รักษากฏหมาย ถ้าจะลองนึกถึงตัวอย่างดูง่าย ๆ ในเรื่องของการถูกตำรวจจับเรื่องขับรถผิดกฏ ถ้าคุณสามารถที่จะหลุดพ้นมาได้โดยตำรวจไม่ทำอะไรนั่นก็คือ คุณมีคุณสมบัติอำมาตย์ แต่ถ้าคุณต้อง “จ่าย” ค่าปรับ นั่นก็คือ คุณเป็นคนธรรมดา แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มักจะถูกตำรวจตั้งด่านจับเป็นประจำ นั่นก็คือ คุณคงมีคุณสมบัติไพร่อยู่ไม่น้อย

อีกเรื่องหนึ่งที่พอจะนำมาวัดเรื่องสถานะของคนก็คือ เรื่องของสถานะทางสังคม เวลาที่เราบอกว่าเป็นนักลงทุนนั้น คนทั่วไปก็มักเข้าใจว่าเราไม่ได้มีอาชีพการงานหรือตำแหน่งอะไรเลย การเป็นนักลงทุนอาชีพนั้นผมคิดว่าค่อนข้างมีปัญหาพอสมควรโดยเฉพาะเวลาต้องไป สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนอื่น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เวลาจะไปขอบัตรเครดิตนั้น ผมพบว่าเราไม่สามารถจะกรอกแบบฟอร์มเพื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของ เราได้ เพราะเราไม่มีเงินเดือน ไม่มีหน้าที่การงาน ที่จะทำให้เราดูมีเครดิตดี หรือเวลาเราไปขอวีซ่าไปต่างประเทศ เขาก็มักจะต้องขอข้อมูลคล้ายคลึงกัน ในแง่นี้ นักลงทุนดูเหมือนว่าจะมีสถานะไม่สูง

เวลาที่เรา “เติบโต” มีอายุมากขึ้นและประสบความสำเร็จในการลงทุน เปรียบเทียบไปแล้วก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าเพื่อนฝูงที่ทำราชการหรือคนที่ทำ งานบริษัทเอกชนหรือเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่การยอมรับของคนในสังคมต่อนักลงทุนก็จะด้อยกว่ามาก ไม่มีใครจะเชิญนักลงทุนขึ้นไปกล่าวในงานแต่งงานหรืองานพิธี ไม่มีสถาบันการศึกษาไหนจะให้ตำแหน่งศิษย์เก่าดีเด่นกับนักลงทุนที่ไม่มี ตำแหน่งอะไรเลย และสำหรับนักลงทุนอาชีพหนุ่มนั้น เวลาที่จะไปขอผู้หญิงแต่งงานก็มักจะต้องเผชิญกับคำถามจากญาติฝ่ายเจ้าสาว ว่า “ทำงานอะไร” เหล่านี้ทำให้นักลงทุนนั้นมีความโน้มเอียงไปในทาง “ไพร่” มากกว่าที่จะเป็นอำมาตย์

สุดท้ายก็คือเรื่องของเงิน ความรวย ความจน นี่เป็นจุดที่อาจจะทำให้ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติของอำมาตย์ เพราะพวกเขาจำนวนไม่น้อยมีเงินหรือความมั่งคั่งในระดับสูง บางคนเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุไม่มาก อย่างไรก็ตาม VI หลายคนที่ร่ำรวยก็ไม่ใคร่ได้ใช้เงินหรือแสดงออกถึงความร่ำรวย คราบของความเป็นอำมาตย์ก็ไม่เกิด อย่างไรก็ตามคุณสมบัติข้อนี้ทำให้ VI จำนวนมากไม่สามารถจะถูกจัดให้เป็นไพร่ได้

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า ชีวิตของ Value Investor อาชีพนั้น มีคุณสมบัติโน้มเอียงไปในทางที่เป็นไพร่มากกว่าอำมาตย์ อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติส่วนใหญ่กลับเป็นคุณสมบัติกลาง ๆ ระหว่างไพร่กับอำมาตย์ ดังนั้น ในความเห็นของผม VI นั้นน่าจะเป็นคนที่ผมเรียกว่า “เสรีชน” มากกว่าที่จะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ เสรีชน ในความหมายของผมก็คือ คนที่มีชีวิตอิสระไม่ขึ้นกับใคร ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ไม่ต้องการไปกดขี่หรืออยู่เหนือคนอื่น พวกเขาชอบความเป็นธรรมและความเสมอภาคกันในสังคม เขาคิดว่า นี่คือสิ่งที่จะทำให้ประเทศและเศรษฐกิจเติบโตไปได้ดีที่สุดในระยะยาวซึ่งจะ ส่งผลถึงการลงทุนของพวกเขาด้วย
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 27 มีนาคม 2553

เส้นทางความมั่งคั่งของ บัฟเฟตต์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตำนานความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์นั้น นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้น ๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก “ธุรกิจ” เขาเป็นแค่ “นักลงทุน” มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่ม ๆ จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่าพวกเขาก็สามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด “อาชีพ” การเป็น “นักลงทุน” ตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ แต่นี่เป็นหนทางของ วอเร็น บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงินประมาณ 47,000 ล้านเหรียญหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร

พูดถึง “เงินเริ่มต้น” ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม “ตำนาน” นั้น บอกว่าบัฟเฟตต์เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเพียง 100 เหรียญหรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี “รายได้อื่น” เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไรผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจจะมีเงินในวันนี้สัก50-60 ล้านเหรียญ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วงต้น ๆ ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเองนั้นน่าจะเป็น “รายได้ส่วนน้อย” รายได้สำคัญนั้นน่าจะเป็น “รายได้อื่น” ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นก็คือ เป็นรายได้จากการ “รับจ้างลงทุน” ซึ่งก็คือ ส่วนแบ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อย ๆ และทำให้เงินในส่วนของตนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนของพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านเหรียญเมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ “บทที่หนึ่ง” ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์

บทเรียนของ “บทที่หนึ่ง” ก็คือ ในช่วงแรก ๆ ที่คุณยังมีเงินน้อยมากนั้น คุณควรจะต้องทำงานหาเงิน ในเมืองไทยเองนั้น การรับบริหารพอร์ตเป็นเรื่องเป็นราวนั้นทำได้ยากเนื่องจากข้อจำกัดของกฏหมาย ยิ่งกว่านั้น การบริหารพอร์ตที่มีตลาดหรือมีคนสนใจให้บริหารนั้น มักจะเป็นเรื่องของการบริหารแบบเก็งกำไรที่คนทำจะต้องมีชื่อเสียงเป็น “เซียนหุ้น” ที่สามารถสร้างราคาหุ้นหรือมีอิทธิพลชี้นำราคาหุ้นได้ การบริหารการลงทุนแบบ Value Investment นั้น ช้าเกินไปและคงหาคนมาลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ทำได้ยาก ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็ได้เงินส่วนใหญ่มาจากญาติพี่น้องและคนที่รู้จักมักคุ้นเท่า นั้นโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ดังนั้น ถ้าคุณยังไม่เก่งหรือดังพอที่จะรับจ้างลงทุน สิ่งที่ควรทำก็คือ ทำงานหาเงินมาเพิ่ม “พอร์ตเริ่มต้น” ให้มากพอจนกระทั่ง “เงินจากการลงทุน” จะมากกว่าเงินจากการทำงานมาก ๆ และเมื่อถึงเวลานั้นค่อยเริ่ม “บทที่สอง”

บทที่สองของบัฟเฟตต์ก็คือ การลงทุนเพียงอย่างเดียว นั่นก็คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงประมาณปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุนและคืนเงินให้คนที่มาให้บริหารซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุดและกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี ในช่วง 10 ปีนับจากปี 1969 ถึง 1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนเพียงอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านเหรียญนั้น ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะที่ยากลำบากมากเนื่องจากเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึง สองช่วงคือ ในปี 1969-71 และในช่วง 1973-74 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนของตลาดในช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์นั้นกลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ “เอาตัวรอด” ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์

ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนเพียงอย่างเดียวของบัฟเฟตต์คือช่วงปี 1979-1989 นั้นเป็นช่วง “ฟื้นตัว” ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านเหรียญในปี 1989

ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 นั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาบูมมากและถือเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า นั้น ส่วนหนึ่งก็คือ ในช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเท็คและหุ้นเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตซึ่ง บัฟเฟตต์เองไม่ยอมลงทุน ดังนั้น ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับประมาณ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลกด้วย ความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านเหรียญ เขากลายเป็นสัญญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา

ช่วงสิบปีสุดท้ายคือตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 นั้นเป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเตอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยแต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์เองนั้นยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงค์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเท็คจึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาดประมาณ 8.6% นั้นถึงแม้ว่าจะยังสูงแต่ก็ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจจะเป็นผลจากการที่พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมามากจนการทำผลตอบแทนที่สูง มากนั้น ทำได้ยากขึ้นมาก

ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนเพียงอย่างเดียวนั้น ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งเหรียญจะกลายเป็น 2,362 เหรียญ ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ประมาณ 7.24% ต่อปี เงินหนึ่งเหรียญกลายเป็น 16.4 เหรียญ ผลต่าง 14.19% ต่อปีนั้น เป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้โดยเฉพาะสำหรับเม็ดเงินมหาศาลอย่างของบัฟ เฟตต์

การ “เดินทาง” ของบัฟเฟตต์นั้น เป็นเส้นทางที่ “ขีดเขียน” ขึ้นด้วยฝีมือและ แน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก “ขีดเขียน” ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทยนั้น เพิ่ง “เริ่มเดินทาง” หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริงนั้น ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากนั้นอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมาก ๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่ในกรณีของบัฟเฟตต์
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 20 มีนาคม 2553

ใข่ในตะกร้า...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

กฏของการลงทุนข้อที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งก็คือ “การกระจายความเสี่ยง” หรือที่เรียกว่า Diversify ในภาษาอังกฤษ การกระจายความเสี่ยงนั้นจะเป็นการป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจาก ความผันผวนหรือความผิดพลาดในการลงทุนในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในแวดวงการเงินมีคำเปรียบเปรยเรื่องการกระจายความเสี่ยงว่าเหมือนกับการ “ใส่ใข่ไว้ในตะกร้าหลายใบ” นั่นก็คือ หากตะกร้าใบใดใบหนึ่งตกลงพื้นทำให้ใข่แตกหมด ใข่ในตะกร้าใบอื่น ๆ ก็ยังอยู่ แต่ถ้าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว และตะกร้าใบนั้นตกลงพื้น ความเสียหายก็มหาศาล ดังนั้น เขาจึงบอกว่า “อย่าใส่ใข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว” ความหมายก็คือ เงินทั้งหมดที่มีอยู่นั้น อย่าลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว ให้กระจายเงินลงทุนไปในทรัพย์สินต่าง ๆ ทุกอย่างให้มากที่สุด เวลาทรัพย์สินอย่างหนึ่งเสียหาย ทรัพย์สินอื่นก็ยังอยู่และมักให้ผลตอบแทนชดเชยกับความเสียหายนั้นได้ ถ้าทำแบบนี้ โดยรวมแล้ว เราจะไม่เสี่ยงหรือเสียงน้อยมาก และผลตอบแทนที่ได้จะ “ดีพอใช้”

วิธีการในการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงนั้นมีหลักการใหญ่ ๆ อยู่ 4 ข้อ ซึ่งถ้าเราทำตามแล้ว รับประกันได้ว่า ความเสี่ยงของเราจะน้อยลง ลงทุนแล้วนอนตาหลับและได้ผลตอบแทนน่าพอใจ อย่างไรก็ตาม อย่าหวังรวยจากการลงทุนด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมาก ๆ

ข้อแรก กระจายการถือหลักทรัพย์ในหลาย ๆ กลุ่มหรือที่เรียกว่าหลาย Asset Class โดยกลุ่มหลักทรัพย์ที่สำคัญประกอบด้วยกลุ่มตราสารหนี้ซึ่งรวมถึงเงินฝากใน สถาบันการเงินที่กำหนดผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน กับกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนไม่แน่นอนแต่โดยเฉลี่ยแล้วให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่ม แรก ซึ่งตัวใหญ่ก็คือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การกระจายการถือหลักทรัพย์เป็นสองกลุ่มใหญ่นั้นช่วยให้เราไม่เสี่ยงเกินไป เพราะในบางช่วงหุ้นอาจจะตก แต่ถ้าเรามีพันธบัตรอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ 60% ส่วนนี้เราจะไม่เสียหาย เพราะเวลาหุ้นตก ราคาพันธบัตรมักจะไม่ลดลง ที่จริงมันมักจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้น เราไม่เสียหายมาก ในทางตรงกันข้าม ในกรณีที่หุ้นขึ้น เราก็ได้กำไรจากการที่หุ้นขึ้นซึ่งทำให้ผลตอบแทนรวมของเราดีกว่าการถือ พันธบัตรหรือเงินฝากเพียงอย่างเดียว

ข้อสอง กระจายความเสี่ยงโดย “การลงทุนในหลายช่วงเวลา” นี่คือการลดความเสี่ยงในเรื่องของเวลาเข้าลงทุน เหตุผลก็คือ ถ้าเรามีเงินก้อนโตก้อนหนึ่งแล้วเราเข้าซื้อหลักทรัพย์เช่นหุ้นในเวลาใดเวลา หนึ่งด้วยเงินทั้งหมด ถ้าช่วงนั้นราคาหุ้นต่ำ หลังจากนั้นหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงมาก ผลตอบแทนของเราก็ดีมาก แต่ถ้าตรงกันข้าม เราเข้าลงทุนในช่วงที่หุ้นราคาสูงติดดอย หลังจากลงทุนแล้วหุ้นตกลงมามาก ผลตอบแทนของเราก็จะแย่มาก นี่คือความเสี่ยงของการเน้นการลงทุนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง วิธีการลดความเสี่ยงก็คือ ค่อย ๆ กระจายการลงทุนเป็นช่วง ๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าเวลานั้นหุ้นจะสูงหรือต่ำ ยิ่งทยอยลงทุนเป็นช่วงเวลายาวนานก็ยิ่งช่วยลดความเสี่ยงได้มากขึ้นเท่านั้น อย่าไป “เก็ง” ว่าช่วงไหนเป็นเวลาที่ดีเพราะเรามักจะเก็งไม่ถูก หลักการกระจายการลงทุนข้อนี้เหมาะสมกับคนกินเงินเดือนประจำที่มีเงินเข้าลง ทุนเรื่อย ๆ ตามเวลาเงินเดือนออก ซึ่งเขาควรนำมาลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงภาวะตลาดหุ้น

ข้อสาม กระจายการลงทุนในหลาย ๆ ตลาด นี่คือการลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดหนึ่งตลาดใดจะแย่ผิดปกติ เช่น ถ้าคิดว่าตลาดหุ้นของประเทศไทยนั้นมีความเสี่ยงจากอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ การกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศก็เป็นทางหนึ่งในการลดความเสี่ยงได้ เพราะหุ้นของประเทศอื่นนั้นมักจะมีความเสี่ยงไม่เหมือนเมืองไทยซึ่งจะช่วยชด เชยผลตอบแทนได้ในกรณีที่เกิดความเสียหายจากประเทศไทย เช่นเดียวกัน บางครั้งหุ้นในตลาดไทยก็อาจให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในตลาดต่างประเทศ โดยรวมแล้ว การลงทุนในหลายประเทศจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนได้

ข้อสุดท้ายของการกระจายความเสี่ยงก็คือ “การปรับพอร์ต” หรือ Rebalance นั่นก็คือ เมื่อกระจายความเสี่ยงโดยการถือครองหลักทรัพย์แต่ละกลุ่มในอัตราที่เหมาะสม กับตนเองดีแล้ว เช่น มีหุ้นคิดเป็น 60% ในตอนต้นปี แต่พอถึงปลายปี หุ้นอาจจะมีราคาเพิ่มขึ้นมากในขณะที่ตราสารหนี้ยังมีราคาเท่าเดิม กลายเป็นว่า หุ้นมีน้ำหนักมากขึ้นเป็น 80% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำก็คือ ลดปริมาณหุ้นลงให้กลับมาเป็น 60% เหมือนเดิม นั่นก็คือ ให้ขายหุ้นบางส่วนแล้วนำเงินที่ได้ไปลงทุนในตราสารหนี้ ตรงกันข้าม ถ้าถึงสิ้นปีหุ้นมีราคาลดลงมาก หุ้นเหลือเพียง 40% ของพอร์ต สิ่งที่เราควรทำก็คือ ให้เอาเงินที่เป็นตราสารหนี้หรือเงินฝากไปซื้อหุ้นเพิ่ม ซึ่งจะทำให้หุ้นกลับขึ้นมาเป็น 60% เหมือนเดิมโดยไม่ต้องกลัวว่า “หุ้นกำลังตก” ถ้าเราทำแบบนี้ก็เท่ากับว่าเวลาหุ้นขึ้นเรามักจะขาย และเวลาที่หุ้นตก เรามักจะซื้อหุ้นเพิ่ม โดยเฉลี่ยแล้ว เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ความเสี่ยงจะลดลง

โดยสรุปสุดท้ายก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการ Diversify และ Rebalance นั้น เป็นยุทธศาสตร์การลงทุนที่ เน้นความปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถในการลงทุนไม่มาก มันเหมาะกับคนชั้นกลางที่กินเงินเดือนและต้องการสร้างหลักประกันในการที่จะ สามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข Model หรือรูปแบบหนึ่งก็คือ การที่คนกินเงินเดือนกันเงินรายได้ประมาณ 10% มาลงทุนทุกเดือน โดยการลงทุนอาจจะกระจายซื้อหน่วยลงทุนหุ้นที่อิงดัชนีเช่น TDEX จำนวน 40% อีก 20% อาจจะซื้อหน่วยลงทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ รวมเป็นหุ้น 60% เงินอีก 30% ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทระดับบลูชิพหรือรัฐวิสาหกิจชั้นนำ ที่เหลือประมาณ 10% อาจจะเก็บเป็นเงินฝากในธนาคาร ทั้งหมดนั้น ต้องทำการปรับพอร์ตหรือ Rebalance ทุกปี ปีละครั้ง โดยที่ทั้งหมดนั้นต้องทำโดยอัตโนมัติ ไม่ใช้ความรู้สึกหรือพยายามเก็งภาวะตลาด และนี่คือ Model ที่น่าจะพาให้ผู้ลงมือทำไปถึงเป้าหมายอย่างไม่เครียดและมีความสุขตลอดระยะ เวลาอันยาวนานของการลงทุนได้
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 13 มีนาคม 2553

มหัศจรรย์ของหุ้น VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การลงทุนแบบ Value Investment ในเมืองไทยนั้นน่าจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังหลังจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจไทยและหลังจากการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง “ตีแตก” ของผมในราวปี 2542 นั่นเป็นปีเริ่มต้นที่ “เข้าตำรา” โหร นั่นคือ ดวง “ตกฟาก” ของ VI เหมาะสม เป็น “ดวง” ที่ดีมาก เพราะหลังจากการตกต่ำอย่างหนักของตลาดหุ้นในช่วงนั้นทำให้ตลาดเต็มไปด้วย หุ้นที่มีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ ผมยังจำได้ว่ามีหุ้นของกิจการที่มั่นคงแข็งแกร่ง เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ที่ยังมียอดขายดีมากในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มีกำไรและปันผลที่สูงมาก ฐานะการเงินแข็งแกร่งไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงิน แต่ราคาของมันคิดเป็นค่า PE แค่ 5 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า และจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นถึง 10% ต่อปี ดังนั้น การลงทุนซื้อหุ้นแบบนี้ซึ่งก็คือหุ้นแบบ VI จึงเป็นการลงทุน “ในฝัน” และเมื่อเวลาผ่านไป มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่ดีและได้ผลตอบแทนที่งดงามมาก

ว่าไปแล้ว ดวงตกฟากของ VI ในเมืองไทยก็เหมือนกับดวงตกฟากของ VI ต้นตำรับในอเมริกาที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี 1929 และหลังการตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม ในปี 1934 ซึ่งทำให้การลงทุนแบบ VI แพร่หลายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในเวลาต่อมา

หลังจากการเริ่มต้นแนวทางการลงทุนแบบ VI ในช่วงจังหวะเวลาที่ดีเยี่ยมนั้นแล้ว การลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยก็ค่อย ๆ เจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลงทุนแบบ VI เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้แพร่หลายออกไปนั้นน่าจะอยู่ที่ผลงานความ สำเร็จของการลงทุนของนักลงทุนแบบ VI จำนวนไม่น้อยที่สามารถสร้างผลตอบแทนงดงาม ผลตอบแทนของ VI หลายคนนั้นแทบจะเรียกได้ว่า “มหัศจรรย์” และทำให้พวกเขากลายเป็น “เศรษฐี” ได้ในเวลาอันสั้น แต่ในกรณีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดที่พูดถึงนั้นก็ยังเป็นเรื่องที่ “กล่าวอ้าง” หรือเป็นการ “คาดการณ์” กันเองโดยคนอื่น เพราะผลงานการลงทุนแบบ VI นั้น ทำโดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อพิสูจน์จริง ๆ ว่าการลงทุนแบบ VI เป็นการลงทุนที่ดีกว่าหรือเหนือกว่าการลงทุนแบบอื่น

เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าการลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยนั้นเป็นการลงทุนที่ “เหนือกว่า” อย่างเป็นวิชาการ ไม่ใช่จากการกล่าวอ้าง ผมได้ทำการศึกษาเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนแบบ VI ในตลาดหุ้นไทยสองครั้งและได้ตีพิมพ์ผลงานลงในหนังสือวารสารทางวิชาการของคณะ บริหารธุรกิจของนิด้าฉบับล่าสุดคือเดือน พฤศจิกายน 2552 และต่อไปนี้คือสาระสำคัญของการศึกษาทั้งสองครั้งที่ใช้วิธีการศึกษาแบบเดียว กันและผมถือโอกาสสรุปรวมการศึกษาทั้งสองครั้งไว้ในที่นี้

วิธีการคัดเลือกว่าหุ้นตัวไหนเป็นหุ้น Value หรือเป็นหุ้นคุณค่าก็คือ การหาหุ้นที่มีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า ค่า PB ไม่เกิน 1 เท่า และค่าผลตอบแทนปันผลหรือ Dividend Yield ไม่ต่ำกว่า 3% โดยที่หุ้นตัวไหนเข้าเกณฑ์ดังกล่าวในตอนสิ้นปีที่แล้ว เราก็ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเพื่อลงทุนในปีต่อมา เราจะถือหุ้นดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี พอถึงสิ้นปีเราก็มาดูอีกทีหนึ่งว่าหุ้นยังเข้าเกณฑ์หรือไม่ ถ้ายังเข้าเกณฑ์เราก็ยังถือต่อไปเพราะมันยังเป็นหุ้น Value อยู่ ถ้าไม่เข้าเกณฑ์แล้วเราก็ขายทิ้งแล้วเอาเงินไปลงในหุ้นอื่นที่เข้าเกณฑ์แทน ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกปี แล้วมาดูว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไรเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์

การศึกษานี้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นปี 2543 จนถึงสิ้นปี 2551 คิดเป็นเวลา 9 ปี ผลของการศึกษาสรุปได้เป็นดังนี้

1 จำนวนหุ้น Value ที่เข้าเกณฑ์และถูกเลือกลงทุนในปี 2543 มี 47 บริษัท และถือว่ามีจำนวนน้อยที่สุดในช่วง 9 ปีที่ศึกษา สาเหตุคงเป็นเพราะในปีนั้นบริษัทจำนวนมากคงยังขาดทุนกันอยู่ทำให้หาหุ้นที่ มีค่า PE ต่ำได้ยาก หลังจากนั้นแล้ว จำนวนหุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value ในแต่ละปีเฉลี่ยอยู่ที่ 70 บริษัท

2 พอร์ตของหุ้น Value ที่มีหุ้นประมาณ 70 ตัว ในแต่ละปีในช่วงเก้าปีนั้น กำไรทุกปียกเว้นปี 2551 ที่ขาดทุนประมาณ 2% ปีที่กำไรสูงสุดคือปี 2549 ที่กำไร 73.56% โดยที่กำไรเฉลี่ยแบบทบต้นเท่ากับประมาณ 34% ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์คิดจากดัชนีตลาดนั้น ในช่วง 9 ปี มีขาดทุน 4 ปี และขาดทุนหนักที่สุดในปี 2551 ที่ประมาณ 43% ปีที่ดีที่สุดคือปี 2546 ซึ่งดัชนีตลาดขึ้นไปถึง 118% และเป็นปีเดียวที่ผลตอบแทนของตลาดดีกว่าผลตอบแทนของหุ้น VI โดยเฉลี่ยแล้ว ผลตอบแทนทบต้นของตลาดในช่วง 9 ปีนั้น ให้ผลตอบแทนประมาณ 4.8% ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าพอร์ต VI ถึงปีละประมาณ 29%

3 ถ้าสมมุติว่าเราลงทุนเริ่มต้นในปี 2543 จำนวน 1 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2551 พอร์ต VI จะโตขึ้นเป็นประมาณ 13.6 ล้านบาท ขณะที่ถ้าลงทุนตามดัชนีตลาดหุ้น พอร์ตจะเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 1.5 ล้านบาทในเวลา 9 ปี

ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ การลงทุนในหุ้น VI ในตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 9 ปีที่ผ่านมานั้น

ให้ผลตอบแทนที่ “มหัศจรรย์” จริง ๆ และนี่เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องวิเคราะห์อะไรมาก ดูแค่ตัวเลขว่าเป็นหุ้นถูกเข้าข่ายหุ้นแบบ VI ในแนวของ เบน เกรแฮม ก็เพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตาม นั่นคืออดีตที่ผ่านมาแล้ว และมันอาจจะเป็นโอกาสทองที่ไม่เกิดขึ้นอีก ในวันที่ VI เพิ่งเริ่มต้นในตลาดหุ้นไทยใหม่ ๆ คนอาจจะยังรู้จักการลงทุนแบบนี้น้อย แต่ในวันนี้ คนที่เป็น VI มีมากขึ้นและนี่อาจจะทำให้การลงทุนแนว เบน เกรแฮม ยากขึ้น และผลตอบแทนอาจจะไม่โดดเด่นเท่ากับอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การลงทุนแบบ VI น่าจะยังเป็นวิธีการที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น เพราะสถิติของผลตอบแทนแบบ VI จากการศึกษาในตลาดอเมริกาที่พัฒนามากแล้วก็ยังแสดงให้เห็นว่า VI เป็นการลงทุนที่เหนือกว่า แม้ว่าความเหนือกว่าจะไม่มากอย่างที่เห็นจากการศึกษาในครั้งนี้
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 6 มีนาคม 2553

ปลากับน้ำ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในภาวะยุ่งเหยิงทางการ เมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลาย ๆ คนมองว่าถ้าแก้ไม่ตก เราอาจจะกลายเป็น Failed State หรือ “รัฐที่ล้มเหลว” นั่นคือ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ประชาชนแตกแยกและต่อสู้ทำร้ายกันเองและไม่มีใครสามารถปกครองหรือรักษาความ สงบเรียบร้อยกันได้ และถ้าเป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจก็จะพังทลาย มองมาที่หุ้นและตลาดหุ้น นักวิเคราะห์และคอมเม้นเตเตอร์จำนวนมากต่างก็พูดถึงเหตุการและสถานการณ์ทาง การเมืองที่ “รุนแรง” ที่เกิดขึ้นว่าจะทำให้ตลาดหุ้น “ตกอย่างหนัก” และแนะนำว่าควร “ลดพอร์ตลงทุน” หลีกเลี่ยงการถือหุ้นจนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะ “ชัดเจนกว่านี้” แต่สถานการณ์ทางการเมืองก็ไม่เคยชัดเจนและไม่ดีขึ้น เช่นเดียวกัน ประเทศก็ไม่ได้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจก็ไม่ได้พังทลาย และเช่นเดียวกัน ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ตกอย่างหนัก ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็ดำเนินไปตามครรลองของมัน ยกเว้นแต่เรื่องของการเมืองที่ก็ยัง “ล้าหลัง” อยู่เหมือนเดิม

เรื่องของการเมืองที่จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่าคนจะเชื่อกันว่ามันมีผลกระทบที่รุนแรง เราถูกสอนหรือถูกทำให้ฝังใจกันมานานว่า การเมืองคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดทุกอย่างในประเทศ ถ้าการเมืองมีปัญหาหรือมี “วิกฤติ” เศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ และแน่นอน ตลาดหุ้นก็จะต้องตกอย่างรุนแรง ดังนั้น พอเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น คนก็มีแนวโน้มจะขายหุ้นทิ้ง ทำให้หุ้นตก แต่ถ้าปัญหาการเมืองนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือการดำเนินการ ของบริษัทจดทะเบียนโดยตรง เมื่อเวลาผ่านไปนักลงทุนก็เริ่มเห็นและกลับเข้ามาซื้อหุ้นใหม่ หุ้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้น ผลก็คือ ในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน หุ้นนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากการเมืองหากการเมืองนั้นไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงกับ เศรษฐกิจหรือธุรกิจ หุ้นจะถูกกระทบก็ต่อเมื่อการเมืองนั้นมีผลโดยตรงต่อ “สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ” นั่นก็คือ การเมืองทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ยาก พูดให้ชัดเจนก็คือ การเมืองทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปในแบบ “ทุนนิยมเสรี” ซึ่งเป็นระบบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด

ตัวอย่างที่มีการยกขึ้นมาอ้างเสมอก็คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤติการณ์ “จรวดคิวบา” ที่โซเวียตเตรียมส่งหัวรบนิวเคลียร์ไป “จ่อคอหอย” อเมริกาในคิวบา และประธานาธิบดีเคนเนดี้ยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนตัวออกไปซึ่งทำให้เกิดวิกฤติ การเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่ง เนื่องจากถ้ารัสเซียไม่ยอมก็อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ได้ ในครั้งนั้น ตลาดหุ้นนิวยอร์คก็ตกลงมาบ้างแต่หลังจากนั้นก็ทะยานขึ้น ผลกระทบมีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้สั่งตรึงราคาเหล็กในประเทศ ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดเสรีอย่างแรง ตลาดหุ้นก็ “ตกวินาศ”

ในเมืองไทยเอง ดูจากสถิติที่ผ่านมาก็จะพบว่า เรามีเหตุการณ์หรือวิกฤติทางการเมือง “รุนแรง” นับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่การประท้วงใหญ่โต ไปจนถึงวิกฤติในรัฐสภาหรือรัฐบาล ไปจนถึงการรัฐประหาร ทุกครั้งตลาดหุ้นก็จะตกลงมาบ้าง แต่หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้น ผลกระทบในระยะยาว ซึ่งอาจจะไม่กี่วัน มีน้อยมาก ตรงกันข้าม ในวันที่แบงค์ชาติประกาศกฏการควบคุมการเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศซึ่งเป็น การ “ขัดขวาง” การไหลเข้าออกอย่างเสรีของเม็ดเงินจากต่างประเทศในปี 2549 ตลาดหุ้นไทยตกลงไปถึง 108 จุด และน่าจะเป็นการตกลงมาครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นภายในเวลาวันเดียว และถ้าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฏในคืนวันนั้น ตลาดหุ้นของไทยคงจะตกต่ำไปอีกนาน นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า หุ้นนั้น ตอบสนองต่อสิ่งที่เข้ามากระทบโดยตรงกับสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจและ เศรษฐกิจ พูดง่าย ๆ อะไรที่ทำให้ระบบทุนนิยมเสรีเสื่อมลง ตลาดหุ้นก็จะแย่ อะไรที่ดูเหมือนจะรุนแรงทางการเมือง แต่ระบบทุนนิยมเสรีไม่ได้มีความเสี่ยงว่าจะถูกกระทบ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นก็จะน้อย

เหมาเจ๋อต๋งเคยกล่าวไว้ว่า ทหารเหมือนปลา ประชาชนเหมือนน้ำ ทหารกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นอยู่ได้ก็ต้องอาศัยประชาชน ทั้งในด้านของเสบียงอาหารและข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ของฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น ถ้าประชาชนสนับสนุนก็เหมือนกับน้ำที่จะสนับสนุนการอยู่รอดของปลาซึ่งก็คือ ทหารที่ยังต้องเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ในยุคนั้น ผมเองก็คิดว่าคติพจน์นี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นไทยได้เหมือนกัน นั่นก็คือ ตลาดหุ้นนั้นเหมือนปลา ระบบทุนนิยมเสรีนั้นเหมือนน้ำ ตราบใดที่ระบบนี้ยังอยู่อย่างมั่นคง ตลาดหุ้นก็จะยังไปได้ ถ้าระบบนี้ถูกทำให้เสื่อมไปโดยการเมือง ก็เหมือนน้ำที่อาจจะถูกทำให้เน่าเสียหรือเป็นพิษที่จะทำให้ปลาอยู่ไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนั้น ตลาดหุ้นก็ไปไม่รอด

ด้วยเหตุดังกล่าว เวลามีเรื่องของการเมืองเกิดขึ้น ผมจึงต้องคอยวิเคราะห์ว่ามันจะทำให้ “น้ำเน่าหรือกลายเป็นพิษ” หรือไม่ ซึ่งก็คือ ผมจะดูว่ามันอาจจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศ “ปิด” หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ผมก็ไม่ห่วง แต่ถ้าใช่ ผมก็ต้องระวัง โชคดีที่เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลทุกรัฐบาลและพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดก็ยังยึดนโยบายตลาดเสรีอยู่ และความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกปิดก็น่าจะยังต่ำ ดังนั้น ตลาดหุ้นก็ยังน่าจะอยู่ได้แม้ว่าบางครั้ง “ออกซิเจนในน้ำจะลดลงบ้าง” แต่ “ปลาก็ยังไม่ตาย” ผมก็ได้แต่หวังว่า เมื่อเวลาผ่านไป “น้ำ” หรือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่ว่า “ปลา” ของเราจะ “เติบโต” ได้เร็วขึ้น นั่นก็คือ การลงทุนของเราจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นและความเสี่ยงในการลงทุนจะน้อยลง

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2553

Tuesday, February 23, 2010

GT 200 กับการเล่นหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เรื่องราวของเครื่องตรวจจับระเบิดที่ชื่อว่า TG 200 ซึ่งมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าไม่สามารถตรวจระเบิดได้จริงแต่คนที่ใช้เองก็ยังยืนยันว่าใช้ได้ผลและจะยังใช้ต่อไปตราบที่ยังไม่มีเครื่องมืออื่นมาทดแทนนั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะว่าที่จริงเรายังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากที่คนมีพฤติกรรมแบบเดียวกับเรื่องของ GT 200 แม้ว่ารายละเอียดจะต่างกัน

สมัยหนึ่งเมื่อโรคเอดส์เพิ่งจะโด่งดังและมีผู้คนเป็นกันมาก เราก็มียาซึ่งอ้างว่าทำจากสมุนไพรและเป็นสูตรลับซึ่งผู้ผลิตบอกว่าสามารถรักษาคนที่เป็นให้หายได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ผู้คนแห่กันไปขอซื้อมาใช้กันอย่างล้นหลาม แต่ต่อมาก็มีการพิสูจน์โดยวิชาการแพทย์มาตรฐานว่าเป็นยาที่ใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นคนที่เป็นเอดส์จำนวนมากก็ยังยืนยันที่จะใช้อยู่

เรื่องยารักษาโรคเอดส์นั้นก็เป็นเพียงอีกเรื่องหนึ่งที่มาแล้วก็หายไปเช่นเดียวกับเรื่อง “ยามหัศจรรย์” ของ “ป้าเช็ง” ที่นอกจากไม่สามารถรักษาให้โรคหายแล้ว บางรายยังมีปัญหารุนแรงขนาดทำให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ผมคิดว่าถ้าเปิดขายก็น่าจะยังมีคนมาซื้อไปใช้อยู่

เรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปมันก็คงจะล้มหายไป แต่ยังมีเรื่องทำนองแบบนี้อีกมากที่จะยังอยู่กับเราไปเรื่อย ตัวอย่างที่ชัดเจนก็น่าจะรวมถึงการ “ดูหมอ” โดยเฉพาะหมอดัง ๆ อย่างหมอดู “อีที” ที่พม่า เรื่องของความมหัศจรรย์ของเทคนิคในการสร้างพลังทางจิตใจหรือใช้ความคิดที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่หรือแก้ปัญหาที่รุนแรงบางอย่างได้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีมาอยู่เรื่อย ๆ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนไป และสุดท้ายที่เกี่ยวกับหุ้นก็คือ สูตรหรือเครื่องมือในการเล่นหุ้นที่จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเช่น เครื่องมือ “ทางเทคนิค” หรือการวิเคราะห์ทางเท็คนิค หรือการใช้กฏเกณฑ์แน่นอนที่อิงกับข้อมูลพื้นฐานของกิจการแนว VI มาทำการซื้อหรือขายหุ้นที่เรียกว่า Mechanical Rule เพื่อทำกำไรมากกว่าปกติ เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นและดังเป็นระยะ ๆ แต่ไม่สามารถพิสูจน์ประสิทธิผลของสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

คำถามก็คือ ทำไมคนจึงยังยืนยันที่จะใช้เครื่องมือหรืออะไรก็แล้วแต่ทั้ง ๆ ที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามันใช้ได้ผล หรือบางเรื่องมีการพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ผล ต่อไปนี้คือคำอธิบายของผมที่จะบอกว่า เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าจะเกิดขึ้นมันมักจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไรเพื่อที่ว่า เมื่อมันเกิดขึ้น เราจะได้ “รู้ทัน” และไม่ตกเป็นเหยื่อของมัน

ข้อแรก มันมักเป็นเรื่องที่มี “การได้เสียสูง” เช่นเป็น “ความเป็นความตาย” เรื่องของระเบิดและเรื่องของโรคเอดส์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เรื่องของหมอดูอีทีนั้นถ้าเป็นเรื่องของ “นักปฏิวัติ” ก็ชัดเจนว่าเป็นเรื่องใหญ่ได้เสียสูงสำหรับคนทำ และสุดท้ายก็เรื่องของการเล่นหุ้นซึ่งก็ “ได้เสียสูง” ในแง่เงินทอง ดังนั้น คนต้องหาทางแก้ปัญหาหรือลดความเสี่ยงในทุกทางที่ทำได้ แม้ว่าสิ่งนั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์หรือแม้แต่พิสูจน์แล้วแต่การพิสูจน์นั้นก็ “อาจจะผิด” ก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคนไทยที่มักจะเชื่อเรื่องของไสยาศาสตร์แล้ว เขาก็มักจะคิดว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” บางทีอาจจะมีสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่รู้ก็ได้

ข้อสอง “สิ่งมหัศจรรย์” นั้นเกิดขึ้นกับคนบางคนหรือเกิดขึ้นในบางครั้ง และแน่นอน คนเอาไปพูดต่อกันมากเป็นที่โจษจัน เช่น เครื่องสามารถชี้จุดที่อยู่บนคานหลังคาแล้วพบว่ามีระเบิดจริง ๆ หรือ คนเป็นโรคเอดส์อยู่แต่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อหลังจากกินยาไปได้ไม่นาน หรือ หุ้นวิ่งไปไกลมากหลังจากทะลุ “Golden Cross” แต่สิ่งที่ “ไม่มหัศจรรย์” ที่อาจจะมีมากกว่ามากนั้น เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครพูดถึงหรือพูดถึงน้อยมาก นั่นก็คือ คนเอาไปใช้แล้วไม่เกิดผลอะไรเลย แต่คนเหล่านั้นอาจจะคิดว่าเขาใช้มันผิดวิธี หรือยานั้นอาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน และเหตุผลอีกร้อยแปด พูดง่าย ๆ เขาคิดว่าเขาเป็นข้อยกเว้น ในขณะที่เครื่องมือหรือยานั้นเป็นสิ่งที่ใช้ได้จริง

สุดท้าย เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมีคนได้ประโยชน์ โดยเฉพาะที่เป็นการได้เงินจากการขายสินค้าหรือเครื่องมือที่ใช้การไม่ได้จริงเหล่านั้น ในบางเรื่องก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีคนได้ประโยชน์อะไร เป็นเรื่องบอกให้ “เอาบุญ” แต่ถ้าวิเคราะห์หรือมองให้ลึกซึ้งลงไปก็จะมีคนได้ประโยชน์ทางอ้อมอยู่ไม่น้อย

ในฐานะของ VI นั้น เราจะต้องตระหนักว่าในโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยนั้น เราจะพบกับสถานการณ์แบบ “TG 200” อยู่เรื่อย ๆ หน้าที่ของเราก็คือ พิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยเหตุผล ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเป็นเรื่องของเราเองนั้น จะต้องมั่นใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อหรือเดือดร้อนในการที่จะใช้มัน เรื่องที่เป็นรูปธรรมที่สุดในฐานะนักลงทุนนั้น แน่นอน ก็คือเรื่องของเท็คนิคที่ใช้ในการลงทุนที่มักจะมีการอ้างว่าใช้ได้ผลโดยเพียงแต่ดูเส้นอะไรบางอย่างและไม่ต้องวิเคราะห์อะไรอย่างอื่นอีก แบบนี้เราอาจจะต้องระวังว่าถ้าเราใช้มันโดยที่จริง ๆ แล้วมันใช้ไม่ได้ โอกาสก็อาจจะเหมือนกับการใช้ TG 200 ในดงระเบิด นั่นคือ เราขาดทุนไม่เป็นท่า

ในอีกด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่าเครื่องมือมันจะใช้ไม่ได้ผล แต่เราก็อาจจะไม่เสียอะไรมากในการใช้มัน หรืออาหารเสริมบางอย่างที่อาจจะไม่ให้ผลอะไรเลยกับร่างกายแต่โทษก็ไม่มีอะไรยกเว้นว่าจะเสียเงินบ้าง แบบนี้ การใช้ก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เราเสียหายหนัก ว่าที่จริง ส่วนตัวผมก็กินยาหรืออาหารเสริมหลายอย่างที่อาจจะไม่มีผลอะไรเลยแต่ก็ยังกินอยู่ เหตุผลก็คือ สุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่มีการ “ได้เสียสูง” และผมเคยอ่านหรือพบว่าการกินยานั้น ก่อให้เกิด “สิ่งมหัศจรรย์” ขึ้นกับคนบางคน เหนือสิ่งอื่นใด ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการกินยาหรืออาหารเสริมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียอะไรยกเว้นต้องจ่ายเงินซื้อ ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับสุขภาพของผม ดังนั้นผมจึงกิน แต่สำหรับเรื่องการลงทุนแล้ว ผมไม่ยอมใช้อะไรที่ผมไม่เชื่อว่าจะใช้ได้ เพราะความเสียหายหรือต้นทุนนั้นสูงมาก

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2553

ธรรมชาติของจิตใจ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในการวิเคราะห์หุ้นแบบ VI นั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัท ในการวิเคราะห์ธุรกิจของบริษัทนั้น เราจำเป็นต้องวิเคราะห์การแข่งขันระหว่างบริษัทกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเดียวกัน ในการวิเคราะห์การแข่งขันเราต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทและคู่แข่งต่าง ๆ นั้นอยู่ใน “ตำแหน่งทางการตลาด หรือมี “Positioning” อย่างไร คำว่า Positioning นั้นก็คือตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ “ในจิตใจ” ของลูกค้า เช่น “รถยี่ห้อนี้เป็นรถที่หรูที่สุด” “ยาสีฟันยี่ห้อนี้แก้เสียวฟันดีที่สุด” “ผลิตภัณฑ์นี้ขายดีเป็นอันดับหนึ่ง” “ร้านเครือข่ายสรรพสินค้านี้ขายดีเป็นอันดับสอง” เป็นต้น การวิเคราะห์เรื่อง Positioning นี้ จะทำให้รู้ว่าบริษัทไหนจะชนะหรือแพ้ กลยุทธอันไหนของบริษัทจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว พูดให้ง่ายก็คือ ถ้าบริษัทหรือสินค้าของบริษัทอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดที่ดีแล้วละก็ การแข่งขันก็จะได้เปรียบ กำไรก็มักจะต้องดี และที่สำคัญก็คือคู่แข่งจะเข้ามาแย่งตำแหน่งได้ยาก และนี่คือแนวความคิดทางการตลาดที่นำเสนอโดย แจ็ค เทร้า กูรูทางการตลาดชื่อดัง


ประเด็นที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ก็คือเรื่องคำว่า “ในจิตใจ” นั่นคือ เรื่องของ Positioning นั้น เป็นเรื่องของความเชื่อ หรือความรู้สึก ที่อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ผลิตภัณฑ์ของคุณอาจจะดีที่สุดหรือปลอดภัยที่สุด แต่คนส่วนใหญ่เชื่อและรับรู้ว่าสินค้าที่ดีหรือปลอดภัยนั้นเป็นอีกตัวหนึ่ง แบบนี้สินค้าของคุณก็ไม่มีความหมาย ในการพูดถึง Positioning นั้น แจ็ค เทร้า ได้อธิบายถึง “ธรรมชาติ” ของจิตใจที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์เรื่อง Positioning ได้อย่างเข้าใจได้ง่าย

ธรรมชาติข้อแรกของจิตใจก็คือ จิตใจนั้นมีความจำกัด นั่นคือ มันรับข้อมูลใหม่เฉพาะที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันที่มีอยู่ ข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมนั้น จิตใจจะไม่ยอมรับ และโดยปกติ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเราจะไม่สามารถจำหรือจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้เกิน 7 อย่างและนั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงมี 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก หรือสโนว์ไว้ท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ธรรมชาติข้อนี้ทำให้คนไม่สามารถจำหรือรับรู้สินค้ายี่ห้อต่าง ๆ ได้มากมายเช่นเดียวกับที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อที่มีอยู่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคนเชื่อว่ายาสีฟัน A นั้นแก้เสียวฟันดีที่สุด เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่ายาสีฟัน B นั้นแก้ได้ดีกว่าแม้ว่าคุณจะโฆษณามากมายแค่ไหนก็ตาม นอกจากนั้น ถ้าถามว่าคุณจำชื่อยาสีฟันได้กี่ยี่ห้อและแต่ละยี่ห้อช่วยอะไรบ้าง คำตอบก็คือ ไม่เกิน 7

ข้อสอง จิตใจเกลียดความสับสน อะไรที่ฟังดูยุ่งยากซับซ้อนนั้นคนก็จะไม่จำ ดังนั้น นักการตลาดที่ฉลาดจะต้องทำอะไรหรือพูดอะไรที่ธรรมดาและเข้าใจง่าย สินค้าแต่ละอย่างนั้นจะต้องเสนอว่ามันทำอะไรได้หรือมีอะไรที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว อย่าพยายามบอกว่ามันดีทุกอย่าง เช่น รถคันนี้ปลอดภัย หรู ขับขี่สบาย และอื่น ๆ อีกมาก แบบนี้คนจะสับสน ข้อนี้หลายคนอาจจะบอกว่าไม่สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ในโลกยุคใหม่หลายอย่างที่พูดถึงเรื่อง Convergent นั่นคือ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่มารวมกันอยู่ในเครื่องเดียวกัน เช่น คอมพิวเตอร์ที่เป็นทีวีด้วย เป็นเครื่อง Fax ด้วย และเป็นอะไรอื่น ๆ อีกมาก เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือที่ทำได้ทุกอย่างทั้งส่ง อีเมล ดูหนัง เป็น organizer เป็นต้น ข้อนี้ แจ็ค เทร้า บอกว่าไม่จริง อย่างไรเสียผลิตภัณฑ์ที่ “ทำได้ทุกอย่าง” นั้นก็ไม่มีทางสู้ผลิตภัณฑ์ที่ “ทำงานได้ดีมากในเรื่องที่ลูกค้าต้องการ” เพียงอย่างเดียว

ข้อสาม จิตใจนั้นไม่มั่นใจ จิตใจมักจะยึดอารมณ์มากกว่าเหตุผล อย่างเรื่องการซื้อของนั้น คนเรามักจะ “ซื้อตามคนอื่น” แม้ว่าเขาจะบอกว่าเขาซื้อเพราะอะไรแต่จริง ๆ อาจจะไม่ใช่ เหตุผลก็คือ คนเรามักจะกลัวความเสี่ยงที่อาจจะจริงหรือไม่ก็ตาม ความเสี่ยงนั้น อาจเป็นเรื่องความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงในการใช้ผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสินค้า ความเสี่ยงทางด้านสังคมเช่นเพื่อนจะคิดอย่างไรกับเราเป็นต้น การแก้หรือการจับจุดอ่อนนี้ของคนเพื่อที่จะขายของมีหลายอย่างเช่น การใช้คนดังคนเด่นที่เป็นดาราหรือนักกีฬามารับรองผลิตภัณฑ์ การสร้างกระแสว่าคนมากมายต่างก็ใช้สินค้านี้เพราะมันมียอดขายอันดับหนึ่ง หรือใช้ความเก่าแก่ของผลิตภัณฑ์ที่มีมานับชั่วอายุคนเป็นจุดขายเป็นต้น พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดไปถึงเรื่องของการซื้อหุ้นตามกันว่าคงจะเกิดขึ้นจากการที่ “จิตใจไม่มั่นใจ” อยู่เหมือนกัน

ข้อสี่ จิตใจไม่เปลี่ยน นี่เป็นธรรมชาติของคนที่มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนทัศนคติของคนเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าคุณจะเปลี่ยนคุณจะต้องเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นฐานที่ก่อให้เกิดความเชื่อนั้น ซึ่งในเวลาเพียง 30 วินาทีของการโฆษณานั้นทำไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือมีใครหรือบริษัทไหนพยายามที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหรือการบริโภคของคนหรือเปลี่ยนทัศนคติอะไรของคน อย่าเชื่อว่ามันจะประสบความสำเร็จ

ข้อห้า จิตใจอาจจะสูญเสียจุดมุ่งเน้นหรือเบลอได้ นี่เป็นกรณีที่เดิมนั้นจิตใจมีความเข้าใจหรือความเชื่อชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เช่นถ้าพูดถึงเบียร์ในสมัยก่อนทุกคนก็จะรู้ว่าเบียร์ยี่ห้อนี้มีรสชาดอย่างไร แต่ในตอนหลังมีการขยายสายผลิตภัณฑ์กลายเป็นว่าเบียร์ยี่ห้อเดิมแต่มีรสชาดหลายอย่างตั้งแต่ดีกรีต่ำไปสูงและยังมีแบบดราฟเบียร์อีกต่างหาก นี่ทำให้คนเบลอ ไม่รู้ว่าเวลาพูดถึงเบียร์ยี่ห้อนี้คุณกำลังพูดถึงแบบไหน ดังนั้น สำหรับ แจ็ค เทร้า แล้ว การขยายสายผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งต้องห้าม ยี่ห้อสินค้าเดียวต้องเป็นตัวแทนของผลิตภัณฑ์เดียว ถ้าต้องการออกสินค้ารุ่นใหม่จะต้องใช้ชื่อใหม่ มิฉะนั้นยี่ห้อเดิมจะเสียหาย การขยายสายผลิตภัณฑ์จะทำให้พวก Specialist หรือสินค้าที่เน้นคุณภาพเพียงอย่างเดียวเข้ามาแย่งตลาดจากเจ้าเดิมได้ พูดถึงเรื่องนี้แล้วผมก็คิดถึงดาราหลายคนที่เข้าไปเล่นการเมือง ซึ่งทำให้ยี่ห้อของการเป็นดาราเสียไปในขณะเดียวกันก็ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง นี่ก็อาจเป็นเรื่องที่จิตใจของคน “เบลอ” ไป ไม่รู้ว่าเขาเป็นดาราหรือนักการเมือง

และทั้งหมดนั้นก็คือ ธรรมชาติของจิตใจในสายตาของกูรูการตลาดที่สรุปว่า ความเชื่อนั้นคือของจริง อย่าไปสับสนกับข้อเท็จจริง สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่มเติมก็คือ นี่ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะกับการตลาด แต่มันใช้ประยุกต์ได้กับชีวิตในหลาย ๆ ด้าน

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2553

ความเสี่ยงของกองทุนอสังหาริมทรัพย์...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนที่รักความปลอดภัยแต่อยากได้ผลตอบแทนที่ดีมักจะมองหา กองทุนอสังหาริมทรัพย์ เหตุผลก็คือ กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเจ้าของหรือถือสิทธิ์การเช่าระยะยาวในอสังหาริมทรัพย์ที่มักจะมีรายได้อยู่แล้ว รายได้ที่ได้ก็มักเป็นรายได้ที่ค่อนข้างจะ “แน่นอน” เพราะมักเป็นรายได้ค่าเช่า “ระยะยาว” ลูกค้าที่มาเช่าก็มักจะ “อยู่ยาว” และที่สำคัญ กำไรที่อสังหาริมทรัพย์ทำได้นั้น จะส่งต่อให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องเสียภาษี คิดแล้วเป็นผลตอบแทนปีละประมาณ 7-8 % หรือมากกว่านั้น และนี่เป็นผลตอบแทนในปีแรก ๆ เท่านั้น อนาคตค่าเช่าอาจจะปรับเพิ่มขึ้นและผลตอบแทนก็อาจจะสูงขึ้น ฟังดูแล้วมีแต่เรื่องดี ๆ ความเสี่ยงในการลงทุนต่ำกว่าหุ้นมากขณะที่ผลตอบแทนดูเหมือนจะพอ ๆ กัน แต่ผมเองก็ยังมีข้อที่ยังไม่ค่อยแน่ใจตามประสา Value Investor ที่ไม่ยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ และต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับอะไรที่ “ดีเกินไป” ข้อสังเกตและความคิดของผมก็คือ

หนึ่ง ถ้ามันดีมากจริง ๆ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำไมเอาทรัพย์สินมาขายให้กองทุน เก็บเอาไว้ “กินเอง” ไม่ดีกว่าหรือ อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ก็มีข้อโต้เถียงได้ว่า เจ้าของอาจจะต้องการเงินเพื่อเอาไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่และไม่อยากจะกู้เงินมากเกินไป นอกจากนั้น การขายเข้ากองทุนทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคลซึ่งทำให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เหนือสิ่งอื่นใด เจ้าของก็มักจะยังตามไปถือหน่วยลงทุนประมาณ 30% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นการลงทุนที่ดีจริง และที่เขาขายนั้นก็เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีและเรื่องของการระดมเงินเป็นหลัก ไม่ใช่การขายเพื่อทำกำไรกับคนที่เข้ามาถือหน่วยลงทุน ในความเห็นของผม ผมคิดว่าข้อโต้เถียงนั้นก็มีเหตุผล อย่างไรก็ตาม มันก็อาจจะมีหลายโครงการเช่นกันที่เจ้าของโครงการนั้น ขายโครงการในราคาที่สูงเกินกว่าที่ควรเป็นให้กับคนถือหน่วยลงทุนโดยวิธีการที่ซับซ้อนและผู้บริหารกองทุนก็ “ตามไม่ทัน”

สอง เจ้าของโครงการนั้น หลังจากที่ขายโครงการเข้ากองทุนแล้ว เขาก็ยังเป็นผู้จัดการทรัพย์สินนั้นอยู่โดยมีสัญญาผูกพันยาวนาน หลาย ๆ โครงการ เจ้าของโครงการก็เป็นผู้เช่าหลักเอง ดังนั้น มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า Conflict of Interest หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งกัน นั่นคือ ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร เขาควรที่จะเรียกค่าเช่าให้สูงเพื่อให้กองทุนมีกำไรมาก แต่ในฐานะผู้เช่า เขาก็ต้องการเช่าในราคาที่ต่ำ โดยธรรมชาติ เขาก็จะต้องดูว่าผลประโยชน์ทางไหนจะมากกว่า โดยทั่วไป ผมคิดว่าผลประโยชน์ในแง่ของการเป็นผู้เช่าจะสูงกว่าผลประโยชน์ที่เป็นเจ้าของหน่วยลงทุนเพียง 30% ดังนั้น ความเสี่ยงของผู้ถือหน่วยลงทุนก็คือ หลังจากที่สัญญาเช่ารอบแรกที่มักจะต้อง “ยุติธรรม” กับกองทุน หมดลง การต่อสัญญาใหม่นั้นผมก็ไม่ใคร่แน่ใจว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมหรือไม่

สาม สัญญาเช่ารอบแรกตอนขายโครงการให้กับกองทุนนั้น เจ้าของโครงการก็มักจะต้องทำให้มันดูดีมาก เช่น มีคนเช่าค่อนข้างเต็ม รายได้จากค่าเช่าค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ผลตอบแทนถึง 7-8% ขึ้นไป และถ้าโครงการทำไม่ได้ในปีแรก ๆ บ่อยครั้งเจ้าของโครงการยังมีการ “รับประกันรายได้ขั้นต่ำ” จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนมั่นใจ อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2-3 ปีว่าจะได้ผลตอบแทนอยู่บ้างถ้าโครงการทำรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาด ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มักไม่มองอะไรไกล ๆ ก็จะสบายใจและยอมควักเงินซื้อหน่วยลงทุนนั้นในราคาที่อาจจะสูงเกินไป

สี่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์จำนวนไม่น้อยเป็นสัญญาเช่าระยะยาวหรือที่เรียกว่าเป็นการ “เซ้ง” ในช่วงที่สัญญายังอยู่ ผลตอบแทนก็มักจะค่อนข้างดี แต่เมื่อหมดสัญญาเซ้งซึ่งอาจจะอีก 15-20 ปี ทรัพย์สินนั้นก็จะต้องตกเป็นของเจ้าของที่ดินเดิม มูลค่าของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ก็หมดลงหรือเหลือน้อยมาก และแม้ว่าจะมีคำปลอบใจว่าอาจจะต่อสัญญาได้ แต่การต่อสัญญานั้นก็คงต้องจ่ายค่าเซ้งใหม่ซึ่งจะเป็นเงินมหาศาล ดังนั้น การได้ต่อสัญญาจึงมีความหมายน้อยมาก ความเสี่ยงเรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องที่ยังอยู่ไกล ดังนั้น นักลงทุนหลายคนก็มักจะไม่ค่อยสนใจ แต่สำหรับ Value Investor แล้ว เราสนใจ เพราะที่ดินนั้น ถ้าเป็นของเราหรือของกองทุน ยิ่งเวลาผ่านไปมูลค่ากลับมากขึ้น แต่ถ้าเป็นสัญญาเซ้ง ยิ่งนาน มูลค่าหรือราคากลับลดลงจนเป็นศูนย์เมื่อหมดสัญญา

ห้า ในช่วงที่มีการขายโครงการเข้ากองทุนนั้น หลาย ๆ โครงการเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหม่ ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องซ่อมแซมตัวอาคารและโครงสร้างต่าง ๆ นั้นจะมีน้อยมาก นั่นทำให้กำไรของโครงการหรือกองทุนจะมีมากกว่าปกติ และดังนั้นราคาโครงการก็สามารถตั้งไว้สูงได้โดยที่ทำให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนยังได้ผลตอบแทนปีละ 7-8% แต่กำไรนี้จะยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจหากว่าในเวลาต่อมาโครงการจะต้องเริ่มมีการตบแต่งหรือซ่อมแซมอาคารใหม่ อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อโต้แย้งว่า เมื่อเวลาผ่านไป ค่าเช่าก็อาจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น กำไรก็จะยังคงเดิมหรือเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นนี้ เรายังไม่ทราบ เพราะกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดยังค่อนข้างใหม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอก

หก ความเสี่ยงทางด้านการตลาด นั่นคือ จำนวนคนเช่าและราคาค่าเช่านั้น แม้ว่าบางโครงการเช่น โครงการห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงอาจจะมีความเสี่ยงน้อย แต่หลาย ๆ โครงการก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงพอสมควรทีเดียว ประเด็นก็คือ โครงการที่เขาจะนำมาขายเข้ากองทุนนั้น เขาก็จะต้องเอาโครงการหรือทรัพย์สินที่มีคนเช่าเต็มหรือค่อนข้างเต็มและได้ค่าเช่าค่อนข้างจะดีอยู่แล้วมาขายซึ่งจะทำให้เขาขายได้ในราคาที่ดี แต่ใครจะไปรู้ว่าอนาคตนั้นจะดีต่อไปหรือไม่โดยเฉพาะเมื่อสัญญาเช่าหมดลง เหนือสิ่งอื่นใด นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับหุ้น IPO หรือหุ้นเข้าตลาดใหม่ ๆ ที่เจ้าของ “แต่งตัว” หรือทำให้กำไรของบริษัทดูดีผิดปกติเพื่อจะได้นำมาขายให้คนอื่นในราคาที่สูงเกินพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ต้องดูให้แน่ใจว่าอนาคตของทรัพย์สินจะหาคนเช่าได้แน่นอนในราคาที่ไม่ลดลง

สุดท้ายก็คือความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ว่าจะมีโอกาสที่ทรัพย์สินจะถูกรอนสิทธิหรือไม่ รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจจากโครงการอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตและถ้ามีจะกระทบกับทรัพย์สินของกองทุนอย่างรุนแรงได้ เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ผมพอจะนึกออก แต่ที่จริงแล้วยังอาจจะมีอะไรต่าง ๆ ที่เรายังนึกไม่ถึง อย่าลืมว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเรื่องที่ยังค่อนข้างใหม่ ดังนั้นความเสี่ยงจึงมากกว่าหลักทรัพย์อย่างอื่น ว่าที่จริงเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีกองทุนหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วและผมคิดว่ามันคงไม่ใช่ปัญหาสุดท้าย ข้อสรุปของผมก็คือ ถ้าจะซื้อ เราควรซื้อกองทุนอสังหาที่เราเข้าใจธุรกิจของโครงการจริง ๆ และถ้าจะให้ดีเป็นเจ้าของทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอง ไม่ใช่สัญญาเช่าระยะยาว

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 16 มกราคม 2553