Wednesday, January 20, 2010

Bill Gross...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ชื่อของ Bill Gross นั้น ในแวดวงนักลงทุนของไทยคงมีคนรู้จักน้อย แต่ในสหรัฐนั้น เขาเป็น “มือหนึ่ง” ในด้านการลงทุนในตลาดเงินและตราสารหนี้ กองทุน PIMCO หรือ Pacific Investment Management Co. ที่เขาช่วยก่อตั้งขึ้นกลายเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Bill Gross เองต้องดูแลรับผิดชอบบริหารเงินกว่า 200 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 6 ล้านล้านบาทซึ่งมากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐบาลไทยหลายเท่า มีการทำโพลเมื่อเร็ว ๆ นี้ในแวดวงของนักการเงินพบว่า Bill Gross เป็นรองเพียง วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นในฐานะที่เป็นคนที่สามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ภาวะตลาดการเงินในโลกได้แม่นยำที่สุด


ผมคงไม่พูดถึงกลยุทธ์การลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของ บิล กรอส เหตุผลก็คือ ผมไม่รู้ว่าเขาทำอย่างไร นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารหนี้นั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการดูภาพใหญ่หรือภาพ Macro ในภาษาทางเศรษฐศาสตร์ ถ้ามองภาพใหญ่ออก การซื้อขายพันธบัตรหรือตราสารหนี้ก็ทำได้ไม่ยาก เพราะสูตรทางคณิตศาสตร์ก็จะบอกให้รู้ว่าราคาของพันธบัตรจะวิ่งไปทางไหน แต่สิ่งที่ผมจะพูดถึงก็คือประวัติ แนวความคิด และวิธีทำงานของเขา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับการลงทุนของ Value Investor มากกว่า

บิล กรอส เริ่มชีวิตของการเป็นนักลงทุน ถ้าจะว่าไป จากการ “นับไพ่” ในบ่อนกาสิโนที่ลาสเวกัส นั่นคือในช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่นหลายสิบปีมาแล้วที่คนยังไม่ค่อยรู้ว่าการ “นับไพ่” นั้น ถ้าเรารู้เรื่องความน่าจะเป็นทางสถิติ เราจะสามารถเอาชนะเจ้ามือได้ บิล กรอส สามารถทำเงินจาก 200 เหรียญกลายเป็น 10,000 เหรียญจากบ่อนก่อนที่จะถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรบในสงครามเวียตนาม แต่ในระหว่างนั้นเขาก็เริ่มคิดไปข้างหน้าว่าในโลกของผู้ใหญ่นั้น จะมีที่ไหนที่เขาจะสามารถทำแบบเดียวกัน นั่นคือ ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ เล่นเป็นเกม แล้วได้กำไร สิ่งที่เขาพบก็คือ ที่ตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม สุดท้ายมันกลายเป็นตลาดพันธบัตรที่ทำให้เขาสามารถทำกำไรหรือสร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นและทำให้เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับต้น ๆ ของโลกของการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ ผลงานของ บิล กรอส ก็คือ เขาสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงสิบปีนับถึงปี 2007 ได้ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีและชนะอัตราเฉลี่ยของตลาดถึง 5.25% ในช่วง 3 ปีสุดท้าย

ในความคิดของ บิล กรอส เขาบอกว่า ผู้จัดการกองทุนที่ยิ่งใหญ่นั้นจะต้องเป็นนักคณิตศาสตร์ หนึ่งในสาม เป็นนักเศรษฐศาสตร์หนึ่งในสาม และเป็นนักเล่นพนันม้าแข่งอีกหนึ่งในสาม การเป็นนักคณิตศาสตร์นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการลงทุนในพันธบัตร เพราะการคำนวณราคาที่เหมาะสมของพันธบัตรนั้นต้องใช้สูตรการคำนวณที่ซับซ้อนมากไม่ได้มีตัวเลขง่าย ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเช่นค่า PE ในกรณีของหุ้น ส่วนการเป็นนักเศรษฐศาสตร์นั้น ในกรณีนี้ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จะช่วยให้รู้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะไปทางไหน ซึ่งในกรณีของหุ้นนั้น เราจำเป็นต้องรู้เศรษฐศาสตร์โดยรวมมากกว่า

สุดท้ายก็คือ การเป็นนักเล่นพนันม้าแข่ง ในกรณีนี้ผมคิดว่าเหมือนกันทั้งในการลงทุนในตราสารหนี้และในหุ้น เหตุผลก็คือ ในการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะมองที่ตัวบริษัทหรือคุณภาพของบริษัทเพียงด้านเดียว แต่เราต้องดูถึงราคาที่ซื้อขายกันด้วยว่ามันคุ้มไหมที่จะ “แทง” เพราะม้าดี อัตราการจ่ายรางวัลก็มักจะต่ำ เช่นเดียวกัน หุ้นดีหรือบริษัทที่ออกตราสารหนี้มีฐานะการเงินดี ราคาหุ้นหรือตราสารหนี้ก็มักจะสูง ดังนั้น คนที่จะชนะในการพนันม้าและคนที่จะชนะในการพนันหุ้นหรือตราสารหนี้ก็จะต้องรู้จักความน่าจะเป็นของการชนะและอัตราการต่อรองเหมือนกัน

วิธีการทำงานของ บิล กรอส เองก็น่าสนใจ เขาบอกว่าทุกวันตั้งแต่ 8.30 ถึง 10.00 น. เขาจะเล่นโยคะและออกกำลังกายที่คลับที่อยู่ตรงกันข้ามกับที่ทำงาน และเป็นที่รู้กันว่าเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่เป็น “สวรรค์” ของเขาที่ไม่ต้องการให้ใครมารบกวนเลย ที่ผ่านมาเขาเคยถูกเรียกให้กลับไปที่ห้องซื้อขายหลักทรัพย์เพียง 2-3 ครั้งเท่านั้นซึ่งรวมถึงในช่วงวัน Black Monday ที่ตลาดถล่มทลายในปี 1987 ด้วย เวลาที่เขาออกกำลังกายหรือเล่นโยคะนั้นเป็นเวลาที่เขาใช้คิดถึงการลงทุนต่าง ๆ ด้วย และเขาบอกว่าไอเดียดีที่สุดบางอย่างของเขานั้น เกิดขึ้นเมื่อเขายืนอยู่บนศีรษะและขาชี้ฟ้าอยู่

ชีวิตประจำวันอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บิล กรอส ตื่นตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง และตรวจสอบตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลกจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เขาถึงที่ทำงานประมาณตีห้าครึ่งเพื่อที่จะบริหารเงินจำนวนมหาศาลด้วยตนเอง คติพจน์ของเขาก็คือ เขาไม่ต้องการติดต่อกับใครเลย เขาต้องการตัดการติดต่อกับทุกคน เขาจะรับสายเพียง 3-4 ครั้งต่อวัน (ยกเว้นภรรยาของเขา) และเขาจะดูอีเมลเฉพาะที่เขาต้องการจะดูเท่านั้น ที่สำคัญ เขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ ถ้าจะสรุปก็คือ เขาต้องการความเป็นอิสระที่จะไม่มีอะไรมาทำให้วอกแวกได้ และนี่น่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของการเป็นนักลงทุนโดยเฉพาะในการเทรดพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มักจะต้องมีสมาธิสูงและต้องการความรวดเร็วมากในการ “เคลื่อนย้ายเงิน” จำนวนมโหราฬในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่จะทำให้ได้ชัยชนะ และนี่อาจจะไม่เหมือนการลงทุนในหุ้นในสไตล์ของ Value Investment ที่มักจะออกแนวช้า ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ คุณต้องการความเป็นอิสระในการคิดเหมือนกัน

แน่นอน บิล กรอส คงไม่ได้เป็น “ตำนาน” โดยที่ไม่ได้ผ่าน “วีรกรรม” สำคัญ ๆ เช่นวิกฤติการณ์ ซับไพร์ม หรือวิกฤติการณ์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง เขาผ่านมันมาได้อย่างงดงามด้วยการที่สามารถคาดการณ์และวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นและเตรียมตัวในการรับกับมันให้ได้ และนั่นอาจจะเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญในการที่จะยิ่งใหญ่และดำรงความยิ่งใหญ่ให้กับเซียนตัวจริงทุกคน และนี่ทำให้ผมนึกถึง Long Term Capital Fund ที่เคยเป็นกองทุนที่เล่นในตลาดตราสารหนี้ที่เคยยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงมากไม่แพ้ Pimco แต่แล้ว ในวันหนึ่งมันก็ล่มสลายลงพร้อม ๆ กับความยิ่งใหญ่ของคนที่บริหารมัน ผมก็ได้แต่หวังว่า บิล กรอส ในวัยกว่า 60 ปีจะจบชีวิตการลงทุนในฐานะของเซียนสุดยอดการลงทุนในพันธบัตรในอนาคตที่อาจจะไม่ไกลนัก เพราะ “นักเทรด” นั้น ปกติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธภาพสูงเมื่ออายุมากขึ้น

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 16 มกราคม 2553

อาหารหรือขยะ........ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนที่จะเป็น “เซียน” ในวิถีทางแบบ Value Investment นั้น ดูเหมือนว่าจะต้องเป็นนักอ่านตัวยง วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นตัวอย่างที่สำคัญ เพราะเขาอ่านหนังสือมากมายมหาศาลและเป็นคนที่อ่านได้เร็วมาก นอกจากหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงแล้ว ผมเชื่อว่าเขาอ่านหนังสืออื่น ๆ อีกมาก เพราะถ้าจำไม่ผิด เขาเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการชื่อดังอย่าง The Selfish Gene ของ Richard Dawkins เช่นเดียวกัน ชาลี มังเกอร์ เพื่อนซี้และหุ้นส่วนของ วอเร็น บัฟเฟตต์เองก็อ่านหนังสือหลากหลายและน่าจะมากกว่า บัฟเฟตต์ ในแง่ของความหลากหลายทางวิชาการอื่น ๆ เขาบอกว่าการลงทุนนั้น คุณต้องอาศัยความรอบรู้รอบด้านมากกว่าความรู้ที่เจาะจงเฉพาะอย่าง


การอ่านหนังสือมากนั้น ผมคิดว่าไม่พอที่จะทำให้เราเป็นนักลงทุนที่ดี การอ่านที่ได้ประโยชน์และได้ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การเลือกอ่านหรือเลือกที่จะเชื่อหรือยอมรับในสิ่งที่เราอ่านจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราเก่งขึ้น รอบรู้ขึ้น การอ่านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่จริงนั้น ถ้าดีหน่อยก็ทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าแย่ก็คือ ทำให้เราเสียหาย ขาดทุน และรู้น้อยลง เปรียบไปก็เหมือนกับการที่สมองเรานั้น แทนที่จะได้ “อาหาร” ก็กลายเป็นได้ “ขยะ” หรือได้ “ยาพิษ” และต่อไปนี้ก็คือข่าวสารข้อมูลบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรใส่ใจมากน้อยแค่ไหน และเราควรเชื่อหรือไม่ เอาเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับหุ้นและการลงทุนโดยตรง

ข้อมูลข่าวสารเรื่องแรกที่เรามักพบเจอเป็นประจำก็คือ การคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นในปีนี้หรือปีหน้า สำหรับผม นี่เป็น “ขยะ” เพราะการคาดการณ์ตลาดหุ้นอย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะมีใครทำได้ดูจากสถิติที่ผ่านมา เหตุผลก็คือ ภาวะตลาดหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์มากมายที่จะเกิดขึ้นในประเทศและในโลก เหตุการณ์เหล่านั้นมักจะเกิดขึ้นโดย “ไม่คาดฝัน” ดังนั้น ภาวะตลาดหุ้นก็มักจะเป็นไปอย่าง “ไม่คาดฝัน” ก็ใครจะไปคิดว่าปี 2552 ที่ทุกคนคิดว่าจะเป็นปี “เผาจริง” ของภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยนั้น จะกลายเป็น “ปีทอง” ที่ทำให้ตลาดหุ้นคึกคักกันทั่วโลก ด้วยเหตุผลดังกล่าว เวลาฟังใครคาดการณ์เกี่ยวกับดัชนีตลาดในปีนี้หรือปีหน้า อย่าไปคิดจริงจังอะไร พวกเขาต้องคาดเพราะมีคนจำนวนมากอยากฟังเท่านั้น ไม่ได้แตกต่างอะไรกับหมอดูที่ต้องตอบคำถามของคนที่กำลังสับสนและกังวลกับชีวิตในอนาคตของตนเอง

เรื่องของ “Dr. Doom” หรือคนที่มาบอกว่า “โลกกำลังจะแตก” ประเทศไทยกำลังวิบัติ เกิด “กลียุค” ถึงกับล่มสลาย เหล่านี้ ฟังแล้วก็อย่าไปเชื่อหรือกังวล เพราะหลายคนที่พูดนั้นก็พูดกันเกือบทุกปี ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร ความจริงก็คือโอกาสที่จะเกิดนั้นน่าจะต่ำมาก เช่นเท่ากับโอกาสที่เราจะเดินออกนอกบ้านแล้วถูกฟ้าผ่าตาย ถ้าเราก็ยังเดินออกนอกบ้านทุกวันผมก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่จะยังลงทุนในตลาดหุ้นเป็นปกติ จำไว้ว่า “ดร. ดูม” นั้นมีอยู่ทุกประเทศ และก็แน่นอน นาน ๆ ก็มี ดร. ดูม ที่พยากรณ์ถูกต้อง ก็คงเป็นอย่างที่พูดกันว่า แม้แต่นาฬิกาตายก็ยังบอกเวลาได้ถูกต้องวันละหนึ่งครั้ง ดังนั้น อย่าสนใจการพยากรณ์แบบ ดร. ดูม ถ้าไม่แน่ใจในอารมณ์ของตัวเองก็อย่าไปอ่าน เพราะมันเป็น “ขยะข่าวสาร”

เรื่องของเท็คนิคใหม่ ๆ ในการลงทุนที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม นี่ก็เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีการเสนอออกมามากมาย ส่วนใหญ่ที่เห็นก็เป็นเรื่องของประสบการณ์ของเจ้าตัวที่อ้างว่าสามารถทำกำไรได้งดงามจากเท็คนิคที่ “ค้นพบเอง” เท็คนิคเหล่านั้นเกือบทั้งหมดมักจะไม่มีเหตุผลที่เข้มข้นรองรับแต่ชื่อที่ใช้เรียกก็มักจะน่าประทับใจชวนให้คิดว่าเป็นเทคนิคที่ตอบโจทย์ที่คนหลายคนกำลังแสวงหาคำตอบอยู่ สำหรับผมแล้ว เท็คนิคใหม่ ๆ แปลก ๆ นั้นเกือบทั้งหมดก็เป็น “ขยะ” มีคนเคยถาม วอเร็น บัฟเฟตต์ ว่ามีเท็คนิคอะไรพิเศษจึงสามารถสร้างผลงานสุดยอด เขาบอกว่า เท็คนิคก็เป็นเรื่องเก่าที่มีคนอื่นโดยเฉพาะ เบน เกรแฮม ได้คิดไว้แล้วทั้งนั้นไม่มีอะไรใหม่ เขาเพียงแต่เอามันมาใช้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ข้อมูลอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าต้องระวังเวลาอ่านก็คือเรื่องของ ผลการลงทุน ของ “เซียน” หรือบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของการศึกษาทางวิชาการจริง ๆ มีตัวเลขข้อมูลที่สนับสนุนชัดเจน เช่น ผลการลงทุนของกองทุนรวมที่มีข้อมูลเปิดเผยและเป็นตัวเลขจริง ข้อมูลของบริษัทอย่าง เบิร์กไชร์ ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือการศึกษาทางวิชาการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกลยุทธ์แบบ Value กับ Growth ที่มีเกณฑ์แน่นอนและทำอย่างมาตรฐาน แบบนี้ เราก็พอเชื่อถือได้ แต่การ “อ้าง” ว่าได้ผลตอบแทนเท่านั้นเท่านี้โดยไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้สนับสนุน หรือการทำโพล์ทางอินเตอร์เน็ตนั้น ผมคิดว่าผลลัพธ์ที่ได้ไม่น่าเชื่อถือ เหตุผลก็คือ มันจะมี Bias หรือความลำเอียง นั่นก็คือ คนที่ได้ผลตอบแทนดีก็จะมาตอบแบบสอบถามมากกว่าคนที่มีผลงานแย่ คนบางคนก็บอกผลตอบแทนที่อาจจะไม่จริงแต่มีแนวโน้มไปในทางสูงเพื่อที่จะแสดงว่าตนเองมีความสามารถสูงซึ่งก็เป็นเรื่องของแรงจูงใจของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลเหล่านั้น อย่าไปเชื่อ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงสงครามเวียตนามที่ทหารสหรัฐและเวียตนามต่างก็คุยว่าสังหารศัตรูได้มากมายในการรบทุกครั้ง แต่มีคนให้ข้อสังเกตว่าถ้าเป็นจริงตามที่ว่า กองทัพเวียตนามและอเมริกาคงหมดไปนานแล้ว

สุดท้ายก็คือข้อมูลหุ้นรายตัวพร้อมการวิเคราะห์ นี่คือข้อมูลที่มองภายนอกนั้นคือ “อาหาร” แน่ เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของข้อมูลตัวเลขที่เป็นจริงพร้อมการวิเคราะห์ตามข้อมูลที่มีอยู่ ดังนั้น คนที่อ่านข่าวสารข้อมูลก็น่าจะได้ความรู้เกี่ยวกับบริษัท ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรที่จะเสียหายหรือเสียเวลาได้ อย่างไรก็ตาม เราก็ควรพิจารณาแรงจูงใจของคนที่นำเสนอข้อมูลนั้นด้วยเพราะคงไม่มีใครยอมเสียเวลานำเสนอข้อมูลให้คนอื่นโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้น เมื่ออ่านข้อมูลแล้วก็ต้องคิดด้วยตนเองว่าข้อมูลที่ปรากฏนั้นสมเหตุผลหรือไม่ ราคาหุ้นที่เห็นนั้นคุ้มค่าหรือไม่ ที่สำคัญมีปัจจัยอะไรอื่นไหมที่ทำให้ราคาหุ้นไม่สะท้อนพื้นฐานของกิจการทำให้หุ้นมีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น มิฉะนั้น การใช้ข้อมูลที่รับมาลงทุนอาจจะกลายเป็นกับดัก สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหารอาจจะกลายเป็น “เหยื่อล่อ” ที่ทำให้เรา “ติดกับ” หรือขาดทุนได้

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 มกราคม 2553


Monday, January 4, 2010

ปีทองของตลาดหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปี 2552 น่าจะเป็น “ปีทอง” ของตลาดหุ้นอีกปีหนึ่ง เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เป็น 735 จุดเมื่อสิ้นปี 2552 หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 63% ปีที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นมากกว่านี้มีเพียง 3 ปีคือปี 2520 ที่ตลาดเพิ่มขึ้น 120% ปี 2536 ที่ตลาดโตขึ้น 88% และปี 2546 ที่ดัชนีตลาดเพิ่มขึ้น 117% อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นอย่างแรงในปี 2552 นั้น มีความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับปีทองอื่นก็คือ ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นหลังจากการตกลงมาอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้าคือปี 2551 ซึ่งตลาดติดลบไปถึง 48% ว่าที่จริงดัชนีตลาดหุ้นเมื่อสิ้นปี 2552 นั้นก็ยังต่ำกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปี 2550 ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 858 จุด ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นหลายคนแล้ว ปี 2552 นั้น ยังไม่ใช่
“ปีทอง” ของการลงทุนอย่างแท้จริง อาจจะเรียกว่าปีแห่งการ “ฟื้นตัว” ของการลงทุนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างแรงหลังจากที่ตลาดหุ้นซบเซามาประมาณ 5-6 ปีนั้น ทำให้มุมมองของนักลงทุนเปลี่ยนไปพอสมควรโดยผมมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้


ข้อแรก ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปีก่อนหน้ายังคง “หลอน” คนทั่วไปและนักลงทุนอยู่ ทำให้การ “เล่นหุ้น” ยังไม่แพร่ไปยังคนทั่วไปที่จะทำให้เกิด “ฟองสบู่ตลาดหุ้น” อย่างที่เรามักจะพบในปีทองครั้งก่อน ๆ ดังนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยเฉลี่ยต่อวันในปี 2552 จึงยังไม่สูงนัก

ข้อสอง ผลตอบแทนที่ได้มาง่ายมากในปี 2552 ทำให้ค่าความคาดหวังของผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้นมาก ดูเหมือนว่านักลงทุนจำนวนมากจะตั้งเป้าผลตอบแทนที่ตนเองจะทำได้ในอนาคตสูงกว่าที่ผมคิดว่าพวกเขาจะทำได้ คร่าว ๆ ผมคิดว่าพวกเขาคาดหวังที่จะโตหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 20-25% ในระยะยาวอย่างน้อย 5-6 ปีข้างหน้า หลายคนอาจจะมองถึงปีละ 40-50% ด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนั้น แน่นอน บางคนก็อาจจะทำได้จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วผมคิดว่าพวกเขาน่าจะได้ไม่เกิน 10-15% โดยที่คนที่โดดเด่นมากอาจจะได้ถึง 20%

เหตุผลที่นักลงทุนคิดว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงมากนั้นก็เพราะว่าเขาสามารถทำผลตอบแทนในปี 2552 ได้สูงมาก บางคนอาจจะได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น แม้แต่คนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรก็ได้ผลตอบแทนถึง 60-70% ตามผลตอบแทนของตลาด แต่เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่านั่นไม่ได้เกิดจากฝีมือ เป็นแต่เพียงการขึ้นตามตลาด หรือสำหรับคนที่ได้ผลตอบแทนงดงามก็อาจจะเป็นเรื่องของโชคหรือการเก็งกำไรที่ถูกต้องในเวลานั้นซึ่งในสถานการณ์อื่นเขาก็อาจจะทำไม่ได้ ในความคิดของผมก็คือ คนที่คาดการณ์ผลตอบแทนระยะยาวเกินปีละ 15% โดยเฉลี่ยนั้น น่าจะเป็นนักเก็งกำไรมากกว่าการเป็นนักลงทุน เหตุผลก็คือ มีธุรกิจจำนวนน้อยมากที่สามารถโตได้ปีละ 15% โดยเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้น ถ้าจะโตเร็วกว่านั้นก็จำเป็นต้องทำการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก และนั่นก็เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสชนะไม่สูงนักสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษในการเก็งกำไร

ข้อสาม ข้อมูลจากอดีตที่ผ่านมานั้นบอกว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลัง “ปีทอง” หรือปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้น มักจะให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง นี่ก็อาจเป็นเรื่องปกติของอะไรก็ตามที่ขึ้นไปมากและเร็วก็จะมีแนวโน้มชลอตัวลงกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติ หลายครั้งดัชนีก็ติดลบ ดังนั้น ในภาวะที่เราผ่านปีทองมาแล้ว ผมคิดว่าปีนี้เราควรจะต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ปีทองในครั้งนี้ ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาจากพื้นที่ต่ำมาก และราคาปัจจุบันก็ยังไม่ทำให้ราคาหุ้นแพงนักเห็นได้จากค่า PE ที่อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปก็ถือว่าไม่เสี่ยงเกินไป แต่ถ้าจะหวังได้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนปีก่อนนั้นผมคิดว่าคงหวังได้ยาก

ข้อสี่ สำหรับนักลงทุนหลายคนที่ทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมในปีที่แล้วและกลายเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนของคุณ นั่นคือ หนึ่ง ผลตอบแทนรวมทั้งหมดซึ่งรวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งหลายเช่นเงินสดและพันธบัตร คุณทำได้มากกว่า 63% ซึ่งเป็นผลตอบแทนของตลาด สอง มูลค่าพอร์ตของคุณสูงเป็นประวัติการณ์ และแน่นอน ต้องสูงกว่ามูลค่าพอร์ตเมื่อสิ้นปี 2550 โดยที่คุณไม่ได้คิดรวมเงินที่คุณลงเพิ่มเติมลงไป สาม คุณได้กำไรเป็น ล้าน ห้าล้าน หรือสิบล้าน ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่คุณรู้สึกว่ามันสร้างความแตกต่างให้กับความมั่งคั่งของคุณอย่างมีนัยสำคัญ และสุดท้าย มันอาจจะเป็นปีที่คุณบรรลุเป้าหมายสำคัญของความมั่งคั่งที่คุณฝัน ไม่ว่ามันจะเป็นปีที่คุณมีเงินเพียงพอที่จะเป็น “อิสรภาพทางการเงิน” หรือเป็นปีที่คุณมีเงินถึง 10 20 หรือแม้แต่ 100 ล้านบาท สิ่งที่คุณจะต้องคิดตระหนักมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถรักษาความมั่งคั่งระดับนั้นไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็ในปีนี้

และสุดท้าย สำหรับนักลงทุนอีกหลายคนที่ปี 2552 ที่ผ่านมายังไม่ใช่ “ปีทอง” ของคุณก็จงอย่าเสียใจ จริงอยู่ การมี “ปีทอง” เป็นครั้งเป็นคราวนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่ไม่จำเป็นในการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน การ “คงเส้นคงวา” นั่นคือ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระดับ 15-20% ได้ค่อนข้างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนานขณะที่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะหรือผลตอบแทนที่ติดลบรุนแรงได้ นี่แหละที่จะสามารถนำคุณไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จทางการเงินในระยะยาวได้โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีปีทองของการลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวเลย

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 1 มกราคม 2553

Sunday, January 3, 2010

มั่วด้วยสถิติ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โลกในยุคข้อมูลข่าวสารนั้น นอกจากข่าวสารที่เป็นจริงที่เราได้รับรู้ผ่านสื่อมากมายแล้ว ยังมีข่าวสารที่ทำหรือพยายามทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นข่าวสารที่จริงทั้งที่มันเป็นข่าวสารที่ “มั่ว” โดยแรงจูงใจนั้นอาจจะเพื่อเป็นการทำให้คนทั่วไปเชื่อในข้อมูลนั้นเพื่อผลประโยชน์ของคนที่ปล่อยข่าวนั้นออกมา หรือบางทีก็เพื่อที่จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับความน่าเชื่อถือของคนที่พูด วิธีที่มีการใช้มากที่สุดก็คือการอ้าง “สถิติ” ซึ่งอิงกับวิชาการที่มีการศึกษามาเป็นอย่างดี

แน่นอน สถิตินั้น ถ้าทำอย่างถูกต้องทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติและด้วยความเป็นมืออาชีพร้อยเปอร์เซ็นต์ ความถูกต้องและน่าเชื่อถือก็จะเป็นไปตามทฤษฎี โอกาสผิดพลาดจากความเป็นจริงก็น้อยมาก อย่างไรก็ตาม “สถิติ” จำนวนมากที่มีการศึกษาและเผยแพร่ออกมาในปัจจุบันนั้น เป็นสถิติมั่วที่คนทำทำขึ้นมาอย่างไม่มีคุณภาพหรือทำขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ที่แอบแฝงบางอย่างเช่นผลทางการเมือง เป็นต้น ลองมาดูว่าเขา “มั่วด้วยสถิติ” แบบไหนบ้าง

เรื่องแรกก็คือ สิ่งที่เรามักได้รับการบอกกล่าวตลอดเวลาว่า การดูหมอหรือพยากรณ์ชะตาชีวิตนั้นเป็น “ศาสตร์ทางสถิติ” ซึ่งโดยนัยก็คือ สิ่งที่หมอดูพยากรณ์ออกมานั้นไม่ใช่ว่าจะต้องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เปอร์เซ็นต์ความแม่นนั้นก็ต้องสูง เพราะ “สถิติ” เขาบอกว่าเป็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่เคยมีการทำสถิติอะไรทั้งนั้น ว่าที่จริงตำราหมอดูมีมานานมากแล้วก่อนที่โลกนี้จะรู้จักกับวิชาสถิติด้วยซ้ำ หลังจากที่มีการค้นพบวิชาสถิติก็ไม่เคยมีการ “ชำระ” หรือทบทวนวิชาโหรโดยการศึกษาตัวอย่างข้อมูลด้วยหลักการทางสถิติ ดังนั้น คนที่อ้างว่าโหราศาสตร์เป็นเรื่องของสถิติจึงน่าจะเป็นการอ้างที่ “มั่ว” น่าจะเป็นการอ้างเพื่อที่จะสร้างความน่าเชื่อถือของการพยากรณ์ให้กับคนที่ยังมีข้อสงสัยว่าวิชาโหรมีรากฐานมาจากอะไร อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าโหราศาสตร์เป็นเรื่องไม่จริง เพียงแต่ต้องรู้ว่า โหราศาสตร์นั้น ไม่ใช่ศาสตร์ทางสถิติอย่างที่เราเข้าใจกันในหมู่นักวิชาการสมัยใหม่

ความผิดพลาดหรือความไม่ถูกต้องหรือไม่จริงของข้อสรุปจากการศึกษาทางสถิตินั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มักมาจากเรื่องใหญ่ ๆ สามสี่เรื่องดังต่อไปนี้

เรื่องแรกก็คือ จำนวนตัวอย่างที่ใช้สำรวจ นั่นก็คือ จำนวนที่สุ่มหรือเลือกมานั้นอาจจะมีจำนวนที่น้อยเกินไป มันไม่สามารถแทนจำนวนทั้งหมดได้ นี่เป็นกรณีที่ทำกันแบบง่าย ๆ แล้วก็ใช้อ้างอิงว่าเป็นสถิติ ที่จริงในทางสถิติเองนั้น เขาจะต้องบอกถึงระดับความน่าเชื่อถือด้วยว่า ข้อสรุปที่พบนั้นมีความ “น่าเชื่อถือ” กี่เปอร์เซ็นต์ แต่คนที่ทำก็คงไม่ต้องการบอกหรือไม่ได้ใช้หลักทางสถิติจริง ๆ สิ่งที่เขาต้องการก็คือ เขาต้องการผลสรุปนั้นเพื่อที่จะไปพูดให้คนฟังได้อย่างน่าเชื่อถือ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เรื่องของ January Effect ที่บอกว่าหุ้นในเดือนมกราคมมักจะขึ้น นี่เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอเมริกาและมีการศึกษาทางสถิติจริง แต่ในเมืองไทยนั้น ตลาดบ้านเราเพิ่งก่อตั้งมา 30 กว่าปี ตัวอย่างยังมีน้อย ผมจึงไม่แน่ใจว่า January Effect นั้น มีจริงหรือไม่ “ทางสถิติ” แต่ความเชื่อก็คือ ไม่มี

จำนวนตัวอย่างเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าห่วงว่าจะ “มั่ว” มากกว่าก็คือ การสุ่มเลือกตัวอย่าง เพราะข้อมูลนั้น ถ้าจะเป็นตัวแทนของทั้งหมดได้ มันต้องกระจายไปในคนทุกกลุ่ม แต่เพื่อที่จะหาตัวอย่างง่าย คนที่ไปสุ่มหาตัวอย่างก็มักจะทำแบบง่าย ๆ เช่นใช้การโทรศัพท์ไปตามบ้านในช่วงเวลาทำงาน แบบนี้เราก็มักจะเจอกับแม่บ้านซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวแทนที่เราต้องการถ้าเราอยากจะถามเขาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่ทำงานในสำนักงานมากกว่า บางทีคนที่ทำการศึกษาก็เข้าใจถึงข้อจำกัดของการใช้โทรศัพท์ ดังนั้น เขาก็จะจ้างพนักงานทำแบบสำรวจให้ไปสัมภาษณ์สอบถามถึงตัวแบบสุ่มเลย แต่นี่ก็อาจมีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะพนักงานทำแบบสำรวจก็มักจะเอาง่ายไว้ก่อนโดยการไปเดินตามสวนสาธารณะซึ่งจะสามารถหาคนกรอกแบบสอบถามได้เร็วและสะดวกมาก แต่ข้อเสียก็คือ คนที่เดินหรือออกกำลังกายตามสวนนั้น อาจจะไม่ใช่ตัวแทนของคนทั่วไปในเรื่องที่กำลังถูกสอบถามอยู่

ถัดจากเรื่องของตัวอย่างก็มาถึงเรื่องของคำถามที่ใช้ถาม นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ได้คำตอบผิดเพี้ยนได้ง่าย ๆ เพราะคำถามหลาย ๆ คำสามารถชักจูงหรือ “บีบ” ให้คนตอบต้องตอบในทางที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้ง ๆ ที่เจ้าตัวอาจจะมีความเห็นอีกด้านหนึ่ง เช่น ไปถามว่า “ท่านเห็นด้วยที่จะมีคณะทำงานที่ประกอบด้วยคนที่น่าเชื่อถือมาปรับปรุงกฎหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือไม่” คำตอบนั้นผมคิดว่าแน่นอนว่าจะต้องเห็นด้วยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าตอบว่าไม่เห็นด้วย คนตอบก็จะกลายเป็นคนไม่ดีที่ไม่เห็นแก่ส่วนรวม ดังนั้น ในหลาย ๆ กรณีโดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจทางสถิติเกี่ยวกับการเมือง เราจึงมักพบว่ามีสำนักหรือคนทำโพลหลายคนที่สำรวจพบความนิยมของประชาชนต่อพรรคหรือคนการเมืองที่ได้ผลขัดแย้งกัน บางทีนี่อาจจะเป็นเรื่องของคำถามที่ใช้ ว่ากันว่าผลการสำรวจความคิดเห็นนั้นสามารถเขียนคำตอบล่วงหน้าได้เลยโดยใช้เท็คนิคในการตั้งคำถาม และนี่ก็เป็นที่มาว่าสำนักหรือคนทำโพลนั้นมี “ค่าย”

สุดท้ายก็คือ ถึงแม้ว่าการทำสำรวจทางสถิติจะถูกต้องทุกอย่าง แต่ผลที่ได้จากโพลก็อาจจะผิดก็ได้ เหตุผลก็คือ คนตอบแบบสอบถามอย่างหนึ่ง แต่เวลาไปทำจริงทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น มีคนเคยทำแบบสำรวจกลุ่มผู้ชายทำงานว่า “คุณชอบอ่านหนังสือนิตยสารอะไรมากที่สุดเรียงลำดับไป 5 อันดับ” ปรากฏว่าหนังสือแนวธรรมะติดอันดับต้น ๆ และหนังสือแนว “ปลุกใจเสือป่า” ไม่ติดอันดับ แต่ข้อเท็จจริงในตลาดก็คือ หนังสือแนวปลุกใจเสือป่าขายดีกว่าหนังสือแนวธรรมะมาก

และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เรารับฟังข่าวสารต่าง ๆ นั้น เราจำเป็นต้อง “กรอง” ว่าข่าวไหนน่าจะจริง ข่าวไหนอาจจะไม่จริง โดยเฉพาะที่เป็นข้อมูลที่อ้าง “การสำรวจทางสถิติ” และเป็นข่าวที่มีคนได้ประโยชน์ชัดเจน เหนือสิ่งอื่นใด การเป็น VI นั้น จะต้องไม่เชื่อใครง่าย ๆ แม้ว่าจะมีสถิติอ้างอิง

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 29 ธันวาคม 2552

ชายกลางกับครูกุ๊ก...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การเป็น Value Investor ที่ดีนั้น นอกจากการเรียนรู้และติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว เราต้องรู้และเข้าใจกระแสหรือแนวโน้มของสังคมด้วย ว่าที่จริงสังคมนั้นเป็นพลังสำคัญที่สุดในการกำหนดเรื่องของภาวะและระบบเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจสังคม ก็มีแนวโน้มว่าเราจะสามารถพยากรณ์ทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองได้แม่นยำขึ้น สำหรับผม การติดตามความเคลื่อนไหวทางสังคมที่ให้ภาพชัดเจนที่สุดก็คือ การดูหนังดูละครและติดตาม “ข่าวดารา” ที่เดี๋ยวนี้มีหนังสือพิมพ์วางแผงจำหน่ายทุกวัน เช่นเดียวกับละครที่ออกอากาศวันละหลายเรื่อง

แนวโน้มของสังคมที่ผมสังเกตเห็นว่าเปลี่ยนไปมากนับย้อนหลังไปสัก 40 ปีก่อนขณะที่ผมยังเป็นวัยรุ่นก็คือสถานะของผู้คนในสังคม ในสมัยก่อนนั้นสังคมไทยค่อนข้างจะจัดลำดับของคนเป็นชั้น ๆ ตามลำดับที่อาจจะเรียกว่า “ศักดินา” หรือตามตำแหน่งอำนาจที่กำหนดเป็นทางการ โดยคนที่มีฐานะทางสังคมสูงก็คือคนที่มีอำนาจที่เป็นทางการหรืออำนาจทางวัฒนธรรมสูงและคนที่อยู่ต่ำก็คือคนที่ไม่มีอำนาจที่เป็นทางการหรือทางวัฒนธรรมเลยและมีอาชีพที่ไม่ได้สังกัดบริษัทหรือกิจการขนาดใหญ่ ในสมัยนั้นละครที่ออกอากาศก็มักจะมีพระเอกที่เป็นผู้ดีมีตระกูลทำงานเป็นข้าราชการ ละครที่ฮิตที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ “บ้านทรายทอง” ซึ่งพระเอกเป็น “ชายกลาง” เดี๋ยวนี้ละครเปลี่ยนไปมาก พระเอกหรือตัวเอกส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ หลาย ๆ เรื่องก็เป็นชาวบ้านธรรมดา และละครที่กำลังฮิตมากก็คือ “สูตรเสน่หา” ซึ่งพระเอกเป็น “ครูกุ๊ก” เรื่องของชนชั้นในสังคมนั้น ถ้าจะยังมีอยู่ก็เป็นเรื่องว่า “ใครมีเงินมากกว่ากัน” เพราะฉะนั้น นักธุรกิจหรือเจ้าของกิจการซึ่งมักจะมีเงินมากจึงเป็นคนที่มีสถานะค่อนข้างโดดเด่นในสังคม

พูดถึงเรื่องของดารา ซึ่งผมหมายรวมถึงนักร้องด้วยนั้น สมัยก่อน ดาราเป็นอาชีพ “เต้นกินรำกิน” ซึ่งหมายถึงการเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยในสายตาของสังคม ดังนั้น คนที่เรียนสูงระดับจบปริญญาตรีนั้นมักจะไม่ยอมทำอาชีพหรือเป็นดารา เดี๋ยวนี้คนอยากเป็นดารากันทั้งนั้น แม้แต่คนที่เรียนจบจากฮาร์วาดหรือเรียนจบปริญญาเอกจากต่างประเทศก็ยังอยากเป็นดารา ดาราที่สมัยก่อนมักจะเป็นลูก “ชาวบ้านธรรมดา” นั้น เดี๋ยวนี้ จำนวนมากเป็นลูก “ไฮโซ” อาชีพดาราสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีเงินเหลือเก็บทั้งที่แสดงเป็นสิบหรือร้อยเรื่อง สมัยนี้ดาราหลายคนมีเงินมากเป็นเศรษฐีร้อยล้านบาทก็มี นอกจากเงินแล้ว ดาราเป็นคนที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับคนที่มาเกี่ยวข้องได้ ดังนั้น ดาราจึงเป็นที่หมายปองของคนหลาย ๆ คนหรือหลาย ๆ กลุ่ม เช่นนักการเมืองหรือกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการคนที่มาช่วยในการประชาสัมพันธ์งานของตนเอง

การหาคู่ครองของดาราสะท้อนภาพของสังคมได้ค่อนข้างชัดเจน ดาราผู้หญิงเดี๋ยวนี้ไม่ชอบคู่ที่เป็นตำรวจทหารหรือข้าราชการอย่างในสมัยก่อน หรือถ้าจะชอบผู้ชายก็มักจะเป็นลูกของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หรือนักการเมืองที่มีเงินมหาศาล ดาราหญิงชื่อดังส่วนใหญ่ชอบนักธุรกิจหรือลูกเจ้าของกิจการขนาดใหญ่หรือดาราชื่อดังด้วยกัน ว่าที่จริงสมัยนี้ดาราหญิงนั้นแข่งขันหรือวัดกันว่าใครจะมีแฟนหรือมีคู่ที่รวยกว่ากัน เพราะการมีแฟนที่รวยจะทำให้ดารามีหรือรักษาสถานะที่โดดเด่นในสังคมได้ยาวนาน การมีแฟนจนหรือไม่รวยนั้นจะทำให้รู้สึกน้อยหน้าเพื่อนฝูง ทั้งหมดนั้นแตกต่างกับดาราสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะดาราสมัยก่อนนั้นแทบไม่มีโอกาสมีคู่ที่มีฐานะเป็นเศรษฐี ว่าที่จริง ดาราสมัยก่อนนั้นไม่กล้าแม้แต่จะบอกว่าตนเองมีคู่แล้วเนื่องจากกลัวว่าผู้คนจะไม่ดูหนังที่ตนเองเล่นถ้ารู้ว่ามีคู่แล้ว

ดาราแต่งหรือเป็นคู่กับเศรษฐีหรือไฮโซนั้น แม้ว่าในสังคมดูเหมือนจะมองว่าดารายังเป็น “เบี้ยล่าง” เห็นได้จากการที่ต้องได้รับการ “Approve” หรือได้รับการยอมรับจากว่าที่แม่สามี แต่ไม่เคยมีข่าวว่า ว่าที่ลูกเขยที่ร่ำรวยได้รับการอนุมัติจากว่าที่แม่ยายแล้ว แต่ดาราเองนั้นเดี๋ยวนี้ก็ “ไม่แคร์” เหนือสิ่งอื่นใด คนในสังคมไม่ค่อยสนับสนุน “ผู้ดีเก่า” ที่อาจจะแสดงอาการเหยียดดารา ตรงกันข้าม ดารานั้น มีทั้งชื่อเสียงและเงินและด้วยอิทธิพลของสื่อที่รวดเร็วกว้างขวางในปัจจุบัน ดารากำลังจะกลายเป็นไฮโซเหมือนอย่างที่พวกเขาเป็นในต่างประเทศ

ผมเขียนมายืดยาวเกี่ยวกับเรื่องของหนังและดารา ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจและการเมือง และถ้าดูเรื่องของสังคมก็เป็นสังคมของดารา ไม่เกี่ยวอะไรกับสังคมทั่วไปไม่ต้องพูดถึงหุ้น แต่ผมคิดว่าเรื่องของดารานั้นเป็นภาพสะท้อนของสังคมส่วนรวม เป็นเรื่องของความเชื่อและความนึกคิดของคนทั่วไปที่แสดงออกผ่านทางดาราและภาพยนต์หรือละคร และสิ่งที่ผมสรุปจากการดูพัฒนาการของวงการนี้ผมเห็นว่า สังคมไทยนั้น กำลังปรับเปลี่ยนไปตามอย่างตะวันตกอย่างไม่อาจหวลกลับได้นั่นคือ

สังคมไทยกำลังถอยห่างจาก Establishment หรือการกำหนดมาตรฐานประจำชาติหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีอิทธิพลที่เป็นทางการ ประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้นและแสดงออกใน “สังคม” ของตนเอง พวกเขา “ไม่แคร์” ว่าใครจะอยู่ “ชั้นไหน” ในสังคมเก่าสมัยก่อน สิ่งที่เขาสนใจและแสวงหาก็คือ ใครมีเงินมากกว่า พูดง่าย ๆ เงินเป็นตัววัดความสำเร็จ เงินเป็นสิ่งที่คนแสวงหา ถ้าจะพูดว่าสังคมไทยนั้นเป็นสังคมของทุนนิยมเต็มที่ก็ไม่น่าจะผิด อย่างน้อยก็ในด้านของสังคมและเศรษฐกิจ และแม้ว่าอาจจะมีพลังบางอย่างจากคนบางกลุ่มที่พยายามขัดขวางกระบวนการนี้ผ่านทางการเมือง มันก็จะไม่มีทางสำเร็จเพราะคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ

ผมเองมักจะถูกถามว่า ถ้ามีกฎหมายหรือมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ทำให้การทำธุรกิจของบริษัทที่เราลงทุนอยู่ประสบอุปสรรคอย่างแรงเราจะทำอย่างไร คำตอบของผมก็คือ ถ้าสิ่งที่บริษัทเราทำนั้นมีประโยชน์และคนต้องการ กฎหมายนั้นย่อมไม่สามารถขวางได้ โดยนัยก็คือ มันไม่น่าจะเกิดได้ หรือถ้าเกิดได้ก็ต้องมีทางแก้ ชีวิตประชาชนนั้น เหมือนกับชีวิตของดารา ถึงวันนี้พวกเขากำหนดแนวทางชีวิตของเขาได้แม้ว่าจะมีคนหรือกฏเกณฑ์ที่คอยขัดขวางหรือบอกว่าห้ามทำ ดังนั้น ถ้าประชาชนบอกว่าเขาต้องการใช้สินค้าของบริษัทเราและเขาพร้อมที่จะจ่ายเงิน อย่ากลัวว่าจะถูกขัดขวางโดยนักการเมือง อย่างมากต้นทุนของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นบ้างเท่านั้น ในโลกของทุนนิยมนั้น เงินเป็น “คะแนนโหวต” ที่ตัดสินเสมอ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 22 ธันวาคม 2552