ปี 2552 น่าจะเป็น “ปีทอง” ของตลาดหุ้นอีกปีหนึ่ง เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เป็น 735 จุดเมื่อสิ้นปี 2552 หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 63% ปีที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นมากกว่านี้มีเพียง 3 ปีคือปี 2520 ที่ตลาดเพิ่มขึ้น 120% ปี 2536 ที่ตลาดโตขึ้น 88% และปี 2546 ที่ดัชนีตลาดเพิ่มขึ้น 117% อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นอย่างแรงในปี 2552 นั้น มีความแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับปีทองอื่นก็คือ ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นหลังจากการตกลงมาอย่างรุนแรงในปีก่อนหน้าคือปี 2551 ซึ่งตลาดติดลบไปถึง 48% ว่าที่จริงดัชนีตลาดหุ้นเมื่อสิ้นปี 2552 นั้นก็ยังต่ำกว่าดัชนีเมื่อสิ้นปี 2550 ซึ่งดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ 858 จุด ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นหลายคนแล้ว ปี 2552 นั้น ยังไม่ใช่
“ปีทอง” ของการลงทุนอย่างแท้จริง อาจจะเรียกว่าปีแห่งการ “ฟื้นตัว” ของการลงทุนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างแรงหลังจากที่ตลาดหุ้นซบเซามาประมาณ 5-6 ปีนั้น ทำให้มุมมองของนักลงทุนเปลี่ยนไปพอสมควรโดยผมมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้
ข้อแรก ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปีก่อนหน้ายังคง “หลอน” คนทั่วไปและนักลงทุนอยู่ ทำให้การ “เล่นหุ้น” ยังไม่แพร่ไปยังคนทั่วไปที่จะทำให้เกิด “ฟองสบู่ตลาดหุ้น” อย่างที่เรามักจะพบในปีทองครั้งก่อน ๆ ดังนั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยเฉลี่ยต่อวันในปี 2552 จึงยังไม่สูงนัก
ข้อสอง ผลตอบแทนที่ได้มาง่ายมากในปี 2552 ทำให้ค่าความคาดหวังของผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้นมาก ดูเหมือนว่านักลงทุนจำนวนมากจะตั้งเป้าผลตอบแทนที่ตนเองจะทำได้ในอนาคตสูงกว่าที่ผมคิดว่าพวกเขาจะทำได้ คร่าว ๆ ผมคิดว่าพวกเขาคาดหวังที่จะโตหรือได้ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ยปีละประมาณ 20-25% ในระยะยาวอย่างน้อย 5-6 ปีข้างหน้า หลายคนอาจจะมองถึงปีละ 40-50% ด้วยซ้ำ ซึ่งทั้งหมดนั้น แน่นอน บางคนก็อาจจะทำได้จริง แต่ส่วนใหญ่แล้วผมคิดว่าพวกเขาน่าจะได้ไม่เกิน 10-15% โดยที่คนที่โดดเด่นมากอาจจะได้ถึง 20%
เหตุผลที่นักลงทุนคิดว่าจะสามารถทำผลตอบแทนได้สูงมากนั้นก็เพราะว่าเขาสามารถทำผลตอบแทนในปี 2552 ได้สูงมาก บางคนอาจจะได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์หรือมากกว่านั้น แม้แต่คนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรก็ได้ผลตอบแทนถึง 60-70% ตามผลตอบแทนของตลาด แต่เขาอาจจะไม่รู้หรอกว่านั่นไม่ได้เกิดจากฝีมือ เป็นแต่เพียงการขึ้นตามตลาด หรือสำหรับคนที่ได้ผลตอบแทนงดงามก็อาจจะเป็นเรื่องของโชคหรือการเก็งกำไรที่ถูกต้องในเวลานั้นซึ่งในสถานการณ์อื่นเขาก็อาจจะทำไม่ได้ ในความคิดของผมก็คือ คนที่คาดการณ์ผลตอบแทนระยะยาวเกินปีละ 15% โดยเฉลี่ยนั้น น่าจะเป็นนักเก็งกำไรมากกว่าการเป็นนักลงทุน เหตุผลก็คือ มีธุรกิจจำนวนน้อยมากที่สามารถโตได้ปีละ 15% โดยเฉลี่ยอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้น ถ้าจะโตเร็วกว่านั้นก็จำเป็นต้องทำการซื้อขายหุ้นค่อนข้างมาก และนั่นก็เป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสชนะไม่สูงนักสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความสามารถพิเศษในการเก็งกำไร
ข้อสาม ข้อมูลจากอดีตที่ผ่านมานั้นบอกว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นหลัง “ปีทอง” หรือปีที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมนั้น มักจะให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวัง นี่ก็อาจเป็นเรื่องปกติของอะไรก็ตามที่ขึ้นไปมากและเร็วก็จะมีแนวโน้มชลอตัวลงกลับสู่ภาวะที่เป็นปกติ หลายครั้งดัชนีก็ติดลบ ดังนั้น ในภาวะที่เราผ่านปีทองมาแล้ว ผมคิดว่าปีนี้เราควรจะต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ปีทองในครั้งนี้ ดัชนีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาจากพื้นที่ต่ำมาก และราคาปัจจุบันก็ยังไม่ทำให้ราคาหุ้นแพงนักเห็นได้จากค่า PE ที่อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า ดังนั้น การลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปก็ถือว่าไม่เสี่ยงเกินไป แต่ถ้าจะหวังได้ผลตอบแทนที่ดีเหมือนปีก่อนนั้นผมคิดว่าคงหวังได้ยาก
ข้อสี่ สำหรับนักลงทุนหลายคนที่ทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมในปีที่แล้วและกลายเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนของคุณ นั่นคือ หนึ่ง ผลตอบแทนรวมทั้งหมดซึ่งรวมถึงสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งหลายเช่นเงินสดและพันธบัตร คุณทำได้มากกว่า 63% ซึ่งเป็นผลตอบแทนของตลาด สอง มูลค่าพอร์ตของคุณสูงเป็นประวัติการณ์ และแน่นอน ต้องสูงกว่ามูลค่าพอร์ตเมื่อสิ้นปี 2550 โดยที่คุณไม่ได้คิดรวมเงินที่คุณลงเพิ่มเติมลงไป สาม คุณได้กำไรเป็น ล้าน ห้าล้าน หรือสิบล้าน ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่คุณรู้สึกว่ามันสร้างความแตกต่างให้กับความมั่งคั่งของคุณอย่างมีนัยสำคัญ และสุดท้าย มันอาจจะเป็นปีที่คุณบรรลุเป้าหมายสำคัญของความมั่งคั่งที่คุณฝัน ไม่ว่ามันจะเป็นปีที่คุณมีเงินเพียงพอที่จะเป็น “อิสรภาพทางการเงิน” หรือเป็นปีที่คุณมีเงินถึง 10 20 หรือแม้แต่ 100 ล้านบาท สิ่งที่คุณจะต้องคิดตระหนักมากที่สุดก็คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถรักษาความมั่งคั่งระดับนั้นไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็ในปีนี้
และสุดท้าย สำหรับนักลงทุนอีกหลายคนที่ปี 2552 ที่ผ่านมายังไม่ใช่ “ปีทอง” ของคุณก็จงอย่าเสียใจ จริงอยู่ การมี “ปีทอง” เป็นครั้งเป็นคราวนั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีแต่ไม่จำเป็นในการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน การ “คงเส้นคงวา” นั่นคือ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระดับ 15-20% ได้ค่อนข้างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนานขณะที่สามารถหลีกเลี่ยงหายนะหรือผลตอบแทนที่ติดลบรุนแรงได้ นี่แหละที่จะสามารถนำคุณไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จทางการเงินในระยะยาวได้โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีปีทองของการลงทุนเป็นเรื่องเป็นราวเลย
บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 1 มกราคม 2553
No comments:
Post a Comment