Tuesday, May 26, 2009

มาร์ก โมเบียส

ราชาของตลาดหุ้นเกิดใหม่คนหนึ่งของโลกในยามนี้คงหนีไม่พ้นชื่อของ Mark Mobius ผู้บริหารกลุ่มกองทุน Franklin Templeton Funds ซึ่งประกอบไปด้วยกองทุนกว่า 30 กองในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลก ผมเคยพบและพูดคุยกับ “ยูล บรินเนอร์” แห่งวอลสตรีทคนนี้ตั้งแต่สมัยที่ผมยังเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนและบริหารการเงินของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องให้ข้อมูลแก่นักลงทุนคล้าย ๆ กับ IR หรือนักลงทุนสัมพันธ์ในปัจจุบัน แต่เป็นช่วงเวลาย้อนหลังไปกว่า 20 ปีมาแล้ว ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า มาร์ก โมเบียส เป็นผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นเขายังไม่ดัง และยังไม่แก่ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเขาไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็คือ เขายังเฉียบคมเหมือนเดิม เช่นเดียวกับศีรษะที่ยังล้านเลี่ยนแบบ ยูล บรีนเนอร์ ดาราฮอลลีวูดชื่อก้องโลก

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผมจำความได้ โมเบียสไม่เคยห่างจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศไทย เขามา ๆ ไป ๆ และผมเชื่อว่าเขารักเมืองไทยและเขาลงทุนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนหุ้นอื่น ๆ ในระยะหลัง ๆ เขามาพูดในเมืองไทยบ่อยขึ้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มาพูดที่สถาบันศศินทร์ ผมเองไม่ได้พบโมเบียสมานาน แต่รู้สึกได้ว่าเขายังคงแข็งแร็งคึกคัก ยังสามารถทำงานหนักและเดินทางไปทั่วโลกทั้ง ๆ ที่มีอายุ 73 ปีเข้าไปแล้ว

ประวัติคร่าว ๆ ของ มาร์ก โมเบียส ก็คือ เขาจบปริญญาตรีและโททางด้านการสื่อสารจาก Boston University แต่ที่น่าทึ่งก็คือ ไปจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จาก MIT ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของโลกทางด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมงานกับ เซอร์ จอห์น เทมเปิลตัน ตำนานนักลงทุนผู้บุกเบิกการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ของโลก เกียรติประวัติสำคัญของ มาร์ก โมเบียส ก็คือ เขาได้รับการโหวตให้เป็นหนึ่งในสิบนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ยี่สิบจากนักลงทุนมืออาชีพ 300 คนที่ทำการสำรวจโดย Carson Group ในปี 1999

ลองมาดูกฏการลงทุนต่าง ๆ ที่ มาร์ก โมเบียส ใช้ กฏเหล่านี้ผมดึงมาจากหนังสือที่เขาเขียนชื่อ Passport to Profits ซึ่งเขาเขียนถึงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปี 1999 หรือ สองปีหลังจากเกิดวิกฤติในเอเซียที่เริ่มจากประเทศไทย

กฎของโมเบียสข้อที่ 1. การป้องกันที่ดีที่สุดของคุณก็คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุน กฎข้อที่ 2. ความผันผวนที่รุนแรงคือคุณสมบัติของตลาดหุ้นทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ตลาดที่พัฒนาที่สุด กฎข้อที่ 5. ถ้าคุณตัดปัจจัยเรื่องของอารมณ์ออกไปและกลยุทธ์ของคุณอิงอยู่กับพื้นฐานระยะยาวแล้ว คุณจะสามารถชนะทั้งในช่วงตลาดหุ้นตกและตลาดหุ้นขึ้น กฎข้อที่ 7. เวลาที่ย่ำแย่อาจจะเป็นเวลาที่ดี กฎข้อที่ 9. เมื่อข้อมูลที่จัดเตรียมโดยสถาบันระหว่างประเทศและรัฐบาลถูกเผยแพร่ออกมา ราคาหุ้นก็สะท้อนข่าวสารเหล่านั้นไปหมดแล้ว กฎข้อที่ 10. ซื้อหุ้น “ดี” ในเวลาที่ “แย่” และซื้อหุ้น “แย่” ในเวลาที่ “ดี” กฎข้อที่ 11. เวลาที่คนคิดว่าเลวร้ายมักจะเป็นเวลาที่ดี กฎข้อที่ 12. หุ้นที่คนคิดว่าแย่มักจะดี

กฎข้อที่ 14. คุณภาพของผู้บริหารเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด กฎข้อที่ 16. การอดทนรอคอยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า กฎข้อที่ 18. เวลาที่คนมองโลกในแง่ร้ายที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะซื้อ กฎข้อที่ 19. เวลาที่คนมองโลกในแง่ดีที่สุดคือเวลาดีที่สุดที่จะขาย กฎข้อที่ 20. ถ้าคุณสามารถเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมง มันก็สายไปเสียแล้วที่จะซื้อ หรือขาย) กฎข้อที่ 22. ซื้อหุ้นเมื่อราคาลง ไม่ใช่ตอนขึ้น กฎข้อที่ 23. ถ้าตลาดตกลงไป 20% หรือมากกว่าจากจุดสูงสุดและเราเห็นคุณค่าของหุ้น ก็เริ่มทยอยซื้อได้ กฎข้อที่ 24. เวลารักษาความเจ็บป่วยได้เกือบทุกโรค

กฎของโมเบียสข้อที่ 34. ถ้าสินทรัพย์สุทธิหารด้วยจำนวนหุ้นของบริษัทได้ตัวเลขสูงกว่าราคาหุ้นในตลาด คุณก็อาจพิจารณาได้ว่า มันคือหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน กฎข้อที่ 38. มองหาบริษัทระดับรองที่มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมด น้อย แต่มีศักยภาพในการเติบโตสูง กฎข้อที่ 39. รอให้ตลาดหุ้นเกิด Panic แล้วก็เข้าซื้ออย่างสงบเยือกเย็น กฎข้อที่ 42. บ่อย ๆ ที่ภาพใหญ่ขัดแย้งกับภาพเล็ก กฎข้อที่ 43. โดยการศึกษาให้เข้าใจช่องว่างระหว่างภาพใหญ่และภาพเล็ก คุณจะสามารถอยู่ในตำแหน่งที่นำหน้าฝูงชนได้ กฎข้อที่ 45. ตรวจสอบดูพอร์ตของตนเองอย่างละเอียด หาหุ้นทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ในเวลาหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้นที่บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นไม่มากเท่า และการคาดการณ์ในอนาคต 5 ปีข้างหน้าก็ไม่ดี พิจารณาขายหุ้นเหล่านั้นทิ้งเสีย กฎข้อที่ 46. อย่ารักษาผลการลงทุนที่ดีเยี่ยมโดยการถือหุ้นบลูชิพตัวเก่าที่ไม่เป็นบลูชิพอีกต่อไปแล้ว กฎข้อที่ 47. หากลุ่มหุ้นบลูชิพล็อตต่อไปก่อนที่มันจะเริ่มเป็นหุ้นบลูชิพ

และทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกฎของโมเบียสที่ประยุกต์ใช้กับตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ ทั่วโลก ประสบการณ์ที่ยาวนานผ่านร้อนผ่านหนาวมามากคงทำให้โมเบียสเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นมากมายและทำให้เขาสามารถฉกฉวยโอกาสสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติตลาดหุ้นและการฟื้นตัวของมัน ตัวอย่างที่เราเห็นก็อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา โมเบียสได้ให้สัมภาษณ์และบอกอย่างชัดเจนว่า เขาคิดว่าตลาดหุ้นกำลังจะบูมโดยเฉพาะในครั้งนี้จะนำโดยตลาดหุ้นเกิดใหม่ และแล้วตลาดหุ้นก็บูมจริง ๆ และโมเบียสก็คงสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามหลังจากที่เขาบาดเจ็บอย่างหนักก่อนหน้านั้น และนี่อาจจะเป็นอย่างที่เขาพูดไว้ในกฎของโมเบียสข้อที่ 70. ที่ว่า ในบางครั้งคุณอาจจะต้องทำได้แย่กว่าดัชนีตลาดหุ้นเพื่อที่ว่าคุณจะสามารถเอาชนะมันในอนาคต

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 25 พ.ค.2552

Thursday, May 21, 2009

ซื้อขายหุ้นในยามวิกฤติ

ในยามเศรษฐกิจวิกฤตินั้น การซื้อขายหุ้นน่าจะต้องมีความแตกต่างจากการลงทุนในภาวะปกติอยู่บ้าง ต่อไปนี้คือแนวทางที่ผมคิดว่าควรจะนำไปพิจารณาถ้าคิดจะซื้อหุ้นในยามนี้

ข้อแรก บริษัทหรือกิจการที่เราจะลงทุนนั้น เราจะต้องมั่นใจว่ามันจะไม่ “เจ๊ง“ หรือล้มละลายหรือต้องเพิ่มทุนมากมายเพื่อที่จะกู้ฐานะของกิจการ นี่เป็นกฏที่สำคัญ เพราะในยามวิกฤตินั้น สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการที่กิจการขาดสภาพคล่องและต้องเลิกกิจการหรือต้องมีการเพิ่มทุนที่ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมมีมูลค่าลดลงมาก และถ้าเราซื้อหุ้นไปแล้วเกิดสถานการณ์อย่างนั้น ความเสียหายก็จะมหาศาล


ข้อสอง วิธีที่จะทำให้เราปลอดภัยในการซื้อหุ้นลงทุน นั่นคือ ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วหุ้นจะตกลงไปและเราก็กระวนกระวายใจไม่รู้ว่ามันจะกลับขึ้นมาเมื่อไรก็คือ ต้องมองว่าอนาคตโดยเฉพาะในปีนี้หรือปีหน้า กำไรของบริษัทจะต้องไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือลดลงมาก เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ราคาหุ้นก็จะขึ้นไปยาก เผลอ ๆ จะลดลงไปอีก และกว่าจะฟื้นได้ก็อาจจะใช้เวลานาน ดังนั้น ถ้าจะซื้อหุ้นแบบนี้ เราก็น่าจะรอไว้ก่อนได้ รอจนกว่าจะ “เห็นแสงที่ปลายอุโมง“ ก่อนจะดีกว่า

ข้อสาม ในยามที่หุ้นส่วนใหญ่ตกลงมามาก หุ้นจำนวนมากกลายเป็นหุ้น Value ซึ่งรวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดี มีความเข้มแข็งสูง ดังนั้น ความจำเป็นที่จะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่ยังไม่ค่อยได้พิสูจน์ถึงคุณภาพของกิจการจึงมีน้อย เช่นเดียวกัน การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ นั้น ความเสี่ยงย่อมจะต่ำกว่าหุ้นขนาดเล็ก ทั้งในเรื่องของผลประกอบการของกิจการเองและในเรื่องสภาพคล่องของหุ้น พูดกันชัด ๆ ก็คือ ถ้าซื้อหุ้นขนาดเล็กแล้วพลาด ความเสียหายบางทีจะสูงมาก เพราะเวลาขายจะหาคนซื้อยากและราคาก็จะตกลงมากกว่าปกติ นอกจากนั้น ในเวลาที่ตลาดหุ้นฟื้นตัว หุ้นขนาดใหญ่ก็มักจะปรับตัวขึ้นก่อน

สำหรับกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในยามวิกฤติแบบนี้ก็คงจะมีมากมาย ผมเองลองนึกดูก็พอจะบอกได้สามสี่กลุ่มดังต่อไปนี้

กลุ่มแรกก็คือกลุ่มที่มี Monopoly Power หรือมีอำนาจผูกขาดทางการตลาดสูง ข้อสังเกตก็คือ บริษัทในกลุ่มนี้จะมีกำไรต่อเนื่องมานาน อย่างไรก็ตาม ในยามวิกฤติ ยอดขายอาจจะตกลงไปมากทำให้กำไรลดลงมากหรืออาจจะขาดทุน นี่ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปมาก แต่ถ้าเรามั่นใจว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะต้องฟื้นและยอดขายของกิจการก็จะกลับมาอย่างน้อยเท่าเดิม และกำไรก็น่าจะกลับมาเท่าเดิมได้ แบบนี้ เราก็สามารถที่จะเก็บหุ้นลงทุนได้ โดยที่ราคาหุ้นที่เราจะซื้อนั้น อย่างน้อยควรจะเท่ากับหรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาหุ้นของบริษัทก่อนที่จะเกิดวิกฤติ เมื่อซื้อแล้วก็รอจนกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นและยอดขายของกิจการฟื้นตัว โดยที่กระบวนการนี้เราคาดว่าไม่น่าเกิน 4 -5 ปี ซึ่งก็ยังคุ้มค่า เพราะการลงทุน 5 ปีแล้วราคาหุ้นขึ้นมาได้หนึ่งเท่าตัวนั้น เท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 15%

กลุ่มที่สอง นี่คือกลุ่มที่น่าจะปลอดภัยที่สุดแต่ผลตอบแทนอาจจะไม่หวือหวาเมื่อเทียบกับกลุ่มแรก นี่คือหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมหรือเป็น Super Company บริษัทในกลุ่มนี้เป็นกิจการที่แข็งแกร่ง มีความได้เปรียบคู่แข่งอย่างยั่งยืน มียอดขายและกำไรที่เติบโตต่อเนื่องมายาวนาน สินค้าทดแทนมีน้อยหรือไม่มี ข้อสังเกตของกิจการในกลุ่มนี้ก็คือ แม้ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ยอดขายก็ไม่ลดลงหรือยังเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกำไรที่มักจะยังรักษาอยู่ได้หรือเพิ่มขึ้น และทั้งสองอย่างนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากรายการที่ผิดปกติหรือเป็นเรื่องของการลงบัญชีหรือเป็นกำไรที่เกิดจากการขายในอดีต ถ้าเป็นแบบนี้ และราคาหุ้นตกลงมาหรือไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างที่มันควรเป็น การซื้อหุ้นแบบนี้ก็คือ โอกาสในการซื้อหุ้น Super Stock ในราคาถูกหรือราคายุติธรรม ซึ่งก็จะเป็นแนวการลงทุนแบบที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบใช้

กลุ่มที่สามที่ผมจะพูดถึงก็คือ การเล่นหุ้น Commodities หรือสินค้าโภคภัณฑ์ นี่จะเป็นการลงทุนประเภท High Risk, High Return หรือเล่นแบบกล้าได้กล้าเสีย เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสู่งแต่ก็คาดว่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ แนวความคิดนี้ก็คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ปรับตัวลงมามากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ นั่นทำให้บริษัทที่ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เช่นน้ำมัน ปิโตรเคมี ต้องขาดทุนกันอย่างหนัก ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นตกลงมามาก แต่ราคาโภคคภัณฑ์เหล่านั้นเราเห็นว่าเริ่มอยู่ตัวแล้ว ในอนาคต โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ราคาสินค้ามีแต่จะปรับตัวขึ้น และเมื่อนั้น บริษัทก็จะกลับมาทำกำไรได้อย่างงดงาม และในกรณีที่ราคาสินค้าไม่ปรับตัวขึ้นเราก็ยังเห็นว่าบริษัทก็ยังสามารถทำกำไรได้ ในสถานการณ์แบบนี้ และราคาหุ้นของบริษัทได้ปรับตัวลงมาต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาหุ้นก่อนวิกฤติ การซื้อหุ้นไว้ก็อาจจะทำให้เราสามารถทำกำไรรได้อย่างงดงาม อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ในกรณีที่ราคาโภคภัณฑ์อาจจะลดลงไปได้อีกเนื่องจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนใกล้วิกฤติ ดังนั้น การวิเคราะห์ในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อที่จะลดความเสี่ยงในการลงทุนลง

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงบางส่วนของกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสจากวิกฤติ ซึ่งถ้าทำดี ๆ เราก็จะได้เงินมากและเร็วกว่าในภาวะปกติ ความเสี่ยงนั้นมีแน่ แต่มักจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกินหนึ่งหรือสองปี ดังนั้น คนที่จะลงทุนซื้อหุ้นในช่วงนี้จะต้องเข้าใจและทำใจให้ได้

บทความนี้ลงในบล็อกของดร.นิเวศน์เมื่อ 18 พ.ค.2552

Tuesday, May 12, 2009

Value ของ Value Investor

การที่จะเป็น Value Investor หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าของกิจการนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องรู้จัก “คุณค่าของกิจการ” แต่คุณค่าของกิจการนั้นขึ้นอยู่กับทรัพย์สินต่าง ๆ ของกิจการ และทรัพย์สินนั้นประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายทั้งที่จับต้องได้มีราคาซื้อขาย และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ไม่มีตัวตนไม่มีมูลค่าหรือราคาแต่มีประโยชน์และมีค่ายิ่ง บ่อยครั้งมีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ ดังนั้น การวิเคราะห์ทรัพย์สินตามที่มีปรากฏอยู่ในงบการเงินจึงมักจะมีประโยชน์น้อยกว่าทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้

การวิเคราะห์และเรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ อยู่เป็นนิจสินโดยเฉพาะคุณค่าของทรัพย์สินที่ธุรกิจนำมาใช้งาน เช่น คุณค่าของ Goodwill หรือค่าความนิยม เช่น ยี่ห้อ หรือคุณค่าของสัมปทาน คุณค่าของการเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจที่คนอื่นไม่สามารถมาแข่งขันได้ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ถ้าจะลงทุน แต่จริง ๆ แล้ว เราควรรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในโลกนี้รวมถึง “คุณค่าของคน” ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทรัพย์สินต่าง ๆ และคนนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทธุรกิจต้องใช้เท่านั้น แต่เป็นเพราะตัวเราเองก็ต้องใช้ ดังนั้น การรู้จักคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ จึงมีประโยชน์มหาศาลทั้งในด้านของการลงทุนและเรื่องของการใช้ชีวิตของ Value Investor

ลองนึกดูว่าระหว่าง ริชาร์ด เบอร์ตัน นักแสดงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยทื่ผมยังเป็นเด็ก กับ เอลวิส เพรสลี่ นักร้องที่โด่งดังมากตั้งแต่ที่ผมยังเป็นเด็กเช่นเดียวกัน ทั้งคู่ต่างมีชื่อเสียงและคงจะได้รับเงินมากพอ ๆ กันในยุคที่ทั้งคู่กำลังดังระเบิด แต่ถามว่าถ้ามองถึง “คุณค่า” แล้วใครมี “คุณค่า” มากกว่า ? คำตอบก็คือ เอลวิส เหตุผลก็คือ ทั้งคู่ต่างก็ไม่สามารถทำเงินเองแล้ว แต่ทรัพย์สินซึ่งก็คือ ลิขสิทธ์ในผลงานของเอลวิสนั้นยังสามารถขายได้เรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายสิบปี และว่าที่จริงยังทำเงินรวมกันแล้วมากกว่าสมัยที่เอลวิสยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ แต่ ริชาร์ดเบอร์ตัน นั้น ภาพยนต์ที่ยังขายได้นั้นคงน้อยเต็มที จะมีสักกี่คนที่ยังอยากดูหนังเรื่องคลีโอพัตราที่เขาแสดงนำร่วมกับ อลิซาเบ็ท เทเลอร์ ไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กรุ่นหลังส่วนใหญ่แล้วก็ไม่รู้ว่าใครคือ ริชาร์ด เบอร์ตัน ในขณะที่ เอลวิส นั้นคนส่วนมากก็ยังรู้จักและเปิดเพลงฟังอยู่เรื่อย ๆ

นักร้อง นักแสดง และผู้อยู่ในวงการบันเทิงหลายคน หันไปเป็นนักการเมือง พวกเขาคิดว่าการเป็นคน “เต้นกินรำกิน” มี “คุณค่า” น้อย เพราะในสังคมไทยนั้น เรายังเป็นสังคมที่มีความคิดแบบ “ศักดินา” คนมักจะจัดระดับความสำคัญหรือคุณค่าของคนเป็นระดับชั้นตาม “อำนาจในการปกครอง” เช่น รัฐมนตรีมีค่ากว่าปลัดกระทรวง ปลัดมีค่ามากกว่าอธิบดี และไล่ไปเรื่อย ในส่วนของเอกชน ผู้จัดการใหญ่มีค่ามากกว่า รองผู้จัดการ เป็นต้น ในขณะที่นักร้องนักแสดงนั้น เนื่องจากสั่งการใครไม่ได้เลย ดังนั้น พวกเขารู้สึกว่า “คุณค่า” ของเขาน้อย เขาอาจจะมีเงิน แต่พอถึงจุดหนึ่งคนก็อยากได้อำนาจอยากมี “ เกียรติยศ” พวกเขาคิดว่า การเป็นดาราหรือนักร้องนั้น ไม่ว่าจะดังแค่ไหนก็ไม่สามารถเปรียบได้กับการเป็น “เสนาบดี” ที่มีคนอยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย

แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิด เพราะผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คุณค่าของการเป็น “เสนาบดี” หรือรัฐมนตรี นั้น ผมรู้สึกว่ามันมีค่าน้อยลงโดยเฉพาะมันมักมีอายุสั้นมาก ชื่อเสียงที่ได้รับนั้น ก็เป็นชื่อเสียงที่เกิดขึ้นและดังแรงชั่วคราว หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ก็ลืมไปแล้ว บางคนนึกไม่ออกหรือจำไม่ได้ว่าคน ๆ นี้เคยเป็นรัฐมนตรีด้วยหรือ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้ “แคร์” หรือสนใจว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือมีตำแหน่งทางการเมือง เขาสนใจว่าใครจะได้เป็นแชมป์เอเอฟหรือเป็นแชมป์เดอะสตาร์มากกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ในอนาคตการเป็นรัฐมนตรี “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของคุณนั้น คนที่จะจำได้อาจจะเป็นคนในครอบครัวของคุณเท่านั้น ในขณะที่ถ้าคุณเป็นนักร้องหรือนักแสดงดัง คนรุ่นหลังอาจจะยังรู้จักคุณไปอีกหลายสิบปีหรือตลอดไป ดังนั้น การเป็นนักร้องดังนั้น ในความเห็นผม มีคุณค่ามากกว่าเป็นรัฐมนตรีดัง ไม่ต้องพูดถึงรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานอะไรเลย และนี่ไม่ใช่แค่ผมคิดเอง ในสังคมที่พัฒนาอย่างในอเมริกานั้น การเป็นเอลวิส มีคุณค่ามากกว่าการเป็นประธานาธิบดีหลาย ๆ คนด้วยซ้ำ เมืองไทยเราถ้าพัฒนาไปเรื่อย ๆ สังคมเราก็จะเป็นอย่างนั้น

ที่พูดมาหลายเรื่องอาจจะมองว่าไม่เห็นเกี่ยวกับการลงทุนหรือนักลงทุนตรงไหน แต่ผมกำลังจะบอกว่า นี่เป็นแนวความคิดที่สำคัญ ทรัพย์สินที่จะมีคุณค่ามากนั้น มันควรจะต้องดูถึงระยะเวลาหรือจำนวนของการใช้งานได้ของมัน ทรัพย์สินชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์สูงมากแต่ให้ประโยชน์ได้ไม่กี่วันหรือไม่กี่ปี อีกชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์พอ ๆ กันหรือพอสมควรแต่ให้ประโยชน์ไปได้เรื่อย ๆ ยาวนานมาก แบบนี้ ทรัพย์สินชิ้นหลังอาจจะมีคุณค่ามากกว่าชิ้นแรกมาก และด้วยแนวความคิดนี้เองที่เวลาผมจะซื้ออะไรผมจะคิดถึงเรื่องนี้ อย่างเช่น ถ้าเราซื้อเตียง ผมคิดว่าเราควรจะซื้อที่ดีมากแม้ราคาจะแพง เหตุผลก็เพราะว่าเราใช้มันคิดเป็นชั่วโมงแล้วสูงมาก เวลาคำนวณค่าใช้งานต่อชั่วโมงมันไม่แพง เช่นเดียวกัน รองเท้าหรือนาฬิกาข้อมือเราอาจจะใส่ซ้ำได้มาก ดังนั้น รองเท้าถ้าเราจะซื้อแพงหน่อยก็ไม่ค่อยเป็นไร ไม่เหมือนกับเสื้อผ้าโดยเฉพาะของผู้หญิงที่หลายคนสวมใส่ไม่กี่ครั้งก็เลิกเนื่องจากมันตกแฟชั่น แบบนี้ไม่ควรซื้อของแพง เป็นต้น
กลับมาที่เรื่องหุ้น อย่างเรื่องของสัมปทานหรือสัญญาที่บริษัทได้รับจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ และข้อผูกพันเหล่านั้นทำกำไรได้งดงาม นั่นอาจทำให้ตัวเลขผลประกอบการในปัจจุบันดูดีมาก แต่ถ้าสัญญาหรือสัมปทานเหล่านั้นมีอายุเหลือแค่ไม่กี่ปี แบบนี้เราก็ต้องลดคุณค่ามันลงไปมาก ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีทรัพย์สินหรือมีความนิยมบางอย่างที่ดีมากและทรัพย์สินนั้นซึ่งส่วนมากมักเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้เป็นของบริษัทและบริษัทสามารถใช้มันไปได้เรื่อย ๆ ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น แบบนี้ คุณค่าของมันก็จะมากแม้ว่าผลประกอบการในวันนี้อาจจะยังไม่มากมายนัก
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ เรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน ชื่อเสียงและเกียรติยศ มองที่ระยะเวลาของการได้รับหรือได้ใช้ทรัพย์สินนั้น อย่าลืมมองต่อไปถึงอนาคตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วย ทรัพย์สินที่มีค่ามากนั้น มักเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้น การมองหาจึงไม่สามารถมองผ่านงบการเงินหรือตำแหน่งหรือยศทางราชการ และนี่คือคุณค่าหรือ Value ของ Value Investor ที่แท้จริง

บทความนี้ลงในบล็อกของดร.นิเวศน์เมื่อ 11 พ.ค.2552

Monday, May 4, 2009

แสงที่ปลายอุโมง

ถ้าเดือนตุลาคมของปีที่แล้วเป็นเดือนที่ “เหมืองถล่ม” นั่นคือเปรียบเทียบกับการที่ตลาดหุ้นไทยตกลงมาอย่างหนักเพียงเดือนเดียวถึงประมาณ 30% นั่นคือดัชนีตกจาก 597 จุดตอนสิ้นเดือนกันยายน 2551 เหลือเพียง 417 จุดในตอนสิ้นเดือนตุลาคม 2551 เดือนเมษายนของปีนี้ก็เป็นเดือนที่คนที่ “ติดอยู่ในเหมือง” หรือนักเล่นหุ้นเริ่มเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมง” นั่นคือ ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นเพียงเดือนเดียวจาก 432 จุดในวันสิ้นเดือนมีนาคม เป็น 492 จุด เมื่อสิ้นเดือนเมษายน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 14% และนี่ยังไม่นับรวมปันผลที่จะได้จากบริษัทจำนวนมากที่ประกาศให้สิทธิและจ่ายปันผลในช่วงเดือนนื้อีกไม่น้อยกว่า 3-4%


เดือนตุลาคมปีที่แล้วตลาดหุ้นตกหนักมากเกิดจากเหตุการณ์ ถ้าจำไม่ผิด ก็คือ การล่มสลายของเลย์แมนบราเดอร์ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐไม่เข้าไปช่วยเหลือ เหตุการณ์นั้นผมคิดว่าทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจกำลังเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติที่รัฐบาลก็ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น ทุกคนต่างก็ “หนีตาย” และทำให้หุ้นทั่วโลกรวมถึงบ้านเราที่ดัชนีหุ้นสามารถประคองตัวมาได้พอสมควรตั้งแต่ต้นปี 2551 ตกต่ำลงอย่างแรง หลังจากนั้น “ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ” ก็ตามมา คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหดหายลงอย่างรวดเร็ว การลดคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นทั่วไป การพยากรณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเดิมที่บอกว่าน่าจะเติบโตประมาณ 2-3% กลายเป็นติดลบหลายเปอร์เซ็นต์ จนถึงเดือนมีนาคม 2552 ทุกอย่างก็ยังดูมืดมน ตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวยังเลวร้ายลง แต่ดัชนีหุ้นของไทยก็ไม่ได้ตกต่ำลงอีก มันทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 430 จุดบวกลบเล็กน้อยแม้ว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะน้อยลงมากจนเรียกว่า “หุ้นซึม”

ถึงเดือนเมษายนปีนี้ แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศใหญ่ ๆ ในโลกยังดูเลวร้ายลง แต่การตกต่ำก็ลดลงมาก นั่นไม่สำคัญเท่ากับตัวเลข “ดัชนีชี้นำ” เช่น คำสั่งซื้อสินค้าของผู้ค้าขาย ปริมาณการผลิตของโรงงาน สต็อกสินค้า และการจับจ่ายสินค้าของผู้บริโภค ต่างก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยเอง โรงงานผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บางแห่งที่เคยปลดคนงานออกต้องให้คนงานทำงานในช่วงวันสงกรานต์เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามามากกว่าที่คาดไว้ โรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งที่ลดกะการทำงานเหลือเพียงกะเดียวก็เริ่มวางแผนทำงานเป็นสองกะ แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความมั่นใจของผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐและในยุโรปที่เดือนเมษายนปีนี้ดัชนีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

นอกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้น เดือนเมษายนยังเป็นเดือนที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเริ่มประกาศผลการดำเนินงานไตรมาศหนึ่ง ตัวเลขผลการดำเนินงานโดยเฉพาะของแบ้งค์ใหญ่ ๆ ระดับโลกที่ออกมานั้น ดูดีอย่างน่าประหลาดใจ เช่นเดียวกัน แบ้งค์ต่าง ๆ ในเมืองไทยเองก็มีผลการดำเนินงานที่ต้องถือว่าดีพอควรและดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีปัญหาหนี้เสียมากมายอย่างที่อาจจะเกรงกลัวกัน ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนทั่วโลกกลับเข้ามาซื้อหุ้นและทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สำคัญ ๆ ทั่วโลกปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดโดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 20-30% ภายในเวลาสั้น ๆ

ตลาดหุ้นไทยเองนั้น ตัวเลขทุกอย่างดูเหมือนจะสอดคล้องกับตัวเลขของต่างประเทศ เหตุก็เพราะเ ศรษฐกิจของเราอิงอยู่กับการส่งออกสูงมาก อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนปีนี้ เราต้องประสบกับเหตุการณ์การจลาจลที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่บั่นทอนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยไม่น้อย และนี่อาจจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นน้อยกว่าเพื่อนบ้านในเอเซียและในอเมริกา บางคนมองว่าเรายังโชคดีที่เหตุการณ์จบลงในเวลาอันสั้น มิฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ไปไหนเลย

แม้ว่าจะ “เห็นแสงที่ปลายอุโมง” แล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลกันมาก เหตุก็เพราะว่า คนจำนวนมากก็ยังไม่แน่ใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะถาวรหรือไม่ มันอาจจะเป็นเรื่องของการปรับตัวชั่วคราวเนื่องจากที่ผ่านมามีการลดกำลังการผลิตลงไปมากจนทำให้สต็อกสินค้าต่ำลงไปมากเกินไป ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องรีบผลิตเพิ่มกลับมา แต่หลังจากนั้นแล้ว ถ้าความต้องการของผู้บริโภคยังน้อยอยู่อย่างเดิม การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืนและเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดเม็กซิโกที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะลามไปทั้งโลกหรือไม่และจะมีคนป่วยจำนวนมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสเหมือนกันที่มันอาจจะรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและแน่นอนกระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโลกเราเคยเผชิญกับโรคซาร์และไข้หวัดนกมาแล้ว ดังนั้น น่าจะสามารถจัดการกับไข้หวัดเม็กซิโกได้ในไม่ช้า

กลับมาที่ประเทศไทย การเมืองที่เคยเป็นปัจจัยลบรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนนั้น ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าทุกอย่างจบลงแล้วและจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ความเสี่ยงเฉพาะสำหรับประเทศไทยเองก็คงยังสูงกว่าเพื่อนบ้านและอาจทำให้ดัชนีตลาดหุ้นบ้านเราไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เท่ากับเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการเมืองนี้ผมคิดว่าน่าจะลดลงแล้ว

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกและไทยน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวนับจากวันนี้และผมไม่คิดว่ามันจะฟุบลงไปอีก แสงที่ปลายอุโมงนั้นอาจจะยังไม่ใช่ทางออกแต่มันน่าจะนำไปสู่ทางออกในที่สุด ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น ยังไม่สูงเกินไป เห็นได้จากตัวเลข ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีของตลาดนั้นอยู่ที่เพียงประมาณ 1 เท่าเศษ ๆ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์หุ้นไทย และที่สำคัญก็คือ ผลตอบแทนเงินปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ในระดับที่สูงถึงกว่า 5% ต่อปี ซึ่งทำให้การลงทุนในช่วงเวลานี้ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับการฝากเงินในธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิด ก่อนที่จะจบบทความผมอยากจะฝากข้อคิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นว่า ตลาดหุ้นนั้น “ปีนกำแพงแห่งความกังวล” หมายความว่า ตลาดหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นไปทั้ง ๆ ที่คนยังกังวลกันมากกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นและคิดว่าจะเกิดขึ้น ว่าที่จริง ถ้าคนเลิกกังวลเมื่อไร เมื่อนั้นหุ้นก็จะตกลงมามาก

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 4 พ.ค 2552