การที่จะเป็น Value Investor หรือนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าของกิจการนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องรู้จัก “คุณค่าของกิจการ” แต่คุณค่าของกิจการนั้นขึ้นอยู่กับทรัพย์สินต่าง ๆ ของกิจการ และทรัพย์สินนั้นประกอบไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายทั้งที่จับต้องได้มีราคาซื้อขาย และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ไม่มีตัวตนไม่มีมูลค่าหรือราคาแต่มีประโยชน์และมีค่ายิ่ง บ่อยครั้งมีค่ามากกว่าทรัพย์สินที่จับต้องได้ ดังนั้น การวิเคราะห์ทรัพย์สินตามที่มีปรากฏอยู่ในงบการเงินจึงมักจะมีประโยชน์น้อยกว่าทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้
การวิเคราะห์และเรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ อยู่เป็นนิจสินโดยเฉพาะคุณค่าของทรัพย์สินที่ธุรกิจนำมาใช้งาน เช่น คุณค่าของ Goodwill หรือค่าความนิยม เช่น ยี่ห้อ หรือคุณค่าของสัมปทาน คุณค่าของการเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจที่คนอื่นไม่สามารถมาแข่งขันได้ เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ถ้าจะลงทุน แต่จริง ๆ แล้ว เราควรรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายในโลกนี้รวมถึง “คุณค่าของคน” ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทรัพย์สินต่าง ๆ และคนนั้นเป็นสิ่งที่บริษัทธุรกิจต้องใช้เท่านั้น แต่เป็นเพราะตัวเราเองก็ต้องใช้ ดังนั้น การรู้จักคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ จึงมีประโยชน์มหาศาลทั้งในด้านของการลงทุนและเรื่องของการใช้ชีวิตของ Value Investor
ลองนึกดูว่าระหว่าง ริชาร์ด เบอร์ตัน นักแสดงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยทื่ผมยังเป็นเด็ก กับ เอลวิส เพรสลี่ นักร้องที่โด่งดังมากตั้งแต่ที่ผมยังเป็นเด็กเช่นเดียวกัน ทั้งคู่ต่างมีชื่อเสียงและคงจะได้รับเงินมากพอ ๆ กันในยุคที่ทั้งคู่กำลังดังระเบิด แต่ถามว่าถ้ามองถึง “คุณค่า” แล้วใครมี “คุณค่า” มากกว่า ? คำตอบก็คือ เอลวิส เหตุผลก็คือ ทั้งคู่ต่างก็ไม่สามารถทำเงินเองแล้ว แต่ทรัพย์สินซึ่งก็คือ ลิขสิทธ์ในผลงานของเอลวิสนั้นยังสามารถขายได้เรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายสิบปี และว่าที่จริงยังทำเงินรวมกันแล้วมากกว่าสมัยที่เอลวิสยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ แต่ ริชาร์ดเบอร์ตัน นั้น ภาพยนต์ที่ยังขายได้นั้นคงน้อยเต็มที จะมีสักกี่คนที่ยังอยากดูหนังเรื่องคลีโอพัตราที่เขาแสดงนำร่วมกับ อลิซาเบ็ท เทเลอร์ ไม่ต้องพูดถึงว่าเด็กรุ่นหลังส่วนใหญ่แล้วก็ไม่รู้ว่าใครคือ ริชาร์ด เบอร์ตัน ในขณะที่ เอลวิส นั้นคนส่วนมากก็ยังรู้จักและเปิดเพลงฟังอยู่เรื่อย ๆ
นักร้อง นักแสดง และผู้อยู่ในวงการบันเทิงหลายคน หันไปเป็นนักการเมือง พวกเขาคิดว่าการเป็นคน “เต้นกินรำกิน” มี “คุณค่า” น้อย เพราะในสังคมไทยนั้น เรายังเป็นสังคมที่มีความคิดแบบ “ศักดินา” คนมักจะจัดระดับความสำคัญหรือคุณค่าของคนเป็นระดับชั้นตาม “อำนาจในการปกครอง” เช่น รัฐมนตรีมีค่ากว่าปลัดกระทรวง ปลัดมีค่ามากกว่าอธิบดี และไล่ไปเรื่อย ในส่วนของเอกชน ผู้จัดการใหญ่มีค่ามากกว่า รองผู้จัดการ เป็นต้น ในขณะที่นักร้องนักแสดงนั้น เนื่องจากสั่งการใครไม่ได้เลย ดังนั้น พวกเขารู้สึกว่า “คุณค่า” ของเขาน้อย เขาอาจจะมีเงิน แต่พอถึงจุดหนึ่งคนก็อยากได้อำนาจอยากมี “ เกียรติยศ” พวกเขาคิดว่า การเป็นดาราหรือนักร้องนั้น ไม่ว่าจะดังแค่ไหนก็ไม่สามารถเปรียบได้กับการเป็น “เสนาบดี” ที่มีคนอยู่ใต้บังคับบัญชามากมาย
แต่นั่นอาจเป็นความคิดที่ผิด เพราะผมคิดว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป คุณค่าของการเป็น “เสนาบดี” หรือรัฐมนตรี นั้น ผมรู้สึกว่ามันมีค่าน้อยลงโดยเฉพาะมันมักมีอายุสั้นมาก ชื่อเสียงที่ได้รับนั้น ก็เป็นชื่อเสียงที่เกิดขึ้นและดังแรงชั่วคราว หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ก็ลืมไปแล้ว บางคนนึกไม่ออกหรือจำไม่ได้ว่าคน ๆ นี้เคยเป็นรัฐมนตรีด้วยหรือ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้ “แคร์” หรือสนใจว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือมีตำแหน่งทางการเมือง เขาสนใจว่าใครจะได้เป็นแชมป์เอเอฟหรือเป็นแชมป์เดอะสตาร์มากกว่า ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ในอนาคตการเป็นรัฐมนตรี “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของคุณนั้น คนที่จะจำได้อาจจะเป็นคนในครอบครัวของคุณเท่านั้น ในขณะที่ถ้าคุณเป็นนักร้องหรือนักแสดงดัง คนรุ่นหลังอาจจะยังรู้จักคุณไปอีกหลายสิบปีหรือตลอดไป ดังนั้น การเป็นนักร้องดังนั้น ในความเห็นผม มีคุณค่ามากกว่าเป็นรัฐมนตรีดัง ไม่ต้องพูดถึงรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานอะไรเลย และนี่ไม่ใช่แค่ผมคิดเอง ในสังคมที่พัฒนาอย่างในอเมริกานั้น การเป็นเอลวิส มีคุณค่ามากกว่าการเป็นประธานาธิบดีหลาย ๆ คนด้วยซ้ำ เมืองไทยเราถ้าพัฒนาไปเรื่อย ๆ สังคมเราก็จะเป็นอย่างนั้น
ที่พูดมาหลายเรื่องอาจจะมองว่าไม่เห็นเกี่ยวกับการลงทุนหรือนักลงทุนตรงไหน แต่ผมกำลังจะบอกว่า นี่เป็นแนวความคิดที่สำคัญ ทรัพย์สินที่จะมีคุณค่ามากนั้น มันควรจะต้องดูถึงระยะเวลาหรือจำนวนของการใช้งานได้ของมัน ทรัพย์สินชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์สูงมากแต่ให้ประโยชน์ได้ไม่กี่วันหรือไม่กี่ปี อีกชิ้นหนึ่งให้ประโยชน์พอ ๆ กันหรือพอสมควรแต่ให้ประโยชน์ไปได้เรื่อย ๆ ยาวนานมาก แบบนี้ ทรัพย์สินชิ้นหลังอาจจะมีคุณค่ามากกว่าชิ้นแรกมาก และด้วยแนวความคิดนี้เองที่เวลาผมจะซื้ออะไรผมจะคิดถึงเรื่องนี้ อย่างเช่น ถ้าเราซื้อเตียง ผมคิดว่าเราควรจะซื้อที่ดีมากแม้ราคาจะแพง เหตุผลก็เพราะว่าเราใช้มันคิดเป็นชั่วโมงแล้วสูงมาก เวลาคำนวณค่าใช้งานต่อชั่วโมงมันไม่แพง เช่นเดียวกัน รองเท้าหรือนาฬิกาข้อมือเราอาจจะใส่ซ้ำได้มาก ดังนั้น รองเท้าถ้าเราจะซื้อแพงหน่อยก็ไม่ค่อยเป็นไร ไม่เหมือนกับเสื้อผ้าโดยเฉพาะของผู้หญิงที่หลายคนสวมใส่ไม่กี่ครั้งก็เลิกเนื่องจากมันตกแฟชั่น แบบนี้ไม่ควรซื้อของแพง เป็นต้น
กลับมาที่เรื่องหุ้น อย่างเรื่องของสัมปทานหรือสัญญาที่บริษัทได้รับจากหน่วยงานรัฐหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ และข้อผูกพันเหล่านั้นทำกำไรได้งดงาม นั่นอาจทำให้ตัวเลขผลประกอบการในปัจจุบันดูดีมาก แต่ถ้าสัญญาหรือสัมปทานเหล่านั้นมีอายุเหลือแค่ไม่กี่ปี แบบนี้เราก็ต้องลดคุณค่ามันลงไปมาก ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทมีทรัพย์สินหรือมีความนิยมบางอย่างที่ดีมากและทรัพย์สินนั้นซึ่งส่วนมากมักเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้เป็นของบริษัทและบริษัทสามารถใช้มันไปได้เรื่อย ๆ ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีค่ามากขึ้น แบบนี้ คุณค่าของมันก็จะมากแม้ว่าผลประกอบการในวันนี้อาจจะยังไม่มากมายนัก
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ เรียนรู้คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน ชื่อเสียงและเกียรติยศ มองที่ระยะเวลาของการได้รับหรือได้ใช้ทรัพย์สินนั้น อย่าลืมมองต่อไปถึงอนาคตและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นด้วย ทรัพย์สินที่มีค่ามากนั้น มักเป็นทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้น การมองหาจึงไม่สามารถมองผ่านงบการเงินหรือตำแหน่งหรือยศทางราชการ และนี่คือคุณค่าหรือ Value ของ Value Investor ที่แท้จริง
บทความนี้ลงในบล็อกของดร.นิเวศน์เมื่อ 11 พ.ค.2552
No comments:
Post a Comment