Wednesday, September 14, 2011

VI สายดำ

การฝึกฝนและการปฏิบัติตนเพื่อให้เป็น VI ที่มีความสามารถสูงและมี “จิตวิญญาณ” ของ VI นั้น ผมคิดว่าก็คงเหมือนกับการฝึกฝนและปฏิบัติตนในเรื่องอื่น ๆ เช่น การเป็นศิลปินนักวาดภาพเหมือนกัน นั่นคือ เขาจะต้องมีเป้าหมายที่จะต้องมุ่งไปให้ถึง ในกรณีของศิลปินนั้น การที่จะเป็นศิลปินที่โด่งดังได้นั้น เขาจะต้องมีความสามารถในการวาดภาพ การเขียนภาพและการลงสีนั้นจะต้องยอดเยี่ยม พวกเขาจะต้องสามารถควบคุมมือให้เขียนสิ่งที่ออกมาตามต้องการอย่างละเอียดลออ ที่สุดได้ นอกจากนั้น เขาจะต้องวาดภาพที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองหรือเรียกว่าเป็นสไตล์ที่ไม่ เหมือนใครมิฉะนั้นแล้วเขาก็คงเป็นได้แค่ศิลปินธรรมดา ๆ นอกจากการวาดภาพแล้ว ถ้าลองดูเรื่องของศิลปะอย่างอื่นเช่น คาราเต้ นั้น การฝึกที่จะทำให้เก่งจนได้ “สายดำ” นั้น นอกจากการฝึกฝนทางร่างกายแล้ว ผมคิดว่าเรื่องของจิตใจก็ต้องมีการฝึกเช่นกัน และถ้าคนเคยอ่านหนังสือกำลังภายในจีนก็จะพบว่า “เซียน” นั้น นอกจากการฝึกวิทยายุทธ์แล้ว พวกเขายังต้องฝึกใจและประพฤติปฏิบัติตนอีกหลายอย่างเพื่อให้สำเร็จเป็นเซียนได้

ในเรื่องของการลงทุนแบบ VI นั้น ผมคิดว่ามีประเด็นใหญ่ ๆ 3 เรื่องที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้สำเร็จเป็น VI ที่เก่งกาจหรือเรียกให้เท่ ๆ ว่าเป็น “VI สายดำ” ประเด็นแรกก็คือ เรื่องของปรัชญาและหลักการสำคัญในการลงทุน เรื่องที่สองคือการฝึกฝนในด้านของจิตใจหรืออารมณ์เมื่อประสบกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่กระทบกับการลงทุน และเรื่องสุดท้ายก็คือ เรื่องของการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับการเป็น VI

ปรัชญาและหลักการการลงทุนที่สำคัญที่ผมคิดว่า VI จะต้องมุ่งไปให้ถึงก็คือ ข้อแรก เขาควรจะลงทุนเฉพาะในสิ่งที่เขารู้จักดี หรือที่บัฟเฟตต์เรียกว่าลงทุนภายใน Circle Of Competence อะไรที่เราไม่รู้ เราไม่ควรลงทุน โดยนัยนี้ เราควรจะมีหุ้นที่เราจะลงทุนได้ไม่มากนักถ้าเราไม่ใช่ “มืออาชีพ” จริง ๆ ข้อสองก็คือ ถ้าจะได้ “สายดำ” VI จะต้องมี “สไตล์” การลงทุนที่ตนเองยึดถือ การลงทุนแบบ “เล่นได้ทุกรูปแบบ” นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากทีเดียว เพราะความชำนาญและการฝึกฝนของเรานั้นมีจำกัด ไม่เหมือน ปีเตอร์ ลินช์ ที่บริหารกองทุนขนาดมโหฬารและใช้เวลากับมันสูงมาก ดังนั้น สำหรับ VI ทั่วไปแล้ว เราควรจะเลือกหาสไตล์ที่มีโอกาสชนะสูงแล้วฝึกฝนและปฏิบัติจนเก่งและยึดถือ มันเป็นหลักในการลงทุน การมีสไตล์นั้นไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถลงทุนหุ้นแนวอื่นได้ เพียงแต่พอร์ตส่วนใหญ่นั้น น่าจะเป็นการลงทุนในสไตล์ที่ตนเองใช้อยู่

นักลงทุน VI ที่จะได้สายดำนั้น ผมคิดว่าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องฝึกฝนในด้านของการบริหารความเสี่ยงของการลง ทุน การทำอย่างนั้นได้ดีนั้น ผมคิดว่าควรเริ่มต้นจากทัศนะคติในการวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นลงทุน ซึ่งผมคิดว่าควรเน้นไปที่การมอง “ด้านลบ” ก่อน “ด้านบวก” นั่นคือ เวลาคิดจะซื้อหุ้นนั้น ต้องคิดว่า “อย่าขาดทุน” มากกว่าที่จะหวังผลเลิศว่าจะได้กำไรเท่าไร นอกจากนั้น VI ควรจะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการ “หายนะ” ไว้เสมอ นี่คือความเสี่ยงที่อาจจะมีน้อยมากจนบางครั้งเราลืมที่จะคิดถึง สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ “Unthinkable” หรือสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่าที่เราคิด แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พอร์ตการลงทุนของเราควรที่จะพร้อมรับกับสถานการณ์อย่างนั้นได้ ซึ่งในเรื่องของความเสี่ยงนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่เราจะต้องใช้หลักของการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม นั่นคือ ไม่มากหรือน้อยเกินไป

ประเด็นที่สองของการที่จะเป็น VI สายดำได้นั้นก็คือเรื่องของอารมณ์และจิตใจ ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดของการเป็น VI ก็คือ ความ “ใจเย็น” นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่จะทำให้เราสามารถคิดได้อย่างมีเหตุผลไม่หุนหัน พลันแล่น ไม่ตกใจกลัวและรีบ “ทิ้งหุ้น” เวลามีเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบกับตลาดหุ้น เช่นเดียวกับที่ไม่รีบร้อนที่จะ “แย่งซื้อหุ้น” ในยามที่ตลาดหรือหุ้นกำลังร้อนแรง นอกจากความใจเย็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องฝึกและปฏิบัติก็คือ ความศรัทธายึดมั่นต่อหลักการและแนวทางที่ถูกต้องและที่เราเลือกแล้ว นั่นก็คือ อย่าถูกทำให้ “ไขว้เขว” จากเส้นทางที่มีการพิสูจน์มายาวนานโดยกูรูระดับโลกโดยเหตุการณ์หรือ สภาวการณ์บางช่วงบางตอนที่อาจชี้ไปในอีกแนวทางหนึ่ง จงจำไว้ว่าไม่มีแนวทางไหนที่ดีและชนะตลอดเวลา ในบางช่วงเวลานั้น แม้แต่กลยุทธ์หรือวิธีการที่แย่ที่สุดในระยะยาวก็สามารถทำผลงานที่ยอดเยี่ยม กว่าวิธีอื่น ๆ ทั้งหมดได้ โดยนัยยะนี้ VI ที่จะเป็นสายดำได้นั้นจะต้องเรียนรู้และยอมรับว่า บ่อยครั้งหรือบ่อยช่วงเวลา พอร์ตของเราอาจจะแพ้คนอื่นที่อาจจะไม่ได้มีสายรัดสีอะไรเลยก็ได้ แต่ในระยะยาวแล้ว VI สายดำก็จะทำผลตอบแทนได้ดีกว่า

อีกข้อหนึ่งในเรื่องของอารมณ์จิตใจที่ควรจะต้องฝึกฝนก็คือ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และเมื่อรู้แล้วต้องรีบแก้ไข อย่าไปยึดมั่นแบบหัวชนฝา นี่ไม่ใช่เรื่องที่แย้งกับคำว่าศรัทธาและไม่เปลี่ยนแปลง เพราะคำว่าผิดพลาดในที่นี้เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของข้อมูล หรือเป็นเรื่องของความเข้าใจในคุณสมบัติของหุ้นหรือกิจการที่ผิดพลาด ไม่ใช่เรื่องของหลักการหรือแนวทางที่เป็นเรื่องที่มีการพิสูจน์มายาวนานและ ไม่เปลี่ยนแปลงง่าย

ประเด็นสุดท้ายก็คือ การใช้ชีวิตของ VI สายดำ เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าการใช้ชีวิตนำไปสู่การเป็น VI สายดำหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่บังเอิญว่า VI ที่เป็นสายดำมักใช้ชีวิตแบบนี้ แต่จากการสังเกตนักลงทุนระดับเซียนหรือระดับโลกหลาย ๆ คน ผมพบว่าคนเหล่านี้มักใช้ชีวิตแบบ “พอเพียง” หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเอง คนเหล่านี้มักจะไม่ได้มีความสุขจากการใช้เงินเพื่อตนเอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้นิยมความหรูหราทางด้านวัตถุ พวกเขามีความสุขจากกิจกรรมง่าย ๆ ที่ไม่ต้องใช้เงิน และที่สำคัญก็คือ มีความสุขจากการลงทุนหรือหาเงินมากกว่าการใช้เงิน ถ้ามองถึงพื้นเพ หลายคนไม่ใช่คนที่ที่บ้านมีฐานะร่ำรวยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การใช้ชีวิตต่ำกว่าฐานะของตนเองนั้น น่าจะมีส่วนช่วยให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าโดยเฉพาะในช่วงที่ VI ยังมีเงินน้อย ดังนั้น ถ้าฝึกนิสัยนี้ไว้ตั้งแต่เริ่มแรกที่ลงทุน ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้เราเป็น VI สายดำเร็วขึ้น

ถ้าจะให้ผมเรียงลำดับความสำคัญของกลุ่มกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของ การลงทุนที่จะทำให้เราได้เป็น VI สายดำ ผมคงให้ความสำคัญอันดับแรกกับเรื่องของปรัชญาและหลักการลงทุน ถ้าคิดเป็นคะแนนก็คงจะได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ในส่วนของจิตใจและอารมณ์น่าจะเป็นซัก 40% และในส่วนของการใช้ชีวิตน่าจะเป็นซัก 10% อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยทั้งสามอย่างนั้นมีความเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ด้านใดด้านหนึ่งน้อยเกินไปก็จะทำให้ด้านอื่นแย่ลงไปด้วย ดังนั้น การฝึกฝนและการปฏิบัติจึงละเลยเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 กันยายน 2554

ทศวรรษแห่ง VI

ผมเริ่มเป็นวิทยากรที่พูดเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น__แบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment มานานนับสิบปีแล้ว สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ จำนวนคนที่สนใจเข้าฟังนั้น เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และแทบจะเรียกว่า “อัดแน่น” ในช่วงหลัง ๆ และแม้แต่ในช่วงปี 2551 หลังจากภาวะวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาที่ทำให้ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างหนัก คนฟังก็ไม่ได้ลดลงมาซักเท่าไร ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่เคยเป็นว่า เมื่อหุ้นขึ้นคนก็แห่กันมาฟังล้นห้อง แต่ในยามที่หุ้นตก ห้องสัมมนาก็แทบจะร้าง ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า สังคมของการลงทุนของคนไทยน่าจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเกิดขึ้นหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือประมาณปี 2543 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและราคาหุ้นตกต่ำถึงพื้น อะไรคือการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้?

ประการแรกก็คือ คุณสมบัติของนักลงทุนหรือคนที่เข้ามาฟังการสัมมนา ก่อนปี 2540 นั้น คนที่ฟังการสัมมนาคือ “คนเล่นหุ้น” นี่คือกลุ่มคนที่กล้าเสี่ยง กล้าได้กล้าเสีย มักจะเป็นคนที่ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งแน่นอน โดยสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้าย่อมที่จะกล้าเสี่ยงมากกว่าคนกลุ่มอื่น กลุ่มต่อมาก็คือ แม่บ้านที่มีฐานะปานกลางที่มีเวลาว่างหรือไม่มีอะไรทำและเข้ามาเสี่ยงโชคใน ตลาดหุ้น บางคนก็อาจจะชอบเล่นการพนันอย่างอื่นเช่นเล่นไพ่กับขาประจำอยู่แล้ว นี่ก็เป็นกลุ่มที่ลงทุนด้วยเงินที่ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ ที่มักจะเป็นผู้ชายที่เล่นหุ้นอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่า กลุ่มที่สามก็คือ กลุ่มพนักงานตามสำนักงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทำงานในแวดวงการเงิน เช่นพนักงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือพนักงานธนาคาร ที่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นดีกว่าคนทั่วไปและมีข้อมูลที่มากกว่า พวกเขาเล่นหุ้นเพราะเห็นโอกาส “ทำกำไรง่าย ๆ” ที่เขาพบเห็นในบางช่วงเวลา และสุดท้ายก็คือ “เซียน” หรือกลุ่ม “ขาใหญ่” ที่มีเม็ดเงินมากและมักจะทำการซื้อขายนำเพื่อ “ทำราคาหุ้น” บางคนก็ “ปั่นหุ้น” เพื่อทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น

นักลงทุนที่ผมเห็นในที่สัมมนาใน พ.ศ. นี้ ส่วนมากน่าจะเป็นคนทำงานกินเงินเดือนที่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขากำลังอยู่ในวัยที่กำลังทำงานเก็บเงินเพื่ออนาคตและคิดว่าการลงทุนโดย เฉพาะในหุ้นนั้น เป็นหนทางที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนอย่างอื่น พวกเขาไม่ใช่คน “ชอบความเสี่ยง” แบบผู้ประกอบการ แต่ก็พร้อมจะเสี่ยงด้วยเงินจำนวนหนึ่ง พวกเขาเชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่ “คุ้มค่ากับความเสี่ยง” และเขารับมันได้ การที่ได้เรียนรู้และจากประสบการณ์สั้น ๆ ที่ผ่านมาช่วยให้พวกเขามั่นใจและเข้ามาลงทุนในหุ้น ภาพของหุ้นที่เป็นตราสาร “เก็งกำไร” นั้นเปลี่ยนไป การลงทุนในหุ้นสำหรับคนจำนวนไม่น้อยนั้น เป็นการลงทุน “ทำธุรกิจ” พวกเขารู้และคิดว่าถ้าเราเป็น “VI” หรือเป็นนักลงทุนเน้นคุณค่า พวกเขาน่าจะปลอดภัยและได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร

กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มของเจ้าของกิจการที่มีฐานะร่ำรวยพอ สมควร บางคนก็ร่ำรวยมากระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี ซึ่งก็รวมถึงลูกที่เรียนจบและเริ่มทำงานหรือทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว คนกลุ่มนี้ ตั้งแต่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 พวกเขา “รอด” มาได้ และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากลับรุ่งเรืองและที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มีเงินสดเหลือมากมาย พวกเขาต้องทนฝากเงินกินดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำมานาน ดังนั้น เมื่อเห็นราคาหุ้นในตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ติดต่อกันมานานหลายปี เขาก็เริ่มเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น พวกเขาเริ่มเรียนรู้ว่าหุ้นก็คือธุรกิจเหมือนกับที่เขาทำอยู่ ซื้อหุ้นก็เหมือนซื้อธุรกิจ กำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นของพวกเขาที่ผ่านมาไม่กี่ปีนั้น ดีและเร็วกว่าธุรกิจของตนเองมาก ดังนั้น ตลาดหุ้นสำหรับพวกเขาไม่ใช่ “แหล่งการพนัน” อีกต่อไป พวกเขาอาจจะเรียกและคิดว่าตนเองเป็น “VI” ไม่ได้ซื้อหุ้นมั่ว ๆ ไม่มีพื้นฐาน และนี่ก็คือกลุ่มนักลงทุนที่มีเม็ดเงินและศักยภาพมหาศาลที่สามารถขับเคลื่อน หุ้นโดยเฉพาะที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มากนักได้

กลุ่มสุดท้ายก็แน่นอน ยังเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เป็นแม่บ้าน และผู้ประกอบการรายย่อยจริง ๆ ที่ยังเน้นการเล่นหุ้นรายวันและมักจะอยู่ตามห้องค้า กลุ่มนี้ผมเห็นน้อยลงไปมากในห้องสัมมนา สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ พวกเขาหันมาเล่นหุ้น “VI” ตามการเล่นของคนกลุ่มอื่น ๆ ประเด็นที่สำคัญสำหรับกลุ่มนักลงทุนรุ่นดั้งเดิมก็คือกลุ่มนักลงทุนที่เรียก ว่า “ขาใหญ่” นั้น ในยุคสมัยใหม่นี้ ขาใหญ่จำนวนมากได้ “ล้มหายตายจาก” ไป แต่ที่ยังอยู่และยังร่ำรวยเหมือนเดิมหรือรวยยิ่งขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายคนกลายเป็น “VI เต็มตัว” หลายคนแม้ว่ายังชอบที่จะ “เล่นเร็วและไล่ราคา” แต่การทำอย่างนั้นก็มักจะทำกับหุ้นที่เป็น “VI” พวกเขายอมรับว่า VI นั้น เป็น “กระแส” ที่ไม่สามารถจะฝืนได้ การเล่นหุ้นหรือทำราคาหุ้นโดย “ไม่มีเหตุผล” ทางด้านพื้นฐานมาสนับสนุนนั้นจะสำเร็จได้ยาก

ถ้าจะพูดว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่ VI” ก็ไม่น่าจะเกินความเป็นจริง และนั่นทำให้หุ้น “VI” ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นตัวเล็กหรืออย่างมากก็ระดับกลางค่อนไปทางเล็ก แต่เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาเล่นหรือซื้อหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เล็ก นักลงทุนบางคนหรือบางกลุ่มนั้นมีพอร์ตการลงทุนที่สามารถซื้อหุ้นได้ทั้ง บริษัทอย่างง่าย ๆ ดังนั้น หุ้น “VI” จำนวนมากจึงปรับตัวขึ้น ตัวแรกปรับขึ้นไปจนราคาขึ้นไปสูง อาจจะ “เต็มมูลค่า” จึงถูกขายไป เม็ดเงินที่ได้กำไรจากการขายหุ้นของ VI ที่ “มาก่อน” ก็เข้าไปซื้อหุ้น “VI” ตัวใหม่ ทำให้ราคาหุ้นตัวใหม่ปรับขึ้นไป สิ่งนี้ชักจูงให้เม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปอีก ในไม่ช้า หุ้น “VI” ในตลาดก็เริ่มแพงขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดสภาพเป็นหุ้น “VI” กระบวนการทั้งหมดนั้น แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับดัชนีตลาดเท่าไรนัก เพราะหุ้นตัวใหญ่ ๆ ที่ชี้นำดัชนีได้จริง ๆ นั้น ไม่ได้อยู่ในสายตาของเหล่านักลงทุนที่เป็น “VI” เลย ดังนั้น ผลตอบแทนที่ทำได้ของนักลงทุน VI บางคนจึงสูงกว่าดัชนีมาก และหลายครั้งก็ไม่ได้ปรับตัวตามตลาดมากนัก

ความสำเร็จของนักลงทุน VI ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผมอยากเรียกมันว่าเป็น “ปรากฏการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นมาสูงมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับ VI บางคนแล้ว พวกเขาอาจจะกำไรมากเสียจน “รวยไปเลย” VI บางคนอายุยังน้อยมากและเพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่กี่ปีแต่กลับมีเงิน หลายสิบล้าน บางคนมีหลายร้อยล้านจากการลงทุน บางคนที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวนมากจากธุรกิจที่บ้านก็กลายเป็นเศรษฐีพันล้าน ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่แม้จะไม่พูดถึงคนที่รวยเป็นเรื่องเป็นราว นักลงทุน “VI” รายย่อยที่เป็นคนกินเงินเดือนและต้องเก็บเงินจากเงินเดือนมาลงทุน หลาย ๆ คนก็กลายเป็นคนที่มีเงินหลายล้านบาทและรู้สึก “แตกต่าง” จากเพื่อนที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเห็นได้ชัด ข้อสรุปของผมก็คือ นี่คือยุคทองของ VI และผมอยากเรียกมันว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้นเป็น “ทศวรรษแห่ง VI”

แต่ยุคแห่งความรุ่งเรืองนั้น วันหนึ่งก็จะต้องผ่านไป ชีวิตที่ได้เงินมามากและง่ายนั้นไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป เพราะคนใหม่ ๆ ก็จะเข้ามาทำบ้าง และในกระบวนการนั้นก็ทำให้วิธีการหาเงินแบบนั้นไร้ผล ผมไม่รู้ว่า “ทศวรรษแห่งความรุ่งเรืองของ VI” จบสิ้นแล้วหรือยัง เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นว่า บางทีการเป็น “VI” แบบไม่ค่อยได้ศึกษาหรือลงแรงอย่างจริงจังนั้นแทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนอย่าง หนักได้ แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเป็นอย่างไร VI ก็ยังเป็นแนวคิดและวิธีการที่ดีเสมอตราบที่เราใช้มันอย่างถูกต้อง

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 กันยายน 2554

หุ้นหลายเด้ง

นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จสูงในระยะยาวนั้น หนีไม่พ้นที่เขาจะต้องมีหุ้นที่ทำกำไรสูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าตัวจากต้นทุนที่เขาซื้อมา ในวงการนักลงทุนเรียกว่า “หุ้นหลายเด้ง” นอกจากกำไรเป็นหลายเท่าตัวแล้ว หุ้นหลายเด้งที่ว่านั้น จะต้องมีจำนวนเป็นเม็ดเงินอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีเพียง 200-300 หุ้นซึ่งไม่มีความหมายต่อขนาดของพอร์ตโฟลิโอ ตรงกันข้าม หุ้นหลายเด้งนั้นจะต้องมีขนาดพอสมควรที่ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตสูงกว่า ปกติต่อเนื่องกันหลายปี พูดง่ายๆ ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจจะดูธรรมดามาก หรือพูดอีกทางหนึ่งก็คือ หุ้นหลายเด้งเป็นหุ้นที่สร้างความแตกต่างระหว่าง “เซียน” กับนักลงทุนธรรมดา ดังนั้น เราจึงควรมาดูกันว่าเราจะหาหุ้นหลายเด้งได้อย่างไร

ข้อแรกที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ หุ้นที่จะเติบโตขึ้นมาหลาย ๆ เท่าตัวได้ในระยะเวลาไม่นานเช่น ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยที่หุ้นตัวนั้นไม่ได้ถูก “ทำราคา” หรือ “ปั่น” นั้น มักจะอยู่ในหุ้น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นก็คือ หนึ่ง เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีวัฎจักรขึ้นลงรุนแรง เช่น ธุรกิจเดินเรือ ปิโตรเคมี แร่ธาตุที่หายาก หรือสินค้าเกษตรที่ต้องใช้เวลาในการปลูกยาวนานเช่นยางพารา เป็นต้น การที่จะทำกำไรได้หลายเด้งในหุ้นกลุ่มนี้ วิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ ซื้อหุ้นในยามที่หุ้นอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมตกต่ำสุดและไม่มีคนสนใจและพูด ถึงเลย และ เรารู้หรือมั่นใจว่าอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวและการฟื้นตัวนั้น จะฟื้นตัวอย่างแรงด้วยเหตุผลที่ชัดเจนถูกต้อง และเมื่อสิ่งที่เราคาดไว้ถูกต้อง หุ้นปรับตัวขึ้นแล้วในรอบแรก เราจะต้องถือหุ้นต่อไปจนกว่าวัฏจักรจะเป็นขาขึ้นเต็มตัวซึ่งราคาหุ้นก็จะ ปรับตัวตามไปเรื่อย ๆ เราจะขายต่อเมื่อทุกอย่าง “ดูดีหมด” โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักจะเชียร์หุ้นตัวนั้น นักลงทุนแทบจะทุกกลุ่มต่างก็ดูว่าเป็นหุ้น “สุดยอด” เพราะ “กำไรดีมาก” ผู้บริหาร “คาดการณ์แม่นมีวิสัยทัศน์” บริษัท “ขยายตัวต่อเนื่อง” และที่สุดยอดก็คือ “เงินสดเพียบและไม่มีหนี้เลย” เมื่อเกิดภาวการณ์แบบนี้ อย่ารอที่จะขายหุ้นทิ้ง อย่ารอให้เห็นว่าเป็นวัฏจักรขาลงแล้ว เพราะนั่นจะไม่ทันการ

หุ้นที่จะมีโอกาสเป็นหุ้นหลายเด้งกลุ่มต่อไปก็คือ “หุ้นฟื้นตัว” นี่คือหุ้นที่ประสบปัญหาการดำเนินงานจนแทบจะเอาตัวไม่รอด หลาย ๆ บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟู บางบริษัทหุ้นถูกพักการซื้อขาย ราคาหุ้นจะตกต่ำมาก ดูจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทจะมีมูลค่าต่ำมากเทียบกับยอดขาย ถึงแม้ว่าบริษัทจะขาดทุนอย่างหนักและติดต่อกันมานานพอสมควรแต่กิจการก็ยัง ดำเนินต่อไปและก็ยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ยี่ห้อสินค้าของบริษัทเองก็ยังเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ที่สำคัญก็คือ ทรัพย์สินของบริษัทเองเช่นโรงงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังมีค่าและมีคนต้องการ และที่สำคัญประเด็นสุดท้ายก็คือ หนี้ของบริษัทไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ตามราคาตลาด การซื้อหุ้นแบบนี้ บางครั้งก็ทำได้ยากเพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นมีน้อยมากเนื่องจากบริษัทมี ขนาดเล็กมากในแง่ของมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทเริ่มฟื้นจริง ๆ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปสูงและเร็วมาก บางครั้งปรับตัวเกินพื้นฐานไปด้วยเนื่องจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน ดังนั้น เราอาจจะขายทิ้งไปเมื่อหุ้นกำลัง “ร้อนจัด” ดีกว่าที่จะรอซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อฟื้นแล้วบริษัทจะกำไรดีหรือเปล่า

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่จะเป็นหุ้นหลายเด้งได้ก็คือ หุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่เติบโตต่อไปได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยที่จะโตได้เป็นสองหลักทั้งในแง่รายได้และกำไร และกำไรจะโตมากกว่ารายได้ เช่น รายได้อาจจะโต 15% ต่อปี ในขณะที่กำไรจะโตถึง 20% ต่อปี โดยเฉลี่ย ประเด็นสำคัญในการมองหาหุ้นในกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของการวิเคราะห์คาดการณ์ การเติบโตและคุณสมบัติของตัวกิจการนั่นก็คือ บริษัทต้องเป็นบริษัทที่โตอย่างแท้จริงซึ่งก็คือ เมื่อรายได้และกำไรโตขึ้นแล้วจะต้องไม่ลดลงหรือเรียกว่า “โตอย่างถาวร” ความเสี่ยงที่รายได้และกำไรจะลดลงในอนาคตมีน้อยมาก ประการต่อมาก็คือ การโตของบริษัทนั้น ไม่ควรจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์มาก ถ้าโตได้โดยที่ “แทบไม่ต้องลงทุนเลย” ก็ยิ่งดี แต่ถ้าโตโดยที่ต้องลงทุนมากก็จะเป็นการเติบโตที่ “ไม่มีประโยชน์” เพราะกิจการอาจจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้เราได้เพิ่มเติมเนื่องจากเวลามีกำไร ก็มักจะต้องเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อ เงินนั้นไม่มาถึงผู้ถือหุ้นเท่าไรนัก วิธีที่จะดูว่าเป็นการโตที่มีประโยชน์หรือไม่ทางหนึ่งก็คือ ดูว่าค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสูงแค่ไหน ถ้าต่ำกว่า 10% ผมก็คิดว่าเป็นการโตที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าสูงกว่า 20% ผมคิดว่าเป็นการโตที่ดีมาก ข้อมูลอีกตัวหนึ่งก็คือ บริษัทที่จะโต ไม่ควรมีหนี้เงินกู้มาก ถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 1 เท่าของเงินทุนของบริษัท ถ้าโตโดยไม่มีหนี้เลยก็ยิ่งดีใหญ่

การซื้อหุ้นของบริษัทที่โตเร็วนั้น ควรซื้อในยามที่ราคาหุ้นยังไม่แพง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยังไม่ตระหนักว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว หรืออาจจะเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างเช่นเรื่องของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือ ปัญหาบางอย่างของบริษัทที่สามารถแก้ไขได้ เมื่อซื้อแล้วและราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นไป อย่ารีบขาย ถือไปเรื่อยไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ที่จริง 5 ปีขึ้นไปยิ่งดี แต่จุดขายจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทอาจจะ เริ่มเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นโตเร็วนั้น ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบเร่งน่าจะน้อยกว่าหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นฟื้น ตัวมาก เพราะหุ้นโตเร็วนั้น ราคาหุ้นเมื่อการเติบโตเริ่มช้าลงนั้น มักจะค่อย ๆ ปรับตัวลงตามอย่างช้า ๆ มากกว่าจะดิ่งลงเหมือนหุ้นกลุ่มอื่น

การเล่นหุ้นหลายเด้งนั้น แม้ว่าจะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ประเด็นก็คือ เราอาจคาดการณ์ผิด เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจจริง ที่สำคัญก็คือ เราไปฟังการวิเคราะห์ของคนอื่นและเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้อง โดยสิ่งที่ทำให้เราเชื่อนั้น นอกจากเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตัวบริษัท ก็คือ ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปอย่างแรงพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่มากเกินปกติ ในลักษณะนี้ แม้ว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับกิจการจะเป็นเรื่องจริง แต่เราก็จะไม่ได้หุ้นหลายเด้ง ถ้าโชคดี เราก็อาจจะได้กำไรบ้าง บางทีก็อาจจะได้สักหนึ่งเด้ง แต่ถ้าโชคร้าย เราก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้เหมือนกัน คนที่จะได้กำไรหลายเด้งนั้น จะต้องเป็นคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่ยังต่ำมาก ก่อนที่หุ้นจะเป็นข่าวหรือเป็นที่กล่าวขวัญถึง และนี่ก็คือ “เซียน” ตัวจริง

ผมคงจะจบบทความไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า เราไม่ควรคิดจะลงทุนเฉพาะหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้นหลายเด้ง เพราะการทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายเนื่องจากมันจะทำให้พอร์ตของเราจะมี ความเสี่ยงที่สูงเกินไป อย่าไปคิดว่าเราจะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ว่าที่จริงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์หรือหาหุ้นหลาย ๆ เด้งได้ถูกต้อง บ่อยครั้งเราเห็นหุ้นที่กลายเป็นหุ้นหลายเด้งแล้วเราจึงมาสรุปถึงเหตุผล แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ตั้งแต่วันแรก ประสบการณ์ของผมก็คือ หุ้นหลายเด้งส่วนใหญ่ที่ผมได้นั้น ในวันที่ผมซื้อ ผมไม่รู้และไม่ได้คิดว่ามันจะได้กำไรถึงขนาดนั้น ผมซื้อเนื่องจากกิจการมันดีและมีราคาที่เหมาะสมที่มันน่าจะทำให้ผมได้กำไร ซักปีละ 10-15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่บังเอิญมันมา “เด้ง” ทีหลัง ผมอยากเรียกว่า มันเป็นโชคดีที่เกิดจากการทำสิ่งที่ดีมากกว่า

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 30 สิงหาคม 2554

Tuesday, September 13, 2011

ทอง ทอง ทอง

ในช่วงนี้ที่หุ้นดูเหมือนจะไม่ไปไหน พันธบัตรและเงินฝากก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียง 3-4% ต่อปีเป็นอย่างมาก ที่ดินเองก็ไม่ขยับ ความปลอดภัยของเงินก็เริ่มมีน้อยลงเพราะภายในหนึ่งปีรัฐบาลก็จะเริ่มค้ำ ประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินในแต่ละแบงค์ไม่เกิน 1 ล้านบาท เหนือสิ่งอื่นใด ภาวะเศรษฐกิจโลกก็ยังน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะถดถอยอย่างแรงอีกครั้ง แต่สิ่งที่ร้อนแรงมากก็คือ ทองคำ เพราะราคาทองมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นเป็น “กระทิงดุ” ราคาขึ้นวันเดียว 1,000 บาทต่อบาททองคำ แตะ 26,400 บาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 54 โดยที่ราคาตลาดโลกสูงถึง 1,869 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และเป็นการขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นับได้ถึงสิบปีแล้ว การลงทุนในทองคำดูเหมือนว่าจะเป็นการลงทุนที่ “ใช่เลย” สำหรับหลาย ๆ คน เหนือสิ่งอื่นใด ราคาทองคำ “ไม่มีลง” มันมีความปลอดภัยสูงมาก ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเรียกมันว่า “Safe Heaven” มันเป็นสวรรค์ในยามที่เกิดวิกฤติและโกลาหลขึ้นในโลก มาดูกันว่าเราควรลงทุนในทองคำไหม?

ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผลในแง่ของ “พื้นฐาน” มาดูสถิติผลตอบแทนของทองคำในระยะยาวที่ผ่านมาก่อน เพราะนี่จะช่วยเตือนสติเราว่า ทองคำนั้น ไม่ได้ “เปล่งแสงวับวาว” ตลอดเวลา และการเข้าไปลงทุนผิดจังหวะก็อาจจะทำให้เราเสียหายรุนแรงได้เหมือนกัน

มองย้อนหลังไปถึงประมาณปี 2520 ซึ่งผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ และเคยซื้อทองเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ผมจำได้ว่าทองรูปพรรณในขณะนั้นราคาบาทละน่าจะประมาณพันบาทต้น ๆ ตีเสียว่าประมาณ 1,100 บาท ถ้าผมเก็บทองชิ้นนั้นไว้ถึงวันนี้เป็นเวลา 34 ปี เท่ากับว่าเงินเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 24 เท่า นี่ดูเหมือนจะมากมโหฬาร แต่ถ้ามาคำนวณผลตอบแทนแบบทบต้นแต่ละปีก็จะพบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยนั้นเท่ากับ ประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ไม่ได้หรูหรามากแต่ก็ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หุ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน “สูงที่สุด”

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมานั้นถ้าคิดแบบง่าย ๆ ว่าดัชนีตลาดหุ้นก็คือราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทั้งตลาดก็คือประมาณ 100 จุดหรือร้อยบาทในปี 2520 ถ้าเราลงทุนถือมาจนถึงวันนี้ที่ดัชนีตลาดเท่ากับ 1,069 จุดก็คือราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,069 บาท หรือเพิ่มขึ้นมา 10.69 เท่า เปรียบเทียบกับราคาทองคำที่ขึ้นมาถึง 24 เท่าก็น่าจะถือว่าการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นนั้น แต่ละปียังมีปันผลที่มักจะให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4% ซึ่งเมื่อรวมกับผลตอบแทนจากการที่ดัชนีเพิ่มขึ้นก็ทำให้หุ้นให้ผลตอบแทน เฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 10% ต่อปีเหมือนกัน ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับการลงทุนที่ผ่านมา 34 ปีก็คือ ทองกับหุ้นให้ผลตอบแทนพอ ๆ กันที่ประมาณ 10% ต่อปี

แต่ผลตอบแทนของทองนั้นก็ไม่ได้สม่ำเสมอและปลอดภัยสุด ๆ อย่างที่หลายคนอาจจะคิด ในช่วงปี 2522 ถึง 2523 นั้น ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นไปอย่างมโหฬารคือเพียงปีเดียวราคาขึ้นไปจากประมาณ 200 เหรียญต่อออนซ์ เป็นประมาณ 850 เหรียญอันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงเป็นสองหลักหรือกว่า 10% ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างแรงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติใน อิหร่านและการยึดสถานทูตของสหรัฐในอิหร่าน และการที่โซเวียตรุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ถ้าเราเข้าไปซื้อทองเพื่อลงทุนในปี 2523 โดยคิดว่าทองน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเนื่องจากมันปรับตัวขึ้นเร็ว มากกว่า 300% ในปีเดียว เราก็จะพบว่าเราคิดผิดอย่างแรง เพราะหลังจากที่เหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ราคาทองคำก็ตกลงมาอย่างรวดเร็วเหลือเพียงประมาณ 300 เหรียญต้น ๆ ต่อออนซ์ในปี 2525 และหลังจากนั้น ราคาทองคำก็ไม่ค่อยได้ไปไหน ขยับอยู่ระหว่างประมาณ 250 ถึง 450 เหรียญเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนถึงปี 2544 พูดง่าย ๆ คนที่ถือทองคำอยู่ไม่ได้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลา 20 ปี ในขณะที่หุ้นนั้น ทุกปียังมีปันผล “ปลอบใจ” แม้ว่าหุ้นอาจจะนิ่งหรือตกลงมา

ช่วงที่ดีที่สุดของทองคำและเป็นช่วงที่ “ดึง” ผลตอบแทนระยะยาวของทองคำให้สูงขึ้นจนน่าประทับใจก็คือช่วงทศวรรษหรือ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ตั้งแต่ปี 2544 ถึง ปัจจุบัน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแทบจะตลอดเวลา จากราคาประมาณ 271 เหรียญเป็นประมาณ 1850 เหรียญต่อออนซ์ในปัจจุบัน คิดแล้วเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 583% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 21.2% ต่อปีและน่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าทรัพย์สินอื่นทั้งหมด และแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ราคาทองก็ตกลงมาเพียงประมาณ 30% น้อยกว่าตลาดหุ้นที่ตกลงมาเกือบ 50% และหลังจากนั้นทองก็วิ่งขึ้นมาแทบจะไม่สะดุดเลยจนถึงวันนี้

ทองจะไปทางไหนต่อ มันจะยังคงวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือมันใกล้จะเป็นฟองสบู่ เป็นเรื่องที่คาดได้ยาก โดยทฤษฎีแล้ว ทองนั้นจะปรับตัวขึ้นเมื่อเกิดเหตุหรือสภาวการณ์ใหญ่ ๆ 3 ประการด้วยกันคือ เรื่องแรก เมื่อเกิดภาวะ “วิกฤติ” ทางการเงินหรือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรง เช่นเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองและสงครามก็มักจะทำให้ราคาทองพุ่ง เหตุผลก็คือ ทองนั้นสามารถรักษามูลค่าของมันได้เสมอ เพราะมันเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก เรื่องที่สองก็คือ เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงหรือลดค่าลง เหตุผลก็คือ ทองนั้นเป็นคล้าย ๆ กับเงินสกุลหนึ่งที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือเงินได้ทั้งโลกเหมือน กับเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ทองก็มัก “แข็ง” หรือมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง เรื่องที่สามก็คือ เมื่อเงินเฟ้อมีอัตราสูง นั่นก็คือ มีเงินหมุนเวียนในระบบมากเกินไป มากกว่าของหรือสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้น เงินก็จะมาไล่ซื้อทองจึงทำให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรักษาค่าของมัน

จากเหตุผล 3 ข้อข้างต้นก็จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ ภาวะวิกฤติทางการเงินยังคงอยู่ทั้งในยุโรปและอเมริกา เช่นเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็อยู่ในช่วงที่ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ อย่างรวมถึงการขาดดุลการค้าและงบประมาณที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันเป็นหนี้สูง ขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้าย ภาวะเงินเฟ้อก็ดูเหมือนว่าจะสูงขึ้นมากเช่นกัน นอกจากนั้น ปริมาณของทองคำ ซึ่งในโลกนี้ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัดนั้น กลับมีความต้องการสูงขึ้น ทั้งจากประชาชนในอินเดียและจีนที่มีรายได้สูงขึ้นมาก และจากธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะจีน อินเดีย และรวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่นไทย ต่างก็มีเงินสำรองที่เป็นดอลลาร์สูงมากและต้องการซื้อทองเพื่อนำมาใช้เป็น ทุนสำรองเพิ่มขึ้น สาเหตุเหล่านี้ทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ นักเก็งกำไร และรวมถึงนักลงทุน ต่างก็เข้ามาซื้อทองคำส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปอีก คำถามก็คือ นี่เป็น “ฟองสบู่ทองคำ” หรือยัง?

ผมเองตอบไม่ได้ แต่วันหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่คนดูแลแม่ยายผมซึ่งเราจ้างมา เธอเป็นผู้หญิงอายุเกือบ 50 ปีและไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการลงทุน และเงินก็มีไม่มาก เธอบอกผมว่าเธออยากจะลงทุนซื้อทองซักบาทหนึ่งเพราะเห็นว่าราคามันขึ้นไปสูง มากเป็นกว่าสองหมื่นบาทแล้ว ผมถามว่าเธอรู้ได้อย่างไร เธอบอกว่าเห็นจากทีวี หลังจากนั้นผมก็มาคิดว่า บางทีราคาทองน่าจะใกล้เป็นฟองสบู่แล้ว ดังนั้น ใครที่คิดจะซื้อทองลงทุนก็คงต้องระวัง แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลงทุนไม่ได้เลย ผมคิดว่าการลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุนรวมก็ไม่น่าจะเสี่ยงมากนัก เหนือสิ่งอื่นใด ทองนั้น มักจะสามารถรักษามูลค่าของมันได้ในยามที่เลวร้ายที่สุด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 23 สิงหาคม 2554