Wednesday, September 14, 2011

หุ้นหลายเด้ง

นักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จสูงในระยะยาวนั้น หนีไม่พ้นที่เขาจะต้องมีหุ้นที่ทำกำไรสูงมากเป็นหลาย ๆ เท่าตัวจากต้นทุนที่เขาซื้อมา ในวงการนักลงทุนเรียกว่า “หุ้นหลายเด้ง” นอกจากกำไรเป็นหลายเท่าตัวแล้ว หุ้นหลายเด้งที่ว่านั้น จะต้องมีจำนวนเป็นเม็ดเงินอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ใช่มีเพียง 200-300 หุ้นซึ่งไม่มีความหมายต่อขนาดของพอร์ตโฟลิโอ ตรงกันข้าม หุ้นหลายเด้งนั้นจะต้องมีขนาดพอสมควรที่ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตสูงกว่า ปกติต่อเนื่องกันหลายปี พูดง่ายๆ ถ้าตัดหุ้นตัวนี้ออก ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจจะดูธรรมดามาก หรือพูดอีกทางหนึ่งก็คือ หุ้นหลายเด้งเป็นหุ้นที่สร้างความแตกต่างระหว่าง “เซียน” กับนักลงทุนธรรมดา ดังนั้น เราจึงควรมาดูกันว่าเราจะหาหุ้นหลายเด้งได้อย่างไร

ข้อแรกที่ผมคิดว่าสำคัญก็คือ หุ้นที่จะเติบโตขึ้นมาหลาย ๆ เท่าตัวได้ในระยะเวลาไม่นานเช่น ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3-5 เท่าตัวในเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยที่หุ้นตัวนั้นไม่ได้ถูก “ทำราคา” หรือ “ปั่น” นั้น มักจะอยู่ในหุ้น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นก็คือ หนึ่ง เป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีวัฎจักรขึ้นลงรุนแรง เช่น ธุรกิจเดินเรือ ปิโตรเคมี แร่ธาตุที่หายาก หรือสินค้าเกษตรที่ต้องใช้เวลาในการปลูกยาวนานเช่นยางพารา เป็นต้น การที่จะทำกำไรได้หลายเด้งในหุ้นกลุ่มนี้ วิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ ซื้อหุ้นในยามที่หุ้นอยู่ในช่วงที่อุตสาหกรรมตกต่ำสุดและไม่มีคนสนใจและพูด ถึงเลย และ เรารู้หรือมั่นใจว่าอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวและการฟื้นตัวนั้น จะฟื้นตัวอย่างแรงด้วยเหตุผลที่ชัดเจนถูกต้อง และเมื่อสิ่งที่เราคาดไว้ถูกต้อง หุ้นปรับตัวขึ้นแล้วในรอบแรก เราจะต้องถือหุ้นต่อไปจนกว่าวัฏจักรจะเป็นขาขึ้นเต็มตัวซึ่งราคาหุ้นก็จะ ปรับตัวตามไปเรื่อย ๆ เราจะขายต่อเมื่อทุกอย่าง “ดูดีหมด” โบรกเกอร์เกือบทุกสำนักจะเชียร์หุ้นตัวนั้น นักลงทุนแทบจะทุกกลุ่มต่างก็ดูว่าเป็นหุ้น “สุดยอด” เพราะ “กำไรดีมาก” ผู้บริหาร “คาดการณ์แม่นมีวิสัยทัศน์” บริษัท “ขยายตัวต่อเนื่อง” และที่สุดยอดก็คือ “เงินสดเพียบและไม่มีหนี้เลย” เมื่อเกิดภาวการณ์แบบนี้ อย่ารอที่จะขายหุ้นทิ้ง อย่ารอให้เห็นว่าเป็นวัฏจักรขาลงแล้ว เพราะนั่นจะไม่ทันการ

หุ้นที่จะมีโอกาสเป็นหุ้นหลายเด้งกลุ่มต่อไปก็คือ “หุ้นฟื้นตัว” นี่คือหุ้นที่ประสบปัญหาการดำเนินงานจนแทบจะเอาตัวไม่รอด หลาย ๆ บริษัทต้องเข้าแผนฟื้นฟู บางบริษัทหุ้นถูกพักการซื้อขาย ราคาหุ้นจะตกต่ำมาก ดูจาก Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทจะมีมูลค่าต่ำมากเทียบกับยอดขาย ถึงแม้ว่าบริษัทจะขาดทุนอย่างหนักและติดต่อกันมานานพอสมควรแต่กิจการก็ยัง ดำเนินต่อไปและก็ยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ยี่ห้อสินค้าของบริษัทเองก็ยังเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ที่สำคัญก็คือ ทรัพย์สินของบริษัทเองเช่นโรงงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ยังมีค่าและมีคนต้องการ และที่สำคัญประเด็นสุดท้ายก็คือ หนี้ของบริษัทไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ตามราคาตลาด การซื้อหุ้นแบบนี้ บางครั้งก็ทำได้ยากเพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นมีน้อยมากเนื่องจากบริษัทมี ขนาดเล็กมากในแง่ของมูลค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทเริ่มฟื้นจริง ๆ ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นไปสูงและเร็วมาก บางครั้งปรับตัวเกินพื้นฐานไปด้วยเนื่องจากแรงเก็งกำไรของนักลงทุน ดังนั้น เราอาจจะขายทิ้งไปเมื่อหุ้นกำลัง “ร้อนจัด” ดีกว่าที่จะรอซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อฟื้นแล้วบริษัทจะกำไรดีหรือเปล่า

หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่จะเป็นหุ้นหลายเด้งได้ก็คือ หุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่เติบโตต่อไปได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 5 ปี โดยที่จะโตได้เป็นสองหลักทั้งในแง่รายได้และกำไร และกำไรจะโตมากกว่ารายได้ เช่น รายได้อาจจะโต 15% ต่อปี ในขณะที่กำไรจะโตถึง 20% ต่อปี โดยเฉลี่ย ประเด็นสำคัญในการมองหาหุ้นในกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของการวิเคราะห์คาดการณ์ การเติบโตและคุณสมบัติของตัวกิจการนั่นก็คือ บริษัทต้องเป็นบริษัทที่โตอย่างแท้จริงซึ่งก็คือ เมื่อรายได้และกำไรโตขึ้นแล้วจะต้องไม่ลดลงหรือเรียกว่า “โตอย่างถาวร” ความเสี่ยงที่รายได้และกำไรจะลดลงในอนาคตมีน้อยมาก ประการต่อมาก็คือ การโตของบริษัทนั้น ไม่ควรจะต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์มาก ถ้าโตได้โดยที่ “แทบไม่ต้องลงทุนเลย” ก็ยิ่งดี แต่ถ้าโตโดยที่ต้องลงทุนมากก็จะเป็นการเติบโตที่ “ไม่มีประโยชน์” เพราะกิจการอาจจะไม่สามารถจ่ายปันผลให้เราได้เพิ่มเติมเนื่องจากเวลามีกำไร ก็มักจะต้องเอาเงินนั้นไปลงทุนต่อ เงินนั้นไม่มาถึงผู้ถือหุ้นเท่าไรนัก วิธีที่จะดูว่าเป็นการโตที่มีประโยชน์หรือไม่ทางหนึ่งก็คือ ดูว่าค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทสูงแค่ไหน ถ้าต่ำกว่า 10% ผมก็คิดว่าเป็นการโตที่ไม่มีประโยชน์ ถ้าสูงกว่า 20% ผมคิดว่าเป็นการโตที่ดีมาก ข้อมูลอีกตัวหนึ่งก็คือ บริษัทที่จะโต ไม่ควรมีหนี้เงินกู้มาก ถ้าจะให้ดีไม่ควรเกิน 1 เท่าของเงินทุนของบริษัท ถ้าโตโดยไม่มีหนี้เลยก็ยิ่งดีใหญ่

การซื้อหุ้นของบริษัทที่โตเร็วนั้น ควรซื้อในยามที่ราคาหุ้นยังไม่แพง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยังไม่ตระหนักว่ามันเป็นหุ้นโตเร็ว หรืออาจจะเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างเช่นเรื่องของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจหรือ ปัญหาบางอย่างของบริษัทที่สามารถแก้ไขได้ เมื่อซื้อแล้วและราคาหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้นไป อย่ารีบขาย ถือไปเรื่อยไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป ที่จริง 5 ปีขึ้นไปยิ่งดี แต่จุดขายจริง ๆ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญหรือบริษัทอาจจะ เริ่มเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นโตเร็วนั้น ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบเร่งน่าจะน้อยกว่าหุ้นวัฏจักรหรือหุ้นฟื้น ตัวมาก เพราะหุ้นโตเร็วนั้น ราคาหุ้นเมื่อการเติบโตเริ่มช้าลงนั้น มักจะค่อย ๆ ปรับตัวลงตามอย่างช้า ๆ มากกว่าจะดิ่งลงเหมือนหุ้นกลุ่มอื่น

การเล่นหุ้นหลายเด้งนั้น แม้ว่าจะทำให้เรามีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงก็มีอยู่ไม่น้อย ประเด็นก็คือ เราอาจคาดการณ์ผิด เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจจริง ที่สำคัญก็คือ เราไปฟังการวิเคราะห์ของคนอื่นและเราเชื่อว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นถูกต้อง โดยสิ่งที่ทำให้เราเชื่อนั้น นอกจากเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตัวบริษัท ก็คือ ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปอย่างแรงพร้อม ๆ กับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่มากเกินปกติ ในลักษณะนี้ แม้ว่าสิ่งที่คาดการณ์ไว้เกี่ยวกับกิจการจะเป็นเรื่องจริง แต่เราก็จะไม่ได้หุ้นหลายเด้ง ถ้าโชคดี เราก็อาจจะได้กำไรบ้าง บางทีก็อาจจะได้สักหนึ่งเด้ง แต่ถ้าโชคร้าย เราก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักได้เหมือนกัน คนที่จะได้กำไรหลายเด้งนั้น จะต้องเป็นคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่ยังต่ำมาก ก่อนที่หุ้นจะเป็นข่าวหรือเป็นที่กล่าวขวัญถึง และนี่ก็คือ “เซียน” ตัวจริง

ผมคงจะจบบทความไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า เราไม่ควรคิดจะลงทุนเฉพาะหุ้นที่อาจจะกลายเป็นหุ้นหลายเด้ง เพราะการทำแบบนั้นเป็นเรื่องที่อันตรายเนื่องจากมันจะทำให้พอร์ตของเราจะมี ความเสี่ยงที่สูงเกินไป อย่าไปคิดว่าเราจะคาดการณ์ได้ถูกต้อง ว่าที่จริงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์หรือหาหุ้นหลาย ๆ เด้งได้ถูกต้อง บ่อยครั้งเราเห็นหุ้นที่กลายเป็นหุ้นหลายเด้งแล้วเราจึงมาสรุปถึงเหตุผล แล้วเราก็คิดว่าเรารู้ตั้งแต่วันแรก ประสบการณ์ของผมก็คือ หุ้นหลายเด้งส่วนใหญ่ที่ผมได้นั้น ในวันที่ผมซื้อ ผมไม่รู้และไม่ได้คิดว่ามันจะได้กำไรถึงขนาดนั้น ผมซื้อเนื่องจากกิจการมันดีและมีราคาที่เหมาะสมที่มันน่าจะทำให้ผมได้กำไร ซักปีละ 10-15% ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่บังเอิญมันมา “เด้ง” ทีหลัง ผมอยากเรียกว่า มันเป็นโชคดีที่เกิดจากการทำสิ่งที่ดีมากกว่า

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 30 สิงหาคม 2554

No comments:

Post a Comment