Monday, December 3, 2012

VI GEN-X

ในการที่เราจะเข้า ใจ Mega Trend หรือแนวโน้มใหญ่ต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สิ่งที่เราจะต้องรู้ คือพฤติกรรมของคนในโลกและในประเทศซึ่งมักจะสอดคล้องใกล้ เคียงกัน เพราะโลกเราเป็น Globalization ในการศึกษาพฤติกรรมของคน พบว่าคนในแต่ละยุค หรือพูดให้ชัดคือคนที่เกิดในช่วงเวลาที่ต่างกันนั้นมักจะมีแนวคิด หรือพฤติกรรมต่างกัน ซึ่งนี่ก็เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ หรือพัฒนาการสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น เกิดสงครามโลก หรือเกิดระบบอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้ได้เป็นต้น

ในทางวิชาการได้มีการจัดคนที่เกิดช่วงปีต่างๆ ออกเป็นกลุ่มที่มีคำเรียกแทนลักษณะสำคัญของคนในยุคสมัยหรือรุ่นนั้น โดยที่ผมจะเริ่มจากยุคที่แก่ที่สุด ที่ยังมีจำนวนและบทบาทอยู่ในปัจจุบันนั่นคือ ยุค Baby Boom หรือยุค "ลูกมาก" นี่คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1945 ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีเด็กเกิดใหม่มากมาย การที่ครอบครัวจะมีลูก 5-6 คน เป็นเรื่องธรรมดา บางบ้านมีเป็นสิบคน

ยุค "เบบี้บูม" สิ้นสุดลงในปี 1964 หรือกินเวลา 19 ปี และถ้านับถึงวันนี้ คือกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 48-67 ปี ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น และผมจะมีไอเดีย หรือแนวคิด หรือมุมมองต่อโลกแบบหนึ่งของคนที่อยู่ในยุคนี้ นอกจากนั้น ผมพอจะเข้าใจว่า คนในรุ่นนี้มักจะคิดอย่างไรต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตและในสังคม

พวกเบบี้บูม หรือถ้าจะพูดวันนี้ว่าเป็นพวก "คนแก่" มักจะเป็นคนที่ "อนุรักษนิยม" เป็นคนที่ชอบประเพณีที่ดีงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและ "ศีลธรรมอันดี" พวกเขาจะชื่นชอบ และเคารพเชื่อถืออะไรก็ตามที่เป็น "สถาบัน" ของประเทศ หรือของสังคม หรือชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ คนที่ไม่ยึดถือประเพณี ความเป็นระเบียบ หรือสิ่งต่างๆ ที่กล่าวถึงนั้นจะถูกมองว่าเป็น "คนไม่ดี" และต้องถูกลงโทษทั้งด้านสังคมและกฎหมายถ้ามี

แม้แต่เรื่องความรู้สึกส่วนตัวที่เป็นเรื่อง "ธรรมชาติ" เช่นเรื่องของเซ็กซ์ก็ถูก "ควบคุม" โดยสังคม คนที่ฝ่าฝืนมักถูกสังคมต่อต้านอย่างรุนแรง ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยที่ยังไม่ได้แต่งงานกลายเป็นหญิงที่มี "มลทิน" ในบางสังคมซึ่งรวมถึงไทยด้วย

นี่คือคุณลักษณะคร่าวๆ ของเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก หรือน่าจะมากที่สุดในบรรดากลุ่มทั้งหลายที่ผมจะกล่าวต่อไป ประเด็นคือ บทบาทหรืออิทธิพลของพวกเขายังสูงยิ่ง ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พวกเขาอาจจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว นับวันก็จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ว่าที่จริง นายกรัฐมนตรีของไทย 2 คนสุดท้ายนั้น ก็ไม่ได้เป็นพวกเบบี้บูมเมอร์แล้ว

คนรุ่นต่อมาที่มีพฤติกรรม และแนวความคิดเปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นเบบี้บูม คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 1965 ซึ่งถือเป็น "ลูกคนแรก" ของพวกเบบี้บูม จนถึงคนที่เกิดก่อนปี 1981 คิดเป็นเวลา 16 ปี หรือถ้านับถึงวันนี้ คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 31-47 ปี นี่คือกลุ่มที่เรียกว่า "Generation X" ซึ่งเป็นชื่อที่คนที่ศึกษาไม่รู้ว่าจะเรียกอะไรจึงใช้คำว่า X

คนกลุ่มนี้ถูก "ค้นพบ" เมื่อมีการศึกษาโดยนักเขียนอังกฤษชื่อ Jane Deverson ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจ และสอบถามความคิดของเด็กวัยรุ่น เพื่อตีพิมพ์ในแมกาซีน แต่สิ่งที่เธอพบ กลับทำให้เธอ "ขวัญผวา" เพราะเด็กวัยรุ่นเหล่านั้น มีมุมมอง และความคิดที่ขัดแย้งกับความเชื่อ และความคิดเดิมอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น พวกเขาส่วนใหญ่ไม่เคารพนับถือพ่อแม่ ไม่เชื่อในพระเจ้า และหลับนอนกันก่อนแต่งงาน

แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ พวกเขาไม่ชอบ "สถาบัน" ซึ่งทำให้บทความนั้น ไม่สามารถตีพิมพ์ในอังกฤษได้ เพื่อให้บทความ หรือผลการศึกษาไม่เสียเปล่า เธอจึงไปร่วมเขียนเป็นหนังสือกับนาย Charles Hamblett ที่อเมริกาและตั้งชื่อว่า Generation X

คน GEN-X มีแนวโน้มเป็นคน "ต่อต้านสังคม" และ "ต่อต้านสถาบัน" พวกเขาอยากเป็นคนทำงาน "อิสระ" มากกว่าที่จะเป็นลูกจ้างบริษัทใหญ่ๆ ในทางสังคม พวกเขาเห็นว่า การหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ การอยู่กินกันโดยไม่แต่งงานไม่ใช่เรื่องแปลก เช่นเดียวกับการเป็นเกย์ หรือเลสเบียน

ยุคนี้เป็นช่วงที่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลและอินเทอร์เน็ตกำเนิดขึ้น พวกเขาจึงคุ้นเคย และใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การค้นหาข้อมูลและความรู้ทำได้แค่ปลายนิ้ว ผลจากความก้าวหน้าด้าน IT ทำให้การก่อตั้งกิจการขนาดย่อมเกิดขึ้นมากมายจากคนเจนเอ็กซ์ พวกเขาเป็นนักคิดสร้างสรรค์ที่สร้างผลงานใหม่ๆ มากมายให้กับโลกและกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ในทางสังคมและการเมือง คนรุ่น GEN X เน้น "ความเท่าเทียม" กันสูง ผู้หญิงไม่ยอมเป็น "ช้างเท้าหลัง" ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ทำให้คนรุ่นนี้มีลูกน้อย บางทีไม่ต้องการเลย

คนรุ่นต่อมาคือ GEN Y นี่คือ "เด็กรุ่นใหม่" ที่เกิดจากคนรุ่นเบบี้บูมหลังจากปี 1981-1997 ซึ่งคือคนที่มีอายุตั้งแต่ 15-31 ปี นี่คือคนที่เกิดมา ก็มีระบบอินเทอร์เน็ตใช้กันแล้ว พวกเขาไม่คุ้นเคยกับแนวชีวิตของคนรุ่นเก่า เพื่อนของเขาส่วนใหญ่ ติดต่อกันผ่านการส่งข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ พวกเขาไม่ดูทีวี หรือดู "หนังแผ่น" แต่ใช้วิธีดาวน์โหลดภาพยนตร์จากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก

คน GEN-Y มีความเป็น "สากล" มาก การมีเพื่อนเป็นคนต่างชาติ และต่างวัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับการมีแฟนเป็นคนต่างชาติ การนิยมชมชอบวัฒนธรรม หรือศิลปินต่างชาติเป็นเรื่องธรรมดา พวกเขา"ไม่ต่อต้านสถาบัน" แต่ใช้วิธี "หลีกเลี่ยง" มากกว่า

คน GEN-Y เป็นพวกที่มีจินตนาการสูง พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้านงานอาชีพ พวกเขาชอบทำงานด้าน IT และธุรกิจด้านความบันเทิงมากกว่างาน "ใช้มือ" ที่สำคัญ พวกเขาอยากทำงานที่ทำให้ รวยเร็วหรือดังเร็ว การเงินก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผมคงไม่พูดถึง GEN Z ซึ่งคือเด็กที่อายุไม่ถึง 15 ปี ปัจจุบันเป็นหลานของเบบี้บูม แต่จะพูดถึงนักลงทุนที่เป็น VI ในไทย เหตุผลเพราะว่า จากการสังเกตผมพบ VI ไทยที่ประสบความสำเร็จสูง และมีพอร์ตขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับอายุ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคน GEN-X ซึ่งคือ VI ที่มีอายุระหว่าง 31-47 คนกลุ่มนี้ ผมคิดว่าอยู่ในสถานะที่ "ได้เปรียบที่สุด" ในการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เหตุผลคือ หนึ่งพวกเขาเป็นลูกของเบบี้บูม ที่ได้สะสมความมั่งคั่งไว้มากพอที่จะให้ลูกได้เริ่มลงทุนเต็มที่ได้

ข้อสอง พวกเขาเป็นนักลงทุน ที่มักจะไม่ได้ผ่านเหตุวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 พวกเขาเข้าตลาดช่วงที่ตลาดหุ้นเติบโตรวดเร็วและมั่นคงตลอดมา

ข้อสาม พวกเขาได้เรียนรู้หลักการ VI มาตั้งแต่เริ่มเข้าตลาด จึงมีหลักการการลงทุนที่ถูกต้องตั้งแต่แรก
และข้อสุดท้ายที่ผมจะพูด คือ พวกเขาเป็นคนที่ไม่ติดยึดกับอะไรที่เป็น "สถาบัน" พวกเขาไม่คิดว่าต้องทำงานและเติบโตตามระบบ หรือในบริษัทขนาดใหญ่ ตรงกันข้าม พวกเขาอยากเป็น "อิสระ" โดยการทำธุรกิจเช่น ตั้งบริษัทขนาดเล็กและเป็นตัวของตัวเอง หลายคนมองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นแบบ VI เป็นหนทางแห่งความสำเร็จทางหนึ่ง และโชคดี หลายคนได้บรรลุความฝันนั้น

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2555

รวยจากรัฐ

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อย อาจจะพูดได้ว่า "รวยจากรัฐ" แน่นอนว่า บริษัทเหล่านั้น  ก็มีฝีมือและความสามารถ ด้วย แต่ตัวหลักที่ทำให้รวย ไม่ใช่เรื่องความสามารถทางธุรกิจในเชิงการแข่งขันปกติ เช่น ความสามารถในการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ฝีมือทางการตลาด การผลิต การเงิน การบุคคล และเรื่องอื่นๆ ที่ธุรกิจโดยทั่วไปทำกัน 

ความรวย หรือพูดแบบวิชาการหน่อย คือ การทำกำไรมหาศาล หรือทำกำไรในอัตรา "สูงกว่าปกติ" ของบริษัทเหล่านั้น เกิดจากการที่บริษัทได้ "สิทธิพิเศษ" เช่น ได้สัมปทาน ได้สัญญาระยะยาว ได้พื้นที่หรือทรัพย์สินที่เป็นของรัฐหรือหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจผูกขาด และทั้งหมด ทำให้บริษัทขายสินค้า หรือบริการในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่ควรจะเป็น หากมีการแข่งขันกันเต็มที่ นั่นส่งผลให้บริษัทมีกำไรสูงกว่าปกติโดยไม่ต้องออกแรงมาก ผลคือ ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น สูงและสูงขึ้นเรื่อยๆ

คนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ความเสี่ยงก็มีไม่น้อย เหตุผลคือ "รัฐ" หรือพูดให้ถูกต้องคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจเปลี่ยนไป นโยบายอาจเปลี่ยน และเมื่อเกิดขึ้น ผลกระทบก็มหาศาล บางทีอาจทำให้บริษัทรวยขึ้นอีก แต่บางครั้งอาจทำให้จนลงรวดเร็ว การวิเคราะห์หุ้นของบริษัทเหล่านั้น จึงแตกต่างจากการวิเคราะห์หุ้นทั่วๆ ไป

หุ้นกลุ่มแรกที่ผมจะพูดถึง คือ หุ้นกลุ่มสัมปทาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์ เพราะเป็นกลุ่มที่ชัดเจนว่าบริษัทที่จะ "รวย" หรือ "จน" จากรัฐขึ้นอยู่กับ "ข้อตกลง" หรือสัญญาสัมปทาน หรือในอนาคตอาจเปลี่ยนเป็นค่า "ใบอนุญาต" จาก กสทช. ว่า บริษัทต้อง "จ่าย" เท่าไรในการขายบริการ?
ที่ผ่านมานั้น เห็นได้ชัดเจนว่า บริษัทที่ทำโทรศัพท์มีสายนั้นขาดทุนหนัก เพราะต้องจ่ายให้กับ "รัฐ" สูงในขณะที่ธุรกิจ เริ่มถดถอยลงแรง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น บริษัทที่เสนอและจ่ายเงินให้กับรัฐน้อยกว่ารายอื่นเพราะ "มาก่อน" นั้น ทำกำไรได้มหาศาล และทำให้หุ้นมีค่าสูงมาก

ส่วนบริษัทที่เสนอ และจ่ายเงินให้กับรัฐสูงกว่ามากก็กำไรน้อยกว่ามาก บางบริษัทก็ขาดทุน ประเด็นที่น่าจับตามองคือ การเปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานเป็นการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ 3G ที่กำลังดำเนินการอยู่ จะทำให้บริษัท "รวยจากรัฐ" มากขึ้นหรือน้อยลง? เพราะราคาหุ้นจะสะท้อนตาม ว่าที่จริง ดูจากราคาหุ้นแล้ว ก็น่าจะบอกได้ว่านักลงทุนมองว่างานนี้คงทำให้บริษัท "รวยขึ้น"

หุ้นกลุ่มที่สองที่ความรวย หรือจนมาจากรัฐเป็นหลัก คือ กลุ่มที่ทำเกี่ยวกับไฟฟ้าและน้ำประปา บริษัทที่จะรวย คือบริษัทที่ได้สัญญาขายสินค้า หรือบริการในราคาที่ดี มีกำไรสูง ซึ่งปกติคิดจากต้นทุนการผลิต บวกกำไรที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนเงินทุนในอัตราที่เหมาะสม เทียบกับดอกเบี้ยในท้องตลาดเวลานั้น ความรวยที่จะได้จากรัฐในกรณีนี้ อาจไม่สูงมากเมื่อเทียบกับกรณีของสื่อสาร

เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่ากรณีน้ำไฟ การคำนวณผลตอบแทนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา ความผิดพลาดน่าจะมีน้อยกว่าเรื่องการสื่อสาร ส่วนใหญ่แล้ว คนที่จะจ่ายเงินให้บริษัท คือหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป บริษัทในกลุ่มนี้จึงไม่รวยจากรัฐมากนัก ตัวอย่างของหุ้นกลุ่มนี้คือ บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง IPP ที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และ SPP ที่เป็นขนาดเล็ก

ด้านของน้ำ คือบริษัทที่ผลิตน้ำประปาขาย ให้กับการประปาภูมิภาคและหน่วยงานอื่นๆ ในระยะหลัง มีบริษัทที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงแดด และพลังงานลม ซึ่งบริษัทจะได้ ADDER หรือเงินชดเชยที่หน่วยงานรัฐจ่ายให้กับบริษัทตามหน่วยไฟฟ้าที่ขายให้กับรัฐ

กลุ่มที่สาม อาจทำให้บริษัทรวย หรือจนจากรัฐได้ไม่น้อย คือ กลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการคมนาคม เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน นี่คือบริษัทที่ได้สัมปทานหรือบริษัทที่ได้สิทธิในการดำเนินการจากรัฐในสิ่ง ที่คนอื่นทำไม่ได้ บริษัทกลุ่มนี้ เป็นธุรกิจที่รับเงินจากผู้ใช้โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้กำกับหรืออนุมัติ การตั้งราคาโดยอำเภอใจจึงไม่สามารถทำได้ การปรับราคาทำไม่ได้ง่าย เพราะจะกระทบกับ "ประชาชน" ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การลงทุนในการขยายกำลังการผลิต หรือการให้บริการมักมีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือไม่ต่ำลง นี่ทำให้การเพิ่มขึ้นของรายได้ต้องชดเชยด้วยรายจ่ายจากการลงทุน ผลคือ กำไรของบริษัทอาจจะไม่มโหฬารเมื่อเทียบกับภาคของการสื่อสาร ที่การลงทุนเพิ่มเพื่อขยายกำลังการให้บริการน่าจะต่ำลง เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ารวดเร็ว

ยังมีบริษัทในกลุ่มอื่นๆ ความรวยหรือจน มาจากรัฐเป็นหลัก แต่ผมไม่สามารถเขียนได้หมด ประเด็นคือ การวิเคราะห์ว่าบริษัทที่ผลประกอบการขึ้นอยู่กับรัฐมากๆ เราต้องเข้าใจเรื่องการเมือง และการทำงานของรัฐพอสมควร ด้านการเมือง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือ "ประชาชน" นั่นคือ ถ้าบริษัทคิดค่าบริการเพิ่ม จะกระทบกับผู้ใช้บริการแค่ไหน? และคนที่เกี่ยวข้องมีจำนวนเท่าไร? ถ้ามาก การขึ้นราคาก็คงไม่ง่าย เพราะนักการเมืองจะต่อต้าน เพราะกลัวว่าตนจะเสียคะแนน

อีกด้านหนึ่งคือ ถ้าการตัดสินใจอะไรก็ตาม ที่นักการเมือง หรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจ "ได้ประโยชน์" ในแง่ของเม็ดเงินผ่านการ "คอร์รัปชัน" หรือได้คะแนนเสียงผ่านบริการที่ประชาชนต้องการ แบบนี้การตัดสินใจอนุมัติ จะง่ายและมีความเป็นไปได้สูง

การลงทุนในทรัพย์สินถาวรเช่นการก่อสร้าง และการซื้ออุปกรณ์ จึงมักได้รับการอนุมัติง่าย และมีราคาสูงหรือแพงกว่าราคาตลาดมาก นี่ก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ที่จะทำให้กำไรลดลงถ้าหากราคาขายบริการนั้นสูงพออยู่แล้ว

ความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นที่รวยจากรัฐที่สำคัญที่สุดคือ เวลาของสัมปทาน สัญญา สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ ซึ่งเอื้ออำนวยให้บริษัททำกำไรได้สูงกว่าปกติ หมดลงหรือใกล้หมด และการจะได้รับการต่อสัญญาไม่แน่นอน รวมถึงเงื่อนไขใหม่ ที่อาจจะทำให้กำไรหดตัวลงมาก ที่สำคัญคือ หลังขบวนการเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวทั้งทางสังคมและการเมืองในไทย มีกิจกรรมที่เข้มข้นมาก
ประกอบกับหน่วยงานตรวจสอบ ซึ่งรวมถึงศาลต่างๆ สามารถเข้ามามีบทบาทกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งอาจกระทบกับบริษัทที่รวยจากรัฐมากกว่าปกติ สิ่งต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้กำไรของบริษัทถูกกระทบอย่างคาดไม่ถึงได้ การลงทุนในหุ้นเหล่านี้ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษด้านการเมือง

ส่วนตัวผมเอง ถ้าจะลงทุนในหุ้นที่รวยจากรัฐ ผมจะคำนึงถึงความแน่นอนและเวลาของสิ่งที่บริษัทได้จากรัฐ ผมอยากได้บริษัทที่ขาย หรือให้บริการในสิ่งที่มีความต้องการเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงต่อเนื่องยาวนาน โดยที่การลงทุนใหม่ของบริษัท เพียงแต่ลงทุนในอุปกรณ์หลัก แต่ไม่ต้องลงทุนในสถานที่ หรืออุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ ที่บริษัทมีอยู่แล้ว เพราะวิธีนี้ ต้นทุนต่อหน่วยของการลงทุนจะต่ำลง ขณะที่ราคาขายของบริษัทมักจะยังคงเท่าเดิมตามสัญญาเดิม ผลก็คือ บริษัทจะมีกำไรเพิ่มขึ้น ส่วนบริษัทที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ผมมักจะหลีกเลี่ยงการลงทุน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2555

ศึกน้ำหวาน

ในฐานะนักลงทุนตลาด หุ้นแบบ VI ที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางธุรกิจ ผมเห็นว่า การแข่งขันธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของประชาชน  กำลังมีความเข้มข้นขึ้น มาก เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ เป็นเรื่องที่คนเห็นว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคภายในประเทศเป็นธุรกิจที่ดีและเติบโตมั่นคง เห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทกลุ่มนี้ และราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ พร้อมกับค่า PE ของหุ้นที่สูงลิ่ว แต่เหตุผลอื่นก็อาจจะมีอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นเป็นเรื่อง "แตกหัก" ทางธุรกิจที่ทำให้ "หุ้นส่วน" กลายเป็น "คู่แข่ง" ที่ "ไม่เผาผี" กัน

ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กลงมาดูเหมือน จะมีคนเข้ามาเล่นกันมากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจที่ยังโตได้ค่อนข้างเร็ว ข่าวในช่วงนี้จึงเปิดตัวผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ในเชิงการแข่งขันแล้ว ผมคิดว่าสถานการณ์คงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะ"การรบสิ้นสุดแล้ว" เราเห็นผู้ชนะและผู้แพ้แล้ว และการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ คงไม่ทำให้ภาพเปลี่ยนไป แต่ธุรกิจที่น่าจับตามองขณะนี้คือ ธุรกิจ"น้ำหวาน" ซึ่งกำลังเริ่มขึ้นและจะรุนแรงจนกว่าจะรู้ว่าใครเป็นผู้ชนะ โดยที่ผลิตภัณฑ์หลักที่อยู่ใน "สปอตไลท์" คือ น้ำโคลาและชาเขียว บริษัทที่กำลังต่อสู้กันต่างมีประวัติและศักยภาพทางการ "รบ" หรือการแข่งขันคล้ายๆ กันและเก่งพอๆ กัน

เริ่มที่ชาเขียว โออิชิ กับ อิชิตัน เป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง เหตุผลคือ เจ้าของโออิชิเดิม คือคุณตัน ซึ่งเป็นคนสร้างผลิตภัณฑ์โออิชิขึ้นมาโดดเด่น เป็นผู้นำที่ทิ้งห่างคู่แข่งอื่น ออกมาสร้างอิชิตัน เพื่อแข่งกับโออิชิ ถ้าจะเทียบศักยภาพทางการ "รบ" ต้องพูดว่ากลยุทธ์ฝ่ายอิชิตัน คงไม่แพ้โออิชิแน่ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ "แม่ทัพตัน" ไม่เป็นรองอยู่แล้ว

ประเด็นต่อมาที่ต้องมองคือ ทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ ซึ่งพูดหยาบๆ คือเงินของแต่ละฝ่ายที่พร้อมจะทุ่มเข้าไปในการศึกนั้น ฝ่ายโออิชิก็ชัดเจนมีเงินมากอย่างแทบ "ไม่จำกัด" เพราะนอกจากบริษัทโออิชิ จะเป็นบริษัทใหญ่ที่สามารถระดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้แล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ยังเป็นกลุ่มของ "เบียร์ช้าง" ซึ่งเป็นตระกูลที่รวยที่สุดกลุ่มหนึ่งในไทย อิชิตันก็น่าจะมีเงินที่มากพอที่จะทำศึกชาเขียวได้ เพราะคุณตัน เคยขายหุ้นโออิชิให้ฝ่ายโออิชิ และได้เงินมากพอ ทรัพยากรในการรบคงไม่เป็นปัญหา

ข้อเสียเปรียบของอิชิตันคือ การที่ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมาทีหลัง โออิชิได้ยึด "ชัยภูมิ" ที่ได้เปรียบเอาไว้แล้วในใจของผู้บริโภค คือ ถ้าเป็นชาเขียวอันดับหนึ่งต้องเป็นโออิชิ ตามชั้นในร้านค้าปลีก โออิชิได้ไปยึดจุดที่ดีและพื้นที่ที่มากกว่าไว้แล้ว อิชิตันที่มาใหม่ไม่สามารถไปแข่งได้เท่ากันทันที คนมีโอกาสซื้อโออิชิมากกว่า เพราะ"คุ้นเคย" ทั้งทางใจและกาย ทางใจเช่น เขารู้สึกว่าโออิชิ "อร่อยกว่า" ทางกายเช่น มีมากและหาง่ายหยิบง่ายเมื่อต้องการ ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นคือ โออิชิกำลังมีแบบบรรจุขวดแก้ว แบบคืนขวดขายตามร้านอาหาร ที่มีราคาถูกกว่าขวดเพ็ท และแบบกล่อง

ขณะที่อิชิตันไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีโรงงานขวดป้อนให้ เราต้องติดตามต่อไปว่า การขายชาเขียวตามร้านอาหาร จะประสบความสำเร็จ หรือไม่ เพราะผมไม่แน่ใจว่าคนไทยจะนิยมกินชาเขียวกับอาหาร
ถ้าจะให้สรุปคือ โออิชิน่าจะได้เปรียบอิชิตัน แต่ยังไม่น่าจะเรียกว่าชนะขาดได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ ชานั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นจาก "ธรรมชาติ" การสร้างความแตกต่างในใจของผู้บริโภคทำได้ยากและไม่ติดแน่น การเปลี่ยนรสนิยมเกิดได้เสมอถ้าอีกฝ่ายหนึ่งมีกลยุทธ์ที่ดีพอ เรื่องระบบการใช้ขวดแก้วแบบคืนขวด ผมไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะยั่งยืนได้แค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนเก็บขวดแพงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับแพ็คเกจแบบใช้แล้วทิ้ง

หันมาดูเรื่องของ "สงคราม" น้ำดำ หรือโคลา ซึ่งกำลังเปิดศึกกันรุนแรง ซึ่งมีประวัติคล้ายๆ กับ ชาเขียว คือ การเปิดตัวของเอส ซึ่งคือผู้ที่ผลิต หรือบรรจุขวด เป๊ปซี่ เดิม ทั้งเอสและเป๊ปซี่ต่างมีความรู้และความสามารถวางกลยุทธ์พอๆ กัน แทบจะเรียกว่า "ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่" พูดง่ายๆ ว่าแม่ทัพของแต่ละฝ่ายต่างก็เคยเป็น "สหายร่วมรบ"กันมาก่อน ไม่มีใครรองใครในแง่ของความสามารถในการวางกลยุทธ์
พูดถึงทรัพยากรของเม็ดเงิน ที่จะทุ่มเข้ามาทำศึก เสริมสุข เป็นบริษัทจดทะเบียนที่ยิ่งใหญ่มานาน เป็นหุ้นกลุ่ม "เจ้าสัวเบียร์ช้าง" เรื่องทรัพยากรจึงไม่เป็นรองใครในไทยอยู่แล้ว เป๊ปซี่นั้น เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก การประกอบการในไทยถือว่าประสบความสำเร็จในระดับต้นๆ ของเครือข่ายเป๊ปซี่ทั้งหมด เรียกว่าเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทแม่ เป๊ปซี่มีเงินมหาศาลและพร้อมทุ่ม และคงไม่ยอมแพ้แน่นอน ศักยภาพด้านนี้ต้องถือว่าเท่ากัน

ข้อเสียเปรียบของเป๊ปซี่คือ เป๊ปซี่ จะไม่มีแบบบรรจุขวดและคืนขวดที่ตนเองเคยเป็น "จ้าวตลาด" โดยเฉพาะที่ขายในร้านอาหาร ซึ่งกล่าวกันว่าจุดแข็งที่สุดของเป๊ปซี่เดิมคือ บริษัทมีสายส่งหรือจัดจำหน่ายที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด สามารถกระจายสินค้าไปที่จุดขายย่อยๆ เป็นแสนๆ แห่งทั่วประเทศ แต่ขณะนี้จุดที่แข็งที่สุดกลายเป็นของเอส

นี่อาจจะเป็นจุดที่ชี้เป็นชี้ตายในสงครามได้ เพราะน้ำดำในเมืองไทย เป็นน้ำที่เรากินพร้อมกับอาหารเป็นจำนวนมาก และด้วยราคาที่ถูกกว่าอาจทำให้เป๊ปซี่ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่โตนี้ ไปให้กับเอสและโค้ก ที่อาจจะเข้าแทรกด้วย ประเด็นนี้เราต้องดูกันต่อไปว่า เป๊ปซี่จะแก้เกมนี้อย่างไร โดยเฉพาะระยะสั้นถึงกลางที่ระบบคืนขวด จะยังอยู่ในไทยต่อไปอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง

ข้อเสียเปรียบของเป๊ปซี่ด้าน "กายภาพ" ที่อาจจะหาซื้อได้ยาก และมีราคาแพงกว่าในร้านอาหาร ได้รับการชดเชยโดยความได้เปรียบด้านจิตใจ นั่นคือ "ชัยภูมิ" ของเป๊ปซี่คือ เป็นน้ำดำที่ "อร่อยที่สุด เพราะหวานและซ่าพอดี" ในความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับการดื่มเป๊ปซี่มานาน และบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดเหนือกว่าคู่แข่งมาก

จริงๆ อยู่ ในช่วงสั้นๆ ที่เป๊ปซี่ยังไม่พร้อมหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการจัดจำหน่าย และการเข้าถึงร้านอาหารในราคาที่เท่ากับคู่แข่ง แต่ระยะต่อไปเมื่อบริษัทแก้ปัญหานี้ได้ในระดับหนึ่ง ก็เป็นไปได้ที่เป๊ปซี่จะสู้รบและได้ชัยชนะในศึกน้ำดำอีกครั้งหนึ่ง

ข้อสรุปของผมคือ เป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่า สุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้ชนะในศึกน้ำดำและชาเขียว ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งที่ผมพอจะคาดได้คือ สงครามจะทำให้บริษัททั้งหลายบาดเจ็บมากกว่าที่จะได้ผลดี ระหว่างที่ยังไม่เห็นผู้ชนะที่ชัดเจน ผมคงจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นของพวกเขา

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2555

VI กับ ชีวจิต

การเสียชีวิตของ ดร.สาทิส อินทรกำแหง นักวิชาการผู้ริเริ่มแนวความคิด "ชีวจิต" ในไทยเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนั้น  ทำให้ผมหวนคิดถึงแนวคิด การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีอะไรหลายๆ อย่างคล้ายคลึงกันแม้จะเป็นคนละ "วิชา" นั่นคือ ชีวจิตเป็นเรื่องของสุขภาพ แต่ VI เป็นเรื่องเงินทอง
เรื่องแรก ที่เหมือนกันคือ ชีวจิตและ VI ต่างเป็นแนวความคิดที่เป็น "กระแสใหม่" ที่ขัดแย้งกับความคิด หรือความเชื่อ หรือสิ่งที่คนไทยก่อนหน้าปฏิบัติอยู่ คนเชื่อหรือเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามแนวทางใหม่นี้คือ คนมีความคิดก้าวหน้า พร้อมรับกับทฤษฎีใหม่ๆ และเสาะแสวงหาหนทางดีกว่าสำหรับตนเองเรื่องสุขภาพ และการลงทุน พวกเขาเห็นแนวทางเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อ และยอมรับกันมาตลอด ไม่ใช่สิ่งวิเศษหรือดี พวกเขาอาจจะมีความเชื่อลึกๆ ว่า การเป็น "คนส่วนใหญ่" คุณอาจเป็นได้แค่ "ค่าเฉลี่ย" ไม่มีทางที่คุณจะ "เป็นเลิศ" ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพหรือเงินทอง พวกเขาจึงรับแนวความคิดชีวจิตและ VI ได้รวดเร็วและเต็มใจ แม้การปฏิบัติตามไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจและความเชื่อมั่นแรงกล้า
ข้อสอง แนวความคิดเรื่องชีวจิต การเริ่มต้นจริงๆ น่าจะเกิดจากหนังสือ "ชีวจิต" การใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2536 หลังจากนั้นพิมพ์ซ้ำอีกหลายสิบครั้ง ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นหนังสือขายดีที่สุด แทบไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ ประมาณกันว่าคนเขียนคือ ดร.สาทิส น่าจะทำเงินได้หลายสิบล้านจากค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งสมัยนั้น ถือว่าเป็นสุดยอดการเขียนหนังสือ อาจคล้ายๆ กับสังคมตะวันตกที่ว่า การเขียนหนังสือ ทำให้คุณรวยได้ถ้าหนังสือติดตลาดจริง ๆ

ส่วนการเริ่มต้นของVI เมื่อปี 2542 เริ่มจากหนังสือ"ตีแตก" กลยุทธ์ลงทุนในภาวะวิกฤติ ที่ผมเขียน หลังจากนั้นตีพิมพ์ใหม่ซ้ำอีกเป็นสิบครั้งจนถึงปัจจุบัน ตอนที่หนังสือออกขายช่วงปีแรกๆ หนังสือไม่ได้ขายดี เหตุผลเพราะความสนใจเรื่องหุ้นยังมีน้อย เมืองไทยยังไม่ฟื้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นคนไม่มีเงินหรือจิตใจที่จะซื้อหุ้น ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้น และคนเริ่มเห็นว่าแนวทาง VI เป็นทางเลือกที่ดี หนังสือจึงขายดีขึ้นทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปนับสิบปีแล้ว

ข้อสาม แนวทางชีวจิต ไม่ใช่แนวทางใหม่ในต่างประเทศ ที่จริงผมคิดว่า แนวทางที่คล้ายกัน และเป็นพื้นฐานของชีวจิต มาจากแนวความคิด Macrobiotic ที่มีมานานพอควร หรือแนวทางการกินเจของจีนที่มีมานานพันปี และตะวันตกนำไปศึกษา และพบว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมาก และเขียนเป็นเอกสารไว้ เช่นเดียวกัน การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment เบน เกรแฮม นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1934 หรือ 80 ปีมาแล้ว ผ่านหนังสือชื่อ Securities Analysis และต่อมาคือ Intelligent Investor ซึ่งได้รับการยอมรับ และใช้กันอย่างกว้างขวางในสหรัฐมานาน และคนที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างก็มีมากมาย ซึ่งหนังสือเรื่องตีแตก หรือความคิดเรื่องการลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยอิงจากพื้นฐานนั้น ทั้งชีวจิตและ VI ต่างเป็นแนวความคิด หรือกระแสของโลกที่ถูกนำเข้ามาในไทยช่วงเวลาที่เหมาะสม และกลายเป็นกระแสที่คนไทยน้อมรับอย่างมีชีวิตชีวา

กระแสของชีวิตและของ VI ช่วงแรกๆ เนื่องจากความใหม่ จึงมีความรุนแรง คนที่ศึกษาและนำมาปฏิบัติจำนวนมากต่างเห็นผล "มหัศจรรย์" เรื่องของชีวจิต คนที่เป็นมะเร็งระยะท้ายๆ หลายคนบอกว่าผลของการใช้หลักการแบบชีวจิตทำให้เขาหายจากมะเร็งได้ เช่นเดียวกัน นักลงทุนแบบ VI จำนวนมากบอกว่าหลังจากการลงทุนในแนวนี้ พอร์ตการลงทุนเติบโตมหาศาล หลายคนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน บางคนมีเงินเป็นร้อยล้านก่อนอายุ 30 ปี บางคนเป็นเศรษฐีพันล้านเมื่ออายุยังไม่ห้าสิบ

ผมไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ความสำเร็จทั้งเรื่องชีวจิตและ VI ที่กล่าวถึง ทั้งหมดมาจากการปฏิบัติตามหลักการจริง หรือมีปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย เหนือสิ่งอื่นใดคือ มะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อนมาก คนที่หายหรือไม่ตายจากมะเร็งระยะท้าย บางทีมาจากสาเหตุต่างๆ หลายอย่างที่เราไม่รู้ เช่นเดียวกัน คนที่รวยจากการลงทุนแบบมโหฬารโดยไม่ได้ใช้หลักการ VI ก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะตลาดหุ้นช่วง "ขาขึ้น" อย่างแรงมายาวนาน ความ "มหัศจรรย์" อาจเป็นคำกล่าวที่ "เกินไป" ก็ได้ พูดง่ายๆ หลักการทั้งชีวจิตและ VI อาจดีมากๆ ถ้าเราใช้ แต่อย่าหวังว่า เป็นยาวิเศษที่จะบันดาลสิ่งมหัศจรรย์กับเราได้เสมอ

เมื่อมีกระแสเรื่องชีวจิตเกิดขึ้น คนที่ศึกษาและปฏิบัติตามในแนวเดียวกันก็ตามมา และแน่นอน ความหลากหลายก็เกิดขึ้น เริ่มต้นน่าจะเกิดจากการที่ "สามารถ" ช่วยรักษามะเร็ง ต่อมาก็มีกระแสว่าช่วยให้มีชีวิตยืนยาวจนมีคนตั้งชมรม "คนอยู่ 100 ปี" เพราะพวกเขาเชื่อว่า การใช้หลักการการกินอยู่ ออกกำลังกาย และการทำจิตใจที่ถูกต้อง การอยู่ได้จนถึงร้อยปีไม่น่าจะมีปัญหา

เช่นเดียวกัน เรื่อง VI ช่วงแรกอาจเป็นแค่ว่า เป็นหลักการลงทุนที่เน้นความปลอดภัยได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระยะยาว แต่ต่อมาเมื่อมีคนเข้าร่วมมากขึ้นและประสบความสำเร็จสูงขึ้นก็เริ่มที่จะมี แนวความคิดทำนอง ชมรม "คนพันล้าน" หรือคนที่จะมี "อิสรภาพทางการเงิน" ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่เกิน 40 ปี โดยทั้งสองเรื่อง "ผู้นำ" ของความคิดต่างก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เห็น หนทางที่อยู่ได้ถึง 100 ปี หรือหนทางรวยเป็นพันล้าน หรือมีอิสรภาพทางการเงิน ต้องใช้เวลา ต้องรอการพิสูจน์

การเสียชีวิตของอาจารย์สาทิสในวัย 86 ปี ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่จุดความคิดผม ก่อนหน้านี้ คุณทวี บุตรสุนทร อดีตรองผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเคยประกาศว่าจะอยู่ถึงร้อยปี เสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี นี่อาจเป็นเครื่องเตือนว่า มีปัจจัยมากมายที่กำหนดสุขภาพและอายุขัยของเรา หนึ่งในนั้นที่สำคัญ หรือสำคัญกว่า คือยีนส์ของมนุษย์ที่อาจจะกำหนดวิถีชีวิตของเราไว้แล้วถึง 60-70% เรื่องการลงทุนก็เช่นกัน ช่วงเร็วๆ นี้ VI ไทยอาจจะรู้สึก "เหนือโลก" ด้วยผลงานการลงทุนที่อาจ "สุดยอด" ไม่มี VI ประเทศไหนเสมอ หลายคนตั้งเป้าหรือคิดไปไกลว่าเขาจะโตต่อไปได้ในอัตราเช่น ปีละ 20-25% ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นมหาเศรษฐี

การลงทุน เป็นเรื่องที่อาจถูกกำหนดไว้เหมือนกัน โดยสิ่งที่เรายังไม่รู้ สิ่งที่เรารู้ คือ คนที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุดของโลกในระยะยาวเช่น บัฟเฟตต์ หรือ โซรอส ก็คือปีละ 20-25% ถ้าเราตั้งเป้าเท่ากับเขาอาจหมายความว่า เราเป็นนักชีวจิตที่ตั้งเป้าอยู่เกิน 100 ปี ซึ่งความเป็นไปได้อาจน้อย สำหรับผม คิดเหมือนโซรอสที่ว่า เราไม่ “Invincible” อย่าคิดว่าคุณจะ "ไม่ตาย" ในการลงทุน…และชีวิต หลักการชีวจิต เริ่มกลับไปสู่สถานะปกติเหมือนในต่างประเทศแล้ว ในไม่ช้า VI ก็คงจะตามกันไป นั่นคือ ก็ดีไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ "มหัศจรรย์" อย่างที่เป็นในช่วงนี้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2555

คุณค่าของความดัง

เมื่อเร็วๆ นี้ผมอ่านเจอข่าวเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ ไทเกอร์ วู้ด อดีตนักกอล์ฟหมายเลขหนึ่ง ที่เคยโด่งดังก้องโลกของวงการกีฬา .ข่าวบอกว่าวู้ดทำรายได้ จากการแข่งขันทะลุ 100 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 3,000 ล้านบาท ต้องบอกว่ามากมายสำหรับคนที่ทำงานใช้แรงกายแรงใจ และการฝึกฝนอย่างหนักมาตลอดชีวิต ซึ่งไม่ต่ำกว่า 30 ปี แปลว่าโดยเฉลี่ย เขาทำเงินจากการแข่งขันได้ปีละ 100 ล้านบาท หรือเดือนละ 8-9 ล้านบาท น่าจะเป็นนักกีฬาที่ทำเงินมากที่สุดคนหนึ่ง และนี่คือ "คุณค่าของการทำงาน" 

ความมั่งคั่งของ ไทเกอร์ วู้ด จากการประมาณของผู้รู้ที่ติดตามข้อมูลส่วนตัวของเขาบอกว่าอยู่ที่ 600 ล้านดอลลาร์ หรือ 18,000 ล้านบาท คิดเป็น 6 เท่าของรายได้ที่เกิดจาก "น้ำพักน้ำแรง" เงิน 500 ดอลลาร์ที่เกินมานั้น มาจากการโฆษณาและการเป็นพรีเซ็นเตอร์ต่างๆ ให้กับสินค้า หรือบริษัทที่จ้างเขาตลอดเวลาที่เขาเป็นคนดัง มีชื่อเสียงในฐานะนักกอล์ฟที่โดดเด่นในระดับตำนานมานับสิบปี สำหรับผมแล้ว นี่คือ "คุณค่าของความดัง" ซึ่งในยุคสมัยนี้มีค่าสูงลิ่วโดยเฉพาะในสังคมที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ สูงขึ้นเรื่อย ๆ

ในเมืองไทยนั้น ปรากฏการณ์เรื่องของ "คุณค่าของความดัง" เติบโตขึ้นก้าวกระโดดในระยะหลังๆ ที่สังคมของเรารวยขึ้นเรื่อยๆ ผมยังจำได้ว่าเมื่อสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก จนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ดาราที่เป็นซูเปอร์สตาร์ในสมัยนั้นมีเพียง 4-5 คนในแต่ละทศวรรษ พวกเขาเหล่านั้น มักแสดงหนังกันเป็นร้อยๆ เรื่องต่อเนื่องกัน บางคนต้องตาบอด เพราะต้องมองแสงไฟที่จ้ามากในการถ่ายทำภาพยนตร์ในสมัยนั้น แต่รายได้จากการแสดงกลับน้อยมาก ผมไม่รู้ว่าเท่าไร รู้แต่ว่าเมื่อพวกเขาเลิกแสดงไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นคนร่ำรวยอย่างที่ควรจะเป็น เทียบแล้วยังด้อยกว่าคนทำงานบริษัทที่กลายเป็นผู้บริหารมาก

ที่จริงในสมัยนั้น แทบจะพูดกันว่า ถ้าคุณเรียนจบมหาวิทยาลัย คุณจะไม่เลือกเป็นดาราด้วยซ้ำ เพราะอาชีพดารา "เต้นกินรำกิน" ไม่ใคร่จะมี "ศักดิ์ศรี" และคุณอย่าหวังจะได้แต่งงานกับ "ไฮโซ" ในสังคม ความดัง มีคุณค่าที่เป็นเม็ดเงินน้อยมาก

ดาราไทยสมัยนี้ อาจไม่ต่างกับดาราในฮอลลีวู้ดมากนัก ในแง่ของสัดส่วนรายได้ที่มาจากการแสดงและการโฆษณา ดาราระดับซูเปอร์สตาร์ของไทยเดี๋ยวนี้ ทำเงินเป็นร้อย และอาจมีที่ทำเงินได้แล้วเป็น 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากชื่อเสียง หรือ "ความดัง" แม้นักกีฬาจะยังทำเงินไม่ได้มากเท่า เพราะไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพ แต่นักกีฬาที่ดังมากๆ บางคนอาจเพราะได้เหรียญในกีฬาโอลิมปิก ก็ทำเงินได้หลายสิบล้าน หรือบางคนเป็นร้อยล้านบาทจาก "ความดัง"

จริงอยู่ ถ้าฝีมือการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การร้องเพลง การพูด และการเล่นกีฬาไม่ดี หรือโดดเด่นพอ "ความดัง" ก็จะไม่เกิด แต่แค่ทำงานได้ดี หรือมีฝีมือในการทำงานอย่างเดียว ความดังอาจไม่มา ความดังเป็นเรื่องที่ต้อง "จัดการ" ต้องมีกลยุทธ์ และวางตำแหน่งแบบการตลาด เพื่อให้ความดังขึ้นสูงและคงระดับไว้ให้นานเท่าที่จะทำได้ พูดอีกทางหนึ่งคือ ความดังคล้ายๆ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เจ้าตัวจะต้อง "ขาย" ให้กับคนในสังคม คนที่จัดการไม่เป็น หรือทำผิดพลาดจะทำให้ "ความดัง" เสียหาย บางครั้งถึงขั้น "หายนะ"

ตัวอย่างก็คือ ไทเกอร์ วู้ด ที่เกิดเรื่องฉาวโฉ่ จนความดัง กลายเป็นด้านที่ไม่ดี ทำให้คุณค่าของความดังตกลงไปมาก นั่นคือ เจ้าของสินค้าถอนโฆษณาออก และสินค้ารายใหม่ไม่ใช้เขาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รายได้ที่จะมาจากความดังตกฮวบ และคงไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก

บางครั้ง "ฝีมือ" หรือความสามารถในการทำงาน อาจไม่จำเป็นมากนัก พูดง่ายๆ บางคน "ปั้นความดัง" ได้ เพราะหลายเรื่องผลงานการทำงานพิสูจน์ไม่ได้ เหนือสิ่งอื่นใด สังคมอาจไม่ต้องการข้อพิสูจน์ ประเด็นจริงๆ คือ ขอให้สังคม "เชื่อ" ก็เพียงพอจะทำให้คนบางคนดัง

ถ้าใครทำให้คนเชื่อว่าเขามีความรู้ หรือความสามารถสูง แม้เขาจะไม่รู้จริง เขาก็กลายเป็นคนดังได้ และความดังนั้น เขาก็สามารถแปลงให้เป็นเงิน กลายเป็นคุณค่าของความดัง ที่บางทีอาจจะเหนือกว่าคนที่มีความสามารถจริงๆ ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดวงการหนึ่ง คือในวงการของ หมอดูและคนที่อ้างว่ามี "ญาณพิเศษ" ทั้งหลาย นี่จะรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์ด้วยหรือเปล่าผมก็ไม่แน่ใจ เพราะในแวดวงนี้ แทบจะไม่มีใครเคยพิสูจน์ว่าใครที่คาดหรือทายได้ถูกต้องจริง คนส่วนมากจะฟัง และเชื่อในคนที่อธิบายได้อย่าง "มีเหตุมีผล" น่าเชื่อถือ หรือเป็นคนที่มี "ภาพลักษณ์" หรือแม้แต่หน้าตา หรือเสียงที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจคนดูคนฟัง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือ สามารถ "สื่อ" ถึงคนจำนวนมากผ่านสื่อมวลชน ที่เข้าถึงผู้คนที่เป็นเป้าหมายอย่างกว้างขวาง

คุณค่าของความดังนั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้มีมากขึ้น อยู่ที่วิวัฒนาการของสื่อที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ เรื่อง หรือหลายๆ กรณีอยู่ที่เจ้าตัวที่จะบริหารหรือใช้ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นสมัยก่อน หมอดูที่มีชื่อเสียง คุณค่าของความดัง คือ ทำให้มีลูกค้ามาหามากขึ้น และค่าดูอาจปรับสูงขึ้น แต่นี่ไม่ได้ทำเงินมากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ทำให้หมอดูสมัยนี้ร่ำรวยเป็นเศรษฐี อยู่ที่การรู้จักใช้สื่อ และเปิดให้คนดูหมอผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และฟังจากเทปมากกว่า

เรื่องของคุณค่าของความดัง ในหลายๆ เรื่องทำเงินไม่ได้ อย่างข้าราชการที่ดัง จากความคิดสร้างสรรค์ แต่การทำเงินจากความดังบางทีทำไม่ได้ ก็เป็นความดังที่มีประโยชน์แน่นอน และคนส่วนใหญ่ต้องการ ความดังบางเรื่อง เจ้าตัวนำมาใช้ทำเงินได้ และไม่ได้ "สึกหรอ" คือยิ่งทำยิ่งดี บางเรื่องถ้าเจ้าตัวเอาไปใช้ทำเงิน อาจเกิดสึกหรอได้ หรือเรียกว่า "คุณค่าของความดังลดลง" ความหมายคือ คนอาจมองไม่ดี เจ้าตัวต้อง "ชั่งน้ำหนัก" ว่า อยากจะได้เงิน หรือเก็บเป็น "กล่อง" ไว้ และนี่มาถึงเรื่องของการลงทุนในหุ้น
การเป็น นักลงทุนชื่อ ผมคิดว่ามีคุณค่าและเปลี่ยนเป็นเม็ดเงินได้ถ้าเขาต้องการ เหตุผลเพราะการเป็นนักลงทุนชื่อดัง ทำให้มีคนซื้อหรือขายหุ้นตามอย่างที่เรียกว่า เป็นนักลงทุนแบบ Celebrity Investment หรือ CI หุ้นที่ "เซียน VI" ซื้อไว้แล้ว อาจจะปรับตัวขึ้นรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น หุ้นที่ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ซื้อ มักจะมีราคาขึ้นทันทีที่ข่าวออกไป

ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าบัฟเฟตต์ต้องการทำเงินแบบง่ายๆ เพียงแต่ซื้อหุ้นบางตัว และปล่อยข่าวออกไป เพื่อให้หุ้นวิ่งแล้วก็ขาย แล้วก็ไปทำกับหุ้นตัวใหม่ แต่แบบนี้ชื่อเสียงของเขาก็จะสึกหรอลง เขาจึงไม่ทำ เขาจะถือยาว ไม่ต้องรีบขาย ว่าที่จริงถ้าซื้อแล้วหุ้นวิ่งเขาไม่ชอบ เขาชอบซื้อเยอะๆ ในราคาที่ถูกๆ เพราะถ้าเขาไม่ขายก็ไม่มีประโยชน์ที่หุ้นจะขึ้นไปเร็วๆ นี่คือ การรักษาคุณค่าของความดังของนักลงทุน นั่นคือ ไม่เปลี่ยนความดังเป็นเม็ดเงิน เม็ดเงินต้องมาจากฝีมือ และความสามารถในการลงทุนเท่านั้น

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 23 ตุลาคม 2555

Panic

นักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมานานสิ่งหนึ่ง ที่เขาจะต้องพบคือ ตลาดหุ้นเกิด "Panic" ซึ่งถ้าแปลตรงตัว คือ ตลาดหุ้นเกิดอาการ "ตกใจกลัว"  หรือ "อกสั่นขวัญหาย" เป็นอาการที่ราคาหุ้นทั้งตลาด หรือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม หรือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตกลงมาอย่างหนักในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภายในวันเดียวดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาถึง 5% หรือถึง 10% และทำให้ตลาดหุ้นต้องพักการซื้อขายเพื่อให้คน "หายตกใจ" และมีเวลาพินิจพิจารณาว่าราคาหุ้นนั้นเหมาะสมกับมูลค่าที่แท้จริงหรือไม่ และนักลงทุนควรที่จะขายหรือจะซื้อ โดยอิงจากเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ที่เกิดจากจิตวิทยาหมู่
Panic ของตลาดหุ้นทุกครั้งนั้น แม้ในระยะสั้นๆ สิ่งที่เหมือนกันคือ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงและรวดเร็ว แต่สาเหตุมักจะแตกต่างกันออกไป  และที่สำคัญคือ การปรับตัวของดัชนีหลังจากนั้น อาจจะแตกต่างกันมาก  

ลองมาดูธรรมชาติของ Panic แต่ละแบบว่าเป็นอย่างไร การเรียนรู้นี้จะช่วยทำให้เราสามารถเอาตัวรอด "หนีตาย" ได้ทัน หรือไม่ก็อาจจะทำกำไรได้งดงามอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวกลับขึ้นไปอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น

Panic แบบแรกคือสิ่งที่เรียกว่า "Panic เก๊" นี่คือ Panic ที่เกิดจากสาเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการดำเนินงานของตลาด หรือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน พูดอีกทางหนึ่งคือ ไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจ หรือกระทบน้อยมาก แต่อาจเกี่ยวกับเรื่องการเมืองการปกครอง ซึ่งอาจรวมถึงความวิตกเรื่องสงคราม หรือความรุนแรงทางสังคมที่ทำให้คน "ตกใจ" และอาจจะ "จินตนาการ" ไปไกล และเทขายหุ้นโดยไม่คิดถึงพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและตลาดหุ้นโดยรวม  

จริงอยู่ นักลงทุนส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่อาจจะ "ไม่กลัว" แต่พวกเขาคิดว่า ถ้าคนอื่นกลัวและขายหุ้นอย่างหนัก หุ้นต้องลงแรง ดังนั้น พวกเขาจำเป็นต้องรีบขายหุ้นก่อนเหมือนกัน ผลคือ ตลาดก็ "ถล่ม" กลายเป็น Panic ที่ "เก๊" เมื่อหุ้นตกลงไปมากพอ คนที่มีเหตุผลและคนที่หายตกใจแล้วกลับมาซื้อหุ้นที่มีราคาถูก "คุ้มค่า" ส่งผลให้ราคาหุ้นวิ่งกลับอย่างรวดเร็ว บางทีสูงกว่าตอนก่อน Panic ด้วยซ้ำ

ตัวอย่างของ Panic เก๊ มีมากมาย บางทีมากกว่า Panic จริงด้วยซ้ำ เช่น ในอเมริกา เวลาประธานาธิบดีตาย หรืออาจป่วยรุนแรงเป็นตายเท่ากัน ราคาหุ้นจะดิ่งเป็น Panic แต่ทุกครั้งจะปรับตัวกลับรวดเร็ว เพราะเรื่องแบบนี้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจน้อย ตัวอย่างเช่น ตอนที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบยิงเสียชีวิต ดัชนีหุ้นตกลงไปถึง 3% ในวันเดียว แต่พอวันรุ่งขึ้น ดัชนีกลับปรับขึ้น 4.5% หลังจากนั้นหุ้นวิ่งต่อ  

ในเมืองไทย ก็มี Panic เก๊ อยู่เรื่อยๆ  เช่นเมื่อปีก่อนที่เกิดเหตุเรื่องน้ำท่วม หรืออะไรบางอย่างผมจำไม่ได้ ดัชนีตลาดหุ้นตกลงไปเกือบ 10% โดยที่ดูไปแล้วบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่เกือบทั้งหมด แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่เดือน ดัชนีหุ้นวิ่งกลับขึ้นมา และสูงกว่าก่อนเกิด Panic มาก

Panic แบบที่สองเรียกว่า "Panic ฟองสบู่แตก" นี่คือกรณีที่หุ้นขึ้นสูงมากเป็นฟองสบู่ ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจ หรือธุรกิจบางอย่าง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือในอเมริกาช่วงปีทศวรรษ 1990 ของหุ้นไอที มีความเฟื่องฟูมากส่งผลให้คนเข้ามาเก็งกำไรกันอย่าง "บ้าคลั่ง" ราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐานเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน Panic ฟองสบู่ จะเกิดขึ้นช่วงปลายของ "ยุค" ซึ่งอาจกินเวลาเป็นสิบปีเลยก็ได้  

เมื่อฟองสบู่ "แตก" ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์บางอย่างที่รุนแรงเกี่ยวข้องกับหุ้นในกลุ่มนั้น ราคาจะตกลงแรงเป็น Panic วันแรกๆ หลังจากนั้น หุ้นในกลุ่มก็ตกลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากผลการดำเนินงาน หรือตัวอุตสาหกรรมยังเติบโตต่อไป เพียงแต่ไม่หวือหวาเหมือนอดีต ราคาหุ้นที่ลดลง ทำให้ค่า PE  ของหุ้นลดลงจากที่เคยสูงลิ่ว พื้นฐานของกิจการ อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ความคิดและความเชื่อรวมถึง "ความโลภ" ของคนนั้นเปลี่ยนไป

ตัวอย่างของฟองสบู่แตก ที่ทำให้ตลาดหุ้นเกิด Panic มีมากมาย ตั้งแต่สมัยฟองสบู่ "ดอกทิวลิป" ในดัตช์ หรือเนเธอร์แลนด์เมื่อ 370 ปีก่อน หรือฟองสบู่ "ทะเลใต้" ในอังกฤษเมื่อ 300 ปีที่แล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ ปี 2001 ฟองสบู่ "ดอทคอม" ในอเมริกา เมืองไทยน่าจะมีฟองสบู่ของอสังหาริมทรัพย์ช่วง 3-4 ปีก่อนปีวิกฤติ 2540  เป็นต้น

Panic แบบที่สามคือ "Panic ติดเชื้อ" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้น เพราะการลุกลามจากที่อื่น โดยเฉพาะจากประเทศ หรือตลาดขนาดใหญ่เช่นตลาดหุ้นสหรัฐ หรือตลาดหุ้นที่อยู่ในย่าน หรือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกันใกล้ชิด เช่น เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย เป็นต้น

Panic ติดเชื้อ ถ้าไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ "ติดเชื้อ" ไปด้วย นั่นคือ ประเทศที่เกิด Panic มีปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหา ลุกลามไปยังประเทศอื่น ทำให้ประเทศนั้นมีปัญหาไปด้วย  

ในกรณีแบบนี้ Panic ติดเชื้อน่าจะ "หาย" เร็ว ตลาดหุ้นน่าจะกลับมาได้เร็ว เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากพื้นฐาน เกิดจากคนกลัว และเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นที่มักขึ้น หรือลงตามกัน เป็นผลสำคัญจากการไหลของเม็ดเงินที่เป็นโลกานุวัตร

ตัวอย่าง Panic ติดเชื้อที่เห็นชัดเจน คือกรณีตลาดหุ้นวิกฤติครั้งใหญ่ในสหรัฐปี 1929 กรณีแบล็คมันเดย์ในเดือนต.ค.ปี 1987 และปี 2008 กรณีซับไพร์ม ในเอเชียที่ติดเชื้อคือ ปี 2540 ที่ตลาดหุ้นไทยเกิดวิกฤติ และลามไปในตลาดหุ้นเกิดใหม่เกือบทุกประเทศในเอเชีย

สุดท้ายคือ "Panic ที่แท้จริง" นี่คือ Panic ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์จริง ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้น ทำให้เกิดการถดถอย หรือตกต่ำทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อผลประกอบการ และฐานะของบริษัทจดทะเบียนรุนแรง บางครั้งทำให้เกิดการล้มละลายอย่างเป็นระบบ นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุก ต้องตระหนัก และเข้าใจว่ามูลค่าของกิจการจะต้องลดลงมาก 

การตกลงแรงของหุ้นเป็นเรื่องที่มีเหตุผล และต้องใช้เวลายาวมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะปรับตัวกลับขึ้นมาอีก บ่อยครั้งเราไม่รู้ว่าหุ้นตกไปถึงไหน บ่อยครั้งใช้เวลาหลายปีกว่าที่หุ้นจะตกถึงพื้น และหุ้นอาจนิ่งอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน จนกว่าเศรษฐกิจจะมีทางออก ตัวอย่างคือ กรณีวิกฤติตลาดหุ้นครั้งใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลายรวมถึงตลาดหุ้นยูโรโซนหลายๆ ประเทศในช่วงนี้

ผมแบ่งแบบของ Panic ออกเป็น 4 แบบ แต่ความเป็นจริงคือ หลายๆ ครั้งมีลักษณะผสมผสานคาบเกี่ยวกัน เช่น Panic ส่วนใหญ่มีลักษณะติดเชื้อด้วย หรือ Panic หลายๆ แบบมีองค์ประกอบเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอยู่ด้วย ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า เราต้องบอกได้ชัดเจนว่า Panic เป็นแบบไหนตายตัว แต่อยู่ที่รู้ Panic ที่กำลังเกิดขึ้น ยาวนานแค่ไหน และควรจะทำอย่างไรกับการลงทุน หลักสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า ผลประกอบการและฐานะทางการเงินของกิจการ หรือตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร และนั่นจะทำให้รู้ว่า Panic เป็นภัยคุกคาม หรือเป็นโอกาส

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 16 ตุลาคม 2555

เดจาวู

ดัชนีหุ้นไทยที่ ปรับตัวขึ้นมาก นับจากต้นปีที่ 1,025 จุด เป็น 1,311 จุด เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2555 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ28% ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมาก.ถ้านับจากปี 2540 ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี มีเพียง  4  ปีเท่านั้น ที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้นสูงกว่านี้ และนี่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็น VI  มีความรู้สึกว่า ตลาดหุ้นอาจมีราคาที่แพงเกินพื้นฐาน และมีโอกาสปรับตัวลงแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ค่า PE ของตลาดหุ้นไทย สูงลิ่วถึง 18 เท่า ขณะที่ยุโรปและโลก ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ส่วนตัวผมเอง ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า ตลาดจะปรับตัวลงแรงไหมในระยะเวลาอันใกล้ แต่โดยความสัตย์จริง ผมก็กลัวๆ อยู่เหมือนกัน เพราะลึกๆ แล้ว ผมมีอาการบางอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า เดจาวู นั่นคือ เกิดภาพหลอนจากความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เคยพบมาก่อน เป็นสิ่งที่ฝังใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยแทบล่มสลาย มาดูว่าอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกอย่างนั้น

ปรากฏการณ์แรกเลยที่ทำให้ผมนึกแบบนั้น คือ เรื่องหุ้น IPO นั่นคือ ช่วงที่หุ้นบูมแรงเป็นกระทิงก่อนปี 2540 มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดมากเป็นพิเศษ แน่นอน หุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไร และมักมีผลประกอบการกระท่อนกระแท่น จนถึงปีที่จะเข้าตลาดผลงานจะ "ก้าวกระโดด" และมี "อนาคต"  ที่สดใส แต่หุ้น IPO เหล่านั้น เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก ราคาปรับตัวขึ้นมหาศาล ส่วนใหญ่หลายสิบเปอร์เซ็นต์ บางบริษัทปรับขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมาก ส่วนใหญ่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่ขายให้กับประชาชน หุ้น IPO เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าบริษัททำอะไรและขายหุ้นในราคาเท่าไร อาการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ และนี่คือสัญญาณแรกที่บอกว่า ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินกว่าปกติ

เรื่องที่สองคือ การเทคโอเวอร์กิจการอื่นของบริษัทจดทะเบียน ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทในตลาดหุ้นที่ "ก้าวหน้าและก้าวร้าว" หลายกลุ่ม ใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการอื่นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตน ซึ่งทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นก้าวกระโดด กิจการส่วนใหญ่อาจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่บางทีก็เทคโอเวอร์บริษัทที่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือบางครั้งอาจแตกต่างกัน แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก

ทุกครั้งที่ประกาศเทคโอเวอร์ ราคาหุ้นก็ดีดตัวขึ้นมารับข่าว ตลาดเชื่อว่าการเทคโอเวอร์ จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นรวดเร็ว ตลาดเชื่อว่าคนที่เทคโอเวอร์ มีศักยภาพที่โดดเด่น การเทคโอเวอร์นั้น ไม่กระทบฐานะทางการเงินมากนัก เหตุผลเพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้น "ไม่มากเกินไป" บางบริษัทที่เทคโอเวอร์ก็ไม่ได้ใช้เงินสด แต่เป็นการ "แลกหุ้น" นั่นคือ บริษัทออกหุ้นใหม่ เอาไปให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกเทค หุ้นที่ออกใหม่นี้มีราคาขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกฝ่ายได้ประโยชน์

การเทคโอเวอร์จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซักระยะหนึ่งเราก็มี Takeover King หรือ "ราชันย์นักเทคโอเวอร์" ที่สร้างกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดได้ ขณะนี้แม้เราจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สัญญาณกระแสการเทคโอเวอร์ ก็เริ่มมาและเร่งตัวขึ้นอย่างน่าจับตามอง
เรื่องที่สาม ซึ่งน่าเกี่ยวกับสองข้อแรก คือ ช่วงก่อนปีวิกฤติ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ การเติบโตอยู่ในระดับ 5-6% แต่การส่งออกของประเทศเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลในขณะนั้น น่าจะอยู่ที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นบ้างหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจ คือ สินค้าไทยแข่งขันไม่ค่อยได้

นอกจากนั้น เรายังนำเข้ามหาศาลเพื่อ "ลงทุน" ในเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีการแข่งกันขยายโรงงานกันมากมาย ทำให้ไทยขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก นักเศรษฐศาสตร์ต่างพูดกันว่า คงไม่มีปัญหา เพราะการขาดดุลไม่ใช่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้ามาบริโภค แต่เป็นการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออกที่จะทำให้ดุลการค้าของเราดี ขึ้นในอนาคต พูดง่ายๆ ดูไปแล้วเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ไม่มีอะไรน่ากลัว

มองภาวะปัจจุบัน ตัวเลขการเติบโตของการส่งออก ดูเหมือนจะลดลงมากจากที่ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปี ภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุโรปยังมีโอกาสกลายเป็นวิกฤติได้อีก ครั้งนี้เรายังมีข้อ "ปลอบใจ" ตัวเองว่า เศรษฐกิจน่าจะดี เพราะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่าง "มโหฬาร" ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศคึกคัก การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีการทุ่มเงินมหาศาลในการลงทุน โดยเฉพาะในสาธารณูปโภค ซึ่งรวมถึงการป้องกันน้ำท่วมและการคมนาคม น่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นดี แม้ภาคการส่งออกจะย่ำแย่

พูดมาถึงจุดนี้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตลาดหุ้นไทยขณะนี้น่ากลัวพอสมควรในแง่ของตลาดหุ้น เพราะเรารู้ว่าตลาดหุ้นช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 หลังจากที่ขึ้นไปสูงลิ่วแล้ว ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนถึงวิกฤติในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็น "ตัวช่วย" ที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในครั้งนี้ คือ ฐานะทางการเงินของบริษัทต่างๆ รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีเงิน และเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นขณะนี้ นั่นคือ ช่วงก่อนวิกฤติ บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ต่างมีหนี้สินมหาศาล เป็นผลจากการขยายงาน "เกินตัว" เพราะคาดการณ์เศรษฐกิจจะดี และความต้องการของสินค้าจะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เมื่อเกิดปัญหาบริษัทต่างแทบเอาตัวไม่รอด ขณะที่ปัจจุบัน ฐานะทางการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ ค่อนข้างเข้มแข็ง และต่างป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่อาจเป็นอันตรายได้
ในส่วนของนักลงทุนในตลาดหุ้น ช่วงก่อนวิกฤติ พวกเขาเป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือไม่เป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก ส่วนกลุ่มที่เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ ยังมีอยู่ไม่มาก เมื่อเกิดวิกฤติ พวกเขาก็มีปัญหาทางการเงิน และต่างถอนตัวออกจากตลาดหุ้น แรงซื้อแทบไม่มี มีแต่แรงขาย หุ้นจึงตกแรงและซบเซาไปนาน

ขณะที่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า เราจะมีนักลงทุนที่ "มีเงินและไม่มีหนี้" อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนักลงทุนสถาบัน และมากขึ้นเรื่อยๆ เม็ดเงินของพวกเขาพร้อมจะเข้ามา "ช้อนหุ้น" ทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวลง  พูดง่ายๆ ตลาดหุ้นเราไม่ "เปราะบาง" เหมือนช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
ดังนั้น "เดจาวู" ของผมอาจเป็นแค่ "ภาพหลอน" ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 ตุลาคม 2555

HUNGER GAME...เกมล่าหุ้น

การเล่นหุ้นช่วง หุ้นบูมอย่างในช่วงนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่ผมได้ดูและรู้สึกว่าสนุกและมีข้อคิด หรือปรัชญาที่แหลมคม
หนังเรื่องนี้ทำมาจาก หนังสือที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ในระดับเดียวกับเรื่องแฮรี่พอร์ตเตอร์ชื่อ The Hunger Game  หรือแปลตรงๆ คือ "เกมของผู้ที่หิวโหย" เนื้อเรื่องคร่าวๆ มีว่ามหาอาณาจักรแห่งหนึ่ง ได้ปราบปรามรัฐที่เป็นกบฏสิบกว่าแห่งสำเร็จ หลังจากนั้นทุกปี แต่ละรัฐต้องส่งคนมารัฐละสองคน เพื่อเป็น "เครื่องบรรณาการ" ให้กับอาณาจักร เพื่อเข้าร่วม "เล่นเกม" ที่ชื่อว่า Hunger Game ซึ่งคนที่อยู่ในจักรวรรดิจะได้ชมสดแบบ "เรียลลิตี้โชว์"

กฎและวิธีการเล่นเกมนี้ คือ คนจำนวนยี่สิบกว่าคนนี้ จะถูกนำไปปล่อยไว้ในป่าพร้อมๆ กับกองอาหารและอาวุธต่างๆ หน้าที่ของแต่ละคนคือ พวกเขาต้องพยายามฆ่าคนอื่นให้หมด คนที่รอดเพียงคนเดียวจะเป็นผู้ชนะและจะกลายเป็น "ฮีโร่" ที่จะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ โดยที่ "ป่า" หรือ "สนามแข่งขัน" จะมีกล้องติดอยู่ตลอด 

นอกจากนั้น คนที่คุมเกมการแข่งขันซึ่งคล้ายๆ กับโปรดิวเซอร์ ยังส่งสัญญาณที่เป็นเสียง และปรับสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ส่งยา หรือสัตว์ร้ายเข้าไปในจุดที่ต้องการ เพื่อที่จะทำให้เกมน่าสนุกมากขึ้น

สาระสำคัญ นอกจากความสนุกสนานแล้ว ผมคิดว่าอยู่ที่เรื่องของการเผยถึง "สันดาน" ที่อยู่เบื้องลึกของคนเมื่อต้องเผชิญกับอันตรายที่ใหญ่หลวงคือความตาย  และกลยุทธ์ที่ถูกต้องในการเอาตัวรอด ประเด็นก็คือ ตั้งแต่เริ่มต้นการแข่งขันเมื่อทุกคนถูกปล่อยตัวข้างกองอาหารและอาวุธ  คนส่วนใหญ่ต่างก็รีบวิ่งเข้าไปหยิบฉวยอาวุธที่ตนเองถนัดและคว้าอาหารทันที คนที่ทำได้ก่อนก็จะพยายามฆ่าคนที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที  

นี่เป็นกลยุทธ์ที่ผิด โค้ช ซึ่งเป็นผู้ที่เคยชนะในการแข่งขันปีก่อนๆ บอกกับตัวเอก (นางเอก) ของเรื่องว่า ห้ามเข้าไปแย่งชิงอาวุธ หรืออาหารที่ถูกวาง "ล่อ"ไว้ เพราะในสถานการณ์แบบนั้น โอกาสที่จะถูกฆ่ามีสูง

กลยุทธ์ที่จะทำให้ชนะนั้น โค้ช บอกว่า เราต้องไม่พยายามฆ่าใครเลย สิ่งที่ต้องทำก็คือ พยายาม "หนี" หรืออย่างมากก็คือป้องกันตัว แม้จะมีโอกาส  เราก็จะต้องไม่ฆ่าถ้าไม่จำเป็น พูดง่ายๆ ว่าอย่าทำตัวให้เป็นเป้าหมายในการถูกล่า ตรงกันข้าม ปล่อยให้คนอื่นฆ่ากันเองดีกว่า

เหตุการณ์ในภาพยนตร์ ช่วงหนึ่งก็มีการรวมตัวของผู้เข้าแข่งขันกลุ่มหนึ่ง เพื่อไล่ล่าคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม นี่ก็เป็นเรื่องความคิดที่คนพยายามที่จะ "ร่วมกัน" เพื่อที่จะกำจัดคู่แข่งบางส่วนออกไป ซึ่งจะทำให้กลุ่มของตนได้ประโยชน์ แต่หลังจากนั้น พวกเขาก็ต้องฆ่ากันเอง ด้วยวิธีนี้ พวกเขาคิดว่าโอกาสที่ตนเองจะชนะก็มีมากขึ้น เรื่องทำนองนี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เช่น การที่รัสเซียทำสัญญาเป็น "พันธมิตร" กับเยอรมนีช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อที่จะแบ่งกันยึดประเทศที่อ่อนแอกว่า ที่ทั้งคู่ต่างก็อยากจะครอบครอง แต่ในที่สุดเมื่อสำเร็จแล้ว เยอรมนีก็หันกระบอกปืนใส่โซเวียต และรบกันรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สงครามของโลก

มองดูการซื้อขายหุ้นระยะนี้ ผมพบว่า บางทีนักเล่นหุ้นบางกลุ่ม อาจกำลังเล่น  Hunger Game กันอยู่ นั่นคือพวกเขากำลังเข้าไปเล่นหุ้นที่มีการเก็งกำไรรุนแรงมากที่ปรากฏตัวขึ้น มาแทบทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า 3-4 ตัว หุ้นเหล่านี้เท่าที่ผมสังเกตและใช้วิจารณญาณส่วนตัว ก็พบว่าเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติร่วมอย่างน้อย 2-3 อย่าง ได้แก่

ข้อหนึ่ง เป็นหุ้นที่มี Free Float หรือหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อย หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดทั้งหมดของหุ้นต่ำถึงต่ำมาก สรุปก็คือ หุ้นทั้งหมดที่เล่นกันได้ของหุ้นตัวนั้น คิดตามราคาตลาดแล้ว ส่วนใหญ่มีไม่เกิน 4-500 ล้านบาท ที่ใหญ่หน่อยก็มีไม่เกิน 2-3,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเม็ดเงินของนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ๆ แล้ว ต้องบอกว่าน้อยมาก ขนาดที่ว่า ถ้า "ขาใหญ่" ต้องการ เขาคนเดียวก็กวาดซื้อหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดได้ทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพราะมีนักเล่นหุ้นจำนวนมาก ที่พร้อมจะเข้ามาซื้อกันคนละเล็กละน้อยก็เพียงพอที่จะทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไป สู่ "สวรรค์ชั้นดาวดึงส์" ได้แล้ว

ข้อสอง หุ้นเหล่านั้น ไม่มีสถิติราคาหุ้นในอดีตที่ยาวพอที่จะทำให้คน "ติดยึด" หรือถ้ามีราคาก็เป็นราคาที่ "เก่า" มาก ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ ดังนั้น  เวลาที่ราคาจะปรับตัวขึ้นไป จึงไม่ค่อยมี "ข้อจำกัด"

ข้อสาม หุ้นที่จะวิ่งจริงๆ ส่วนใหญ่อยู่ในหุ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกที่ร้อนแรงที่สุดช่วงนี้คือ หุ้น IPO หรือหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาด โดยเฉพาะในตลาด  MAI  หุ้นกลุ่มที่สอง คือ กลุ่ม Turnaround หรือหุ้นที่ฟื้นตัวจากการล้มละลาย หรือปัญหารุนแรงทางธุรกิจ หรือการเงิน และกลุ่มสุดท้าย คือ หุ้นที่มีข่าวดี หรือเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของบริษัท เช่นจะมีคนมาเทคโอเวอร์ หรือเปลี่ยนธุรกิจของบริษัทใหม่ จากธุรกิจที่ย่ำแย่เป็นธุรกิจ "แห่งอนาคต"

การที่หุ้นดังกล่าวทั้งสามกลุ่ม ปรับตัวขึ้นไปรุนแรงมาก เช่น หุ้น IPO เข้าตลาดวันแรกขึ้นไปแล้วจากราคาจองหลายสิบหรือบางตัวหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ นั้น  ถ้ามองจากข้อมูลพื้นฐานที่ที่ปรึกษาการเงินคิดคำนวณไว้ น่าจะเชื่อได้ว่า ไม่น่าเป็นราคาที่เหมาะสม เหนือสิ่งอื่นใด ประวัติศาสตร์หุ้นยาวนานก็บอกอยู่แล้วว่า หุ้น IPO นั้น "It Probably Overpriced" ความหมายคือ ราคาที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อขายให้ประชาชนนั้น จะสูงเกินพื้นฐาน  หุ้นฟื้นตัวเอง บางครั้งโดยเฉพาะในช่วงแรกของการฟื้นตัวอาจจะดูดีกว่าปกติ  

แต่หลังจากนั้น อาจจะกลับไปสู่ "พื้นฐานที่แท้จริง" ของธุรกิจที่ว่ามันอาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดี และถ้าจะเป็นข้อเตือนใจ คือ คำพูดของ วอร์เร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า "Turnarounds Seldom Turn Around" แปลว่าหุ้นฟื้นตัวนั้น น้อยครั้งจะฟื้น สุดท้ายคือหุ้นที่มีข่าวระดับ เปลี่ยนแปลงธุรกิจ หรือพื้นฐานของธุรกิจ นี่เป็นอะไรที่ต้องระวังมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่กิจการจะประสบความสำเร็จในชั่วข้ามคืนในสิ่งที่ตน เพิ่งจะเริ่ม

การเข้าไปร่วมเล่น "Hunger Game" หรือที่ผมอยากจะเรียกว่า "เกมล่าหุ้น" ผมคิดว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะบ่อยครั้ง เราเข้าไปช่วงที่ราคาขึ้นไปมากแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด อาจมี "โปรดิวเซอร์" หรือคนจัดฉากและกำหนดพล็อตเรื่องไว้แล้ว โอกาสชนะอาจมีน้อยกว่าที่คิด  

จริงอยู่ เกมอาจท้าทายน่าตื่นเต้น ผู้ชนะอาจเป็น "ฮีโร่" แต่นี่เป็นคนส่วนน้อย อาจไม่ใช่คนเดียวแบบในหนัง แต่ "คนตาย" อาจมีมากกว่า ถ้าเรารักจะเล่นก็ควรต้องมีกลยุทธ์ที่ดีเพื่อเอาตัวรอด แต่สำหรับผมแล้ว ผมปฏิเสธที่จะเล่น เราไม่ได้ถูกบังคับอย่างในภาพยนตร์ให้ต้องเข้าร่วมในเกมล่าหุ้นนี้ ผมเองเชื่อในสุภาษิตที่ว่า ความตื่นเต้นกับผลตอบแทนในตลาดหุ้นนั้น มักจะไปกันคนละทาง

 บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 ตุลาคม 2555