Sunday, December 13, 2009

กองทุนรวมหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อสัปดาห์ก่อนหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจลงข่าวเกี่ยวกับกองทุนหุ้นโดย สาระสำคัญอยู่ที่ว่าคนไทยไม่ใคร่นิยมลงทุนในกองทุนหุ้นเท่าใดนัก จากตัวเลขจำนวนกองทุนหุ้นทั้งหมด 105 กอง นั้นพบว่า กองทุนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1000 ล้านบาทนั้นมีเพียง 12 กองทุนและเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็เพียงพันล้านต้น ๆ ในขณะที่กองทุนหุ้นที่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทนั้นมีจำนวน 16 กองทุน และกองทุนหุ้นส่วนใหญ่หรือจำนวน 62 กองทุนนั้นมีพอร์ตขนาด 100-500 ล้านบาท นอกจากความไม่สนใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นแล้ว เนื้อข่าวยังบอกด้วยว่าคนที่ซื้อหน่วยลงทุนหุ้นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความ สำคัญกับฝีมือในการลงทุนของผู้จัดการกองทุนแต่เน้นที่ความสะดวกในการซื้อขาย และค่าธรรมเนียมในการบริหารที่ถูกมากกว่า

ผมเองเห็นด้วยกับข้อสรุปข้างต้นและนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุนที่ มีขนาดใหญ่ที่สุดส่วนใหญ่กลายเป็นกองทุนหุ้นที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุน ในเครือธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขากว้างขวางและเป็นกองทุนที่อิงดัชนี นั่นคือเป็นกองทุนที่ไม่ต้องคัดเลือกหุ้น แต่ซื้อตามสัดส่วนของหุ้นที่อยู่ในดัชนีเช่น กองทุนที่อิงกับหุ้นใน SET 50 เป็นต้น นอกจากนั้นผมยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนหลายประการ ดังต่อไปนี้

ข้อแรกที่ทำให้บริษัทจัดการการลงทุนไม่สามารถทำผลงานได้โดดเด่นนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่โครงสร้างการทำงานของผู้จัดการกองทุน โดยความเข้าใจของผมก็คือ เวลาจะลงทุนในหุ้นนั้นเขาจะจัดการกันในรูปแบบของ “คณะกรรมการการลงทุน” นั่นก็คือ จะต้องมีคนนำเสนอหุ้นที่น่าสนใจให้กับคณะกรรมการการลงทุนเพื่อพิจารณา อนุมัติ หลังจากนั้นแล้วก็จะมีคนไปทำการซื้อขายตามมติที่ได้รับ ผลงานที่ออกมาของกองทุนแต่ละกองนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่ฝีมือของผู้จัดการกองทุนคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานรวม ๆ ของการจัดการของคณะกรรมการการลงทุนของบริษัท ซึ่งก็อาจจะดูแลการลงทุนในกองทุนหุ้นหลาย ๆ กองด้วย เห็นได้จากรายชื่อหุ้นที่เหมือน ๆ กันในกองทุนหุ้นเกือบทุกกองที่บริษัทบริหาร

ประเด็นก็คือ การลงทุนในหุ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของศิลปะค่อนข้างมาก การใช้ “คณะกรรมการ” มาทำงาน “ศิลป์” นั้น โอกาสที่จะทำได้ดีโดดเด่นนั้นยากมาก เปรียบเหมือนกับการวาดภาพศิลปะ ถ้าเราเอาคณะกรรมการมาเป็นคนกำหนดแล้วให้ศิลปินมาวาดภาพตามที่ต้องการ แบบนี้โอกาสที่เราจะได้ภาพที่เป็นมาสเตอร์พีชก็คงไม่มี อย่างมากก็จะได้ภาพกลาง ๆ ที่อาจจะไม่แย่มากแต่ก็จะไม่มีทางโดดเด่น ว่าไปแล้ว ในตลาดหุ้นไทย เรายังไม่เคยมี “ผู้จัดการการลงทุนจริง ๆ” ที่เป็นคนเลือกหุ้นลงทุนที่มีชื่อเสียงเลย ผู้จัดการบริษัทจัดการการลงทุนหรือ “หัวหน้าผู้จัดการการลงทุน” ที่เปิดตัวต่อสาธารณชนนั้น เกือบทั้งหมดดูเหมือนว่าจะเป็น “หนึ่งในคณะกรรมการการลงทุน” ที่ไม่ได้ไปสัมผัสกับการวิเคราะห์หุ้นจริง ๆ พูดง่าย ๆ บ้านเราไม่มี ปีเตอร์ ลินช์ หรือ บิล มิลเลอร์ เมืองไทย และเราก็ไม่เคยมีกองทุนที่โดดเด่นที่คนต้องเอาเงินมาลงทุนอย่างกองทุน ไฟเดลลิตี้

แน่นอนว่าในบางช่วงบางตอน กองทุนบางกองของบางบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นกองเล็ก ๆ อาจจะมีผลงานการลงทุนโดดเด่นมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปและกองทุนอาจจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ผลงานการลงทุนก็มักจะกลับมาสู่สภาวะปกติหรือแย่ลงทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหลัง จากเห็นผลงานที่ดีเยี่ยมต้องขาดทุนหรือผิดหวัง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในทางวิชาการเราเรียกว่าผลงานที่โดดเด่นนั้นเป็นเรื่อง “บังเอิญ” ไม่ได้เกี่ยวกับฝีมืออะไรทั้งสิ้น ถ้าจะเป็นเรื่องของฝีมือแล้ว กองทุนควรจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีเหนือกว่าตลาดอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่ายังไม่มีกองทุนไหนทำได้

ระบบการจ่ายผลตอบแทนเองก็ไม่เอื้อให้เกิด “มืออาชีพ” ที่โดดเด่นในการบริหารการลงทุน เพราะคนที่มีฝีมือดีจริง ๆ และบริหารจนกองทุนได้กำไรมาก ๆ แต่ตนเองก็คงไม่ได้ผลตอบแทนมากมายอะไรนักอย่างมากก็อาจได้โบนัสเพิ่มอีกสัก เดือนสองเดือน ดังนั้น ถ้าเขาเก่งจริง เขาก็น่าจะออกไปบริหารเงินของตนเองจะดีกว่า นอกจากนั้น ระบบการบริหารแบบบริษัทจัดการการลงทุนนั้น ผมคิดว่าจะสร้างนักลงทุนฝีมือเยี่ยมได้ยาก ทั้งนี้เพราะทุกอย่างดูเหมือนมีกฏเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถตัดสินใจ ได้อย่างเป็นอิสระจริง ๆ ตัวอย่างง่าย ๆ ก็เรื่องของหุ้นที่ลงทุนได้นั้น ข้อห้ามอาจจะรวมถึง สภาพคล่องของหุ้น บริษัทจะต้องมีกำไร ขนาดของบริษัทที่ต้องไม่เล็ก เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผู้บริหารกองทุนจะทำอะไรที่ “เสี่ยง” ไม่ได้ แม้ว่าจะเป็น “ความเสี่ยงที่ไตร่ตรองดีแล้ว” ว่าที่จริงเขาก็ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม เพราะถ้าเสี่ยงแล้วสำเร็จก็ได้แต่คำชม แต่ถ้าพลาดอาจจะตกงานหรือโดนสอบสวน

ผลจากความล้มเหลวในการสร้างนักบริหารการลงทุนมืออาชีพในตลาดหุ้นไทยนั้น ค่อนข้างจะเห็นได้ชัดจากตัวเลขจำนวนเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของบริษัทจัดการการ ลงทุน กองทุนหุ้นที่มีการจัดการหรือเลือกหุ้นนั้นมีขนาดเล็กมากอย่างไม่น่าเชื่อ กองที่ใหญ่ที่สุดนั้นส่วนใหญ่ก็มีเม็ดเงินในพอร์ตเพียงระดับพันล้านบาทต้น ๆ เทียบกับนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่หลายรายในตลาดแล้วดูเหมือนว่ากองทุนจะไม่ ใหญ่กว่าเลย ในขณะที่ตลาดหุ้นอย่างในอเมริกานั้น แม้แต่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ถือว่าเป็นคนที่ลงทุนในหุ้นที่ใหญ่ที่สุด แต่ถ้าเทียบกับกองทุนแล้วก็เล็กนิดเดียว ดังนั้น อิทธิพลและอำนาจการซื้อขายหุ้นของกองทุนมีมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนบุคคล ขณะที่ในตลาดหุ้นไทยนั้น อิทธิพลของนักลงทุนส่วนบุคคลนั้นน่าจะเหนือกว่ากองทุนรวมมาก

สุดท้ายก็คือคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากลงทุนในกองทุนรวมหุ้น คำแนะนำก็คือ ข้อแรก พยายามใช้ประโยชน์จากการที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยเฉพาะการลงทุน ซื้อ LTF และ RMF เพราะนี่จะช่วยให้เรามีแต้มต่อในการลงทุนแม้ว่าฝีมือในการบริหารกองทุนจะไม่ ดีนักเราก็น่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่า ข้อสอง ถ้าจะลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ควรลงทุนในกองทุนหุ้นที่อิงดัชนีซึ่งไม่ต้องอาศัยฝีมือผู้บริหาร และควรเลือกผู้จัดการที่คิดค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด ข้อสาม อย่าพยายามตามหากองทุนที่กำลัง “ร้อน” ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นประเภทไหน เพราะจับเข้าไปก็คงถูก “ลวก” มากกว่า

และสุดท้าย ถ้าเรามีความรู้บ้างและมีเงินลงทุนระดับหนึ่งเช่นหนึ่งล้านบาทขึ้นไป เราสามารถสร้างพอร์ตลงทุนส่วนตัวที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนคล้าย ๆ กับกองทุนรวมหรือตลาดหลักทรัพย์แต่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการบริหารปีละ ประมาณ 2% ได้ไม่ยาก เหตุผลก็คือ เราสามารถกระจายการถือหุ้นได้ค่อนข้างกว้างขวางเป็นสิบ ๆ ตัวโดยที่เม็ดเงินลงทุนและต้นทุนในการซื้อขายหุ้นแต่ละตัวนั้นค่อนข้างจะ ต่ำ ดังนั้น เราสามารถเลียนแบบกองทุนรวมได้ไม่ยาก ไม่เหมือนการลงทุนในอเมริกาที่คุณไม่สามารถซื้อหุ้นได้มากตัวถ้าพอร์ตคุณ เล็ก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 12 ธันวาคม 2552

สูตรเศรษฐี...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย หรือการเป็นเศรษฐีสำหรับคนที่ไม่ได้มีพ่อแม่ร่ำรวยมาก่อนนั้น สำหรับคนจำนวนมากดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก บางคนอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออมก็มักได้รับคำแนะนำที่ทำได้ยาก เช่น บอกว่าให้กันเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ 10-20% เก็บไว้ก่อน ไม่ใช่ใช้ก่อนเหลือแล้วค่อยเก็บ ปัญหาก็คือ รายได้นั้นไม่ค่อยพอใช้อยู่แล้วแม้ว่าจะไม่ได้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพราะค่าใช้จ่ายจำนวนมากเป็นค่าใช้จ่ายที่ลดไม่ค่อยได้ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าอาหาร เป็นต้น ซึ่งผมเองเห็นด้วย วิธีการที่จะทำให้เรามั่งคั่งนั้นถ้าจะให้ปฏิบัติได้จริงต้องไม่ทำให้เรา รู้สึกลำบากหรือรู้สึกว่าความสุขหายไปมากและเป็นเวลานาน เหนือสิ่งอื่นใด ความอยากรวยนั้นก็เพื่อที่จะทำให้มีความสุข ดังนั้น การเสียสละความสุขเพราะต้องลดค่าใช้จ่ายเป็นเวลานานนั้นจึงไม่มีเหตุผล

ต่อไปนี้เป็นแนวทางหรือจะเรียกให้เท่ก็คือเป็นสูตรที่จะช่วยให้เรามีความ มั่งคั่ง ร่ำรวย หรือแม้แต่เป็นเศรษฐีโดยเราไม่จำเป็นต้องรู้สึก “อดอยาก” และเป็นสูตรที่เหมาะมากโดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหลังจากที่ จบการศึกษาใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม คนที่มีอายุมากขึ้นแล้วก็สามารถประยุกต์ใช้ได้เท่าที่จะทำได้

ข้อแรกก็คือ ถ้าคิดว่าเรายังไม่รวย อย่าซื้อรถ การซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้นั้น เท่ากับเรากำลังสร้างรายจ่ายที่ลดได้ยากมาก และทุกเดือน เราจะมีรายจ่ายเป็นหมื่นหรือหลายหมื่นเป็นค่าผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าซ่อม และอื่น ๆ บางทีรายจ่ายนั้นอาจจะไม่เป็นตัวเงินจริงเนื่องจากเราซื้อรถด้วยเงินสด เราไม่เสียค่าผ่อนรถ แต่จริง ๆ แล้วเราก็มี “ค่าเสื่อม” ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงไม่ต่างกับค่าผ่อนรถนัก หลายคนอาจจะเถียงว่าเขาสามารถประหยัดค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า หรือค่าแท๊กซี่ ลง แต่ถ้าคิดคำนวณค่าใช้จ่ายทุกด้านของการมีรถยนต์ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการใช้รถสาธารณะนั้นประหยัดกว่ามากและจะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บและ ลงทุนได้มากกว่า

ข้อสอง อย่าซื้อบ้านถ้าไม่จำเป็น และถ้าจำเป็นก็ซื้อบ้านที่เล็กที่สุดที่จะเพียงพออยู่สำหรับตนเองและคู่ ครอง และลูกที่มีอยู่หรือที่วางแผนที่จะมีในอนาคต ทำเลของบ้านควรอยู่ในที่ที่การเดินทางไปทำงานและ/หรือไปเรียนสะดวกและไม่ ต้องต่อรถหลาย ๆ ต่อซึ่งจะทำให้ “ค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยและเดินทาง” ต่ำที่สุด คำว่าค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยนั้น บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่ามีเพราะเขาไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่จริง ๆ แล้วการมีบ้านที่ใหญ่จะทำให้ค่าบ้านสูงซึ่งทำให้ต้องจ่ายค่าผ่อนบ้านแต่ละ เดือนมากขึ้นไม่นับรายจ่ายอื่น ๆ ที่ตามมาจากการมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น นี่เป็นความคิดที่อาจจะแย้งกับอีกหลายคนที่บอกว่าควรซื้อบ้านใหญ่ที่สุดที่ สามารถผ่อนได้ เพราะบ้านนั้นเป็นเหมือน “การลงทุน” และการอยู่บ้านใหญ่นั้น “มีความสุข” มากกว่า แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า บ้านอยู่อาศัยนั้นราคามักจะไม่ค่อยขึ้น เช่นเดียวกัน บ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น ถ้าจะเพิ่มความสุขได้ก็น่าจะน้อยและไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ข้อสาม มีลูกให้น้อย อย่าเกินสองคนก็ดี เพราะลูกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการเลี้ยงดูและให้การศึกษา คำสมัยก่อนก็คือ มีลูกหนึ่งคนจนไปเจ็ดปี แต่สมัยนี้ผมคิดว่ายาวกว่านั้น คนในสมัยก่อนมีลูกเพราะคิดว่าเป็น “การลงทุน” นั่นคือ หลังจากที่ลูกโต เขาก็กลับมาเลี้ยงเรา ดังนั้นเขาจึงมีลูกมากแต่ในปัจจุบันความคิดนี้ก็ใกล้หรือกำลังหมดไป เราไม่หวังให้ลูกมาเลี้ยงเราแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากรวย อย่ามีลูกมาก

ข้อสี่ รายจ่ายค่าสมาชิกทั้งหลาย เช่น สมาชิกสถานออกกำลังกาย สมาชิกเคเบิลทีวีราคาแพง สมาชิกที่สามารถพักตามเครือข่ายโรงแรมตากอากาศหลายแห่ง เหล่านี้เป็นความบันเทิงหรือการดูแลสุขภาพที่เราสามารถหาซื้อได้ในราคาที่ ถูกกว่ามาก เช่น แทนที่จะเข้าฟิตเนส เราสามารถไปสวนสาธารณะที่มีการเต้นแอโรบิคที่สนุกสนานทุกวันโดยที่ไม่ต้อง เสียเงิน เคเบิลทีวีราคาถูกเดี๋ยวนี้บางแห่งมีรายการดีมากเกือบเท่าแบบที่มีราคาแพง แต่เสียค่าใช้จ่ายแค่เดือนละ 200 บาทก็มี พูดถึงเรื่องการพักผ่อนต่างจังหวัดแล้วก็ทำให้ผมมีข้อแนะนำอีกว่า “อย่าซื้อคอนโดหรือบ้านพักในสถานที่ท่องเที่ยว” เพราะนี่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงมากเทียบกับการที่เราไปเช่าโรงแรมอยู่ คนอาจคิดว่านี่เป็น “การลงทุน” แต่จริง ๆ แล้วราคาก็มักจะไม่ค่อยขึ้นหรือถึงขึ้นเราก็มักจะไม่ขาย ในระหว่างนั้นเราก็ต้องผ่อนส่งรายเดือนหรือต้องเสีย “ค่าเสื่อม” ไปเรื่อย ๆ เหนือสิ่งอื่นใด การพักโรงแรมนั้นเราไม่ต้องดูแลทำความสะอาดและเราจะไปพักสถานที่ไหนก็ได้ ซึ่งทำให้เรามีความสุขมากกว่า

ข้อห้า ถ้าอยากรวย นอกจากปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นแล้ว จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและเก็บออมเงินให้มากที่สุดโดยไม่จำเป็นต้อง ประหยัดเกินความจำเป็นจนทำให้เรารู้สึกไม่สบาย สิ่งนี้ทำไม่ยากถ้าเรารู้จักซื้อของแบบเน้น “คุณค่า” นั่นคือ ใช้เงินน้อยแต่สามารถตอบสนองความต้องการเกิน 90% ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือ การซื้อของไม่มียี่ห้อที่มีคุณภาพดีหรือซื้อของมียี่ห้อในช่วงที่มีการลด ราคามาก ๆ เป็นต้น

สุดท้าย ก็คือ ถ้าคุณต้องการแค่ว่าคุณจะสามารถอยู่อย่างสบายมีเงินพอสมควร แต่ไม่ต้องการความผันผวนของความมั่งคั่ง คุณจะต้องบริหารเงินโดยการจัดสรรทรัพย์สินให้อยู่ในหลักทรัพย์หลาย ๆ อย่างรวมถึงพันธบัตรและหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ว่าจะบริหารเองหรือมอบให้ “มืออาชีพ” ซึ่งก็คือบริษัทจัดการการลงทุนทำ แต่ถ้าคุณอยากรวยหรือเป็นเศรษฐีละก็ คุณควรลงทุนเงินที่เหลือเก็บไว้ในหุ้นเพียงอย่างเดียว การลงทุนในหุ้นในระยะยาวมาก ๆ นั้น ความเสี่ยงจะไม่สูงและผลตอบแทนจะสูงกว่าการลงทุนในตราสารการเงินอื่นมาก ดังนั้น ถ้าคุณมีเวลาในการเก็บเงินและลงทุนยาวเป็น 20-30 ปี ผมแนะนำว่าให้ลงทุนเงินทุกบาททุกสตางค์ในหุ้น ไม่ว่าจะลงเองหรือใช้มืออาชีพลงให้ นอกจากนั้น ในการลงทุน ถ้าได้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วย เช่น การลงทุนใน LTF หรือ RMF ก็ควรใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่

และเช่นเคย สิ่งที่แนะนำมาทั้งหมดนั้น ไม่รับประกันว่าคุณต้องรวยแน่นอน แต่ผมคิดว่ามันเพิ่มโอกาสการเป็นเศรษฐีให้คนที่ปฏิบัติขึ้นมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าไม่ได้เป็นเศรษฐีคุณก็คงไม่จนและความสุขเพิ่มขึ้นแน่นอน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 5 ธันวาคม 2552

ปราสาททราย...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ก่อนนักลงทุนต้องตกอกตกใจกับข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก เวียตนามประกาศลดค่าเงินด่องลงมาประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐซึ่งก็อ่อนค่าลงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับค่าเงิน อื่น ๆ ของโลก เวียตนามลดค่าเงินลงเนื่องจากกำลังมีปัญหาเงินสำรองต่างประเทศขาดแคลนและ ภาวะการเงินของประเทศน่าจะเข้าใกล้วิกฤต นี่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อดูว่าเศรษฐกิจเวียตนามในช่วงปีที่ผ่านมา มีการเติบโตที่น่าประทับใจเป็น “ดารา” ประเทศหนึ่งในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจติดลบเพราะผลจากวิกฤติของอเมริกา อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเล็กมาก ปัญหาของเวียตนามจึงไม่ได้ส่งผลอะไรกับประเทศอื่นนักและผมเชื่อว่าเวียตนาม ก็จะผ่านภาวะยุ่งยากนี้ไปได้ไม่ยากนัก เผลอ ๆ จะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกเมื่อสินค้าของเวียตนามมีราคาถูกลงและสามารถแข่งขันได้ มากขึ้นในตลาดโลก โดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรจากประเทศไทย

เรื่องที่สองนั้นน่ากลัวกว่ามาก เพราะเป็นเรื่องที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของรัฐดูไบคือ ดูไบเวิลด์ ประสบปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ หนี้หลายหมื่นล้านเหรียญที่อาจจะต้องเป็นหนี้สูญของสถาบันการเงินที่ให้ดู ไบเวิลด์กู้นั้น เป็นหนี้ของสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ของโลกที่กระจายอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผลกระทบกับสถาบันการเงินคงต้องมีไม่น้อยหลังจากที่เคยประสบมาแล้วจากวิกฤติ ซับไพร์มของอเมริกา แต่นี่ยังไม่จบ ที่จริงมันอาจจะเพิ่งเริ่ม เพราะผมเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดูไบขาดสภาพ คล่องและล้มละลายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหตุผลก็น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับดูไบเวิลด์นั่นคือ เป็นเรื่องของ “ฟองสบู่” อสังหาริมทรัพย์ที่ “เฟื่องฟู” มาหลาย ๆ ปีตั้งแต่ที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและทำให้ดูไบร่ำรวยและเริ่มหันมา “สร้างเมือง” อย่างที่ไม่เคยมีใครจินตนาการได้ว่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

ผมเคยไปดูไบเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยแรงจูงใจลึก ๆ ก็เพื่อที่จะได้ไปเห็นกับตาว่าเมืองนี้ “มหัศจรรย์” อย่างไร สิ่งที่ได้พบก็คือ มันเต็มไปด้วยอาคารสูงขนาดใหญ่และแพงที่สุดของโลกจำนวนมากกำลังถูกสร้างขึ้น กลางทะเลทราย โดยที่ผู้ปกครองหวังว่าจะทำให้ดูไบเป็นเมืองพักผ่อนและท่องเที่ยวของนักท่อง เที่ยวทั่วโลกโดยเฉพาะที่มาจากประเทศอาหรับที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน ดังนั้น อาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับ “วิสชั่น” นี้ เช่น ในท่ามกลางทะเลทรายที่ดูไบจะมีลานหิมะสำหรับเล่นสกี จะมีสนามกอล์ฟที่ออกแบบโดยคนระดับ “ไทเกอร์วูด” นอกจากนั้น เพื่อให้ดูหรูหราสุด ๆ ดูไบยังถมทะเลเพื่อสร้างหมู่บ้านที่ทุกบ้านเป็นเกาะเล็ก ๆ เรียงกันในทะเลมองจากอากาศจะเป็นรูปต้นปาล์ม ทั้ง ๆ ที่พื้นดินที่เป็นทะเลทรายก็ยังมีอีกมาก ทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รวมตึกที่สูงที่สุดในโลกที่กำลังใกล้เสร็จโดยที่ผมเองก็ ไม่รู้ว่าตึกนี้จะใช้ทำอะไรและทำไมต้องสร้างให้สูงอย่างนั้น แต่ทั้งหมดที่ผมรู้ก็คือ ทุกตึกหรือทุกสิ่งก่อสร้างที่กำลังทำอยู่นับพัน ๆ แห่งนั้น จะต้องทำให้หรูหราและยิ่งใหญ่ที่สุด

ประชากรของดูไบนั้นมีน้อยนิดน่าจะไม่เกิน 2-3 ล้านคน แต่คนนอกที่เข้าไปหากินและทำงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริม ทรัพย์นั้นกลับมีมากกว่า เศรษฐกิจของดูไบเองนั้น ยกเว้นน้ำมันแล้วก็ไม่มีอะไรที่มีนัยสำคัญ การท่องเที่ยวนั้น ถ้าดูไปก็ยังมีไม่มากแม้ว่านั่นจะคือเป้าหมายหลักของผู้ปกครองที่อยากเห็น อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการที่กำลังสร้างเมืองนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูมาก คนดูไบเองรู้สึกว่าผู้ปกครองของตนนั้นมี “วิสชั่น” และความสามารถระดับ “เทพ” ที่สามารถทำให้ดูไบที่ไม่ค่อยมีอะไร กลายเป็นเมืองที่คนทั้งโลกรู้จักและกล่าวขวัญถึง อนาคตของดูไบนั้นดูสดใสมากจนกระทั่งถึงสัปดาห์ที่แล้วที่ความคิดนี้น่าจะ เริ่มเปลี่ยนไป ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายดูไบจะเป็นอย่างไร แต่ ณ. นาทีนี้ คนจำนวนไม่น้อยคงจะเริ่มเชื่อสิ่งที่ก่อนหน้านี้มีคนเคยเตือนเอาไว้ว่า ดูไบกำลังทำสิ่งที่อยู่ในจินตนาการที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำให้เมืองนี้เกิดขึ้นได้ก็คือเงินที่ได้จากน้ำมันบวกกับ “จินตนาการสุดขอบฟ้า” ของผู้ปกครอง ในที่สุดแล้วมันก็คือ “ปราสาททราย” ที่จะล่มสลายลง

ปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกานั้น ผมคิดว่าในไม่ช้าก็จะหมดไป เพราะความต้องการในด้านของที่อยู่อาศัยในอเมริกาคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และดูดซับบ้านที่เกินความจำเป็นไปได้หมด แต่ปัญหาในดูไบนั้น ผมคิดว่าน่าจะเลวร้ายกว่ามาก ผมยังนึกไม่ออกว่าใครจะมารับตึกที่ยังสร้างไม่เสร็จจำนวนมหาศาลไปสร้างต่อ แม้แต่ตึกที่สร้างเสร็จและมีคนอยู่แล้วก็อาจจะมีปัญหาถ้าคนเริ่มเปลี่ยนมุม มองต่อดูไบไป ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในเวลาอันสั้นและนี่ น่าจะก่อปัญหาในด้านของ NPL ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลก จริงอยู่ ดูไบนั้นเล็กกว่าอเมริกามาก แต่นี่อาจจะเป็น “อาฟเตอร์ช็อค” ที่ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวชะลอออกไป ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ราคาหุ้นที่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากอาจจะหยุดหรือถดถอยลง

วิกฤติการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของดูไบนั้น เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่ย้ำให้เห็นถึงอันตรายและความล้มเหลวที่มักจะตามมาจาก ความ “เพ้อฝัน” บวกกับ “ความมั่งคั่ง” ที่ไม่ได้มาจากฝีมือและการทำงานหนัก นอกจากนั้น มันช่วยเตือนเราด้วยว่า อะไรที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้วิเคราะห์จากเหตุผลแบบชาว VI ในที่สุดแล้วมันก็เป็นไปไม่ได้จริง ๆ แม้ว่าในระยะสั้นมันดูเหมือนกับว่าทุกอย่างจะไปได้ด้วยดี กลับมาในเรื่องของหุ้น ผมคิดว่าผลกระทบไม่น่าจะรุนแรงโดยเฉพาะกับตลาดหุ้นไทย เหนือสิ่งอื่นใด ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างดูไบกับไทยนั้นมีน้อยมาก ผลกระทบกับไทยจริง ๆ นั้นน่าจะเป็นทางอ้อมผ่านทางด้านตลาดหุ้นทั่วโลก และถ้าดัชนีหุ้นไทยตกต่ำลงตามภาวะดัชนีหุ้นโลก ผมก็คิดว่ามันจะเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการซื้อหุ้นเช่นเดียวกับเมื่อคราว เกิดวิกฤติซับไพร์มของอเมริกา

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 27 พฤศจิกายน 52

Thursday, November 26, 2009

เงินกับกล่อง...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ธรรมชาติของคนเรานั้นต้องการมี “เงิน” และ “กล่อง” พูดง่าย ๆ ก็คือ ข้อแรก ทุกคนอยากรวย เพราะความร่ำรวยทำให้เรามีอิสระเสรีมากขึ้นในการที่จะทำอะไรที่เรารักเรา อยากทำได้เต็มที่ ความรวยทำให้เรามีความมั่นคงในชีวิต ไม่ต้องกังวลว่าเราจะขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นหรืออยากได้เมื่อเราต้องการใช้ ความรวยทำให้เราไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นมากนักและทำให้สามารถอยู่ได้อย่างสะดวก สบาย แต่ทั้งหมดนี้สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วก็ไม่เพียงพอ ต้องมีข้อสองนั่นคือ คนเราอยากได้ “กล่อง” ซึ่งก็คือเราอยากได้รับการ “ยอมรับ” จากคนอื่นว่าเรา “ประสบความสำเร็จ” ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่หลากหลายตั้งแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ การเมือง การแสดง กีฬา การทำงาน และการทำธุรกิจ แต่ความสำเร็จที่เป็นที่ยอมรับและวัดได้ง่ายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ “การมีเงินมาก”


ในโลกของทุนนิยมนั้น กล่องกับเงิน บ่อยครั้งก็มาด้วยกันหรือตามกันมา เช่น เป็นดาราที่มีชื่อเสียงเพราะมีรูปร่างหน้าตาและความสามารถสูง ก็จะมีผู้มาจ้างแสดงภาพยนต์และถ่ายแบบโฆษณาด้วยอัตราสูงลิ่วทำให้มีรายได้ มาก และถ้ารู้จักบริหารเงินก็จะมีเงินเหลือเก็บมากกลายเป็นเศรษฐี เรียกว่ามีทั้งกล่องและเงิน แต่ในบางกรณี คนที่ได้กล่องมาก็ไม่มีเงินเพราะกล่องนั้นไม่ทำเงินเช่นนักวิทยาศาสตร์ที่ วิจัยค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้มีชื่อเสียงแต่ไม่สามารถไปทำเงินได้ หรือนักมวยแชมป์โลกหลายคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมีรายได้มากแต่ใช้จ่ายเงิน ไม่เป็นทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บกลายเป็นคนมีกล่องแต่ไม่มีเงิน

คนที่มีเงินมากเข้าขั้นเศรษฐีนั้น จำนวนมากไม่มีกล่องเพราะคนไม่รู้จักและก็ไม่รู้ว่าเป็นคนมีเงินมาก แต่พวกเขาก็อยากได้กล่อง เป็นกล่องที่จะบอกว่าเขาประสบความสำเร็จในการหาเงิน วิธีที่จะทำให้คนเห็นและยอมรับก็คือ การโชว์ความร่ำรวยผ่านสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาสามารถซื้อมาใช้ ไล่ตั้งแต่เครื่องแต่งตัวเช่นเสื้อผ้า เครื่องเพชร นาฬิกา ที่มีราคาแพงเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีกำลังซื้อได้ รถยนต์ที่มีราคาแพง ของสะสมเช่นรูปวาดหรือพระเครื่องที่มีราคาสูง และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือบ้านที่ต้องใหญ่โตหรูหราเกินกว่าความจำเป็น ที่ต้องใช้สอย ถ้าจะพูดก็คือ พวกเขา “ซื้อกล่อง” ด้วยเงินที่มีอยู่จำนวนมาก

คนบางคนมีรายได้มากแต่ยังไม่มีเงินเหลือเก็บ เหตุผลก็คือ พวกเขาพยายามไปหากล่องก่อน นั่นก็คือ พอมีรายได้เข้ามาก็เอาเงินไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างเลียนแบบเศรษฐี พวกเขาต้องการแสดงให้คนเห็นว่าเขาร่ำรวยมีเงินมาก บางคนมีความคิดว่าถ้าเขาทำตัวแบบเศรษฐี วันหนึ่งเขาก็จะรวยแบบเดียวกัน น่าเสียดายที่นั่นเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ผิด เพราะพวกเขาจะไม่ได้เป็นเศรษฐีตัวจริง เขาจะมีรายจ่ายมากมายที่จะทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บเพื่อที่จะไปลงทุนต่อและ ทำให้ร่ำรวยได้จริง ๆ กล่องที่พวกเขาได้จะเป็นกล่องที่ “กลวง” ในขณะที่เงินเก็บที่มีอยู่น้อยจะไม่ทำให้เขามีความสุขเท่ากับคนที่มีเงินแต่ ไม่มีกล่อง

จากข้อมูลที่พบในสหรัฐและผมคิดว่าในเมืองไทยก็ไม่น่าจะแตกต่างกันก็คือ มีคนที่ไม่ได้เป็นคนรวยจำนวนมาก “ซื้อกล่อง” หรือก็คือซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นการ “แสดงออกถึงความร่ำรวย” ว่าที่จริง ยกเว้นมหาเศรษฐีที่มักซื้อและใช้สินค้าที่แพงสุดกู่แล้ว คนที่รวยเป็นเศรษฐีเงินล้านตัวจริงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคของฟุ่มเฟือยอะไรมากนัก เสื้อผ้าที่ใช้ก็ไม่ใช่พวกที่มียี่ห้อหรู นาฬิกาก็มักจะเป็นพวกยี่ห้อไซโกหรือไทม์เม็กซ์ รถยนต์ก็นิยมพวกโตโยต้า บ้านที่อยู่ก็มักจะราคาปานกลางในทำเลของคนชั้นกลาง ดังนั้น เขาสรุปว่า คนส่วนใหญ่ที่แต่งตัวหรู ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ขับรถเบนซ์ มีบ้านใหญ่หรูหรา ส่วนใหญ่ไม่ใช่เศรษฐีตัวจริง ดังนั้น ถ้าคุณอยากเป็นเศรษฐีตัวจริง คุณไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น

ถ้าเราต้องการเป็นเศรษฐีมีเงิน สิ่งที่เราควรทำก็คือ ทำอย่างเศรษฐีตัวจริง ซึ่งเขาค้นพบว่า คนเหล่านี้มักเป็นคนที่ประหยัดอดออม เก็บเงินที่เหลือไปลงทุน คนเหล่านี้มีชีวิตที่ “พอเพียง” ใช้เงินน้อยกว่ามาตรฐานรายได้และความมั่งคั่งของตนเอง และนั่นทำให้เขารวย แต่ส่วนใหญ่แล้วกว่าจะรวยเป็นเศรษฐีมีเงิน 30-40 ล้านบาทขึ้นไป ก็มักจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และทั้ง ๆ ที่ร่ำรวยแล้ว พวกเขาก็มักจะยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ไม่ฟู่ฟ่า อย่างไรก็ตาม บางคน โดยเฉพาะที่ร่ำรวยมาก ๆ เป็นมหาเศรษฐีก็ “ซื้อกล่อง” เหมือนกัน แต่นี่เป็นการซื้อกล่องเมื่อเขามีเงินมากแล้วและไม่ได้กระทบอะไรกับความ มั่งคั่งของเขา

Value Investor นั้น จำนวนมากไม่มีทั้งเงินและกล่อง อาจจะเรียกว่าไม่มีฐานะอะไรเลยก็ได้ เพราะหลายคนไม่ได้ทำงานประจำ พวกเขามุ่งทำเงินเป็นหลักโดยหวังว่าจะมีเงิน และด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียงประกอบกับการลงทุนอย่าง “เข้มข้น” หลายคนก็หวังจะรวยเป็นเศรษฐีในเวลาอันไม่ไกลนัก ในความเห็นของผม นี่คือหนทางของการเป็นคนมีเงินที่น่าจะดีที่สุดทางหนึ่ง ส่วน “กล่อง” นั้น ผมคิดว่าในฐานะของคนที่รู้ว่าการบริโภคของหรูหราราคาแพงนั้นไม่ใช่วิถีของ เศรษฐีตัวจริง ไม่ใช่สิ่งที่บอกว่าเป็นเครื่องแสดงออกถึง “ความสำเร็จ” จริง ดังนั้น เราก็ไม่ควรต้องใส่ใจ โดยเฉพาะในช่วงที่เรายังไม่รวย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ในฐานะของ VI นั้น เราต้องมองหา “คุณค่า” ของกล่องเมื่อเทียบกับ “ต้นทุน” ในการซื้อมัน วิธีที่จะได้กล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ ก็คือ ต้องเป็นกล่องที่มาจากความสามารถอันเป็นที่ยอมรับ ความสามารถนั้นอาจเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเรื่องของการลงทุนหรือเป็นเรื่องการลงทุนก็ได้ แต่มันต้องเป็นความสามารถจริงที่ไม่ได้ซื้อมา และนี่จะเป็นกล่องที่มีคุณค่าจริง ๆ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 21 พฤศจิกายน 52

แรงจูงใจของเจ้าของ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในการวิเคราะห์หุ้นเพื่อการลงทุนแบบ VI นั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจของเจ้าของหรือผู้บริหารเกี่ยวกับหุ้นที่เรากำลังดู อยู่ เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการแบ่งสรรกำไรระหว่างเจ้าของ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือนักลงทุน พูดง่าย ๆ เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากกิจการและตัวหุ้น บางคนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารบริษัทอยู่แล้ว แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เจ้าของหรือผู้บริหารเป็นคนที่คุมอำนาจในการตัดสินใจและ “คุมเกม” ที่จะทำให้ผลประโยชน์นั้นตกอยู่กับตนเองมากที่สุด ถ้าผลประโยชน์สูงที่สุดของเขาตรงกับผลประโยชน์ของนักลงทุน นั่นก็คือสิ่งที่ดี แต่ถ้าผลประโยชน์ของเขาคือผลเสียของนักลงทุนรายย่อย การเข้าไปเล่นหุ้นแบบนี้ก็ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้น ลองมาดูตัวอย่างที่ผมเคยพบมา

เรื่องแรก บริษัทเป็นกิจการขนาดเล็กที่มีผลการดำเนินงานดี มีทรัพย์สินมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของบริษัท มีเงินสดค่อนข้างมากขณะที่ไม่มีหนี้จากการกู้ยืม ปีแล้วปีเล่า บริษัทจ่ายปันผลค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ทั้ง ๆ ที่กิจการของบริษัทก็ไม่ได้ขยายงานอะไรนักและก็ไม่ใช่กิจการที่ต้องลงทุน มาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยต่างก็อยากให้บริษัทจ่ายปันผลให้มากขึ้นแต่ดูเหมือนว่าผู้ บริหารก็ไม่ใคร่สนใจจะทำ ตรงกันข้าม ผู้บริหารกลับเสนอให้บริษัทออก ESOP หรือออกหุ้นราคาต่ำเสนอให้กับผู้บริหารและพนักงาน ดูเหมือนว่าจะมีความพยายาม “โอน” ความมั่งคั่งจากผู้ถือหุ้นสู่ผู้บริหารที่ไม่ได้เป็นเจ้าของ ผมลองวิเคราะห์ดูก็พบว่า บริษัทนี้มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นคนที่ร่ำรวยมาก มีกิจการอื่นที่ใหญ่โตอยู่นอกตลาดหุ้น มีพนักงานมากมายที่เป็นคนเก่าแก่ที่เขาต้องดูแลและรักษาเอาไว้โดยการให้ผล ตอบแทนที่ดี สำหรับเจ้าของรายนี้ ความมั่งคั่งของเขาที่มีอยู่ในบริษัทจดทะเบียนที่กล่าวถึงนี้คิดเป็นสัดส่วน น้อยมาก ดังนั้น เขาจึงไม่ใคร่สนใจที่จะต้องได้รับผลประโยชน์มากมายจากบริษัท ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการและ/หรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน คนเหล่านี้บางคนก็ยังทำงานในบริษัทส่วนตัวของเขาอยู่ ดังนั้น ผมจึงสงสัยว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะไม่ได้ต้องการเงินปันผลมากนัก แต่เขาอาจจะต้องการใช้บริษัทนี้เป็นแหล่งให้ผลประโยชน์แก่ลูกน้องของเขาผ่าน เงินเดือน เบี้ยประชุม หรือแม้แต่ ESOP มากกว่า



เรื่องที่สอง เช่นเดิม บริษัทเป็นกิจการที่ดีมาก มีกำไรสูงมาตลอด มีเงินสดเหลือล้น และการลงทุนเพิ่มก็ไม่ได้มีมากนัก แต่บริษัทก็จ่ายปันผลน้อยมาก สืบดูแล้วพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทนั้นเป็นสถาบันที่ “ไม่มีเจ้าของ” การบริหารงานและการตัดสินใจต่าง ๆ อยู่ในมือของผู้บริหาร ดังนั้น แรงจูงใจที่จะจ่ายปันผลมากดูเหมือนว่าจะไม่มี ต่อมามีการ Take Over หรือครอบงำกิจการโดยบุคคลซึ่งรวมถึงผู้บริหารด้วย หลังจากการเปลียนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่กลายเป็นกิจการที่ “มีเจ้าของ” แล้ว บริษัทก็ประกาศจ่ายปันผลอย่าง “มโหฬาร” แรงจูงใจเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ

กรณีที่สาม บริษัทนี้เป็นกิจการเก่าแก่ กิจการของบริษัทหรือที่จริงน่าจะเรียกว่ากลุ่มบริษัทนั้นหลายอย่างอาจจะ เรียกว่าอยู่ในอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” อย่างไรก็ตาม บริษัทก็มีการขยายงานไปในอุตสาหกรรมที่กำลังรุ่งเรืองเช่นกันทั้งในและต่าง ประเทศ ถ้ามองจากทรัพย์สินและผลการดำเนินงานรวมถึงปันผลที่ค่อนข้าง “สม่ำเสมอในแง่ของเม็ดเงิน” ผมคิดว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” ตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็แทบไม่เคยได้รับ “รางวัล” อะไรเลยจากการที่บริษัทมีกำไรดีหรือดีมากในบางปี ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยกำลังถือหุ้นที่คล้าย ๆ กับหุ้นกู้ที่ได้ดอกเบี้ยในอัตราที่พอสมควร ซึ่งจากการสังเกตของผมก็ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นที่มักจะถือมายาวนานก็พอใจ ในด้านของบริษัทเองนั้น บริษัทแทบไม่เคยให้ข่าวกับสื่อมวลชนเลย ดูเหมือนว่าบริษัทจะไม่สนใจว่าราคาหุ้นจะเป็นอย่างไร ว่าที่จริงบริษัทอาจจะไม่ต้องการให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นด้วยซ้ำ เพราะราคาที่สูงขึ้นอาจจะทำให้เกิดความคาดหวังที่สูงขึ้นกับนักลงทุน ดังนั้น ผมสรุปว่า แรงจูงใจของเจ้าของในกรณีนี้ไม่ใช่อยู่ที่ปันผลที่มากขึ้น หรือราคาหุ้นที่สูงขึ้น แต่อาจจะเป็นอะไรที่ผมไม่รู้ นักลงทุนที่เจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

กรณีที่สี่ นี่เป็นกิจการของนักธุรกิจที่นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะที่เป็น “ขาใหญ่” ในตลาดบอกว่า “เขี้ยว” จัด นั่นก็คือ เข้าไปเล่นด้วยลำบาก เพราะจะถูก “กิน” ชื่อเสียงของเจ้าของดูเหมือนจะไม่ดีเลยในสายตาของนักเล่นหุ้นทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะวิธีและกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจที่มักถูก วิจารณ์จากสื่อว่าไม่เป็นธรรมกับคู่ค้าที่อ่อนแอกว่ามากทำให้ชื่อเสียงโดย ทั่วไปไม่ดีนัก แต่เหตุผลหลักน่าจะอยู่ที่ราคาหุ้นของบริษัทที่มักจะขึ้นไปได้ไม่เท่าไรแล้ว ก็ลงและในกระบวนการนั้นมักทำให้นักเล่นหุ้นขาดทุน อย่างไรก็ตาม กิจการในกลุ่มของเจ้าของรายนี้มักจ่ายปันผลค่อนข้างดีเมื่อมีกำไร นอกจากนั้น บริษัทในกลุ่มมักจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งในด้านของกิจการและผลการดำเนิน งานอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ดูเหมือนว่าผู้บริหารอยากจะให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นสะท้อนผลการดำเนินงานเต็ม ที่ ข้อสรุปของผมก็คือ อดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ ณ. ขณะนี้ ดูเหมือนแรงจูงใจของเจ้าของจะเน้นที่ผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเต็มที่ เขาคงคิดแล้วว่า นี่คือวิธีที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองได้สูงสุดแทนที่จะไป “กิน” ด้วยวิธีอื่น

กรณีสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือตัวอย่างที่เกิดขึ้นเยอะมาก นี่ก็คือกรณีที่เจ้าของกิจการบริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพต่ำพยายามตักตวงผล ประโยชน์จากสถานะของการเป็นหุ้นที่ซื้อขายในตลาด เจ้าของหุ้นเหล่านี้ มักจะ “ไซฟ่อน” หรือใช้เงินของบริษัทเพื่อตัวเองเป็นปกติอยู่แล้วผ่านกระบวนการหลาย ๆ อย่าง เช่นการซื้อทรัพย์สินเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในบางช่วงที่โอกาสอำนวย เช่นในช่วงที่ธุรกิจเป็น “ขาขึ้น” หรือตลาดหุ้นกำลังร้อนแรง เขาก็จะ “สร้างสถานการณ์ “ ซึ่งมักจะรวมถึงการสร้างตัวเลขผลงานให้ดูดี หรือประกาศการขยายงานหรือทำกิจการใหม่ที่น่าตื่นเต้นเพื่อกระตุ้นราคาหุ้น ให้ขึ้นไปสูงซึ่งเขาก็จะสามารถขายทำกำไร ในขณะที่นักเล่นหุ้นต้องขาดทุนเมื่อราคาหุ้นตกลงมาหลังจากเรื่องดี ๆ ที่ปล่อยออกมานั้นหมดไปและบริษัทกลับมาอยู่ในสถานะที่ “ไร้คุณภาพ” อีกครั้งหนึ่ง

และทั้งหมดนั้นก็คือตัวอย่างบางเรื่องของการวิเคราะห์แรงจูงใจของเจ้าของ และผู้บริหาร หน้าที่ของ VI ก็คือ ดูว่าพวกเขามีแรงจูงใจที่เอื้ออำนวยหรือขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น รายย่อยอย่างเราหรือไม่ ถ้าตรงกันก็เป็นผลบวก แต่ถ้าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของเรามากก็ต้องระวัง บางทีอาจต้องหลีกเลี่ยงเลย

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 14 พฤศจิกายน 52

ชีวิตชีวาของหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ทุกครั้งที่ผมซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผมคิดเสมอว่าผมกำลังลงทุนในธุรกิจ ผมไม่ได้ซื้อกระดาษที่เรียกว่า “หุ้น” แผ่นเล็ก ๆ ที่มีราคาขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวัน ธุรกิจนั้นเป็น “ของจริง” ที่มี โรงงานหรือสำนักงาน มีพนักงาน มีระบบการบริหารและข้อมูล มีแหล่งป้อนวัตถุดิบหรือสินค้าเพื่อนำมาขายต่อ และสุดท้ายก็คือ มีร้านหรือช่องทางที่จะขายให้กับ “ลูกค้า” ซึ่งบ่อยครั้งก็คือตัวผมเองและคนในครอบครัว ดังนั้น สำหรับผมแล้ว การลงทุนซื้อขายหุ้นนั้น ผมสามารถ “สัมผัส” กับมันได้ผ่านการได้เห็นร้าน และการใช้สินค้าหรือบริการของบริษัท

นอกจากผมเองที่สามารถ “สัมผัส” กับกิจการได้แล้ว ผมยังมักจะถามความเห็นของภรรยา และโดยเฉพาะลูกสาวที่ยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยว่ากิจการที่ผมสนใจ นั้น เขามีความ “รู้สึก” อย่างไรด้วย เหตุผลก็คือ ถ้าผมคิดเอง ความรู้สึกของผมอาจจะผิดเนื่องจากอายุที่มากและอาจจะรู้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข มากจนทำให้มีความลำเอียงในความดีเด่นหรือความด้อยของกิจการ ในขณะที่ฐานะและความแข็งแกร่งทางด้านการตลาดนั้น เด็กวัยรุ่นกับผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นหุ้นน่าจะรู้ดีที่สุด และต่อไปนี้ก็คือบางประเด็นที่ผมมักใช้ทดสอบว่าหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมาก น้อยแค่ไหนจากการ “สัมผัส” โดยที่ประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น ผมจะมองที่หุ้นของกิจการที่มี “อนาคต” และ “มีชีวิตชีวา” มองจากสายตาของ “คนรุ่นใหม่” หรือคนที่สามารถ “ใช้สามัญสำนึกได้โดยไม่ลำเอียง”


ข้อแรกที่เป็นปัจจัยหนึ่งในการเลือกหุ้นก็คือ ธุรกิจนั้น เรา “ภูมิใจ” ที่จะได้เป็นเจ้าของหรือไม่ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ ลูกเรารู้สึกภูมิใจที่จะไปคุยกับเพื่อนฝูงว่าเขาเป็นเจ้าของหรือไม่ ถ้าเขารู้สึกว่ากิจการที่เรากำลังพิจารณาซื้อนั้น เป็นกิจการที่ดูเชยหรือโบราณหรือไม่น่าสนใจ พูดไปเพื่อนฝูงก็ไม่รู้จัก แบบนี้ก็แสดงว่าเป็นกิจการที่ “ไม่เท่” ในสายตาของคนรุ่นใหม่ ตรงกันข้าม ถ้าเขารู้สึกว่าการเป็นเจ้าของกิจการที่กำลังพูดถึงนั้นจะทำให้เขาดูดีมาก เป็นที่อิจฉาของเพื่อนฝูงและน่าจะทำให้เขาดูปอบปูลาร์มาก แบบนี้ก็แสดงว่าหุ้นที่เรากำลังพิจารณานั้นน่าจะเป็นหุ้นที่มีอนาคตที่ดี อย่างน้อยก็ในแง่ของตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์

ข้อสอง ธุรกิจนั้น เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้มากหรือไม่ มันเป็นเทรนด์หรือเป็น “แฟชั่น” หรือไม่ ถ้าคำตอบก็คือ นี่เป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้ใช้แล้ว คนรุ่นใหม่ไม่สนใจหรือกำลังเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้อย่างอื่น แบบนี้ก็ต้องระวังว่าอนาคตอุตสาหกรรมอาจจะกำลังตกต่ำลง ตรงกันข้าม สินค้าหรือบริการที่คนรุ่นใหม่กำลังนิยมใช้หรือเริ่มเข้ามาใช้บริการมากขึ้น เรื่อย ๆ หรือแสดงความสนใจศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ก็แสดงว่าสินค้าหรือบริการนั้นกำลังอยู่ในเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ อนาคตและการเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะดีขึ้น

ข้อสาม กิจการมีการเติบโตต่อเนื่องเห็นได้จากการ “เปิดร้านสาขาใหม่ ๆ” เพิ่มขึ้นตลอดทั้งในทำเลที่ใกล้เคียงและในทำเลใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยเปิดมาก่อน ความคึกคักของร้านนั้นสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากร้านที่ “ดูใหม่” และทันสมัย มีสินค้าใหม่ ๆ มากมายที่ลูกค้า ซึ่งอาจจะรวมถึงครอบครัวเราด้วย อยากเข้าไปใช้บริการมากกว่าร้านอื่น ๆ ที่ขายสินค้าคล้ายคลึงกัน

ข้อสี่ เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการแล้วรู้สึก “โดน” มาก คือรู้สึกประทับใจและถ้าเลือกได้ก็จะใช้ของบริษัทนี้ นอกจากนั้นเพื่อน ๆ หรือคนอื่นก็พูดคล้าย ๆ กัน คำว่าประทับใจหรือพอใจนั้นต้องดูโดยรวมและเทียบกับราคาของสินค้าหรือบริการ นั้นด้วย กิจการที่ให้บริการที่ “โดน” นั้น จะสามารถผูกใจให้ลูกค้ามีความภักดีต่อสินค้าหรือบริการซึ่งจะส่งผลต่อผลการ ดำเนินงานของบริษัททั้งในระยะสั้นและยาว

ข้อห้า รู้สึกว่าบริษัทมี “ความมั่นคงมาก” ความรู้สึกนี้มักจะมาจากการที่บริษัท ก่อตั้งมานาน มีระบบการจ้างงานที่ดี ให้เงินเดือนหรือสวัสดิการดี องค์กรจ้างคนที่มีคุณสมบัติสูงเมื่อเทียบกับองค์กรอื่นที่จ้างคนที่มีระดับ การศึกษาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราไม่ต้องไปดูข้อมูลเหล่านี้ เราเพียงแต่ใช้หรือฟังภรรยาและลูกพูดถึงบริษัทว่ารู้สึกอย่างไรก็พอ

ข้อหก พนักงานของบริษัท “ดูดี” เช่น ขยันและเอาใจใส่กว่าบริษัทคู่แข่ง แต่งตัวดีและหน้าตาดีกว่าบริษัทอื่นในระดับเดียวกัน บางทีผมก็พยายามมองดูว่าพนักงานของบริษัทนี้รู้สึกจะมีความภูมิใจในตัวเอง มากกว่าพนักงานของบริษัทคู่แข่งหรือไม่ ถ้าใช่ก็ถือว่าดี

ข้อเจ็ด กิจการมีการ “เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” เช่นเดิมทีต้องรอนานและพนักงานไม่สนใจลูกค้า กลายเป็นเร็วขึ้นและต้อนรับลูกค้าอย่างดีและมีบริการใหม่ ๆ มาเสนอต่อลูกค้าตลอด ข้อนี้ถ้าเราเห็นหรือรู้สึกได้ตั้งแต่ช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ก็จะเป็นโอกาสในการซื้อหุ้นที่งดงามได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั้น ครอบคลุมกว้างมากและรวมไปถึงกิจการทุกประเภทที่เราจะสามารถสัมผัสได้ ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนแล้ว ทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เราควรจะต้องสังเกตและวิเคราะห์เสมอว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม ดีขึ้นหรือเลวลง มากน้อยแค่ไหน ถ้าคำตอบคือ ดีขึ้นมากละก็ ลองพิจารณาอย่างจริงจังที่จะซื้อหุ้นดู

ผมคงไม่สามารถที่จะพูดได้หมดว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้างที่จะเป็นสัญญาณบอก ให้รู้ว่าบริษัทหรือหุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมองจาก “การสัมผัส” กับสินค้าหรือบริการนั้น แต่สิ่งที่จะเน้นย้ำอีกครั้งก็คือ เราจะต้องเห็นถึงความ “มีชีวิตชีวา” ของตัวกิจการ ซึ่งสิ่งนี้มักจะอิงหรือเกี่ยวข้องกับคนที่มีอายุน้อยและเป็นคนรุ่นใหม่ และก็เช่นเคย การวิเคราะห์โดยการสัมผัสนั้น แม้ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ที่สำคัญมากแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด นักลงทุนยังคงต้องวิเคราะห์ในเรื่องของการเงินและอื่น ๆ รวมถึงราคาหุ้นตามมาตรฐานที่เข้มงวดแบบ VI ด้วย

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 7 พฤศจิกายน 52

สไตล์ของนักลงทุน...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การลงทุนนั้นน่าจะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สัก 30% อีก 70% เป็นเรื่องของศิลปะ ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนมานานหรือคนที่มุ่งมั่นฝึกฝนมาเป็นอย่างดีจึงมักจะมี “สไตล์” เป็นของตนเอง

สไตล์นั้น ผมคิดว่าส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเนื่องจากประสบการณ์ของนักลงทุน นั่นคือ ตั้งแต่เริ่มเข้ามาซื้อขายหุ้น พวกเขาก็จะพยายามเรียนรู้ว่าวิธีการหรือเท็คนิคแบบไหนที่เขาใช้แล้วมักจะทำ ให้เขาได้กำไร เท็คนิคแบบไหนหรือการซื้อขายหุ้นแบบไหนที่ทำแล้วมักจะขาดทุน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะถูก “บันทึก” เอาไว้ในสมองซึ่งจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนในที่สุดเขาก็มักจะสรุปว่า มีวิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่สร้างผลลัพธ์การลงทุนที่ดีที่สุด และหลังจากนั้น เขาก็จะใช้มันเป็นหลัก และนี่คือ “สไตล์การลงทุน” ของเขา


ในระดับของ “เซียน” ระดับโลกทุกคนนั้น แน่นอนว่าแต่ละคนจะต้องมีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจน เริ่มตั้งแต่ เบน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งเน้นการลงทุนแบบ Quantitative หรือเน้นดูตัวเลขข้อมูลทางการเงินเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจข้อมูลด้านคุณภาพซึ่งเขามองว่าวัดไม่ได้และอาจเป็นภาพลวงตา ที่สร้างขึ้นโดยผู้บริหารของบริษัท หุ้นที่เขาลงทุนนั้นจะเป็นหุ้นที่มีราคาถูกมากโดยเฉพาะที่วัดจากทรัพย์สิน ของบริษัท การลงทุนของ เบน เกรแฮม นั้น จะเน้นในด้านของความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยหุ้นที่ลงทุนจะต้องมี “Margin Of Safety” สูง และพอร์ตโฟลิโอของเขาจะมีการกระจายการถือหุ้นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการถือพันธบัตรในสัดส่วนที่สูง

วอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่มีชื่อเสียงและรวยที่สุดในโลกนั้น มีสไตล์ที่โดดเด่นอยู่ที่การถือหุ้นของกิจการที่ “ดีที่สุด” ในแง่ของธุรกิจ และเขาชอบที่จะถือมันในสัดส่วนที่มาก บ่อยครั้งเขาถือมันร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของคนเดียว เขาถือหุ้นน้อยตัวและไม่ค่อยขายหุ้นหรือกิจการเหล่านั้นออกไป สไตล์ของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น ถ้าจะว่าไป เขาไม่ได้ลงทุนใน “หุ้น” แต่เขาลงทุนใน “ธุรกิจ”

ปีเตอร์ ลินช์ อดีตผู้บริหารกองทุนรวมที่มีสถิติการทำผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมและมีชื่อเสียง ที่สุดคนหนึ่งของโลกนั้น มีสไตล์การลงทุนที่ ซื้อเกือบทุกอย่างที่วิเคราะห์แล้วพบว่าดี และ/หรือ ถูก โดยที่เขาจะมีวิธีการจัดหุ้นเป็นกลุ่ม ๆ ที่จะทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของกิจการและหาจังหวะในการเข้า ซื้อและขายหุ้น

Value Investor ในบ้านเรานั้น หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้ในการซื้อขายหุ้นมาหลายปีจนถึงปัจจุบันก็เริ่ม มี “สไตล์” เป็นของตนเอง จากการสังเกตของผม Value Investor รุ่นบุกเบิกหลายคนซึ่งมักจะมีอายุมากหน่อยก็มักจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคา ถูก มีผลกำไรและการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอและอยู่ในระดับที่พอใช้ได้ กิจการมักเป็นกิจการที่ไม่หวือหวาโตเร็วและไม่ใช่เป็นกิจการ “แห่งอนาคต” และนั่นก็คือสไตล์การลงทุนแบบ VI ในยุคแรก ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่ายังมีคนใช้อยู่มากน้อยแค่ไหนแต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ ๆ จะไม่สนใจสไตล์การลงทุนในแนวนี้สักเท่าไรเพราะผลตอบแทนที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จะไม่ใคร่น่าประทับใจ

สไตล์การลงทุนของ VI ในช่วงเร็ว ๆ นี้มีมากมายหลากหลายมากจนยากที่จะบรรยายหรือเข้าใจได้หมด แต่สไตล์ที่สร้างผลตอบแทนหวือหวาดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก สาเหตุคงเป็นเพราะว่าช่วงหลายปีที่ผ่านนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน สูงมากทั้งขาขึ้นและขาลงซึ่งทำให้เกิดกำไร-ขาดทุนที่สูงมากในระยะเวลาอัน สั้น คนที่ทำกำไรได้สูงนั้น แน่นอน ต้อง “ซื้อ” สไตล์ที่เขาคิดว่าทำผลตอบแทนได้ดีมากซึ่งก็มีหลายแบบ

สไตล์หนึ่งที่นิยมกันในช่วงนี้ก็คือ การเล่นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่มี “กำไรดีและกำลังเติบโต” มองจากข้อมูลตัวเลขที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ หุ้นดังกล่าวอาจจะไม่ใคร่มีสภาพคล่องนักแต่เจ้าของหรือผู้บริหารมีความ ตั้งใจและเอาใจใส่กับราคาหุ้นและพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลดี ๆ ของบริษัท เช่นเดียวกัน กิจการก็มีความกระตือรือร้นที่จะขยายงานหรือหาธุรกิจใหม่ ๆ ทำเพื่อสร้างการเจริญเติบโตต่อไป นักลงทุนที่เล่นหุ้นสไตล์นี้นั้น เมื่อซื้อหุ้นแล้วก็ต้องมีกระบวนการในการ “โฆษณา” หรือเผยแพร่เพื่อชักจูงนักลงทุนคนอื่นให้เห็นถึงคุณสมบัติที่ “ดีเยี่ยม” และซื้อหุ้นตาม ในหลาย ๆ กรณี หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นมากและทำให้นักลงทุนชุดแรก ๆ ที่มองเห็นก่อนสามารถทำกำไรได้อย่างงดงามในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม หุ้นหลายตัวหลังจากขึ้นไปแล้ว กลับตกลงมาอย่างหนักจนทำให้คนที่ซื้อทีหลังขาดทุนจำนวนมากเช่นกัน

อีกสไตล์หนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นก็คือ การลงทุนใน “หุ้นวัฏจักร” ซึ่งก็คือการลงทุนในกิจการที่ขายสินค้าที่มีลักษณะแบบสินค้าโภคภัณฑ์ที่มี ราคาขึ้นลงเป็นรอบ ๆ เท็คนิคก็คือ พยายามมองหาหุ้นของกิจการที่กำลังจะเป็น “ขาขึ้น” แต่หุ้นที่สนใจนั้น มักเป็นหุ้นของกิจการขนาดเล็กที่นักวิเคราะห์ไม่สนใจติดตาม ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นไม่ค่อยได้ปรับตัวตามวัฏจักรอย่างรวดเร็วตามที่ควรเป็น เมื่อพบแล้วก็เข้าซื้อ แล้วก็รอและโปรโมตหุ้นให้เป็นที่สนใจของนักลงทุนอื่น ๆ จนราคาดีดตัวขึ้นเมื่อผลการดำเนินงานที่โดดเด่นได้รับการประกาศออกมา พวกเขาก็มักจะขายเพื่อทำกำไรและมองหาหุ้นวัฏจักรตัวต่อไป

สไตล์สุดท้ายที่เริ่มมีคนยึดถือเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันก็คือการลงทุนใน หุ้น Super Stock ในแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ แม้ว่ากิจการในตลาดหุ้นไทยนั้นจะมีคุณสมบัติต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกามาก แต่แนวที่นักลงทุนใช้ก็คือ ลงทุนเฉพาะในหุ้นกลุ่มที่มีคุณภาพดีที่สุด ในราคาที่ถูกหรือยุติธรรม ซึ่งก็มักเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมาก ซื้อแล้วเก็บไว้ค่อนข้างนาน จนราคาปรับตัวขึ้นไปมากแล้วก็ขายและรอซื้อหุ้นตัวอื่นหรือตัวเดิมที่มี คุณภาพสูงและในราคาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงการลงทุนบางสไตล์ของ VI ที่มีให้เห็นโดดเด่น สไตล์เหล่านั้นอาจจะได้รับความนิยมนานหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับผลงานการลงทุน ที่นักลงทุนที่ใช้ทำได้ ถ้าสไตล์นั้นสามารถทำผลงานดีเด่นยาวนาน สไตล์นั้นก็น่าจะคงทน แต่หากสไตล์นั้นทำผลงานดีได้เพียงชั่วคราว ในไม่ช้ามันก็จะหมดความนิยมลง ในทางตรงกันข้าม เท็คนิคหรือสไตล์ใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนคนหนึ่งจะสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับทุกสถานการณ์ ดังนั้น วิธีการที่ดีกว่าก็คือ หาสไตล์ที่ดีที่สุดในระยะยาวแล้วฝึกฝนจนชำนาญและใช้มันตลอดไป เฉกเช่นเดียวกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือ ปีเตอร์ ลินช์ หรือ เบน เกรแฮม ที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จและกลายเป็นตำนานของนักลงทุนของโลก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 31 ต.ค.2552

Tuesday, October 27, 2009

ทำน้อยได้มาก...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

หนทางสู่ความสำเร็จ ความร่ำรวย และความสุข โดยที่ไม่ต้องทำงานหนักหรือดิ้นรนมากเกินไปนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การรู้จักเลือกทำอะไรที่มีคุณค่ามากซึ่งทำแล้วจะได้ผลลัพธ์ หรือผลตอบแทนมาก พูดง่าย ๆ ก็คือ “ทำน้อยได้มาก” และหนทางที่ทำให้เราเหนื่อยยากและทำแล้วก็ไม่ได้มรรคผลเท่าที่ควรก็คือการ ทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดผลน้อยกว่าแรงงานที่ใส่ลงไป เราทำมันโดยที่ไม่ได้คิดไตร่ตรอง ทำมันตามที่คนอื่นบังคับให้เราทำ ทำเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่การงาน หรือทำเพราะความเคยชิน เป็นต้น

หลักของการ “ทำน้อยได้มาก” นั้น มาจากหลักการ 80/20 ซึ่งค้นพบโดย Vilfredo Pareto นักเศรษศาสตร์ชาวอิตาลี หลักการนี้พูดถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สาเหตุและผล สิ่งที่ใส่เข้าไปกับสิ่งที่ได้ออกมา และงานที่ทำกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยที่ความไม่เท่าเทียมนั้นโดยคร่าว ๆ ก็คือ ประมาณ 80 ต่อ 20 ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเอาคนที่ดื่มเหล้าหนักที่สุด 20% ของคนดื่มเหล้าทั้งหมดมานับรวมกันดูก็จะพบว่าพวกเขาดื่มเหล้าคิดเป็นประมาณ 80% ของการบริโภคเหล้าทั้งหมด หรือเอาปัญหาทางการผลิตที่สำคัญเพียง 20% มาแก้ไขปรับปรุงก็จะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น 80% หรือมากกว่า ว่าที่จริงกฏ 80/20 นั้น เริ่มจากการพบสิ่งที่ไม่สมดุลของรายได้และความมั่งคั่งของประชากร โดยที่พาเรโตพบว่ามีความเหลื่อมล้ำกันมากคือ คนที่มีรายได้สูงที่สุด 20% มีรายได้รวมกันถึงประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นั่นคือเรื่องที่เป็นเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ถึงวันนี้ผมคิดว่ามันก็ยังคงเป็นอยู่หรือเป็นมากขึ้นด้วยซ้ำ

หลักการ 80/20 หรือหลักของความไม่สมดุลนี้ เกิดขึ้นมากมายในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจ และแม้แต่ในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าความไม่สมดุลในแต่ละเรื่องนั้นไม่ใช่ 80/20 พอดี อาจจะเป็น 75/25 หรือ 70/30 แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ถ้าเราค้นพบ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากมันได้มาก เช่นนักการตลาดทำโปรแกรมโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเน้นไปที่ลูกค้าที่เป็นผู้ บริโภคหนักที่สุด 20% แรก ซึ่งเป็นลูกค้าที่สร้างรายได้ให้บริษัทถึง 80% พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบริษัทประกันภัย GEICO หรือ Government Employee Insurance Company ของวอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ขายประกันโดยเฉพาะประกันรถยนต์ให้กับพนักงานของรัฐโดยไม่ผ่านนายหน้า นี่ก็เป็นวิธีคิดแบบ 80/20 เหมือนกัน เพราะพนักงานของรัฐนั้น โดยสถิติพบว่าเป็นนักขับรถที่ดีเยี่ยมประสบอุบัติเหตุน้อยกว่าคนกลุ่มอื่น มาก ดังนั้น GEICO จึงสามารถขายประกันให้ในราคาเบี้ยประกันที่ต่ำ นอกจากนั้น ยังสามารถลดต้นทุนด้านการขายซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากโดยไม่ผ่านนายหน้าด้วย

ในฐานะของ VI นั้น ผมคิดว่าเราน่าจะต้องเป็นคนที่คำนึงถึงเรื่องหลัก 80/20 มากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะความสามารถของเราหรือสิ่งที่เราค้นหาตลอดเวลาก็คือ เราต้องการหาการลงทุนที่เราใช้เงินน้อยแต่ในที่สุดมันจะให้ผลตอบแทนที่ มากกว่าปกติ เราไม่ต้องการอะไรที่เป็นแบบ 50/50 หรือลงทุน 10 บาทแล้วในที่สุดก็ได้ผลตอบแทนประมาณ 1 บาทต่อปีหรือ 10% หรือลงไปแล้วขาดทุน นั่นคือปรัชญาสำคัญของ VI แต่ VI นั้นไม่ใช่ดูเฉพาะเรื่องของการลงทุนทางการเงินเท่านั้น VI ที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งชีวิต ดังนั้น เวลาเราพูดถึงหลัก 80/20 VI ก็จะมองหาว่ามีอะไรในชีวิตที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากหลักการนี้ได้

ผมคงไม่สามารถบอกได้ทุกเรื่องว่าเรื่องไหนมีช่องที่เราจะสามารถนำหลักการ 80/20 มาใช้สำหรับทุกคน เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องคิดเอง แต่อยากจะลองยกตัวอย่างเพื่อให้นำไปคิดต่อเช่น ในการเรียนหนังสือนั้น มีคนบอกว่าวิธีที่จะทำให้สามารถ “ทำน้อยได้มาก” ก็คือ เวลาอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบนั้น ให้อ่านคำนำกับบทสรุปหลาย ๆ เที่ยวเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญก่อน ส่วนเนื้อหาก็ให้เน้นอ่านเฉพาะที่เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนรายละเอียดหรือเรื่องที่ไม่ได้เน้นไว้ในบทสรุปก็ให้อ่านผ่าน ๆ ไปหรือไม่ต้องอ่าน เหตุผลก็เพราะว่า ข้อสอบนั้น 80% หรือมากกว่านั้น จะออกเฉพาะในเรื่องที่สำคัญที่อยู่ในบทสรุป

ในเรื่องของการทำงานนั้น ว่ากันว่า คนที่มีคุณค่ามากในบริษัทเพียง 20% เท่านั้นที่ทำกำไรให้กับบริษัท ส่วนคนส่วนใหญ่นั้นสร้างคุณค่าน้อยและอาจจะไม่คุ้มค่าด้วยซ้ำ งานจำนวนมากในบริษัทนั้นไม่ก่อให้เกิดคุณค่าจริง ๆ ดังนั้นบริษัทหลายแห่งจึงใช้วิธี Outsource หรือจ้างคนอื่นทำงานทั่ว ๆ ไป ตัวเองทำเฉพาะงานสำคัญที่ตนเองมีความสามารถจริง ๆ เช่นเดียวกัน ในแง่ของส่วนบุคคล เราก็ควรต้องเน้นทำเฉพาะงานที่เป็นความเชี่ยวชาญของเราจริง ๆ และลดงานที่ไม่ถนัดลงถ้าเราจะสามารถ “ทำน้อยได้มาก” และประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยยากเกินไป

ในเรื่องของการลงทุนนั้น ความชัดเจนประการแรกก็คือ หุ้นนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เรา “ทำน้อยได้มาก” เพราะในระยะยาวแล้ว หุ้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารการเงินอื่นมาก สมมุติว่าเรามีเงิน 1 ล้านบาทและอายุ 30 ปี ถ้าเราลงทุนในหุ้นไปเรื่อย ๆ โดยซื้อกองทุนรวมหุ้นที่อิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเราเกษียณที่ 60 ปี เราจะมีเงินประมาณ 17.4 ล้านโดยที่แทบไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นประมาณปีละ 10% แต่ถ้าเราฝากไว้ในธนาคารแบบฝากประจำเราน่าจะมีเงินเพียง 2.4 ล้านบาทเพราะเงินฝากน่าจะให้ผลตอบแทนเพียง 3 % ต่อปี และถ้าเราลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาล เงินที่เราจะมีในวันเกษียณก็อาจจะเป็นเพียง 4.3 ล้านบาทเพราะพันธบัตรน่าจะให้ผลตอบแทนเพียงปีละ 5% ความแตกต่างของเม็ดเงินระหว่างหุ้นกับเงินฝากหรือพันธบัตรก็ประมาณ 80 ต่อ 20

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงหลักการและตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเพื่อเป็นการจุด ประกายให้เห็นถึงความสำคัญของกฏ “ทำน้อยได้มาก” VI ที่จะประสบความสำเร็จจากการลงทุนสูงจริง ๆ นั้นจะต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จริง ๆ นั่นคือ หาอะไรที่ทำหรือลงทุนแค่ 20% แล้วให้ผล 80% ซึ่งด้วยวิธีนี้เขาสามารถทำงาน 40% ของพลกำลังแล้วได้ผลตอบแทน 160% เปรียบเทียบกับอีกคนหนึ่งที่ทำงาน 120% แล้วได้ผลตอบแทน 120% แล้ว ผมคิดว่าคนแรกนั้นน่าจะมีความสุขและร่ำรวยกว่ามาก

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 25 ต.ค.2552

บทเรียนหลังวิกฤติ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถึงขณะนี้เราน่าจะพอพูดได้แล้วว่าวิกฤติเศรษฐกิจของปี 2551 ได้สิ้นสุดลงแล้วแม้ว่าความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะตกกลับลงไปอีกครั้งหนึ่งก็ ยังคงมีอยู่ แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงไปต่ำกว่าเดิม อย่างมากเศรษฐกิจก็อาจจะนิ่งและหงอยเหงาไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงอยากจะทบทวนดูว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้างจากวิกฤติเศรษฐกิจและตลาด หุ้นที่เลวร้ายมากครั้งนี้

ข้อแรกก็คือ ความจริงที่ยังไม่เสื่อมคลายที่ว่า ในวิกฤตินั้นมีโอกาสอยู่เสมอ และครั้งนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น ว่าที่จริง ในวิกฤติครั้งนี้มีโอกาสมากมายในการทำกำไรจากตลาดหุ้น เพราะฐานะและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากยังดีอยู่เป็นปกติใน ขณะที่ราคาหุ้นลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่ง ดังนั้น คนที่กล้าและมั่นใจในพื้นฐานของกิจการและเข้าไปช้อนซื้อหุ้นไว้จึงได้กำไร มหาศาลภายในระยะเวลาอันสั้น

ข้อสอง บริษัทจดทะเบียนที่มีคุณภาพดีเยี่ยมเข้าข่ายเป็น Super Stock นั้น มักจะสามารถทนทานต่อภาวะเลวร้ายทางเศรษฐกิจได้ ผลการดำเนินงานมักจะไม่ลดลง บางบริษัทยังเติบโตได้ ในเวลาเดียวกัน ฐานะทางการตลาดกลับแข็งแกร่งขึ้น เช่นเดียวกับฐานะทางการเงินของบริษัทที่ยังมั่นคงเช่นเดิม และด้วยเหตุนั้น ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงน้อย บางตัวหุ้นกลับมีราคาสูงขึ้นในขณะที่หุ้นโดยทั่วไปตกลงมาอย่างหนัก บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่า ถ้ามีหุ้นของกิจการที่ดีเยี่ยมแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องขายอย่างรีบด่วนนั้นมีน้อย

ข้อสาม วิกฤติเศรษฐกิจนั้น แม้ว่าจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายและรุนแรงแต่มันอยู่ไม่นาน วิกฤติครั้งนี้พูดกันว่ารุนแรงที่สุดนับจากปี 1929 หรือเกือบ 80 ปีมาแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันเพียง 4 ไตรมาศ ซึ่งสำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่าง VI จำนวนมากแล้ว 4 ไตรมาศหรือ หนึ่งปีนั้น เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับการลงทุน “ตลอดชีวิต” ที่มักยาวเป็นหลายสิบปี ดังนั้น บทเรียนของวิกฤติก็คือ “เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป” อย่ากังวลกับมันมากเกินไป

ข้อสี่ คนส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์หุ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า ดัชนีหุ้นขึ้นถึงยอดดอยหรือตกถึงพื้นแล้ว พวกเขาจะรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น คำว่า “ยังไม่ต้องรีบซื้อหุ้นเพราะยังไม่เห็นสัญญาณอะไรว่าเศรษฐกิจจะฟื้น” จึงเป็นคำที่ไม่มีความหมายอะไร เช่นเดียวกับ คำว่า “เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัว W ดังนั้น ให้ขายเดือนมิถุนายนแล้วรอไปซื้ออีกครั้งในช่วงปลายปี” กลยุทธ์ที่ดีกว่าก็คือ ถ้าพบหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ มี Margin Of Safety สูง และธุรกิจจะต้องฟื้นกลับมาเป็นปกติค่อนข้างแน่หลังจากวิกฤติผ่านพ้นไป ก็เข้าไปซื้อหุ้นเก็บไว้ แล้วรอจนราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงจนเป็นที่น่าพอใจแล้วค่อยขายจะดีกว่า

ข้อห้า หลังจากที่หุ้นตกลงไปมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น หุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้นอย่างแรงภายในระยะเวลาไม่นาน แต่ว่าการปรับตัวขึ้นจะไม่ถึงระดับเดิมก่อนที่มันจะตกลงมา ในช่วงที่หุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปแล้ว ความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับลงมาอย่างแรงอีกครั้งหนึ่งนั้นจะมีสูง อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าดัชนีระดับไหนจะเป็นจุดปรับตัว และเมื่อปรับตัวลงมาจะปรับลงมาเท่าไร เพราะนั่นมักจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น จงเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับกับการปรับตัวแรงหลังจากที่หุ้นขึ้นไปมากหลัง วิกฤติ

ข้อหก ในยามที่เกิดวิกฤติขึ้น นักลงทุนที่ “เจ็บหนัก” ที่สุด ก็คือคนที่ลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จินโดยเฉพาะอย่างยิ่งลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก เพราะในยามที่เกิดวิกฤติ ราคาหุ้นจะลดลงมาเร็วมากจนทำให้หลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอกับหนี้มาร์จิ นทำให้ถูกโบรกเกอร์บังคับขายหุ้นในตลาดซึ่งทำให้ราคาหุ้นลดลงไปอีก กระบวนการนี้ทำให้เราต้องขายหุ้นในเวลาที่เลวร้ายและมักได้ราคาต่ำที่สุด ตรงกันข้าม หลังจากที่ดัชนีตกลงไปต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติ การลงทุนซื้อหุ้นด้วยมาร์จิน โดยเฉพาะที่เป็นการซื้อหุ้นคุณภาพดีในราคาที่ต่ำมากนั้นจะมีอันตรายน้อย โอกาสที่จะถูกบังคับขายมีน้อยในขณะที่หุ้นมักให้ปันผลที่คุ้มค่ากับดอกเบี้ย ของหนี้มาร์จิน เหนือสิ่งอื่นใด การลงทุนในยามที่ดัชนีหุ้นเลวร้ายมาก ๆ นั้น มักให้ผลที่คุ้มค่าเมื่อเวลาผ่านไป

สุดท้ายสำหรับบทเรียนหลังวิกฤติก็คือ วิกฤตินั้นเกิดขึ้นบ่อยพอสมควร การเกิดขึ้นแต่ละครั้งมักกระทบกับพอร์ตโฟลิโอรุนแรงและทำลายผลตอบแทนระยะยาว ของ VI ที่มักจะถือหุ้นตลอดเวลาหรือเกือบตลอดเวลา ดังนั้น เราควรที่จะต้องทบทวนดูอยู่เสมอว่าหุ้นที่ประกอบเป็นพอร์ตของเรานั้น มีความแข็งแกร่งสามารถทนทานต่อภาวะวิกฤติได้มากน้อยแค่ไหน ความเห็นของผมก็คือ พอร์ตหุ้นที่ดีนั้น จะต้องรักษามูลค่าของมันได้ค่อนข้างมาก นั่นคือ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น มูลค่าของมันไม่ควรจะตกลงไปเกิน 30% ในเกือบจะทุกสถานการณ์ และถ้าเรามีพอร์ตแบบนี้แล้ว ในระยะยาวเราจะปลอดภัยและพอร์ตจะเติบโตไปได้ต่อเนื่องยาวนาน ผลตอบแทนเฉลี่ยจะดีกว่าตลาดและอยู่ในระดับที่น่าพอใจในขณะที่ความเสี่ยงจะ น้อย และถ้าเราทำไปถึงจุดหนึ่งและผ่านภาวะวิกฤติมาหลายครั้งเราจะไม่รู้สึกวิตก กับภาวะวิกฤติเลย ว่าที่จริง บางครั้งเราอาจจะรู้สึกด้วยว่า วิกฤตินั้นบางทีก็อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำกำไรด้วยซ้ำ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 17 ต.ค.2552

Wednesday, October 14, 2009

ชีวิตหลังเกษียณ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เดือนนี้สำหรับหลาย ๆ คนที่มีอายุครบ 60 ปีคงจะเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเขา “เกษียณอายุ” นั่นคือ เขาไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงานประจำที่เขาทำมาหลายสิบปี เขาไม่ต้องรับผิดชอบงานในหน้าที่ที่ต้องทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด เขาไม่ต้องเข้าประชุมถกเถียงกับเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าอีกต่อไป ความเครียดในการทำงานดูเหมือนจะหายไป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาคงเริ่มคิดถึงชีวิตสังคมในที่ทำงาน ต่อไปนี้เขาจะคุยกับใคร เขาจะได้ฟังหรือเล่าเรื่องซุบซิบนินทาให้ใครฟัง เขาจะมีงานสังสรรเหมือนเดิมที่ไหน และสำหรับหลายคนที่เคยเป็นผู้บริหาร เขาจะสั่งหรือใช้ใครพิมพ์งานหรือติดต่อส่งข่าวต่าง ๆ ในเมื่อเลขาที่เขาเคยมีหายไป ใครจะขับรถไปรับตัวเองหรือลูกเมียหรือวิ่งงานสารพัดในเมื่อคนขับรถก็จะหายไป ด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ “น่าใจหาย” สำหรับหลาย ๆ คน แต่สำหรับคนจำนวนมากนั้น เรื่องที่จะต้องคิดและน่าห่วงมากยิ่งกว่าก็คือ เขาจะจัดการกับเรื่องการเงินหลังจากนี้อย่างไรในเมื่อเงินรายได้ประจำเดือน นั้นจะไม่มีอีกต่อไป

ผมเชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี้และถึงวัยเกษียณแล้วคงต้องมีเงินเก็บสะสม ไว้บ้าง หลาย ๆ คนมีเงินมากพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้น ผมคงพูดโดยอิงกับคนสองกลุ่มนี้เท่านั้น ส่วนคนที่แทบไม่มีเงินเก็บสะสมเลยหรือมีน้อยมากนั้น ผมคิดว่าทางเดียวที่ทำได้ก็คือ หางานทำต่อไปไม่ว่าจะเป็นงานประจำหรืองานอิสระ ส่วนคนที่เกษียณแล้วจริง ๆ ต่อไปนี้คือความคิดและคำแนะนำของผมซึ่งเป็นคนที่สมัครใจ “เกษียณ” ก่อนกำหนดตั้งแต่อายุ 50 ปีเศษ ๆ และใช้ชีวิต “อิสระ” มาได้ 5-6 ปีแล้ว

ก่อนอื่นผมคงต้องบอกว่า การเกษียณนั้นไม่ควรจะเป็นการเลิกทำงานทุกอย่าง สำหรับผม การเกษียณคือการเลิกจากการทำงานที่เราทำเพื่อเงินเป็นหลัก หลัง “เกษียณ” เราควรจะทำงานต่อไป แต่งานที่ทำนั้นควรเป็นงานที่เราชอบและมีประโยชน์ต่อตัวเราและ/หรือสังคมโดย ส่วนรวม งานนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้วเป็นงานอดิเรกหรืองานเสริมแต่เมื่อเรา เกษียณจากงานประจำเราจึงหันมาทำงานนั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว งานนั้นอาจจะเป็นงานใหม่ที่เราเพิ่งเริ่มทำและมันเป็นงานที่เราเคยคิดอยากทำ แต่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสที่จะทำในขณะที่เรายังทำงานประจำอยู่ อย่าไปห่วงว่าเราจะทำไม่ได้หรือยากลำบากเกินไปเพราะถ้าทำแล้วเราไม่ชอบหรือ ไม่ประสบความสำเร็จเราก็เลิกทำได้เสมอ ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ อายุ 60 ปีที่เราเกษียณนั้น ไม่ได้แก่เกินไปที่จะเริ่มทำสิ่งใหม่ เพราะสำหรับคนทั่วไปผมคิดว่าอายุที่จะเสียชีวิตนั้นน่าจะถึง 80 ปี ซึ่งทำให้มีเวลาอีกตั้ง 20 ปีที่จะทำสิ่งที่เราต้องการทำ ดังนั้น การเกษียณนั้นไม่ใช่เวลาสิ้นสุดแต่เป็นเวลาที่เพิ่งเริ่มต้นสำหรับสิ่งใหม่ ที่ท้าทายของชีวิต

การทำงานในช่วงเวลาหลังเกษียณนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก แต่ผมคิดว่าการทำงานแล้วได้เงินด้วยก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเงินนั้น อย่างน้อยมันเป็นเครื่องวัดว่างานที่เราทำ “มีค่า” ในสายตาของคนในสังคม การทำงานแล้วได้เงินนั้นมันจะทำให้งานไม่น่าเบื่อหรือไม่มีจุดหมาย ว่าที่จริง หลายคนอาจจะทำงานได้เงินมากกว่าในช่วงที่ยังทำงานปกติก็เป็นไปได้ เพราะหลังจากการเกษียณแล้ว เขาก็เป็นอิสระในการเลือกทำเฉพาะงานที่มีค่ามากและไม่ทำงาน “ขยะ” เช่นงานประชุมบางอย่างที่เสียเวลามากและไม่ได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อย่าทำงาน “เพื่อเงิน” เพราะนั่นจะกลายเป็นว่าเรากลับเข้าไปอยู่ในวังวนของการทำงานที่ผูกมัดชีวิต ของเราจนไม่มีความสุข พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ งานหลังเกษียณนั้น ไม่ควรเป็นงานที่หนักเท่ากับงานประจำเดิม แต่ควรเป็นงานที่มีค่าและมีประโยชน์ทำแล้วมีความสุข ส่วนเงินนั้นเป็นผลพลอยได้ที่พึงปราถนา ยิ่งมากก็ยิ่งดี แต่เราไม่ไล่หามัน

หลังเกษียณเป็นเวลาที่ร่างกายเรามักจะเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เราควรทำอย่างยิ่งก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแร็ง ดังนั้น การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่จำเป็นและว่าที่จริงทำให้เรามีความสุขไม่น้อยกว่า สิ่งอื่น ๆ ผมเอง หลังจาก “เกษียณ” ตัวเองก็เริ่มหัดเล่นกอล์ฟ เพราะกอล์ฟนั้นช่วยให้เราได้เดินค่อนข้างมากในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ คุณไม่จำเป็นต้องเล่นกอล์ฟเพื่อเป็นการออกกำลังกายแต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่ต้อง ใช้พลังงานสูงหรือหักโหมเกินไป ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การออกกำลังกายสม่ำเสมอที่เหมาะสมกับร่างกายเป็นสิ่งที่คนหลังวัยเกษียณควร ทำเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากการออกกำลังหรือกีฬาแล้ว การทำงานอดิเรกหรือการทำงานเพื่อสังคมเช่นการเป็นอาสาสมัครในเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจทำสำหรับคนหลังเกษียณ การสอนหนังสือหรือเผยแพร่ประสบการณ์ให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่ รู้สึกล้าหลังหรือกลายเป็นคนแก่ที่ไร้ความหมาย ดังนั้น ลองมองหาดูว่าอะไรที่เราพอทำได้แล้วไม่รู้สึกหนักแต่เพลิดเพลินและได้สังคม กับคนต่างวัยกันด้วย

สุดท้ายซึ่งสำคัญมากก็คือเรื่องของเงินทอง การเกษียณนั้นแปลว่าเงินที่จะได้จากน้ำพักน้ำแรงจะค่อนข้างน้อยลงหรือหมดไป แต่เรายังต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตอยู่ คนที่มีเงินมากเหลือเฟืออาจจะไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่คนที่มีเงินพอสมควรแต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถใช้ได้ตลอด ชีวิตอย่างสะดวกสบายจะต้องรู้จักการบริหารเงิน การบริหารเงินของคนเกษียณนั้นไม่ใช่ไม่ยอมเสี่ยงเลยและทำแค่ฝากเงินไว้กับ ธนาคาร เพราะดอกเบี้ยที่ต่ำมากเพียง 1-2% ต่อปีในขณะที่ยังมีเงินเฟ้ออยู่นั้นจะทำให้ค่าของเงินลดลงในอนาคตซึ่งทำให้ ความมั่งคั่งลดลงและอาจทำให้เรามีปัญหาทางการเงินได้

สูตรการบริหารเงินสำหรับคนเกษียณนั้นผมคิดว่าคล้าย ๆ กับคนทั่วไปเพียงแต่การลงทุนอาจจะลงในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า นั่นก็คือ ควรแบ่งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ใหญ่ ๆ สามอย่างคือ หุ้น พันธบัตร และเงินสดในธนาคาร โดยสัดส่วนการลงทุนในหุ้นนั้นให้เอา 80 ตั้งลบด้วยอายุตัวเองเช่น 60 ปี ก็จะได้ว่าเราควรลงทุนในหุ้น 20% ส่วนการลงทุนในเงินฝากธนาคารทั้งฝากประจำและออมทรัพย์รวมกันไม่เกิน 20% ที่เหลือ 60% ให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มั่นคง โดยที่การลงทุนในหุ้นและพันธบัตรนั้น ถ้าเรายังไม่รู้วิธีหรือเทคนิคที่ถูกต้องก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมซึ่ง บริหารโดยมืออาชีพได้ การลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอของสินทรัพย์หลายกลุ่มแบบนี้จะทำให้เราได้ผลตอบแทน สูงขึ้นโดยน่าจะได้ถึงปีละ 5% โดยเฉลี่ยและความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้อย่างสบาย

ทั้งหมดนั้นก็เป็น “ชีวิตหลังเกษียณ” แนวทางหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วหัวใจของมันก็คือ การเกษียณนั้น ไม่ใช่ Last Stop หรือ “รถเมล์ป้ายสุดท้าย” ก่อนตาย แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่อิสระและมีความหมายเต็มเปี่ยม เป็นปีทองของชีวิต

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 ต.ค.2552

Sunday, October 4, 2009

ทฤษฎี VI (3).........ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม

ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”

ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน

ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือน เดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น

ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” 2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง 3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น 4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุน ผิดพลาดได้

ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่ สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรม และเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไร หรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI

VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคา หุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่าง ที่ควรเป็นต่างหาก

ประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้น ปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้า หลายปีเช่นกัน

สุดท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ หุ้นตัวหนึ่งบางช่วงอาจจะเป็นหุ้นปั่นแต่บางช่วงอาจเป็นหุ้นที่คุ้มค่า สำหรับการลงทุนของ VI ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดบ่อยครั้งก็ไม่เข้าข่ายที่ VI จะซื้อลงทุนเพราะมันอาจจะมีราคาสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 4 ต.ค.2552

ทฤษฎี VI(2)......ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย

หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการ ดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมี อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสีย ลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า

การซื้อหุ้นของ VI นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการขายหุ้น สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อย กว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้

เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจาก ข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา 2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว 3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคา หุ้นจะขึ้นไปมาก 4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ 5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ เศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 29 ก.ย.2552

Tuesday, September 22, 2009

ทฤษฎี VI (1)...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investment คืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ คำตอบที่ได้รับนั้นมักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ “Value Investor” แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วคำตอบนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด “แบบ VI” ผมคิดว่าไม่มีคำตอบไหนที่จะอธิบายความหมายของ VI ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว VI นั้นเป็น “ปรัชญา” ที่อาจจะมีพื้นฐานจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม แต่หลังจากนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติคนอื่นที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดเพิ่ม เติมหลากหลาย บางเรื่องก็แย้งกับแนวทางเดิมก็มี อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าแนวทางแบบใดเป็นแบบ VI และแนวไหนไม่ใช่ และต่อไปนี้ก็คือความพยายามของผมที่จะรวบรวมแนวความคิดหลัก ๆ ของ VI ที่จะช่วยให้คนที่ยังสับสนว่าอะไรคือ VI และการลงทุนแบบ VI นั้นทำอย่างไร ผมอยากเรียกมันว่า “ทฤษฎี VI”

ทฤษฎี VI ของผมจะเริ่มจาก “โครงร่าง” ที่จะครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ของ VI ดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก VI มองการลงทุนในหุ้นว่าคือการลงทุนในธุรกิจ พูดง่าย ๆ ซื้อหุ้นก็คือซื้อธุรกิจหรือถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อกระดาษใบหนึ่งที่มีราคาขึ้นลงได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ข้อสอง ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ซึ่งก็คือการหามูลค่าของธุรกิจ นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ ไม่ใช่มูลค่าที่มีคนมาเสนอซื้อจากเรา ข้อสาม ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด โดยที่ส่วนต่างนั้นมีมากพอ หรือเรียกว่ามี Margin Of Safety ข้อสี่ VI นั้นจะต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง ไม่ถูกชักนำโดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ ข้อห้า ต้องควบคุมความเสี่ยง หรือเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม สุดท้ายก็คือ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมมองของ VI

ข้อ แรกในเรื่องของธุรกิจนั้น VI จะพยายามแยกหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่าคุณสมบัติทางธุรกิจของหุ้นนั้นเป็นอย่างไร การแยกแยะนั้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของกิจการได้ อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

การ แบ่งกลุ่มของหุ้นที่ค่อนข้างกว้างก็คือแนวที่บัฟเฟตต์เรียกว่า กลุ่มหุ้น “ก้นบุหรี่” กับกลุ่มหุ้น “Super Company” โดยที่หุ้นก้นบุหรี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีความสามารถโดดเด่นในการแข่ง ขัน ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นอาจจะถูกมากจนอาจทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ในขณะที่หุ้น Super Company นั้นเป็นหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งมากและมี “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรดีกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หุ้นแบบหลังนี้ ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม มันก็จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีได้เป็นเวลานาน

VI ชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ เองได้เสนอการแบ่งกลุ่มบริษัทให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจการ ได้แม่นยำขึ้น เขาแบ่งกิจการออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก หุ้นโตช้า ซึ่งเขาบอกว่าไม่น่าสนใจลงทุน นี่น่าจะเป็นกลุ่มที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ตะวันตกดิน” กลุ่มสอง หุ้นแข็งแกร่ง นี่คือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นหุ้นที่นักลงทุนเรียกว่าเป็น หุ้น “Blue Chip” หุ้นเหล่านี้จะโตไม่มากแล้ว คนลงทุนควรจะเน้นว่ามันจ่ายปันผลในอัตราที่ดีจึงจะน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน กลุ่มที่สาม คือหุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กลงมาแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกิจการที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะไม่เข้มแข็งมาก แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้โดยรวมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเพราะราคาหุ้นจะปรับ ตัวไปสูงมากและเป็นเวลานาน กลุ่มที่สี่ คือหุ้นวัฏจักร นี่คือกิจการที่มีผลประกอบการขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ ที่ถ้าเราเข้าใจก็สามารถลงทุนซื้อและขายหุ้นในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มหุ้นฟื้นตัว นี่คือหุ้นของกิจการที่ประสบปัญหาหนักแต่กำลังฟื้นตัวหรือจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากเหตุผลบางประการเช่นบริษัทมีเงินสดมาก การซื้อหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อกิจการฟื้นตัวแล้ว สุดท้าย หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมาก นี่คือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทและทรัพย์สิน นั้นมีค่าจริง การลงทุนในหุ้นมีทรัพย์สินมากมักจะมีความปลอดภัยสูง

การ แบ่งกลุ่มบริษัทนั้น สำหรับ VI คงไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นแนวของ VI หรือไม่ก็คือในกรณีของ บิล มิลเลอร์ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น VI คนหนึ่ง แต่เขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้ง ๆ ที่หุ้นไฮเท็คนั้น สำหรับ VI ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นหุ้นในกลุ่มของ Growth Investor ซึ่งไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องของราคาถูกแพงของหุ้นซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของ VI ที่เน้นว่าต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเสมอ อย่างไรก็ตาม บิล มิลเลอร์ เถียงว่า หุ้นที่เขาลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้แพงเลยเมื่อมองถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการเหล่า นั้นจะทำได้ในอนาคตที่อาจจะไกลออกไปหน่อยแต่ก็เป็นกระแสเงินสดที่มากและน่า จะคาดการณ์ได้เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจของหุ้นไฮเท็คที่เขาซื้อเหล่า นั้น

หัวใจ สำคัญของการวิเคราะห์กิจการนั้น นอกจากการที่ต้องพยายามจัดกลุ่มแล้ว เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้น “หากิน” อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะ ยาวและปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน การเข้าใจตัวธุรกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญมากของการลงทุนแบบ VI และก่อนที่จะลงทุนนั้น นักลงทุนจะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ครอบคลุมหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของธุรกิจหรือ “Story” ว่าทำไมหุ้นตัวนั้นถึง “น่าลงทุน”
บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 19 ก.ย.2552

Friday, September 18, 2009

Merry-Go-Round.....ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้าถามเด็กเล็กว่าของเล่นอะไรในงานวัดเป็นสิ่งที่เขาชอบที่สุด ผมเชื่อว่า “ม้าหมุน” น่าจะติดอยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะม้าหมุนนั้นมันทำให้เด็ก “หมุน” ไปอย่างรวดเร็ว เขารู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่มี “เพื่อน” ร่วมวงเล่นกันอย่างมากมายบนม้าหมุนที่ประดิดประดอยตกแต่งอย่างสวยงามราวกับอยู่ในเมืองในเทพนิยาย นอกจากนั้น ดนตรีที่บรรเลงอย่างไพเราะรื่นเริงในยามที่เด็ก ๆ กำลังนั่งอยู่บนหลังม้าที่หมุนไปนั้น มันสร้างความสุขและความเคลิบเคลิ้มที่มักทำให้เขาจดจำไปช้านาน ถ้าจะว่าไป การนั่งม้าหมุน โดยเฉพาะที่ใหญ่และหรูหรานั้น มักทำให้คนนั่งรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในความฝันที่มีความสุขเหลือล้น และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ฝรั่งเรียกของเล่นชิ้นนี้ว่า Merry-Go-Round หรือแปลแบบสนุก ๆ ว่า “ความสุขที่หมุนไปเป็นรอบ ๆ”

ผมพูดถึงม้าหมุนเพราะรู้สึกว่าบรรยากาศในตลาดหุ้นไทยเวลานี้เหมือน “ม้าหมุน” ที่คนเล่นหุ้นต่างก็ขึ้นไป “นั่ง” เล่นกันอย่างสนุกสนาน มีความสุขเหลือล้น คล้าย ๆ อยู่ในความฝัน กำไรหรือเงินนั้นหามาได้ง่าย ๆ พวกเขาโหมซื้อหุ้นตัวหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งที่มาถึง “รอบ” ของมัน ถือไว้ไม่กี่วันหรือบางทีไม่ถึงวัน ราคามันขึ้นไปอย่างแรง ขายมันทิ้ง แล้วก็มองหาหุ้นตัวใหม่ในกลุ่มใหม่ที่กำลังจะมาถึงรอบ ของมัน ไม่มีใครรู้ว่าม้าหมุนจะหยุดเมื่อไร แต่ตราบใดที่มันยังหมุนอยู่ ทุกคนก็ยัง “ตักตวงความสุข” กันอย่างเต็มที่ เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาคิดว่าม้าหมุนเครื่องนี้ก็เพิ่งเปิดให้เข้ามาเล่นได้ไม่นาน “มันคงไม่หยุดกันง่าย ๆ ”

เริ่มตั้งแต่ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจได้หยุดถดถอยลงแล้วและราคาน้ำมันและพลังงานเริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด กลุ่มพลังงานซึ่งนำโดยหุ้น ปตท. และ ปตท. สผ. ก็เริ่มปรับตัวขึ้น นักลงทุนโดยเฉพาะรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนสถาบันมองว่า ถ้าเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว ในไม่ช้าก็น่าจะฟื้นตัว และเมื่อนั้นหุ้นก็จะกลับมา ในอีกด้านหนึ่ง การที่ราคาพลังงานปรับตัวขึ้นก็ทำให้บริษัทในกลุ่มนี้มีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น เขาจึงกระโดด “ขึ้นม้า” หรือซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานและทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น

รอบต่อมาหรือใกล้เคียงกับกลุ่มพลังงานก็คือกลุ่มสถาบันการเงินที่นำโดยธนาคารพาณิชย์ นี่คือกลุ่มที่คนคิดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัว ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หนี้เสียจะหยุดเพิ่มและบางทีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จะกลับมาชำระหนี้ได้ซึ่งทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง ส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้น นักลงทุน โดยเฉพาะที่เป็นสถาบันการลงทุนทั้งในและต่างประเทศจึงเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งนอกจากจะมี “Story” หรือเหตุผลการลงทุนที่ดีแล้ว ยังเป็นกลุ่มของหุ้นที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงซื้อง่ายขายคล่องด้วย ทำให้หุ้นกลุ่มนี้วิ่งกันถ้วนหน้า

หุ้นกลุ่มต่อมาที่น่าจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือแม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ฟื้นตัวมากนักแต่เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังจะ “อัด” ลงไปในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องใช้วัสดุก่อสร้างจำนวนมากก็คือ กลุ่มผู้รับเหมาและกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ดังนั้น หุ้นของกลุ่มรับเหมาและวัสดุก่อสร้างที่เคยตกต่ำมากเนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจึงน่าจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น นี่คือ Story ที่ทำให้นักลงทุนกลับมาเก็บหุ้นในกลุ่มนี้และทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาก

อสังหาริมทรัพย์ที่คนกลัวกันมากว่าจะถูกกระทบมากที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจนั้น เมื่อคนเริ่มตระหนักว่าเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายเกินไปและกำลังฟื้นตัว ประกอบกับการที่เห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในกลุ่มนั้นกลับดีขึ้นเนื่องจากการที่บริษัทเล็กต้องออกจากตลาดทำให้บริษัทขนาดใหญ่สามารถขายบ้านได้มากขึ้น ทำให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นอสังหาริมทรัพย์หลังจากเห็นงบการเงินล่าสุดที่ดีผิดคาด ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มบ้านจัดสรรปรับตัวขึ้นอย่างน่าประทับใจ

เมื่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ ราคาปิโตรเคมีที่เคยตกต่ำอย่างหนักก็เริ่มปรับตัวขึ้น นี่ทำให้หุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีที่อิงอยู่กับราคาปิโตรเคมีรวมถึงค่าการกลั่นน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด และนี่ยังไม่ได้รวมถึงการที่บริษัทปิโตรเคมีในกลุ่มของ ปตท. ที่มีข่าวว่าจะรวมกันซึ่งทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นรับกับ “ข่าวดี” ที่อาจจะยังไม่มีความชัดเจนนี้ด้วย

เมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้วแม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงอยู่บ้าง หุ้นในกลุ่มที่ Sensitive หรือค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจมาก ๆ อย่าง รถยนต์ และ อิเลคโทรนิค ก็เริ่มกลับมา เช่นเดียวกัน หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทางที่มักจะถูกกระทบแรงมากในยามวิกฤติ ในขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณว่าคนท่องเที่ยวเดินทางเริ่ม “จองตั๋ว” กลับมามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หุ้นก็วิ่งขึ้นอย่างแรงเช่นเดียวกัน

หุ้นในกลุ่มผู้บริโภคซึ่งรวมถึงกลุ่มพาณิชย์และกลุ่มสื่อสารนั้น ค่าที่ว่าในช่วงวิกฤติไม่ค่อยได้ตกลงมามากนัก การปรับตัวขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจึงไม่แรงเหมือนหุ้นในกลุ่มอื่นที่กล่าวถึง และการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้นในกลุ่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มักเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเฉพาะกลุ่ม ตัวอย่างเช่นการที่ทาง กทช. จะเปิดให้มีการประมูลคลื่นระบบ 3G ของบริษัทให้บริการโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤติ หุ้นในกลุ่มต่าง ๆ ก็มักจะปรับตัวขึ้น โดยพฤติกรรมก็คือ มีการปรับตัวโดดเด่นกันทีละกลุ่มโดยมี Story มาหนุน Story นั้น บางทีก็จริง บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุผลที่เพียงพอ แต่ในยามนี้ ถ้าคนเชื่อ โดยที่อาจจะมีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเป็น “คำยืนยัน” หุ้นก็ขึ้นไปได้ ในสถานการณ์แบบนี้ พื้นฐานอาจจะมีความหมายน้อยกว่าภาวะตลาดและภาวะหุ้นในกลุ่ม ดังนั้น การลงทุนที่จะได้กำไรมากและเร็วในเวลานี้อาจจะไม่ใช่การซื้อหุ้นที่เน้นแต่ Value อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม Value Investor จะต้องระวังว่าสถานการณ์อาจจะเปลี่ยนไปได้เสมอ ถ้าจะให้ปลอดภัย เราควรจะหาหุ้นที่ถ้าเกิดสถานการณ์เปลี่ยน หุ้นของเรายังมี Margin of Safety เหลือพอ

สุดท้ายจงจำไว้ว่า เวลาที่ “ม้าหมุน” หยุดนั้น มักจะเป็นเวลาที่คนกำลังรื่นเริงสุดขีด กติกา ก็คือ เวลาที่มันหยุด คนที่ยังอยู่จะต้อง “จ่ายตัง” ขอให้โชคดีและมีความสุขกับการเล่น “ม้าหมุน” ครับ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 15 ก.ย.2552

Saturday, September 12, 2009

เลือกเสี่ยง...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ชีวิตคนเรานั้นมีความเสี่ยงมากมายที่เราต้องรับ และมีความเสี่ยงอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องรับแต่เราก็เข้าไปรับ ความเสี่ยงที่ผมพูดถึงนั้นคือความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นที่เราจะประสบกับความเสียหาย ความยากลำบาก ความเจ็บปวด หรือแม้แต่ความตาย พูดง่าย ๆ คือสิ่งที่เป็นลบทั้งหลายในชีวิตที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น โชคดีที่ความเสี่ยงนั้นส่วนใหญ่เราสามารถ “จัดการ” ได้ นั่นคือ เราสามารถลดความเสี่ยงได้ เราสามารถที่จะไม่ทำอะไรกับความเสี่ยงนั้น ๆ และสุดท้าย เราสามารถ เพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นหรือเข้าไปรับความเสี่ยงทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งในกรณีหลังนี้ฟังดูแล้วอาจจะแปลก เพราะใครจะอยากเพิ่มโอกาสที่เราจะประสบกับสิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราทำมันตลอดเวลา เนื่องจากการทำอย่างนั้นมักจะทำให้เราได้ “ผลตอบแทน”

ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราจะจัดการอย่างไรกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะการจัดการกับความเสี่ยงนั้นมักจะมี “ต้นทุน” สูงบ้าง ต่ำบ้าง เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ สิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นมันเลวร้ายแค่ไหน มันทำให้เรา “ตาย” ไหม หรือเป็นแค่เรื่อง “เล็กน้อย” ที่ทำให้เราหงุดหงิดใจ ดังนั้น หัวใจของการจัดการกับความเสี่ยงแต่ละเรื่องจึงต้องพิจารณาถึงเรื่องของ 1) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น 2) ความเสียหายที่จะตามมา 3) ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ และสุดท้ายก็คือ ต้นทุนของการจัดการกับความเสี่ยงนั้น ฟังดูแล้วหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปและเขาไม่สามารถทำได้ แต่เชื่อไหมครับว่าเราทำมันตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ว่าที่จริง ชีวิตของคนเราแทบจะทั้งชีวิตนั้นก็คือ “การบริหารความเสี่ยง” และคนที่ทำได้ดีกว่ามักจะเป็น “ผู้ชนะ”

อย่างเรื่องของสุขภาพนั้น คนหนุ่มสาวมักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ โอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิตก็น้อย ดังนั้นเขาก็อาจจะ “ไม่จัดการ” อะไรนัก บางคนอาจจะ “เสี่ยงเพิ่ม” โดยการกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือทำอย่างอื่นที่อาจจะทำลายสุขภาพด้วยเพราะเขาอาจจะได้ “ผลตอบแทน” คือ ความพึงพอใจกับรสชาดหรือความรู้สึกอย่างอื่นที่ได้รับ ส่วนคนสูงอายุอย่างผมนั้น ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพนั้นต้องบอกว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราจะจัดการหรือไม่จัดการก็ได้ แต่ถ้าจัดการเราจะทำอะไรบ้างและผลที่ได้คืออะไร แน่นอนว่าในโลกปัจจุบันมีทางเลือกมากมายที่จะลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพลงซึ่งรวมถึงยา อาหารเพื่อสุขภาพ การตรวจสุขภาพและการออกกำลังกาย หน้าที่ของเราก็คือ เลือกว่าจะทำอะไร ซึ่งก็รวมถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งผมคงไม่พูดว่าทำอย่างไรที่จะดีและคุ้มค่าที่สุด แต่ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ไม่ทำอะไร” เพราะการตัดสินใจไม่ทำอะไรนั้น บ่อยครั้ง เป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด

เรื่องของการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่คนจำนวนมากไม่อยากรับและเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะ “เลี่ยง” ได้ นั่นก็คือ อย่าไปเล่นการพนัน เล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ ถ้าเป็นคนมีเงินหน่อยก็อย่าไปพนันบอลหรือเล่นหุ้น วิธีที่จะไม่เสี่ยงเลยก็คือ การฝากเงินไว้ในธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมักจะ “ไม่ทำอะไร” หรือไม่ “บริหารเงิน” เพราะเขาไม่อยากรับ “ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น” แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง

การเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ด้วยเงินจำนวนมากและเป็นประจำนั้น ถ้าเราเลือกเสี่ยงทำก็อาจจะเป็นสัญญานบอกว่าเรา “เลือกความเสี่ยง” ไม่เป็น เพราะถ้าวิเคราะห์โดยหลักทางสถิติแล้วมีโอกาสสูงมากที่เราจะขาดทุน แต่การลงทุนในหุ้นนั้น ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนและทำอย่างถูกวิธี เราจะกำไรหรือได้ผลตอบแทนคุ้มค่า แน่นอน โอกาสที่จะขาดทุนก็มี แต่ความเสียหายถ้าเกิดขึ้นเราก็สามารถรับได้ ถ้าความสามารถในการเลือกหุ้นเรามีน้อยเราก็ยังสามารถลงในกองทุนรวมได้ ถ้าเรามีความสามารถสูง เราอาจจะเลือกลงทุนเอง การเลือกหุ้นแต่ละตัวนั้นก็เช่นเดียวกัน เราต้องวิเคราะห์และ “เลือกเสี่ยง” เฉพาะตัวที่เรามีโอกาสกำไรสูงแต่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำ อย่าไปเสี่ยงในตัวที่เราไม่มั่นใจ

Value Investor ระดับเซียนอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ เวลาทำอะไรเขาวิเคราะห์เป็นเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทนตลอดเวลา ว่ากันว่าเวลาตีกอล์ฟ เขาไม่ยอมพนันหรือเล่นน้อยมาก อาจจะหลุมละแค่ 10 ดอลลาร์ ถ้าแต้มต่อเขาสู้ไม่ได้ มีคนถามว่าทำไมเขากินแต่สเต็คร้านเดิมชื่อดังในเมืองเป็นประจำ เขาตอบว่า ไปที่ร้านนี้เขารู้ว่าสเต็คอร่อยแน่นอน เพราะฉนั้น เขาจะ “เสี่ยง” ไปร้านที่เขาไม่รู้จักทำไม เรื่องแบบนี้หลายคนอาจจะดูเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ผมกลับคิดว่า นิสัยในการวิเคราะห์หา ผลตอบแทน – ความเสี่ยง คงฝังอยู่ลึกในสมองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ทำให้เขาสามารถ “เลือกเสี่ยง” ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมันอาจจะ “ล้น” ออกมาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว

ตรงกันข้าม คนไทยจำนวนมาก เลือกเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ค่อยจะได้ผลตอบแทนเพราะเราไม่วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนคิดว่า ชีวิตที่ปลอดภัยก็คือ “เสี่ยงให้น้อยที่สุด” แต่นี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ดีไปกว่ากันนัก ที่ถูกต้องก็คือ เราต้องเลือก “เสี่ยงอย่างคุ้มค่า” อย่าลืมว่า “ชีวิตคือการบริหารความเสี่ยง” และการ “รับความเสี่ยงน้อยเกินไป” นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ “เสี่ยงมาก” ก็ได้

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 8 ก.ย.2552

Tuesday, September 1, 2009

บ้าน VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บ้านคือวิมานของเรา… นั่นคือเริ่มต้นของเนื้อร้องของเพลงเกี่ยวกับบ้านที่คนรุ่นเก่ามักจะจำและร้องได้ มันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของคนต่อบ้านที่พักอาศัยว่า บ้านนั้นเป็น “ความฝัน” ที่ทุกคนอยากมี และไม่ใช่แค่อยากมี แต่อยากมีบ้านที่ใหญ่และสวยที่สุดที่เขามีปัญญาจะซื้อได้ ดังนั้น บ้านจึงมักเป็นทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่คนต้องทุ่มเทเงินออมรวมทั้งรายได้จำนวนมากลงไปเพื่อที่จะได้มี “บ้านในฝัน” ที่ต้องการ สำหรับคนจำนวนมาก การผ่อนบ้านเป็นรายจ่ายประจำเดือนที่สูงมากจนทำให้ไม่เหลือเงินเก็บเพื่อการลงทุนอย่างอื่นเลย แต่เขาก็มักจะไม่กังวลอะไรนัก เพราะสำหรับเขา การซื้อบ้านก็คือการลงทุนที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง และถ้าจะว่าไป บ้านนั้น ราคาแทบจะไม่เคยตกลงเลย ดังนั้น การซื้อบ้านจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด


ก่อนที่จะเป็น Value Investor ผมเองก็คิดอย่างนั้น ว่าที่จริงผมเคยซื้อบ้านหรูใหญ่โตอยู่นอกเมืองและต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่มากเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งส่วนตนในขณะนั้นเพื่อที่จะเป็นเงินดาวน์ และต้องผ่อนค่างวดให้กับสถาบันการเงินคิดเป็นรายจ่ายต่อเดือนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินเดือนของตนเอง ผมซื้อทั้ง ๆ ที่มีบ้านหลังเล็ก ๆ ของแม่ยายที่ผมอาศัยอยู่แล้วกลางใจเมืองโดยที่ไม่ต้องซื้อหรือเช่า บ้านหรูหลังนั้นผมไม่เคยได้เข้าอยู่อาศัยเลยเพราะมัน “ไม่มีความสะดวก” เลย เนื่องจากมัน “ไกล” และ “ใหญ่” เกินไป ผมปล่อยบ้านให้เช่าในราคาที่ “ไม่คุ้มค่า” อยู่หลายปี

หลังจากที่เป็น VI แล้ว ผมก็เห็นว่าบ้านหลังนั้นคงจะไม่ใช่ “วิมาน” อีกต่อไป และโอกาสที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในระยะเวลาอันใกล้ก็คงมีน้อย ในที่สุดผมก็ขายมันไปและนำเงินมาลงทุนในหุ้น ราคาขายบ้านที่ลงทุนมานับสิบปีแทบจะไม่มีกำไร แต่เงินที่ได้รับและนำมาลงทุนในหุ้นนั้น หลังจากผ่านไป 6-7 ปีเติบโตขึ้นมาก และถ้าผมขายหุ้นและนำกลับไปซื้อบ้านในเวลานี้ ผมอาจจะซื้อบ้านแบบเดียวกันได้ 2 หลัง แต่ผมก็คงไม่ทำ ผมมีบทเรียนแล้ว ถ้าผมจะซื้อบ้านใหม่ ผมจะคิดอีกแบบหนึ่ง และต่อไปนี้คือคำแนะนำสำหรับ VI โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่กำลังคิดจะซื้อบ้าน

ข้อแรกก็คือ ถ้ายังมีบ้านอยู่ เช่นอาศัยอยู่กับพ่อแม่และไม่ได้มีปัญหาเดือดร้อนหรือหนักอกหนักใจหรืออึดอัดใจอะไร ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบหาซื้อบ้าน อย่ากลัวว่าถ้าไม่ซื้อในวันนี้แล้วราคาบ้านจะขึ้นไปสูงจนไม่มีปัญญาที่จะซื้อได้ในอนาคต เพราะราคาบ้านที่อยู่อาศัยนั้น โดยทั่วไปราคาจะปรับตัวขึ้นไปช้า โดยเฉลี่ยไม่น่าจะสูงกว่าเงินเฟ้อมากนักและไม่น่าจะเกินปีละ 3 – 4% ต่อปีโดยเฉลี่ย ในทางตรงกันข้าม การมีบ้านนั้น ทำให้รายจ่ายตามมา บ้านยิ่งใหญ่ก็ยิ่งมีรายจ่ายมาก และการมีรายจ่ายมากนั้นทำให้ความมั่งคั่งลดลง และโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าก็จะหายไป ดังนั้น ข้อแนะนำของผมก็คือ “พยายามอยู่บ้านฟรีหรือมีค่าใช้จ่ายน้อยให้ยาวนานที่สุด”

ข้อสอง ถ้าจะซื้อบ้าน หลักเกณฑ์การเลือกนั้นต้องเน้นว่า บ้านนั้นต้อง “อย่าไกล” หรือห่างจากที่ทำงานหรือสถานที่ที่คนในครอบครัวต้องเดินทางไปทุกวันมาก เพราะการเสียเวลาเดินทางทุกวันนั้น เป็นต้นทุนที่สูงมากทั้งในด้านของเงินค่าเดินทาง การเสียโอกาสในการทำงานหารายได้ และเรื่องของสุขภาพกายใจ ดังนั้น ทำเลของบ้านจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเลือกบ้าน และในกรณีที่เราเลือกคอนโดแทนที่จะเป็นบ้านเดี่ยว เราควรเลือกคอนโดที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินหรือบนดิน โดยที่คำว่าใกล้นั้น ควรจะไม่เกิน 500 เมตร อย่าเลือกที่ระยะทาง “แค่หนึ่งกิโลเมตรจากสถานี” เพราะถ้าเราต้องเดินทุกวัน ค่าเสียเวลาต่อเดือนหรือต่อปีจะสูงมาก

ข้อสาม ซื้อบ้านขนาดที่ “พอดีใช้” นั่นคือมีจำนวนห้องที่เหมาะสมกับสมาชิกในปัจจุบันและอนาคต เช่น ถ้ามีสามี ภรรยา และลูกอีกสองคน ก็เอาแค่ 3 ห้องนอนและอาจจะมีห้องทำงานเล็ก ๆ อีกหนึ่งห้องก็พอแล้ว การมีบ้านที่ใหญ่เกินความจำเป็นนั้น จะทำให้เราต้องลงเงินไปมากในช่วงที่ซื้อและหลังจากนั้นก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลที่จะตามมาตลอดโดยที่เราอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย การมีบ้านใหญ่เกินความจำเป็นยังมักจะทำให้เราต้องจ่ายเงินซื้อของเข้าบ้านมากขึ้นโดยไม่จำเป็นด้วย นี่คือความจริงที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนัก แต่ประสบการณ์การมีบ้านเล็กนั้นทำให้ผมพบว่า เราไม่สามารถซื้อเครื่องใช้หรืออุปกรณ์หลาย ๆ อย่างได้ด้วยเหตุผลประการเดียวก็คือ “มันไม่มีที่จะวาง” ดังนั้น การมีบ้านขนาดพอดีใช้จะทำให้เราประหยัดเงินในระยะยาวอีกมาก

ข้อคิดสุดท้ายสำหรับการซื้อบ้านของผมก็คือ อย่าพยายามสร้าง “สาธารณูปโภค” เช่น สระว่ายน้ำหรือสวน ขึ้นใช้เองในบ้าน เพราะมันแพงมากและการดูแลรักษาก็ทำได้ยากและต้นทุนสูง ควรเลือกบ้านที่อยู่ใกล้สาธารณูปโภคที่เราต้องการใช้ซึ่งเป็นของรัฐหรือของคนอื่นที่เราสามารถหาซื้อได้เมื่อเราต้องการใช้จริง ด้วยเหตุนี้ บ้านที่อยู่ใกล้สวนสาธารณะที่เราสามารถพักผ่อนออกกำลังกายได้ทุกวันโดยไม่เสียเวลาเดินทางและไม่เสียเงินจึงเป็นบ้านที่มีคุณค่าสูงและเราอาจจะต้องยอมจ่ายแพงขึ้นได้ และนี่ก็เป็นการเลือกบ้านแบบ VI อีกข้อหนึ่ง

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงข้อพิจารณาบางประการที่ VI ที่กำลังคิดที่จะซื้อบ้านจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การซื้อบ้านนั้น เป็นการตัดสินใจที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งและความสุขในระยะยาว ดังนั้น เราต้องให้เวลาในการเสาะแสวงหาและจะต้องไม่รีบร้อนถ้าเราต้องบ้านที่เป็น “วิมาน” จริง ๆ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 1 ก.ย.2552

Saturday, August 29, 2009

เดินสุ่มในวอลสตรีท...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้าจะหาหนังสือการลงทุน 10 เล่มที่เราควรอ่านก่อนที่เราจะลงทุนอย่างจริงจังหรือก่อนที่เราจะเป็นเซียนได้นั้น นี่คือหนังสือที่ผมคิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมันอยู่ในระนาบเดียวกับหนังสือคลาสสิคอื่น ๆ เช่น The Intelligent Investor และ Common Stocks and Uncommon Profits สิ่งที่แปลกออกไปก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสือที่บอกวิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เรารวยหรือได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ตรงกันข้าม มันพยายามจะบอกเราว่า วิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เราชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น “ไม่มี” มันช่วยเตือนให้เราตระหนักว่า การลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์นั้นทำไม่ได้หรือทำได้ยากมาก ที่ยิ่งทำให้เรา “หมดหวัง” ไปกว่านั้นก็คือ ข้อเขียนและเนื้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือนั้น อิงอยู่กับการศึกษาของนักวิชาการชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น และนี่คือหนังสือชื่อ The Random Walk Down Wall Street แปลเป็นไทยก็คือ “เดินสุ่มในวอลสตรีท” เขียนโดย Burton G. Malkiel ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 หรือกว่า 35 ปีมาแล้ว แต่ยังมีการปรับปรุงและพิมพ์ขายใหม่มาตลอด


เนื้อหาหลักของ “Random Walk” นั้นพูดถึงทฤษฎีการลงทุนว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นหลัก โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมีผลเพียงแค่ 10-20% กลุ่มนี้ ถูกเรียกว่ากลุ่ม “วิมานในอากาศ” หรือ Castle-in-the Air Theory อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของกิจการเป็นหลักในขณะที่จิตวิทยานั้น ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10-20% เช่นกัน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม “พื้นฐานของกิจการ” หรือ Firm-Foundation Theory โดยกลุ่มแรกนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้เครื่องมือที่จะสามารถ “จับกระแสหรือจิตวิทยา” ของนักลงทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในการซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้ได้กำไร เครื่องมือหลักอย่างหนึ่งก็คือ เส้นกราฟของราคาหุ้นแต่ละตัวและดัชนีตลาดรวมถึงปริมาณการซื้อขายของหุ้นด้วย ส่วนการวิเคราะห์ที่ใช้ก็คือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”

กลุ่มที่สองนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของกิจการ เช่น ยอดขาย กำไร การเติบโตของเงินปันผลและฐานะทางการเงินของกิจการ มาพิจารณาและคำนวณหา “มูลค่าที่แท้จริง” หรือที่เรียกว่า Intrinsic Value ของหุ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าราคาหุ้นในตลาดนั้นสูงหรือต่ำกว่า ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เขาก็ซื้อ เพราะเขาเชื่อว่าในที่สุดราคาตลาดจะต้องวิ่งไปหาราคาที่แท้จริงเสมอ และคนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ก็คือพวกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งแน่นอน รวมถึง Value Investor ด้วย

แต่ Malkiel บอกว่าราคาหุ้น โดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ นั้น “คาดไม่ได้” และ “ไม่มีแบบแผน” มันเหมือนกับคนเมาที่ “เดินสุ่ม” นั่นคือ เขาจะเดินมาอย่างไรก็ตาม แต่ก้าวต่อไปของเขานั้นไม่รู้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้เท็คนิคอะไรก็ไม่ได้ผล ในบางครั้งบางคราวก็ดูเหมือนว่ามีเท็คนิคบางอย่างสามารถนำมาใช้ทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ แต่ผ่านไปสักพักเมื่อมีคนรู้นำมาใช้มากขึ้น เท็คนิคนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

พื้นฐานหลักที่ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะตลาดหรือทำกำไรได้มากกว่าปกติไม่ว่าจะใช้เท็คนิคอะไรนั้น Malkiel บอกว่าเป็นเพราะตลาดหุ้นนั้น “มีประสิทธิภาพ” ในการที่จะปรับราคาหุ้นให้สะท้อนถึงพื้นฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือหุ้นได้รวดเร็วมาก และโดยเฉลี่ยแล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวได้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นหมายความว่า บางครั้งราคาหุ้นก็ “ผิด” ไปจากที่ควรจะเป็นเหมือนกัน เช่น ราคาอาจจะสูงเกินไป หรือบางช่วงราคาก็อาจจะต่ำเกินไป แต่ในไม่ช้ามันก็สามารถปรับให้ราคาเข้ามาใกล้เคียงกับที่มันควรเป็น พูดง่าย ๆ ตลาดหุ้นคอยปรับให้ราคาหุ้นมีราคาโดยเฉลี่ยแล้วเหมาะสมอยู่เสมอ อย่าพยายามหา “ราคาที่เหมาะสม” ในทางทฤษฎีหรือทางจิตวิทยาเลย

ด้วยแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของตลาดและเรื่องการ “เดินสุ่ม” ของราคาหุ้นดังกล่าว Malkiel จึงคิดว่าเราไม่ควรเลือกซื้อขายหุ้นเอง เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์และต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง แต่หุ้นนั้น โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้วให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นเขาได้เสนอกลยุทธ์ในการลงทุนต่าง ๆ ที่นักลงทุนควรทำ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนลง และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ อย่างกรณีของไทยก็คงคล้ายกับการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เป็นต้น

นอกจากทฤษฎีการลงทุนและแนวความคิดหลักของหนังสือแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าโดยเฉพาะสำหรับ Value Investor ก็คือ มันเป็นหนังสือที่ “เล่าประวัติศาสตร์” การลงทุนย้อนหลังไปยาวนานมากได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของบุคคล แต่เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดและแนวความคิดการลงทุนเป็นยุค ๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และทุกอย่างมีวิชาการประกอบ แต่ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ยากสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมาทางสายการเงินโดยตรง สำหรับผมแล้ว มันเป็นหนังสือคลาสสิคที่อ่านแล้ว “ไม่หลับง่าย” เหมือนหนังสือคลาสสิคหลาย ๆ เล่ม

นักลงทุนโดยเฉพาะ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงหลายราย อาจจะมี “อคติ” กับแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีใครสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าปกติได้” ในหนังสือเล่มนี้และพลอยทำให้ไม่อยากอ่าน เพราะเขาอาจคิดว่าตัวเองสามารถทำกำไรมหาศาลได้ด้วยการวิเคราะห์และลงทุนแบบ Value Investment ดังนั้น หนังสือเล่มนี้คงจะ “ผิด” และเป็นเรื่องของนักวิชาการบนหอคอยงาช้างที่ไม่เข้าใจโลกที่เป็นจริง ข้อนี้ผมคิดว่าต้องคิดใหม่ อย่าลืมว่าคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังเป็นผู้บริหารระดับสูงมากในธุรกิจการเงินและการลงทุนด้วย เหนือสิ่งอื่นใด VI ที่ดีนั้น ต้องเปิดกว้างรับความเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจากคนที่ “มองต่าง” ด้วย


Thursday, August 20, 2009

การตัดสินใจครั้งสำคัญ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนเราที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญมากไม่กี่เรื่อง และการตัดสินใจที่ถูกต้องในเรื่องนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งหลายที่ตามมา เช่น รวยได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ มีชื่อเสียงมากกว่าเพื่อนฝูงในแวดวงเดียวกัน หรือ มีความสุขมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าจะเรียกให้เป็นศัพท์แสงที่เป็นวิชาการหรือเท่หน่อย ผมอยากจะเรียกว่าเป็น Strategic Decision หรือการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ของชีวิต

ว่าที่จริง Strategic Decision นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องใหญ่อื่น ๆ เช่น ในเรื่องของธุรกิจนั้น การตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์บางอย่างหรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือกระบวนการในการทำงานบางอย่างที่สำคัญอาจจะเปลี่ยนแปลงภาพของบริษัทอย่างสิ้นเชิงและทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในขณะที่การตัดสินใจมากมายอื่น ๆ นั้น ไม่มีผลอะไรอย่างสำคัญกับตัวธุรกิจเลย

ในเรื่องของหุ้นเอง วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่า เวลาจะลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น ให้คิดว่าในชีวิตนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อได้เพียง 20 ตัว ดังนั้น เราก็จะต้องคิดหนักว่าเราจะซื้อตัวไหน เราจะต้องเลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่งสุดยอด มี “ป้อมค่ายและคูเมืองป้องกันข้าศึก” ที่ทนทานถาวร และกิจการจะต้องโตไปได้เรื่อย ๆ เป็นสิบ ๆ ปี ถ้าคิดได้ดังนี้ การซื้อหุ้นแต่ละตัวของเราก็จะไม่ค่อยพลาด และผลตอบแทนก็จะน่าประทับใจ อย่าตัดสินใจซื้อขายหุ้นมากมายไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้มักจะไม่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเรา เราควรตัดสินใจน้อยครั้งและเป็นครั้งสำคัญ ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิต แต่ผมเชื่อว่า อาจจะมีหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิตเท่านั้นที่สร้างความสำเร็จทั้งหมดในการลงทุนของเรา ส่วนหุ้นอื่น ๆ อาจจะเป็นร้อย ๆ ตัวนั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรกับผลการลงทุนของเราเลย ดังนั้น เราไปซื้อทำไม?

ในความคิดของผม ในชีวิตของคนเรานั้น มีจุดหรือช่วงเวลาสำคัญที่เราจะต้องตัดสินใจแบบ Strategic Decision ไม่กี่เรื่องหรือไม่กี่ครั้ง ถ้าตัดสินใจถูก เราอาจจะ “สบายไปตลอด” หรือ “ประสบความสำเร็จงดงามไปเรื่อย ๆ” หรือ “มีความสุขมาก” ไปอีกนาน ปัญหาที่พบก็คือ คนจำนวนมากไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เป็น “การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต” ดังนั้น เขาไม่ได้ให้เวลาหรือให้การพิจารณาหรือวิเคราะห์อย่างเพียงพอ บางทีเขาก็อาจจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ผลที่ตามมาก็คือ มันเป็นการตัดสินใจที่แย่และเขาก็ต้องรับกับความเลวร้าย หรือความสำเร็จพื้น ๆ ไปตลอดไม่ว่าจะพยายามทำงานหรือต่อสู้มากแค่ไหน

การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตนั้น ถ้าจะไล่ลำดับตามช่วงอายุของคนก็น่าจะรวมถึง การศึกษา ซึ่งผมคิดว่าการเลือกสาขาที่เรียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก แน่นอน ถ้าเป็นเด็กที่มี “พรสวรรค์” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็ควรเลือกเรียนในแนวนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีพรสวรรค์ด้านไหน การเลือกเรียนในบางสาขาอาจจะทำให้ชีวิตในอนาคตดีขึ้นมาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “คะแนนสอบ” เป็นตัวกำหนดสาขาที่เราจะเรียน

การแต่งงานเป็น Strategic Decision ที่สำคัญสุดยอดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความสุขและการประสบความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับคู่ของเรามาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “พรหมลิขิต” มากำหนดว่าเราจะแต่งงานกับใคร เราควรจะต้อง “แสวงหา” โดยการให้เวลากับการเรียนรู้กับคนที่เราคิดว่ามีโอกาสที่เราจะต้องใช้ชีวิตด้วยกันยาวนาน บางคนบอกว่าอยากปล่อยให้เป็นไป “ตามธรรมชาติ” เขามักใช้เวลาไปกับ “งาน” ที่ ไม่ใช่ Strategic Decision ดังนั้น เขาอาจจะมีผลงานที่ดีในสายตาจ้าวนาย แต่เขาอาจจะได้คู่ที่ไม่เหมาะสมหรืออาจจะไม่มีคู่เลย ผลก็คือ ชีวิตนี้อาจจะทำงานแทบตายแต่ไม่มีความสุขและมีเงินน้อยมาก ในขณะที่อีกคนหนึ่งได้เศรษฐีนิสัยดีเป็นคู่ ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสุขและมีเงินเหลือล้นโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากนัก

งานที่ทำ ว่าที่จริงต้องพูดว่าสายงานที่เลือกทำเป็น Strategic Decision เลือกงานผิด ทำงานในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่โตและมีแนวโน้มค่อย ๆ ตกต่ำลง อนาคตเราไม่ค่อยมีทางที่จะ “รุ่ง” ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน มันคงเหมือนการ “ว่ายทวนน้ำ” ที่จะไปได้ช้ามาก ดังนั้น ก่อนสมัครงาน คิดเสียก่อนว่าอนาคตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ถ้าอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงที่กำลังตกต่ำลงอย่างถาวร อย่าเข้าไปจะดีกว่า อย่าลืมว่า เราไม่ได้เป็น “ฮีโร่” แม้ว่าเราจะสามารถช่วยคนที่กำลังตายให้มีอายุยืดไปได้อีกหน่อยหนึ่ง

สุดท้ายก็คือ การเลือกว่าเราจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องไหนเป็นพิเศษ อะไรคือตัวตนของเราจริง ๆ ในชีวิต พูดง่าย ๆ เราอยากให้คนจดจำว่าเราเป็นใครหรือเป็นคนอย่างไรเมื่อเราตายไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ยากพอสมควรทีเดียว เพราะประเด็นก็คือ มันเป็นเรื่องที่ใช้เวลามากในการทำหรือในการสร้างผลงาน มันต้องอาศัยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเราก่อน เสร็จแล้วก็ต้องเลือกว่าเราจะเป็นอะไร หลังจากนั้นเราก็ต้องเริ่มทำและทำไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นสิบ ๆ ปีก่อนที่เราจะบรรลุถึงสิ่งที่เราตั้งธงไว้ ดังนั้น Strategic Decision เรื่องนี้จึงต้องพยายามทำตั้งแต่อายุน้อยที่สุดที่จะทำได้ ยิ่งเราค้นพบได้เร็วเท่าไรก็มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่เราจะประสบความสำเร็จ

ผมคงจบบทความนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า การลงทุนในหุ้นนั้น เป็น Strategic Decision ที่สำคัญสำหรับคนจำนวนมากที่ต้องการจะมีความมั่งคั่งทางการเงิน ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น มีความสำคัญมาก อย่าปล่อยให้ความกลัวในเรื่อง “ความเสี่ยง” กำหนดการลงทุนของเรา


Sunday, August 9, 2009

ซื้อหุ้นต่างประเทศ / ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในอดีตนั้น การลงทุนในหุ้นสำหรับ Value Investor ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ การลงทุนในต่างประเทศนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนอาจจะกลัวกันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์ หลายรายให้บริการการซื้อขายหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินเพียงประมาณห้าแสนหรือหนึ่งล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายก็ทำกันทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นไทยเท่าใดนัก ผมคงยังไม่วิจารณ์ว่า Value Investor ควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือไม่ แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในกรณีของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นหลัก

ข้อดีข้อแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างตลาดนิวยอร์กก็คือ เรามีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนมาก นอกจากจำนวนของบริษัทที่มีมากมายแล้ว เรายังมีโอกาสหาหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะที่เราต้องการลงทุนได้มากมายซึ่งหาไม่ได้จากตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของกิจการที่ “ดีเยี่ยม” แบบ “Great Company” ที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น “Super Stock” ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบลงทุนนั้น ถ้าเรานำมาใช้ในตลาดหุ้นไทย เราอาจจะหาได้ค่อนข้างยาก แต่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น หุ้นที่มีคุณภาพสูงระดับโลกนั้นมีมากมายให้เลือก ไล่ตั้งแต่หุ้น Google ไปถึง ไมโครซอพท์ ที่เป็นหุ้นไฮเท็ค ถึงหุ้นโค๊กที่เด่นทางด้านยี่ห้อ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินระดับโลกอย่างหุ้นที่ให้บริการบัตรเครดิตเช่น หุ้นวีซ่า เป็นต้น

ข้อดีข้อสองก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉลี่ยในระยะยาวนั้นดูเหมือนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นไทย โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นของอเมริกานั้นให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10-11% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 8-9% ผลต่างประมาณปีละ 2% นั้นในระยะยาวก็ถือว่าค่อนข้างต่างกันมาก และนั่นก็อาจจะเป็นผลจากคุณภาพที่สูงกว่าของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาเทียบกับบริษัทไทย

ข้อดีข้อสามก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลง เพราะการขึ้นลงของราคาหุ้นของไทยกับหุ้นต่างประเทศนั้นโดยทั่วไปมักจะไม่ตรงกัน บางช่วงที่ตลาดหุ้นไทยคึกคัก หุ้นต่างประเทศอาจจะซบเซา และช่วงที่หุ้นต่างประเทศดี หุ้นไทยอาจจะแย่ โดยรวมแล้ว ถ้าเรามีหุ้นอยู่ในทั้งสองตลาด ผลตอบแทนการลงทุนของเราจะมีความสม่ำเสมอขึ้นหรือก็คือความเสี่ยงลดลง

ข้อดีข้อที่สี่ ระบบบัญชีและการรายงานต่าง ๆ ของบริษัทในอเมริกามีความโปร่งใสและผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้มากกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้เป็นรายไตรมาศซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้ นอกจากนั้น สังคมของนักวิเคราะห์ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับผลประกอบการมักจะไม่ค่อย “มั่ว” ถ้าผู้บริหารคาดการณ์ผิดบ่อยหรือผิดไปมากก็จะเสียเครดิต

ข้อเสียของการไปลงทุนนอกประเทศนั้นก็มีไม่น้อยกว่ากัน ข้อแรกก็คือ ความเข้าใจในตัวกิจการหรือบริษัทที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะมีน้อยกว่าในกรณีของบริษัทในประเทศไทย จริงอยู่ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือรายงานต่าง ๆ ของบริษัทต่างประเทศอาจจะดี มีมาก และหาได้ง่ายกว่าโดยที่เราเพียงแต่เข้าไปดูผ่านหน้าเว็บดัง ๆ อย่าง YAHOO FINANCE ได้ แต่ข้อมูลที่เราจำเป็นต้อง “สัมผัส” เช่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด หรือการพบปะกับผู้บริหารนั้น เราไม่สามารถทำใด้ นอกจากนั้น สำหรับหลายคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอ การทำความเข้าใจในตัวบริษัทก็จะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ข้อเสียข้อที่สองก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกามีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูงกว่าในตลาดไทย โดยที่ค่าคอมมิชชั่นรวมกับค่าบริการอื่น ๆ แล้ว อาจจะขึ้นถึง 0.5% ในกรณีที่ซื้อขายครั้งละไม่มาก ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2 - 0.27% รวมภาษี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ก็อาจจะไม่ถึงกับมากถ้าเราไม่ได้ซื้อขายหุ้นบ่อย

ข้อเสียข้อสามก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐนั้น เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ นอกจากนั้น เราต้องมีการแลกเงินในกรณีซื้อขายครั้งแรกและตอนที่จะเอาเงินกลับซึ่งทำให้เราเสีย Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายเงินตราที่ธนาคารคิดกับเราซึ่งก็มักจะต่างกันพอสมควร

ข้อเสียที่สี่ก็คือ การลงทุนในต่างประเทศนั้น กฏก็คือ ถ้าเราได้กำไรจากการขายหุ้นและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน เราจะต้องนำกำไรที่ได้ไปคิดคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเสียภาษีนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามาในปีต่อไป ซึ่งทำให้การโอนย้ายเงินไม่คล่องตัวนัก

ข้อเสียสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ ของการลงทุนซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ในขณะนี้อาจจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเป็นที่ตกลงกันระหว่างโบรกเกอร์กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ความเห็นและความเข้าใจกันในวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ารับหน้าที่ต่อ ความเสี่ยงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสูงต่ำแค่ไหน แต่ถ้าเกิดขึ้น ความยุ่งยากคงจะมีไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับคนที่ระมัดระวังและไม่ค่อยไว้วางใจกับระบบของราชการไทยอย่างผม

กล่าวโดยสรุปสำหรับตัวผมเองนั้น ในขั้นนี้ผมคงจะรอดูไปก่อน และตราบใดที่ยังพอหาหุ้นดีที่คุ้มค่าน่าลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้พอสมควรผมก็คงไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้น มีประโยชน์และมีคุณค่าพอสมควรทีเดียว และวันหนึ่งก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ผมจะต้องไปลงทุนด้วยเหมือนกัน

บทความนี้ลงในThaiVIเมื่อ 1 ส.ค.2552