Thursday, February 9, 2012

Mega Trend

ในการลงทุนระยะยาว สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ การรู้ว่าอะไรเป็น Mega Trend หรือแนวโน้มใหญ่ของสิ่งต่างๆ ในโลก ถ้า พูดถึงการลงทุนในไทยก็คือ แนวโน้มของประเทศไทย ซึ่งแนวโน้มในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นไปในแนวเดียวกับแนวโน้มของโลก ผมเองไม่ได้เป็นคนที่มองเห็น "อนาคต" ดีกว่าคนอื่น แต่ผมชอบสังเกตพฤติกรรมของคนอื่น รวมถึงตนเองว่า เราเคยทำอะไรและทำอย่างไรในอดีต และตอนนี้ทำอะไรแทน ผมก็ศึกษาพฤติกรรมของคนชาติอื่นที่ร่ำรวยกว่าเราว่าเขาทำอะไรมาก่อน เพราะผมเชื่อว่าในไม่ช้า เมื่อเรารวยเท่าเขา เราก็จะทำเหมือนกับเขา ผลก็คือ ผมก็จะมีไอเดียว่า Mega Trend ของเรามีอะไรบ้าง และต่อไปนี้ก็คือความคิดของผม

เริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องของอาหารการกิน ผมคิดว่าคนไทยกินอาหารนอกบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลสำคัญ อาหารนอกบ้านวันนี้ไม่ได้ "แพง" เหมือนสมัยก่อน นี่ก็พูดโดยเปรียบเทียบกับเงินเดือนของคนทั่วไป และเทียบกับราคาอาหารที่ทำกินเองที่บ้าน อาหารที่เรากิน ดูเหมือนจะกินในภัตตาคารที่เป็นอาหารต่างชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น หรือฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกัน เทรนด์กินอาหารนอกบ้าน ผมคิดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกนาน ส่วนร้านอาหารที่เรากิน ก็มีแนวโน้มว่า เราจะเลือกกินจากร้านที่เป็นเชนมากกว่าร้านเดี่ยวๆ ซึ่งมีความเสียเปรียบในหลายๆ ด้าน นอกจากการกินในภัตตาคารแล้ว อาหารกล่องและอาหารถาดทั้งหลาย จะเป็นเมกาเทรนด์ที่มีการบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลเดียวกัน

อาหารประเภทหนึ่งที่ผมคิดว่าคนไทยกินมากขึ้นเรื่อยๆ มายาวนานคือ เบเกอรี่ เป็นอาหารว่างที่อร่อย สะดวก และราคา "ถูกลง" เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทย การเกิดขึ้นของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ติดเครื่องปรับอากาศทำให้การกระจายสิน ค้าเบเกอรี่ทำได้กว้างขึ้น และน่าจะทำให้อาหารเบเกอรี่เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนเครื่องดื่ม ผมคิดว่าน้ำอัดลม มีการบริโภคลดลงเช่นเดียวกับเหล้า ตรงกันข้าม น้ำประเภทอื่นที่ไม่อัดลม เช่น กาแฟ ชาเขียวหรือน้ำขวด มีอัตราการบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเบียร์ที่ผมคิดว่าคนบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนบุหรี่ ผมคิดว่าคนคงลดการสูบลงอย่างช้าๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ลดการสูบลงไปมาก

การใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่เป็น Smart Phone ผมค่อนข้างมั่นใจว่า จะเป็น Mega Trend ที่มาแรง เพราะดูเหมือนจะจำเป็นและสะดวกสบายสำหรับ "ชีวิตสมัยใหม่" ราคาการใช้ก็ "ถูก" ลงเรื่อยๆ ผลต่อเนื่องก็คือการขายบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น หนังสือ E-Book เพลง และอื่นๆ ก็มีแนวโน้มมากขึ้น แม้ยังไม่มีนัยสำคัญมากนักในตลาดเมืองไทย การซื้อสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ยังไม่น่าจะเรียกว่าเป็น Mega Trend ได้ เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยซื้อสินค้าได้ค่อนข้างสะดวกมากตามห้างร้านที่ อยู่ไม่ไกลบ้าน แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ เราชอบเห็นและจับต้องของที่ต้องการซื้อและอยากได้มันทันทีมากกว่าต้องรอ สินค้าที่เห็นในแค็ตตาล็อก

การเดินทางในกรุงเทพฯ นับวันคนจะใช้รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งในอนาคตที่จะมีการสร้างเส้นทางเดินรถมากขึ้น จำนวนคนใช้บริการก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่จะตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ห้างและคอนโดมิเนียมที่อยู่ตามเส้นทาง หรือใกล้สถานีรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลคือ ความสะดวกและประหยัดเวลาในการเดินทางแล้ว ราคาค่าบริการก็ต้องถือว่า "ลดลง" เรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเงินเดือนของคนทำงาน ผมยังเชื่อว่าเมื่อโครงข่ายเดินรถใหม่ๆ สร้างเสร็จ รัฐบาลจะรวมโครงข่ายทั้งหมดหรือหลายๆ เส้นทางเข้าด้วยกันในการคิดค่าโดยสาร ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยระบบรถไฟฟ้าถูกลงมหาศาล ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้านี้เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ห้างร้านที่เป็นศูนย์การค้ามีทุกอย่างให้เลือกซื้อในที่เดียวกันนั้นผม คิดว่าก็ยังเป็น Mega Trend ต่อไป แต่ที่จะขยายตัวไปมากกว่าก็คือในต่างจังหวัด เพราะกรุงเทพฯ เองนั้น ดูเหมือนว่าใกล้จะอิ่มตัวแล้ว การขยายตัวน่าจะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ซึ่งเป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กที่เน้น ชุมชนใกล้เคียงเป็นหลัก ในส่วนของห้างประเภท Discount Store หรือแม้แต่ห้างอย่างอื่นที่เป็นประเภท Super Store ทั้งหลายนั้น แนวโน้มดูเหมือนว่าขนาดของห้างจะเล็กลงมากกว่าที่จะใหญ่ขึ้น เหตุผลคงเป็นเรื่องของความคุ้มค่าที่เริ่มค้นพบว่าขนาดของร้านที่มีอยู่ใน ปัจจุบันนั้นอาจจะเกินความจำเป็น อีกส่วนหนึ่งอาจจะอยู่ที่ข้อจำกัดทางด้านของผังเมืองที่ห้ามการสร้างร้านที่ ใหญ่มากในทำเลใกล้ชุมชนด้วย

ธุรกิจการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์นั้นดูเหมือนว่าจะใช้เทคโนโลยีมาก ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้งานมาตรฐานต่างๆ เช่น การฝากหรือถอนเงินนั้นถูกทำผ่านเครื่องเป็นหลัก พนักงานแบงก์ถูกใช้ไปทำงานที่มีความซับซ้อน หรือต้องอาศัย "คน" ในการชักชวนลูกค้าเช่น การขายประกันชีวิต ขายกองทุนรวม และอื่นๆ

ธุรกิจความสวยงาม เฉพาะอย่างยิ่งการทำศัลยกรรมและตกแต่งใบหน้าด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้น ก็น่าจะยังเป็น Mega Trend ต่อไปอีก เหตุผลก็คือเรื่องของต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงมาก บวกกับความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น นี่ทำให้สาวจำนวนมากและรวมถึงหนุ่มสมัยใหม่บางส่วน เข้าไปใช้บริการคลินิกเสริมสวยเป็นประจำและเพิ่มขึ้น

คงเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึง Mega Trend ต่างๆ ได้หมด ประเด็นก็คือ เราต้องการรู้ว่าธุรกิจอะไรจะเติบโตและอะไรจะถดถอยในระยะยาว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เราต้องสังเกตว่าบริษัทไหนจะได้ประโยชน์ นั่นก็คือ ขั้นแรกเราต้องดูเสียก่อนว่าตลาดที่โตขึ้นนั้น มันได้ดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามากเสียยิ่งกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้น หรือไม่ ถ้าใช่ เราก็ต้องระวังว่าบริษัทที่อยู่ในธุรกิจโดยรวมแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

ตรงกันข้าม ถ้าการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ค่อนข้างยาก แบบนี้บริษัทที่มีอยู่เดิมก็จะได้ประโยชน์ ขั้นตอนต่อมาก็คือ เราต้องดูว่าใครหรือบริษัทไหนเป็น "ผู้ชนะ" นี่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรายเดียว ผู้ชนะในธุรกิจอาจจะมีได้หลายราย แต่ทั่วไปผมคิดว่ามีไม่เกิน 2-3 ราย ผู้ชนะ สิ่งสำคัญคือ เป็นบริษัทที่ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง มาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ลดลง มองไปในระยะยาวแล้ว บริษัทแข่งขันได้ในตลาด เพราะมีจุดเด่น หรือจุดแข็งบางอย่างที่คู่แข่งไม่สามารถทำลายได้ง่าย แน่นอน ผู้ชนะแต่ละรายมีดีกรีต่างกัน บางบริษัทเป็นผู้ชนะที่เด็ดขาดเหนือคู่แข่งมาก ซึ่งทำให้บริษัทมีคุณค่าทางธุรกิจสูงมาก บางบริษัทอาจชนะ แต่ก็เป็นการชนะที่ไม่ได้เหนือกว่าคู่แข่งมากนัก แบบนี้คุณค่าของธุรกิจก็จะไม่มากนัก ขั้นตอนสุดท้ายคือ ต้องไปดูราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงแค่ไหน เทียบกับคุณค่าที่เราเห็น และนี่ก็คือการลงทุนแบบ VI ที่มองระยะยาวและเล่นกับ Mega Trend

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2555

หุ้นที่ผมชอบที่สุด

ตำนานบทหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมากของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือ การที่เขาซื้อหุ้นลงทุนในบริษัท GEICO Corporationที่ ถือหุ้นบริษัทประกันภัยชื่อ Government Employees Insurance Company (GEICO) เหตุผลก็เพราะว่า นี่เป็นบริษัทแรกๆ ที่บัฟเฟตต์เข้าลงทุนตั้งแต่เริ่มลงทุนใหม่ๆ ด้วยเม็ดเงินส่วนใหญ่ของเขาขณะนั้น พูดง่ายๆ ว่าเป็นการ "ตีแตก" หุ้นตัวแรกๆ ในชีวิตการลงทุนของเขา และตั้งแต่นั้นมา เขาก็ลงทุนในหุ้นประกันภัยจำนวนมากจนกลายเป็น "ธุรกิจหลัก" ในพอร์ตการลงทุนของบัฟเฟตต์

ตำนานนั้นเล่าว่า เมื่อบัฟเฟตต์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1950 เขาพบว่าอาจารย์ เบน เกรแฮม ซึ่งสอนวิชาการลงทุนของเขา เป็นกรรมการของบริษัท GEICO ซึ่งนั่นกระตุ้นความสนใจของเขา ในวันสุดสัปดาห์หนึ่ง เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อเยี่ยมบริษัท วันนั้นเป็นวันเสาร์ เขาเคาะประตูสำนักงานและภารโรงได้พาเขาเข้าไปพบ Lorimer Davidson ผู้บริหารเพียงคนเดียวที่ยังอยู่ในออฟฟิศในวันนั้น บัฟเฟตต์มีคำถามมากมายและ Davidson ใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงในการอธิบายให้บัฟเฟตต์เข้าใจถึงความโดดเด่นของ GEICO เมื่อเทียบกับบริษัทประกันภัยอื่นๆ

เมื่อบัฟเฟตต์เรียนจบกลับมาทำงานในบริษัทโบรกเกอร์ของพ่อที่บ้านเกิดใน เมืองโอมาฮา เขาได้เขียนบทวิเคราะห์แนะนำว่า GEICO คือ "บริษัทที่ผมชอบที่สุด" และแนะนำให้ลูกค้าลงทุน ส่วนตัวบัฟเฟตต์ เขาลงทุนซื้อหุ้น GEICO ถึง 10,000 ดอลลาร์ คิดเป็นเงิน 2 ใน 3 ของเงินที่เขามีทั้งหมด นักลงทุนจำนวนมากปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นตัวนี้ตามคำแนะนำของเขา แม้แต่นายหน้าประกันภัยในเมืองโอมาฮา ก็ได้ร้องเรียนไปที่พ่อของบัฟเฟตต์ว่า ลูกของเขากำลังโปรโมทบริษัทประกันภัยที่ "ไม่มีนายหน้า" ด้วยความท้อแท้ใจ บัฟเฟตต์ได้ตัดสินใจขายหุ้น GEICO ในปีต่อมา เขาได้กำไร 50% และไม่ได้ซื้อหุ้นตัวนี้อีกจนกระทั่งปี 1976 และต่อมาในปี 1994 เขาก็ได้เข้าเทคโอเวอร์หุ้นทั้งหมดของบริษัท

ความโดดเด่นของ GEICO ก็คือ บริษัทขายประกันภัยรถยนต์ให้กับคนขับรถส่วนตัว ที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำในการเคลมประกัน เช่น ข้าราชการ ทหาร และพนักงานสายวิชาชีพ หรือคนที่ทำงานด้านการบริหาร โดยที่การขาย จะเป็นการ "ขายตรง" ไม่มีนายหน้า แต่ผ่านจดหมาย ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่านายหน้า ซึ่งเป็นต้นทุนใหญ่ถึง 10-25% ของเบี้ยประกัน ต้นทุนที่เซฟได้นี้ บริษัทจะ "ส่งคืน" ให้กับคนซื้อประกันโดยการลดค่าเบี้ยประกันภัยลง ผลก็คือ บริษัทได้ลูกค้ามาก ขณะเดียวกันต้นทุนด้านการเคลมประกันก็อยู่ในระดับต่ำ ทำให้บริษัทมีกำไรดี

ถ้ามองภาพใหญ่ก็คือ บริษัทเป็นผู้ขายสินค้า "โภคภัณฑ์" ที่เป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง จึงมีความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่สิ่งที่จะทำให้บัฟเฟตต์ชอบมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธุรกิจประกันภัย บริษัทจะได้รับเงินสดที่เป็นเบี้ยประกันล่วงหน้าก่อนที่จะต้องจ่ายค่าเคลม ประกันในภายหลัง ทำให้บริษัทมีเงินสดที่เรียกว่า Float ซึ่งเป็นเงินที่บริษัทสามารถนำไปใช้ลงทุนได้โดยไม่มีดอกเบี้ย และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนี้ จะเป็นรายได้ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าลงทุนได้ผลตอบแทนดี

ตำนานของ GEICO น่าจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญที่นำบัฟเฟตต์มาจนถึงวันนี้ ประเด็นสำคัญก็คือ เขาค้นพบวิธีหาเงินลงทุนระยะยาวที่ไม่มีดอกเบี้ยได้มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาขาดโดยเฉพาะช่วงต้นของชีวิตการลงทุน ประเด็นต่อมาคือเรื่องของ "โมเดลธุรกิจ" ที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งซึ่ง GEICO กำหนดตนเองให้ได้เปรียบคู่แข่งได้จากการ "ไม่ทำตามสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันเป็นปกติ" และประเด็นสุดท้าย น่าจะเป็นเรื่องของผู้บริหารที่ทุ่มเท รัก และเอาใจใส่กับงานเสมือนกับว่าตนเองเป็นเจ้าของ นั่นก็คือ Davidson ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของ GEICO

การเป็น VI ผู้มุ่งมั่น บางทีอาจต้องมี "หุ้นที่ผมชอบที่สุด" อยู่ในใจหลังจากที่ลงทุนมาได้ระยะเวลาหนึ่ง หุ้นตัวนั้น แน่นอน ควรจะเป็นหุ้นที่เรา "ตีแตก" นั่นคือ เป็นหุ้นที่เราได้ทุ่มเงินลงทุนไปค่อนข้างมากเทียบกับขนาดของพอร์ตของเรา เราควรจะได้กำไรคิดเป็นเงินเป็นกอบเป็นกำขนาดที่อาจจะเรียกว่าเปลี่ยน "สถานะ" ของความมั่งคั่งของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่นี่อาจจะไม่จำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าน่าจะอยู่ที่ว่า ให้บทเรียนที่สำคัญ และทำให้เราใช้ความรู้ในการลงทุนของเราต่อไปอีกนานแสนนาน ควรเป็นความรู้ที่ถูกต้อง และทำให้เรายึดถือการลงทุนตลอดไปได้ และกว้างพอที่จะครอบคลุมปัจจัยสำคัญทั้งหมดของการลงทุน

"หุ้นที่ผมชอบที่สุด" ไม่จำเป็นและอาจจะไม่ควรเป็นหุ้นที่เราได้กำไรสูงสุดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่คิดเป็นเม็ดเงิน เพราะหุ้นประเภทนั้น อาจให้ผลตอบแทนสูงแต่มีความเสี่ยงสูง และผลตอบแทนที่ได้ อาจมาจากสถานการณ์บางอย่าง หรือได้มาโดยเหตุบังเอิญ หรือได้มาเพราะเราใช้มาร์จินและรับความเสี่ยงที่สูงเกินไป หุ้นที่ดีที่สุดในสายตาเรา ควรเป็นหุ้นของกิจการที่เราเห็นว่า มีโมเดลทางธุรกิจที่เราชอบ เป็นกิจการที่เราคาดการณ์ได้แม่นยำถึงอนาคตที่เรากำหนดไว้ เป็นหุ้นที่มีราคาที่เหมาะสม หรือถูกกว่าความเป็นจริงมากจากการประเมินของเรา และเมื่อเราตัดสินใจซื้อลงทุนแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาเกือบทุกอย่างเป็นไปตามคาด และมั่นใจว่าสิ่งที่เราคิด หรือวิธีการที่เราทำถูกต้อง นั่นคือ เรา "Right for the right reason" นั่นคือ เราได้กำไรจากสิ่งที่เราคิดว่าบริษัทจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่ราคาหุ้นขึ้นมาสูงมากแต่มาจากเหตุผลอื่น ถ้า "หุ้นที่ผมชอบที่สุด" เป็นแบบนั้น ผมคิดว่า จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการกำหนดอนาคตของเราไปสู่ความสำเร็จ

ถ้า "หุ้นที่ผมชอบที่สุด" ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างไม่เหมาะสม เช่น กำหนดขึ้นเพราะเราได้กำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น อาจจะเป็นหุ้นที่เปลี่ยนสถานะความมั่งคั่งของเราในชั่วข้ามคืน ซึ่งอาจทำให้เกิด "ความลำเอียง" ในการประเมินความถูกต้องของความคิดของเรา เราอาจจะคิดว่า เราคิดและเลือกหุ้นได้ถูกต้องทั้งๆ ที่เหตุผลในการที่หุ้นขึ้นอาจจะมาจากสาเหตุอื่นหรือเป็นเรื่อง บังเอิญ หรือที่เราเรียกว่า เรา "Right for the wrong reason" เราจะจำในสิ่งที่ผิด และอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในคราวต่อไป

"หุ้นที่ผมชอบที่สุด" เมื่อเวลาผ่านไป อาจจะมีหุ้นตัวใหม่ที่ขึ้นมาแทนตัวเดิม นี่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น อาจเป็นเครื่องแสดงว่า เรากำหนดหุ้นที่เราชอบง่ายเกินไป และถ้าเป็นอย่างนั้น ปัจจัยของหุ้นอาจไม่ได้ดีพอ หรือไม่อย่างนั้น อาจมีการซื้อขายเปลี่ยนตัวหุ้นมากเกินไป จนไม่ได้เจอกับหุ้นที่เป็นซูเปอร์สตาร์ของเราจริงๆ

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 31 มกราคม 2555

Discount

หุ้นบางกลุ่ม หรือบางประเภทในตลาดหลักทรัพย์ มักจะมีราคาต่ำกว่า "มูลค่าที่ควรเป็น" นี่เป็นเรื่องที่ "ผิดปกติ" และผิดจากทฤษฎีทางการเงิน

โดย เฉพาะที่บอกว่าตลาดหุ้น "มีประสิทธิภาพสูง" ที่จะกำหนดราคาหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของกิจการ หุ้นตัวใด มีราคาต่ำกว่าที่ควรเป็น จะเป็นอยู่อย่างนั้นไม่ได้นาน เพราะจะมีนักลงทุนที่รอบรู้ ฉลาด และมีข้อมูลสมบูรณ์ เข้ามาซื้อหุ้นและดันให้ราคาวิ่งขึ้นไปจนเท่ากับมูลค่าพื้นฐานทันที คำถาม คือ หุ้นประเภทไหนบ้างที่เป็นแบบนั้น และมีเหตุผลอะไรที่ทำให้หุ้นเหล่านั้นซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เรามาดูกัน

หุ้นกลุ่มแรก ที่ค่อนข้างชัดเจนในตลาดหุ้นไทย คือ หุ้นที่เป็น "Holding Company" หรือหุ้นที่มีทรัพย์สินหลักเป็นหุ้นของบริษัทอื่นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์เหมือนกัน หุ้นเหล่านี้หลายๆ ตัวถือหุ้นบริษัทอื่นอยู่คิดเป็นมูลค่าตลาดแล้ว สูงกว่ามูลค่าตลาดทั้งหมดของตนเอง ตัวอย่างเช่น หุ้น ก. มีมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัทเท่ากับ 800 ล้านบาท แต่ถือหุ้นในบริษัท ข.คิดเป็นมูลค่าตลาด 1,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทไม่มีหนี้สินจากสถาบันการเงินเลย ดังนั้น ทางทฤษฎี ถ้าซื้อหุ้นบริษัท ก. ทั้งหมดโดยใช้เงิน 800 ล้านบาท ก็สามารถขายหุ้นที่บริษัทถือในบริษัท ข. ได้เงินมา 1,000 ล้านบาท ก็จะได้กำไรทันที 200 ล้านบาท และนี่ยังไม่นับกิจการของบริษัทและทรัพย์สินอื่นๆ ที่บริษัทมีอยู่

ถ้าพูดเชิงวิชาการจะบอกว่าหุ้น ก. มี "Discount" หรือส่วนลด อย่างน้อย 20% นั่นก็คือ หุ้นมีมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท แต่ราคา 800 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า ราคามีส่วนลด 20% และถ้าพูดในฐานะของ Value Investor นี่คือ หุ้น Value ตัวหนึ่งที่น่าซื้อ เพราะในไม่ช้า ราคาหุ้น ก. น่าจะวิ่งเข้าไปหา "มูลค่าที่แท้จริง" และ Discount ต้องหมดไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่เป็นอย่างนั้น

หุ้น Holding Company ในไทยเกือบทั้งหมดมี Discount 10- 20% ขึ้นไป และเป็นอย่างนั้นอยู่นาน หรือเกือบตลอดไป เหตุผลเพราะในทางปฏิบัติ ไม่สามารถจะ "ปลดปล่อย" มูลค่าหุ้นที่บริษัทถืออยู่ โดยการขายหุ้นออกไปแล้วนำเงินมาแบ่งกันได้ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องการลดขนาด หรือลดทรัพย์สินของบริษัทลง โดยขายกิจการที่ถืออยู่ เพื่อนำเงินมาแบ่งให้กับผู้ถือทุกคน ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเจ้าของอาจจะมองว่า การเก็บหุ้นของบริษัทไว้ ซึ่งทำให้ตนเองเป็นผู้บริหารต่อไปเรื่อยๆ เป็นผลดีกับตนเองมากกว่า เพราะผลประโยชน์ในแง่ของการเป็นผู้บริหารและรับเงินไปเรื่อยๆ เป็นรายปี จะสูงกว่าการขายหุ้นทิ้งแล้ว นำเงินมาแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นทุกคน และนี่จึงทำให้หุ้น Holding Company ในตลาดหุ้นไทย เป็นหุ้นที่มี Discount "ตลอดกาล"

หุ้นกลุ่มที่สองที่มักจะมี Discount ก็คือ หุ้นที่มีทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดิน และอาคารที่มีราคาประเมินสูงกว่ามูลค่าที่ลงบัญชีไว้มาก ส่วนต่างที่มี คิดเป็นเงิน และเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นของบริษัทแล้วสูงมาก บางทีเท่ากับครึ่งหนึ่งเลยก็มี แต่ทรัพย์สินที่ "ซ่อน" ไว้นี้ มักไม่สะท้อนลงมาที่ราคาหุ้นของบริษัท ผลคือ ทำให้หุ้นของบริษัทมี Discount พอสมควร และอยู่อย่างนั้นนานจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น ขายหรือนำมาพัฒนาให้เกิดรายได้และกำไรขึ้น มีบริษัทน้อยมากที่ทำอย่างนั้น

หุ้นกลุ่มที่สามที่มักมี Discount เมื่อเทียบกับหุ้นของบริษัทอื่นที่มีผลประกอบการใกล้เคียงกัน ก็คือ หุ้นที่เจ้าของไม่ดูแลผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร การไม่ดูแลผู้ถือหุ้นนั้นมีหลากหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ก็คือ การจ่ายปันผลในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ เช่น จ่ายปันผลเพียง 20-25% ของกำไรที่ทำได้ต่อเนื่องยาวนาน ผู้บริหารเก็บเงินสดไว้ในบริษัทมากเกินความจำเป็นโดยที่ไม่มีโครงการลงทุน มากมายอะไร ผู้บริหารเก็บตัวเงียบไม่ให้ข่าวคราวและไม่มีกลยุทธ์ในการขยายงานเป็นเรื่อง เป็นราว หลายๆ บริษัทมีผู้บริหารที่อนุรักษนิยมมาก บางแห่งก็มีอายุค่อนข้างสูง สิ่งเหล่านี้ทำให้หุ้นของบริษัทดูเหงาหงอยคล้ายกับอยู่ในแดนสนธยา

หุ้นกลุ่มที่สี่ที่ดูว่าอาจจะมี Discount ก็คือหุ้นที่ผมอยากเรียกว่าหุ้นไม่มีลูกค้านี่คือ หุ้นที่หาคนที่สนใจจะมา เล่นไม่ใคร่ได้ ความหมายของผม ก็คือ นี่เป็นหุ้นที่นักลงทุนสถาบันอาจจะไม่สนใจเนื่องจากบริษัทอาจจะมีขนาดไม่ ใหญ่พอหรือมีสภาพคล่องไม่พอที่พวกเขาจะเข้ามาซื้อขายหุ้นได้สะดวก สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ชอบเก็งกำไรเองนั้น หุ้นของบริษัทก็อาจจะใหญ่เกินไปที่จะไล่ราคาให้วิ่งขึ้นไปได้รวดเร็วหวือหวา ดังนั้น นักลงทุนรายย่อยก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่อยากซื้อขายหุ้นของบริษัท มองไปที่ Value Investor หรือนักลงทุนระยะยาวที่เน้นการลงทุนโดยอิงกับพื้นฐานของกิจการเองนั้น ก็พบว่าบริษัทก็ไม่ใช่บริษัทที่โดดเด่นอะไรนัก ดังนั้น พวกเขาก็อาจจะไม่ใคร่สนใจเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทอีกเช่นกัน สรุปแล้ว หุ้นประเภทนี้จะเป็นหุ้นที่ไม่มีคนชอบเล่นเป็นเรื่องเป็นราวและอาจจะเป็น สาเหตุสำคัญที่ทำให้หุ้นมี Discount ค่อนข้างยาวนานจนกว่าจะมีพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้น

หุ้นที่มักมี Discount กลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง ก็คือ หุ้นที่โตช้าหรือไม่โต หลายบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่โตหรือกำลังตกต่ำลงหรือที่เรียกว่า อุตสาหกรรม ตะวันตกดินบริษัทเหล่านี้มีกำไรที่ดีพอใช้ต่อเนื่องยาวนานและจ่ายปันผลเมื่อเทียบกับ ราคาหุ้นในอัตราที่ค่อนข้างดีแต่ยอดขายก็มักจะไม่เติบโตหรือเติบโตน้อย ฐานะการเงินของบริษัทก็มักจะอยู่ในขั้นที่ดีมีหนี้น้อยหรือแทบไม่มีหนี้เงิน กู้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมักจะไม่มีโครงการอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น ส่วนหนึ่งก็เพราะตัวสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ อิ่มตัวแล้ว หรือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่มีวิวัฒนาการอะไรใหม่ๆ ออกมานานแล้ว

กิจการที่มี Discount ต่อเนื่องยาวนานนั้น สำหรับนักลงทุนที่ยังมีประสบการณ์น้อย บางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจและมองว่าเป็นหุ้นที่มีราคาถูก เพราะค่า PE ที่เห็นนั้นอาจจะต่ำมากแค่ 6-7 เท่า ค่า PB ก็อาจจะต่ำกว่า 1 เท่า บางทีอาจจะเท่ากับ 0.7 -0.8 เท่า ปันผลเองก็อาจจะสูงถึง 5-6% ของราคาหุ้น ที่สำคัญ กำไรก็ค่อนข้างสม่ำเสมอ ปัญหาต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มี แต่เมื่อซื้อไปราคาก็อาจจะไม่ค่อยขึ้นไป และหุ้นก็มีราคาถูกอยู่อย่างนั้นนาน หุ้นบางตัวราคาก็ขึ้นไปเหมือนกัน แต่ขึ้นไปไม่มากทั้งๆ ที่กำไรก็ดูดีขึ้น ปัญหาก็คือ ค่า PE และค่า PB ก็ยังต่ำอยู่เหมือนเดิมหรือต่ำลงไปอีก ดูเหมือนว่าหุ้นจะเป็น Discount อยู่ตลอดเวลา ถ้าเราพบหุ้นแบบนี้ก็อย่าแปลกใจ และก็อย่าได้ตั้งความหวังว่าผลการดำเนินงานที่อาจจะออกมาอย่างน่าประทับใจ นั้น จะทำให้หุ้นวิ่งโดดเด่นและเราทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำหรือได้เป็นสองเด้งเพราะหุ้นตัวนี้อาจจะมีธรรมชาติ หรือสถานะที่เป็นหุ้นที่ต้องมี Discount


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 24 มกราคม 2555

งาน(ไม่)ทำเงิน

เมื่อผมอุทิศตนเป็น Value Investor เต็มตัว สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ เรื่อง ความคิด ที่สำคัญที่สุดก็ คือ การมองภาพที่ใหญ่ขึ้นและใหญ่ที่สุดในทุกๆ เรื่อง ผมคิดว่าถ้าภาพใหญ่ถูกต้อง การวิเคราะห์หลังจากนั้นก็ถูกต้อง แม้ในรายละเอียดอาจจะผิดพลาดไปบ้าง ถัดจากนั้น ก็คือ เรื่องของ การกระทำ นั่นก็คือ การเป็น VI สอนให้ผมรู้จักเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง แทนที่จะทุ่มเททำสิ่งที่ผิด หรือไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร ด้วยวิธีนี้ เราจะประสบความสำเร็จได้มากกว่าโดยไม่ต้องเหนื่อยมาก และนี่ก็นำมาสู่ประเด็นของการทำงานหรืออาชีพของคนเราที่ผมสังเกตเห็นว่า คนบางคนฉลาดหลักแหลมและทำงานหนักมากแต่เขาก็ไม่รวยซักที แต่บางคนไม่ได้มีไอคิวโดดเด่นอะไร ทำงานสบายๆ แต่กลับร่ำรวยกว่ามาก อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น คำตอบของผม คือ เพราะคนแรก ทำงานที่ "ไม่ทำเงิน" ส่วนคนที่สอง ทำงานที่ "ทำเงิน"

งานที่ "ไม่ทำเงิน" งานแรกที่ผมจะพูดถึง คือ งานเอเยนซีโฆษณา ซึ่งต้องติดต่อลูกค้าเสนอแนวความคิด และผลิตหนังโฆษณาให้ลูกค้า เป็นงานที่หนักและใช้สมอง และมีความกดดันสูง คนที่ทำงานนี้ต้องทำงานจนดึกดื่นและเครียดสุดๆ แต่เงินเดือนและรายกลับไม่สูง เหตุผลเพราะรายรับที่ได้จากลูกค้าเพียง 10 ล้านบาท แต่ต้อง ใช้พนักงานและทรัพยากรจำนวนมาก ทำให้บริษัทจ่ายเงินให้ลูกจ้าง แต่ละคนได้ไม่มาก ตรงกันข้าม คนที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารมีเดีย หรือสื่อโฆษณาให้ลูกค้า ซึ่งอยู่ในธุรกิจเดียวกัน หรือบริษัทเดียวกัน มักทำงานสบายกว่า หน้าที่เขาคือ ซื้อเวลาโฆษณาทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นๆ ให้ลูกค้า ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้วในคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่เขาทำอาจจะซ้ำๆ กับงานที่ทำให้กับบริษัทอื่นๆ ไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากนักไม่ต้องพูดถึงจำนวนคนที่จะต้องใช้ทำงาน แต่งานมีเดียกลับมีเม็ดเงินสูงมาก การทำแคมเปญแต่ละครั้งต้องใช้เงินเป็น 100 หรือ 200 ล้านบาท เพราะแค่ค่าโฆษณาทางทีวี นาทีละห้าหกแสนบาท และนี่ทำให้งานมีเดียเป็นงานที่ทำเงินให้กับบริษัท และส่งผลต่อมาถึงคนทำด้วย

งานด้านการผลิต เช่น การเป็นวิศวกรโรงงาน แม้เป็นงานที่หาง่าย และได้เงินค่อนข้างดีช่วงแรกๆ แต่ระยะยาวคนที่ทำงานด้านการเงิน จะทำเงินมากกว่า ทั้งๆ ที่การเป็นวิศวกร ต้องใช้ความรู้และความสามารถในการคิดคำนวณสูงกว่า และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า งานหนักกว่า เหตุผล คือ งานด้านการเงิน ใช้คนน้อยกว่า แต่ความสำคัญในแง่บริษัทสูงกว่างานวิศวกรรม บริษัทจึงจ่ายเงินให้แก่ผู้บริหารทางฝ่ายการเงินสูงกว่าทางด้านวิศวกรรมได้

ถ้าพูดถึงงานระดับล่างลงมา เช่น คนงานที่เป็นกรรมกรก่อสร้าง หรือคนงานในโรงงาน จะพบว่าพวกเขามีรายได้ที่น้อยกว่าคนที่ค้าขายหาบเร่ หรือแผงลอยมาก ทั้งๆ ที่ทำงานหนักกว่ามาก และเสี่ยงต่อร่างกายสูงกว่า หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่กว่า เหตุผลคงเป็นเรื่องของ "จิตใจ" หรืออารมณ์ความรู้สึก เช่น การรู้สึก "ตากหน้า" ถ้าต้องไปยืนขายของ รวมถึงเป็นคนที่ไม่ "กล้าเสี่ยง" หรือ "ไม่มีทุน" หรือไม่มีความสามารถในการ "จัดการ" ที่จะต้องวิ่งไปหาซื้อสินค้ามาผลิตและ/หรือขาย ต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คนไม่ทำงานค้าขายทั้งที่รายได้ดีและสบายกว่ามาก ทำนองเดียวกัน อาชีพด้านบริการ โดยเฉพาะประเด็นการที่ต้อง "ตากหน้า" ก็ให้ผลตอบแทน หรือรายได้สูงกว่างานกรรมกรหรืองานการผลิต เช่น การเป็นแม่บ้าน หรือการเป็นพนักงานเสิร์ฟอาหาร หรือคนดูแลรับรถในสถานบริการหรู ได้รับทิปจากลูกค้าค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือนที่ได้รับ

งานที่มั่นคงมาก มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ไม่ต้องตากหน้าหรือเผชิญกับแรงกดดันจากหัวหน้างาน และได้ผลตอบแทนแน่นอนไม่ขึ้นอยู่กับผลงาน เช่น งานราชการทั่วๆ ไป และงานการเป็นอาจารย์ในสถานศึกษา ไม่ใช่งานทำเงิน ตรงกันข้าม งานที่มีความไม่แน่นอนของรายได้สูงและต้อง "ตากหน้า" เพราะต้องไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นในลักษณะที่ตนเองดูด้อยกว่า และงานที่ไม่มีเวลาทำงานแน่นอน เช่น งานการเป็นเซลส์แมน งานการเป็นนายหน้าค้าที่ดิน ตัวแทนขายประกัน คนขายสินค้าแบบขายตรง หรือแบบ "ลูกโซ่" งานเหล่านี้เป็นงานที่ทำเงิน คนที่ทำได้จะรวยได้ ขณะที่คนกลุ่มแรก โอกาสรวยมีน้อยมาก

พูดถึงดาราหนัง นักร้องและคนที่แสดงเพื่อการบันเทิง งานเหล่านี้เป็นงานที่หนัก มีรายได้ไม่แน่นอน ทำงานไม่เป็นเวลา แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ใช่งานที่ทำเงินจริงๆ โดยเฉพาะตัวประกอบ แม้แต่ดาราที่ "มีระดับ" การแสดงก็ไม่ได้ทำเงินได้มากมายอย่างที่คิด สิ่งที่ทำเงินจริงๆ ในวงการนี้ อยู่ที่การได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ในการโฆษณาสินค้า หรือโชว์ตัวตามอีเวนท์ต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่เบา และใช้เวลาทำน้อย แต่ได้เงินมากกว่าการแสดงมาก นี่อาจคล้ายๆ กับกรณีของเอเยนซีกับการบริหารมีเดีย คือ คุณไม่สามารถจะได้งานพรีเซ็นเตอร์ ถ้าคุณไม่ได้แสดงหนังที่ทำให้คนรู้จักและชื่นชอบ

การ "ทำเอง" กับการ "ซื้อ" นี่ก็มีประเด็นเรื่องงานทำเงินกับงานไม่ทำเงิน มีเรื่องพูดกันในหมู่นักบริหารที่ต้องการลดต้นทุน ซึ่งคือเรื่องเดียวกับการ "ทำเงิน" ว่า การลดต้นทุนการผลิต ทางหนึ่ง คือ ให้วิศวกรพยายามหาทางลดต้นทุน โดยตัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนต่างๆ ซึ่งมีตั้งแต่การศึกษากระบวนการผลิตอย่างลึกซึ้งว่า แต่ละกระบวนการเราจะปรับปรุงอย่างไรจะช่วยลดต้นทุนได้ แต่ในที่สุดแล้ว ผลมักจะออกมาว่าเราลดได้เพียง 3-4% แต่อีกหนทางหนึ่ง คือ อาจจะหาทางใหม่ เช่น แทนที่จะผลิตเอง เราไปซื้อจากคนอื่น หรือไป "ต่อรอง" กับคนที่ขายของ หรือรับทำงานให้เราให้ลดราคาลงมา งานนี้เราใช้คนทำเพียงคนสองคนก็ได้แล้ว และสิ่งที่เรา "ประหยัด" ได้ อาจจะ 10-15% ดังนั้น จะไปทำงานหลังขดหลังแข็งไปทำไม

การลงทุนเป็นความ "สุดยอดของงานทำเงิน" เพราะใช้พลังงานน้อยมาก ว่า ที่จริงคุณแทบไม่ต้องแม้แต่จะจับปากกา สิ่งที่คุณทำอาจอยู่แต่ในสมอง คนอาจไม่รู้ว่าคุณกำลังทำงานอยู่ แต่ถ้าคุณทำงานนี้ได้ดีมาก ผลตอบแทนจะมหาศาล แน่นอน การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนได้ต้องมีเงินลงทุน รายได้ขึ้นอยู่กับเงินต้นด้วย ถ้าเงินต้นน้อย การลงทุนอย่างเดียวโดยไม่ทำงานอื่นด้วยก็ยากที่จะทำเงิน ถ้าคุณเป็นคนมีเงินอยู่แล้ว หรือเป็นคนที่จะมีเงินจากทางอื่นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ คุณก็ไม่มีเหตุผลจะหลีกเลี่ยงจากการลงทุน ซึ่งเป็นกิจกรรม หรืองานที่ "ทำเงิน" มากๆ นั่นก็คือ ทำงานน้อยแต่เวลาได้เงิน ได้มากกว่างานอื่นๆ ... มาก

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 17 มกราคม 2555