Thursday, January 12, 2012

หนังสือคลาสสิก

หนังสือการลงทุนที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมคิดว่าเป็นหนังสือคลาสสิก เหตุผลสำคัญคือ เป็นหนังสือที่เป็น "Original"

นั่นคือ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขียนเกี่ยวกับแนวความคิดที่สำคัญที่ต่อมาได้รับการยอมรับกว้างขวาง หรือเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของบุคคลสำคัญได้อย่างมีแง่มุมที่แหลมคมเป็นบท เรียนสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือเป็นหนังสือที่ประยุกต์ความรู้และวิชาการลงทุนมาเขียนให้คนทั่วไป อ่านอย่างเข้าใจได้ง่าย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น

เล่มแรกก็คือ The Intelligent Investor โดย เบน เกรแฮม นี่คือสุดยอดหนังสือคลาสสิกที่พูดถึงการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งได้สร้าง Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่าขึ้นทั่วโลก ว่าที่จริง สร้างสิ่งที่เรียกว่า "การวิเคราะห์หลักทรัพย์สำหรับการลงทุน" ของนักลงทุนทั่วไปให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยังแทบจะไม่มีใครทำ นักลงทุนเล่นหุ้นโดยการฟังข่าวและอาจจะสนใจแต่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ มากกว่าจะดูถึงมูลค่าพื้นฐานของกิจการ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะพูดถึงการวิเคราะห์คำนวณหาตัวเลขแล้ว ยังบอกถึงความสำคัญของจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนด้วย

เล่มที่สองคือ Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings โดย ฟิลลิป ฟิสเชอร์ นี่เป็นหนังสือการลงทุนเล่มแรกๆ ที่พูดถึงการลงทุนในกิจการที่ดีสุดยอด ซึ่งกลายเป็นแนวความคิดของกลุ่มนักลงทุนที่เน้นกิจการที่โตเร็วหรือที่เรียก ว่า Growth Investment ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวความคิดที่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่ นิยมยึดถือเป็นหลัก

เล่มที่ 3 คือ A Random Walk Down Wall Street โดย Burton Malkiel นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยอิงจากการศึกษาทางวิชาการลงทุนที่บอกว่า ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูงมาก และสามารถกำหนดราคาของหลักทรัพย์ทุกตัวให้มีราคาที่เหมาะสม ดังนั้นไม่มีใครสามารถจะหาหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานได้ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ ที่จะไปวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว แต่ควรลงทุนหุ้นให้กระจายไปหลายๆ ตัว เช่น ลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีเป็นต้น หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ให้ข้อมูลและประวัติศาสตร์การลงทุนที่ดีมาก ทำให้นักลงทุนเข้าใจภาพใหญ่ของการลงทุน และตัดสินได้ว่าจะทำอย่างไรกับการลงทุนของตนเอง

เล่มที่ 4 คือ One Up On Wall Street โดย ปีเตอร์ ลินช์ กับ John Rothchild นี่เป็นหนังสือคลาสสิกที่ค่อนข้างใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้เป็นหนังสือคลาสสิกอยู่ที่ว่า ถูกเขียนโดยนักบริหารกองทุนรวมหุ้นที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุดในโลก" แต่สิ่งที่เผยออกมา คือ "คนธรรมดาก็สามารถที่จะทำได้" หนังสือเล่มนี้เขียนได้สนุกและอ่านง่าย มีตัวเลขน้อยมาก แต่อาศัย Common Sense หรือสามัญสำนึกมากกว่า และถ้าให้เดา ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของหนังสือการลงทุนตลอดกาล

เล่มที่ 5 คือ Technical Analysis of Stock Trends โดย Robert Edwards และ John Magee นี่คือหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่เป็นเหมือน "คู่มือ" มาตรฐานของนักวิเคราะห์ทางเทคนิค อธิบายการวิเคราะห์อย่างยืดยาวและครอบคลุมคล้ายๆ กับหนังสือ Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม ที่พูดถึงเรื่องการวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐาน ส่วนตัวผมก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะไม่ได้เชื่อถือเรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค นักวิเคราะห์ทางเทคนิคน่าจะต้องรู้จักมันเป็นอย่างดี

เล่มที่ 6 คือ Reminiscences of a Stock Operator โดย Edwin Lefevre นี่เป็นหนังสือที่เขียนเป็นแบบนิยาย แต่น่าจะอิง หรือเป็นการเล่าเรื่องราวและชีวิตการลงทุนของ Jesse Livermore ซึ่งเป็นนักเล่นหุ้นและเก็งกำไรระดับโลกที่มีชีวิตที่มีสีสัน เคยร่ำรวยระดับประเทศและล้มละลายหลายครั้งจนสุดท้ายฆ่าตัวตาย หนังสือบอกให้เห็นถึงการเริ่มต้นเข้าสู่การเล่นหุ้นในฐานะของเด็กยากจนต่ำ ต้อยจนก้าวขึ้นสู่ "ราชันย์" ในวงการหุ้นและหลักทรัพย์ในสมัยที่ตลาดอเมริกายังไม่ได้พัฒนาแบบทุกวันนี้ แต่คล้ายๆ กับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการควบคุมธุรกิจมากนัก

เล่มที่ 7 คือ Buffet: The Making of an American Capitalist โดย Roger Lowenstein นี่คือหนังสือที่บอกเล่าประวัติและผลงานของบัฟเฟตต์อย่างละเอียดเป็นเล่ม แรกๆ และอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นหนังสือคลาสสิก แม้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว บัฟเฟตต์จะอนุญาตและร่วมมือในการเขียนหนังสือประวัติของตนเองชื่อ The Snowball โดย Alice Schroeder เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิกได้หรือไม่ เหตุผลก็คือ ประวัติของบัฟเฟตต์นั้นมีการพูดถึงกันมามากก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ The Snowball อาจจะไม่เด่นมากอย่างที่คาด

เล่มที่ 8 The Money Master และ The New Money Master โดย John Train นี่เป็นหนังสือที่นำเสนอประวัติและกลยุทธ์การลงทุนของเซียนหุ้นแถวหน้าแห่ง ยุคสมัยหลายๆ คนในเล่มเดียวกัน และเช่นเคย เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขียนได้ดีและมีมุมมองที่เฉียบคม จึงกลายเป็นหนังสือคลาสสิก แม้จะมีหนังสือแนวนี้ออกมาในภายหลัง จึงเป็นเพียงผู้ตามและก็คงยากที่จะกลายเป็นหนังสือคลาสสิกได้

สุดท้ายก็คือคำถามที่ว่า เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอ่านหนังสือคลาสสิกถ้าจะเป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่น คำตอบของผมก็คือ ไม่จำเป็น เพราะบ่อยครั้ง หนังสือคลาสสิกก็ "อ่านยาก" เพราะบางเล่มเก่ามาก และใช้ภาษาสำนวนที่ค่อนข้างเก่า บางเล่มผู้เขียนก็ไม่ได้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพราะเขาอาจเป็นนักวิชาการมากกว่านักเขียน แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าเนื้อหาในหนังสือคลาสสิก มีความสำคัญต่อความเข้าใจของเรามาก เราต้องหาหนังสือที่ Simplify หรือเขียนอธิบายแนวความคิดนั้นอย่างง่ายมาอ่าน ซึ่งโชคดีที่ปัจจุบันมีหนังสือแบบนี้มากมาย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือคลาสสิก เราก็ยังเข้าใจแนวคิดของมันได้ ผมก็ยังคิดว่า ถ้าจะให้ดี เราก็ควรจะอ่านหนังสือคลาสสิกด้วย สักจบหนึ่งก็ยังดี เพื่อที่จะได้ "คุย" ได้ว่า เราเคยอ่านมาแล้ว

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 10 มกราคม 2555

พอร์ตเล็กโตไว

เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า หุ้นตัวเล็ก จะโตเร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง หรือชีวิตทั้งหลายในโลก

เด็กต้องโตเร็วกว่าผู้ใหญ่ บริษัทเล็กมักโตเร็วกว่าบริษัทใหญ่ ความเสี่ยงของสิ่งที่เล็ก หรือชีวิตที่เล็กสูงกว่าสิ่งที่ใหญ่ หรือชีวิตที่เติบโตขึ้นมาแล้ว ความเสี่ยงที่ว่า คือ หุ้นตัวเล็กหรือชีวิตที่เล็ก อาจง่อยเปลี้ย หรือล้มหายตายจากไปได้ง่ายกว่าหุ้นตัวใหญ่ หรือชีวิตที่โตขึ้นมามากแล้ว ในเรื่องการลงทุน คนที่มีพอร์ต หรือมีเงินลงทุนน้อยนั้น มีทางเลือก หรือมีโอกาสโตเร็วกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ แต่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่ว่า คือ แทนที่พอร์ตจะโตเร็วกลายเป็นพอร์ตขาดทุนเสียหายไปมากมาย คนที่มีพอร์ตเล็กหลายคนอาจจะบอกว่าเขารับได้ เหนือสิ่งอื่นใด เขายังมีรายได้จากแหล่งอื่น ที่จะเข้ามาลงทุนต่อ หรือ "แก้ตัว" ได้ มาดูกันว่า ทำไมพอร์ตเล็กจึงโตไวกว่าพอร์ตใหญ่

ข้อแรก คือ คนที่มีพอร์ตเล็ก ซึ่งผมคิดว่าเงินลงทุนไม่ควรเกิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัวในตลาดหุ้น โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายนัก หมายความว่า คนที่มีพอร์ตเล็ก มีหุ้นให้เลือกลงทุนได้มากกว่าคนพอร์ตใหญ่ ทำให้หาหุ้นที่อาจจะตัวเล็ก แต่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าปกติ แน่นอน คนที่พอร์ตใหญ่ก็ซื้อหุ้นตัวเล็กได้ แต่เขาอาจซื้อได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต แม้หุ้นตัวนั้นจะทำกำไรให้เขาได้เท่าตัวหรือหลายเท่าตัว แต่เม็ดเงินที่ได้ ไม่ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตโตขึ้นเท่าไรนัก

ตัวอย่างเช่น นายเล็กมีพอร์ต 1 ล้านบาท ซื้อหุ้น A ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็ก 2 แสนบาท หุ้นขึ้นไป 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี เฉพาะหุ้นนี้เพียงตัวเดียวก็ทำกำไรให้คุณเล็กแล้ว 4 แสนบาท หรือ 40% ของพอร์ต ในเวลาเดียวกัน ถ้านายใหญ่ซื้อหุ้น A เช่นเดียวกันด้วยเงิน 1 ล้านบาท กำไรของคุณใหญ่ 2 ล้านบาทภายในเวลาหนึ่งปี พอร์ตของคุณใหญ่เท่ากับ 100 ล้านบาท ผลตอบแทนที่คุณใหญ่ได้จากการลงทุนหุ้น A คือ 2% ของพอร์ต ซึ่งมีผลน้อยมากต่อผลตอบแทนรวมของเขา

ข้อสอง คนที่มีพอร์ตเล็กสามารถ FOCUS หรือลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้มากกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ หลายคนลงทุนหุ้นตัวเดียว หรือสองตัวช่วงเวลาหนึ่ง หุ้นตัวนั้นขึ้นไปสูงมาก เช่น 3-4 เท่าในเวลาหนึ่งปี ผลตอบแทนของเขาในปีนั้น จะเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้าม คนพอร์ตใหญ่มักมีหุ้นมากตัวกว่ามาก หุ้นแต่ละตัวอาจมีมูลค่าเพียง 5-10% ของพอร์ต แม้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้นไป 3-4 เท่า แต่หุ้นตัวอื่นๆ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นนัก บางตัวลดลง ด้วยเหตุนั้น ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจแค่ 30-40% ซึ่งถือว่ามาก แต่ยังห่างไกลจากคนที่มีพอร์ตเล็ก

ข้อสาม คนพอร์ตเล็กหลายคนที่อยากรวยเร็วจากหุ้น สามารถใช้มาร์จิน หรือกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อซื้อหุ้น ในยามที่เขาซื้อหุ้นได้ "ถูกตัว" คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลตอบแทนจะ "ทวีคูณ" จากร้อยเป็นสองร้อย จากสองร้อยเป็น 400% ในเวลาหนึ่งปี ขณะเดียวกัน คนที่มีพอร์ตใหญ่ ส่วนใหญ่คิดว่าชีวิตตนเองอยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่แล้ว เขาไม่อยากเสียมันไป แม้การใช้มาร์จินอาจทำกำไรให้เขามากขึ้น แต่ถ้าพลาด เงินเขาจะสูญไปมาก และนั่นจะเป็นสิ่งที่ "เจ็บปวด" มากกว่า "ความสุข" ที่จะได้จากผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้น ชั่งน้ำหนักแล้ว เขาจะใช้มาร์จินน้อยกว่า หรือไม่ใช้มาร์จินเลย

ข้อสี่ คนพอร์ตเล็กที่อยากรวยเร็ว มักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าคนพอร์ตใหญ่ เขาสามารถเข้าหรือออกจากหุ้นได้ง่าย เพราะปริมาณหุ้นที่เขาซื้อขายน้อยมาก เมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน แนวทางของเขาอาจจะ ซื้อหุ้นช่วงต้นๆ ก่อนหุ้นจะมี “Story” หรือเรื่องราวดีๆ แล้วขายเมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วและสูง เพราะการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นของนักเล่นหุ้น เมื่อหุ้นนั้นเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน เขามักจะไม่รอให้ผลประกอบการออกมา เพื่อยืนยันว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดีจริงๆ หรือไม่ ด้วยวิธีนี้ การทำกำไรจากหุ้นของเขา จะทำได้หลายรอบกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ที่ไม่สามารถ "หมุนหุ้น" ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี จริงอยู่ คนที่มีพอร์ตใหญ่ก็ซื้อๆ ขายๆ เข้าออกหุ้นได้หลายๆ รอบ แต่นั่นก็ทำได้เฉพาะหุ้นขนาดใหญ่มาก เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน พลังงาน สื่อสาร ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะใหญ่เกินกว่าจะมี Story ดีๆ ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นได้มากนัก

นักลงทุนที่พอร์ตยังเล็กบางคน ค่าที่ต้องการโตรวดเร็วสุดที่จะทำได้ เขาจึงใช้เทคนิค หรือแนวทางทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นคือ ซื้อหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำ แต่ก็ไม่น้อยเกินไปสำหรับเขา เขาลงทุนถือหุ้นเพียงตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดที่มี เขาเล่นหุ้นที่จะมีสตอรี่ หรือเรื่องราวดีๆ เช่น อาจเป็นหุ้นที่กำลัง "ฟื้นตัว" หรือบริษัทกำลังมีรูปแบบหรือ "โมเดลการทำธุรกิจใหม่" หรือ วัฏจักรธุรกิจกำลังเป็น "ขาขึ้น" อย่างแรง ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อซื้อแล้วและหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น อาจด้วยเหตุผลที่คาด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเชื่อว่าหุ้นกำลังจะ "วิ่ง" เขาจะใช้มาร์จินเต็มวงเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม และถ้าหากว่าหุ้นขึ้นไปอีก จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รวมถึงผลจากการที่มีเม็ดเงินจากเขาเองเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม เขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกโดยใช้มาร์จินที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่ เพิ่ม กระบวนการ "อัดมาร์จิน" แบบนี้ บางครั้งทำให้ราคาหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก วิ่งขึ้นไปแรงมาก หลายๆ เท่าตัวในเวลาอันสั้น เพราะบางครั้ง การ"อัดมาร์จิน" ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีนักลงทุนรายอื่นเข้ามาเล่นด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการมอง หรือวิเคราะห์ด้านหนึ่งที่เป็นด้านที่สดใส เป็นด้านที่ทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น และเป็นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดๆ และทำให้นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนไม่น้อย ทำผลตอบแทนมหาศาล จนกลายเป็นนักลงทุนพอร์ตกลางและพอร์ตใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี ถ้าหันมามองอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนที่มากกว่ามาก ที่ทำการลงทุนแบบเดียวกัน นั่นคือ ลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ถือหุ้นเพียงตัวเดียวหรือสองตัวในพอร์ต ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเต็มอัตรา และเล่นหุ้นที่มี "สตอรี่" แบบเดียวกัน เพียงแต่กรณีหลังนี้ เขาเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุดกู่แล้ว และต้องขายช่วงที่หุ้นตกต่ำลงมา ผลลัพธ์คือ เขาขาดทุนย่อยยับ กลายเป็นนักลงทุนที่ "พอร์ตเล็กเหมือนเดิม" ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี เหตุผลที่เขายังมีพอร์ตลงทุนอยู่ได้คือ เขายังมีแหล่งเงินจากที่อื่นที่จะมาลงทุนได้เสมอตราบที่ยังมีความหวังว่าจะ รวยจากตลาดหุ้นได้

คนพอร์ตเล็ก ไม่จำเป็นต้องเดินทางในแนวที่ผมพูดถึง และผมก็ไม่แนะนำให้เดินสาย "รวยเร็ว" แต่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างที่กล่าว แน่นอน คนที่สำเร็จและเป็น Role Model ของนักลงทุนพอร์ตเล็กที่รวยเร็วมาก ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่อยากทำตาม หลายคนคิดว่า "ไม่มีอะไรจะเสีย" แต่ผมคิดว่า โอกาสชนะก็น้อยมาก ยังมีแนวทางการลงทุนแบบอื่น ที่อาจให้ผลไม่ต่างกันนักในระยะยาวแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 27 ธันวาคม 2554

Premiums

เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหุ้นบางกลุ่ม หรือบางตัว จึงมีราคาสูงหรือแพงกว่าหุ้นตัวอื่น และดูเหมือนว่าจะแพงกว่า "พื้นฐาน" ที่ควรจะเป็น

ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องยาว และบางทีผมอาจรู้ไม่จริง แต่สิ่งที่ผมอยากพูดถึง ก็คือ หุ้นตัวไหน หรือประเภทไหนที่มีคุณสมบัติแบบนั้น นั่นคือ หุ้นแบบไหนที่มักมีราคาหุ้น "สูงกว่าปกติ" วัดจากค่า PE ค่า PB หรือมูลค่าอื่นๆ ซึ่งส่วนที่สูงเกินจากปกตินี้ ในทางการเงินเรียกว่า "Premium"

Premium ตัวแรกที่จะพูดถึง เพราะเป็น Premium ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า "Super Stock Premium" นี่คือ "มูลค่าส่วนเกิน" ที่ตลาดให้กับหุ้นที่เป็น Super Stock หรือเป็นหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพ "ดีสุดยอด" ซึ่งหมายถึงกิจการที่มีคุณสมบัติหลายๆ อย่าง เช่น เป็นกิจการขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก มีอำนาจตลาดสูง เพราะลูกค้าไม่เปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้ง่าย มียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง สินค้าไม่ถูกควบคุมด้วยราคา หรือกฎเกณฑ์อื่นๆ มีกำไร หรือมาร์จินจากยอดขายสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน การขายสินค้าหรือบริการเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงลิ่ว ธุรกิจยังเติบโตดี หรือเป็นกิจการแห่งอนาคต

กิจการที่นักลงทุน "ยอมรับ" แล้วว่าเป็นหุ้น Super Stock แทบทั้งหมด จะมี Premium สูง นั่นคือ ราคาหุ้นจะสูงจนทำให้ค่า PE และค่า PB สูงมากจนบางครั้งนักลงทุนที่เป็น VI สไตล์ เบน เกรแฮม ซึ่งเน้นซื้อหุ้นราคาถูก "รับไม่ได้" เพราะเมื่อคำนวณหา "มูลค่าพื้นฐาน" ของหุ้นที่เป็นตัวเลขแล้ว พบว่าดูอย่างไรก็ "Over Value" อยู่ดี

Premium ของซูเปอร์สต็อก ก็ยังอยู่ยาวนานไม่หายไปง่ายๆ ไม่ว่าในหุ้นไทยหรือต่างประเทศ ดังนั้น คนที่วิเคราะห์หามูลค่าที่เหมาะสมของซูเปอร์สต็อก ต้องรู้ว่ามี Premium ส่วนนี้อยู่

Premium ตัวต่อไป โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ผมคงยกให้กับ "Speculation Premium" นี่คือ ราคาหุ้น "ส่วนที่เกินพื้นฐาน" ที่เกิดขึ้น เพราะหุ้นตัวนั้นมี "การเก็งกำไร" สูงกว่าปกติ เหตุผลที่ตลาดให้ราคาหุ้นเก็งกำไรสูงกว่าปกติ เพราะนักเล่นหุ้นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย ชอบเล่นหุ้นที่มีราคาหวือหวาขึ้นลงเร็วมากกว่าหุ้นที่ค่อยๆ เติบโตเรื่อยๆ พวกเขายินดีที่จะจ่าย "Premium" ซึ่งคล้ายๆ กับ "ค่าต๋ง" ในการเล่นการพนันให้กับนายบ่อนเวลาเล่นการพนัน Premium ที่พวกเขาจ่ายคล้ายๆ กับ "ค่าธรรมเนียม" ในการได้เล่นหุ้นที่ขึ้นลงเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมหาศาล ที่ทำให้เขาเข้าหรือออกได้ตลอดเวลา รวมทั้งใช้มาร์จินซื้อขายหุ้นได้เต็มที่ Speculation Premium มักอยู่ไม่ถาวร เมื่อการเก็งกำไรลดลง ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด Speculation Premium ของหุ้นก็อาจจะหายไปได้

Premium ตัวต่อไป คือ “Institution Premium” นี่คือ หุ้นมีราคาเกินพื้นฐาน เพราะการที่หุ้นตัวนั้น แต่เดิมไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน กลายเป็นหุ้นที่สถาบันการสนใจซื้อหุ้นลงทุน ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เข้าไปอยู่ในดัชนีเช่น MSCI SET50 SET100 หรือกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการควบรวม หรือขยายตัวรวดเร็วจนเข้าเกณฑ์ที่สถาบันลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศสนใจลง ทุนซื้อหุ้นของบริษัท ผลกระทบจากการนี้ จึงทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงโดยเฉพาะในครั้งแรก

Premium อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ "Owner Premium" หรือราคาหุ้นที่สูงเกินจากพื้นฐานปกติ เพราะ "มีคนยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ" พูดแบบนี้อาจทำให้งง เพราะหุ้นทุกตัวมีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว แต่ความหมายของผม คือ หุ้นนั้นเดิมไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่พอที่จะควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ แล้วอยู่ๆ ก็มีคนอื่นเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้ได้สิทธิควบคุมบริษัทแทนผู้บริหารเดิม คนที่เข้ามาเพื่อที่จะเทคโอเวอร์บริษัทนั้น เขายอมจ่ายแพงกว่าปกติ เพราะคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพื้นฐานของบริษัทให้ดีขึ้นได้ และทำให้คุ้มค่าที่จะจ่าย หรือบางคนอาจคิดว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัท ทำให้เขาได้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นการส่วนตัว เช่น "เล่นหุ้น" ตัวนั้นให้ได้กำไร หรือ "กินเงินเดือน" หรือรับประโยชน์อย่างอื่นในบริษัทในฐานะผู้บริหาร ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทนั้น ในฐานะคนนอกที่เป็นนักลงทุน ต้องระวังว่า Premium ส่วนนี้อาจหายไปได้ง่ายๆ เมื่อการเทคโอเวอร์จบลง

Premium ตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ "Celebrity Premium" นี่เป็นคำที่ผมเรียกเอง ซึ่งอาจไม่ตรงนัก แต่ความหมายของผมคือ หุ้นมีราคาสูงเกินจากพื้นฐาน เพราะหุ้นตัวนั้นถูกซื้อโดย "เซียน" ที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นเชื่อถือมาก ทำให้นักเล่นหุ้น หรือนักลงทุนคนอื่นแห่เข้าซื้อตาม ผลคือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่มีข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ราคาหุ้นก็มักวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว และผมเชื่อว่าหลายครั้งราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐาน ส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ในอดีตช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กกว่านี้และเรามีแต่ "นักเล่นหุ้น" ถ้ามีข่าวว่า "เสี่ย" คนนั้นคนนี้เข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้น จะวิ่งไปแรงและเร็วมาก ถ้าเป็นช่วงที่ Value Investment กลายเป็น "กระแสหลัก" ถ้ามีข่าวว่ามี "เซียน VI" เข้าไปเล่นกันมาก หุ้นตัวก็วิ่งไปแรงเกินกว่าพื้นฐานได้เหมือนกัน

การหากำไรจาก Premium ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ไปซื้อหุ้นที่มี Premium สูงลิ่วอยู่แล้ว ตรงกันข้าม Premium บางประเภท เมื่อเวลาผ่านไปกลับลดน้อยถอยลง แทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนได้ วิธีทำกำไรจาก Premium เป็นกอบเป็นกำ คือ การมองหาหุ้นที่มีศักยภาพสูงที่จะได้รับ Premium ในอนาคต เพราะหุ้น หรือบริษัทกำลังมีพัฒนาการ จะนำไปสู่การเป็นหุ้นที่มี Premium เช่น บริษัทมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดในที่สุดบริษัทกลายเป็น Super Stock หรือในไม่ช้าบริษัทก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนสถาบันเข้า มาลงทุน หรือบริษัทจะเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ที่จะเกิดขึ้น การซื้อหุ้นโดยมุ่งเน้นแต่ทำกำไรจาก Premium ที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะ Premium อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย การลงทุนจึงต้องเน้นเรื่องพื้นฐานกิจการเป็นหลัก โดย Premium ควรเป็นผลพลอยได้ ซึ่ง บางครั้งให้ผลตอบแทนยิ่งไปกว่าพื้นฐานหลัก

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 20 ธันวาคม 2554