เคยสงสัยไหมว่า ทำไมหุ้นบางกลุ่ม หรือบางตัว จึงมีราคาสูงหรือแพงกว่าหุ้นตัวอื่น และดูเหมือนว่าจะแพงกว่า "พื้นฐาน" ที่ควรจะเป็น
ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ เพราะเป็นเรื่องยาว และบางทีผมอาจรู้ไม่จริง แต่สิ่งที่ผมอยากพูดถึง ก็คือ หุ้นตัวไหน หรือประเภทไหนที่มีคุณสมบัติแบบนั้น นั่นคือ หุ้นแบบไหนที่มักมีราคาหุ้น "สูงกว่าปกติ" วัดจากค่า PE ค่า PB หรือมูลค่าอื่นๆ ซึ่งส่วนที่สูงเกินจากปกตินี้ ในทางการเงินเรียกว่า "Premium"
Premium ตัวแรกที่จะพูดถึง เพราะเป็น Premium ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา คือ สิ่งที่ผมเรียกว่า "Super Stock Premium" นี่คือ "มูลค่าส่วนเกิน" ที่ตลาดให้กับหุ้นที่เป็น Super Stock หรือเป็นหุ้นของกิจการที่มีคุณภาพ "ดีสุดยอด" ซึ่งหมายถึงกิจการที่มีคุณสมบัติหลายๆ อย่าง เช่น เป็นกิจการขนาดใหญ่กว่าคู่แข่งมาก มีอำนาจตลาดสูง เพราะลูกค้าไม่เปลี่ยนไปใช้บริการคู่แข่งได้ง่าย มียี่ห้อสินค้าที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง สินค้าไม่ถูกควบคุมด้วยราคา หรือกฎเกณฑ์อื่นๆ มีกำไร หรือมาร์จินจากยอดขายสูง เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน การขายสินค้าหรือบริการเพิ่มไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากนัก กำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงลิ่ว ธุรกิจยังเติบโตดี หรือเป็นกิจการแห่งอนาคต
กิจการที่นักลงทุน "ยอมรับ" แล้วว่าเป็นหุ้น Super Stock แทบทั้งหมด จะมี Premium สูง นั่นคือ ราคาหุ้นจะสูงจนทำให้ค่า PE และค่า PB สูงมากจนบางครั้งนักลงทุนที่เป็น VI สไตล์ เบน เกรแฮม ซึ่งเน้นซื้อหุ้นราคาถูก "รับไม่ได้" เพราะเมื่อคำนวณหา "มูลค่าพื้นฐาน" ของหุ้นที่เป็นตัวเลขแล้ว พบว่าดูอย่างไรก็ "Over Value" อยู่ดี
Premium ของซูเปอร์สต็อก ก็ยังอยู่ยาวนานไม่หายไปง่ายๆ ไม่ว่าในหุ้นไทยหรือต่างประเทศ ดังนั้น คนที่วิเคราะห์หามูลค่าที่เหมาะสมของซูเปอร์สต็อก ต้องรู้ว่ามี Premium ส่วนนี้อยู่
Premium ตัวต่อไป โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทย ผมคงยกให้กับ "Speculation Premium" นี่คือ ราคาหุ้น "ส่วนที่เกินพื้นฐาน" ที่เกิดขึ้น เพราะหุ้นตัวนั้นมี "การเก็งกำไร" สูงกว่าปกติ เหตุผลที่ตลาดให้ราคาหุ้นเก็งกำไรสูงกว่าปกติ เพราะนักเล่นหุ้นจำนวนมากในตลาดหุ้นไทย ชอบเล่นหุ้นที่มีราคาหวือหวาขึ้นลงเร็วมากกว่าหุ้นที่ค่อยๆ เติบโตเรื่อยๆ พวกเขายินดีที่จะจ่าย "Premium" ซึ่งคล้ายๆ กับ "ค่าต๋ง" ในการเล่นการพนันให้กับนายบ่อนเวลาเล่นการพนัน Premium ที่พวกเขาจ่ายคล้ายๆ กับ "ค่าธรรมเนียม" ในการได้เล่นหุ้นที่ขึ้นลงเร็ว และมีปริมาณการซื้อขายหุ้นมหาศาล ที่ทำให้เขาเข้าหรือออกได้ตลอดเวลา รวมทั้งใช้มาร์จินซื้อขายหุ้นได้เต็มที่ Speculation Premium มักอยู่ไม่ถาวร เมื่อการเก็งกำไรลดลง ด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของตลาด Speculation Premium ของหุ้นก็อาจจะหายไปได้
Premium ตัวต่อไป คือ “Institution Premium” นี่คือ หุ้นมีราคาเกินพื้นฐาน เพราะการที่หุ้นตัวนั้น แต่เดิมไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบัน กลายเป็นหุ้นที่สถาบันการสนใจซื้อหุ้นลงทุน ด้วยเหตุผลบางอย่าง เช่น บริษัทได้รับการจัดอันดับให้เข้าไปอยู่ในดัชนีเช่น MSCI SET50 SET100 หรือกิจการมีขนาดใหญ่ขึ้นจากการควบรวม หรือขยายตัวรวดเร็วจนเข้าเกณฑ์ที่สถาบันลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศสนใจลง ทุนซื้อหุ้นของบริษัท ผลกระทบจากการนี้ จึงทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปแรงโดยเฉพาะในครั้งแรก
Premium อีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ "Owner Premium" หรือราคาหุ้นที่สูงเกินจากพื้นฐานปกติ เพราะ "มีคนยอมจ่ายเพื่อให้ได้เป็นเจ้าของ" พูดแบบนี้อาจทำให้งง เพราะหุ้นทุกตัวมีผู้ถือหุ้นที่เป็นเจ้าของอยู่แล้ว แต่ความหมายของผม คือ หุ้นนั้นเดิมไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่พอที่จะควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ แล้วอยู่ๆ ก็มีคนอื่นเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมาก เพื่อให้ได้สิทธิควบคุมบริษัทแทนผู้บริหารเดิม คนที่เข้ามาเพื่อที่จะเทคโอเวอร์บริษัทนั้น เขายอมจ่ายแพงกว่าปกติ เพราะคิดว่าเขาสามารถปรับปรุงพื้นฐานของบริษัทให้ดีขึ้นได้ และทำให้คุ้มค่าที่จะจ่าย หรือบางคนอาจคิดว่าการเข้าไปเป็นผู้บริหารบริษัท ทำให้เขาได้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นการส่วนตัว เช่น "เล่นหุ้น" ตัวนั้นให้ได้กำไร หรือ "กินเงินเดือน" หรือรับประโยชน์อย่างอื่นในบริษัทในฐานะผู้บริหาร ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่มเพื่อเทคโอเวอร์บริษัทนั้น ในฐานะคนนอกที่เป็นนักลงทุน ต้องระวังว่า Premium ส่วนนี้อาจหายไปได้ง่ายๆ เมื่อการเทคโอเวอร์จบลง
Premium ตัวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึง คือ "Celebrity Premium" นี่เป็นคำที่ผมเรียกเอง ซึ่งอาจไม่ตรงนัก แต่ความหมายของผมคือ หุ้นมีราคาสูงเกินจากพื้นฐาน เพราะหุ้นตัวนั้นถูกซื้อโดย "เซียน" ที่นักลงทุนหรือนักเล่นหุ้นเชื่อถือมาก ทำให้นักเล่นหุ้น หรือนักลงทุนคนอื่นแห่เข้าซื้อตาม ผลคือ ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่มีข่าวว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ราคาหุ้นก็มักวิ่งขึ้นไปรวดเร็ว และผมเชื่อว่าหลายครั้งราคาหุ้นขึ้นไปเกินพื้นฐาน ส่วนตัวอย่างที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ในอดีตช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังเล็กกว่านี้และเรามีแต่ "นักเล่นหุ้น" ถ้ามีข่าวว่า "เสี่ย" คนนั้นคนนี้เข้าไปเล่นหุ้นตัวไหน หุ้นตัวนั้น จะวิ่งไปแรงและเร็วมาก ถ้าเป็นช่วงที่ Value Investment กลายเป็น "กระแสหลัก" ถ้ามีข่าวว่ามี "เซียน VI" เข้าไปเล่นกันมาก หุ้นตัวก็วิ่งไปแรงเกินกว่าพื้นฐานได้เหมือนกัน
การหากำไรจาก Premium ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ไปซื้อหุ้นที่มี Premium สูงลิ่วอยู่แล้ว ตรงกันข้าม Premium บางประเภท เมื่อเวลาผ่านไปกลับลดน้อยถอยลง แทนที่จะกำไรอาจจะขาดทุนได้ วิธีทำกำไรจาก Premium เป็นกอบเป็นกำ คือ การมองหาหุ้นที่มีศักยภาพสูงที่จะได้รับ Premium ในอนาคต เพราะหุ้น หรือบริษัทกำลังมีพัฒนาการ จะนำไปสู่การเป็นหุ้นที่มี Premium เช่น บริษัทมีความโดดเด่นมากขึ้นเรื่อยๆ และคาดในที่สุดบริษัทกลายเป็น Super Stock หรือในไม่ช้าบริษัทก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่นักลงทุนสถาบันเข้า มาลงทุน หรือบริษัทจะเป็นเป้าหมายของการเทคโอเวอร์ที่จะเกิดขึ้น การซื้อหุ้นโดยมุ่งเน้นแต่ทำกำไรจาก Premium ที่อาจเกิดขึ้นเป็นหลัก เป็นเรื่องเสี่ยง เพราะ Premium อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย การลงทุนจึงต้องเน้นเรื่องพื้นฐานกิจการเป็นหลัก โดย Premium ควรเป็นผลพลอยได้ ซึ่ง บางครั้งให้ผลตอบแทนยิ่งไปกว่าพื้นฐานหลัก
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 20 ธันวาคม 2554
No comments:
Post a Comment