Thursday, January 12, 2012

หนังสือคลาสสิก

หนังสือการลงทุนที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมคิดว่าเป็นหนังสือคลาสสิก เหตุผลสำคัญคือ เป็นหนังสือที่เป็น "Original"

นั่นคือ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขียนเกี่ยวกับแนวความคิดที่สำคัญที่ต่อมาได้รับการยอมรับกว้างขวาง หรือเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของบุคคลสำคัญได้อย่างมีแง่มุมที่แหลมคมเป็นบท เรียนสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือเป็นหนังสือที่ประยุกต์ความรู้และวิชาการลงทุนมาเขียนให้คนทั่วไป อ่านอย่างเข้าใจได้ง่าย ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น

เล่มแรกก็คือ The Intelligent Investor โดย เบน เกรแฮม นี่คือสุดยอดหนังสือคลาสสิกที่พูดถึงการลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งได้สร้าง Value Investor หรือนักลงทุนเน้นคุณค่าขึ้นทั่วโลก ว่าที่จริง สร้างสิ่งที่เรียกว่า "การวิเคราะห์หลักทรัพย์สำหรับการลงทุน" ของนักลงทุนทั่วไปให้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ ยังแทบจะไม่มีใครทำ นักลงทุนเล่นหุ้นโดยการฟังข่าวและอาจจะสนใจแต่เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ มากกว่าจะดูถึงมูลค่าพื้นฐานของกิจการ หนังสือเล่มนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งนอกจากจะพูดถึงการวิเคราะห์คำนวณหาตัวเลขแล้ว ยังบอกถึงความสำคัญของจิตวิทยาการลงทุนของนักลงทุนด้วย

เล่มที่สองคือ Common Stocks and Uncommon Profits and Other Writings โดย ฟิลลิป ฟิสเชอร์ นี่เป็นหนังสือการลงทุนเล่มแรกๆ ที่พูดถึงการลงทุนในกิจการที่ดีสุดยอด ซึ่งกลายเป็นแนวความคิดของกลุ่มนักลงทุนที่เน้นกิจการที่โตเร็วหรือที่เรียก ว่า Growth Investment ซึ่งต่อมากลายเป็นแนวความคิดที่นักลงทุนสถาบันหรือนักลงทุนมืออาชีพส่วนใหญ่ นิยมยึดถือเป็นหลัก

เล่มที่ 3 คือ A Random Walk Down Wall Street โดย Burton Malkiel นี่คือหนังสือที่เขียนขึ้นโดยอิงจากการศึกษาทางวิชาการลงทุนที่บอกว่า ตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพสูงมาก และสามารถกำหนดราคาของหลักทรัพย์ทุกตัวให้มีราคาที่เหมาะสม ดังนั้นไม่มีใครสามารถจะหาหุ้นราคาถูกกว่ามูลค่าพื้นฐานได้ต่อเนื่อง ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ ที่จะไปวิเคราะห์หุ้นเป็นรายตัว แต่ควรลงทุนหุ้นให้กระจายไปหลายๆ ตัว เช่น ลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีเป็นต้น หัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ให้ข้อมูลและประวัติศาสตร์การลงทุนที่ดีมาก ทำให้นักลงทุนเข้าใจภาพใหญ่ของการลงทุน และตัดสินได้ว่าจะทำอย่างไรกับการลงทุนของตนเอง

เล่มที่ 4 คือ One Up On Wall Street โดย ปีเตอร์ ลินช์ กับ John Rothchild นี่เป็นหนังสือคลาสสิกที่ค่อนข้างใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้เป็นหนังสือคลาสสิกอยู่ที่ว่า ถูกเขียนโดยนักบริหารกองทุนรวมหุ้นที่ประสบความสำเร็จ "สูงที่สุดในโลก" แต่สิ่งที่เผยออกมา คือ "คนธรรมดาก็สามารถที่จะทำได้" หนังสือเล่มนี้เขียนได้สนุกและอ่านง่าย มีตัวเลขน้อยมาก แต่อาศัย Common Sense หรือสามัญสำนึกมากกว่า และถ้าให้เดา ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะขายดีเป็นอันดับต้นๆ ของหนังสือการลงทุนตลอดกาล

เล่มที่ 5 คือ Technical Analysis of Stock Trends โดย Robert Edwards และ John Magee นี่คือหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่เป็นเหมือน "คู่มือ" มาตรฐานของนักวิเคราะห์ทางเทคนิค อธิบายการวิเคราะห์อย่างยืดยาวและครอบคลุมคล้ายๆ กับหนังสือ Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม ที่พูดถึงเรื่องการวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐาน ส่วนตัวผมก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะไม่ได้เชื่อถือเรื่องการวิเคราะห์ทางเทคนิค นักวิเคราะห์ทางเทคนิคน่าจะต้องรู้จักมันเป็นอย่างดี

เล่มที่ 6 คือ Reminiscences of a Stock Operator โดย Edwin Lefevre นี่เป็นหนังสือที่เขียนเป็นแบบนิยาย แต่น่าจะอิง หรือเป็นการเล่าเรื่องราวและชีวิตการลงทุนของ Jesse Livermore ซึ่งเป็นนักเล่นหุ้นและเก็งกำไรระดับโลกที่มีชีวิตที่มีสีสัน เคยร่ำรวยระดับประเทศและล้มละลายหลายครั้งจนสุดท้ายฆ่าตัวตาย หนังสือบอกให้เห็นถึงการเริ่มต้นเข้าสู่การเล่นหุ้นในฐานะของเด็กยากจนต่ำ ต้อยจนก้าวขึ้นสู่ "ราชันย์" ในวงการหุ้นและหลักทรัพย์ในสมัยที่ตลาดอเมริกายังไม่ได้พัฒนาแบบทุกวันนี้ แต่คล้ายๆ กับประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีกฎระเบียบในการควบคุมธุรกิจมากนัก

เล่มที่ 7 คือ Buffet: The Making of an American Capitalist โดย Roger Lowenstein นี่คือหนังสือที่บอกเล่าประวัติและผลงานของบัฟเฟตต์อย่างละเอียดเป็นเล่ม แรกๆ และอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เป็นหนังสือคลาสสิก แม้เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว บัฟเฟตต์จะอนุญาตและร่วมมือในการเขียนหนังสือประวัติของตนเองชื่อ The Snowball โดย Alice Schroeder เราก็คงต้องดูกันต่อไปว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิกได้หรือไม่ เหตุผลก็คือ ประวัติของบัฟเฟตต์นั้นมีการพูดถึงกันมามากก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ The Snowball อาจจะไม่เด่นมากอย่างที่คาด

เล่มที่ 8 The Money Master และ The New Money Master โดย John Train นี่เป็นหนังสือที่นำเสนอประวัติและกลยุทธ์การลงทุนของเซียนหุ้นแถวหน้าแห่ง ยุคสมัยหลายๆ คนในเล่มเดียวกัน และเช่นเคย เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขียนได้ดีและมีมุมมองที่เฉียบคม จึงกลายเป็นหนังสือคลาสสิก แม้จะมีหนังสือแนวนี้ออกมาในภายหลัง จึงเป็นเพียงผู้ตามและก็คงยากที่จะกลายเป็นหนังสือคลาสสิกได้

สุดท้ายก็คือคำถามที่ว่า เราจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอ่านหนังสือคลาสสิกถ้าจะเป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่น คำตอบของผมก็คือ ไม่จำเป็น เพราะบ่อยครั้ง หนังสือคลาสสิกก็ "อ่านยาก" เพราะบางเล่มเก่ามาก และใช้ภาษาสำนวนที่ค่อนข้างเก่า บางเล่มผู้เขียนก็ไม่ได้ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เพราะเขาอาจเป็นนักวิชาการมากกว่านักเขียน แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าเนื้อหาในหนังสือคลาสสิก มีความสำคัญต่อความเข้าใจของเรามาก เราต้องหาหนังสือที่ Simplify หรือเขียนอธิบายแนวความคิดนั้นอย่างง่ายมาอ่าน ซึ่งโชคดีที่ปัจจุบันมีหนังสือแบบนี้มากมาย ทำให้เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือคลาสสิก เราก็ยังเข้าใจแนวคิดของมันได้ ผมก็ยังคิดว่า ถ้าจะให้ดี เราก็ควรจะอ่านหนังสือคลาสสิกด้วย สักจบหนึ่งก็ยังดี เพื่อที่จะได้ "คุย" ได้ว่า เราเคยอ่านมาแล้ว

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 10 มกราคม 2555

No comments:

Post a Comment