Friday, March 16, 2012

สินค้ามือสอง

ตลาดสินค้า "มือสอง" ในไทย ต้องพูดว่ายังไม่พัฒนามากนักยกเว้นสินค้าบางอย่าง เช่น รถยนต์ เหตุผลที่สำคัญส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะไม่มีบริษัท ที่ตั้งใจ หรือทุ่มเทในการเป็น "ตัวกลาง" ซื้อขายสินค้ามือสองจริงจัง อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจสำคัญยิ่งกว่า คือ คนไทยจำนวนไม่น้อย อาจมีความรู้สึกว่า การใช้สินค้าที่ "ผ่านการใช้งานมาแล้ว" เป็นเรื่องที่ไม่น่าอภิรมย์ เป็นเรื่อง "เสียศักดิ์ศรี" เป็นเรื่องที่ทำให้ถูกมองว่า "จน" หรือบางทีอาจจะรู้สึกว่าสินค้านั้น อาจจะเคยเกิด "สิ่งที่ไม่ดี" มาก่อน ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ราคาของสินค้ามือสองต่ำกว่า "สินค้าใหม่" มาก แม้สินค้ามือสองบางชิ้นจะถูกใช้มาเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี สินค้ายังอยู่ในสภาพที่ดีเกือบๆ เท่าสินค้าใหม่และอายุที่เหลือสำหรับการใช้งานยังยาวนานมาก ว่าที่จริง สินค้าบางชิ้น คือ สินค้าใหม่ เพียงแต่ผ่านการซื้อขายมาแล้ว เจ้าของไม่ใช่บริษัทผู้ขาย ประเด็นอยู่ที่ว่า ในแง่ของ Value Investor เราควรซื้อสินค้ามือสองในสินค้าแต่ละกลุ่มที่มีตลาดมือสองไหม

สินค้ามือสองกลุ่มแรก คือ คอนโดมิเนียม นี่คือ สินค้าที่ผมคิดว่า น่าจะมีราคาถูกคุ้มค่ามาก เมื่อเทียบกับคุณค่า ครั้งหนึ่งเมื่อปีสองปีที่แล้ว ผมเคยสอบถามราคาคอนโดเก่า ที่ประกาศขายย่านถนนพญาไทห่างจากสถานีรถไฟฟ้าและสวนสาธารณะเพียง 200 เมตร แม้ตัวอาคารจะสร้างมาแล้วกว่าสิบปี แต่เจ้าของเพิ่งตกแต่งห้องใหม่ ดังนั้น สภาพห้องชุดจึงดูดีและตัวอาคารน่าจะใช้ต่อไปได้อีกหลายสิบปี แม้อาคารจะไม่มีสระว่ายน้ำ แต่ก็มีห้องออกกำลังกายที่ค่อนข้าง "ว่าง" ที่จอดรถก็มีเหลือเฟือสำหรับเจ้าของทุกยูนิต ดูแล้วนี่คือ "ทำเลทอง" ที่คนจะอาศัยอยู่ในเมือง และมีความสะดวกสบายทุกอย่างยกเว้นไม่มีสระว่ายน้ำ ถ้าจะให้ผมคิดคร่าวๆ ถ้าเป็นคอนโดใหม่ และตบแต่งพร้อมในทำเลแบบเดียวกันพร้อมสระว่ายน้ำ ราคาขายคงไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อตารางเมตรขึ้นไป แต่ราคาที่เจ้าของเรียก คือ 4-5 หมื่นบาทต่อตารางเมตร

ผมเองไม่ได้ซื้อห้องชุด แต่คิดว่าถ้าผมไม่ได้มีเงินมากนัก การใช้เงิน 6 ล้านบาท เพื่อซื้อคอนโดที่ดูแล้วมีทำเล "สุดยอด" น่าจะคุ้มค่ากว่าการใช้เงินไม่ต่ำกว่า 12 ล้านบาท เพื่อที่จะมีสระน้ำ หรือสิ่งอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยในการซื้อคอนโด "มือหนึ่ง" หรือถ้าผมไม่ต้องการ หรือไม่มีปัญญาจ่ายเงิน 12 ล้านบาทอยู่แล้ว แต่ถ้าผมต้องการซื้อคอนโดมือหนึ่งราคา 6 ล้านบาท ผมอาจได้คอนโดที่ห่างออกไปจากทำเลนี้มาก ผมอาจต้องเดินหนึ่งกิโลเมตรทุกวัน เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า ผมอาจจะมีสระว่ายน้ำที่ผมแทบไม่ใคร่ได้ใช้ แต่ต้องจ่ายค่าดูแลที่สูงตลอดไป สำหรับผมแล้ว คงเลือกซื้อคอนโดมือสองตรงนี้มากกว่า มันคุ้มค่า เหนือสิ่งอื่นใด ในไม่ช้า คอนโดมือหนึ่งนั้นก็จะกลายเป็น "คอนโดเก่า" อยู่ดี และนี่ก็คือ การคิดซื้อของแบบ Value Investor

สินค้ากลุ่มที่สองที่ผมคิดว่าการหาของมือสองนั้นอาจจะได้ดีลที่ดีกว่า สินค้ามือหนึ่งมาก ก็คือ บ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮ้าส์ เหตุผลก็เพราะการซื้อขายบ้านมือสอง มีความ "ยุ่งยาก" บางอย่าง โดยเฉพาะการกู้เงินเช่นเดียวกับการซื้อคอนโดเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกับคอนโดเล็กน้อย ก็คือ กรณีของบ้านที่ "ติดดิน" ส่วนใหญ่แล้วเจ้าของบ้าน มักมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็น "บ้านหลังแรก" มากกว่าคอนโดที่คนจำนวนมากมักซื้อไว้เพื่อเป็น "บ้านหลังที่สอง" การตัดสินใจซื้อหรือขายบ้าน จึงดูเหมือนว่าจะมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากกว่า

บางคนถึงขนาดที่นำเรื่องของผี หรือวิญญาณที่อาจจะ "สิง" อยู่ในบ้านเข้ามาประกอบการตัดสินใจก็มี ด้วยเหตุดังกล่าว คนที่คิดจะซื้อบ้านจำนวนมากมักจะไม่สนใจมองหาบ้านเก่า ดังนั้น คนที่ต้องการขาย "บ้านเก่า" จึงขายได้ราคาต่ำมาก เมื่อเทียบกับสภาพบ้านและทำเล ผมเองเคยขายบ้านเก่าไปในราคาที่ต่ำกว่าบ้านใหม่ในระดับเดียวกันไม่ต่ำกว่า หนึ่งเท่าตัว ผมรู้ว่าคนที่ซื้อนั้นน่าจะมีความสุขมาก เพราะเขาคือคนที่เช่าบ้านหลังนั้นอยู่และเขาสามารถไปกู้เงินแบงก์มาซื้อโดย ที่เขาจ่ายค่าผ่อนบ้านรายเดือนพอๆ กับค่าเช่าที่เขาจ่ายให้ผม

สินค้ากลุ่มต่อมาก็คือรถยนต์มือสอง นี่คือ สินค้ามือสองที่มีระบบการขายที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้น ราคาจึงไม่น่าที่จะลดลงมากเมื่อเทียบกับสินค้ามือหนึ่ง ความรู้สึกว่าเป็นรถเก่านั้น ทำลายความ "ภาคภูมิใจ" ของเจ้าของไปมาก เขาอาจจะรู้สึกว่ารถเก่ามักจะมีสภาพไม่ดีและเขาอาจจะต้องเข้าอู่ซ่อมบ่อย เปลืองน้ำมัน และปัญหาอื่นๆ สารพัด จึงอาจจะไม่คุ้มเมื่อเทียบกับรถใหม่ เหนือสิ่งอื่นใด เขาก็มีความสามารถที่จะผ่อนรถใหม่ได้อยู่แล้ว ส่วนตัวผม ในอดีตที่รถยนต์มีราคาสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนชั้นกลาง การซื้อรถยนต์เก่าก็มีเหตุผลที่น่าพิจารณามาก การเกิดขึ้นของรถอีโคคาร์ ซึ่งประหยัดน้ำมัน และมีราคาถูกรวมถึงผลประโยชน์อย่างอื่น เช่น ภาษีทำให้การซื้อรถเก่าอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอย่างชัดเจนอีกต่อไปได้

สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงเรื่องของสินค้ามือสอง คือ หุ้น ซึ่งบางคนอาจจะงงว่าหุ้น มีตลาดมือสองด้วยหรือ แต่ความเป็นจริง คือ หุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมดนั้นต่างก็เป็น "หุ้นมือสอง" ทั้งนั้น ส่วน "หุ้นมือแรก" ก็คือ หุ้นที่ออกขายใหม่ที่ออกโดยบริษัทที่เรียกว่า IPO หรือหุ้นจองที่ขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก คำถาม คือ เราควรจะซื้อหุ้นมือสองหรือหุ้นมือแรก คำตอบของผมคือ เราควรซื้อหุ้นมือสองที่เจ้าของหุ้นนำมาซื้อขายกันในตลาดหุ้น และอย่าไปซื้อหุ้น IPO นอกจากในบางช่วงบางเวลาและเป็นการซื้อหุ้นเพื่อเป็นการเก็งกำไรเป็นหลัก

เหตุผลก็คือ หุ้น IPO ถูกตั้งราคาโดยเจ้าของกิจการ ที่นำหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เจ้าของกิจการมีแรงจูงใจที่สำคัญ คือ อยากขายหุ้นในราคาที่แพงเพื่อที่ว่าเขาจะ "ได้กำไร" มากๆ จริงอยู่ คนที่กำหนดราคาและค้ำประกันในการที่จะนำมาขายให้ประชาชนทั่วไปนั้น ก็คือ บริษัทหลักทรัพย์และที่ปรึกษาการเงิน แต่ข้อมูล ผลประกอบการ และฐานะทางการเงินต่าง ๆ ก็มาจากเจ้าของกิจการที่สามารถ "ปรับบัญชี" ให้บริษัทดูดีกว่าความเป็นจริงได้อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทสูงขึ้น อย่างน้อยในช่วงเวลาที่จะขายหุ้น ดังนั้น การซื้อ "หุ้นใหม่" เราจึงมักจะต้องจ่ายแพงคล้ายๆ กับคอนโดหรือบ้านใหม่ ขณะที่ "หุ้นเก่า" หรือหุ้นมือสองที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นนั้นมักจะมีราคาที่ถูกกว่า และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมมักไม่ซื้อหุ้นใหม่หรือหุ้น IPO เพื่อการลงทุนเลย นอกจากในบางช่วงเวลาที่ตลาดหุ้น "ร้อนแรง" และหุ้น IPO ถูกนำมาซื้อขายเก็งกำไร ซึ่งในกรณีอย่างนั้น ถ้าผมจองซื้อหุ้น ผมก็จะรีบขายออกไปอย่างรวดเร็วเมื่อหุ้นเข้าตลาด เพราะผมเห็นว่า หุ้นใหม่นั้น ราคาแพงเกินจริงเสมอ ในขณะที่หุ้นมือสองหรือหุ้นเก่าที่ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั้น มีทั้งหุ้นที่แพงและถูก

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 13 มีนาคม 2555

ตามรอยบัฟเฟตต์

การซื้อหุ้นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มักตกเป็นข่าวใหญ่เสมอ เหตุผลคงเป็นเพราะนักลงทุนสนใจ และเชื่อว่าหุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อต้องเป็นหุ้นที่มีคุณค่ามาก และราคาถูกคุ้มค่า พวกเขาจึงอาจจะมีโอกาส "ซื้อหุ้นตามเซียน" และทำกำไรได้ง่ายๆ ผมก็สนใจติดตามข่าวการลงทุนของบัฟเฟตต์อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อที่จะซื้อหุ้นตาม แต่อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงซื้อหุ้นตัวนั้น ความหมาย คือ เพื่อที่ว่าผมจะได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับการลงทุนของผมเอง ผมคิดว่า การเรียนรู้จากคนระดับบัฟเฟตต์ แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนระดับในแง่ของการลงทุน จะช่วยให้ผมไม่ต้องลองผิดลองถูกได้ในระดับหนึ่ง และต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผมคิดว่า เป็น แนวทางของบัฟเฟตต์ในช่วงหลังๆ นี้

ข้อแรก การลงทุนของบัฟเฟตต์ ยัง เกาะติดอยู่กับธุรกิจหลักๆ ที่เขาทำมายาวนาน นั่นคือ เขา ชอบลงทุนกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าๆ เป็นกิจการที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่สามารถทำลายมันได้ง่ายๆ เช่น อาหารการกิน ซึ่งถึงยังไงคนต้องกิน และต้องการกินอาหารที่อร่อยมียี่ห้อระดับโลก ตัวอย่างหุ้น เช่น บริษัทคราฟท์ฟู้ด กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม และเครื่องประทินผิว ที่ไม่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อะไร ยกเว้นการโฆษณา และการตลาดต่อเนื่อง ตัวอย่างของหุ้น เช่น หุ้นพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล และหุ้นจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และกลุ่มสุดท้าย คือ หุ้นบริษัทค้าปลีกที่บัฟเฟตต์เพิ่งจะลงทุนไม่นานนัก ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นหุ้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เขาสนใจลงทุน แต่เขาอาจจะเคยเกี่ยงว่า เป็นหุ้นที่ "ไม่เคยถูก" เช่น หุ้นของวอลมาร์ท เป็นต้น

ข้อสอง หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ ลงทุนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งตั้งแต่อดีตและยังลงทุนอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส คือ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหุ้นบริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ นี่คือ หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมาตลอด ขณะที่ VI เมืองไทย รวมถึงตัวผมไม่สนใจลงทุนเลย ทั้งๆ ที่บางครั้งดูเหมือนว่าเป็นหุ้นที่ "ไม่แพง" และหลายๆ ครั้งอาจจะเป็นหุ้น "VI" ได้ ตัวอย่างหุ้นการเงินที่บัฟเฟตต์ลงทุนเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น หุ้นของแบงก์อเมริกา และบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำอีกหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาทางการเงินอัน เพราะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำมาก หุ้นหรือตราสารการเงินเหล่านี้ บัฟเฟตต์มักลงทุนในเวลาสั้นๆ อาจเพียง 2-3 ปีก็จะถอนออก ยกเว้นหุ้นสถาบันการเงินที่เน้นรายย่อย หรือเน้นลูกค้ามากรายที่กระจายความเสี่ยงได้ดี เช่น หุ้นประกันภัย หุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรส และหุ้นแบงก์ที่บริหารได้ดีอย่างเวลฟาร์โก้ ที่เขาจะถือหุ้นยาวนาน

ข้อสาม หุ้นไฮเทค บัฟเฟตต์ยังคง หลีกเลี่ยงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ที่เขามองว่า เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เขายังไม่ซื้อหุ้นทั้งแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล ไมโครซอฟท์ หรือเฟซบุ๊ค เขาได้เข้าซื้อหุ้นของ ไอบีเอ็ม จำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้ เหตุผล คือ ไอบีเอ็มตอนหลังได้ปรับตัวเป็น "ผู้ให้บริการ" เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูลแก่บริษัทต่างๆ เช่น ไอบีเอ็มเข้าไปทำหน้าที่คล้ายๆ "แผนกคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูล" ของธนาคารต่างๆ ทำให้ไอบีเอ็มมีรายได้ที่แน่นอน ขณะที่แบงก์ก็ประหยัดรายจ่ายที่ไม่ต้องทำระบบต่างๆ เช่น ระบบสำรองและการดูแลให้คอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ ดูเหมือนจะลงทุนหุ้น "ไฮเทค" ประเภทที่เป็นผู้ผลิตที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นที่คู่แข่งตามได้ยาก เช่น หุ้นอินเทล หุ้นบริษัทผลิตเครื่องมือของอิสราเอล หุ้นบริษัทผลิตยาซาโนฟี เหล่านี้เป็นต้น หุ้นไฮเทคเหล่านี้ บัฟเฟตต์ซื้อในปริมาณไม่มากนัก

ข้อสี่ หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ ลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเร็วๆ นี้ คือ หุ้นที่เกี่ยวกับ พลังงานและการขนส่ง นี่เป็นกลุ่มที่ในอดีตบัฟเฟตต์ แทบไม่สนใจ เพราะภาพที่ออกมาดูเหมือนว่า จะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่บัฟเฟตต์ไม่ชอบ หุ้นกลุ่มนี้ที่บัฟเฟตต์ลงทุนไปมากที่สุดตัวหนึ่ง คือ หุ้นบริษัทรถไฟในอเมริกา ซึ่งบัฟเฟตต์มองว่าจะเริ่มได้เปรียบเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก บัฟเฟตต์เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันหลายบริษัท รวมถึงปิโตรไชน่าของจีน กรณีที่เป็นโภคภัณฑ์ล้วนๆ เช่น น้ำมัน ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์อาจเข้ามาซื้อขายแบบเก็งกำไรมากกว่าจะเป็นการถือยาว

ข้อห้า หุ้น "ตะวันตกดิน" หรือหุ้นที่ดูเหมือนไม่โตเท่าไร แต่บริษัทเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและมีเงินสดเหลือเฟือ ถ้าดูกันจริงๆ เป็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนอยู่เหมือนกันในอดีต นี่อาจจะเรียกว่า หุ้นแนวก้นบุหรี่หรือแนวของเกรแฮม บัฟเฟตต์ห่างเหินจากหุ้นแนวนี้มานาน ตั้งแต่หุ้นเบอร์กไชร์และหุ้นประเภทขายรองเท้า หรือทำเฟอร์นิเจอร์ แต่น่าแปลก คือ บัฟเฟตต์ เพิ่งไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ ที่ดูเหมือนว่ากิจการกำลังตกลงมาอย่างช้าๆ แต่แน่นอน เพราะการเข้ามาของสื่อทางอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย เขาคงมองว่า ยังไงซะ Content หรือเนื้อหาที่เป็นข่าวสารยังมีค่า และถึงวันหนึ่ง ผู้ผลิตข่าวสารไม่ยอมให้คนอื่นเอาข่าวไปใช้แบบฟรีๆ ในอินเทอร์เน็ต

ข้อหก สิ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน คือ บัฟเฟตต์ในอดีตไม่สนใจลงทุนหุ้นในต่างประเทศ เพราะอาจจะคิดว่า เขาสามารถเข้าถึงตลาด และลูกค้าต่างประเทศได้ผ่านการส่งออกของบริษัทที่เขาลงทุนในอเมริกา บัฟเฟตต์ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากจีนที่เขาได้เดินทางไปเยี่ยมเป็นประเทศแรกๆ ยุโรป ต่อมาเข้าใจว่ามีเกาหลี ไม่ต้องพูดถึงอิสราเอลที่เขาดูว่า มีบริษัทที่สุดยอดระดับโลกด้านไฮเทคอยู่ เขาคงมองเห็นแล้วว่า โลกกำลังเปลี่ยนไป อเมริกาอาจยังโดดเด่นอยู่ แต่ประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียโตเร็วมาก

ข้อสุดท้าย ที่ผมจะพูดถึง คือ บัฟเฟตต์คงรักษาคุณสมบัติของการเป็นนักลงทุนที่ผมอยากเรียกว่า "กล้าและเย็นที่สุดในโลก" นั่นคือ เขาพร้อมเข้าซื้อหุ้น หรือลงทุนกิจการที่ยอดเยี่ยมในภาวะวิกฤติที่สุดที่ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนัก เขาเพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นที่ "ดีที่สุด" 8-9 บริษัทในยุโรปในยามที่ยุโรปกำลังอยู่ในภาวะที่จะ "ตายหรือจะรอด" นี่เหมือนกับช่วงที่เขาเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากรวมถึงหุ้นสถาบันการเงินใน อเมริกาช่วงซับไพร์ม ที่ทำให้เขาได้กำไรมหาศาล

ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์ แม้จะมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ก็ยังมี "วิวัฒนาการ" เขาอาจเป็นคน "โลว์เทค" ที่ไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในหลายๆ เรื่อง แต่ความคิด หรือจิตใจของเขา ผมเชื่อว่ายังทันสมัยอยู่เสมอ เขาไม่ลงทุนในหุ้น "ไฮเทค" ไม่ใช่เพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยี เขาอาจจะใช้ไม่เป็น แต่เขารู้ว่าธุรกิจ "หากินยังไง" ผมเองเชื่อว่า ถ้าบริษัท "ไฮเทค" ตัวไหนที่รักษากำไรได้ในระยะยาว ด้วยความเสี่ยงต่ำที่จะมีสิ่งอื่นมาทดแทน และด้วยราคาหุ้นที่ยุติธรรม บัฟเฟตต์คงจะสนใจ เพียงแต่ว่า ในโลกของข้อมูลข่าวสารและอินเทอร์เน็ต หุ้นแบบนั้นอาจยังไม่มีในสายตาของบัฟเฟตต์

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 มีนาคม 2555

ลงทุนอย่างสบายใจ

การลงทุนในหุ้น หลายๆ คนมักจะรู้สึกเครียด และมีกังวลอยู่ตลอดเวลา เขากลัวว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือในโลกนี้ ซึ่งจะทำให้หุ้นตกทั้ง ตลาดและทำให้หุ้นเขาตกลงไปด้วย เขากังวลว่า หุ้นตัวที่เขาถืออยู่อาจจะมีปัญหาหรือมีเหตุการณ์ไม่ดี ซึ่งทำให้หุ้นตกลงมาอย่างหนัก และทำให้เขาขาดทุนมากมายอย่าง "ไม่คาดฝัน" การลงทุนในหุ้นดูเหมือนว่าจะมี "ต้นทุน" ที่ไม่ใช่ตัวเงินแฝงอยู่ นั่นก็คือ ความกังวลและความไม่สบายใจ และนั่นอาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราซื้อๆ ขายๆ หุ้นบ่อย เพื่อ "ลดความไม่สบายใจ" ในสถานการณ์ที่ "ไม่แน่นอน" แต่นี่มักจะทำให้ผลตอบแทนการลงทุนของเราลดลงในระยะยาว คำถาม คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้เราลงทุนอย่างสบายใจได้


สูตรการลงทุนอย่างสบายใจของผม คือ ข้อแรก จงตั้งความหวังผลตอบแทนระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นให้เหมาะสม คือ ผลตอบแทนทบต้นต่อปีเฉลี่ย 10% ถ้าเราคิดว่า เรามีความสามารถสูงมาก อาจตั้งความหวังได้สูงขึ้น แต่สูงสุดไม่ควรเกิน 15% ต่อปี คำว่าระยะยาวของผม ต้องยาวไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป การตั้งความหวังที่เหมาะสม จะทำให้มีโอกาสบรรลุผลได้ไม่ยากเกินไป ซึ่งทำให้เราไม่ต้อง "เร่ง" ผลตอบแทนโดยวิธีการต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไม่ต้องเล่น "หุ้นร้อน" หรือไม่ต้องใช้มาร์จินในการซื้อขายหุ้น ซึ่งทำให้เราลงทุนหุ้นได้แบบ "ชิวๆ"


ข้อสอง เลือกซื้อหุ้นที่เน้นความปลอดภัยของตัวกิจการเป็นหลัก นี่คือ หุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าในด้านของธุรกิจ เป็นกิจการที่ไม่ล้ำสมัยแต่ไม่ล้าสมัย เป็นกิจการที่เป็น "ผู้นำ" มีฐานะทางการเงินดี และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีก คือ เป็นกิจการที่เรามีโอกาสได้พบเห็น หรือได้ใช้บริการเป็นประจำ


ข้อสาม ต้องมีการกระจายความเสี่ยงในการถือหุ้นอย่างเหมาะสม นั่นก็คือ ถ้ามีเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็ควรต้องมีหุ้นอย่างน้อย 5 ตัวโดยที่ตัวใหญ่สุดไม่ควรจะเกิน 30% ของพอร์ต และควรถือหุ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม แต่ถ้ามีเงินลงทุนค่อนข้างมาก เช่น 10 ล้านบาทขึ้นไป หุ้นที่ลงก็อาจจะมากขึ้นได้ แต่ต้องไม่มากจนเกินไป มิฉะนั้น เราอาจจะมีหุ้นที่เป็น "เบี้ยหัวแตก" ที่ทำให้เราขาดการเอาใจใส่ และทำให้ผลตอบแทนการลงทุนด้อยลงไปได้ โดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า ถ้ามีเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่ควรถือหุ้นเกิน 10-15 ตัว


ข้อสี่ เราควรพยายามตั้งเป็นกฎคร่าวๆ ว่า ในแต่ละปีเราจะซื้อขายหุ้นไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ตการลงทุน กฎง่ายๆ ของผม คือ ปริมาณการซื้อขายหุ้นในแต่ละปี ไม่ควรเกิน 2 เท่าของขนาดของพอร์ตของเรา เช่น ถ้าพอร์ตเราเท่ากับ 1 ล้านบาทในตอนต้นปี เราควรซื้อขายหุ้นในปีนั้นไม่เกิน 2 ล้านบาท นั่นแปลว่า เราจะถือหุ้นแต่ละตัวเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี โดยเฉลี่ย ถ้าเราซื้อขายหุ้นมากกว่า แสดงว่า เราอาจจะถือหุ้นสั้นเกินไปและอาจหมายความว่าเราเป็น "นักเก็งกำไร" แทนที่จะเป็น "นักลงทุน" และประเด็นของผม ก็คือ การเป็นนักเก็งกำไร ก่อให้เกิดความตึงเครียดสูงกว่านักลงทุนมาก


ข้อห้า อย่าสนใจการขึ้นหรือลงของหุ้นแต่ละตัวมากนัก พยายามมองภาพรวมของพอร์ตหุ้นว่าเติบโตขึ้นหรือลดลง การไปเน้นดูหุ้นแต่ละตัวก่อให้เกิดความเครียด เพราะเราจะพบหุ้นที่มีราคาตกลงไปมาก และอาจพยายามไปทำอะไรกับมัน ซึ่งอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดี ที่สำคัญ คือ อย่าไปดูราคาหุ้นทุกตัวทุกวัน วิธีที่ผมแนะนำ คือ ทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน เราคำนวณดูว่าพอร์ตการลงทุนของเราเป็นเท่าไร โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีอยู่มากมาย การดูเป็นพอร์ต เราจะเห็นว่า ความผันผวนน้อยลงเมื่อเทียบกับหุ้นแต่ละตัว และทำให้เราเครียดน้อยลง ถ้าเราลงทุนเลือกหุ้นได้ถูกต้องโดยเฉลี่ย เราก็ควรจะเห็นพอร์ตของเราโตขึ้นอย่างช้าๆ และมั่นคงเมื่อเวลาผ่านไป


ข้อหก การที่เราจะทำอะไรกับหุ้นแต่ละตัว ไม่ควรจะเน้นไปที่ด้านของราคาหุ้นรายวัน สิ่งที่เราควรทำ คือ ทุกไตรมาส ต้องติดตามดูผลประกอบการของบริษัทว่าเป็นอย่างไร เป็นไปอย่างที่เราคาดไว้ไหม เช่น ดีขึ้น ดีขึ้นมาก แย่ลง แย่ลงมาก เพราะอะไร จากนั้นก็สามารถนำมาตัดสินได้ว่า เราจะทำอะไรกับหุ้น ปกติถ้าเราลงทุนหุ้นถูกตัวแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ต้องทำอะไร แต่บางกรณีที่เราคาดการณ์ผิด เราอาจจะขายทิ้งได้ เช่นเดียวกัน บางครั้งเราอาจจะซื้อเพิ่ม โดยวิธีนี้ เราไม่ต้องกังวลเป็นรายวันกับราคาของหุ้นมากนัก


ข้อเจ็ด เมื่อได้รับปันผลมา อย่านำเงินไปใช้หรือเอาออกจากพอร์ตถ้าไม่จำเป็น นำปันผลกลับไปซื้อหุ้นกลับเข้าพอร์ต เพื่อทำพอร์ตให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นหลักการลงทุนแบบทบต้น ซึ่งจะทำให้พอร์ตโตเร็วขึ้นแบบทวีคูณ เป้าหมายของเรา ควรจะตั้งไว้ว่าเราต้องการสร้างพอร์ตนี้ เพื่อเป็นเงินการเกษียณ หรือเป็นเงินมรดกลูกหลาน เงินที่เราจะนำไปใช้จ่าย ควรเป็นเงินที่เราทำมาหาได้จากน้ำพักน้ำแรงมากกว่า ถ้าคิดได้แบบนี้ ก็จะสบายใจว่า นี่เป็น "เงินเย็น" ที่จะอยู่กับเราต่อไปอีกนานเราจะเครียดน้อยลง


ข้อแปด ทุกปี เรา ต้องคำนวณหาผลตอบแทนประจำปี ดูว่า เราทำได้เท่าไร เทียบกับผลตอบแทนของตลาดและเทียบกับเป้าระยะยาวของเรา ซึ่งคือ 10-15% ที่เราตั้งไว้ ถ้าเราทำได้ดีกว่าตลาดและดีกว่าเป้า เราควรจะดีใจ โดยไม่ต้องเทียบกับคนอื่น ถ้าเราทำได้แพ้ตลาด แต่ยังทำได้ตามเป้า ก็ควรจะดีใจ เพราะในไม่ช้าเป้าหมายระยะยาวของเราก็ไปได้ถึง แต่ถ้าเราแพ้ทั้งตลาด และก็ไม่ได้ตามเป้า เราอาจจะเสียใจบ้าง แต่ควรดูต่อไปว่า ปันผลที่ได้รับในปีนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่


ถ้ายังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นั่นก็อาจจะเป็นเครื่องปลอบเราว่า ที่จริงการลงทุนของเรา ไม่ได้ผิดพลาด ยังก้าวหน้าไป เพียงแต่ในระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นอาจไม่เป็นใจทำให้ราคาลดลง แต่ในอนาคต คงปรับตัวขึ้นได้ไม่ยาก ว่าที่จริง ในระยะยาวจริงๆ แล้ว ปันผล ถือว่าเป็นเครื่องวัดที่สำคัญที่สุดตัวหนึ่งว่า เราลงทุนได้ถูกต้องหรือเปล่า ถ้าปันผลเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ ก็ไม่มีอะไรต้องวิตกเลย


ทั้งหมด ก็เป็นกลวิธีการลงทุน ที่จะทำให้เรามีความสบายใจ ใช้เวลาไม่มาก ไม่เครียด และได้ผลดี โดยเฉพาะคนที่มีงานประจำเต็มเวลา การลงทุนแบบนี้เปรียบไปก็จะคล้ายๆ กับการปลูกต้นไม้ใหญ่ยืนต้น ที่เราเฝ้าดูแลมันเติบโตขึ้นช้าๆ แต่มั่นคง โดยที่ไม่ต้องเร่งมัน แต่เมื่อถึงวันหนึ่ง เราจะได้อาศัยร่มเงา และผลของมันมากินได้ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นที่พึ่งของเราได้

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2555

วัฒนธรรมเภท

จอร์จ โซรอส เคย "โจมตี" ค่าเงินบาท และมีส่วนทำให้ประเทศไทยตกเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 นอกจากเมืองไทยแล้ว โซรอส ยังมีประวัติในการ "โจมตี" ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งโดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่ค่อยพัฒนา เป็นประเทศที่อ่อนแอและน่าจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่แข็งแรง มากกว่า

ดังนั้น ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย โซรอส คือ "ซาตาน" แต่อีกด้านหนึ่ง โซรอสกลับทำตัวเป็น "นักบุญ" เขาบริจาคเงินจำนวนมาก ช่วยเหลือประเทศและคนที่ด้อยกว่าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเคยบริจาคเงินให้กับคนในประเทศที่มีสังคม "ปิด" ในยุโรปตะวันออกเพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นต่อสู้เพื่อให้ประเทศของตนเป็นสังคม "เปิด" ซึ่งจะทำให้ประเทศก้าวหน้าและมีชีวิตที่ดีขึ้น บุคลิกที่ขัดแย้งกันในตัวของโซรอส ผมคิดว่า เราน่าจะอธิบายได้บ้างจากแนวความคิดที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นเรื่องของ "วัฒนธรรมเภท"

วัฒนธรรมเภท นั้น ความหมายคร่าวๆ คือ เป็น อาการของคนที่มีบุคลิกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินไปโดยปกติวิสัยตามสามัญสำนึกของตนเอง แต่ อีกด้านหนึ่ง เป็นคุณค่าหรือเป็นแก่นสารที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของตนที่อยากจะเป็น เขาคิดว่า ทั้งสองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ตัวอย่างที่เห็นกันมากมาย คือ เรื่องวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันที่คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก "โหยหา" และพยายามแสดงออกถึงความเป็น "ไทย" แต่ในชีวิตปกติประจำวัน พวกเขาอยู่ในโลกของ "โลกาภิวัตน์" ความเป็นไทยสำหรับพวกเขานั้น ดูเหมือนจะเป็น "สัญลักษณ์" ที่ถูก "แช่แข็ง" ไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่ "ในใจ" เช่น ถ้าเป็นหญิงต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเป็นแม่บ้านแม่เรือน การแต่งกายต้องเป็นชุดไทยภาคกลางยุครัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ลองมาดูตัวอย่างของวัฒนธรรมเภทของดารา ที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เช่น ดาราหญิงดังและบางคนก็ออกแนว "เซ็กซี่" ด้วย ในภาพที่เห็นทุกวัน เธอมักมีข่าวคราวที่เป็นเรื่องของความ "ฟู่ฟ่า" เฉกเช่นเดียวกับดาราระดับ "อินเตอร์" ทั้งหลาย เช่น การใช้สินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ ใช้บริการและซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมาก บางครั้งก็มีข่าว "คาวๆ"

ในอีกด้านหนึ่งก็บอกว่า ตนเองชอบศึกษาธรรมะและเข้าวัดบ่อย บางคนก็ "นุ่งขาวห่มขาว" ทำสมาธิอยู่ที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว บางคนก็บอกว่าตัวเองรักและชอบวัฒนธรรมและศิลปะที่เป็น "ไทย" มาก (เวลาอยู่ที่บ้านหรือไม่ได้ทำงาน)

คนร่ำรวยและมีชื่อเสียง บางคนอาจจะเป็นผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ก็มีวัฒนธรรมเภทเช่นเดียวกัน ในชีวิตประจำวันเขาอาจจะใช้ชีวิตที่ "หวือหวาวุ่นวายและมีระดับ" เขาอาจจะขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่และขับเร็วอย่างร้ายกาจ เขาอาจจะใช้ชีวิตที่วุ่นวายกับงานธุรกิจมากมายในฐานะนักบริหารที่ทันสมัยและ เป็น "อินเตอร์" มากๆ แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิต เขาอาจชอบสิ่งที่เป็นไทยๆ เป็นของยุคเก่า บ้างก็จะแต่งตัวเป็นไทย หรือเป็นแบบของสังคมเก่าของต่างประเทศ หรืออาจจะออกแนวนักพรต เขาอาจจะพูดถึงการใช้ชีวิตที่ "พอเพียง" และไม่ติดยึดวัตถุสิ่งของ เขาไม่อยากให้คนมองว่าเขาเป็นคนโลภที่เห็นแก่เงิน เขาอยากให้คนเห็นว่า เขาเป็นคนที่สมถะและมองคุณค่าด้านจิตวิญญาณมากกว่าสิ่งอื่นใด

ในแวดวงนักลงทุนเอง แน่นอน ต้องมีเรื่องของวัฒนธรรมเภทเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุน ถ้าพูดกันไปแล้ว เป็นอาชีพที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ความโลภ" เป็นอันดับต้นๆ เพราะภาพโดยทั่วไป ก็คือ เป็นธุรกิจหรือกิจกรรมที่ได้เงินมาง่าย เร็ว และมากจนบางครั้ง "ไม่น่าเชื่อ" คนที่เข้ามาในยุทธจักรของการลงทุน ต้องพร้อมที่จะ "กิน" คนอื่นเสมอ ไม่มีภาพของการ "ทำงานหนัก" อย่างคนกินเงินเดือน หรือนักธุรกิจที่ต้องทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้กับสิ่งที่ทำ และได้ผลตอบแทนมาอย่างเหมาะสม ชีวิตของนักลงทุนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไร ก็เป็นอย่างนั้น พวกเขาอยู่กับความโลภ ชีวิตประจำวันก็เกี่ยวข้องอยู่กับกิเลส ความอยากได้และความร่ำรวย

นักลงทุนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงบางคนก็เช่นเดียวกับคนที่ประสบความ สำเร็จในวงการอื่น เขาไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนโลภ อยู่ในโลกที่ฟุ้งเฟ้อ เขาอยากจะมีอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่มีความโลภอยากได้ใคร่ดี โลกของคนที่อยู่ในศีลธรรมมีธรรมะประจำใจ มีชีวิตที่พอเพียง เขาอาจจะพูดถึงเรื่องการทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ แต่ในชีวิตจริงนั้น เขายังเล่นหุ้นที่ร้อนแรง และซื้อขายที่รวดเร็ว เขาอาจจะพูดถึงความสมถะไม่โลภ แต่ในชีวิตจริง เขายังเล่นหุ้นแบบ "ทุ่มตัวเดียว" และใช้มาร์จินเต็มวงเงิน เขาอาจจะใช้เงินทองซื้อหาสิ่งของเท่าๆ กับคนรวยที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่อาจมีบางด้านที่ทำตัว "แบกะดิน"

ในความรู้สึกของผม วัฒนธรรมเภทนั้น คงเกิดขึ้นจากความต้องการของคนที่จะมีเอกลักษณ์ และต้องการตัวตนที่แตกต่างจากคนอื่น ความต้องการที่จะได้รับการยกย่องหรือเป็นที่ "น่าทึ่ง" สำหรับคนทั่วไป ดังนั้น เราพยายามสร้างสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแต่เป็นสิ่งที่อาจจะอยู่ใน "จินตนาการ" และเป็นสิ่งที่คนยอมรับมากกว่าชีวิตที่เป็นจริงของเรา

ในฐานะของ Value Investor การรู้เรื่องของวัฒนธรรมเภทนั้น น่าจะ มีประโยชน์ อย่างน้อยในแง่ที่ว่ามันช่วยให้เราได้รู้จักโลก หรือคนมากขึ้นว่า คนเรา บางทีก็มีสองบุคลิก สิ่งที่เราได้เห็นได้ยินได้ฟังจากปากของคน อาจจะไม่ใช่ของจริง เขาอาจจะบอกในสิ่งที่ทำให้เขาดูดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำจริง กลยุทธ์และเทคนิคที่เขาใช้ลงทุน ที่ออกมาจากปากของเขาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาปฏิบัติจริงๆ

เช่นเดียวกัน ชีวิตและความคิดของเขา อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น แต่คำถามที่ตามมา ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่ง มีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร เราควรจะเชื่ออะไร

คำตอบของผม ก็คือ ถ้าจะดูบุคลิกที่เป็นจริงของใคร การดูในช่วงวัยเด็ก หรือดูพื้นฐานทางสังคมที่เขาผ่านมาในวัยเด็ก น่าจะเป็นตัวบอกที่ดีที่สุด จริงอยู่ คนเราเปลี่ยนแปลงได้ แต่นั่นเป็นข้อยกเว้น เราจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนจริงๆ แต่ ถ้าเราไม่รู้จักเขาในวัยเด็ก และไม่รู้จักพื้นเพของเขาเลย การที่จะรู้จักเขาได้ถูกต้องจริงๆ น่าจะดูจากการกระทำมากกว่าที่มาจากคำพูด ถ้าสองสิ่งนั้นไม่ตรงกัน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2555

วิเคราะห์หุ้นจากตัวเลข

การวิเคราะห์หุ้น เราต้องวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณก่อน นั่นคือ เขาจะดูตัวเลขผลประกอบการและฐานะการเงินของบริษัทว่าเป็นอย่างไร ถ้าดูไม่ดีโดยเฉพาะปีล่าสุด เขาอาจเลิกสนใจไปเลย ถ้าดูดี หรือดีมาก เขาจะศึกษาต่อทางด้านคุณภาพ นั่นก็คือ ดูว่าบริษัทขายอะไร สินค้าโดดเด่นไหม แนวโน้มราคาสินค้า หรือบริการเป็นอย่างไร บริษัทอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่สำหรับผม ผมมักจะเริ่มต้นวิเคราะห์เชิงคุณภาพก่อน เริ่มจากการมองด้านการตลาดและต่อเนื่องไปด้านต่างๆ โดยเฉพาะความได้เปรียบเชิงแข่งขันของกิจการเทียบกับคู่แข่ง เมื่อสนใจแล้ว ผมจึงเริ่มวิเคราะห์ด้านปริมาณ และตัวเลขทางการเงินที่ผมจะดูก่อนเลย ก็คือ ตัวเลขสรุปข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ 4-5 ปี ย้อนหลัง ที่มีอยู่ในเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ set.or.th ของบริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท และต่อไปนี้ คือ การแนวการวิเคราะห์ของผม


ตัวเลขตัวแรกที่ผมสนใจมาก ก็คือ กำไรสุทธิ สิ่งที่ผมมอง ก็คือ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา กำไรของบริษัทเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ากำไรของบริษัทนั้น "ลุ่มๆ ดอนๆ" นั่นคือ บางปีก็กำไร บางปีก็ขาดทุน แบบนี้อาจบอกได้ว่า กำไรของบริษัท "คาดการณ์ได้ยาก" ดังนั้น อนาคตกำไรของบริษัทคงไม่แน่นอน อาจจะกำไร หรือขาดทุนได้ ลักษณะแบบนี้ผมจะรู้ว่า การหามูลค่าที่แท้จริงทำได้ยากมาก บ่อยครั้งผมมักจะปล่อย "ผ่าน" ไป ถ้ากำไรบริษัทมีความผันผวนพอสมควรทีเดียว แต่ก็ยังกำไรอยู่ทุกปี แบบนี้ผมจะดูว่าปีที่แย่ที่สุดเป็นอย่างไร ถ้าพบว่าปีที่แย่ก็ยังได้กำไรคิดแล้วเท่ากับ 10% ของ Market Cap. หรือของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในปัจจุบัน แบบนี้ ผมคิดว่าหุ้นของบริษัทอาจยังน่าสนใจ เพราะถ้าในอนาคตกำไรไม่ต่ำกว่านั้น การลงทุนซื้อหุ้นของผมในวันนี้ยังทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี ซึ่งไม่เลวนัก

ถ้ากำไร 4-5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีความ "สม่ำเสมอ" คือ ขึ้นลงในระดับ 10-20% แบบนี้ ผมจะสรุปว่ากำไรของบริษัทในอนาคต น่าจะพอ "คาดการณ์ได้" ผมก็จะศึกษาต่อไปว่ามูลค่าพื้นฐานของหุ้น น่าจะเป็นเท่าไร โดยอาจเทียบกับกำไรล่าสุดที่ผมเห็น ถ้ากำไรสม่ำเสมอนั้น เป็นกำไรที่ไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปีแรกสุดจนถึงปีสุดท้าย ที่แสดงในตาราง ผมมักจะสรุปว่าเป็นหุ้นของกิจการที่อาจจะ "โตช้าหรือไม่โต" แบบนี้มูลค่าพื้นฐานที่ผมจะให้ก็จะต่ำ เช่น อาจให้มูลค่าพื้นฐานไม่เกิน 10 เท่าของกำไรของปีล่าสุดที่ผมเห็น แต่ ถ้ากำไร 5 ปีย้อนหลังที่ผมเห็น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีในอัตราที่น่าประทับใจ เช่น เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20% แบบนี้ผมอาจจะบอกตัวเองว่า อาจจะเป็นบริษัทที่ กำลังโตเร็ว ถ้าเป็นแบบนี้ ผมจะให้มูลค่ากับหุ้นสูงกว่าหุ้นที่ไม่โตมาก อาจจะให้มูลค่าเท่ากับ 15-20 เท่าของกำไรของปีล่าสุดก็ได้

ตัวเลขตัวสำคัญต่อมาที่ผมจะดู ก็คือ ค่า ROE หรือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้าตัวเลขนี้ในทั้ง 4-5 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10% ต่อปี ผมจะบอกตัวเองว่า บริษัทนี้กำไรไม่ดี เป็นบริษัทที่มีคุณค่าค่อนข้างน้อยในเชิงธุรกิจ บริษัทไม่ควรลงทุนขยายงานเพิ่ม เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ถ้ามีเงินสดเหลือ ควรจ่ายเป็นปันผลให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า แต่ถ้าค่า ROE ของบริษัทสูงเกิน 15% ทุกปี หรืออาจจะสูงเกิน 20% ทุกปี แบบนี้แสดงว่า เป็นธุรกิจที่ดีมาก เพราะทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นสูงกว่าการลงทุนอื่นของผู้ถือหุ้นเอง และสูงกว่าต้นทุนการเงินของบริษัท ผมจะต้องดูเพิ่มว่า ROE ที่สูงนี้ ไม่ได้เป็นเพราะบริษัทมีหนี้เงินกู้จากธนาคารสูงเกินไปด้วย

ตัวเลขสำคัญตัวที่สาม ก็คือ อัตรากำไรสุทธิคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ตัวเลขนี้ในแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นผู้ค้าปลีก ตัวเลขอาจจะอยู่ที่เพียง 3-5% แต่ธุรกิจเช่น โรงแรม อาจจะสูงถึง 20% เหตุผลสำคัญ คือ ผู้ค้าปลีกมักมียอดขายสูง ดังนั้น กำไรเพียง 3% ก็ได้กำไรมากแล้ว ขณะที่โรงแรม ยอดขายมักจะต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้สร้างโรงแรม Profit Margin ก็ต้องสูงจึงจะคุ้ม ประเด็นสำคัญของตัวเลขนี้ ก็คือ ถ้าอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว บริษัทที่มี Margin สูงกว่าก็มักจะแสดงว่าเป็นบริษัทที่มีคุณสมบัติหรือคุณภาพที่สูงกว่า พูดง่ายๆ มี Value สูงกว่า นอกจากตัวเลขรายปีแล้ว แนวโน้มของตัวเลขนี้ มีความสำคัญมาก ถ้า Profit Margin ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปีแรกเป็น 4% ต่อมาเป็น 4.2% และถึงปีสุดท้ายหรือปีล่าสุดกลายเป็น 5% แบบนี้ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า คุณภาพของบริษัทดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ Value หรือมูลค่าของบริษัทสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขที่สี่ที่ผมสนใจ ก็คือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือ Market Cap. นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่าอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดให้มูลค่าบริษัทเท่าไร และปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าเท่าไร ประเด็นที่ต้องระวัง ก็คือ บริษัทมีวอร์แรนท์หรือสิทธิที่จะเพิ่มจำนวนหุ้นอยู่หรือไม่และมีมากเท่าไร เพราะถ้ามีมากและจะออกขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ตัวเลข Market Cap. ที่เห็นล่าสุดก็อาจจะไม่จริง เราอาจจะต้องซื้อในราคาที่แพงกว่าสิ่งที่เห็น ข้อมูลมูลค่าตามราคาตลาดของหุ้นนี้เป็นตัวที่บอกว่าเราจะต้องจ่ายเท่าไรถ้า เราจะเป็นเจ้าของบริษัททั้งหมด ลองเอาไปเปรียบเทียบกับตัวเลขหลายๆ ตัวเราก็จะพอมีไอเดียว่ามันถูกหรือแพง

ตัวเลขที่ห้าที่สำคัญมาก ก็คือ ค่า PE ซึ่งบอกถึงความถูกหรือแพงของหุ้นในกรณีที่บริษัท "มีกำไรที่สม่ำเสมอ" ค่า PE ที่ปานกลาง ก็คือค่า PE ที่เท่าๆ กับค่า PE ของตลาดโดยรวมซึ่งในช่วงนี้มีค่าประมาณ 12-13 เท่า ถ้าหุ้นที่เราดูอยู่มีค่า PE ต่ำกว่านี้ก็ถือว่าถูกและถ้าสูงกว่านี้ก็ถือว่าแพง แต่หุ้นจะน่าซื้อหรือไม่นั้นต้องดูราคาเปรียบเทียบกับคุณภาพด้วย ถ้ากิจการดี ค่า PE จะสูงบ้างก็อาจจะคุ้ม ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทไม่ดีเลย ค่า PE แม้ว่าจะต่ำก็อาจจะไม่คุ้มค่า

ตัวเลขที่หก ก็คือ ค่า PB ซึ่งบอกถึงราคาหุ้นเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินสุทธิของบริษัท ค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงนี้ก็ประมาณเท่ากับ 2 เท่าเศษๆ ดังนั้น หุ้นที่มีค่า PB สูงกว่า 2 เท่าก็ถือว่าแพงกว่าค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม ค่า PB นั้นก็มักจะใช้ได้เฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์มีราคาตลาดใกล้เคียงกับมูลค่าทาง บัญชีอย่างเช่นในกรณีของสถาบันการเงิน ส่วนบริษัทอีกจำนวนมากนั้น ค่า PB ก็บอกอะไรได้ไม่มากนัก

และสุดท้าย ก็คือ อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน นี่คือ ตัวเลขที่บอกว่ามันเป็น “หุ้นปันผล” หรือเปล่า ถ้าตัวเลขนี้อยู่ในขั้น 5-6% เกือบทุกปี นี่ก็อาจจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนี้น่าจะเป็นแนวหุ้นปันผลดี ความเสี่ยงก็น่าจะต่ำหน่อยและก็อาจจะเหมาะสำหรับบางคนหรือเหมาะสำหรับการ เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตหุ้นที่ไม่เสี่ยงมาก



บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2555