Friday, March 16, 2012

วัฒนธรรมเภท

จอร์จ โซรอส เคย "โจมตี" ค่าเงินบาท และมีส่วนทำให้ประเทศไทยตกเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 นอกจากเมืองไทยแล้ว โซรอส ยังมีประวัติในการ "โจมตี" ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งโดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่ค่อยพัฒนา เป็นประเทศที่อ่อนแอและน่าจะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากคนที่แข็งแรง มากกว่า

ดังนั้น ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย โซรอส คือ "ซาตาน" แต่อีกด้านหนึ่ง โซรอสกลับทำตัวเป็น "นักบุญ" เขาบริจาคเงินจำนวนมาก ช่วยเหลือประเทศและคนที่ด้อยกว่าทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเคยบริจาคเงินให้กับคนในประเทศที่มีสังคม "ปิด" ในยุโรปตะวันออกเพื่อช่วยให้คนเหล่านั้นต่อสู้เพื่อให้ประเทศของตนเป็นสังคม "เปิด" ซึ่งจะทำให้ประเทศก้าวหน้าและมีชีวิตที่ดีขึ้น บุคลิกที่ขัดแย้งกันในตัวของโซรอส ผมคิดว่า เราน่าจะอธิบายได้บ้างจากแนวความคิดที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นเรื่องของ "วัฒนธรรมเภท"

วัฒนธรรมเภท นั้น ความหมายคร่าวๆ คือ เป็น อาการของคนที่มีบุคลิกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินไปโดยปกติวิสัยตามสามัญสำนึกของตนเอง แต่ อีกด้านหนึ่ง เป็นคุณค่าหรือเป็นแก่นสารที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของตนที่อยากจะเป็น เขาคิดว่า ทั้งสองสิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ตัวอย่างที่เห็นกันมากมาย คือ เรื่องวัฒนธรรมของคนไทยในปัจจุบันที่คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก "โหยหา" และพยายามแสดงออกถึงความเป็น "ไทย" แต่ในชีวิตปกติประจำวัน พวกเขาอยู่ในโลกของ "โลกาภิวัตน์" ความเป็นไทยสำหรับพวกเขานั้น ดูเหมือนจะเป็น "สัญลักษณ์" ที่ถูก "แช่แข็ง" ไม่เปลี่ยนแปลงและอยู่ "ในใจ" เช่น ถ้าเป็นหญิงต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อยเป็นแม่บ้านแม่เรือน การแต่งกายต้องเป็นชุดไทยภาคกลางยุครัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ลองมาดูตัวอย่างของวัฒนธรรมเภทของดารา ที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เช่น ดาราหญิงดังและบางคนก็ออกแนว "เซ็กซี่" ด้วย ในภาพที่เห็นทุกวัน เธอมักมีข่าวคราวที่เป็นเรื่องของความ "ฟู่ฟ่า" เฉกเช่นเดียวกับดาราระดับ "อินเตอร์" ทั้งหลาย เช่น การใช้สินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง เดินทางต่างประเทศบ่อยๆ ใช้บริการและซื้อสินค้าที่มีราคาสูงมาก บางครั้งก็มีข่าว "คาวๆ"

ในอีกด้านหนึ่งก็บอกว่า ตนเองชอบศึกษาธรรมะและเข้าวัดบ่อย บางคนก็ "นุ่งขาวห่มขาว" ทำสมาธิอยู่ที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรมเป็นครั้งคราว บางคนก็บอกว่าตัวเองรักและชอบวัฒนธรรมและศิลปะที่เป็น "ไทย" มาก (เวลาอยู่ที่บ้านหรือไม่ได้ทำงาน)

คนร่ำรวยและมีชื่อเสียง บางคนอาจจะเป็นผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ก็มีวัฒนธรรมเภทเช่นเดียวกัน ในชีวิตประจำวันเขาอาจจะใช้ชีวิตที่ "หวือหวาวุ่นวายและมีระดับ" เขาอาจจะขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่และขับเร็วอย่างร้ายกาจ เขาอาจจะใช้ชีวิตที่วุ่นวายกับงานธุรกิจมากมายในฐานะนักบริหารที่ทันสมัยและ เป็น "อินเตอร์" มากๆ แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิต เขาอาจชอบสิ่งที่เป็นไทยๆ เป็นของยุคเก่า บ้างก็จะแต่งตัวเป็นไทย หรือเป็นแบบของสังคมเก่าของต่างประเทศ หรืออาจจะออกแนวนักพรต เขาอาจจะพูดถึงการใช้ชีวิตที่ "พอเพียง" และไม่ติดยึดวัตถุสิ่งของ เขาไม่อยากให้คนมองว่าเขาเป็นคนโลภที่เห็นแก่เงิน เขาอยากให้คนเห็นว่า เขาเป็นคนที่สมถะและมองคุณค่าด้านจิตวิญญาณมากกว่าสิ่งอื่นใด

ในแวดวงนักลงทุนเอง แน่นอน ต้องมีเรื่องของวัฒนธรรมเภทเช่นเดียวกัน การเป็นนักลงทุน ถ้าพูดกันไปแล้ว เป็นอาชีพที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ความโลภ" เป็นอันดับต้นๆ เพราะภาพโดยทั่วไป ก็คือ เป็นธุรกิจหรือกิจกรรมที่ได้เงินมาง่าย เร็ว และมากจนบางครั้ง "ไม่น่าเชื่อ" คนที่เข้ามาในยุทธจักรของการลงทุน ต้องพร้อมที่จะ "กิน" คนอื่นเสมอ ไม่มีภาพของการ "ทำงานหนัก" อย่างคนกินเงินเดือน หรือนักธุรกิจที่ต้องทุ่มเทชีวิตและจิตใจให้กับสิ่งที่ทำ และได้ผลตอบแทนมาอย่างเหมาะสม ชีวิตของนักลงทุนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่เป็นนักเก็งกำไร ก็เป็นอย่างนั้น พวกเขาอยู่กับความโลภ ชีวิตประจำวันก็เกี่ยวข้องอยู่กับกิเลส ความอยากได้และความร่ำรวย

นักลงทุนที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงบางคนก็เช่นเดียวกับคนที่ประสบความ สำเร็จในวงการอื่น เขาไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนโลภ อยู่ในโลกที่ฟุ้งเฟ้อ เขาอยากจะมีอีกโลกหนึ่ง ที่ไม่มีความโลภอยากได้ใคร่ดี โลกของคนที่อยู่ในศีลธรรมมีธรรมะประจำใจ มีชีวิตที่พอเพียง เขาอาจจะพูดถึงเรื่องการทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ แต่ในชีวิตจริงนั้น เขายังเล่นหุ้นที่ร้อนแรง และซื้อขายที่รวดเร็ว เขาอาจจะพูดถึงความสมถะไม่โลภ แต่ในชีวิตจริง เขายังเล่นหุ้นแบบ "ทุ่มตัวเดียว" และใช้มาร์จินเต็มวงเงิน เขาอาจจะใช้เงินทองซื้อหาสิ่งของเท่าๆ กับคนรวยที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่อาจมีบางด้านที่ทำตัว "แบกะดิน"

ในความรู้สึกของผม วัฒนธรรมเภทนั้น คงเกิดขึ้นจากความต้องการของคนที่จะมีเอกลักษณ์ และต้องการตัวตนที่แตกต่างจากคนอื่น ความต้องการที่จะได้รับการยกย่องหรือเป็นที่ "น่าทึ่ง" สำหรับคนทั่วไป ดังนั้น เราพยายามสร้างสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงแต่เป็นสิ่งที่อาจจะอยู่ใน "จินตนาการ" และเป็นสิ่งที่คนยอมรับมากกว่าชีวิตที่เป็นจริงของเรา

ในฐานะของ Value Investor การรู้เรื่องของวัฒนธรรมเภทนั้น น่าจะ มีประโยชน์ อย่างน้อยในแง่ที่ว่ามันช่วยให้เราได้รู้จักโลก หรือคนมากขึ้นว่า คนเรา บางทีก็มีสองบุคลิก สิ่งที่เราได้เห็นได้ยินได้ฟังจากปากของคน อาจจะไม่ใช่ของจริง เขาอาจจะบอกในสิ่งที่ทำให้เขาดูดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำจริง กลยุทธ์และเทคนิคที่เขาใช้ลงทุน ที่ออกมาจากปากของเขาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาปฏิบัติจริงๆ

เช่นเดียวกัน ชีวิตและความคิดของเขา อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราเห็น แต่คำถามที่ตามมา ก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนคนหนึ่ง มีตัวตนที่แท้จริงอย่างไร เราควรจะเชื่ออะไร

คำตอบของผม ก็คือ ถ้าจะดูบุคลิกที่เป็นจริงของใคร การดูในช่วงวัยเด็ก หรือดูพื้นฐานทางสังคมที่เขาผ่านมาในวัยเด็ก น่าจะเป็นตัวบอกที่ดีที่สุด จริงอยู่ คนเราเปลี่ยนแปลงได้ แต่นั่นเป็นข้อยกเว้น เราจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนจริงๆ แต่ ถ้าเราไม่รู้จักเขาในวัยเด็ก และไม่รู้จักพื้นเพของเขาเลย การที่จะรู้จักเขาได้ถูกต้องจริงๆ น่าจะดูจากการกระทำมากกว่าที่มาจากคำพูด ถ้าสองสิ่งนั้นไม่ตรงกัน

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2555

No comments:

Post a Comment