การซื้อหุ้นของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มักตกเป็นข่าวใหญ่เสมอ เหตุผลคงเป็นเพราะนักลงทุนสนใจ และเชื่อว่าหุ้นที่บัฟเฟตต์ซื้อต้องเป็นหุ้นที่มีคุณค่ามาก และราคาถูกคุ้มค่า พวกเขาจึงอาจจะมีโอกาส "ซื้อหุ้นตามเซียน" และทำกำไรได้ง่ายๆ ผมก็สนใจติดตามข่าวการลงทุนของบัฟเฟตต์อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อที่จะซื้อหุ้นตาม แต่อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงซื้อหุ้นตัวนั้น ความหมาย คือ เพื่อที่ว่าผมจะได้เรียนรู้และนำมาปรับใช้กับการลงทุนของผมเอง ผมคิดว่า การเรียนรู้จากคนระดับบัฟเฟตต์ แม้จะอยู่ห่างไกลกันคนระดับในแง่ของการลงทุน จะช่วยให้ผมไม่ต้องลองผิดลองถูกได้ในระดับหนึ่ง และต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผมคิดว่า เป็น แนวทางของบัฟเฟตต์ในช่วงหลังๆ นี้
ข้อแรก การลงทุนของบัฟเฟตต์ ยัง เกาะติดอยู่กับธุรกิจหลักๆ ที่เขาทำมายาวนาน นั่นคือ เขา ชอบลงทุนกิจการที่มีการเปลี่ยนแปลงช้าๆ เป็นกิจการที่เทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่สามารถทำลายมันได้ง่ายๆ เช่น อาหารการกิน ซึ่งถึงยังไงคนต้องกิน และต้องการกินอาหารที่อร่อยมียี่ห้อระดับโลก ตัวอย่างหุ้น เช่น บริษัทคราฟท์ฟู้ด กลุ่มต่อมา คือ กลุ่มของใช้ประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม และเครื่องประทินผิว ที่ไม่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์อะไร ยกเว้นการโฆษณา และการตลาดต่อเนื่อง ตัวอย่างของหุ้น เช่น หุ้นพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล และหุ้นจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และกลุ่มสุดท้าย คือ หุ้นบริษัทค้าปลีกที่บัฟเฟตต์เพิ่งจะลงทุนไม่นานนัก ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นหุ้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เขาสนใจลงทุน แต่เขาอาจจะเคยเกี่ยงว่า เป็นหุ้นที่ "ไม่เคยถูก" เช่น หุ้นของวอลมาร์ท เป็นต้น
ข้อสอง หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ ลงทุนมากที่สุดกลุ่มหนึ่งตั้งแต่อดีตและยังลงทุนอยู่เรื่อยๆ เมื่อมีโอกาส คือ หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหุ้นบริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ นี่คือ หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมาตลอด ขณะที่ VI เมืองไทย รวมถึงตัวผมไม่สนใจลงทุนเลย ทั้งๆ ที่บางครั้งดูเหมือนว่าเป็นหุ้นที่ "ไม่แพง" และหลายๆ ครั้งอาจจะเป็นหุ้น "VI" ได้ ตัวอย่างหุ้นการเงินที่บัฟเฟตต์ลงทุนเมื่อเร็วๆ นี้ เช่น หุ้นของแบงก์อเมริกา และบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำอีกหลายแห่งที่ประสบกับปัญหาทางการเงินอัน เพราะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำมาก หุ้นหรือตราสารการเงินเหล่านี้ บัฟเฟตต์มักลงทุนในเวลาสั้นๆ อาจเพียง 2-3 ปีก็จะถอนออก ยกเว้นหุ้นสถาบันการเงินที่เน้นรายย่อย หรือเน้นลูกค้ามากรายที่กระจายความเสี่ยงได้ดี เช่น หุ้นประกันภัย หุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรส และหุ้นแบงก์ที่บริหารได้ดีอย่างเวลฟาร์โก้ ที่เขาจะถือหุ้นยาวนาน
ข้อสาม หุ้นไฮเทค บัฟเฟตต์ยังคง หลีกเลี่ยงเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ที่เขามองว่า เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เขายังไม่ซื้อหุ้นทั้งแอ๊ปเปิ้ล กูเกิล ไมโครซอฟท์ หรือเฟซบุ๊ค เขาได้เข้าซื้อหุ้นของ ไอบีเอ็ม จำนวนมากเมื่อเร็วๆ นี้ เหตุผล คือ ไอบีเอ็มตอนหลังได้ปรับตัวเป็น "ผู้ให้บริการ" เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูลแก่บริษัทต่างๆ เช่น ไอบีเอ็มเข้าไปทำหน้าที่คล้ายๆ "แผนกคอมพิวเตอร์และการจัดการข้อมูล" ของธนาคารต่างๆ ทำให้ไอบีเอ็มมีรายได้ที่แน่นอน ขณะที่แบงก์ก็ประหยัดรายจ่ายที่ไม่ต้องทำระบบต่างๆ เช่น ระบบสำรองและการดูแลให้คอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น บัฟเฟตต์ ดูเหมือนจะลงทุนหุ้น "ไฮเทค" ประเภทที่เป็นผู้ผลิตที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นที่คู่แข่งตามได้ยาก เช่น หุ้นอินเทล หุ้นบริษัทผลิตเครื่องมือของอิสราเอล หุ้นบริษัทผลิตยาซาโนฟี เหล่านี้เป็นต้น หุ้นไฮเทคเหล่านี้ บัฟเฟตต์ซื้อในปริมาณไม่มากนัก
ข้อสี่ หุ้นกลุ่มที่บัฟเฟตต์ ลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเร็วๆ นี้ คือ หุ้นที่เกี่ยวกับ พลังงานและการขนส่ง นี่เป็นกลุ่มที่ในอดีตบัฟเฟตต์ แทบไม่สนใจ เพราะภาพที่ออกมาดูเหมือนว่า จะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่บัฟเฟตต์ไม่ชอบ หุ้นกลุ่มนี้ที่บัฟเฟตต์ลงทุนไปมากที่สุดตัวหนึ่ง คือ หุ้นบริษัทรถไฟในอเมริกา ซึ่งบัฟเฟตต์มองว่าจะเริ่มได้เปรียบเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก บัฟเฟตต์เข้าไปซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันหลายบริษัท รวมถึงปิโตรไชน่าของจีน กรณีที่เป็นโภคภัณฑ์ล้วนๆ เช่น น้ำมัน ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์อาจเข้ามาซื้อขายแบบเก็งกำไรมากกว่าจะเป็นการถือยาว
ข้อห้า หุ้น "ตะวันตกดิน" หรือหุ้นที่ดูเหมือนไม่โตเท่าไร แต่บริษัทเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและมีเงินสดเหลือเฟือ ถ้าดูกันจริงๆ เป็นหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนอยู่เหมือนกันในอดีต นี่อาจจะเรียกว่า หุ้นแนวก้นบุหรี่หรือแนวของเกรแฮม บัฟเฟตต์ห่างเหินจากหุ้นแนวนี้มานาน ตั้งแต่หุ้นเบอร์กไชร์และหุ้นประเภทขายรองเท้า หรือทำเฟอร์นิเจอร์ แต่น่าแปลก คือ บัฟเฟตต์ เพิ่งไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ ที่ดูเหมือนว่ากิจการกำลังตกลงมาอย่างช้าๆ แต่แน่นอน เพราะการเข้ามาของสื่อทางอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย เขาคงมองว่า ยังไงซะ Content หรือเนื้อหาที่เป็นข่าวสารยังมีค่า และถึงวันหนึ่ง ผู้ผลิตข่าวสารไม่ยอมให้คนอื่นเอาข่าวไปใช้แบบฟรีๆ ในอินเทอร์เน็ต
ข้อหก สิ่งที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจน คือ บัฟเฟตต์ในอดีตไม่สนใจลงทุนหุ้นในต่างประเทศ เพราะอาจจะคิดว่า เขาสามารถเข้าถึงตลาด และลูกค้าต่างประเทศได้ผ่านการส่งออกของบริษัทที่เขาลงทุนในอเมริกา บัฟเฟตต์ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นและน่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มต้นจากจีนที่เขาได้เดินทางไปเยี่ยมเป็นประเทศแรกๆ ยุโรป ต่อมาเข้าใจว่ามีเกาหลี ไม่ต้องพูดถึงอิสราเอลที่เขาดูว่า มีบริษัทที่สุดยอดระดับโลกด้านไฮเทคอยู่ เขาคงมองเห็นแล้วว่า โลกกำลังเปลี่ยนไป อเมริกาอาจยังโดดเด่นอยู่ แต่ประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียโตเร็วมาก
ข้อสุดท้าย ที่ผมจะพูดถึง คือ บัฟเฟตต์คงรักษาคุณสมบัติของการเป็นนักลงทุนที่ผมอยากเรียกว่า "กล้าและเย็นที่สุดในโลก" นั่นคือ เขาพร้อมเข้าซื้อหุ้น หรือลงทุนกิจการที่ยอดเยี่ยมในภาวะวิกฤติที่สุดที่ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนัก เขาเพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นที่ "ดีที่สุด" 8-9 บริษัทในยุโรปในยามที่ยุโรปกำลังอยู่ในภาวะที่จะ "ตายหรือจะรอด" นี่เหมือนกับช่วงที่เขาเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากรวมถึงหุ้นสถาบันการเงินใน อเมริกาช่วงซับไพร์ม ที่ทำให้เขาได้กำไรมหาศาล
ทั้งหมดนั้น ก็เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่า บัฟเฟตต์ แม้จะมีอายุกว่า 80 ปีแล้ว ก็ยังมี "วิวัฒนาการ" เขาอาจเป็นคน "โลว์เทค" ที่ไม่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในหลายๆ เรื่อง แต่ความคิด หรือจิตใจของเขา ผมเชื่อว่ายังทันสมัยอยู่เสมอ เขาไม่ลงทุนในหุ้น "ไฮเทค" ไม่ใช่เพราะเขาไม่เข้าใจเทคโนโลยี เขาอาจจะใช้ไม่เป็น แต่เขารู้ว่าธุรกิจ "หากินยังไง" ผมเองเชื่อว่า ถ้าบริษัท "ไฮเทค" ตัวไหนที่รักษากำไรได้ในระยะยาว ด้วยความเสี่ยงต่ำที่จะมีสิ่งอื่นมาทดแทน และด้วยราคาหุ้นที่ยุติธรรม บัฟเฟตต์คงจะสนใจ เพียงแต่ว่า ในโลกของข้อมูลข่าวสารและอินเทอร์เน็ต หุ้นแบบนั้นอาจยังไม่มีในสายตาของบัฟเฟตต์
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 มีนาคม 2555
Friday, March 16, 2012
ตามรอยบัฟเฟตต์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment