ชีวิตคนเรานั้นมีความเสี่ยงมากมายที่เราต้องรับ และมีความเสี่ยงอีกมากมายที่เราไม่จำเป็นต้องรับแต่เราก็เข้าไปรับ ความเสี่ยงที่ผมพูดถึงนั้นคือความเป็นไปได้หรือความน่าจะเป็นที่เราจะประสบกับความเสียหาย ความยากลำบาก ความเจ็บปวด หรือแม้แต่ความตาย พูดง่าย ๆ คือสิ่งที่เป็นลบทั้งหลายในชีวิตที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น โชคดีที่ความเสี่ยงนั้นส่วนใหญ่เราสามารถ “จัดการ” ได้ นั่นคือ เราสามารถลดความเสี่ยงได้ เราสามารถที่จะไม่ทำอะไรกับความเสี่ยงนั้น ๆ และสุดท้าย เราสามารถ เพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นหรือเข้าไปรับความเสี่ยงทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็น ซึ่งในกรณีหลังนี้ฟังดูแล้วอาจจะแปลก เพราะใครจะอยากเพิ่มโอกาสที่เราจะประสบกับสิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เราทำมันตลอดเวลา เนื่องจากการทำอย่างนั้นมักจะทำให้เราได้ “ผลตอบแทน”
ประเด็นที่สำคัญก็คือ เราจะจัดการอย่างไรกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะทำให้เราได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เพราะการจัดการกับความเสี่ยงนั้นมักจะมี “ต้นทุน” สูงบ้าง ต่ำบ้าง เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นก็มีโอกาสเกิดขึ้น มากบ้าง น้อยบ้าง และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ สิ่งที่เป็นลบหรือเลวร้ายนั้นมันเลวร้ายแค่ไหน มันทำให้เรา “ตาย” ไหม หรือเป็นแค่เรื่อง “เล็กน้อย” ที่ทำให้เราหงุดหงิดใจ ดังนั้น หัวใจของการจัดการกับความเสี่ยงแต่ละเรื่องจึงต้องพิจารณาถึงเรื่องของ 1) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น 2) ความเสียหายที่จะตามมา 3) ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ และสุดท้ายก็คือ ต้นทุนของการจัดการกับความเสี่ยงนั้น ฟังดูแล้วหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไปและเขาไม่สามารถทำได้ แต่เชื่อไหมครับว่าเราทำมันตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว ว่าที่จริง ชีวิตของคนเราแทบจะทั้งชีวิตนั้นก็คือ “การบริหารความเสี่ยง” และคนที่ทำได้ดีกว่ามักจะเป็น “ผู้ชนะ”
อย่างเรื่องของสุขภาพนั้น คนหนุ่มสาวมักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่ำ โอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงถึงแก่ชีวิตก็น้อย ดังนั้นเขาก็อาจจะ “ไม่จัดการ” อะไรนัก บางคนอาจจะ “เสี่ยงเพิ่ม” โดยการกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือทำอย่างอื่นที่อาจจะทำลายสุขภาพด้วยเพราะเขาอาจจะได้ “ผลตอบแทน” คือ ความพึงพอใจกับรสชาดหรือความรู้สึกอย่างอื่นที่ได้รับ ส่วนคนสูงอายุอย่างผมนั้น ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพนั้นต้องบอกว่าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เราจะจัดการหรือไม่จัดการก็ได้ แต่ถ้าจัดการเราจะทำอะไรบ้างและผลที่ได้คืออะไร แน่นอนว่าในโลกปัจจุบันมีทางเลือกมากมายที่จะลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพลงซึ่งรวมถึงยา อาหารเพื่อสุขภาพ การตรวจสุขภาพและการออกกำลังกาย หน้าที่ของเราก็คือ เลือกว่าจะทำอะไร ซึ่งก็รวมถึงต้นทุนและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งผมคงไม่พูดว่าทำอย่างไรที่จะดีและคุ้มค่าที่สุด แต่ประเด็นสำคัญก็คือ อย่า “ไม่ทำอะไร” เพราะการตัดสินใจไม่ทำอะไรนั้น บ่อยครั้ง เป็นทางเลือกที่แย่ที่สุด
เรื่องของการเงินและการลงทุนส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องของความเสี่ยงที่คนจำนวนมากไม่อยากรับและเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะ “เลี่ยง” ได้ นั่นก็คือ อย่าไปเล่นการพนัน เล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ ถ้าเป็นคนมีเงินหน่อยก็อย่าไปพนันบอลหรือเล่นหุ้น วิธีที่จะไม่เสี่ยงเลยก็คือ การฝากเงินไว้ในธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงมักจะ “ไม่ทำอะไร” หรือไม่ “บริหารเงิน” เพราะเขาไม่อยากรับ “ความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น” แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง
การเล่นหวยหรือล็อตเตอรี่ด้วยเงินจำนวนมากและเป็นประจำนั้น ถ้าเราเลือกเสี่ยงทำก็อาจจะเป็นสัญญานบอกว่าเรา “เลือกความเสี่ยง” ไม่เป็น เพราะถ้าวิเคราะห์โดยหลักทางสถิติแล้วมีโอกาสสูงมากที่เราจะขาดทุน แต่การลงทุนในหุ้นนั้น ถ้าเราเลือกที่จะลงทุนและทำอย่างถูกวิธี เราจะกำไรหรือได้ผลตอบแทนคุ้มค่า แน่นอน โอกาสที่จะขาดทุนก็มี แต่ความเสียหายถ้าเกิดขึ้นเราก็สามารถรับได้ ถ้าความสามารถในการเลือกหุ้นเรามีน้อยเราก็ยังสามารถลงในกองทุนรวมได้ ถ้าเรามีความสามารถสูง เราอาจจะเลือกลงทุนเอง การเลือกหุ้นแต่ละตัวนั้นก็เช่นเดียวกัน เราต้องวิเคราะห์และ “เลือกเสี่ยง” เฉพาะตัวที่เรามีโอกาสกำไรสูงแต่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำ อย่าไปเสี่ยงในตัวที่เราไม่มั่นใจ
Value Investor ระดับเซียนอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ เวลาทำอะไรเขาวิเคราะห์เป็นเรื่องของความเสี่ยงและผลตอบแทนตลอดเวลา ว่ากันว่าเวลาตีกอล์ฟ เขาไม่ยอมพนันหรือเล่นน้อยมาก อาจจะหลุมละแค่ 10 ดอลลาร์ ถ้าแต้มต่อเขาสู้ไม่ได้ มีคนถามว่าทำไมเขากินแต่สเต็คร้านเดิมชื่อดังในเมืองเป็นประจำ เขาตอบว่า ไปที่ร้านนี้เขารู้ว่าสเต็คอร่อยแน่นอน เพราะฉนั้น เขาจะ “เสี่ยง” ไปร้านที่เขาไม่รู้จักทำไม เรื่องแบบนี้หลายคนอาจจะดูเป็นเรื่องพูดเล่น แต่ผมกลับคิดว่า นิสัยในการวิเคราะห์หา ผลตอบแทน – ความเสี่ยง คงฝังอยู่ลึกในสมองของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ทำให้เขาสามารถ “เลือกเสี่ยง” ในการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และมันอาจจะ “ล้น” ออกมาในชีวิตโดยไม่รู้ตัว
ตรงกันข้าม คนไทยจำนวนมาก เลือกเสี่ยงในสิ่งที่ไม่ค่อยจะได้ผลตอบแทนเพราะเราไม่วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ในอีกด้านหนึ่ง หลายคนคิดว่า ชีวิตที่ปลอดภัยก็คือ “เสี่ยงให้น้อยที่สุด” แต่นี่ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ไม่ดีไปกว่ากันนัก ที่ถูกต้องก็คือ เราต้องเลือก “เสี่ยงอย่างคุ้มค่า” อย่าลืมว่า “ชีวิตคือการบริหารความเสี่ยง” และการ “รับความเสี่ยงน้อยเกินไป” นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ “เสี่ยงมาก” ก็ได้
บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 8 ก.ย.2552
No comments:
Post a Comment