การเสียชีวิตของ ดร.สาทิส อินทรกำแหง นักวิชาการผู้ริเริ่มแนวความคิด "ชีวจิต" ในไทยเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนั้น ทำให้ผมหวนคิดถึงแนวคิด
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value Investment ที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อ 15
ปีที่แล้ว เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีอะไรหลายๆ
อย่างคล้ายคลึงกันแม้จะเป็นคนละ "วิชา" นั่นคือ ชีวจิตเป็นเรื่องของสุขภาพ
แต่ VI เป็นเรื่องเงินทอง
เรื่องแรก ที่เหมือนกันคือ ชีวจิตและ VI ต่างเป็นแนวความคิดที่เป็น
"กระแสใหม่" ที่ขัดแย้งกับความคิด หรือความเชื่อ
หรือสิ่งที่คนไทยก่อนหน้าปฏิบัติอยู่
คนเชื่อหรือเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามแนวทางใหม่นี้คือ คนมีความคิดก้าวหน้า
พร้อมรับกับทฤษฎีใหม่ๆ และเสาะแสวงหาหนทางดีกว่าสำหรับตนเองเรื่องสุขภาพ
และการลงทุน พวกเขาเห็นแนวทางเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อ
และยอมรับกันมาตลอด ไม่ใช่สิ่งวิเศษหรือดี พวกเขาอาจจะมีความเชื่อลึกๆ ว่า
การเป็น "คนส่วนใหญ่" คุณอาจเป็นได้แค่ "ค่าเฉลี่ย" ไม่มีทางที่คุณจะ
"เป็นเลิศ" ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพหรือเงินทอง
พวกเขาจึงรับแนวความคิดชีวจิตและ VI ได้รวดเร็วและเต็มใจ
แม้การปฏิบัติตามไม่ใช่เรื่องง่าย
ต้องอาศัยความตั้งใจและความเชื่อมั่นแรงกล้า
ข้อสอง แนวความคิดเรื่องชีวจิต การเริ่มต้นจริงๆ น่าจะเกิดจากหนังสือ
"ชีวจิต" การใช้ชีวิตอย่างเข้าใจธรรมชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2536
หลังจากนั้นพิมพ์ซ้ำอีกหลายสิบครั้ง ถ้าผมจำไม่ผิด เป็นหนังสือขายดีที่สุด
แทบไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ ประมาณกันว่าคนเขียนคือ ดร.สาทิส
น่าจะทำเงินได้หลายสิบล้านจากค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งสมัยนั้น
ถือว่าเป็นสุดยอดการเขียนหนังสือ อาจคล้ายๆ กับสังคมตะวันตกที่ว่า
การเขียนหนังสือ ทำให้คุณรวยได้ถ้าหนังสือติดตลาดจริง ๆ
ส่วนการเริ่มต้นของVI เมื่อปี 2542 เริ่มจากหนังสือ"ตีแตก"
กลยุทธ์ลงทุนในภาวะวิกฤติ ที่ผมเขียน
หลังจากนั้นตีพิมพ์ใหม่ซ้ำอีกเป็นสิบครั้งจนถึงปัจจุบัน
ตอนที่หนังสือออกขายช่วงปีแรกๆ หนังสือไม่ได้ขายดี
เหตุผลเพราะความสนใจเรื่องหุ้นยังมีน้อย
เมืองไทยยังไม่ฟื้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ
และตลาดหุ้นคนไม่มีเงินหรือจิตใจที่จะซื้อหุ้น
ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้น และคนเริ่มเห็นว่าแนวทาง VI
เป็นทางเลือกที่ดี หนังสือจึงขายดีขึ้นทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปนับสิบปีแล้ว
ข้อสาม แนวทางชีวจิต ไม่ใช่แนวทางใหม่ในต่างประเทศ ที่จริงผมคิดว่า
แนวทางที่คล้ายกัน และเป็นพื้นฐานของชีวจิต มาจากแนวความคิด Macrobiotic
ที่มีมานานพอควร หรือแนวทางการกินเจของจีนที่มีมานานพันปี
และตะวันตกนำไปศึกษา และพบว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพมาก
และเขียนเป็นเอกสารไว้ เช่นเดียวกัน การลงทุนแบบเน้นคุณค่า หรือ Value
Investment เบน เกรแฮม นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี 1934 หรือ 80 ปีมาแล้ว
ผ่านหนังสือชื่อ Securities Analysis และต่อมาคือ Intelligent Investor
ซึ่งได้รับการยอมรับ และใช้กันอย่างกว้างขวางในสหรัฐมานาน
และคนที่ประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างก็มีมากมาย ซึ่งหนังสือเรื่องตีแตก
หรือความคิดเรื่องการลงทุนแบบ VI ในเมืองไทยอิงจากพื้นฐานนั้น
ทั้งชีวจิตและ VI ต่างเป็นแนวความคิด
หรือกระแสของโลกที่ถูกนำเข้ามาในไทยช่วงเวลาที่เหมาะสม
และกลายเป็นกระแสที่คนไทยน้อมรับอย่างมีชีวิตชีวา
กระแสของชีวิตและของ VI ช่วงแรกๆ เนื่องจากความใหม่ จึงมีความรุนแรง
คนที่ศึกษาและนำมาปฏิบัติจำนวนมากต่างเห็นผล "มหัศจรรย์" เรื่องของชีวจิต
คนที่เป็นมะเร็งระยะท้ายๆ
หลายคนบอกว่าผลของการใช้หลักการแบบชีวจิตทำให้เขาหายจากมะเร็งได้
เช่นเดียวกัน นักลงทุนแบบ VI จำนวนมากบอกว่าหลังจากการลงทุนในแนวนี้
พอร์ตการลงทุนเติบโตมหาศาล หลายคนกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน
บางคนมีเงินเป็นร้อยล้านก่อนอายุ 30 ปี
บางคนเป็นเศรษฐีพันล้านเมื่ออายุยังไม่ห้าสิบ
ผมไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ความสำเร็จทั้งเรื่องชีวจิตและ VI
ที่กล่าวถึง ทั้งหมดมาจากการปฏิบัติตามหลักการจริง
หรือมีปัจจัยอย่างอื่นประกอบด้วย เหนือสิ่งอื่นใดคือ
มะเร็งเป็นโรคที่มีความซับซ้อนมาก คนที่หายหรือไม่ตายจากมะเร็งระยะท้าย
บางทีมาจากสาเหตุต่างๆ หลายอย่างที่เราไม่รู้ เช่นเดียวกัน
คนที่รวยจากการลงทุนแบบมโหฬารโดยไม่ได้ใช้หลักการ VI ก็มีไม่น้อย
โดยเฉพาะตลาดหุ้นช่วง "ขาขึ้น" อย่างแรงมายาวนาน ความ "มหัศจรรย์"
อาจเป็นคำกล่าวที่ "เกินไป" ก็ได้ พูดง่ายๆ หลักการทั้งชีวจิตและ VI
อาจดีมากๆ ถ้าเราใช้ แต่อย่าหวังว่า
เป็นยาวิเศษที่จะบันดาลสิ่งมหัศจรรย์กับเราได้เสมอ
เมื่อมีกระแสเรื่องชีวจิตเกิดขึ้น
คนที่ศึกษาและปฏิบัติตามในแนวเดียวกันก็ตามมา และแน่นอน
ความหลากหลายก็เกิดขึ้น เริ่มต้นน่าจะเกิดจากการที่ "สามารถ"
ช่วยรักษามะเร็ง ต่อมาก็มีกระแสว่าช่วยให้มีชีวิตยืนยาวจนมีคนตั้งชมรม
"คนอยู่ 100 ปี" เพราะพวกเขาเชื่อว่า การใช้หลักการการกินอยู่ ออกกำลังกาย
และการทำจิตใจที่ถูกต้อง การอยู่ได้จนถึงร้อยปีไม่น่าจะมีปัญหา
เช่นเดียวกัน เรื่อง VI ช่วงแรกอาจเป็นแค่ว่า
เป็นหลักการลงทุนที่เน้นความปลอดภัยได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควรในระยะยาว
แต่ต่อมาเมื่อมีคนเข้าร่วมมากขึ้นและประสบความสำเร็จสูงขึ้นก็เริ่มที่จะมี
แนวความคิดทำนอง ชมรม "คนพันล้าน" หรือคนที่จะมี "อิสรภาพทางการเงิน"
ตั้งแต่อายุยังน้อยไม่เกิน 40 ปี โดยทั้งสองเรื่อง "ผู้นำ"
ของความคิดต่างก็ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เห็น หนทางที่อยู่ได้ถึง 100 ปี
หรือหนทางรวยเป็นพันล้าน หรือมีอิสรภาพทางการเงิน ต้องใช้เวลา
ต้องรอการพิสูจน์
การเสียชีวิตของอาจารย์สาทิสในวัย 86 ปี
ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่จุดความคิดผม ก่อนหน้านี้ คุณทวี บุตรสุนทร
อดีตรองผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเคยประกาศว่าจะอยู่ถึงร้อยปี
เสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี นี่อาจเป็นเครื่องเตือนว่า
มีปัจจัยมากมายที่กำหนดสุขภาพและอายุขัยของเรา หนึ่งในนั้นที่สำคัญ
หรือสำคัญกว่า คือยีนส์ของมนุษย์ที่อาจจะกำหนดวิถีชีวิตของเราไว้แล้วถึง
60-70% เรื่องการลงทุนก็เช่นกัน ช่วงเร็วๆ นี้ VI ไทยอาจจะรู้สึก
"เหนือโลก" ด้วยผลงานการลงทุนที่อาจ "สุดยอด" ไม่มี VI ประเทศไหนเสมอ
หลายคนตั้งเป้าหรือคิดไปไกลว่าเขาจะโตต่อไปได้ในอัตราเช่น ปีละ 20-25%
ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นมหาเศรษฐี
การลงทุน เป็นเรื่องที่อาจถูกกำหนดไว้เหมือนกัน โดยสิ่งที่เรายังไม่รู้
สิ่งที่เรารู้ คือ คนที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุดของโลกในระยะยาวเช่น
บัฟเฟตต์ หรือ โซรอส ก็คือปีละ 20-25%
ถ้าเราตั้งเป้าเท่ากับเขาอาจหมายความว่า
เราเป็นนักชีวจิตที่ตั้งเป้าอยู่เกิน 100 ปี ซึ่งความเป็นไปได้อาจน้อย
สำหรับผม คิดเหมือนโซรอสที่ว่า เราไม่ “Invincible” อย่าคิดว่าคุณจะ
"ไม่ตาย" ในการลงทุน…และชีวิต หลักการชีวจิต
เริ่มกลับไปสู่สถานะปกติเหมือนในต่างประเทศแล้ว ในไม่ช้า VI
ก็คงจะตามกันไป นั่นคือ ก็ดีไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ "มหัศจรรย์"
อย่างที่เป็นในช่วงนี้
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2555
No comments:
Post a Comment