ดัชนีหุ้นไทยที่ ปรับตัวขึ้นมาก นับจากต้นปีที่ 1,025 จุด เป็น 1,311
จุด เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2555 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ28%
ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นมาก.ถ้านับจากปี 2540
ซึ่งเป็นปีวิกฤติเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี มีเพียง 4
ปีเท่านั้น ที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้นสูงกว่านี้ และนี่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย
โดยเฉพาะที่เป็น VI มีความรู้สึกว่า ตลาดหุ้นอาจมีราคาที่แพงเกินพื้นฐาน
และมีโอกาสปรับตัวลงแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ค่า PE ของตลาดหุ้นไทย
สูงลิ่วถึง 18 เท่า ขณะที่ยุโรปและโลก
ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปรากฏการณ์แรกเลยที่ทำให้ผมนึกแบบนั้น คือ เรื่องหุ้น IPO นั่นคือ ช่วงที่หุ้นบูมแรงเป็นกระทิงก่อนปี 2540 มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดมากเป็นพิเศษ แน่นอน หุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ที่ไม่ได้มีจุดเด่นอะไร และมักมีผลประกอบการกระท่อนกระแท่น จนถึงปีที่จะเข้าตลาดผลงานจะ "ก้าวกระโดด" และมี "อนาคต" ที่สดใส แต่หุ้น IPO เหล่านั้น เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรก ราคาปรับตัวขึ้นมหาศาล ส่วนใหญ่หลายสิบเปอร์เซ็นต์ บางบริษัทปรับขึ้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์
ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงมาก ส่วนใหญ่สูงกว่าจำนวนหุ้นที่ขายให้กับประชาชน หุ้น IPO เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าบริษัททำอะไรและขายหุ้นในราคาเท่าไร อาการแบบนี้กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ และนี่คือสัญญาณแรกที่บอกว่า ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงเกินกว่าปกติ
เรื่องที่สองคือ การเทคโอเวอร์กิจการอื่นของบริษัทจดทะเบียน ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทในตลาดหุ้นที่ "ก้าวหน้าและก้าวร้าว" หลายกลุ่ม ใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการอื่นทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของตน ซึ่งทำให้ขนาดของกิจการโตขึ้นก้าวกระโดด กิจการส่วนใหญ่อาจอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แต่บางทีก็เทคโอเวอร์บริษัทที่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือบางครั้งอาจแตกต่างกัน แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก
ทุกครั้งที่ประกาศเทคโอเวอร์ ราคาหุ้นก็ดีดตัวขึ้นมารับข่าว ตลาดเชื่อว่าการเทคโอเวอร์ จะทำให้กำไรของบริษัทเติบโตขึ้นรวดเร็ว ตลาดเชื่อว่าคนที่เทคโอเวอร์ มีศักยภาพที่โดดเด่น การเทคโอเวอร์นั้น ไม่กระทบฐานะทางการเงินมากนัก เหตุผลเพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้น "ไม่มากเกินไป" บางบริษัทที่เทคโอเวอร์ก็ไม่ได้ใช้เงินสด แต่เป็นการ "แลกหุ้น" นั่นคือ บริษัทออกหุ้นใหม่ เอาไปให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ถูกเทค หุ้นที่ออกใหม่นี้มีราคาขึ้นไปอีก ดังนั้นทุกฝ่ายได้ประโยชน์
การเทคโอเวอร์จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซักระยะหนึ่งเราก็มี Takeover King หรือ "ราชันย์นักเทคโอเวอร์" ที่สร้างกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมาหยุดได้ ขณะนี้แม้เราจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สัญญาณกระแสการเทคโอเวอร์ ก็เริ่มมาและเร่งตัวขึ้นอย่างน่าจับตามอง
เรื่องที่สาม ซึ่งน่าเกี่ยวกับสองข้อแรก คือ ช่วงก่อนปีวิกฤติ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยยังอยู่ในระดับที่ดีใช้ได้ การเติบโตอยู่ในระดับ 5-6% แต่การส่งออกของประเทศเริ่มชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด เหตุผลในขณะนั้น น่าจะอยู่ที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นบ้างหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจ แต่สิ่งที่ค่อนข้างมั่นใจ คือ สินค้าไทยแข่งขันไม่ค่อยได้
นอกจากนั้น เรายังนำเข้ามหาศาลเพื่อ "ลงทุน" ในเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีการแข่งกันขยายโรงงานกันมากมาย ทำให้ไทยขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก นักเศรษฐศาสตร์ต่างพูดกันว่า คงไม่มีปัญหา เพราะการขาดดุลไม่ใช่เกิดขึ้นจากการซื้อสินค้ามาบริโภค แต่เป็นการนำเข้าสินค้าทุน ที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออกที่จะทำให้ดุลการค้าของเราดี ขึ้นในอนาคต พูดง่ายๆ ดูไปแล้วเศรษฐกิจของไทยยังแข็งแกร่ง ไม่มีอะไรน่ากลัว
มองภาวะปัจจุบัน ตัวเลขการเติบโตของการส่งออก ดูเหมือนจะลดลงมากจากที่ประมาณการไว้เมื่อตอนต้นปี ภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจโดยเฉพาะในยุโรปยังมีโอกาสกลายเป็นวิกฤติได้อีก ครั้งนี้เรายังมีข้อ "ปลอบใจ" ตัวเองว่า เศรษฐกิจน่าจะดี เพราะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่าง "มโหฬาร" ที่จะทำให้การบริโภคภายในประเทศคึกคัก การใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีการทุ่มเงินมหาศาลในการลงทุน โดยเฉพาะในสาธารณูปโภค ซึ่งรวมถึงการป้องกันน้ำท่วมและการคมนาคม น่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในขั้นดี แม้ภาคการส่งออกจะย่ำแย่
พูดมาถึงจุดนี้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตลาดหุ้นไทยขณะนี้น่ากลัวพอสมควรในแง่ของตลาดหุ้น เพราะเรารู้ว่าตลาดหุ้นช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 หลังจากที่ขึ้นไปสูงลิ่วแล้ว ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนถึงวิกฤติในที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าจะเป็น "ตัวช่วย" ที่จะทำให้เราหลีกเลี่ยงความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในครั้งนี้ คือ ฐานะทางการเงินของบริษัทต่างๆ รวมถึงบุคคลธรรมดาที่มีเงิน และเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นขณะนี้ นั่นคือ ช่วงก่อนวิกฤติ บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น ต่างมีหนี้สินมหาศาล เป็นผลจากการขยายงาน "เกินตัว" เพราะคาดการณ์เศรษฐกิจจะดี และความต้องการของสินค้าจะเพิ่มขึ้นมาก ทำให้เมื่อเกิดปัญหาบริษัทต่างแทบเอาตัวไม่รอด ขณะที่ปัจจุบัน ฐานะทางการเงินของบริษัทส่วนใหญ่ ค่อนข้างเข้มแข็ง และต่างป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่อาจเป็นอันตรายได้
ในส่วนของนักลงทุนในตลาดหุ้น ช่วงก่อนวิกฤติ พวกเขาเป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือไม่เป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินที่มีอยู่ไม่มากนัก ส่วนกลุ่มที่เป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ ยังมีอยู่ไม่มาก เมื่อเกิดวิกฤติ พวกเขาก็มีปัญหาทางการเงิน และต่างถอนตัวออกจากตลาดหุ้น แรงซื้อแทบไม่มี มีแต่แรงขาย หุ้นจึงตกแรงและซบเซาไปนาน
ขณะที่ปัจจุบัน ดูเหมือนว่า เราจะมีนักลงทุนที่ "มีเงินและไม่มีหนี้" อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และนักลงทุนสถาบัน และมากขึ้นเรื่อยๆ เม็ดเงินของพวกเขาพร้อมจะเข้ามา "ช้อนหุ้น" ทุกครั้งที่หุ้นปรับตัวลง พูดง่ายๆ ตลาดหุ้นเราไม่ "เปราะบาง" เหมือนช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ
ดังนั้น "เดจาวู" ของผมอาจเป็นแค่ "ภาพหลอน" ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 2 ตุลาคม 2555
No comments:
Post a Comment