Tuesday, September 13, 2011

ทอง ทอง ทอง

ในช่วงนี้ที่หุ้นดูเหมือนจะไม่ไปไหน พันธบัตรและเงินฝากก็มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมากเพียง 3-4% ต่อปีเป็นอย่างมาก ที่ดินเองก็ไม่ขยับ ความปลอดภัยของเงินก็เริ่มมีน้อยลงเพราะภายในหนึ่งปีรัฐบาลก็จะเริ่มค้ำ ประกันเงินฝากของผู้ฝากเงินในแต่ละแบงค์ไม่เกิน 1 ล้านบาท เหนือสิ่งอื่นใด ภาวะเศรษฐกิจโลกก็ยังน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะถดถอยอย่างแรงอีกครั้ง แต่สิ่งที่ร้อนแรงมากก็คือ ทองคำ เพราะราคาทองมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นเป็น “กระทิงดุ” ราคาขึ้นวันเดียว 1,000 บาทต่อบาททองคำ แตะ 26,400 บาท เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 54 โดยที่ราคาตลาดโลกสูงถึง 1,869 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และเป็นการขึ้นต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ นับได้ถึงสิบปีแล้ว การลงทุนในทองคำดูเหมือนว่าจะเป็นการลงทุนที่ “ใช่เลย” สำหรับหลาย ๆ คน เหนือสิ่งอื่นใด ราคาทองคำ “ไม่มีลง” มันมีความปลอดภัยสูงมาก ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเรียกมันว่า “Safe Heaven” มันเป็นสวรรค์ในยามที่เกิดวิกฤติและโกลาหลขึ้นในโลก มาดูกันว่าเราควรลงทุนในทองคำไหม?

ก่อนที่จะพูดถึงเหตุผลในแง่ของ “พื้นฐาน” มาดูสถิติผลตอบแทนของทองคำในระยะยาวที่ผ่านมาก่อน เพราะนี่จะช่วยเตือนสติเราว่า ทองคำนั้น ไม่ได้ “เปล่งแสงวับวาว” ตลอดเวลา และการเข้าไปลงทุนผิดจังหวะก็อาจจะทำให้เราเสียหายรุนแรงได้เหมือนกัน

มองย้อนหลังไปถึงประมาณปี 2520 ซึ่งผมเริ่มทำงานใหม่ ๆ และเคยซื้อทองเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต ผมจำได้ว่าทองรูปพรรณในขณะนั้นราคาบาทละน่าจะประมาณพันบาทต้น ๆ ตีเสียว่าประมาณ 1,100 บาท ถ้าผมเก็บทองชิ้นนั้นไว้ถึงวันนี้เป็นเวลา 34 ปี เท่ากับว่าเงินเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 24 เท่า นี่ดูเหมือนจะมากมโหฬาร แต่ถ้ามาคำนวณผลตอบแทนแบบทบต้นแต่ละปีก็จะพบว่าผลตอบแทนเฉลี่ยนั้นเท่ากับ ประมาณ 10% ต่อปีเท่านั้น ไม่ได้หรูหรามากแต่ก็ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับการลงทุนอย่างอื่น เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ หุ้น ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน “สูงที่สุด”

การลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วง 34 ปีที่ผ่านมานั้นถ้าคิดแบบง่าย ๆ ว่าดัชนีตลาดหุ้นก็คือราคาหุ้นโดยเฉลี่ยทั้งตลาดก็คือประมาณ 100 จุดหรือร้อยบาทในปี 2520 ถ้าเราลงทุนถือมาจนถึงวันนี้ที่ดัชนีตลาดเท่ากับ 1,069 จุดก็คือราคาเพิ่มขึ้นมาเป็น 1,069 บาท หรือเพิ่มขึ้นมา 10.69 เท่า เปรียบเทียบกับราคาทองคำที่ขึ้นมาถึง 24 เท่าก็น่าจะถือว่าการลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นนั้น แต่ละปียังมีปันผลที่มักจะให้ผลตอบแทนประมาณ 3-4% ซึ่งเมื่อรวมกับผลตอบแทนจากการที่ดัชนีเพิ่มขึ้นก็ทำให้หุ้นให้ผลตอบแทน เฉลี่ยแบบทบต้นประมาณ 10% ต่อปีเหมือนกัน ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับการลงทุนที่ผ่านมา 34 ปีก็คือ ทองกับหุ้นให้ผลตอบแทนพอ ๆ กันที่ประมาณ 10% ต่อปี

แต่ผลตอบแทนของทองนั้นก็ไม่ได้สม่ำเสมอและปลอดภัยสุด ๆ อย่างที่หลายคนอาจจะคิด ในช่วงปี 2522 ถึง 2523 นั้น ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นไปอย่างมโหฬารคือเพียงปีเดียวราคาขึ้นไปจากประมาณ 200 เหรียญต่อออนซ์ เป็นประมาณ 850 เหรียญอันเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงเป็นสองหลักหรือกว่า 10% ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอย่างแรงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติใน อิหร่านและการยึดสถานทูตของสหรัฐในอิหร่าน และการที่โซเวียตรุกเข้าไปในอัฟกานิสถาน ถ้าเราเข้าไปซื้อทองเพื่อลงทุนในปี 2523 โดยคิดว่าทองน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมเนื่องจากมันปรับตัวขึ้นเร็ว มากกว่า 300% ในปีเดียว เราก็จะพบว่าเราคิดผิดอย่างแรง เพราะหลังจากที่เหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายลง ราคาทองคำก็ตกลงมาอย่างรวดเร็วเหลือเพียงประมาณ 300 เหรียญต้น ๆ ต่อออนซ์ในปี 2525 และหลังจากนั้น ราคาทองคำก็ไม่ค่อยได้ไปไหน ขยับอยู่ระหว่างประมาณ 250 ถึง 450 เหรียญเป็นเวลาเกือบ 20 ปี จนถึงปี 2544 พูดง่าย ๆ คนที่ถือทองคำอยู่ไม่ได้ผลตอบแทนเลยเป็นเวลา 20 ปี ในขณะที่หุ้นนั้น ทุกปียังมีปันผล “ปลอบใจ” แม้ว่าหุ้นอาจจะนิ่งหรือตกลงมา

ช่วงที่ดีที่สุดของทองคำและเป็นช่วงที่ “ดึง” ผลตอบแทนระยะยาวของทองคำให้สูงขึ้นจนน่าประทับใจก็คือช่วงทศวรรษหรือ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ตั้งแต่ปี 2544 ถึง ปัจจุบัน ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาแทบจะตลอดเวลา จากราคาประมาณ 271 เหรียญเป็นประมาณ 1850 เหรียญต่อออนซ์ในปัจจุบัน คิดแล้วเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 583% หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 21.2% ต่อปีและน่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าทรัพย์สินอื่นทั้งหมด และแม้แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ราคาทองก็ตกลงมาเพียงประมาณ 30% น้อยกว่าตลาดหุ้นที่ตกลงมาเกือบ 50% และหลังจากนั้นทองก็วิ่งขึ้นมาแทบจะไม่สะดุดเลยจนถึงวันนี้

ทองจะไปทางไหนต่อ มันจะยังคงวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือมันใกล้จะเป็นฟองสบู่ เป็นเรื่องที่คาดได้ยาก โดยทฤษฎีแล้ว ทองนั้นจะปรับตัวขึ้นเมื่อเกิดเหตุหรือสภาวการณ์ใหญ่ ๆ 3 ประการด้วยกันคือ เรื่องแรก เมื่อเกิดภาวะ “วิกฤติ” ทางการเงินหรือเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหาสภาพคล่องรุนแรง เช่นเดียวกัน ปัญหาทางการเมืองและสงครามก็มักจะทำให้ราคาทองพุ่ง เหตุผลก็คือ ทองนั้นสามารถรักษามูลค่าของมันได้เสมอ เพราะมันเป็นที่ต้องการของคนทั้งโลก เรื่องที่สองก็คือ เมื่อเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงหรือลดค่าลง เหตุผลก็คือ ทองนั้นเป็นคล้าย ๆ กับเงินสกุลหนึ่งที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าหรือเงินได้ทั้งโลกเหมือน กับเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนกัน ดังนั้น เมื่อเงินดอลลาร์อ่อน ทองก็มัก “แข็ง” หรือมีราคาสูงขึ้นนั่นเอง เรื่องที่สามก็คือ เมื่อเงินเฟ้อมีอัตราสูง นั่นก็คือ มีเงินหมุนเวียนในระบบมากเกินไป มากกว่าของหรือสินค้าที่มีอยู่ ดังนั้น เงินก็จะมาไล่ซื้อทองจึงทำให้ราคาทองปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรักษาค่าของมัน

จากเหตุผล 3 ข้อข้างต้นก็จะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเร็ว ๆ นี้ ภาวะวิกฤติทางการเงินยังคงอยู่ทั้งในยุโรปและอเมริกา เช่นเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็อยู่ในช่วงที่ตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ อย่างรวมถึงการขาดดุลการค้าและงบประมาณที่ทำให้รัฐบาลอเมริกันเป็นหนี้สูง ขึ้นเรื่อย ๆ และสุดท้าย ภาวะเงินเฟ้อก็ดูเหมือนว่าจะสูงขึ้นมากเช่นกัน นอกจากนั้น ปริมาณของทองคำ ซึ่งในโลกนี้ดูเหมือนว่าจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัดนั้น กลับมีความต้องการสูงขึ้น ทั้งจากประชาชนในอินเดียและจีนที่มีรายได้สูงขึ้นมาก และจากธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายโดยเฉพาะจีน อินเดีย และรวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่นไทย ต่างก็มีเงินสำรองที่เป็นดอลลาร์สูงมากและต้องการซื้อทองเพื่อนำมาใช้เป็น ทุนสำรองเพิ่มขึ้น สาเหตุเหล่านี้ทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้ นักเก็งกำไร และรวมถึงนักลงทุน ต่างก็เข้ามาซื้อทองคำส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นไปอีก คำถามก็คือ นี่เป็น “ฟองสบู่ทองคำ” หรือยัง?

ผมเองตอบไม่ได้ แต่วันหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมรู้สึกประหลาดใจมากที่คนดูแลแม่ยายผมซึ่งเราจ้างมา เธอเป็นผู้หญิงอายุเกือบ 50 ปีและไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการลงทุน และเงินก็มีไม่มาก เธอบอกผมว่าเธออยากจะลงทุนซื้อทองซักบาทหนึ่งเพราะเห็นว่าราคามันขึ้นไปสูง มากเป็นกว่าสองหมื่นบาทแล้ว ผมถามว่าเธอรู้ได้อย่างไร เธอบอกว่าเห็นจากทีวี หลังจากนั้นผมก็มาคิดว่า บางทีราคาทองน่าจะใกล้เป็นฟองสบู่แล้ว ดังนั้น ใครที่คิดจะซื้อทองลงทุนก็คงต้องระวัง แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลงทุนไม่ได้เลย ผมคิดว่าการลงทุนไม่เกิน 10% ของพอร์ตการลงทุนรวมก็ไม่น่าจะเสี่ยงมากนัก เหนือสิ่งอื่นใด ทองนั้น มักจะสามารถรักษามูลค่าของมันได้ในยามที่เลวร้ายที่สุด

บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 23 สิงหาคม 2554

No comments:

Post a Comment