Monday, May 4, 2009

แสงที่ปลายอุโมง

ถ้าเดือนตุลาคมของปีที่แล้วเป็นเดือนที่ “เหมืองถล่ม” นั่นคือเปรียบเทียบกับการที่ตลาดหุ้นไทยตกลงมาอย่างหนักเพียงเดือนเดียวถึงประมาณ 30% นั่นคือดัชนีตกจาก 597 จุดตอนสิ้นเดือนกันยายน 2551 เหลือเพียง 417 จุดในตอนสิ้นเดือนตุลาคม 2551 เดือนเมษายนของปีนี้ก็เป็นเดือนที่คนที่ “ติดอยู่ในเหมือง” หรือนักเล่นหุ้นเริ่มเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมง” นั่นคือ ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นเพียงเดือนเดียวจาก 432 จุดในวันสิ้นเดือนมีนาคม เป็น 492 จุด เมื่อสิ้นเดือนเมษายน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 14% และนี่ยังไม่นับรวมปันผลที่จะได้จากบริษัทจำนวนมากที่ประกาศให้สิทธิและจ่ายปันผลในช่วงเดือนนื้อีกไม่น้อยกว่า 3-4%


เดือนตุลาคมปีที่แล้วตลาดหุ้นตกหนักมากเกิดจากเหตุการณ์ ถ้าจำไม่ผิด ก็คือ การล่มสลายของเลย์แมนบราเดอร์ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐไม่เข้าไปช่วยเหลือ เหตุการณ์นั้นผมคิดว่าทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจกำลังเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติที่รัฐบาลก็ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น ทุกคนต่างก็ “หนีตาย” และทำให้หุ้นทั่วโลกรวมถึงบ้านเราที่ดัชนีหุ้นสามารถประคองตัวมาได้พอสมควรตั้งแต่ต้นปี 2551 ตกต่ำลงอย่างแรง หลังจากนั้น “ความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ” ก็ตามมา คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศหดหายลงอย่างรวดเร็ว การลดคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นทั่วไป การพยากรณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเดิมที่บอกว่าน่าจะเติบโตประมาณ 2-3% กลายเป็นติดลบหลายเปอร์เซ็นต์ จนถึงเดือนมีนาคม 2552 ทุกอย่างก็ยังดูมืดมน ตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวยังเลวร้ายลง แต่ดัชนีหุ้นของไทยก็ไม่ได้ตกต่ำลงอีก มันทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 430 จุดบวกลบเล็กน้อยแม้ว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันจะน้อยลงมากจนเรียกว่า “หุ้นซึม”

ถึงเดือนเมษายนปีนี้ แม้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศใหญ่ ๆ ในโลกยังดูเลวร้ายลง แต่การตกต่ำก็ลดลงมาก นั่นไม่สำคัญเท่ากับตัวเลข “ดัชนีชี้นำ” เช่น คำสั่งซื้อสินค้าของผู้ค้าขาย ปริมาณการผลิตของโรงงาน สต็อกสินค้า และการจับจ่ายสินค้าของผู้บริโภค ต่างก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยเอง โรงงานผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์บางแห่งที่เคยปลดคนงานออกต้องให้คนงานทำงานในช่วงวันสงกรานต์เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามามากกว่าที่คาดไว้ โรงงานผลิตรถยนต์บางแห่งที่ลดกะการทำงานเหลือเพียงกะเดียวก็เริ่มวางแผนทำงานเป็นสองกะ แต่ที่สำคัญที่สุดนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องของความมั่นใจของผู้บริโภคโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐและในยุโรปที่เดือนเมษายนปีนี้ดัชนีความมั่นใจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

นอกจากตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้น เดือนเมษายนยังเป็นเดือนที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงินเริ่มประกาศผลการดำเนินงานไตรมาศหนึ่ง ตัวเลขผลการดำเนินงานโดยเฉพาะของแบ้งค์ใหญ่ ๆ ระดับโลกที่ออกมานั้น ดูดีอย่างน่าประหลาดใจ เช่นเดียวกัน แบ้งค์ต่าง ๆ ในเมืองไทยเองก็มีผลการดำเนินงานที่ต้องถือว่าดีพอควรและดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีปัญหาหนี้เสียมากมายอย่างที่อาจจะเกรงกลัวกัน ทั้งหมดนี้ทำให้นักลงทุนทั่วโลกกลับเข้ามาซื้อหุ้นและทำให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สำคัญ ๆ ทั่วโลกปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดโดยเฉลี่ยน่าจะประมาณ 20-30% ภายในเวลาสั้น ๆ

ตลาดหุ้นไทยเองนั้น ตัวเลขทุกอย่างดูเหมือนจะสอดคล้องกับตัวเลขของต่างประเทศ เหตุก็เพราะเ ศรษฐกิจของเราอิงอยู่กับการส่งออกสูงมาก อย่างไรก็ตาม เดือนเมษายนปีนี้ เราต้องประสบกับเหตุการณ์การจลาจลที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่บั่นทอนเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยไม่น้อย และนี่อาจจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นน้อยกว่าเพื่อนบ้านในเอเซียและในอเมริกา บางคนมองว่าเรายังโชคดีที่เหตุการณ์จบลงในเวลาอันสั้น มิฉะนั้น ตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ไปไหนเลย

แม้ว่าจะ “เห็นแสงที่ปลายอุโมง” แล้ว แต่ก็ยังมีความกังวลกันมาก เหตุก็เพราะว่า คนจำนวนมากก็ยังไม่แน่ใจว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะถาวรหรือไม่ มันอาจจะเป็นเรื่องของการปรับตัวชั่วคราวเนื่องจากที่ผ่านมามีการลดกำลังการผลิตลงไปมากจนทำให้สต็อกสินค้าต่ำลงไปมากเกินไป ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องรีบผลิตเพิ่มกลับมา แต่หลังจากนั้นแล้ว ถ้าความต้องการของผู้บริโภคยังน้อยอยู่อย่างเดิม การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืนและเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว ตอนนี้ก็เริ่มมีอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดเม็กซิโกที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะลามไปทั้งโลกหรือไม่และจะมีคนป่วยจำนวนมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสเหมือนกันที่มันอาจจะรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและแน่นอนกระทบตลาดหุ้นอย่างรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโลกเราเคยเผชิญกับโรคซาร์และไข้หวัดนกมาแล้ว ดังนั้น น่าจะสามารถจัดการกับไข้หวัดเม็กซิโกได้ในไม่ช้า

กลับมาที่ประเทศไทย การเมืองที่เคยเป็นปัจจัยลบรุนแรงในช่วงเดือนเมษายนนั้น ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าทุกอย่างจบลงแล้วและจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น ความเสี่ยงเฉพาะสำหรับประเทศไทยเองก็คงยังสูงกว่าเพื่อนบ้านและอาจทำให้ดัชนีตลาดหุ้นบ้านเราไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เท่ากับเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการเมืองนี้ผมคิดว่าน่าจะลดลงแล้ว

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกและไทยน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวนับจากวันนี้และผมไม่คิดว่ามันจะฟุบลงไปอีก แสงที่ปลายอุโมงนั้นอาจจะยังไม่ใช่ทางออกแต่มันน่าจะนำไปสู่ทางออกในที่สุด ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นมานั้น ยังไม่สูงเกินไป เห็นได้จากตัวเลข ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีของตลาดนั้นอยู่ที่เพียงประมาณ 1 เท่าเศษ ๆ ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ต่ำที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์หุ้นไทย และที่สำคัญก็คือ ผลตอบแทนเงินปันผลต่อราคาหุ้นอยู่ในระดับที่สูงถึงกว่า 5% ต่อปี ซึ่งทำให้การลงทุนในช่วงเวลานี้ถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับการฝากเงินในธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยน้อยนิด ก่อนที่จะจบบทความผมอยากจะฝากข้อคิดเกี่ยวกับตลาดหุ้นว่า ตลาดหุ้นนั้น “ปีนกำแพงแห่งความกังวล” หมายความว่า ตลาดหุ้นนั้นปรับตัวขึ้นไปทั้ง ๆ ที่คนยังกังวลกันมากกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นและคิดว่าจะเกิดขึ้น ว่าที่จริง ถ้าคนเลิกกังวลเมื่อไร เมื่อนั้นหุ้นก็จะตกลงมามาก

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 4 พ.ค 2552

No comments:

Post a Comment