ในยามที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก ประกอบกับภาวะการเมืองในประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรง อุตสาหกรรมที่ถูกกระทบรุนแรงที่สุดอย่างหนึ่งดูเหมือนว่าจะเป็น การท่องเที่ยว มาดูกันว่าหุ้นกลุ่มไหนและตัวไหนโดน “แจ็คพ้อต” และเราควรที่จะ “หนี” หรือ “สู้”
หุ้นกลุ่มที่ถูกกระทบอย่างชัดเจนนั้น แน่นอนก็คือ กลุ่มโรงแรม หุ้นตัวที่ถูกกระทบไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ หุ้นการบินไทย THAI) และหุ้นท่าอากาศยานไทย AOT) ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้นทั้งหมดนั้นตกต่ำลงมามหาศาล ราคาหุ้นส่วนใหญ่ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัท ว่าที่จริงจำนวนมากมีราคาหุ้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าทางบัญชี และถ้าจะพูดต่อไปอีกก็อาจจะบอกได้ว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชีของบริษัทเหล่านั้นก็ค่อนข้างต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่แล้ว เนื่องจากทรัพย์สินที่บริษัทซื้อมา เช่นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก็มักเป็นราคาเดิมที่ซื้อมานานในราคาที่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น ข้อสรุปก็คือ ราคาหุ้นของกิจการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังกล่าวมีราคาที่ต่ำสุด ๆ และนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญในการลงทุนหรือไม่?
ผมคงตอบคำถามนั้นไม่ได้ แต่อยากจะอธิบายถึงคุณลักษณะหรือธรรมชาติของกิจการดังกล่าวว่าพฤติกรรมของการดำเนินงานจะเป็นอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกก็คือ มันเป็นกิจการที่จะต้องลงทุนในตอนเริ่มแรกสูงมาก การสร้างโรงแรมแต่ละแห่งต้องใช้เงินเป็นพันล้านบาท การซื้อเครื่องบินแต่ละเครื่องนั้นเฉลี่ยลำละหลายพันล้าน การสร้างสนามบินนั้นต้องใช้เงินหลายหมื่นหรือเป็นแสนล้านบาท ดังนั้น ทุกปี บริษัทก็จะมีต้นทุนการดำเนินงานที่เป็นค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินจำนวนมากไม่ว่าจะมีการใช้ทรัพย์สินนั้นมากหรือน้อยแค่ไหน นี่เป็นต้นทุนคงที่หรือตายตัว
ข้อสองก็คือ ต้นทุนในการให้บริการกับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการนั้นมักจะไม่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่ได้รับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าพลังงาน และก็เงินเดือนของพนักงาน ดังนั้น มาร์จินหรือส่วนต่างรายได้กับรายจ่ายที่บริษัทต้องควักกระเป๋าสำหรับลูกค้าแต่ละรายจะค่อนข้างสูง อย่างในกรณีของโรงแรมนั้น หลายแห่งกำไรครึ่งต่อครึ่งสำหรับลูกค้าแต่ละราย หรืออย่างในกรณีของสนามบินนั้น รายได้ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้เดินทางนั้นมีต้นทุนในการให้บริการต่อหัวน้อยมาก ส่วนสำคัญก็อาจจะเป็นค่าพนักงานเก็บเงิน และนี่ก็นำมาสู่ข้อสรุปในข้อที่สาม
ข้อสามที่เป็นข้อสรุปก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางดังกล่าวนั้น กำไรขาดทุนขึ้นอยู่กับจำนวนลูกค้าและรายได้ที่ได้รับมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ มาก เหตุผลก็คือ บริษัทเหล่านั้น มีต้นทุนคงที่สูงมากในขณะที่ต้นทุนที่แปรผันตามจำนวนลูกค้าต่ำมาก ลองนึกดูว่า ต้นทุนของโรงแรมนั้นจำนวนมากอยู่ที่ค่าเสื่อมราคาและพนักงานประจำที่บริษัทต้องจ่ายเงินเดือนมากมาย ดังนั้นไม่ว่าจะมีลูกค้าเข้าพักมากหรือน้อยต้นทุนก็ไม่ต่างกันมาก แต่ถ้าลูกค้าเข้าพักน้อยรายได้น้อยพวกเขาจะขาดทุน เมื่อลูกค้าเข้าพักถึงจุดหนึ่งเช่นอาจจะเป็น 50% ก็จะเท่าทุน แต่ถ้าลูกค้าเข้าพักมากกว่านั้นกำไรก็จะดีขึ้นและดีขึ้นมากเมื่อลูกค้าเข้าพักถึง 70% ของห้องทั้งหมด
เช่นเดียวกัน เครื่องบินที่บินขึ้นฟ้านั้น ไม่ว่าจะมีผู้โดยสารกี่คน ต้นทุนก็แทบไม่ต่างกัน แต่ถ้ามีผู้โดยสารเพียง 50% ของที่นั่ง รายได้ก็แค่ 50% บริษัทอาจเท่าทุน แต่ถ้าผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 50 คนเป็น 60% ส่วนที่เพิ่มนั้นจะกลายเป็นกำไรทั้งหมด ในกรณีของสนามบินก็ยิ่งเห็นผลกระทบแบบนี้มากขึ้นไปอีก สรุปแล้วก็คือ ธุรกิจการท่องเที่ยวเดินทางนั้น จะดูว่าธุรกิจดีหรือไม่ต้องดูเรื่องของปริมาณลูกค้าและรายได้ว่าบริษัททำได้ดีแค่ไหน และถ้าจะให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ ดูเรื่องเปอร์เซ็นต์ของการใช้ห้องหรือใช้ที่นั่ง ถ้าอัตราส่วนการใช้สูง ผลการดำเนินงานของบริษัทก็จะดีและดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อยเป็นทวีคูณ
ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ในสภาวะที่นักท่องเที่ยวหดตัวลงค่อนข้างมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ ทำให้กิจการที่เกี่ยวข้องเกิดการขาดทุนหรือกำไรลดลงมากเพราะต้นทุนส่วนใหญ่นั้นไม่สามารถลดได้ นั่นทำให้ราคาหุ้นลดลงมาก แต่ถ้าเรามองดูแล้วว่านักท่องเที่ยวที่หายไปนั้น ในที่สุดก็จะกลับมาเมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดีขึ้นและการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น เมื่อนั้น กิจการที่เกี่ยวข้องก็จะดีขึ้นแบบทวีคูณ และแน่นอน ราคาหุ้นก็น่าจะกลับเหมือนเดิมก่อนที่มันจะตกลงไป ดังนั้น การเล่นหุ้นแบบนี้ก็คือ การที่เราพนันว่า ในที่สุดทุกอย่างก็จะคลี่คลายและนักท่องเที่ยวจะกลับมา
เช่นเคย ผมคงไม่ตอบคำถามนี้ แต่จากความรู้สึกของผม การท่องเที่ยวเดินทางนั้น มันเป็นเหมือนสิ่งที่ฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการที่อยากจะเดินทางแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ผมมักจะได้ยินคนพูดว่า ถ้ามีเงินเขาอยากจะเดินทางรอบโลกเพื่อที่จะไปเที่ยวเห็นสิ่งใหม่ ๆ ตัวเลขการเดินทางท่องเที่ยวของโลกนั้นเติบโตต่อเนื่องมาตลอด ตัวเลขของเมืองไทยเองในช่วงสิบปีที่ผ่านมาก็โตขึ้นโดยเฉลี่ย ประมาณปีละ 6- 7% โดยที่มีการสะดุดน้อยมากแม้ว่าเราจะผ่านภาวะที่ “เลวร้าย” มามากมายไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ ไข้หวัดนก สึนามิ การปฏิวัติ และอื่น ๆ อีกมาก คนมักจะคิดว่าครั้งนี้ “ไม่เหมือนเดิม” แต่ผมเองคิดว่า ครั้งนี้ก็คงจะเหมือนเดิม ไม่เชื่อก็มาพนันกันไหม?
บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 27 เม.ย.2552
No comments:
Post a Comment