Tuesday, April 21, 2009

แนวรบด้านตะวันออก

การลงทุนนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับการทำสงคราม เพียงแต่เป็นสงครามทางการเงินที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อและชีวิต สิ่งที่จะเสียก็คือเงินถ้าเรา “แพ้สงคราม” ตรงกันข้าม เราจะได้เงินถ้าเรา “ชนะสงคราม” เราในฐานะของนักลงทุน ถ้าจะเปรียบก็คือ “แม่ทัพ” สิ่งที่เราต้องทำก็คือ “การวางยุทธศาสตร์สงคราม” นั่นก็คือ การตัดสินใจในการ “วางกำลัง” ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวและจัดเป็นพอร์ตโฟลิโอซึ่งก็จะคล้าย ๆ กับการจัดกองทัพเป็นหลาย ๆ กองที่จะทำให้สามารถชนะสงครามได้



ผมคงไม่พูดถึงการจัด “กองทัพหุ้น” เพื่อเอาชนะสงครามในวันนี้ เหตุผลก็เพราะว่าคนที่ลงทุนในวันนี้ต่างก็กำลังอยู่ในภาวะที่กำลังจะ “แพ้สงคราม” คือขาดทุนกันมากมาย ถ้าเปรียบไปก็เหมือนกับการที่ข้าศึกกำลังรุกรบเข้ามาด้วยพลังการยิงมหาศาล เรากำลังจะพ่ายแพ้ ประเทศกำลังใกล้จะถูกยึดครอง ทหารล้มตายกันมาก เรามีทางเลือกสองทางคือ หนึ่ง ถอยเพื่อตั้งหลักใหม่ หรือ สอง สู้ต่อเพื่อรอให้สถานการณ์เปลี่ยนแล้วกลับมารบชนะในที่สุด พูดง่าย ๆ ในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและหุ้นที่เราถืออยู่ตกลงมามากมายแบบนี้ เราควรล้างพอร์ตและเก็บเงินที่ยังพอเหลืออยู่ไว้เพื่อกลับมาลงทุนต่อในภายหลัง หรือ ยังคงถือหุ้นเกือบทั้งหมดไว้ในพอร์ตเพื่อหวังว่าราคาหุ้นจะตีกลับมาเมื่อสถานการณ์ตลาดหุ้นฟื้นตัว

ผมอยากจะยกบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อให้ข้อคิดกับการที่เราจะสู้หรือจะถอยในการลงทุนเมื่อเราประสบกับการสูญเสียอย่างหนัก มันเป็นศึกสองครั้งที่นักประวัติศาสตร์สงครามต้องจารึกว่าเป็นการตัดสินใจที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีของสงคราม นั่นคือ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งกำลังจะแพ้ กลายเป็นผู้ชนะสงครามในท้ายที่สุด

ศึกแรกก็คือการถอยของกองทัพเคลื่อนที่เร็วของอังกฤษที่ส่งไปช่วยป้องกันฝรั่งเศษที่ชายหาดเมืองดังเคิร์ก หรือที่เรียกว่า “ปฎิบัติการไดนาโม” นี่คือยุทธการที่เกิดขึ้นเมื่อกองทัพเยอรมันได้ใช้ “ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ” รุกรบจนสามารถยึดฝรั่งเศษได้อย่างรวดเร็วและตัดขาดกองกำลังของฝ่ายพันธมิตรออกเป็นส่วน ๆ กองทัพเคลื่อนที่เร็วของอังกฤษตัดสินใจหนีจากการปิดล้อมและอพยพกำลังพลทั้งหมดออกทางชายหาดดังเคิร์ก ภายในเวลาเพียงประมาณ 10 วัน กองกำลังทหารกว่าสามแสนนายก็สามารถข้ามช่องแคบอังกฤษกลับสู่ประเทศได้โดยทิ้งสัมภาระและอาวุธยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดรวมทั้งเครื่องบินและเรือที่ถูกทำลายเกือบสองร้อยลำ

ยุทธการไดนาโมนั้น แน่นอน เกิดการสูญเสียมหาศาล อย่างไรก็ตาม การถอยหนีอย่างรวดเร็วเมื่อเห็นว่ากำลังพ่ายแพ้ก็ทำให้อังกฤษสามารถรักษาชีวิตทหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการรบดีที่สุดเอาไว้ได้ กำลังทหารจำนวนกว่าห้าแสนนายที่หนีกลับอังกฤษได้ในยุทธการไดนาโมนั้น ในช่วงต่อมาของสงคราม ได้กลายเป็นกองกำลังหลักและเป็นนายทหารที่คุมกำลังทหารรุ่นใหม่ ๆ เข้าสู้รบกับฝ่ายอักษะอย่างสามารถอาจหาญและเป็นฝ่ายชนะสงครามในที่สุด

ในการลงทุนนั้น ถ้าเราวิเคราะห์ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายมากและโอกาสที่จะฟื้นตัวยังยาวไกลหรือมองไม่เห็น ทันทีที่เห็นสัญญาณ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ รีบหนี รักษาเงินที่ยังเหลืออยู่ค่อนข้างมากเอาไว้ อย่าปล่อยให้การลงทุน “สลายไปต่อหน้า”

ศึกที่สองคือปฏิบัติการ Barbarossa ของเยอรมันที่รุกรบเข้าไปเพื่อยึดครองรัสเซียหลังจากยึดครองฝรั่งเศษและยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ไว้ได้แล้ว และนี่คือสิ่งที่คนชอบเรียกกัน
ว่า “แนวรบด้านตะวันออก” นี่คือการศึก “แห่งศตวรรษ” ที่มีการสู้รบที่รุนแรงและโหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายอักษะสามารถรุกไปประชิดเมืองหลวงคือมอสโกและเมืองหลักอีกสองเมืองคือ เลนินกราดทางเหนือ และสตาลินกราดทางใต้ได้อย่างรวดเร็ว ว่ากันว่าทหารเยอรมันสามารถมองเห็นยอดปราสาทในเมืองแล้ว ความพ่ายแพ้ของรัสเซียดูเหมือนจะ “ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้”

แต่รัสเซียไม่ถอย สตาลินสั่งให้ทหารสู้ตาย ไม่ใช่แค่นั้น เขาประกาศว่า ถ้าทหารคนไหนยอมแพ้เขาจะกลายเป็นคนทรยศต่อประเทศ ลูกของเขาจะถูกลดปันส่วนอาหาร และพ่อแม่จะถูกส่งไปเข้าค่ายกักกันในไซบีเรีย และถ้าตัวเชลยสงครามหนีรอดกลับมาได้เขาก็จะถูกจับเข้าค่ายทำงานหนักหรือถูกยิงทิ้งทันที ดังนั้น การรบในแนวรบด้านตะวันออกโดยเฉพาะการรบในเมืองสตาลินกราดจึงดุเดือดและรุนแรงมากที่สุดและกลายเป็น “การศึกแห่งศตวรรษ”

และแล้ว ก่อนที่เมืองหลวงและเมืองหลักของรัสเซียจะแตกเพียงไม่กี่วัน หิมะก็ตกลงมาอย่างหนัก อาวุธหนักโดยเฉพาะรถถังและทหารเยอรมันต้องหยุดลง กองทัพเยอรมันที่ไม่ได้เตรียมสำหรับอุณหภูมิที่ติดลบหลายสิบองศาของรัสเซียต้องต่อสู้กับความหนาวเหน็บอย่างทรมาน ในเวลาเดียวกัน รัสเซียมีเวลาเตรียมตัวและเสริมกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปรับมือกับกองทัพเยอรมันอย่างเต็มกำลัง กองทัพทั้งสองฝ่ายยันกันเป็นเวลานานเป็นปี ๆ โดยที่รัสเซียแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ และฝ่ายอักษะอ่อนแอลงเรื่อย ๆ ทั้งจากการรบกับรัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตรที่รุกเข้ามาทางด้านตะวันตก จนในที่สุดรัสเซียก็กลายเป็นฝ่ายรุกและเข้ายึดกรุงเบอร์ลินในที่สุด

การรบในแนวรบด้านตะวันออกสอนบทเรียนในการลงทุนให้เราว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด แต่เราเห็นแล้วว่าสถานการณ์ในที่สุดจะต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เราจะต้องยืนหยัดลงทุนต่อไป การถอนตัวจากตลาดจะเป็นหายนะที่แท้จริง เฉกเช่นกับการที่สตาลินรู้ว่าฤดูหนาวที่โหดร้ายกำลังมาและการยันกำลังของเยอรมันไม่ให้เข้าเมืองที่จะสามารถหลบหนาวในอาคารได้จะทำให้ทหารเยอรมันต้องติดกับหิมะในพื้นที่โล่ง และนั่นจะทำให้สถานการณ์การรบเปลี่ยนแปลงไป รัสเซียจะต้องเป็นฝ่ายชนะในท้ายที่สุด

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะแนะนำให้นักลงทุนยืนหยัดลงทุนในหุ้นเต็มที่ในสภาวการณ์เศรษฐกิจวิกฤติในขณะนี้ แม้ผมเองจะเชื่อว่า การรบรอบนี้เป็น “แนวรบด้านตะวันออก” ที่ผมจะยืนหยัดต่อสู้และหวังว่าจะชนะเมื่อเวลาผ่านไปอีกสองสามปี การลงทุนนั้น ทุกคนจะต้องเป็น “แม่ทัพ” เอง ไม่มีใครทำแทนได้ ตัดสินใจถูกก็ชนะ ตัดสินใจผิดก็พ่ายแพ้ ไม่ตัดสินใจก็คือการตัดสินใจ ขอให้สนุกกับการทำสงครามที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อครับ

บทความนี้ลงในบล็อกดร.นิเวศน์เมื่อ 20 เม.ย. 2552



No comments:

Post a Comment