Wednesday, July 28, 2010

กำเนิด VI...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

พื้นฐานของชีวิตและการเริ่มต้นเป็น Value Investor หรือนักลงทุนของแต่ละคนนั้นบอกอะไรบางอย่างถึงแนวทางหรือกลยุทธการลงทุนของ เขา รวมถึงการคาดการณ์อนาคตที่เขาจะไปถึงได้

วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น “เกิดมาเพื่อที่จะเป็นนักลงทุนเอกของโลก” เพราะเขารักการหาเงินและลงทุนตั้งแต่เด็ก เขาเกิดในช่วงเวลาและในประเทศที่เหมาะสม และได้พบและเรียนรู้ศาสตร์การลงทุนจาก เบน เกรแฮม ปรมาจารย์ด้านการลงทุนเอกของโลก กลยุทธและวิธีการของเขาก็คือ ลงทุนระยะยาวและโตไปกับเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองสุด ๆ ของอเมริกา จอร์จ โซรอส นั้น เป็นเด็กหนุ่มชาวยิวฮังการีที่ต้องหนีนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง ความคิดของเขาก็คือ ต้องเร็วและเอาตัวรอดให้ได้ การลงทุนของเขานั้นดูเหมือนจะคล้าย ๆ กับการต่อสู้หรือสงคราม นั่นคือ เข้า “โจมตี” อย่างรุนแรง รวดเร็ว “เผด็จศึก” เป็นครั้ง ๆ เขาทำกำไรจากหายนะเช่นเดียวกับความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ


ผมเองเริ่มต้นชีวิต VI จากการที่ต้องหาทางเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ “คุกคาม” ชีวิตการทำงานในฐานะลูกจ้างบริษัทของผม ในตอนเริ่มต้นชีวิตการลงทุนในครั้งนั้น ผมไม่ได้วางแผนหรือตระหนักว่าเส้นทางสายนี้จะนำผมไปสู่ความมั่งคั่งและชื่อ เสียงในฐานะ VI ชั้นนำ ผมเพียงแต่คิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นในแนวทาง Value Investment นั้น คือทางออกที่จะทำให้ผมยังมีชีวิตในฐานะชนชั้นกลางแบบที่ผมเป็นอยู่ในขณะนั้น ได้แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการทำงานหรือรายได้ประจำลดลงมาก กลยุทธการลงทุนของผมจึงเน้นที่ “ความปลอดภัย” หรือการ “ปกป้องเงินต้น” เป็นหัวใจหลัก อะไรที่ทำให้การลงทุนมีโอกาสขาดทุน “อย่างถาวร” ผมจะหลีกเลี่ยง การลงทุนของผมแต่ละครั้งจะต้อง “ไม่ขาดทุน”

ถึงวันนี้ที่ Value Investment เป็นทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนไม่น้อย ผมเห็นว่าการเริ่มต้นของคนเหล่านี้สามารถแยกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่มด้วยกันคือ

กลุ่มแรก คนทำงานกินเงินเดือน อายุประมาณ 30-45 ปี นี่คือกลุ่ม VI ที่เริ่มสนใจลงทุนเนื่องจากตระหนักว่าตนเองจำเป็นที่จะต้องออมเงินเพื่อการ เกษียณหรือบางคนต้องการสร้างอนาคตและเห็นว่าการฝากเงินนั้นเป็น “การลงทุน” ที่แย่มาก คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่มีความมั่งคั่งไม่มาก เงินทุกบาททุกสตางค์ “หามาได้ยาก” การที่มันจะ “หายไป” หรือลดน้อยลงเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจรุนแรง ดังนั้น กลยุทธการลงทุนจึงมักจะ “อนุรักษ์นิยม” และไม่ลงทุนในหุ้นมากนัก หุ้นที่เลือกลงทุนต้องเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีและขนาดไม่เล็กเกินไป ระยะการลงทุนก็มักจะค่อนข้างยาวเนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาในการติดตามมากนัก เป้าหมายผลตอบแทนในการลงทุนก็มักจะไม่สูง แต่พวกเขาก็ยังหวังได้ประมาณปีละ 15-20%

กลุ่มที่สองเป็น “เด็กจบใหม่” ที่พ่อแม่เป็นคนชั้นกลาง พวกเขาไม่ได้มีเงินสนับสนุนจากทางบ้านในการลงทุนแต่ก็ไม่ได้มีภาระต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ยังไม่แต่งงานเพราะอายุยังไม่ถึง 30 ปี พวกเขาเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานที่ค่อนข้างสูงที่จะ “รวย” เป็นเศรษฐีในเวลาอาจจะแค่ 10-15 ปี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกเขาได้อ่านประวัติของนักลงทุนเอกหรือนักลงทุนที่ ประสบความสำเร็จอื่น ๆ จนทำให้คิดว่าเขาก็น่าจะทำได้แบบเดียวกันหรือดีกว่า ว่าที่จริงหลาย ๆ คนก็สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่น่าประทับใจมากเช่นทำกำไรได้ 100% ภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือน เป็นต้น

VI ในกลุ่มนี้ค่อนข้างจะใช้กลยุทธการลงทุนที่ “กล้าได้กล้าเสีย” และมักจะลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีผลประกอบการไม่แน่นอนแต่มีช่วงเวลาที่โดด เด่นที่จะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นให้สูงขึ้นได้หลายเท่าในเวลาไม่นาน เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคนเหล่านี้ก็คือ ถ้าพลาดเขาก็สามารถหาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเม็ดเงินที่ยังน้อย พวกเขาก็ไม่สามารถเป็น “ผู้นำ” ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้น พวกเขาจึงมักจะเป็น “ผู้ตาม” ที่คอยรับอานิสงค์จาก VI “ขาใหญ่” ดังนั้น ผลตอบแทนของพวกเขาจึงอาจจะไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับคนที่มีพอร์ตใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร VI ในกลุ่มนี้จะเป็นคนที่ค่อนข้างจะกระตือรือร้นและมุ่งมั่น พวกเขาใช้เวลากับการลงทุนค่อนข้างมากและมีการเทรดหุ้นสูง

กลุ่มที่สาม นี่คือกลุ่มคนที่มักทำธุรกิจและมีเงินเหลือที่ถูกเก็บสะสมมานาน พวกเขาเป็นคนรวยหรือเป็นเศรษฐีที่อาจจะเริ่มมีเวลามากขึ้นเนื่องจากธุรกิจ อยู่ตัวแล้วหรือธุรกิจที่ทำอยู่เริ่ม “ตกดิน” เขาอาจจะเริ่มสนใจหาทางลงทุนเงินสดที่กองอยู่ในธนาคารที่แทบจะไม่ได้ ดอกเบี้ย เขาอาจจะพบว่าการลงทุนแบบ VI นั้น เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งแทนที่จะใช้เงินนั้นไปสร้างธุรกิจใหม่ คนกลุ่มนี้จึงมักเลือกลงทุนในกิจการที่มีขนาดกลาง ๆ มีความมั่นคงพอสมควรและมีพื้นฐานดี พวกเขาเข้าใจดีว่าธุรกิจไหนเป็น “ของจริงหรือของปลอม” การลงทุนของพวกเขามักจะเป็นการลงทุนระยะยาว หลายคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนนั้น เนื่องจากเม็ดเงินเริ่มต้นจำนวนมาก ทำให้พวกเขากลายเป็น VI “รายใหญ่” ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในเวลาอันสั้น และทำให้มีบทบาท “ชี้นำ” ในหลาย ๆ กรณี

กลุ่มที่สี่ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ กลุ่ม “ลูกเศรษฐี” นี่คือนักลงทุนหนุ่มสาวหน้าใหม่ที่ผมเห็นว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้ง จำนวนและมูลค่าพอร์ตการลงทุนในหุ้น ลูกเศรษฐีที่ว่านี้จริง ๆ แล้ว ส่วนใหญ่อาจจะไม่ใช่เศรษฐีใหญ่ที่ลูกจะสามารถหรือควรสืบทอดกิจการ พวกเขามีธุรกิจหรือมีทรัพย์สินและมีเงิน แต่งานของพวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ลูกเข้าไปช่วยทำ ลูก ๆ ของพวกเขาควรไปเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทใหญ่ ๆ มากกว่า แต่การไปทำงานเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนนั้นเป็นกิจกรรมที่เหนื่อยและได้เงิน น้อยมาก ดังนั้น หนทางที่ดีกว่าก็คือ การลงทุนที่จะให้เงินมาช่วยทำงาน และนี่ก็มาถึงการลงทุนในหุ้นซึ่งเป็นกิจกรรมที่ “ทำได้ง่ายที่สุด” และอาจจะ “เหนื่อยน้อยที่สุด” และนั่นนำไปสู่การเป็น VI

VI ที่เป็นลูกคนรวยนั้น ในช่วงเริ่มต้นพ่อแม่ก็อาจจะให้เงินไป “ลอง” เพียง 1-2 ล้านบาท แต่ครั้นได้ลองทำและได้ผลตอบแทนอย่าง “น่าทึ่ง” ในเวลาอันสั้น พวกเขาก็มักจะได้เงินลงทุนเพิ่มจากพ่อแม่ที่เห็นศักยภาพ หลายคนสามารถต่อยอดเงินไปสูงมากจนร่ำรวยเป็น “เศรษฐี” ด้วยตนเองในเวลาอันสั้น VI กลุ่มนี้โดยพฤติกรรมก็คือ มักจะมีความกล้าเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ เหตุผลก็คือ เสียก็ไม่เป็นไรเพราะอาจจะขอพ่อแม่ใหม่ได้หรือไม่ก็กลับไปทำงานกินเงิน เดือน พวกเขาจะลงทุนหุ้นเป็นตัว ๆ เหมือนนักเก็งกำไร หลายคนสามารถ “ไล่หุ้น” ที่มีขนาดเล็กและไม่ใคร่มีสภาพคล่องได้ทำให้กลายเป็น “ผู้นำ” ที่มีอิทธิพลต่อราคาหุ้นและทำให้สามารถลงทุนและได้ผลตอบแทนอย่างน่าทึ่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า นี่คือกลุ่ม “Golden Boy” ในตลาดหุ้นที่น่าจับตามอง เพราะพวกเขาอาจจะมีทั้งเงิน ความสามารถ และเวลาในการลงทุนอีกยาวไกล ถ้าไม่ “แพ้ภัยตนเอง” เสียก่อน

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 10 กรกฎาคม 2553

No comments:

Post a Comment