ในโลกของการลงทุนนั้น มีแนวความคิดใหญ่ ๆ น่าจะประมาณ 3 แบบนั่นคือ Value Investment ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ที่เก่าที่สุดนำโดย เบน เกรแฮม Growth Investment หรือการลงทุนในหุ้นที่เติบโตเร็วนำโดย ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์ และ Passive Investment หรือการลงทุนที่ไม่ต้องเลือกหุ้นแต่ซื้อหุ้นทุกตัวที่อยู่ในดัชนีหรือในตลาด ซึ่งเป็น “โรงเรียน” ล่าสุดที่นำโดยนักวิชาการการเงินแต่คนที่มีชื่อเสียงน่าจะเป็นกองทุนอิง ดัชนี Vanguard ที่ก่อตั้งและบริหารโดย จอห์น โบเกิล ส่วนแนวทางอื่น ๆ นั้นมักเป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่แตกแขนงออกไป มีคนใช้และศึกษาน้อยเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็น “โรงเรียน”
แนวทางของ Value Investment นั้น มีหลักการที่เข้มข้นเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตำราที่ต้องใช้ศาสตร์หลาย ๆ อย่างเฉพาะอย่างยิ่งทางการเงินในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของหลัก ทรัพย์ ดังนั้น คนที่ศึกษาจำเป็นต้องมีความรู้หลายอย่างรวมถึงความสามารถในการคำนวณทางการ เงินถึงจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง หนังสือที่เป็น “ไบเบิล” ของ Value Investment เช่น Securities Analysis ของ เบน เกรแฮม นั้น หนามากและอ่านยากเท่า ๆ กับความ “น่าเบื่อ” ซึ่งแม้แต่คนที่เรียนมาทางการเงินโดยตรงก็พบว่ากว่าจะอ่านจบก็เหนื่อยที เดียว
หัวใจของ Value Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกหรือราคาต่ำกว่า “พื้นฐาน”ของกิจการ โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมักเน้นไปที่ข้อมูลหรือตัวเลขทางการเงินเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน กำไรที่เป็นตัวเลขในอดีตที่ผ่านมาเป็นต้น ส่วนความถูกของราคาหุ้นก็มักจะดูจากค่า PE และ PB ว่าจะต้องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เวลาเลือกหุ้นโดยใช้มาตรฐานแบบนี้ หุ้นที่เข้าข่ายเป็นหุ้น Value จึงเป็นหุ้นที่มีค่า PE และ PB ต่ำเป็นหลัก ซึ่งหุ้นประเภทนี้ส่วนมากมักเป็นหุ้นที่นักลงทุนไม่ค่อยสนใจจะลงทุนเนื่อง จากเหตุผลหลายอย่างแต่ที่สำคัญก็คือเป็นหุ้นของกิจการที่มี “คุณภาพต่ำ” และคำว่าคุณภาพต่ำก็มีความหมายกว้างมากเช่น เป็นกิจการที่ไม่โตหรือเป็นกิจการ “ตะวันตกดิน” ผู้บริหารมีปัญหาในด้านของบรรษัทภิบาล หรือ กำไรลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่แน่นอน เป็นต้น
หัวใจของ Growth Investment นั้นอยู่ที่การซื้อหุ้นที่เติบโตเร็ว บริษัทมีคุณภาพดีหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ มีศักยภาพสูงในการที่จะเติบโตในอนาคตด้วยเหตุผลต่าง ๆ รวมถึงผู้บริหารที่มีความสามารถสูง มีตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในที่สุดจะทำ กำไรมหาศาล ดังนั้น การซื้อหุ้นไว้จะทำให้ได้กำไรงดงามเมื่อบริษัทประสบความสำเร็จและเติบโตไป ตามที่คาด ส่วนเรื่องของราคาหุ้น แม้ว่าอาจจะดูว่ามีราคาแพงในวันนี้ โดยที่ค่า PE และ PB อาจจะสูงหรือสูงมากในวันนี้เนื่องจากกำไรของบริษัทยังอาจจะน้อยหรือไม่มี กำไรเลย แต่ในอนาคตเมื่อกำไรเพิ่มขึ้น ค่า PE ก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหุ้นที่ไม่แพง อย่างไรก็ตาม Growth Investor นั้นสนใจค่า PE น้อยกว่าการเติบโตของรายได้และกำไร
ผมคงไม่พูดถึง Passive Investment เพราะเขาไม่เลือกหุ้นอยู่แล้ว พวกเขาคิดว่าตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นตลาดที่มี “ประสิทธิภาพ” ในการกำหนดราคาหุ้นให้เหมาะสมกับพื้นฐานของหุ้นทุกตัว ดังนั้นไม่ต้องไปเลือก ซื้อเฉลี่ยไปทุกตัวและถือไว้ตลอดเวลา ซึ่งก็จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมคือประมาณปีละเกือบ 10% ในระยะยาว
จุดอ่อนของความคิดแบบ Value Investment ก็คือ การเน้นไปที่ความถูกของหุ้นเพียงอย่างเดียว ทำให้มักเลือกหุ้นที่มีคุณภาพต่ำ หุ้นเหล่านี้อาจจะให้ผลตอบแทนพอใช้ได้แต่ก็ไม่โดดเด่นนัก หุ้นถูกหรือถูกมากเหล่านั้นเมื่อเวลาผ่านไปมันก็ยังคงถูกอยู่อย่างเดิม ดังนั้นนักลงทุนก็อาจจะไม่ได้อะไร เวลาของการรอคอยเพื่อที่จะให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาสะท้อนพื้นฐานบางครั้ง มันนานมากจนไม่คุ้มที่จะรอ เพราะว่าเงินนั้นมีต้นทุนและมีค่าเสียโอกาส
จุดอ่อนของ Growth Investment ก็คือ มันไม่ค่อยคำนึงถึงราคาหุ้นที่อาจจะแพงเกินไป มันอิงอยู่กับการคาดการณ์อนาคตของบริษัทว่าจะโตแบบก้าวกระโดด ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามคาด หุ้นก็อาจจะตกลงมาอย่างแรงได้ เหนือสิ่งอื่นใด ศาสตร์ของการมองอนาคตนั้นไม่หนักแน่นมั่นคง โอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีมหาศาลและหลายเรื่องไม่อาจคาดได้ ดังนั้น การซื้อหุ้นโดยไม่สนใจหรือสนใจน้อยในเรื่องของราคารวมถึงปัจจัยพื้นฐานทาง การเงินหรือตัวเลขอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
ทางเลือกก็คือ จับแนวความคิดของ Value มารวมกับ Growth เพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนของการลงทุนทั้งสองแบบ ขณะเดียวกัน ได้จุดแข็งของแต่ละแนวทางมาใช้ในการลงทุน แนวทางของ Value+Growth Investment นั้น เราจะเน้นการวิเคราะห์ที่เป็น “แก่น” โดยใช้ Value Investemnt ที่มีการตรวจสอบบริษัทอย่างเข้มข้นเป็นหลัก หลังจากนั้น เราจะมองทางด้านของคุณสมบัติทางด้านคุณภาพ โดยเฉพาะโอกาสในการเติบโตของบริษัท ในแบบของ Growth Investment ซึ่งจะต้องมองถึงศักยภาพด้วยไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขในอดีต เช่นเดียวกัน จะต้องมองไปถึงความสามารถในการแข่งขันของบริษัทและคู่แข่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในภาวะแวดล้อมและตลาดของสินค้าในอนาคต
การเลือกลงทุนแบบ Value + Growth นั้น เราจะไม่เลือกโดยยึดถือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเป็นหลัก เราจะไม่เลือกเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดในด้านของ คุณสมบัติและการเติบโตของบริษัท แต่เราจะเลือกเพราะหุ้นนั้นเป็นกิจการที่ดีและแข็งแรงมีการเติบโตที่ดีพอใน ขณะเดียวกันหุ้นมีราคาถูกหรือมีราคาที่เหมาะสม นี่เป็นศาสตร์ที่เราจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ วอเร็น บัฟเฟตต์ ใช้แนวทางนี้ เซียนหุ้นจำนวนมากใช้แนวทางนี้ ผมเองก็ใช้แนวทางนี้ แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยบอกว่าตนเอง “เปลี่ยนสี” บัฟเฟตต์บอกว่า Growth กับ Value นั้นเหมือนกับแฝดสยามที่มีตัวติดกันที่ “สะโพก” นั่นก็คือ Growth หรือการเจริญเติบโตนั้น ที่จริงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของ Value มันแยกกันไม่ออก
ถ้าจะพูดไป เมื่อเป็น Value Investor ถึงจุดหนึ่ง คุณก็จะรู้ว่า Value Investment นั้น แท้ที่จริงเป็น “กระบวนการในการคิด” ที่ต้องมีเหตุผลในด้านของการลงทุนรองรับ มันไม่มีเรื่องของ Growth เรื่องของ โมเมนตัม และเรื่องอื่น ๆ ร้อยแปดที่แยกออกมาต่างหาก ทุกเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันคือ มัน “Make Sense” หรือไม่
บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ28 พฤษภาคม 2553
No comments:
Post a Comment