นักวิเคราะห์หุ้นแบบ Value นั้น แตกต่างจากนักวิเคราะห์หุ้น “มืออาชีพ” ทั่วไปในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ Value Investor ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิเคราะห์ “กิจการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดของบริษัท และด้านการตลาดที่ว่าก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว การแข่งขัน หรือถ้าจะพูดให้โก้เก๋ก็คือ “สงคราม” การตลาดระหว่างบริษัทกับคู่ต่อสู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งและบริษัทไหนจะร่วง ในเรื่องนี้ อัล รีส และแจ๊ค เทร้าท์ กูรูการตลาดระดับเซียนได้เขียนไว้นานแล้วในหนังสือเรื่อง Marketing Warfare พวกเขาอธิบายว่าสงครามการตลาดนั้น ไม่ได้แตกต่างจากสงครามจริงมากนักในด้านของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้ กฏของสงคราม ซึ่งคิดค้นโดย คาร์ล วอน คลอสวิตซ์ “บิดาแห่งการสงคราม” สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตลาดได้อย่างเยี่ยมยอด และต่อไปนี้ก็คือกฏที่สำคัญที่สุดบางข้อที่นักลงทุนควรรู้
กฏข้อแรกก็คือ ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ในสงครามทุกครั้ง กองทัพที่มีไพร่พลมากกว่าย่อมเป็นผู้ชนะ อย่าไปพูดถึงเรื่องของคุณภาพของคน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เยอรมันพ่ายแพ้แก่สัมพันธมิตรที่มีกำลังพลและทรัพยากรต่าง ๆ มากกว่ามาก โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกัน ในสงครามการตลาดนั้น บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีงบโฆษณามหาศาล มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า รบอย่างไร บริษัทใหญ่ก็ชนะทุกที ดังนั้น เป็นการยากที่บริษัทเล็กจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ แน่นอน ในบางช่วงบางตอน เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้น ๆ แต่จะให้ได้ชัยชนะขนาดเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก
เรื่องของคุณภาพของคนหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เราหลงผิดได้ เราอาจจะคิดว่าฝ่ายหนึ่งมีคนที่เหนือกว่า หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นกว่า ดังนั้น ฝ่ายนั้นก็น่าจะเป็นฝ่ายที่ชนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามักจะเน้นว่า “ปริมาณไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ” แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง ในสงครามโลกหรือสงครามอื่น ๆ นั้น จากการวิจัยพบว่า แทบไม่มีศึกครั้งไหนที่ฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่าสามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลัง พลมากกว่ามากได้ เปรียบไปก็เหมือนกับรถเก๋งปะทะกับรถสิบล้อ โอกาสที่รถสิบล้อจะยับนั้นยากมาก เช่นเดียวกัน ในเรื่องการตลาด ต่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นจะ “ดีเลิศ” กว่าของคู่แข่งแค่ไหน แต่มันเป็นรายเล็ก มีทรัพยากรน้อย สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผู้บริโภคเองก็อาจจะคิดว่า “ถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้ว” ดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ “ดีเลิศ” นั้น
กฏข้อสอง ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ ในการสงครามนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับมักจะยึดชัยภูมิที่อยู่สูงหรือมีสนามเพาะเป็นแนวป้องกันข้า ศึก ดังนั้น เวลารบกันก็จะได้เปรียบมาก เพราะเวลาศัตรูบุกเข้ามา โอกาสที่จะถูกยิงนั้นสูงกว่าเนื่องจากไม่มีที่กำบัง กฏของสงครามคือ ถ้าจะชนะได้ ฝ่ายรุกจะต้องมีกำลังพลเป็นสามเท่าของฝ่ายรับ สงครามนับครั้งไม่ถ้วนก็แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ในสงครามการตลาดเองนั้น ผู้นำที่ยึด “ชัยภูมิ” การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้ว ก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายาม “โจมตี” อย่างไร ก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะคู่แข่งจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นสามเท่า ดังนั้น ในหลาย ๆ กรณี ผมเคยถูกถามว่าถ้าคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่มากจากต่างประเทศเข้ามาแข่งกับ บริษัทของเราที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นในประเทศไทยเราจะทำอย่างไร คำตอบของผมก็คือ เขาก็ “ตาย” สถานเดียว เพราะในต่างประเทศเขาอาจจะใหญ่และยึดชัยภูมิที่ดีไว้แล้วไม่มีใครทำอะไรเขา ได้ แต่ในเมืองไทย เขาเป็นฝ่ายรุกและเป็นรายเล็ก ดังนั้น เสียเปรียบทุกอย่าง
กฏข้อที่สาม ศึกษา “ชัยภูมิ” ของข้าศึกแล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา จากนั้นเราก็สามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม ชัยภูมิของการสงครามนั้นก็จะเป็นภูเขา แม่น้ำ หรือภูมิประเทศทางกายภาพอื่น ๆ แต่ชัยภูมิทางการตลาดนั้น ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเค้าน์เตอร์ขายสินค้า แต่อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง ภูเขาของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า ภูเขาของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ “จอง” หรือยึดชัยภูมิสำคัญในสมองของผู้บริโภคไว้แล้ว ยากที่คู่แข่งจะเข้าตีได้ง่าย ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน “ชัยภูมิ” ใด ประเด็นสำคัญก็คือ เราอยากได้บริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ เช่น “เป็นภูผาที่สูงชันและล้อมรอบด้วยน้ำ” เราไม่อยากได้บริษัทที่อยู่ใน “หุบเขาที่เปิดโล่งและล้อมด้วยป่าทึบ”
พูดถึงสงครามและการตลาดแล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนกัน เช่นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองหรือการชุมนุมเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะนี้ ผมมองดูแล้ว หลักหรือกฏของสงครามที่กล่าวถึงก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันและผมคิด ว่าต่างฝ่ายต่างก็รู้ถึงกฏของกำลัง กฏของความได้เปรียบในแง่ของการตั้งรับและเรื่องของ “ชัยภูมิ” เป็นอย่างดี และน่าจะมีการนำมาใช้ซึ่งทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผมยกขึ้นมาพูดถึงนั้น ไม่ได้ต้องการที่จะวิจารณ์อะไร เพียงแต่ต้องการที่จะย้ำให้เห็นว่า กฏของสงครามนี้ เป็นกฏที่น่าจะถูกต้องและประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง
บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 17 เมษายน 2553
No comments:
Post a Comment