ผมเพิ่งกลับจากการท่องเที่ยวที่อิตาลีและอังกฤษ และก็เช่นเคย ผมมีข้อสังเกตจาก สิ่งที่พบเห็น
เรื่องแรก คือ
ผมเพิ่งตระหนักว่า พนักงานบริการ เช่น
พนักงานเสิร์ฟอาหารตามภัตตาคารโดยเฉพาะในอิตาลี ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ
30-40 ปี ที่เป็นผู้หญิงมีน้อยมาก ทำให้ผมแปลกใจ เพราะบ้านเรา
หรือแถบเอเชีย มักจะเห็นผู้หญิงมากกว่า ทำให้ผมคิดว่า งานในอิตาลี
หรือหลายๆ ประเทศในยุโรปคงจะหายาก งานเสิร์ฟจึงเป็นงานที่มีรายได้ดี
จึงมีคนแย่งกันทำ และผู้ชายเข้ามาทำกันมาก
และไม่ใช่เป็นงานชั่วคราวเพื่อรองานอื่น แต่เป็นอาชีพที่ "พ่อบ้าน"
ทำกันเป็นงานประจำ ผมนึกต่อไปถึงญี่ปุ่น
ผมเคยเห็นผู้ชายอายุมากทำงานเป็นคนนั่งเฝ้าสถานที่อาบน้ำร้อนของผู้หญิง
อุทาหรณ์เรื่องนี้ คือ
แรงงานที่สำคัญถูกใช้ไปทำงานที่ไม่ได้เพิ่มคุณค่ามากนักทางเศรษฐกิจ
อาจบ่งบอกว่า ในระยะยาว ประเทศ อาจจะไปไม่ได้ไกลมากนัก จากจุดที่เป็นอยู่
ผมเองก็ไม่รู้ว่าผู้หญิงอิตาลีหรือยุโรป ทำงานอะไรเป็นหลัก
หรืออยู่มากในภาคไหนของเศรษฐกิจ
เรื่องที่สอง ก็คือ คนแจวเรือกอนโดลา ที่เมืองเวนิส เรือกอนโดลา
เป็นเรือโบราณที่นักท่องเที่ยวใช้นั่งชมเมือง เป็นเรือที่ใช้คนพาย
แต่สิ่งที่ผมทึ่ง ก็คือ ค่าจ้างของคนพายเรือ
ในเวลาครึ่งชั่วโมงของการให้บริการ คนพายเรือคิดค่าบริการตกเป็นเงินไทย
4,000-5,000 บาท คร่าวๆ ถ้าทำ วันละ 4-5 เที่ยว โดยเฉลี่ยได้เงินวันละ
20,000 บาท เดือนหนึ่งถ้าทำสัก 20 วัน ก็จะมีรายได้ถึงเดือนละ 4 แสนบาท
ถ้าเป็นคนไทยรายได้ขนาดนี้ คงต้องเป็นคนระดับซีอีโอของบริษัท
ผมเชื่อว่าอาชีพนี้คงมีการสงวนไว้เฉพาะแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้
ความเชื่อของผมเรื่องนี้ คือ รายได้ของคนแจวเรือกอนโดลา ซึ่งผมดูแล้ว
ไม่ได้มีทักษะพิเศษอะไร แต่ได้ผลตอบแทนสูงมาก
เมื่อเทียบกับคนที่ทำงานหนักเท่าๆ กันในเมืองไทย
หรือประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ แสดงว่า คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้
คงได้เงินเดือนที่สูงมากเมื่อเทียบกับงานที่ทำ แต่ถ้าถามว่า
ทำไมนักท่องเที่ยวยอมจ่าย คำตอบ คือ เมืองเวนิส
เป็นเมืองสุดยอดที่น่าเที่ยวเมืองหนึ่งของโลก ผมหรือคนจำนวนมากจึงยอมจ่าย
เพื่อโอกาสอันพิเศษสุดนี้ ถ้าเปรียบไป
คนเอเชียหรือคนเมืองอื่นที่มาเที่ยวเวนิส หรืออีกหลายๆ เมืองในอิตาลี
หรือในยุโรปยอมทำงานหนักและงานที่ใช้ความสามารถสูง
เพื่อจะผลิตสินค้ามาให้คนเวนิสใช้เต็มที่
โดยที่คนเวนิสอาจตอบแทนด้วยการให้คนเหล่านั้นมาพักและนั่งเรือกอนโดลาที่พาย
โดยคนเวนิสปีละครั้ง ดูไปแล้วไม่ใคร่ยุติธรรม
แต่ผมก็ไม่รู้ว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้จะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าไร
เรื่องที่สาม ที่น่าแปลกใจ คือ ห้าง สินค้าแบรนด์เนมหรูหลุยส์วิตตอง
ในกรุงลอนดอน พบว่า ลูกค้าต้องเข้าคิวรอเข้าชมสินค้า
เพราะเขาจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าชมและซื้อสินค้า แต่สิ่งที่น่าทึ่ง คือ
80-90% ของคนที่อยู่ในร้านและรอคิวอยู่ เป็นคนหน้าตาแบบ เอเชีย
ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว สินค้าของหลุยส์วิตตอง
เราทราบดีว่าราคาสูงกว่าต้นทุนมาก เรียกว่าทำกำไรให้กับเจ้าของมหาศาล
และผมเชื่อว่า ผลิตในแถบเอเชียด้วยต้นทุนต่ำมาก
และขายให้คนเอเชียในราคาสูงมาก เปรียบไปแล้วเหมือนกับว่า
คนเอเชียต้องทำงานหนัก เพื่อผลิตสินค้าให้คนยุโรปใช้
แล้วกลับไปขอแบ่งสินค้าบางส่วนกลับมา
พร้อมกับความยินดีที่ได้สินค้ามีชื่อเอามาอวดเพื่อนที่บ้าน
พูดถึงสินค้าแบรนด์เนม ในระหว่างที่อยู่อังกฤษ
ผมได้ข่าวว่าบริษัทผู้ผลิตและขายสินค้าแบรนด์ดังอย่างปราด้า
ซึ่งเป็นเจ้าของยี่ห้อมิวมิว กำลังขายสินค้าดีระเบิดในเอเชีย
หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าคนเอเชีย เห่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมดังๆ
แบบเดียวกับคนอังกฤษเข้าห้างไพร์มมาร์ค
ซึ่งเป็นห้างขายสินค้าแฟชั่นราคาถูกคุณภาพดีกลางกรุงลอนดอน
ผมฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่า บางทีโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป
คนอังกฤษและคนยุโรปกำลังหันมาซื้อสินค้าราคาถูกคุณภาพใช้ได้ ส่วนคนเอเชีย
ยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นมากให้กับคนยุโรปเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมเพื่อ
"หน้าตา" ผมก็ไม่รู้ว่าแนวทางธุรกิจแบบนี้ จะไปได้นานแค่ไหน
ถ้าให้เดาจากคิวของลูกค้าร้านหลุยส์วิตตอง
ผมคิดว่าคงไม่เร็วนักที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
จากเหตุการณ์ 3 เรื่องนี้ ผมเองสรุปว่า ยุโรปวันนี้
น่าจะเป็นยุโรปที่กำลัง "ตกดิน" มาตรฐานความเป็นอยู่ที่ยังสูงมากวันนี้
ดูเหมือนกำลังหยุดนิ่งและค่อยๆ ลดต่ำลง คนทำงานน้อยลง
คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำงาน นั่นคือ ตกงาน และไม่ได้ทำงานที่ใช้ทักษะสูงนัก
จำนวนมากทำงานบริการพื้นๆ ที่คนเอเชียทำได้ดีไม่แพ้กัน
สิ่งที่ทำให้ยุโรปยังดำรงความโดดเด่น คือ
ยุโรปมีประวัติศาสตร์ยาวนานและยิ่งใหญ่ มีโบราณสถานที่ทำให้คนมาท่องเที่ยว
และยอมจ่ายเงินแพงมาก และยัง "ผูกขาด" เรื่อง "การเป็นผู้มีรสนิยมสูง"
ผ่านสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก สองสิ่งนี้
มีส่วนสำคัญที่ช่วยรักษาสถานะการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงของยุโรปไว้
การที่ยุโรปจะก้าวหน้าหรือโตต่อไป ดูแล้วน่ายากเหลือเกิน
พื้นฐานสำคัญจริงๆ ของการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงได้จริงๆ
ในโลกที่เป็นโลกาภิวัตน์ ก็คือ คุณต้องทำงานหนักและเป็นงานที่มีคุณค่าสูง
พูดมาเสียยาว ถ้าจะถามว่านี่จะมีอะไรเกี่ยวกับการลงทุนหรือเปล่า?
คำตอบของผม คือ คงเกี่ยวบ้างในแง่วิเคราะห์สถานการณ์ยุโรป
ที่กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงช่วงนี้ ในความคิดของผม
คนยุโรป น่าจะใช้ชีวิตที่สูงกว่าความสามารถของตนมานานโดย ผ่านการกู้หนี้
หรือ "ยืมอนาคตมาใช้" แต่อนาคตที่ว่านั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีอยู่จริง
ยุโรปจึงต้องลดมาตรฐานความเป็นอยู่ลง
นี่คือ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น อาจผ่านสิ่งที่เรียกว่า "วิกฤติเศรษฐกิจ"
ผมพูดแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมกำลังทำนายว่ากรีซจะ "ไปไม่รอด"
หรืออิตาลีจะต้องประสบภาวะวิกฤติเร็วๆ นี้
บางทียุโรปอาจลดมาตรฐานการดำรงชีวิตลงอย่างช้าๆ เทียบกับคนเอเชียได้
โดยไม่ต้องผ่านวิกฤติเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่า ยุโรป กำลังตกดิน
และจะไม่กลับมายิ่งใหญ่อีกในชั่วอายุของเรา
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 4 ตุลาคม 2554
No comments:
Post a Comment