Monday, October 24, 2011
จะซื้อหรือขายหุ้น
ในช่วงที่ตลาดหุ้น ตกลงมาอย่างหนักในช่วงเวลาสั้นๆ คนที่ไม่ได้ถือหุ้นอยู่ หรือถือไว้น้อยมาก ก็มักจะถามว่า “ซื้อหุ้นได้หรือยัง?”
คนกลุ่มนี้มักจะเป็นนัก เล่นหุ้นสมัครเล่น และเป็นคนมีเงินที่พร้อมเข้าไปเสี่ยงเก็งกำไรจากตลาดหุ้นเป็นครั้งคราว กลยุทธ์ของเขา ก็คือ ช้อนซื้อหุ้นในช่วงที่มันตกต่ำเพราะตลาดเกิด “แพนิค” นั่นคือ นักลงทุนตกใจจากภาวะน่ากลัวทางเศรษฐกิจและเทขายหุ้นอย่างหนัก ทำให้ดัชนีปรับตัวลงแรง ความเชื่อของพวกเขา ก็คือ เมื่อหุ้นตกลงมาแรง มันก็มักจะ “กระเด้ง” กลับขึ้นไปอย่างแรงเช่นกัน ดังนั้น เขาอยากรู้ว่าดัชนีที่ตกต่ำลงมามากในระยะเวลาอันสั้นนั้น ถึง “พื้น” หรือยัง ถ้าผมตอบว่า “หุ้นมันก็ลงมามากน่าสนใจแล้ว-ถ้าถือไปสัก 2-3 ปี” เขาก็จะเข้าไป “ช้อน” ซื้อหุ้นทันที
เกณฑ์ที่ผมใช้ในการให้คำแนะนำที่ “จำเป็น” ต้องทำนี้ ก็คือ ผมจะดูว่าดัชนีหุ้นได้ตกลงมามากน้อยแค่ไหน-จากต้นปี ผมเองไม่เคยจำดัชนีสูงสุดในระหว่างปีได้และก็ไม่สนใจดูด้วยเพราะผมชอบมอง ระยะยาวมากกว่า ถ้าผมพบว่าหุ้นได้ตกลงมามากพอสมควรนับจากต้นปี ผมก็คิดว่าความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนก็น่าจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม นี่จะต้องประกอบกับการดูย้อนหลังไปอย่างน้อย 2-3 ปีด้วยว่า ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นหรือลงมากน้อยแค่ไหน ถ้าหุ้นติดลบมาต่อเนื่องกัน ผมก็จะรู้สึกว่าความเสี่ยงในการเข้าไปซื้อหุ้นก็น่าจะลดลงไปอีก แต่ถ้า 2-3 ปีนั้น หุ้นได้ขึ้นมามากอย่างที่เป็นอยู่ ผมก็จะระวังมากขึ้น ลึกๆ แล้ว ผมคิดว่าถ้าสิ้นปีนี้ ดัชนีต่ำกว่าสิ้นปีที่แล้วบ้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การที่ดัชนีหุ้นในช่วงนี้ต่ำกว่าเมื่อตอนต้นปีประมาณ 10% มันก็ไม่น่าจะบอกได้ว่าหุ้นในขณะนี้มีราคาต่ำมากมายอะไรนัก แม้ว่ามันจะตกลงมากว่า 20% แล้วถ้านับจากกลางปี เหนือสิ่งอื่นใด สถิติหุ้นไทยนั้น ในเวลา 10 ปี หุ้นจะขึ้นประมาณ 6 ปี และหุ้นจะตกประมาณ 4 ปี
นอกจากเรื่องของผลตอบแทนที่ผ่านมาทั้งปีปัจจุบันและปีย้อนหลัง 2-3 ปีแล้ว ผมยังดูด้วยว่าดัชนีที่ตกลงมามากนั้น ทำให้ค่า PE ค่า PB และผลตอบแทนจากปันผลจะเป็นเท่าไร ถ้าค่า PE และค่าอื่นๆ นั้น ชี้ว่าหุ้นในตลาดโดยเฉลี่ยไม่แพง ผมก็จะถือว่าความน่าสนใจในการซื้อหุ้นน่าจะอยู่ในระดับกลางๆ
ขณะเดียวกัน เรื่องของค่าความถูกความแพงของตลาดที่วัดด้วย PE และค่าอื่นๆ แล้ว ผมยังต้องดูสภาวะทางเศรษฐกิจการเงินของโลกและประเทศไทยด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ในช่วง 1-2 ปีที่จะมาถึง ถ้าสภาวะไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงที่จะเลวร้ายลงมากโดยเฉพาะกับเศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงของการลงทุนซื้อหุ้นก็จะสูงขึ้น แต่ถ้าผมมั่นใจว่าอย่างไรเสียเศรษฐกิจไทยก็น่าจะยังดีอยู่พอสมควรแม้ว่า เศรษฐกิจต่างประเทศอาจจะไม่ดีนัก แบบนี้ การที่หุ้นตกเพราะคนกลัวภาวะเศรษฐกิจโลก ก็อาจจะเป็นโอกาสของการเข้าไปช้อนซื้อหุ้นได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นก็เป็นเรื่องของคนที่ไม่ค่อยมีหุ้นอยู่ในมือและก็ มักจะไม่ใช่คนที่มุ่งมั่นหรือทุ่มเทกับการลงทุนมากนัก แต่สำหรับคนที่ถือหุ้นอยู่มากและเอาจริงเอาจังกับการลงทุนคำถามก็มักจะกลับ กันว่าการที่หุ้นตกหนักมากนั้น เขาควรขายหุ้นหรือเปล่า เพื่อลดการสูญเสีย เขาควรรักษาเงินสดเอาไว้เพื่อรอกลับมาซื้อหุ้นที่จะตกต่ำและถูกลงไปอีกหรือ ไม่ พวกเขาคิดว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายในต่างประเทศอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทย ถดถอยลง และนั่นจะกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและทำให้หุ้นตกลง ดังนั้น แม้ว่าค่า PE ตลาดในปัจจุบันอาจจะไม่สูง หุ้นราคาไม่แพง แต่ในอนาคตค่า PE ก็จะสูงขึ้นเพราะค่า E หรือกำไรจะลดลง ถ้าเป็นแบบนี้หุ้นก็จะตกลงไปอีก ดังนั้น ทางออกที่ดีกว่า ก็คือ ขายหุ้นทิ้ง อย่างน้อยก็บางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงลง และเมื่อหุ้นตกต่ำถึง “พื้น” แล้วค่อยคิดซื้อหุ้นคืนภายหลัง
ประเด็น ก็คือ เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าหุ้นที่ได้ปรับตัวลงมาอย่างหนัก แล้ว จะตกลงต่อไป ประสบการณ์ในทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ “วิกฤติ” และทำให้หุ้นตกลงมารุนแรงนั้น ก็จะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะ “กระเด้ง” ขึ้นมารุนแรงเป็นช่วงๆ และก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเลยหรือจะตกลงไปใหม่อีก ที่ยิ่งยากไปกว่านั้น ก็คือ หุ้นตัวที่เราถืออยู่อาจจะมีพฤติกรรมการขึ้นลงแตกต่างจากภาวะตลาดโดยรวม ด้วย นั่นคือ หุ้นตัวที่ถืออยู่อาจจะแย่หรือดีกว่าตลาด ทำให้การวิเคราะห์ภาวะตลาดได้ถูกต้องนั้น ไม่มีประโยชน์ เช่น ดัชนีตลาดอาจจะลงต่อ แต่หุ้นที่เราถืออยู่บางตัวอาจจะปรับตัวขึ้นไปแล้ว ดังนั้น ถ้าเราขายหุ้นไปโดยหวังว่าหุ้นจะลงแล้วเราเข้าไปซื้อกลับมาก็จะเป็นการ ตัดสินใจที่ผิดพลาด
สุดท้าย สำหรับคนที่มีหุ้นจำนวนหนึ่งและก็มีเงินสดที่พร้อมจะลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มเติม ได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็คือ เขาอาจจะอยากถามว่า เขาควรขายหุ้นที่มีอยู่หรือซื้อหุ้นเพิ่มดี คำถามของเขาก็คงมาจากความคิดว่าหุ้นในขณะนั้น ถูกหรือแพง และคำตอบ ก็คือ เขาไม่มั่นใจ แต่ละวันที่ผ่านไปเขาอาจจะพยายามประเมินด้วยความกระสับกระส่ายเมื่อเห็นราคา หุ้นที่เคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างรวดเร็ว วันหนึ่งเขาอาจจะนึกอยากขาย แต่อีกวันหนึ่งก็คิดว่าเขาควรจะซื้อเพิ่ม เขาอยากฟังคำแนะนำหรือความคิดเห็นของคนที่เขานับถือว่ามีความสามารถและ เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และลงทุนในตลาดหุ้นแต่ความเห็นของแต่ละคนก็ยังไม่ สอดคล้องกัน สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจขายเพื่อ “ลดความเครียด” โดยการขายหุ้นทิ้ง
ความเห็นของผมสำหรับคนที่ยังคิดไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ถูกว่าจะซื้อหรือ ขายหุ้นดี ก็คือ เราควรอยู่เฉยๆ เพราะการที่เราคิดไม่ออกระหว่างการซื้อหรือขาย นั่นอาจจะแปลว่า ราคาหุ้นอาจจะ “ก้ำกึ่ง” มากระหว่าง “ถูกหรือแพง” นั่นแปลว่า หุ้นคงไม่มี Margin of Safety หรือส่วนต่างของความปลอดภัยในกรณีที่เราจะซื้อ ดังนั้น การซื้อคงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้อง เช่นเดียวกัน การขายในช่วงที่ตลาดกำลังแพนิคนั้น ตามประสบการณ์ของผม มักเป็นการขายที่แย่หรือได้ราคาที่ต่ำที่สุด เพราะถึงแม้ว่าตลาดยังมีแนวโน้มที่จะลงอยู่ แต่ในระยะสั้นๆ บ่อยครั้งหุ้นมักกระเด้งกลับขึ้นมาให้เราได้ขายในราคาที่ดีกว่าวันที่หุ้นตก รุนแรงแบบคนตื่นตูม มันจึงไม่ใช่เวลาที่ควรขาย
สรุปแล้ว ถ้าเรายังคิดไม่ออกว่าเราควรขายหรือซื้อหุ้น เราก็ควรจะอยู่เฉยๆ ในตลาดหุ้นนั้น ไม่มีใครบังคับให้เราต้องตัดสินใจ ยกเว้นในกรณีที่เราใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นและหุ้นของเราถูกบังคับขายเพราะ ราคาตกลงมามาก ซึ่งในกรณีนั้น มันก็มักจะเป็นหายนะ และนี่ก็เป็นอีกคำแนะนำหนึ่งของผมว่า ในยามที่หุ้นมีความผันผวนและอาจจะมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น อย่าใช้มาร์จิน และถ้าเรามีเงินกู้มาร์จินอยู่ จงลดมาร์จินให้หมด
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 11 ตุลาคม 2554
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment