กลยุทธ์ "ยอดนิยม" ของบริษัทในตลาดหุ้น คือ ถ้ากิจการของบริษัทดี หรืออยู่ในช่วง "ขาขึ้น" บริษัทก็ไปเทคโอเวอร์กิจการที่ทำเหมือนกัน แต่อาจทำไม่ได้ดีเท่าเข้ามาเพิ่มเติม การทำแบบนี้ อาจทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นไปอีก หรืออย่างน้อยทำให้คน "เชื่อ" ว่ากิจการของบริษัทจะดีขึ้นไปอีก ผลคือ ราคาหุ้นจะ "วิ่งระเบิด" ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว บริษัทอาจไม่ดีขึ้นเลย เมื่อคำนึงถึงเม็ดเงินที่ต้องใช้ในการซื้อกิจการ ที่อาจสูงไม่คุ้มค่ากับกำไรที่ได้เพิ่มขึ้น เหตุผลคือ คนที่ขายกิจการ เขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร คงไม่ยอมขายถูกๆ ประเด็นอยู่ที่ว่า เมื่อซื้อกิจการแล้ว คนซื้อสามารถ "เพิ่มมูลค่า" กิจการได้มากน้อยแค่ไหน อย่าไปคิดว่าบริษัทชำนาญในการบริหารกิจการประเภทนั้นอยู่แล้ว และการเทคโอเวอร์กิจการแบบเดียวกันต้องมี Synergy หรือลดต้นทุนลงได้มาก เราต้องวิเคราะห์ถึงแหล่งของการประหยัดที่ว่านั้นได้จริงๆ ไม่ใช่เชื่อแต่คำพูดของผู้บริหารโดยไม่ตั้งคำถาม การเทคโอเวอร์สำหรับผมแล้ว มันเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย และอะไรที่ทำได้ง่าย ผมมักจะ "ไม่ให้ราคา" มากนัก
ถ้ากิจการบริษัทไม่ดี หรืออยู่ช่วง "ขาลง" หรือบางที "เจ๊ง" อยู่ บริษัทต้องการ "Turnaround" หรือฟื้นฟูกิจการให้กลับมามีกำไร บริษัทก็ไปซื้อกิจการ หรือไปสร้างธุรกิจใหม่ที่กำลังมีอนาคต "สดใส" เป็นธุรกิจ "Sun Rise" หรือธุรกิจที่กำลังเติบโต ทุกคนกล่าวขวัญถึงตัวอย่าง เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเฉพาะที่ขายโดยได้เงินชดเชยจากหน่วยงานของรัฐ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่กำลัง "ร้อนแรง" หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ "มีกำไร" อยู่แล้ว เจ้าของอาจ "โอนเข้ามา" ในบริษัท ผลคือ ราคาหุ้นก็จะ "วิ่งระเบิด" ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง กำไรที่จะเกิดขึ้น อาจไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับเงินที่ต้องใช้ลงทุน ตัวธุรกิจใหม่ ยังไม่รู้ว่าจะเติบโตต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน การ Turnaround หรือฟื้นตัว อาจไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจเดิมเลย หุ้นแบบนี้จึงไม่น่าเป็นหุ้น Turnaround แต่เป็นเรื่องการทำ "ธุรกิจใหม่" ซึ่งบริษัทไม่เคยมีประสบการณ์ หุ้นจึงไม่น่ามี Value หรือมูลค่ามากนัก แค่เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย และอะไรที่ทำได้ง่าย ผมมัก "ไม่ให้ราคา" มากนัก
การที่ผมไม่ให้ราคาธุรกิจที่ทำได้ง่าย เพราะธุรกิจเหล่านั้น จะไม่สามารถทำกำไรสูงๆ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์สูงได้ในระยะยาว พูดง่ายๆ กำไรที่ได้มา ต้องอาศัยการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และสินทรัพย์ที่สูง ก็ต้องอาศัยเงินทุนของเจ้าของมาก และเงินทุนนี้มี "ต้นทุน" ซึ่งคิดไปแล้วอาจจะพอๆ กับกำไรที่ได้รับ ส่วนสาเหตุที่ธุรกิจที่ทำได้ง่ายไม่สามารถทำกำไรสูงได้ เพราะถ้าธุรกิจนั้นทำเงินมากๆ บางช่วงเวลา จะมีคนอื่นเข้ามาทำแข่ง เมื่อมีคนมาแข่งมาก ราคาสินค้าก็จะลดลง สุดท้ายกำไรของธุรกิจก็ลดลง และเมื่อกำไรธุรกิจลดลง ราคาหุ้นก็จะลดลง
ที่ผมพูดว่าธุรกิจที่ทำได้ง่าย ไม่ได้หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่บริษัทขาย ทำได้ง่าย ธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในแง่ของคนที่มาทำ พวกเขาต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรที่ชำนาญการ แต่ธุรกิจเหล่านี้ถ้าคนจะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับเจ้าเดิมอาจไม่ใช่ เรื่องยาก ทางหนึ่งคือ จ้างพนักงานเก่งๆ ที่ทำงานเหล่านั้นอยู่แล้ว ออกมาทำแข่งกับบริษัทที่มีอยู่เดิม ประเด็นคือ บริษัทใหม่ สามารถแข่งขันกับเจ้าเดิมได้โดยที่ไม่ได้มีข้อเสียเปรียบมากนัก นี่คือความหมายของธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย" ในสายตาของผม
ตัวอย่างธุรกิจที่ทำได้ง่ายเช่น เหมืองถ่านหิน นี่ไม่ยากนัก ถ้าเรามีเงิน และต้องจ้างคนที่เชี่ยวชาญไปหาซื้อเหมืองหรือสัมปทานที่อินโดนีเซีย ขุด แล้วก็ส่งมาขายที่ไทย เช่นเดียวกัน เราอาจทำธุรกิจขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม วิธีก็คือ ต้องไป "ประมูล" เสนอราคาขายพลังงานไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ถ้าข้อเสนอดี ก็ได้ธุรกิจ และทำธุรกิจนี้ได้ดีเท่าๆ กับคู่แข่ง หรือผู้ให้บริการรายอื่น ธุรกิจอื่นๆ ที่ผมคิดว่าทำได้ไม่ยาก รวมถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย เหตุผลคือ อสังหาริมทรัพย์ มีปัจจัยสำคัญคือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งถ้ามีที่ดิน หรือซื้อที่ดินแล้ว ปัจจัยอื่นมักจะเป็นรอง และถ้าไม่มีก็สามารถจ้างหรือหามาได้ และนั่นเป็นที่มาว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือใหม่จำนวนมาก ทำโครงการและประสบความสำเร็จได้ ที่น่าสนใจก็เช่น โครงการคอมมูนิตี้มอลล์หลายๆ แห่งที่เปิดขึ้นมาช่วงเร็วๆ นี้
กิจการบางอย่างเป็นกิจการ "โลว์เทค" ดูเหมือนจะทำได้ง่าย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ดูเหมือนว่าใครๆ ก็ทำได้ พนักงานขอให้คิดเลขเป็นก็ทำได้แล้ว ระบบต่างๆ ดูไม่ยาก และหาซื้อได้ในตลาด แต่ข้อเท็จจริงคือ สมัยนี้ การทำร้านสะดวกซื้อที่จะ "ทำกำไรได้" เป็นเรื่องยาก เพราะขณะนี้มีผู้ให้บริการรายใหญ่มากที่เขาได้สร้างกิจการมา จนได้เปรียบด้านต้นทุนและคุณภาพบริการ รวมถึงด้านการตลาด ซึ่งทำให้รายที่เข้ามาใหม่ต้องเริ่มจากขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ พูดง่ายๆ เป็นธุรกิจที่ทำยาก ถ้าจะทำให้ได้กำไร และนี่คือคำจำกัดความของ "ธุรกิจที่ทำยาก" ของผม
ธุรกิจจะทำได้ง่ายหรือยาก นอกจากเรื่องธรรมชาติของอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือ ตัวโครงสร้างและวงจรชีวิตของอุตสาหกรรม ว่าขณะนั้นเป็นอย่างไร บางธุรกิจที่วงจรชีวิตเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีผู้นำหรือรายใหญ่ที่แท้จริง การทำธุรกิจอาจง่าย ผู้เริ่มเข้ามาทำก่อนอาจทำได้ง่าย แต่เมื่ออุตสาหกรรมเติบโตขึ้น มีการแข่งขันรุนแรงและในที่สุดก็มี "ผู้ชนะ" ที่แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมาได้มากพอ และเหนือกว่าคู่แข่งลำดับต่อๆ ไปมาก การทำธุรกิจสำหรับรายใหม่จะยากขึ้น และยากขึ้นเรื่อยๆ หน้าที่ของ VI คือ คอยวิเคราะห์ธุรกิจที่กำลังดูอยู่นั้น ทำได้ง่ายหรือยากในขณะนั้น ถ้าธุรกิจทำได้ง่ายคนมาใหม่ เราก็อย่าให้คุณค่ามาก แม้ขณะที่เราดู บริษัทอาจทำกำไรได้ดีหรือคาดว่าจะทำกำไรได้ดีก็ตาม
บางครั้งอาจจะพบว่า กิจการที่เราดูอยู่ทำกำไรได้ดีมาก แล้วบริษัทก็ประกาศขยายงานรวดเร็ว นักวิเคราะห์และนักลงทุนต่างตื่นเต้น และประมาณการการเติบโตกำไรในอนาคตสูงมาก อาจเป็น 2 เท่าตัว นอกจากกำไรที่โตก้าวกระโดด พวกเขาอาจตีความเป็นบริษัทที่ "โตเร็วมาก" พวกเขาก็จะให้ค่า PE สูงขึ้นมากเช่นที่เคยซื้อขายที่ 10 เท่า ก็กลายเป็น 20 เท่า ทำให้มูลค่าของหุ้นโตขึ้น 4 เท่าตัว แต่สิ่งที่ไม่ได้ดูก็คือ นี่อาจจะเป็นธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย" กำไรที่เห็น หรือคาดอาจไม่ยั่งยืน เมื่อเวลาผ่านไป กำไรอาจถอยกลับลงมา หรือไปไม่ถึงตามที่คาด ราคาหุ้นอาจตกลงมา และคนที่ซื้อหุ้นในราคาที่สูงลิ่วก็จะเจ็บตัวอย่างหนัก และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับธุรกิจที่ "ทำได้ง่าย"
บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 20 มีนาคม 2555
No comments:
Post a Comment