Saturday, August 29, 2009

เดินสุ่มในวอลสตรีท...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้าจะหาหนังสือการลงทุน 10 เล่มที่เราควรอ่านก่อนที่เราจะลงทุนอย่างจริงจังหรือก่อนที่เราจะเป็นเซียนได้นั้น นี่คือหนังสือที่ผมคิดว่าเป็นเล่มที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง และมันอยู่ในระนาบเดียวกับหนังสือคลาสสิคอื่น ๆ เช่น The Intelligent Investor และ Common Stocks and Uncommon Profits สิ่งที่แปลกออกไปก็คือ นี่ไม่ใช่หนังสือที่บอกวิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เรารวยหรือได้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ตรงกันข้าม มันพยายามจะบอกเราว่า วิธีการเลือกหุ้นที่จะทำให้เราชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น “ไม่มี” มันช่วยเตือนให้เราตระหนักว่า การลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์นั้นทำไม่ได้หรือทำได้ยากมาก ที่ยิ่งทำให้เรา “หมดหวัง” ไปกว่านั้นก็คือ ข้อเขียนและเนื้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในหนังสือนั้น อิงอยู่กับการศึกษาของนักวิชาการชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น และนี่คือหนังสือชื่อ The Random Walk Down Wall Street แปลเป็นไทยก็คือ “เดินสุ่มในวอลสตรีท” เขียนโดย Burton G. Malkiel ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 หรือกว่า 35 ปีมาแล้ว แต่ยังมีการปรับปรุงและพิมพ์ขายใหม่มาตลอด


เนื้อหาหลักของ “Random Walk” นั้นพูดถึงทฤษฎีการลงทุนว่ามีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นเป็นเรื่องของจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นหลัก โดยที่พื้นฐานของกิจการนั้นมีผลเพียงแค่ 10-20% กลุ่มนี้ ถูกเรียกว่ากลุ่ม “วิมานในอากาศ” หรือ Castle-in-the Air Theory อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่เชื่อว่าราคาหุ้นนั้นขึ้นอยู่กับพื้นฐานของกิจการเป็นหลักในขณะที่จิตวิทยานั้น ถ้าจะมีผลก็ไม่เกิน 10-20% เช่นกัน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่ม “พื้นฐานของกิจการ” หรือ Firm-Foundation Theory โดยกลุ่มแรกนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้เครื่องมือที่จะสามารถ “จับกระแสหรือจิตวิทยา” ของนักลงทุนเพื่อที่จะนำมาใช้ในการซื้อหรือขายหุ้นที่จะทำให้ได้กำไร เครื่องมือหลักอย่างหนึ่งก็คือ เส้นกราฟของราคาหุ้นแต่ละตัวและดัชนีตลาดรวมถึงปริมาณการซื้อขายของหุ้นด้วย ส่วนการวิเคราะห์ที่ใช้ก็คือ “การวิเคราะห์ทางเทคนิค”

กลุ่มที่สองนั้น คนที่เชื่อก็จะใช้ “ข้อมูลพื้นฐาน” ของกิจการ เช่น ยอดขาย กำไร การเติบโตของเงินปันผลและฐานะทางการเงินของกิจการ มาพิจารณาและคำนวณหา “มูลค่าที่แท้จริง” หรือที่เรียกว่า Intrinsic Value ของหุ้น เพื่อที่จะพิจารณาว่าราคาหุ้นในตลาดนั้นสูงหรือต่ำกว่า ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เขาก็ซื้อ เพราะเขาเชื่อว่าในที่สุดราคาตลาดจะต้องวิ่งไปหาราคาที่แท้จริงเสมอ และคนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ก็คือพวกนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหลาย ซึ่งแน่นอน รวมถึง Value Investor ด้วย

แต่ Malkiel บอกว่าราคาหุ้น โดยเฉพาะในช่วงสั้น ๆ นั้น “คาดไม่ได้” และ “ไม่มีแบบแผน” มันเหมือนกับคนเมาที่ “เดินสุ่ม” นั่นคือ เขาจะเดินมาอย่างไรก็ตาม แต่ก้าวต่อไปของเขานั้นไม่รู้ว่าจะไปซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้เท็คนิคอะไรก็ไม่ได้ผล ในบางครั้งบางคราวก็ดูเหมือนว่ามีเท็คนิคบางอย่างสามารถนำมาใช้ทำกำไรจากการซื้อขายหุ้นได้ แต่ผ่านไปสักพักเมื่อมีคนรู้นำมาใช้มากขึ้น เท็คนิคนั้นก็ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

พื้นฐานหลักที่ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะตลาดหรือทำกำไรได้มากกว่าปกติไม่ว่าจะใช้เท็คนิคอะไรนั้น Malkiel บอกว่าเป็นเพราะตลาดหุ้นนั้น “มีประสิทธิภาพ” ในการที่จะปรับราคาหุ้นให้สะท้อนถึงพื้นฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกิจการหรือหุ้นได้รวดเร็วมาก และโดยเฉลี่ยแล้วราคาหุ้นก็ปรับตัวได้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นหมายความว่า บางครั้งราคาหุ้นก็ “ผิด” ไปจากที่ควรจะเป็นเหมือนกัน เช่น ราคาอาจจะสูงเกินไป หรือบางช่วงราคาก็อาจจะต่ำเกินไป แต่ในไม่ช้ามันก็สามารถปรับให้ราคาเข้ามาใกล้เคียงกับที่มันควรเป็น พูดง่าย ๆ ตลาดหุ้นคอยปรับให้ราคาหุ้นมีราคาโดยเฉลี่ยแล้วเหมาะสมอยู่เสมอ อย่าพยายามหา “ราคาที่เหมาะสม” ในทางทฤษฎีหรือทางจิตวิทยาเลย

ด้วยแนวความคิดและความเชื่อในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของตลาดและเรื่องการ “เดินสุ่ม” ของราคาหุ้นดังกล่าว Malkiel จึงคิดว่าเราไม่ควรเลือกซื้อขายหุ้นเอง เพราะทำไปก็ไม่มีประโยชน์และต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูง แต่หุ้นนั้น โดยเฉลี่ยในระยะยาวแล้วให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นเขาได้เสนอกลยุทธ์ในการลงทุนต่าง ๆ ที่นักลงทุนควรทำ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่อิงดัชนีตลาด ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการลงทุนลง และการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐมอบให้ อย่างกรณีของไทยก็คงคล้ายกับการลงทุนในกองทุน RMF และ LTF เป็นต้น

นอกจากทฤษฎีการลงทุนและแนวความคิดหลักของหนังสือแล้ว สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าโดยเฉพาะสำหรับ Value Investor ก็คือ มันเป็นหนังสือที่ “เล่าประวัติศาสตร์” การลงทุนย้อนหลังไปยาวนานมากได้อย่างยอดเยี่ยม ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของบุคคล แต่เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดและแนวความคิดการลงทุนเป็นยุค ๆ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และทุกอย่างมีวิชาการประกอบ แต่ขณะเดียวกันเป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ยากสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เรียนมาทางสายการเงินโดยตรง สำหรับผมแล้ว มันเป็นหนังสือคลาสสิคที่อ่านแล้ว “ไม่หลับง่าย” เหมือนหนังสือคลาสสิคหลาย ๆ เล่ม

นักลงทุนโดยเฉพาะ Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงหลายราย อาจจะมี “อคติ” กับแนวความคิดที่ว่า “ไม่มีใครสามารถสร้างผลตอบแทนเหนือกว่าปกติได้” ในหนังสือเล่มนี้และพลอยทำให้ไม่อยากอ่าน เพราะเขาอาจคิดว่าตัวเองสามารถทำกำไรมหาศาลได้ด้วยการวิเคราะห์และลงทุนแบบ Value Investment ดังนั้น หนังสือเล่มนี้คงจะ “ผิด” และเป็นเรื่องของนักวิชาการบนหอคอยงาช้างที่ไม่เข้าใจโลกที่เป็นจริง ข้อนี้ผมคิดว่าต้องคิดใหม่ อย่าลืมว่าคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว เขายังเป็นผู้บริหารระดับสูงมากในธุรกิจการเงินและการลงทุนด้วย เหนือสิ่งอื่นใด VI ที่ดีนั้น ต้องเปิดกว้างรับความเห็นที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งจากคนที่ “มองต่าง” ด้วย


Thursday, August 20, 2009

การตัดสินใจครั้งสำคัญ...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนเราที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ผมคิดว่าอยู่ที่การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญมากไม่กี่เรื่อง และการตัดสินใจที่ถูกต้องในเรื่องนั้นนำไปสู่สิ่งที่ดี ๆ ทั้งหลายที่ตามมา เช่น รวยได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ มีชื่อเสียงมากกว่าเพื่อนฝูงในแวดวงเดียวกัน หรือ มีความสุขมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าจะเรียกให้เป็นศัพท์แสงที่เป็นวิชาการหรือเท่หน่อย ผมอยากจะเรียกว่าเป็น Strategic Decision หรือการตัดสินใจในระดับยุทธศาสตร์ของชีวิต

ว่าที่จริง Strategic Decision นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากในเรื่องใหญ่อื่น ๆ เช่น ในเรื่องของธุรกิจนั้น การตัดสินใจออกผลิตภัณฑ์บางอย่างหรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือกระบวนการในการทำงานบางอย่างที่สำคัญอาจจะเปลี่ยนแปลงภาพของบริษัทอย่างสิ้นเชิงและทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในขณะที่การตัดสินใจมากมายอื่น ๆ นั้น ไม่มีผลอะไรอย่างสำคัญกับตัวธุรกิจเลย

ในเรื่องของหุ้นเอง วอเร็น บัฟเฟตต์ เคยพูดไว้ว่า เวลาจะลงทุนซื้อหุ้นแต่ละตัวนั้น ให้คิดว่าในชีวิตนี้เรามีสิทธิ์ที่จะซื้อได้เพียง 20 ตัว ดังนั้น เราก็จะต้องคิดหนักว่าเราจะซื้อตัวไหน เราจะต้องเลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่งสุดยอด มี “ป้อมค่ายและคูเมืองป้องกันข้าศึก” ที่ทนทานถาวร และกิจการจะต้องโตไปได้เรื่อย ๆ เป็นสิบ ๆ ปี ถ้าคิดได้ดังนี้ การซื้อหุ้นแต่ละตัวของเราก็จะไม่ค่อยพลาด และผลตอบแทนก็จะน่าประทับใจ อย่าตัดสินใจซื้อขายหุ้นมากมายไปเรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้มักจะไม่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตเรา เราควรตัดสินใจน้อยครั้งและเป็นครั้งสำคัญ ๆ เพราะนี่คือสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน แน่นอน ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องซื้อหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิต แต่ผมเชื่อว่า อาจจะมีหุ้นเพียง 20 ตัวในชีวิตเท่านั้นที่สร้างความสำเร็จทั้งหมดในการลงทุนของเรา ส่วนหุ้นอื่น ๆ อาจจะเป็นร้อย ๆ ตัวนั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรกับผลการลงทุนของเราเลย ดังนั้น เราไปซื้อทำไม?

ในความคิดของผม ในชีวิตของคนเรานั้น มีจุดหรือช่วงเวลาสำคัญที่เราจะต้องตัดสินใจแบบ Strategic Decision ไม่กี่เรื่องหรือไม่กี่ครั้ง ถ้าตัดสินใจถูก เราอาจจะ “สบายไปตลอด” หรือ “ประสบความสำเร็จงดงามไปเรื่อย ๆ” หรือ “มีความสุขมาก” ไปอีกนาน ปัญหาที่พบก็คือ คนจำนวนมากไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เป็น “การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต” ดังนั้น เขาไม่ได้ให้เวลาหรือให้การพิจารณาหรือวิเคราะห์อย่างเพียงพอ บางทีเขาก็อาจจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ผลที่ตามมาก็คือ มันเป็นการตัดสินใจที่แย่และเขาก็ต้องรับกับความเลวร้าย หรือความสำเร็จพื้น ๆ ไปตลอดไม่ว่าจะพยายามทำงานหรือต่อสู้มากแค่ไหน

การตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตนั้น ถ้าจะไล่ลำดับตามช่วงอายุของคนก็น่าจะรวมถึง การศึกษา ซึ่งผมคิดว่าการเลือกสาขาที่เรียนนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก แน่นอน ถ้าเป็นเด็กที่มี “พรสวรรค์” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาก็ควรเลือกเรียนในแนวนั้น แต่ถ้าไม่รู้ว่ามีพรสวรรค์ด้านไหน การเลือกเรียนในบางสาขาอาจจะทำให้ชีวิตในอนาคตดีขึ้นมาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “คะแนนสอบ” เป็นตัวกำหนดสาขาที่เราจะเรียน

การแต่งงานเป็น Strategic Decision ที่สำคัญสุดยอดอีกเรื่องหนึ่ง เพราะความสุขและการประสบความสำเร็จในชีวิตขึ้นอยู่กับคู่ของเรามาก ดังนั้น อย่าปล่อยให้ “พรหมลิขิต” มากำหนดว่าเราจะแต่งงานกับใคร เราควรจะต้อง “แสวงหา” โดยการให้เวลากับการเรียนรู้กับคนที่เราคิดว่ามีโอกาสที่เราจะต้องใช้ชีวิตด้วยกันยาวนาน บางคนบอกว่าอยากปล่อยให้เป็นไป “ตามธรรมชาติ” เขามักใช้เวลาไปกับ “งาน” ที่ ไม่ใช่ Strategic Decision ดังนั้น เขาอาจจะมีผลงานที่ดีในสายตาจ้าวนาย แต่เขาอาจจะได้คู่ที่ไม่เหมาะสมหรืออาจจะไม่มีคู่เลย ผลก็คือ ชีวิตนี้อาจจะทำงานแทบตายแต่ไม่มีความสุขและมีเงินน้อยมาก ในขณะที่อีกคนหนึ่งได้เศรษฐีนิสัยดีเป็นคู่ ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสุขและมีเงินเหลือล้นโดยที่ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากนัก

งานที่ทำ ว่าที่จริงต้องพูดว่าสายงานที่เลือกทำเป็น Strategic Decision เลือกงานผิด ทำงานในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่โตและมีแนวโน้มค่อย ๆ ตกต่ำลง อนาคตเราไม่ค่อยมีทางที่จะ “รุ่ง” ไม่ว่าเราจะพยายามแค่ไหน มันคงเหมือนการ “ว่ายทวนน้ำ” ที่จะไปได้ช้ามาก ดังนั้น ก่อนสมัครงาน คิดเสียก่อนว่าอนาคตของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ถ้าอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงที่กำลังตกต่ำลงอย่างถาวร อย่าเข้าไปจะดีกว่า อย่าลืมว่า เราไม่ได้เป็น “ฮีโร่” แม้ว่าเราจะสามารถช่วยคนที่กำลังตายให้มีอายุยืดไปได้อีกหน่อยหนึ่ง

สุดท้ายก็คือ การเลือกว่าเราจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องไหนเป็นพิเศษ อะไรคือตัวตนของเราจริง ๆ ในชีวิต พูดง่าย ๆ เราอยากให้คนจดจำว่าเราเป็นใครหรือเป็นคนอย่างไรเมื่อเราตายไปแล้ว นี่เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ยากพอสมควรทีเดียว เพราะประเด็นก็คือ มันเป็นเรื่องที่ใช้เวลามากในการทำหรือในการสร้างผลงาน มันต้องอาศัยการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของเราก่อน เสร็จแล้วก็ต้องเลือกว่าเราจะเป็นอะไร หลังจากนั้นเราก็ต้องเริ่มทำและทำไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นสิบ ๆ ปีก่อนที่เราจะบรรลุถึงสิ่งที่เราตั้งธงไว้ ดังนั้น Strategic Decision เรื่องนี้จึงต้องพยายามทำตั้งแต่อายุน้อยที่สุดที่จะทำได้ ยิ่งเราค้นพบได้เร็วเท่าไรก็มีโอกาสมากขึ้นเท่านั้นที่เราจะประสบความสำเร็จ

ผมคงจบบทความนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดว่า การลงทุนในหุ้นนั้น เป็น Strategic Decision ที่สำคัญสำหรับคนจำนวนมากที่ต้องการจะมีความมั่งคั่งทางการเงิน ดังนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับหุ้นและตลาดหุ้นนั้น มีความสำคัญมาก อย่าปล่อยให้ความกลัวในเรื่อง “ความเสี่ยง” กำหนดการลงทุนของเรา


Sunday, August 9, 2009

ซื้อหุ้นต่างประเทศ / ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในอดีตนั้น การลงทุนในหุ้นสำหรับ Value Investor ค่อนข้างจำกัดอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรามีทางเลือกที่จะลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ การลงทุนในต่างประเทศนั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ยากอย่างที่หลายคนอาจจะกลัวกันอีกต่อไป เพราะปัจจุบันมีโบรกเกอร์ หลายรายให้บริการการซื้อขายหุ้นต่างประเทศสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่มีเงินเพียงประมาณห้าแสนหรือหนึ่งล้านบาทขึ้นไป การซื้อขายก็ทำกันทางอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้แตกต่างจากการซื้อขายหุ้นไทยเท่าใดนัก ผมคงยังไม่วิจารณ์ว่า Value Investor ควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือไม่ แต่อยากจะวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะในกรณีของการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นหลัก

ข้อดีข้อแรกของการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างตลาดนิวยอร์กก็คือ เรามีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นจำนวนมาก นอกจากจำนวนของบริษัทที่มีมากมายแล้ว เรายังมีโอกาสหาหุ้นที่มีลักษณะเฉพาะที่เราต้องการลงทุนได้มากมายซึ่งหาไม่ได้จากตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของกิจการที่ “ดีเยี่ยม” แบบ “Great Company” ที่มีโอกาสที่จะกลายเป็น “Super Stock” ที่ให้ผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวอย่างที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ชอบลงทุนนั้น ถ้าเรานำมาใช้ในตลาดหุ้นไทย เราอาจจะหาได้ค่อนข้างยาก แต่ในตลาดหุ้นสหรัฐนั้น หุ้นที่มีคุณภาพสูงระดับโลกนั้นมีมากมายให้เลือก ไล่ตั้งแต่หุ้น Google ไปถึง ไมโครซอพท์ ที่เป็นหุ้นไฮเท็ค ถึงหุ้นโค๊กที่เด่นทางด้านยี่ห้อ และหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินระดับโลกอย่างหุ้นที่ให้บริการบัตรเครดิตเช่น หุ้นวีซ่า เป็นต้น

ข้อดีข้อสองก็คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐโดยเฉลี่ยในระยะยาวนั้นดูเหมือนจะสูงกว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นไทย โดยที่ผลตอบแทนเฉลี่ยของหุ้นของอเมริกานั้นให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 10-11% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 8-9% ผลต่างประมาณปีละ 2% นั้นในระยะยาวก็ถือว่าค่อนข้างต่างกันมาก และนั่นก็อาจจะเป็นผลจากคุณภาพที่สูงกว่าของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาเทียบกับบริษัทไทย

ข้อดีข้อสามก็คือ การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศด้วยนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนลง เพราะการขึ้นลงของราคาหุ้นของไทยกับหุ้นต่างประเทศนั้นโดยทั่วไปมักจะไม่ตรงกัน บางช่วงที่ตลาดหุ้นไทยคึกคัก หุ้นต่างประเทศอาจจะซบเซา และช่วงที่หุ้นต่างประเทศดี หุ้นไทยอาจจะแย่ โดยรวมแล้ว ถ้าเรามีหุ้นอยู่ในทั้งสองตลาด ผลตอบแทนการลงทุนของเราจะมีความสม่ำเสมอขึ้นหรือก็คือความเสี่ยงลดลง

ข้อดีข้อที่สี่ ระบบบัญชีและการรายงานต่าง ๆ ของบริษัทในอเมริกามีความโปร่งใสและผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลแก่นักลงทุนได้มากกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารสามารถคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทได้เป็นรายไตรมาศซึ่งทำให้นักลงทุนสามารถนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจซื้อขายหุ้นได้ นอกจากนั้น สังคมของนักวิเคราะห์ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็ทำให้การคาดการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับผลประกอบการมักจะไม่ค่อย “มั่ว” ถ้าผู้บริหารคาดการณ์ผิดบ่อยหรือผิดไปมากก็จะเสียเครดิต

ข้อเสียของการไปลงทุนนอกประเทศนั้นก็มีไม่น้อยกว่ากัน ข้อแรกก็คือ ความเข้าใจในตัวกิจการหรือบริษัทที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้นอาจจะมีน้อยกว่าในกรณีของบริษัทในประเทศไทย จริงอยู่ ข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือรายงานต่าง ๆ ของบริษัทต่างประเทศอาจจะดี มีมาก และหาได้ง่ายกว่าโดยที่เราเพียงแต่เข้าไปดูผ่านหน้าเว็บดัง ๆ อย่าง YAHOO FINANCE ได้ แต่ข้อมูลที่เราจำเป็นต้อง “สัมผัส” เช่นในเรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด หรือการพบปะกับผู้บริหารนั้น เราไม่สามารถทำใด้ นอกจากนั้น สำหรับหลายคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรงพอ การทำความเข้าใจในตัวบริษัทก็จะยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ข้อเสียข้อที่สองก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นอเมริกามีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายสูงกว่าในตลาดไทย โดยที่ค่าคอมมิชชั่นรวมกับค่าบริการอื่น ๆ แล้ว อาจจะขึ้นถึง 0.5% ในกรณีที่ซื้อขายครั้งละไม่มาก ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2 - 0.27% รวมภาษี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างนี้ก็อาจจะไม่ถึงกับมากถ้าเราไม่ได้ซื้อขายหุ้นบ่อย

ข้อเสียข้อสามก็คือ การซื้อขายหุ้นในตลาดสหรัฐนั้น เรามีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ นอกจากนั้น เราต้องมีการแลกเงินในกรณีซื้อขายครั้งแรกและตอนที่จะเอาเงินกลับซึ่งทำให้เราเสีย Spread หรือส่วนต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายเงินตราที่ธนาคารคิดกับเราซึ่งก็มักจะต่างกันพอสมควร

ข้อเสียที่สี่ก็คือ การลงทุนในต่างประเทศนั้น กฏก็คือ ถ้าเราได้กำไรจากการขายหุ้นและนำเงินเข้ามาในประเทศในปีภาษีเดียวกัน เราจะต้องนำกำไรที่ได้ไปคิดคำนวณเป็นรายได้ส่วนบุคคลที่จะต้องเสียภาษีรายได้ประจำปี ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการเสียภาษีนี้ก็ต้องนำเงินเข้ามาในปีต่อไป ซึ่งทำให้การโอนย้ายเงินไม่คล่องตัวนัก

ข้อเสียสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ความเสี่ยงในเรื่องของกฏระเบียบและวิธีปฏิบัติโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ ของการลงทุนซื้อขายหุ้นในต่างประเทศ ในขณะนี้อาจจะมีการสรุปแนวทางปฏิบัติเป็นที่ตกลงกันระหว่างโบรกเกอร์กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ เรื่อง ความเห็นและความเข้าใจกันในวันนี้อาจจะไม่ได้รับการยอมรับหรือมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไปหรือมีเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ารับหน้าที่ต่อ ความเสี่ยงตรงนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสูงต่ำแค่ไหน แต่ถ้าเกิดขึ้น ความยุ่งยากคงจะมีไม่น้อย และนี่อาจจะเป็นข้อเสียที่สำคัญที่สุดข้อหนึ่งสำหรับคนที่ระมัดระวังและไม่ค่อยไว้วางใจกับระบบของราชการไทยอย่างผม

กล่าวโดยสรุปสำหรับตัวผมเองนั้น ในขั้นนี้ผมคงจะรอดูไปก่อน และตราบใดที่ยังพอหาหุ้นดีที่คุ้มค่าน่าลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้พอสมควรผมก็คงไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการลงทุนในต่างประเทศนั้น มีประโยชน์และมีคุณค่าพอสมควรทีเดียว และวันหนึ่งก็อาจจะหนีไม่พ้นที่ผมจะต้องไปลงทุนด้วยเหมือนกัน

บทความนี้ลงในThaiVIเมื่อ 1 ส.ค.2552

คิดเชิงกลยุทธ์ / ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investor ระดับเซียนนั้น ผมคิดว่าจะต้องเป็น “นักคิด” ที่เฉียบคม และการคิดนั้น จะต้องเป็นการคิดในเชิงกลยุทธ์ นั่นคือ เป็นการคิดเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ การแข่งขัน ที่จะทำให้ฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งแพ้ หรือใครจะนำและใครจะตาม “ตำแหน่ง” ของใครดีกว่าตำแหน่งของคนอื่นและทำให้ได้เปรียบคู่ต่อสู้หรือคู่แข่งขัน ว่าที่จริง นักลงทุนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนคิดว่าจะต้องใช้กลยุทธ์อะไร เขาเพียงแต่ต้องรู้หรือดูให้เป็นว่ากลยุทธ์หรือตำแหน่งของใครเป็นอย่างไรและดีกว่าคู่แข่งอย่างไร เขาคิดและ “ตัดสิน” ว่าใครจะชนะหรือใครได้เปรียบและอนาคตจะเป็นอย่างไร ความคิดของเขามักจะถูกมากกว่าผิดเพราะมันเป็นความคิดที่มีเหตุผลและมีหลักวิชาการที่ถูกต้อง


ความคิดที่มีเหตุผลและเป็นเชิงกลยุทธ์นั้น ผมคิดว่าต้องมีการฝึกฝนและบางทีอาจจะเป็นเรื่องของความชอบส่วนตัวด้วย ดูอย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์ เองนั้น เขาชอบเล่นบริดจ์เป็นชีวิตจิตใจและเล่นได้เก่งมากทีเดียว บริดจ์นั้นเป็นเกมที่ต้องใช้ทั้งความคิดและความจำและต้องมีกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยม การที่เขาชอบเล่นเกมนี้เป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งว่าเขาชอบ “การคิดและการวางแผนกลยุทธ์เพื่อให้ได้ชัยชนะในการแข่งขัน”

ส่วนตัวผมเองนั้น เมื่อมองย้อนหลังไปในช่วงที่ยังเป็นเด็ก ผมชอบเล่นเกมที่เกี่ยวกับความคิดและการแข่งขันหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจก็คือการเล่นหมากรุกจีนซึ่งผมจะเล่นกับเพื่อนบ่อย ๆ และเมื่อเล่นแล้วผมแทบจะลืมกินอาหาร หมากรุกนั้นเป็นเกมการแข่งขันที่ต้องใช้การวางแผน โดยแผนที่ดีนั้นจะต้องมีการมองไปข้างหน้าหลาย ๆ ก้าว นอกจากการวางแผนเพื่อเอาชนะแล้ว คนเล่นยังต้องคอยระวังและป้องกันการ “รุก” ของคู่ต่อสู้ด้วย ผมไม่ได้เป็นนักเล่นหมากรุกที่ยอดเยี่ยมอะไร แต่ทุกวันนี้เมื่อมีเวลาว่างผมก็ยังเล่นหมากรุกจีนอยู่ เพียงแต่ว่าเป็นการเล่นกับคอมพิวเตอร์เป็นหลักเนื่องจากหมากรุกจีนนั้น คนที่เล่นกันในปัจจุบันดูเหมือนจะมีน้อยมากและต่างก็อายุมากกันแล้ว

การเล่นเกมที่ต้องใช้ความคิดในเชิงกลยุทธ์นั้น ผมคิดว่านอกจากจะช่วยทำให้เราคิดเก่งในการใช้ความคิดเชิงกลยุทธ์แล้ว ยังช่วยลับสมองเราไม่ให้เสื่อมถอยเร็วเกินไปเวลาเราแก่ตัวลงด้วย และเกมที่ผมคิดว่าช่วยฝึกสมองให้คิดแบบเชิงกลยุทธ์เราได้นั้น นอกจากบริดจ์และหมากรุกทุกประเภทแล้ว ยังน่าจะรวมถึงเกมโกะ และโมโนโปลี่ ส่วนเกมอย่างหมากฮอสหรือการเล่นไพ่อย่างเกมไพ่รัมมี่นั้น ถึงจะต้องใช้การวางกลยุทธ์บ้างแต่ผมคิดว่ามันยังใช้ไม่มากพอ นอกจากนั้น เกมใช้สมองอย่างอื่นเช่นเกมต่ออักษรให้เป็นคำที่เรียกว่า Cross Words หรือเกมเรียงตัวเลขอย่างซูโดกุ นั้น ผมคิดว่าไม่ใช่เกมที่ใช้กลยุทธ์เป็นหลักในการเล่น ดังนั้น จึงไม่เป็นประโยชน์ในแง่ของการลงทุน

ลำพังการมีความสามารถในการเล่นเกมต่าง ๆ ดังกล่าวคงไม่เป็นประโยชน์กับการลงทุน นักลงทุนที่จะเก่งนั้นต้องคิดไปถึงเรื่องของกลยุทธ์ในการต่อสู้และการแข่งขันใน “ชีวิตจริง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางธุรกิจ การที่จะมีความสามารถอย่างนั้นได้ นอกจากความสามารถในการคิดแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ “วิชาการ” นั่นหมายถึงว่าเราจะต้องศึกษาและต้องอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการต่อสู้และการแข่งขันต่าง ๆ ให้มาก การแข่งขันหรือการต่อสู้ที่ต้องใช้กลยุทธ์นั้น นอกจากในวงการธุรกิจแล้วก็ยังมีในเรื่องของสงคราม การเมือง และ เชื่อไหมครับว่า เป็นเรื่องของชีวิตของเราแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หรือคนธรรมดา ถ้าเราคิดเป็นแบบกลยุทธ์เราก็จะเห็นว่าใครใช้กลยุทธ์อย่างไรและเขา “ชนะ” เพราะเหตุใด แต่ถ้าเราอ่านหรือศึกษาโดยไม่ได้คิดแบบเชิงกลยุทธ์ เราก็จะอ่านผ่าน ๆ ไปและอาจคิดไปว่าคนชนะนั้น เป็นไปเพราะเหตุผลต่าง ๆ เช่น เขาเก่ง เขาฉลาด เขาสวยหรือหล่อ หรือแม้แต่เพราะเป็นเรื่อง “บังเอิญ” หรือ “โชค”

ถ้าเราฝึกฝนการคิดอย่างเป็นกลยุทธ์อยู่เสมอเราก็จะมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นแบบเชิงกลยุทธ์ นั่นคือ เรามักจะถามเสมอว่าอะไรหรือกลยุทธ์อะไรที่ทำให้คนหนึ่ง “ชนะ” อีกคนหนึ่ง “แพ้” บริษัทหนึ่งชนะและอีกบริษัทหนึ่งแพ้ องค์กรหนึ่งชนะและอีกองค์กรหนึ่งแพ้ ประเทศหนึ่งชนะและอีกประเทศหนึ่งแพ้ เราจะเห็นถึงความได้เปรียบและความเสียเปรียบของคู่แข่งหรือคู่ต่อสู้รวมทั้งรู้ว่าอะไรเป็นความได้เปรียบ“ชั่วคราว” และอะไรเป็นความได้เปรียบ “ถาวร” และนี่ก็คือสิ่งที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ เรียกว่า Durable Competitive Advantage หรือความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น “เสาหลัก” ในการลงทุนในหุ้นสุดยอดสไตล์บัฟเฟตต์

สำหรับคนที่ยังไม่คุ้นเคยกับการคิดเชิงกลยุทธ์และวิชาการเกี่ยวกับกลยุทธ์การแข่งขันนั้น ผมแนะนำว่าควรจะเริ่มจากการอ่านหนังสือกลยุทธ์ทางการตลาดซึ่งมีอยู่มากมาย แต่คนที่ผมคิดว่าสามารถอธิบายได้อย่างเข้าใจง่ายและสั้นก็คือ อัลรีส (Al Ries) ซึ่งเสียชีวิตแล้ว และ แจ๊คเทร้าท์ (Jack Trout) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการตลาด การวางตำแหน่งของบริษัทในการแข่งขัน และกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ธุรกิจใช้ในการต่อสู้กัน หลังจากเข้าใจเรื่องกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาดแล้ว เราก็จะเข้าใจกลยุทธ์ในเรื่องอื่น ๆ อีกมาก และถ้าเราหมั่นฝึกฝนการคิดแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งเราก็จะเข้าใจ “เบื้องหลัง” ความสำเร็จและความล้มเหลวของแต่ละบริษัทหรือแต่ละคน และนั่นจะนำไปสู่การเลือกหุ้นลงทุนที่มีประสิทธิภาพสูง

บทความนี้ลงในThaiVIเมื่อ 1 ส.ค.2552

ปีทอง/ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ชีวิตของคนเรานั้นมีช่วงที่ดี แย่ แย่มาก และดีมาก อาชีพของคนบางประเภทมักจะมีช่วงที่ดีและแย่แตกต่างกันมาก ตัวอย่างเช่น นักแสดงนักร้องและนักกีฬาอาชีพนั้น ช่วงที่ดีมากของนักแสดงก็คือช่วงที่มีงานแสดงเข้ามามาก มีหนังหรือละครที่เป็นที่นิยมคนดูติดกันงอมแงม และหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยงานการถ่ายแบบโฆษณาซึ่งทำรายได้มากมหาศาล ถ้าเป็นนักร้องหรือนักกีฬาก็เป็นช่วงที่เพลงติดชาร์ทหรือเป็นช่วงที่แข่งชนะในรายการสำคัญ ๆ ซึ่งมักจะตามมาด้วยชื่อเสียงและสุดท้ายก็คือโฆษณาซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญมาก นอกจากเรื่องของเงินและชื่อเสียงแล้ว ความรู้สึกที่ดีในการเป็นคนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็มักทำให้เจ้าตัวมีความสุขด้วย ช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ ดังกล่าวนั้น ถ้าจะให้เรียกอย่างที่พูดแล้วเข้าใจได้ทันทีก็คือ เป็น “ปีทอง”

ชีวิตนักลงทุนเองก็เป็นชีวิตที่มีขึ้นมีลงคล้ายกับชีวิตของพวกนักแสดงเหมือนกันนั่นก็คือ ช่วงที่ขึ้นอาจจะดีมาก ในขณะที่ช่วงตกต่ำก็ย่ำแย่มากได้เช่นเดียวกัน ความแตกต่างอาจจะมีบ้างที่นักลงทุนนั้นมีชีวิตที่ยาวกว่านักแสดงหรือนักกีฬา นอกจากนั้น นักลงทุนไม่ได้ถูกกำหนดโดย “ช่วงเวลาทอง” หรือช่วงเวลาที่ชีวิตมีศักยภาพสูงสุดในการสร้างความสำเร็จอย่างนักแสดงหรือนักกีฬา พูดง่าย ๆ นักลงทุนอาจจะมี “ปีทอง” ไปได้เรื่อยจนกว่าชีวิตจะหมดสมรรถภาพ ในขณะที่นักแสดงและนักกีฬามักจะมีโอกาสทำได้ดีในช่วงที่ยังเป็นหนุ่มสาวเท่านั้น มาดูกันว่า สำหรับนักลงทุนแล้ว อะไรเป็นตัวที่กำหนดว่าปีไหนเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนหรือของชีวิตของเขา

ในความเห็นของผม เงื่อนไขของการที่จะเป็น “ปีทอง” ของนักลงทุนนั้น ข้อแรก ปีนั้นเขาควรจะได้ผลตอบแทนสูงมาก ตัวเลขของแต่ละคนอาจจะต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องขนาดของพอร์ตโฟลิโอ การกระจายการถือครองหุ้นหรือทรัพย์สิน เป็นต้น แต่โดยทั่วไปผมคิดว่า Value Investor ผู้มุ่งมั่นควรได้ผลตอบแทนรวมของการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50% และนี่อาจจะเป็นข้อจำกัดในระดับหนึ่งเหมือนกันว่า “ปีทองของนักลงทุน” คนหนึ่งนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เป็น “ปีทองของตลาดหุ้น” เพราะว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นดีมาก โอกาสก็สูงที่เราจะทำผลตอบแทนได้ดีมากเช่นเดียวกัน แต่นี่ก็ไม่เสมอไป บางทีเราอาจจะทำได้ดีในช่วงที่ตลาดไม่ดีก็ได้ หรือในช่วงที่ตลาดดี เราก็อาจจะทำได้ไม่ใคร่ดีก็ได้

เงื่อนไขข้อสอง ซึ่งที่จริงก็ต่อมาจากข้อแรกก็คือ ปีทองควรเป็นปีที่เราทำได้ดีมากและเราต้องพอใจกับผลงานการลงทุนของเราด้วย ดังนั้น เราควรสร้างผลตอบแทนรวมได้สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ในปีนั้น และคำว่าผลตอบแทนรวมของเรานั้น ผมหมายถึงผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องทั้งหมดของเราซึ่งรวมถึงเงินฝากและพันธบัตรหรือหน่วยลงทุนต่าง ๆ ของเราด้วย ดังนั้น ปีทองของการลงทุนของเราแทบจะเกิดไม่ได้เลยถ้าเงินส่วนใหญ่ของเราถูกฝากอยู่ในธนาคารที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก

เงื่อนไขข้อสาม พอร์ตทรัพย์สินสภาพคล่องของเราควรจะอยู่ที่จุดสูงสุดหรือ “All Time High” นั่นก็คือ เป็นช่วงเวลาที่ความ “มั่งคั่ง” ของเราสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เงื่อนไขข้อนี้มีขึ้นเพื่อที่จะตัดความลำเอียงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ปีที่ผ่านมาพอร์ตเราอาจจะตกลงไปเยอะมากและผลตอบแทนในปีปัจจุบันอาจจะดีขึ้นมากแต่ก็ยังไม่สามารถ “ชดเชย” การขาดทุนในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ ลักษณะเช่นนี้ เรายังไม่ควรเรียกว่าเป็นปีทอง เพราะคำว่าปีทองนั้นควรเป็นปีที่เรา “ร่ำรวยที่สุด” เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา

เงื่อนไขข้อสี่ ความมั่งคั่งโดยรวมของพอร์ตการลงทุนของเราควรจะเพิ่มขึ้นมากพอที่จะเรียกว่ามาก จำนวนเท่าไรคงบอกไม่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนบอกว่าได้กำไรปีนี้หนึ่งล้านบาทก็เป็นปีทองได้แล้วในขณะที่บางคนต้องเป็นสิบหรือร้อยล้านบาทถึงจะเรียกว่าปีทอง และนี่นำไปสู่เงื่อนไขข้อสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ

เงื่อนไขข้อห้า มันเป็นปีที่เราบรรลุถึง “หลักไมล์สำคัญ” เช่น เรามีเงินจากการลงทุนมากพอที่จะทำให้เรา มี “อิสรภาพทางการเงิน” ในระดับหนึ่ง หรือระดับสองหรือสาม หรือเรามีเงินครบล้านบาท หรือสิบล้านหรือร้อยล้านบาทตามที่เราได้ตั้งเป้าหมายในระยะยาวไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญ การกำหนดหรือคิดว่าเป็น “ปีทอง” ของแต่ละคนนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน หลักสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปีทองก็คือต้องเป็นปีที่ดีมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับผลงานในอดีตของเราเองด้วย

ก่อนจะจบบทความนี้ และด้วยภาวะตลาดหุ้นที่สดใสมากนับถึงวันนี้ประมาณครึ่งปีที่ตลาดหุ้นให้ให้ผลตอบแทนกว่า 30% แล้ว ผมหวังว่า Value Investor รุ่นเก่าหลายคนจะได้พบกับ “ปีทอง” ของตนเองอีกปีหนึ่ง และสำหรับ VI รุ่นใหม่จำนวนที่มากกว่ามากที่ยังไม่เคยพบกับ “ปีทอง” เลยนั้น ผมหวังว่า เมื่อสิ้นปีนี้ ถ้าทุกอย่างยังดีอยู่ เราอาจจะได้จารึกและจดจำว่า นี่คือ “ปีทองของการลงทุน” ที่เรามีความรู้สึกที่ดีและมีความสุขมากจากการลงทุน

บทความนี้เขียนในกระทู้ThaiViเมื่อ 25 ก.ค.2552