Monday, July 20, 2009

ความน่าจะเป็น

วิธีคิดเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่า มีความสำคัญมากต่อการที่จะเป็นนักวิเคราะห์หุ้นแบบ Value Investment ที่ดีก็คือ
การคิดคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตแบบที่ใส่ "ความน่าจะเป็น" หรือ Probability เข้าไปด้วย
ลองมาคาดดูสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะพบว่ามีเหตุการณ์น้อยมาก หรือแทบไม่มีเลยที่มีความแน่นอน 100% โดยเฉพาะในเรื่องของเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น แต่เหตุการณ์บางอย่างนั้นมักจะมีความ "แน่นอน" หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงกว่าเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งมาก
โอกาสที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นในวันพรุ่งนี้เป็นเท่าไร? 100% ! โอกาสที่ฝนจะตกในวันพรุ่งนี้ที่กรุงเทพฯ และที่ถนนรางน้ำเป็นเท่าไร? นักพยากรณ์อากาศอาจจะบอกว่า 80% โดยพิจารณาจากภาพถ่ายของกลุ่มเมฆหนาที่ก่อตัวขึ้นบนท้องฟ้าเหนือกรุงเทพฯ ในวันนี้


ถ้าถามใหม่ว่า ฝนจะตกไหมในอีก 7 วันข้างหน้า? คำตอบอาจจะเป็น 50-50 โดยที่นักพยากรณ์ไม่ได้ดูกลุ่มเมฆ แต่ดูว่าในช่วงฤดูฝนในประเทศไทยนั้น โอกาสที่ฝนจะตกในแต่ละวันคือ 50%

การพยากรณ์นั้น ดูเหมือนว่าถ้าพยากรณ์ในระยะเวลาสั้นๆ ในอนาคต โอกาสที่จะพยากรณ์ได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงจะสูงกว่าการพยากรณ์อะไรที่อยู่ห่างออกไป เหตุผลก็คือ ในการพยากรณ์นั้น เรามักจะมีข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุน เช่น กลุ่มเมฆที่ปรากฏขึ้น และเมฆนั้นเป็นตัวชี้ว่า ในไม่ช้ามันจะกลั่นตัวเป็นฝน

ถามว่า พรุ่งนี้หุ้นจะขึ้นหรือหุ้นจะลง? ข้อมูลที่มีอยู่ ก็คือ ราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นในวันนี้ ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ นักเล่นหุ้นส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่า ถ้าวันนี้หุ้นขึ้นแรงและมีปริมาณการซื้อขายมาก พรุ่งนี้ดัชนีหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น
เขาอาจจะบอกว่า พรุ่งนี้หุ้น "น่าจะ" ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดแล้วหุ้นวิ่งขึ้น เพราะเขาเชื่อว่า หุ้นไทยมักจะปรับตัวขึ้นลงตามหุ้นนิวยอร์ก แต่ถ้าถามต่อไปว่า หุ้นขึ้นแล้วยังไง? เราจะเข้าไปซื้อหรือ? ถ้าซื้อก็แปลว่า เราซื้อแพง แล้ววันต่อไปมันลงเรามิขาดทุนหรือ?

ดังนั้น การคาดการณ์แบบนี้ แม้จะถูกแต่ก็ไม่มีประโยชน์ในการที่จะทำให้เราได้กำไรได้ และนี่ยังไม่ได้รวมถึงค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายที่อาจจะกินกำไรของเราไปอีก

นักลงทุนหลายคนกลัวไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปี 2009 ดังนั้นเขาขายหุ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวออกหมด เพราะเขาคิดว่าถ้ามันลามไปมากๆ การท่องเที่ยวจะถูกกระทบหนัก คนจะไม่เดินทาง แต่ถามว่าโอกาสที่มันจะลามไปอย่างควบคุมไม่ได้นั้นมีกี่เปอร์เซ็นต์? เขาอาจจะไม่ได้คิด แต่ประเด็นที่สำคัญกว่า ก็คือ ราคาหุ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอาจจะตกต่ำลงไปมากแล้ว จนมันคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับทรัพย์สินของบริษัท พูดง่ายๆ ถ้าจะสร้างทรัพย์สินแบบเดียวกัน จะต้องใช้เงินมากกว่าการซื้อหุ้นมาก
ในกรณีดังกล่าว เราลองตั้งคำถามใหม่ว่า โอกาสที่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จะยังมีผลต่อการท่องเที่ยวเดินทางในอีก 2-3 ปีข้างหน้านั้นเป็นเท่าไร? คำตอบของเราอาจจะเป็นว่า "น้อยมาก" เหตุผลก็คือ เมื่อถึงเวลา โลกอาจมีวัคซีนที่แพร่หลายแล้ว ไข้หวัดอาจจะหายไป หรือกลายเป็นเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว หรือทุกประเทศก็มีการติดเชื้อใกล้เคียงกัน จะอยู่หรือไปที่ไหนก็เหมือนกัน

ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทท่องเที่ยวเดินทาง น่าจะกลับมาเหมือนเดิมในอีก 2-3 ปี และถ้าราคาหุ้นได้ตกลงมามากมาย เช่น เหลือเพียงครึ่งเดียว การลงทุนในหุ้นดังกล่าวอาจจะมีโอกาสได้กำไร 100% ในเวลา 2-3 ปี ซึ่งคุ้มค่ามากในการลงทุน
ถามว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะฟื้นไหมในช่วงครึ่งปีหลัง? โอกาสอาจจะเป็น 50-50 หรือ 50% ถ้าเราเปลี่ยนคำถามใหม่เป็นว่า โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นในปีหน้าเป็นเท่าไร? คำตอบอาจจะเป็น 70% โอกาสที่จะฟื้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นเท่าไร? คำตอบอาจจะเป็น 80% ถ้า 3 ปี อาจจะเป็น 90% หรือมากกว่า

การยืดเวลาทำให้ความแน่นอน หรือความเป็นไปได้สูงขึ้น และถ้าเรามั่นใจมากว่าภายในเวลา 3-4 ปี เศรษฐกิจต้องฟื้นแน่ คำถามต่อไปก็ง่ายขึ้น นั่นคือ บริษัทไหนจะได้ประโยชน์แน่ๆ และกำไรของบริษัทจะต้องกลับมาอย่างน้อยเท่าเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤติ?
หลังจากนั้น ก็มาดูว่า ราคาหุ้นของบริษัทนั้นตกต่ำลงมาแค่ไหน และราคาควรจะกลับไปที่เดิมได้หรือไม่? ทั้งหมดนั้น แน่นอน เป็นการคาดการณ์ แต่ที่สำคัญก็คือ "ความน่าจะเป็น" เป็นเท่าไร ถ้าคำตอบก็คือ สูงมาก เช่น 80-90% แบบนี้ ถ้าเราลงทุนในหุ้นตัวที่ราคาตกลงมาครึ่งหนึ่ง ก็มีโอกาสสูงที่เราจะกำไร 100% ในเวลา 3-4 ปีซึ่งคุ้มค่ามาก

เทคนิคในการ "ยืดเวลา" เพื่อ "เพิ่มความแน่นอน" ในการพยากรณ์นี้ ดูเหมือนจะขัดแย้งกับสามัญสำนึกปกติของคนที่ว่า "ยิ่งนานยิ่งไม่แน่นอน" เพราะ "ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก" แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า เหตุการณ์หรือสิ่งที่ผมยกมานั้นเป็นเรื่องที่รุนแรงและไม่ปกติ ซึ่งเรื่องแบบนี้มักจะไม่สามารถอยู่ได้นานมาก "เวลา" จะช่วยรักษาหรือแก้ไขให้มันกลับมาสู่ภาวะปกติ ดังนั้น ถ้าเรา "ทนรอ" ได้ เราก็อยู่ในสถานะที่จะฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่ "รอไม่ได้"
ส่วนผมเองนั้น การลงทุนหรือการที่จะซื้อหุ้นตัวไหนนั้น ผมต้องการ "ความแน่นอน" ซึ่งแน่นอน ไม่ใช่โอกาสเกิดขึ้นต้อง 100% ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ผมต้องการความน่าจะเป็นที่ประมาณ 70-80% ขึ้นไป และในเรื่องของกิจการหรือหุ้นนั้น การหาความ "แน่นอน" ขนาดนั้นได้

ส่วนใหญ่ผมต้อง "ยืดเวลา" ในการพยากรณ์ออกไปไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีขึ้นไป และคำถามมักจะเป็นว่า บริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นหรือไม่ และราคาหุ้นในขณะนี้ถูกหรือไม่เมื่อถึงเวลานั้น

บทความนี้เขียนในกรุงเทพธุรกิจโดยดร.นิเวศน์เมื่อ 21 ก.ค.2552

วิถีมหาเศรษฐี

มหาเศรษฐีมีลักษณะใดที่จะเป็นมหาเศรษฐีมี 12 ประการ มาดูกันว่าอะไรบ้าง
W.Randall Jones เขียนหนังสือชื่อ The Richest Man in Town โดยการสัมภาษณ์และวิเคราะห์คุณสมบัติ นิสัย แนวความคิด ปรัชญาการใช้ชีวิต และอื่นๆ ของคนที่รวยที่สุดในเมืองต่างๆ ของอเมริกาจำนวน 100 คน เขาพบลักษณะร่วมของคนที่เป็นมหาเศรษฐี 12 ประการ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง


1.ไม่หาเงินเพื่อเงิน การทำอย่างนั้น คุณจะไม่ได้เงิน เงินจะมาก็ต่อเมื่อคุณทำในสิ่งที่ถูกต้อง และด้วยวิธีที่ถูกต้อง ทำในสิ่งที่คุณรัก และมีความหลงใหลที่จะทำ คุณต้องทำในสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ แล้วเงินจะมาเอง มันเป็นผลพลอยได้ ในมุมของ VI หรือนักลงทุนเน้นคุณค่า ผมคิดว่ามันถูกต้องตรงกัน อย่าลงทุนแบบจ้องหา หรือหมกมุ่นกับผลตอบแทนเกินไป มีความสุขกับการลงทุน ทำหรือเลือกลงทุนอย่างถูกต้อง เงินจะมาเอง
2.รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง ที่สำคัญต้องรู้ว่า อะไรคือความสามารถ หรือความเชี่ยวชาญที่สุดของตัวเอง ถ้าคุณคิดว่าต้องไปทำงานทุกวัน นั่นก็ผิดแล้ว งานจะไม่ใช่งานถ้าคุณทำแล้วมีความสุข และเป็นสิ่งที่คุณอยากทำ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยบอกกับซูซี่ อดีตภรรยาที่ล่วงลับไปในตอนที่แต่งงานกันใหม่ๆ ว่า เขาจะต้องรวย เหตุผลไม่ใช่เพราะเขาทำงานหนัก หรือมีความเก่งเป็นพิเศษ แต่เป็นเพราะเขาเกิดมาด้วยทักษะที่ถูกต้อง ในสถานที่ที่ถูกต้อง และในเวลาที่ถูกต้อง นั่นคือ ทักษะในการจัดสรรเงินทุน หรือก็คือ การลงทุนนั่นเอง
3.เป็นนายของตัวเอง คุณไม่สามารถรวยได้โดยการทำงานให้คนอื่น เรื่องนี้ผมคงไม่ต้องอธิบายกับ Value Investor เพราะนักลงทุนนั้น ทุกคนเป็นนายของตัวเอง
4.เสพติดความทะเยอทะยาน คนเราทุกคนต่างก็เสพติดอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างในชีวิต เราติดกาแฟ ติด Internet ติดเหล้า ติดเซ็กส์ ติดอำนาจ เราต้องคิดว่าติดอะไรแล้วจะเป็นประโยชน์ มหาเศรษฐีบอกว่า "ไม่มีความมั่งคั่งถ้าไม่มีความทะเยอทะยาน" ทำอะไรสำเร็จแล้ว ก็ต้องพยายามทำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ความทะเยอทะยานนั้น มีด้านมืด มันอาจทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองสูงเกินไป และเป็นอันตราย ความทะเยอทะยานนั้น ควรจะมีวัตถุประสงค์ชัดเจน และเราต้องไม่ปล่อยให้มันอยู่เหนือการควบคุมของเรา
5.ตื่นเช้า มาถึงก่อน เริ่มตั้งแต่อายุน้อย ในเรื่องของการทำงานทั่วไปและในฐานะของผู้บริหารหรือผู้ประกอบการนั้น ผมคิดว่าต้องทำทั้งสามเรื่อง แต่เรื่องการลงทุนนั้น ผมคิดว่า การเริ่มตั้งแต่อายุน้อย เป็นสิ่งที่จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงและเป็นเศรษฐีได้ง่ายที่สุด
แนวทางข้อนี้ค่อนข้างจะต้องสัมพันธ์กับข้อสอง นั่นคือ ถ้าคุณสามารถค้นพบตัวเองว่าเก่งทางไหนตั้งแต่อายุน้อย ความสำเร็จก็ไม่หนีไปไหน
6.อย่าตั้งเป้าหมาย ลงมือทำให้สำเร็จทีละน้อย เดินหน้าไปทุกวัน เป้าหมายหรือแผนธุรกิจ พอเขียนเสร็จก็ล้าสมัยแล้ว มหาเศรษฐีบางคนไม่มี Business Plan และไม่ตั้งแม้แต่เป้ายอดขายด้วยซ้ำ
ข้อนี้ฟังดูเหลือเชื่อ ผมคิดว่าเป้าหมายคงอยู่ในใจและเป็นเป้ากว้างๆ ที่จะช่วยบอกทิศทาง พวกเขาเน้นที่การปฏิบัติว่า ต้องได้ผลมากกว่าการตั้งเป้าแต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ
นักลงทุนเองก็ควรคิดว่า Execution หรือการปฏิบัตินั้น สำคัญกว่าเป้าหมายมาก ถ้าเราลงทุนแล้วพอร์ตเราโตขึ้นเรื่อยๆ นี่แหละความสำเร็จ
7.อย่ากลัวความล้มเหลว ทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จก็คือ กล้าที่จะล้มเหลว และล้มเหลวต่อหน้าสาธารณชนด้วย ทุกคนจะต้องเคยล้มเหลวมาบ้าง ไม่มีใครประสบความสำเร็จตลอด โดยที่ไม่มีความล้มเหลวมาคั่น
ถ้าเรากลัวความล้มเหลว เราจะไม่กล้าทำอะไร ว่าที่จริง ไม่มีคำว่าล้มเหลว ยกเว้นว่าคุณจะเลิก การลงทุนก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางที่คุณจะประสบความสำเร็จตลอด อย่าเลิกเมื่อขาดทุนหนัก สู้ต่อไป วันหนึ่งเราจะชนะ
8.ทำเลไม่สำคัญ ทำเลที่ว่านี้ คือ สถานที่ที่คุณอยู่ หรือที่ที่คุณทำงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่เมืองไหน คุณสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ต้องย้ายไปอยู่เมืองใหญ่ หรือเมืองธุรกิจหลัก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เรามีเครือข่ายการสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ
ว่าที่จริง บัฟเฟตต์ อยู่ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา ซึ่งเป็นเมืองทางการเกษตรมา ตั้งแต่เริ่มธุรกิจลงทุนเมื่อ 50 ปีก่อน ที่การสื่อสารยังไม่ดีนัก แทนที่จะอยู่ที่นิวยอร์ก หรือบอสตัน ที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และการลงทุน ผมเองคิดว่า นักลงทุนไม่จำเป็นต้องอยู่ที่กรุงเทพฯ ถึงจะประสบความสำเร็จในการลงทุน ว่าที่จริง ยิ่งห่างอาจจะยิ่งดี
9.ยึดมั่นในจรรยาบรรณทางธุรกิจ นี่เป็นกฎเหล็กที่สำคัญที่สุด วอร์เรน บัฟเฟตต์ พูดว่า "ชื่อเสียงใช้เวลา 20 ปีในการสร้าง แต่ใช้เวลาแค่ 5 นาทีในการทำลาย ดังนั้นคุณต้องสำนึกไว้ตลอดเวลา"
10.เน้นที่การขาย ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนกว่าบางสิ่งบางอย่างจะถูกขายออกไป นักลงทุนไม่ได้ขายอะไร แต่ต้องรู้ว่า บริษัทที่เราลงทุนนั้นขายอะไร การขายเป็นหัวใจของความสำเร็จของบริษัท และเป็นความสำเร็จของราคาหุ้น ในความรู้สึกของผม ผมคิดว่า VI จำนวนมากชอบดูกำไร ซึ่งเป็นบรรทัดสุดท้าย แต่ไม่ค่อยดูยอดขายที่เป็นบรรทัดแรกในงบการเงิน
11.ขอยืมไอเดียจากคนที่เก่งที่สุดและคนที่แย่ที่สุด การอ่านประวัติและวิธีคิดของคนที่ยอดเยี่ยมที่สุด อย่างการลงทุนของบัฟเฟตต์ ผมคิดว่าไม่มีอะไรมาทดแทนได้
12.ไม่มีวันเกษียณ การเกษียณจะทำให้ชีวิตคุณล้มเหลว การเกษียณเป็นอันตรายต่อสุขภาพ การเกษียณเป็นอันตรายต่อความสนุกในชีวิต อันตรายต่อความมั่งคั่งส่วนตัว นักลงทุนไม่มีวันเกษียณ บัฟเฟตต์ และมังเจอร์ อายุเกือบ 80 ปีแล้ว ยังทำงานทุกวัน แม้แต่ปีเตอร์ ลินช์ หรือ จอห์น เนฟฟ์ ที่เกษียณจากการบริหารกองทุนรวม แต่พวกเขาก็ยังบริหารกองทุนส่วนตัวอยู่

บทความนี้เขียนในกรุงเทพธุรกิจโดยดร.นิเวศน์เมื่อ 14 กค.2552