Monday, May 3, 2010

เล่นที่ผ่านหุ้น...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ความร่ำรวยมหาศาลที่ได้มาอย่างสุจริตนั้น ในอดีตมักจะมาจากการทำธุรกิจและการซื้อที่ดิน มีคำพูดที่ว่า คนจีนนั้นร่ำรวยจากการทำธุรกิจและอาศัยอยู่ในเมือง ส่วน “แขก” นั้น จับจองที่ดินผืนใหญ่ชานเมืองเลี้ยงวัวและก็ร่ำรวยมหาศาลจากราคาที่ดินที่ เพิ่มขึ้น มาถึงยุคปัจจุบัน การทำธุรกิจก็ยังเป็นหนทางที่ทำให้ร่ำรวยได้มหาศาล แต่ก็ยากขึ้นมากสำหรับคนที่ไม่ได้มีต้นทุนเดิมที่ใหญ่พอ พูดง่าย ๆ สำหรับคนไทยที่ไม่ได้มีพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวย การเริ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตมหาศาลก็ยากมาก เพราะในเมืองไทยเราไม่มีอุตสาหกรรม “ไซเบอร์” ที่มีศักยภาพพอที่จะทำให้คนตัวเล็ก ๆ สร้างธุรกิจจนร่ำรวยได้ง่ายเหมือนอย่างในอเมริกาหรือจีน ส่วนเรื่องที่ดินนั้น สำหรับคนที่มีเงินมาก การเล่นที่ก็ยังเป็นหนทางสร้างความมั่งคั่งที่น่าจะโดดเด่นไม่แพ้การทำ ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากมากที่คนมีเงินน้อยจะเข้าไปเล่นที่ได้ การจับจองที่ดินถูก ๆ เพื่อ “เลี้ยงวัว” ไม่มีอีกแล้ว


โชคดีที่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น คน “ตัวเล็กตัวน้อย” นั่นก็คือนักลงทุนที่มีเงินเพียงน้อยนิดสามารถ “ซื้อธุรกิจ” ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเจ้าของหุ้นบางส่วนของธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดีหรือเป็นธุรกิจที่ ดีที่สุดของประเทศได้ ผลก็คือ นักลงทุนบางคนสามารถที่จะสร้างความมั่งคั่งและร่ำรวยมหาศาลได้ทั้งที่ไม่ได้ มีต้นทุนเงินมากมายในตอนเริ่มแรก และเมื่อเวลาผ่านไปนานกว่านี้อีก ผมเชื่อว่าจะมีคนร่ำรวยจากการ “ทำธุรกิจ” ผ่านตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังเชื่อด้วยว่า ในที่สุด คนที่รวยโดยการทำธุรกิจผ่านตลาดหุ้นจะเป็นเรื่อง “ปกติ” เช่นเดียวกับคนที่รวยจากการทำธุรกิจด้วยตนเอง

คนที่รวยจากการเล่นที่นั้น อาจจะดูว่าอย่างไรเสียก็คงเป็นเรื่องของคนที่มีเงินมากเท่านั้น ว่าที่จริงในปัจจุบันน่าจะยากขึ้นไปอีกสำหรับคนที่มีเงินน้อยเพราะราคา ที่ดินสูงขึ้นมาก ข้อนี้ ถ้ามองอย่างผิวเผินก็อาจจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะพบว่าอาจจะไม่จริง เพราะตลาดหุ้นนั้น มี “กลไก” ในการที่เราจะสามารถลงทุนหรือ “เล่น” ที่ดิน ผ่านการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ มันอาจจะไม่ใช่การลงทุนในที่ดินโดยตรง แต่มันก็ส่งผลคล้ายกัน นั่นก็คือ ถ้าราคาที่ดินที่ถือโดยบริษัทจดทะเบียนที่เราลงทุนนั้นปรับตัวขึ้นไป ราคาหุ้นที่เราถืออยู่ก็จะปรับตัวขึ้นไปด้วยแม้ว่าจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ผลก็คือ เราสามารถลงทุนใน “ที่ดิน” และ/หรือสิ่งปลูกสร้างได้ด้วยเงินเพียงน้อยนิด เหนือสิ่งอื่นใด เวลาที่เราลงทุนในหุ้น เราก็มักจะได้รับปันผลทุกปีในขณะที่การลงทุนซื้อที่ดินโดยตรงนั้น เราจะได้ผลตอบแทนก็ต่อเมื่อเราขายที่ดินนั้นแล้ว

การ “เล่นที่ผ่านหุ้น” นั้น ที่จะได้ผลใกล้เคียงกับการเล่นที่จริง ๆ ก็คือ การซื้อกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพราะกองทุนจะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการพัฒนาและมีรายได้แล้ว ผู้ถือหน่วยลงทุนก็คือ “เจ้าของ” บางส่วนของอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่ ดังนั้น ด้วยเงินลงทุนเพียงน้อยนิด เราก็เป็นเจ้าของที่และสิ่งปลูกสร้างที่ดีมากได้ เหนือสิ่งอื่นใด รายได้ที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม กองทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นวิวัฒนาการที่ยังค่อนข้างใหม่ ดังนั้น การลงทุนก็คงต้องศึกษาและทำอย่างระมัดระวัง

การเล่นที่ผ่านหุ้นอีกแบบหนึ่งก็คือ มองหาหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากโดยเฉพาะ ที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับ มูลค่าหุ้นของบริษัท การซื้อหุ้นเหล่านั้นเท่ากับว่าเราเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบาง ส่วนนอกเหนือจากธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทที่อาจจะทำกำไรได้ดีอยู่แล้ว ถ้าเราคำนวณหรือพิจารณาดูแล้วว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นในไม่ช้าก็ จะ “แปลง” เป็นเงินสดและกำไรออกมาด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งและมันมีมูลค่ามากกว่าค่า หุ้นที่เราจะจ่ายในวันนี้มาก การซื้อหุ้นเหล่านั้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี และนี่ก็คือแนวทางลงทุนในสไตล์ของ Assets Play เพียงแต่ทรัพย์สินนั้นเป็นเรื่องของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทอาจจะ ไม่จำเป็นต้องขายทรัพย์สินเพื่อที่จะสร้างเงินสดหรือกำไรโดยตรง

โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมไม่ใคร่สนใจหุ้น Assets Play หรือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมรู้สึกว่าราคาที่ดินโดยเฉพาะในย่านใจกลางเมืองที่เจริญที่สุดของประเทศ นั้น มีราคาเพิ่มขึ้นไปเร็วและสูงมาก ประเด็นก็คือ ผมแทบจะไม่มีการลงทุนในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เลย ว่าที่จริงแม้แต่บ้านอยู่อาศัยของตนเองก็ยังไม่มี ผมรู้สึกว่าผม “ตกรถ” ที่ดินรอบนี้อย่างแรง ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อยผมเคยคิดว่าจะซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านย่านกลาง เมืองแต่ก็ไม่ได้ทำ เวลานี้ราคาที่ดินขึ้นไปแล้วอย่างแรงมาก ผมจะทำอย่างไร? ทางหนึ่งก็คือ ตามไปซื้อที่ราคาแพงซึ่งผมไม่รู้ว่าจะคุ้มไหม แต่อีกทางหนึ่งที่ผมคิดว่าอาจจะยังไม่สายเกินไปก็คือ ไปซื้อที่ดิน “ผ่านหุ้น” ของบริษัทที่มีที่ดินที่ดีที่สุดของเมืองไทยที่ราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับตัว ขึ้น ผมพบว่าหุ้นหลายตัวเข้าข่ายนั้น ผมเลือกหุ้นตัวที่ดีที่สุดแล้วก็ซื้อเก็บไว้ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สูงขึ้นมากนั้นจะ แปลงออกมาเป็นเงินสดและผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นด้วย ผมรู้สึกว่าผมยังไม่ “ตกรถ” ที่ดินในรอบนี้

การลงทุนซื้อที่ดิน “ผ่านหุ้น” นั้น เราจะต้องมองให้ออกว่าที่ดินที่บริษัทถืออยู่นั้นเป็นที่ดินอะไร บางบริษัทอาจจะเป็นที่ดินการเกษตรที่มีแต่ราคาแต่อาจจะแปลงเป็นเงินสดได้ยาก มาก แบบนี้ก็ต้องคิดว่าเราอยากได้ไหม ที่ดินของบางบริษัทอาจเป็นที่ดินในต่างจังหวัดที่ราคาไม่ใคร่เพิ่มขึ้นและ ไม่มีราคาตลาดที่จะอ้างอิงได้ชัดเจน แบบนี้เราก็ต้องเผื่อ Margin Of Safety ในการคำนวณมากหน่อย ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่น่าสนใจมากนั้นก็คือที่ดินย่านใจกลางของธุรกิจ ซึ่งจากประสบการณ์ทั่วโลกพบว่า มันมักมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็วและเป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างกระแสเงินสด ได้ดีโดยที่กิจการไม่จำเป็นต้องขายออกไป ซึ่งนี่ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่ว่า ที่ดินอาจจะมากแต่มันก็อยู่ของมันโดยไม่ได้สร้างรายได้และกำไรออกมาและถ้า บริษัทจะขายก็ไม่มีคนซื้อ

บทความนี้ลงในThaiVI.comเมื่อ 24 เมษายน 2553

กฏของสงคราม...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักวิเคราะห์หุ้นแบบ Value นั้น แตกต่างจากนักวิเคราะห์หุ้น “มืออาชีพ” ทั่วไปในเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ Value Investor ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวิเคราะห์ “กิจการ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการตลาดของบริษัท และด้านการตลาดที่ว่าก็คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเมื่อเทียบกับคู่แข่งในระยะยาว การแข่งขัน หรือถ้าจะพูดให้โก้เก๋ก็คือ “สงคราม” การตลาดระหว่างบริษัทกับคู่ต่อสู้นั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะต้องวิเคราะห์พิจารณา เพราะถ้าวิเคราะห์ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงคราม เราก็จะรู้ว่าบริษัทไหนจะรุ่งและบริษัทไหนจะร่วง ในเรื่องนี้ อัล รีส และแจ๊ค เทร้าท์ กูรูการตลาดระดับเซียนได้เขียนไว้นานแล้วในหนังสือเรื่อง Marketing Warfare พวกเขาอธิบายว่าสงครามการตลาดนั้น ไม่ได้แตกต่างจากสงครามจริงมากนักในด้านของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ควรนำมาใช้ กฏของสงคราม ซึ่งคิดค้นโดย คาร์ล วอน คลอสวิตซ์ “บิดาแห่งการสงคราม” สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการตลาดได้อย่างเยี่ยมยอด และต่อไปนี้ก็คือกฏที่สำคัญที่สุดบางข้อที่นักลงทุนควรรู้



กฏข้อแรกก็คือ ฝ่ายที่มีทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้ชนะ ในสงครามทุกครั้ง กองทัพที่มีไพร่พลมากกว่าย่อมเป็นผู้ชนะ อย่าไปพูดถึงเรื่องของคุณภาพของคน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เยอรมันพ่ายแพ้แก่สัมพันธมิตรที่มีกำลังพลและทรัพยากรต่าง ๆ มากกว่ามาก โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกัน ในสงครามการตลาดนั้น บริษัทที่ใหญ่กว่ามาก มีงบโฆษณามหาศาล มีพนักงานการตลาดมากกว่าคู่แข่งหลายเท่า รบอย่างไร บริษัทใหญ่ก็ชนะทุกที ดังนั้น เป็นการยากที่บริษัทเล็กจะมาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ แน่นอน ในบางช่วงบางตอน เราอาจจะเห็นบริษัทเล็กได้ชัยชนะในระยะสั้น ๆ แต่จะให้ได้ชัยชนะขนาดเข้าไปแทนที่บริษัทใหญ่นั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก

เรื่องของคุณภาพของคนหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เราหลงผิดได้ เราอาจจะคิดว่าฝ่ายหนึ่งมีคนที่เหนือกว่า หรือมีผลิตภัณฑ์ที่ดีเด่นกว่า ดังนั้น ฝ่ายนั้นก็น่าจะเป็นฝ่ายที่ชนะได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เรามักจะเน้นว่า “ปริมาณไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ” แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง ในสงครามโลกหรือสงครามอื่น ๆ นั้น จากการวิจัยพบว่า แทบไม่มีศึกครั้งไหนที่ฝ่ายที่มีกำลังพลน้อยกว่าสามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลัง พลมากกว่ามากได้ เปรียบไปก็เหมือนกับรถเก๋งปะทะกับรถสิบล้อ โอกาสที่รถสิบล้อจะยับนั้นยากมาก เช่นเดียวกัน ในเรื่องการตลาด ต่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นจะ “ดีเลิศ” กว่าของคู่แข่งแค่ไหน แต่มันเป็นรายเล็ก มีทรัพยากรน้อย สุดท้ายก็ไปไม่รอด ผู้บริโภคเองก็อาจจะคิดว่า “ถ้าดีจริงก็คงจะใหญ่โตไปแล้ว” ดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ “ดีเลิศ” นั้น

กฏข้อสอง ฝ่ายที่ตั้งรับย่อมแข็งแกร่งกว่าฝ่ายที่รุกรบ ในการสงครามนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับมักจะยึดชัยภูมิที่อยู่สูงหรือมีสนามเพาะเป็นแนวป้องกันข้า ศึก ดังนั้น เวลารบกันก็จะได้เปรียบมาก เพราะเวลาศัตรูบุกเข้ามา โอกาสที่จะถูกยิงนั้นสูงกว่าเนื่องจากไม่มีที่กำบัง กฏของสงครามคือ ถ้าจะชนะได้ ฝ่ายรุกจะต้องมีกำลังพลเป็นสามเท่าของฝ่ายรับ สงครามนับครั้งไม่ถ้วนก็แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ในสงครามการตลาดเองนั้น ผู้นำที่ยึด “ชัยภูมิ” การตลาดที่โดดเด่นเอาไว้ได้แล้ว ก็อยู่ในฐานะที่ได้เปรียบมหาศาล ต่อให้คู่แข่งจะพยายาม “โจมตี” อย่างไร ก็ยากที่จะเอาชนะได้ เพราะคู่แข่งจะต้องใช้ทรัพยากรเป็นสามเท่า ดังนั้น ในหลาย ๆ กรณี ผมเคยถูกถามว่าถ้าคู่แข่งที่เป็นรายใหญ่มากจากต่างประเทศเข้ามาแข่งกับ บริษัทของเราที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นในประเทศไทยเราจะทำอย่างไร คำตอบของผมก็คือ เขาก็ “ตาย” สถานเดียว เพราะในต่างประเทศเขาอาจจะใหญ่และยึดชัยภูมิที่ดีไว้แล้วไม่มีใครทำอะไรเขา ได้ แต่ในเมืองไทย เขาเป็นฝ่ายรุกและเป็นรายเล็ก ดังนั้น เสียเปรียบทุกอย่าง

กฏข้อที่สาม ศึกษา “ชัยภูมิ” ของข้าศึกแล้วเราก็จะรู้ถึงการวางแผนรวมทั้งอุปนิสัยของเขา จากนั้นเราก็สามารถตอบโต้ได้ตามความเหมาะสม ชัยภูมิของการสงครามนั้นก็จะเป็นภูเขา แม่น้ำ หรือภูมิประเทศทางกายภาพอื่น ๆ แต่ชัยภูมิทางการตลาดนั้น ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านหรือเค้าน์เตอร์ขายสินค้า แต่อยู่ในสมองหรือจิตใจของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน สงครามการตลาดเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในสมอง ภูเขาของรถยนต์ที่เน้นการใช้งานอาจจะเป็นโตโยต้า ภูเขาของชาเขียวอาจจะเป็นโออิชิ นั่นคือ ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ “จอง” หรือยึดชัยภูมิสำคัญในสมองของผู้บริโภคไว้แล้ว ยากที่คู่แข่งจะเข้าตีได้ง่าย ดังนั้น เวลาเราวิเคราะห์การตลาดของบริษัท เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ใน “ชัยภูมิ” ใด ประเด็นสำคัญก็คือ เราอยากได้บริษัทที่อยู่ในชัยภูมิที่ดีเลิศ เช่น “เป็นภูผาที่สูงชันและล้อมรอบด้วยน้ำ” เราไม่อยากได้บริษัทที่อยู่ใน “หุบเขาที่เปิดโล่งและล้อมด้วยป่าทึบ”

พูดถึงสงครามและการตลาดแล้ว ทำให้นึกถึงเรื่องอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนกัน เช่นเรื่องของการต่อสู้ทางการเมืองหรือการชุมนุมเรียกร้องที่กำลังเกิดขึ้น ในขณะนี้ ผมมองดูแล้ว หลักหรือกฏของสงครามที่กล่าวถึงก็น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้เหมือนกันและผมคิด ว่าต่างฝ่ายต่างก็รู้ถึงกฏของกำลัง กฏของความได้เปรียบในแง่ของการตั้งรับและเรื่องของ “ชัยภูมิ” เป็นอย่างดี และน่าจะมีการนำมาใช้ซึ่งทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผมยกขึ้นมาพูดถึงนั้น ไม่ได้ต้องการที่จะวิจารณ์อะไร เพียงแต่ต้องการที่จะย้ำให้เห็นว่า กฏของสงครามนี้ เป็นกฏที่น่าจะถูกต้องและประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 17 เมษายน 2553

อยู่กับหุ้น 100%...ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ตั้งแต่ปี 2539 ผมได้ลงทุนเงินทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่มีอยู่ในหุ้น ในช่วงแรก ๆ นั้น แน่นอน ผมต้องเก็บเงินสดไว้จำนวนหนึ่งเป็นสภาพคล่องสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินจำนวนนั้นถ้าคิดคำนวณก็อาจจะประมาณเท่ากับ 10% ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ เงินอีก 90% ผมลงในหุ้นทั้งหมด เหตุผลที่ผมลงทุนในหุ้นนั้น เป็นเพราะผมเห็นว่าหุ้นที่ผมลงทุนนั้นเป็นบริษัทที่มั่นคง มีกำไรที่สม่ำเสมอ มีปันผลที่ค่อนข้างแน่นอนประมาณไม่ต่ำกว่า 4-5% ต่อปี ผมลงเพราะผมเห็นว่าหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดที่ผมจะทำได้ ผมไม่คิดว่าผมรับความเสี่ยงมากเกินไป เพราะผมถือหุ้นต่าง ๆ เกือบสิบบริษัท ถ้าบริษัทหนึ่งมีปัญหา บริษัทอื่นก็ยังดีอยู่และทำผลตอบแทนชดเชยได้

ผ่านมาประมาณ 14 ปี ผมก็ยังคงถือเงินสดเป็นสภาพคล่องประมาณเท่าเดิม แต่เนื่องจากเงินลงทุนในหุ้นของผมเติบโตขึ้นมาก เงินสภาพคล่องที่เคยเป็น 10% ของพอร์ต ตอนนี้จึงเป็นเพียง 1% ของเงินทั้งหมด การถือหุ้น “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ของผม “ตลอดเวลา” เป็นเวลา 14 ปีนั้น ได้ผ่านเหตุการณ์ “เลวร้าย” ต่าง ๆ รวมถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ 2 ครั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การถล่มทลายของตึกเวิร์ลเทรดจากการก่อการร้าย การประกาศควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย และเหตุการณ์ร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นการพิสูจน์ว่า การลงทุนระยะยาวแบบ Value Investment นั้น ไม่ได้อิงหรือขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นและก็จะจบลงไปในระยะเวลาไม่นาน

การถือหุ้น 100% นั้น นักวิชาการต่างก็พูดว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีอายุมาก ที่จะไม่สามารถรับได้หากเกิดการขาดทุนและตนเองไม่สามารถทำงานหาเงินมาชดเชย ได้ การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น อาจจะเหมาะก็เฉพาะคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวที่รับความเสี่ยงได้มากเท่านั้น แต่สำหรับผมแล้ว ผมมีเหตุผลที่จะถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่าอายุกำลังใกล้เกษียณ เหตุผลของการถือหุ้น 100% นั้นมีมากมาย

ข้อแรก หุ้นนั้น ในระยะยาวมักให้ผลตอบแทนที่ดีและน่าจะดีที่สุดในบรรดาการลงทุนในตราสารการ เงิน จากสถิติทั้งในและต่างประเทศพบว่าหุ้นให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 8-10% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยประมาณ 3-5% เท่านั้น และคำว่าระยะยาวนั้น น่าจะมีความหมายว่าประมาณ 10-20 ปี ดังนั้น สำหรับผมซึ่งอายุยังไม่ถึง 60 ปี และคิดว่าตนเองน่าจะอยู่ได้ถึง 80 ปีซึ่งจะทำให้ผมมีเวลาลงทุนอีก 20 ปี ผมจึงเห็นว่าการลงทุนในหุ้นทั้งหมดน่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด

ข้อสอง ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไป จนผมมีอายุ 70 ปี ถ้าผมยังมีความสามารถในการวิเคราะห์พิจารณาอยู่ ผมเองก็จะยังคงลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี เหตุผลก็คือ เงินของผมที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น มันมีอยู่มากเกินพอที่ผมไม่สามารถใช้ได้หมดอยู่แล้ว เงินส่วนใหญ่นั้นคงจะส่งผ่านต่อไปที่ลูก ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูจริง ๆ ก็คืออายุของลูกไม่ใช่อายุของผม และถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็ควรลงทุนในหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ประเด็นในเรื่องนี้ก็คือ ผมไม่มีความเสี่ยงที่จะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในยามที่มีอายุมากขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเป็นเงินฝากหรือพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนน้อย นิดแต่อย่างใด

ข้อสาม ถ้าไม่มองในด้านของอายุหรือระยะเวลาในการลงทุน แต่ดูที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในปัจจุบันก็จะพบว่ามันต่ำมากจนไม่คุ้ม กับอัตราเงินเฟ้อ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีนั้น ยิ่งเราเก็บไว้นานเราก็ยิ่ง “ขาดทุน” ตรงกันข้าม ถ้าเราลงทุนในหุ้นด้วยการเลือกหาหุ้นที่ดีในราคาที่ต่ำหรือราคายุติธรรม เราก็อาจจะสามารถทำเงินเพิ่มเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาอาจจะไม่เกิน 5-6 ปี หรือถ้าพลาด ราคาหุ้นไม่เพิ่มเลยในช่วงเวลาหลายปีแต่ปันผลที่ได้ในแต่ละปีที่ประมาณ 3-4% ก็ยังคุ้มค่ากว่าการฝากเงินอยู่ดี ดังนั้น การถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่มีข้อดีและควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนที่เป็น Value Investor ผู้มุ่งมั่น

เหตุผลข้อสุดท้ายของการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เป็นเรื่องที่ว่า มันมีโอกาสที่จะทำให้เรา “รวย” ได้ โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและไม่เหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีเวลาลงทุนที่ยาวนานเช่นคนหนุ่มสาวทั้งหลาย ว่าที่จริง คนที่อายุยังไม่ครบ 30 ปี และมีเงินเดือนหรือรายได้ในระดับคนชั้นกลางที่ไม่มีภาระมากเกินไป และมีความมุ่งมั่นในการลงทุนเต็มเปี่ยมนั้น น่าจะสามารถรวยในระดับร้อยล้านบาทก่อนที่จะตายได้ไม่ยาก หลักการใหญ่ก็คือ เขาจะต้องลงทุนถือหุ้นชั้นนำไม่น้อยกว่า 5-6 ตัวและไม่ควรเกิน 10 ตัว ด้วยเงินร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดเวลา

ที่เขียนมาทั้งหมดนั้น หลายคนอาจจะไม่แน่ใจ เพราะดูเหมือนมันจะ “ง่ายเกินไป” ความเสี่ยงดูเหมือนจะ “น้อยเกินไป” ถ้ามันดีอย่างนั้นทำไมคนจึงไม่ทำกันหมด เรื่องนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้ในเวลาอันน้อยนิด ผมเพียงแต่อยากจะบอกว่า พอร์ตหุ้นของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นก็เปิดเผย เขาถือหุ้นเหล่านั้นในระยะยาวมาก พอร์ตหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อย แล้วเขาก็รวย คำถามก็คือ ทำไมคนจึงไม่ถือหุ้นเหล่านั้นตามบัฟเฟตต์?

เรื่องของการรวยจากการถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ว่าที่จริงผมได้พบ Value Investor ผู้มุ่งมั่นหลายคนทีเดียวที่ทำได้สำเร็จร่ำรวยเป็นเศรษฐีด้วยเวลาที่สั้น มากอย่างไม่น่าเชื่อ คนเหล่านั้นค้นพบ “ขุมทอง” ในตลาดหุ้นและขุดมันอย่างรวดเร็ว ในขณะที่หลายคนยังไม่เชื่อว่ามีขุมทองจริง ประเด็นก็คือ เขายังไม่ได้ลองเข้ามาสำรวจ ยังไม่ได้ลงมือจับจอบเสียมและ “ขุด” พื้นดินจริง ๆ ความหมายของผมก็คือ ถ้าคุณหวังจะรวยจากตลาดหุ้น สิ่งที่จะต้องทำก็คือ ลงทุนซื้อหุ้นในวิธีที่ถูกต้อง ไม่มีทางอื่น เริ่มเดี๋ยวนี้

บทความนี้ลงใน ThaiVI.comเมื่อ 3 เมษายน 2553