Friday, April 29, 2011

เกมเทคโอเวอร์

ในช่วงที่ตลาดหุ้น คึกคัก และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นตลาดกระทิงนั้น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้น ก็คือ การควบรวมกิจการ

หรือที่เรียกกันติด ปากว่าการ "Take Over" เหตุผลที่มีการเทคโอเวอร์กันมากในยามตลาดหุ้นบูมนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ "ราคาหุ้น" นั่นก็คือ การเทคโอเวอร์ สามารถนำมาซึ่งการ "เติบโต" ของบริษัทอย่างรวดเร็ว การเติบโตจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กำไรที่จะเพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น การเติบโตที่ "คาดว่า" ว่าจะเร็วขึ้นมากย่อมทำให้ตลาดให้ค่า PE ของหุ้นสูงขึ้นด้วย หรือพูดง่ายๆ ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหน่วยที่ทำได้ ผลก็คือ ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หรือเรียกว่าได้ "สองเด้ง" ดังนั้น ผู้บริหาร "ระดับเซียน" ที่เก่งทางด้าน "วิศวกรรมการเงิน" จึงมักใช้โอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย ทำการเทคโอเวอร์อย่าง Aggressive หรือเทคโอเวอร์อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งหลายครั้งสามารถทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างโดดเด่น โดยที่ธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก เพียงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น

มองย้อนหลังไปในช่วงหุ้นบูมสุดๆ ก่อนวิกฤติการเงินในปี 2540 ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 1700 กว่าจุด ในช่วงนั้น คนที่จำได้ก็จะรู้ว่า "เทคโอเวอร์คิง" ไม่มีใครนอกจาก ปิ่น จักกะพาก แห่ง Fin One บริษัทเงินทุนที่ใหญ่และ Aggressive ที่สุดในการควบรวมกิจการ กลยุทธ์ของปิ่นก็คือการเทคโอเวอร์กิจการ ที่เกี่ยวกับการเงินในตลาดหลักทรัพย์โดยการ "แลกหุ้น" นั่นก็คือ ฟินวันซื้อหุ้นของบริษัทเป้าหมายจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยสิ่งที่ใช้ในการแลก ก็คือ ฟินวันจะออกหุ้นใหม่เอามาให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป้าหมาย

ดังนั้น ฟินวันจึงไม่ต้องใช้เงินในการซื้อกิจการ และดังนั้นฟินวันจึงสามารถซื้อกิจการอื่นไปได้เรื่อยๆ แม้กิจการที่ซื้อ อาจจะใหญ่กว่าตัวเองมากอย่างธนาคารพาณิชย์เช่นไทยทนุในยุคนั้น ที่กลายเป็นบริษัทเป้าหมาย แต่โชคไม่ดี ฟินวันมีอันเป็นไปเสียก่อนที่ดีลจะสำเร็จ และเป็นการปิดฉากเกมเทคโอเวอร์ที่ร้อนแรง และมีสีสันที่สุดในตลาดหุ้นไทย

เกมเทคโอเวอร์ของ ฟินวันนั้น เป็นไปได้เพราะมีเงื่อนไขสำคัญ ก็คือ ราคาหุ้นของฟินวันสูงมากเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หุ้นฟินวันมีค่า PE สูงมาก นอกจากนั้น บริษัทเป้าหมายที่จะถูกควบรวมกิจการ จะต้องมีราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทหรือเป็นหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ ซึ่งในยุคนั้นสถานการณ์แบบนี้ก็มีอยู่ นั่นก็คือ ฟินวันมีกลยุทธ์การทำงานที่ Aggressive เน้นการเติบโตที่รวดเร็วในทุกด้านทั้งทางด้านการดำเนินงานและการควบรวม กิจการ

ส่งผลให้หุ้นฟินวันร้อนแรงมีค่า PE สูงลิ่วเพราะคนเชื่อว่าเป็นหุ้น "Super Growth" ในอีกด้านหนึ่ง หุ้นของบริษัทการเงินอื่น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับไม่เป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่นักเก็งกำไรจะเข้าไป "เล่น" หรือ "ปั่น" ได้ ทำให้หุ้นไม่เป็นที่นิยม ส่งผลให้ราคาและค่า PE ของหุ้นต่ำกว่าหุ้นฟินวันมาก
มาดูกันว่าทำไมหุ้นที่ PE สูงซึ่งทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นสูง สามารถเทคโอเวอร์หุ้นที่มี PE ต่ำและมีมูลค่าของตลาดหุ้นต่ำได้อย่างไร

สมมติว่าหุ้น "ซุปตาร์" มีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น เนื่องจากหุ้นซุปตาร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีผู้บริหารที่โดดเด่น รวมถึงมีกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตลาดให้ค่า PE ของหุ้นเท่ากับ 25 เท่า ส่งผลให้ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับหุ้นละ 25 บาท คิดเป็นมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทเท่ากับ 25,000 ล้านบาท ส่วนหุ้น "เทอร์เทิล" นั้นมีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นเหมือนกัน แต่คนมองว่าเป็นหุ้น "เต่า" จึงมีค่า PE เพียง 10 เท่า หุ้นมีราคาเพียง 10 บาทต่อหุ้น และทั้งบริษัทมีมูลค่าหุ้นเพียง 10,000 ล้านบาท

ซุปตาร์เทคโอเวอร์เทอร์เทิลโดยการออกหุ้นใหม่ 400 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเทอร์เทิล ผลก็คือ หุ้นซุปตาร์หลังจากเทคโอเวอร์ จะมีหุ้นทั้งหมดเท่ากับ 1400 ล้านหุ้น มีกำไร 2000 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.43 บาทต่อหุ้น และตลาดมองว่าหุ้นซุปตาร์ไม่ได้แย่ลงจากการเทคโอเวอร์จึงให้ค่า PE เท่าเดิมคือ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับ 35.7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 43% จากราคา 25 บาท แต่ถ้าตลาดมองว่าการเติบโตของซุปตาร์จะเร็วขึ้นอีก ดังนั้นค่า PE จึงน่าจะปรับขึ้นเป็น 30 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของซุปตาร์จะกลายเป็น 42.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 71.4% โดยที่กิจการของซุปตาร์และเทอร์เทิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย และนั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟินวันในยามที่เกมเทคโอเวอร์กำลังดำเนินไปด้วยดี

มีอะไรผิดไหมสำหรับเกมเทคโอเวอร์ที่บริษัท PE สูงควบรวมบริษัท PE ต่ำ แล้วทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่เทคโอเวอร์เพิ่มขึ้นมโหฬารในชั่วข้ามคืน?

ประเด็นก็คือ นักลงทุนอาจจะมองผิดพลาด โดยคิดไปว่าบริษัทจะยังเหมือนเดิม หรือโตเร็วขึ้นไม่ได้ช้าลง จึงให้ค่า PE เหมือนเดิมหรือสูงขึ้น คนคิดว่าบริษัท "เต่า" ที่โตช้านั้น เมื่อถูกเทคโอเวอร์แล้วจะแปลงเป็น "ซุปเปอร์สตาร์" เหมือนบริษัทที่กลายมาเป็น "แม่" ดังนั้นค่า PE ของเต่าจึงถูกปรับขึ้นจาก 10 เท่าเป็น 25 เท่าหรือมากกว่า แต่ถ้าความเป็นจริงก็คือ "ทุกอย่างเหมือนเดิม" หรือมีการเปลี่ยนแปลงในบริษัทเต่าน้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไปคนก็จะเห็นว่า การเติบโตของบริษัทที่รวมกันแล้วไม่ได้เร่งตัวขึ้น เต่าก็ยังเป็นเต่า ซุปเปอร์สตาร์ก็โตเท่าเดิม

ดังนั้น ตลาดก็จะปรับค่า PE ของบริษัทที่รวมกันแล้วลง เช่นอาจจะเหลือเพียง 17.5 เท่าซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของ 10 กับ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทรวมก็จะเท่ากับ 1.43 คูณ 17.5 หรือก็คือ 25 บาทต่อหุ้น เท่าเดิมก่อนที่จะมีการเทคโอเวอร์ ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่เข้ามาซื้อหุ้นซุปตาร์ในราคา 30 หรือ 40 กว่าบาทและถือไว้ก็จะขาดทุนเมื่อ "พื้นฐานที่แท้จริง" ถูกเปิดเผยมาในภายหลัง

อาจมีข้อถกเถียงว่า เมื่อเทคโอเวอร์แล้ว ซุปตาร์ สามารถลดต้นทุนหรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขนาดของธุรกิจ ดังนั้นพื้นฐานของเทอร์เทิลและซุปตาร์จะดีขึ้นมาก แต่นี่เป็นสิ่งที่น่าจะยังต้องพิสูจน์ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากตลาดในอเมริกาพบว่า การเทคโอเวอร์ส่วนใหญ่ ได้ผลตรงกันข้าม ภายหลังต้องขายกิจการที่เทคมาทิ้งพร้อมกับการขาดทุนอย่างยับเยิน

ในตลาดหุ้นไทย กรณียังไม่ชัดเพราะมีกรณีไม่มาก ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก่อนหลังจากมีการเทคโอเวอร์ VI คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมเหตุผลไหม เหนือสิ่งอื่นใด การคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดเป็นเรื่องที่ VI จะต้อง "สงสัย" ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? สำหรับผมแล้ว ถ้าแหล่งของการได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ ยังเป็นที่น่าสงสัย ผมก็จะไม่เข้าไปเล่นในเกมเทคโอเวอร์ โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นขึ้นไปสูงแล้ว


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 19 เมษายน 2554

ข้อคิดสุดยอดของบัฟเฟตต์

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ไม่เคยเขียนหนังสือการลงทุน แต่แนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของเขานั้น ส่วนใหญ่น่าจะมาจาก รายงานประจำปี

ที่เสนอต่อผู้ถือหุ้น บริษัทเบิร์กไชร์ แฮทธะเวย์ ที่เขาเป็นประธานอยู่ และอีกจำนวนไม่น้อยมาจากการพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่ต่างๆ หลังจากนั้น ก็มีคนหลายคนที่ศึกษา และรวบรวมความคิดของเขาออกมาเป็นหมวดหมู่เป็นระบบ และกลายเป็นหนังสือแนวทาง หรือกลยุทธ์การลงทุน "แบบบัฟเฟตต์" ซึ่งแน่นอน มีหลายเวอร์ชั่น แล้วแต่ว่าใครจะมองอย่างไร

ถ้าตัดเรื่องของการเขียนเป็นรูปเล่ม ที่ต้องมีการพรรณนาเรื่องราวต่างๆ ที่ยืดยาวออกไป เราก็พอจะหาแนวคิดที่เป็น "แก่น" จริงๆ ของบัฟเฟตต์ได้จากคำกล่าว หรือข้อคิดสำคัญๆ ของบัฟเฟตต์ที่พูดไว้ในที่ต่างๆ ได้ และต่อไปนี้คือข้อคิดดีๆ ที่เป็น "สุดยอด" ของบัฟเฟตต์

คำกล่าวที่หนึ่ง ก็คือ "สำหรับเรื่องของการลงทุนแล้ว กฎข้อที่หนึ่ง ก็คือ อย่าขาดทุน และกฎข้อที่สอง ก็คือ ให้กลับไปดูกฎข้อที่หนึ่ง" นั่นก็คือ สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุน ก็คือ คุณต้องพยายามอย่าให้ขาดทุน บัฟเฟตต์นั้น ไม่เคยพูดถึงว่าเวลาลงทุนเขาคาดว่าจะกำไรเท่าไร กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ ซื้อหุ้นแล้วมีโอกาสที่จะหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ เขาดูความเสี่ยงที่เป็น Down Side หรือขาลง มากกว่าโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงในด้านขาขึ้น หรือ Up Side

เหตุผลสำคัญผมคิดว่า น่าจะอยู่ที่การลงทุนของบัฟเฟตต์ ที่เน้นการลงทุนถือหุ้นระยะยาวมาก ดังนั้น หุ้นจะขึ้นหรือเปล่าในเดือนหน้าหรือปีหน้าเขาไม่สนใจ เขาสนใจแต่ว่าในระยะยาวแล้ว หุ้นที่เขาซื้อจะไม่ลดลงอย่างถาวรเนื่องจากผลการดำเนินงานแย่ลง

คำกล่าวที่สอง "เป็นเรื่องที่ดีกว่าที่เราจะซื้อธุรกิจที่ดีสุดยอดในราคาปานกลาง แทนที่จะซื้อธุรกิจปานกลางในราคาที่ดีสุดยอด" ความหมาย ก็คือ บัฟเฟตต์นั้นไม่เน้นซื้อของถูกหรือซื้อได้ในราคาที่ "ดีสุดยอด" เขาคิดว่าธุรกิจที่ดีสุดยอดนั้น ในระยะยาวแล้วมูลค่าของกิจการก็จะเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพง ราคาหุ้นก็จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลประกอบการของมัน ยิ่งถือนานก็ยิ่งดี

ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการปานกลางนั้น ผลประกอบการก็มักจะไม่ดีขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้มูลค่าของกิจการไม่ใคร่เพิ่มขึ้น จริงอยู่ ในวันแรกเราอาจจะซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก และก็มีโอกาสที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นไปเข้าหามูลค่าที่เหมาะสม หรือเข้าหา Intrinsic Value แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้น หลังจากที่มันปรับตัวขึ้นไปครั้งเดียวแล้ว ราคาของมันก็อาจจะนิ่งไม่ไปไหนอยู่นาน เพราะกิจการไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยิ่งถือนาน ผลตอบแทนก็จะลดลง ซึ่งนำไปสู่ คำกล่าวที่สาม

คำกล่าวที่สาม "เวลาเป็นเพื่อนของธุรกิจที่มหัศจรรย์ แต่เป็นศัตรูของธุรกิจพื้นๆ" นั่นก็คือ ถ้าเราถือหุ้นของ "ธุรกิจมหัศจรรย์" หรือธุรกิจที่ดีสุดยอด คุณจะอยากถือไว้นานที่สุด ให้เวลากับการลงทุน เพราะยิ่งเวลาผ่านไป กำไรของบริษัทก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ตรงกันข้าม ธุรกิจพื้นๆ นั้น ในบางช่วงเช่นช่วงแรกๆ ราคาอาจจะปรับตัวขึ้นด้วยสาเหตุอะไรบางอย่างซึ่งอาจจะรวมถึงการที่มีคนเห็น ว่ามันเป็นหุ้นที่ถูกและเข้ามาซื้อทำให้หุ้นปรับตัวขึ้น แต่เมื่อถือหุ้นนานขึ้นเรื่อยๆ แต่กำไรของบริษัทและราคาหุ้นกลับไม่ปรับตัวขึ้น ผลก็คือ เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนต่อปีก็จะลดลงเรื่อยๆ ยิ่งถือนานก็ยิ่งแย่

คำกล่าวที่สี่ "แนวทางของเรา ก็คือ กำไรจากการไม่มีการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างหมากฝรั่ง Wrigley มันเป็นเรื่องของการไม่เปลี่ยนแปลงที่ดึงดูดใจผม ผมไม่คิดว่ามันจะถูกเปลี่ยนโดยอินเทอร์เน็ต นั่นคือธุรกิจที่ผมชอบ"

นั่นก็คือ บัฟเฟตต์ มองว่าธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่ายด้วยปัจจัยอื่นโดยเฉพาะทางด้านของ เทคโนโลยี จะถือว่าเป็นธุรกิจที่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการได้ในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับเขาที่ต้องการลงทุนระยะยาวมากหรือตลอดไป ดังนั้น ถ้าอะไรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย เขาก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ลงทุนแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงบางทีอาจจะทำให้บริษัท หนึ่ง มีผลประกอบการที่ก้าวกระโดด และทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้มหาศาลอย่างหุ้นอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย กิจการที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายก็มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าที่บัฟเฟตต์จะรับได้

คำกล่าวที่ห้า "สิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คือ บริษัทที่ยิ่งใหญ่ ประสบกับปัญหาชั่วคราว เราต้องการซื้อมันเมื่อมันอยู่บนโต๊ะผ่าตัด" นี่เป็น "โอกาสทอง" ที่บัฟเฟตต์แสวงหาตลอดมา จากอดีตจะเห็นว่าเขาเคยทำเงินมหาศาลอย่างรวดเร็วจากการซื้อหุ้นของกิจการที่ ดีสุดยอด แต่ประสบปัญหาชั่วคราวที่สามารถแก้ไขได้ อาทิเช่น หุ้นของอเมริกันเอ็กซ์เพรส หุ้นโค้ก และหุ้นอีกหลายตัวในช่วงที่เกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกา

คำกล่าวที่หก "นานมาแล้ว เซอร์ไอแซคนิวตันให้กฎ 3 ข้อของการเคลื่อนที่ของวัตถุซึ่งเป็นผลงานที่เป็นอัจฉริยะ แต่ความสามารถของนิวตันไม่คลุมไปถึงเรื่องการลงทุน เขาขาดทุนมากมายในวิกฤตการณ์ฟองสบู่เซาท์ซี เขากล่าวภายหลังว่า "ผมสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของดวงดาวได้ แต่ผมไม่สามารถคำนวณความบ้าคลั่งของคน"" ถ้าเขาไม่ถูกทรมานจากการขาดทุนในครั้งนั้นมากเกินไป เขาคงได้ค้นพบกฎข้อที่สี่ของการเคลื่อนไหว นั่นคือ "สำหรับนักลงทุนโดยรวม ผลตอบแทนลดลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น" ความหมายของคำกล่าวนี้ก็คือ บัฟเฟตต์มองว่า ยิ่งเราซื้อขายหุ้นมากขึ้น เราก็จะต้องเสียต้นทุนค่าคอมมิชชั่นเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับส่วนต่างราคาซื้อราคาขาย และอาจจะเกิดความผิดพลาดในด้านของจังหวะการซื้อขาย ทั้งหมดนั้นทำให้ยิ่งเทรดหุ้นมาก ผลตอบแทนก็ยิ่งลดลง

คำกล่าวสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ บัฟเฟตต์บอกว่า "เหนือสิ่งอื่นใด คุณจะพบว่า ใครว่ายน้ำล่อนจ้อนก็ต่อเมื่อกระแสน้ำลดลง" ความหมายก็คือ การที่จะดูว่าใครมีฝีมือในการลงทุนจริงๆ หรือหลักการลงทุนแบบไหนได้ผลในระยะยาวจริงๆ นั้น เราจะต้องดูตอนที่ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำหรือซบเซาลงมากๆ เพราะนั่นคือ เวลาที่จะพิสูจน์ว่ากลยุทธ์การลงทุนใช้ได้ผลจริง เพราะในยามที่ตลาดดีหรือช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่นเป็นกระทิง กลยุทธ์หลายๆ แบบอาจให้ผลดี หรือแม้แต่ดีกว่ากลยุทธ์ที่กูรูระดับโลกใช้กัน แต่ในยามที่ตลาดตกต่ำ กลยุทธ์นั้นอาจจะทำให้ขาดทุนมหาศาลและทำให้ผลตอบแทนโดยรวมระยะยาวกลับแย่ลง หรือไม่ดีอย่างที่คิด

ทั้งหมดก็เป็นเพียงบางส่วนของ "อัจฉริยะ" ของบัฟเฟตต์ ที่ได้ผ่านการทดสอบมาต่อเนื่องยาวนานคิดแล้วน่าจะถึงห้าสิบปีที่เขาลงทุนมา เขาบอกว่า "คนชอบอ้างอิงความคิดของเรา แต่น้อยคนที่จะปฏิบัติตามแนวทางการลงทุนที่เราทำ" และนี่ก็คงเป็นเรื่องธรรมชาติของคน หลักการลงทุนแบบบัฟเฟตต์ มันฝืนความรู้สึกของคนที่มักจะชอบ "ทำอะไรบางอย่าง" การซื้อแล้วถือหุ้นไว้เฉยๆ แบบบัฟเฟตต์นั้น ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย


บทความนี้ลงในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์เมื่อ 26 เมษายน 2554